ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เรากำลังทำอะไรกับอาหารของเรา?

เรากำลังทำอะไรกับอาหารของเรา?

เรา​กำลัง​ทำ​อะไร​กับ​อาหาร​ของ​เรา?

การ​ปรับ​ปรุง​เปลี่ยน​แปลง​อาหาร​ของ​เรา​ไม่​ใช่​แนว​คิด​ใหม่. ที่​จริง เป็น​เวลา​หลาย​ชั่ว​อายุ​คน​แล้ว​ที่​มนุษย์​เชี่ยวชาญ​เรื่อง​นี้. เทคนิค​การ​ผสม​พันธุ์​อย่าง​รอบคอบ​ทำ​ให้​เกิด​พืช​ผล​และ​ปศุสัตว์​พันธุ์​ใหม่​หลาย​พันธุ์. จริง ๆ แล้ว ตัว​แทน​องค์การ​อาหาร​และ​ยา​แห่ง​สหรัฐ​กล่าว​ว่า “อาหาร​แทบ​ทุก​ประเภท​ที่​คุณ​ซื้อ​มา​นั้น​เคย​ถูก​ดัด​แปลง​มา​แล้ว​ด้วย​วิธี​ผสม​พันธุ์​แบบ​ดั้งเดิม.”

การ​ผสม​พันธุ์​ไม่​ได้​เป็น​วิธี​เดียว​ที่​จะ​ดัด​แปลง​อาหาร. อุตสาหกรรม​อาหาร​ได้​พัฒนา​กระบวนการ​หลาย​อย่าง​ใน​การ​ปรุง​แต่ง​และ​การ​แปรรูป​อาหาร ไม่​ว่า​จะ​เพื่อ​เพิ่ม​รสชาติ, สี, หรือ​ทำ​ให้​ได้​มาตรฐาน​และ​ป้องกัน​ไม่​ให้​อาหาร​เสีย. ผู้​คน​คุ้น​เคย​กับ​การ​กิน​อาหาร​ที่​ผ่าน​การ​ดัด​แปลง​ไม่​วิธี​ใด​ก็​วิธี​หนึ่ง.

แต่​ผู้​บริโภค​จำนวน​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ ตื่น​ตระหนก​กับ​สิ่ง​ที่​มี​การ​ทำ​กับ​อาหาร​ของ​เรา​ใน​ปัจจุบัน. เพราะ​เหตุ​ใด? บาง​คน​เกรง​ว่า​เทคนิค​สมัย​ใหม่​ซึ่ง​ใช้​กัน​อยู่​ใน​ปัจจุบัน​จะ​ทำ​ให้​อาหาร​เป็น​อันตราย. ความ​วิตก​กังวล​เช่น​นั้น​มี​เหตุ​ผล​ไหม? ให้​เรา​พิจารณา​แง่​มุม​ที่​น่า​เป็น​ห่วง​สาม​ประการ. *

ฮอร์โมน​และ​ยา​ปฏิชีวนะ

ตั้ง​แต่​ทศวรรษ 1950 ใน​บาง​แห่ง​มี​การ​ใส่​ยา​ปฏิชีวนะ​ปริมาณ​เล็ก​น้อย​ลง​ไป​ใน​อาหาร​เป็ด, ไก่, สุกร, และ​วัว​ควาย. จุด​ประสงค์​คือ เพื่อ​ลด​ความ​เสี่ยง​ที่​สัตว์​จะ​ติด​โรค โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ใน​ที่​ที่​มี​การ​ขัง​สัตว์​ให้​อยู่​ด้วย​กัน​อย่าง​แออัด. ใน​บาง​ประเทศ​ยัง​มี​การ​ใส่​ฮอร์โมน​ใน​อาหาร​สัตว์​ด้วย​เพื่อ​เร่ง​การ​เจริญ​เติบโต. กล่าว​กัน​ว่า ฮอร์โมน​และ​ยา​ปฏิชีวนะ​ป้องกัน​ไม่​ให้​สัตว์​ติด​เชื้อ​และ​ทำ​ให้​การ​เกษตร​แบบ​เร่งรัด​มี​กำไร​มาก​ขึ้น และ​ยัง​เป็น​ประโยชน์​ต่อ​ผู้​บริโภค​โดย​ทำ​ให้​ผล​ผลิต​มี​ราคา​ถูก​ลง.

นั่น​ดู​เหมือน​มี​เหตุ​ผล​ดี. แต่​เนื้อ​ของ​สัตว์​ที่​กิน​สาร​เหล่า​นี้​เข้า​ไป​เป็น​อันตราย​ต่อ​ผู้​บริโภค​ไหม? รายงาน​จาก​คณะ​กรรมการ​เศรษฐกิจ​และ​สังคม​แห่ง​ประชาคม​ยุโรป​ลง​ความ​เห็น​ว่า แบคทีเรีย​มี​โอกาส​รอด​จาก​ยา​ปฏิชีวนะ​และ​ถ่ายทอด​ไป​ยัง​ผู้​บริโภค​ได้. รายงาน​นี้​บอก​ว่า “แบคทีเรีย​เหล่า​นี้​บาง​ชนิด เช่น แซลโมเนลลา​และ​แคมพีโลแบคเทอร์ อาจ​เป็น​สาเหตุ​โดย​ตรง​ของ​โรค​ร้ายแรง​ที่​เกิด​กับ​มนุษย์​ซึ่ง​ผ่าน​มา​ทาง​ห่วง​โซ่​อาหาร.” ยิ่ง​กว่า​นั้น จะ​เกิด​อะไร​ขึ้น​ถ้า​ใน​ห่วง​โซ่​อาหาร​ไม่​เพียง​แค่​มี​แบคทีเรีย​แต่​มี​ยา​ปฏิชีวนะ​ตก​ค้าง​อยู่? บาง​คน​เกรง​ว่า ผล​ที่​ตาม​มา​คือ​เชื้อ​โรค​ที่​เป็น​สาเหตุ​ของ​ความ​เจ็บ​ป่วย​ใน​มนุษย์​อาจ​จะ​ดื้อ​ยา​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ.

แล้ว​เนื้อ​สัตว์​ที่​ได้​รับ​ฮอร์โมน​ล่ะ? นาย​สัตวแพทย์​ไฮน์ริค คาร์ก ศาสตราจารย์​ใน​เมือง​มิวนิก ประเทศ​เยอรมนี ให้​ความ​เห็น​ว่า “ผู้​เชี่ยวชาญ​ทุก​คน​เห็น​พ้อง​กัน​ว่า เนื้อ​สัตว์​ที่​ได้​รับ​ฮอร์โมน​ไม่​เป็น​อันตราย​ต่อ​สุขภาพ​หาก​มี​การ​ใช้​ตาม​คำ​แนะ​นำ.” อย่าง​ไร​ก็​ตาม หนังสือ​พิมพ์​ดี โวเคอ รายงาน​ว่า ใน​เรื่อง​ความ​ปลอด​ภัย​ของ​เนื้อ​สัตว์​ที่​ได้​รับ​ฮอร์โมน​แล้ว “ตลอด 15 ปี​มา​นี้ พวก​นัก​วิจัย​ไม่​สามารถ​เห็น​พ้อง​กับ​ข้อ​สรุป​เดียว​กัน​ได้.” และ​ใน​ฝรั่งเศส ประเด็น​เรื่อง​ฮอร์โมน​ใน​เนื้อ​สัตว์​ได้​รับ​คำ​ตอบ​อย่าง​หนักแน่น​ว่า ‘ไม่! ไม่​ควร​ใช้​ฮอร์โมน!’ เห็น​ได้​ชัด​ว่า​ความ​ขัด​แย้ง​นี้​ไม่​มี​วัน​ยุติ​ง่าย ๆ.

อาหาร​อาบ​รังสี

นับ​ตั้ง​แต่​เริ่ม​มี​การ​ทดลอง​ใน​สวีเดน​เมื่อ​ปี 1916 อย่าง​น้อย 39 ประเทศ​ได้​อนุญาต​ให้​มี​การ​อาบ​รังสี​ใน​ปริมาณ​ต่ำ​กับ​อาหาร​ต่าง ๆ เช่น มันฝรั่ง, ข้าว​โพด, ผลไม้, และ​เนื้อ​สัตว์. เพราะ​เหตุ​ใด? กล่าว​กัน​ว่า การ​อาบ​รังสี​จะ​ฆ่า​แบคทีเรีย, แมลง, และ​ปรสิต​เกือบ​ทั้ง​หมด ด้วย​เหตุ​นั้น​จึง​ลด​ความ​เสี่ยง​ของ​ผู้​บริโภค​ต่อ​การ​ติด​โรค​ที่​เกิด​จาก​อาหาร. วิธี​การ​นี้​ยัง​ยืด​อายุ​ผลิตผล​ให้​เก็บ​ไว้​ได้​นาน​ขึ้น​ด้วย.

แน่นอน ผู้​เชี่ยวชาญ​กล่าว​ว่า ถ้า​จะ​ให้​ดี อาหาร​ที่​เรา​กิน​ควร​สด​และ​สะอาด. แต่​น้อย​คน​ใน​ประเทศ​ที่​พัฒนา​แล้ว​จะ​มี​เวลา​ทำ​อาหาร​ด้วย​ของ​สด​เป็น​ประจำ. วารสาร​เทสท์ กล่าว​ว่า คน​ทั่ว​ไป​ใน​ประเทศ​เหล่า​นั้น​ใช้​เวลา “สิบ​นาที​สำหรับ​มื้อ​เช้า​และ​สิบ​ห้า​นาที​สำหรับ​มื้อ​กลางวัน​และ​มื้อ​เย็น.” ดัง​นั้น ไม่​น่า​แปลก​ใจ​ที่​ผู้​บริโภค​หลาย​คน​ชอบ​อาหาร​สำเร็จ​รูป​และ​อาหาร​ที่​เก็บ​ไว้​ได้​นาน. แต่​อาหาร​อาบ​รังสี​ปลอด​ภัย​ไหม?

ใน​ปี 1999 องค์การ​อนามัย​โลก​ตี​พิมพ์​การ​ศึกษา​วิจัย​ของ​คณะ​ผู้​เชี่ยวชาญ​จาก​หลาย​ประเทศ. พวก​เขา​ลง​ความ​เห็น​ว่า อาหาร​อาบ​รังสี “ปลอด​ภัย​และ​มี​คุณค่า​ทาง​โภชนาการ​เพียง​พอ​สำหรับ​ผู้​บริโภค.” พวก​ผู้​สนับสนุน​อาหาร​ประเภท​นี้​บอก​ว่า​การ​อาบ​รังสี​อาหาร​เปรียบ​ได้​กับ​การ​ฆ่า​เชื้อ​ผ้า​พัน​แผล​ซึ่ง​ก็​ทำ​ด้วย​วิธี​การ​อาบ​รังสี​เช่น​กัน หรือ​เปรียบ​ได้​กับ​กระเป๋า​เดิน​ทาง​ที่​ผ่าน​เครื่อง​สแกน​อิเล็กทรอนิกส์​ที่​สนามบิน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ผู้​คัดค้าน​ยืน​ยัน​ว่า การ​อาบ​รังสี​ทำ​ให้​คุณค่า​ทาง​โภชนาการ​ที่​มี​อยู่​ตาม​ธรรมชาติ​ลด​ลง​และ​อาจ​มี​ความ​เสี่ยง​ซึ่ง​ยัง​ไม่​เป็น​ที่​ทราบ​กัน.

อาหาร​ที่​ผ่าน​กรรมวิธี​ตัด​แต่ง​พันธุกรรม

นัก​พันธุศาสตร์​สามารถ​ถ่าย​โอน​ยีน​มา​ได้​ระยะ​หนึ่ง​แล้ว โดย​โยกย้าย​ยีน​จาก​ดีเอ็นเอ​ของ​สิ่ง​มี​ชีวิต​ตัว​หนึ่ง​ไป​ไว้​ใน​ดีเอ็นเอ​ของ​สิ่ง​มี​ชีวิต​อีก​ตัว​หนึ่ง​ใน​ชนิด​เดียว​กัน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ปัจจุบัน​นัก​พันธุศาสตร์​ไป​ไกล​กว่า​นั้น​มาก. ตัว​อย่าง​เช่น มี​สตรอเบอร์รี​และ​มะเขือ​เทศ​ซึ่ง​ถูก​ตัด​แต่ง​พันธุกรรม​โดย​อาศัย​ยีน​ของ​ปลา ทำ​ให้​พืช​เหล่า​นั้น​ทน​ต่อ​อุณหภูมิ​ต่ำ​ได้​ดี​ยิ่ง​ขึ้น.

มี​การ​พูด​กัน​มาก​เกี่ยว​กับ​อาหาร​ที่​ผ่าน​กรรมวิธี​ตัด​แต่ง​พันธุกรรม (จี​เอ็ม) * ทั้ง​ใน​ทาง​สนับสนุน​และ​คัดค้าน. ผู้​สนับสนุน​กล่าว​ว่า​เทคโนโลยี​ชีวภาพ​ชนิด​นี้​สามารถ​คาด​การณ์​และ​ควบคุม​ได้​ง่าย​กว่า​วิธี​ผสม​พันธุ์​พืช​แบบ​ดั้งเดิม ซึ่ง​จะ​ทำ​ให้​ได้​ผล​ผลิต​เพิ่ม​ขึ้น​และ​ลด​ความ​อดอยาก​ของ​มนุษย์. แต่​อาหาร​ที่​ผ่าน​กรรมวิธี​ตัด​แต่ง​พันธุกรรม​ปลอด​ภัย​ไหม?

รายงาน​ฉบับ​หนึ่ง​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​นี้​ทำ​ขึ้น​โดย​คณะ​นัก​วิทยาศาสตร์​ซึ่ง​เป็น​ตัว​แทน​จาก​สถาบัน​การ​ศึกษา​หลาย​แห่ง​ใน​อังกฤษ​และ​ใน​สหรัฐ รวม​ทั้ง​ใน​บราซิล, จีน, อินเดีย, เม็กซิโก, และ​ประเทศ​กำลัง​พัฒนา​อื่น ๆ. รายงาน​ฉบับ​นี้ ซึ่ง​พิมพ์​เผยแพร่​ใน​เดือน​กรกฎาคม 2000 กล่าว​ว่า “จน​ถึง​ปัจจุบัน มี​การ​ปลูก​พืช​ซึ่ง​ได้​รับ​การ​ปลูก​ถ่าย​พันธุกรรม [จี​เอ็ม] มาก​กว่า 30 ล้าน​เฮกตาร์ [180 ล้าน​ไร่] และ​ยัง​ไม่​เคย​พบ​ปัญหา​สุขภาพ​ที่​เกิด​กับ​มนุษย์​ซึ่ง​เกี่ยว​ข้อง​โดย​ตรง​กับ​การ​กิน​พืช​ที่​ได้​รับ​การ​ปลูก​ถ่าย​พันธุกรรม​หรือ​ผล​ผลิต​ของ​พืช​นั้น.” ใน​บาง​แห่ง ถือ​กัน​ว่า​ผลิตผล​จาก​พืช​ที่​ผ่าน​กรรมวิธี​ตัด​แต่ง​พันธุกรรม​ปลอด​ภัย​พอ ๆ กับ​อาหาร​ทั่ว​ไป.

กระนั้น ใน​ที่​อื่น ๆ มี​ความ​ไม่​แน่​ใจ​อยู่​มาก. ใน​บริเตน, ฝรั่งเศส, และ​ออสเตรีย บาง​คน​ไม่​ไว้​ใจ​ว่า​อาหาร​ที่​ผ่าน​กรรมวิธี​ตัด​แต่ง​พันธุกรรม​นั้น​จะ​ปลอด​ภัย. นัก​การ​เมือง​ชาว​ดัตช์​คน​หนึ่ง​พูด​ถึง​อาหาร​ชนิด​นี้​ว่า “มี​อาหาร​บาง​ประเภท​ที่​เรา​ไม่​ชอบ​เลย.” ผู้​วิจารณ์​อาหาร​เช่น​ว่า​นั้น​ชี้​ถึง​ประเด็น​เรื่อง​ศีลธรรม​และ​อันตราย​ที่​อาจ​เกิด​กับ​สภาพ​แวด​ล้อม​ด้วย.

นัก​วิทยาศาสตร์​บาง​คน​รู้สึก​ว่า​อาหาร​ที่​ผ่าน​กรรมวิธี​ตัด​แต่ง​พันธุกรรม​ยัง​อยู่​ใน​ขั้น​แรก ๆ ของ​การ​พัฒนา​และ​ควร​มี​การ​ทดสอบ​มาก​ขึ้น​เกี่ยว​กับ​อันตราย​ที่​อาจ​เกิด​กับ​ผู้​บริโภค. ตัว​อย่าง​เช่น สมาคม​การ​แพทย์​อังกฤษ​รู้สึก​ว่า​พันธุวิศวกรรม​มี​ที​ท่า​ว่า​จะ​เป็น​ประโยชน์​ใหญ่​หลวง​ต่อ​ประชาชน. กระนั้น สมาคม​นี้​กล่าว​ถึง​บาง​แง่​ที่​น่า​เป็น​ห่วง อย่าง​เช่น ประเด็น​เรื่อง​การ​แพ้​อาหาร​ที่​ผ่าน​กรรมวิธี​ตัด​แต่ง​พันธุกรรม ซึ่ง​หมาย​ความ​ว่า “จำเป็น​ต้อง​มี​การ​วิจัย​เพิ่ม​ขึ้น​อีก.”

เลือก​ด้วย​ตัว​เอง​อย่าง​สมดุล

ใน​บาง​ประเทศ อาหาร​ที่​บริโภค​กัน​มาก​ถึง 80 เปอร์เซ็นต์​เป็น​อาหาร​ที่​ผ่าน​กระบวนการ​แปรรูป. บ่อย​ครั้ง​มี​การ​ใช้​สาร​ปรุง​แต่ง​เพื่อ​เพิ่ม​หรือ​ทำ​ให้​รสชาติ​และ​สี​ได้​มาตรฐาน รวม​ทั้ง​ยัง​ทำ​ให้​เก็บ​ไว้​ได้​นาน​ขึ้น. ที่​จริง หนังสือ​อ้างอิง​เล่ม​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “ผลิตภัณฑ์​ใหม่ ๆ หลาย​ชนิด เช่น อาหาร​แคลอรี​ต่ำ, ขนม​ขบ​เคี้ยว, และ​อาหาร​สำเร็จ​รูป​คง​ไม่​สามารถ​ผลิต​ออก​มา​ได้​ถ้า​ไม่​มี​สาร​ปรุง​แต่ง​อาหาร.” นอก​จาก​นั้น เป็น​ไป​ได้​มาก​ที​เดียว​ว่า​อาหาร​เหล่า​นั้น​จะ​ประกอบ​ด้วย​ส่วน​ผสม​ซึ่ง​ผ่าน​กรรมวิธี​ตัด​แต่ง​พันธุกรรม.

เป็น​เวลา​หลาย​ปี​ที่​การ​เกษตร​ทั่ว​โลก​ได้​อาศัย​วิธี​การ​ต่าง ๆ ที่​หลาย​คน​ถือ​ว่า​เป็น​อันตราย. การ​ใช้​ยา​ปราบ​ศัตรู​พืช​เป็น​เพียง​ตัว​อย่าง​หนึ่ง. ยิ่ง​กว่า​นั้น เป็น​เวลา​นาน​มา​แล้ว​ที่​อุตสาหกรรม​อาหาร​ได้​ใช้​สาร​ปรุง​แต่ง​ซึ่ง​อาจ​ทำ​ให้​ผู้​บริโภค​บาง​คน​เกิด​อาการ​แพ้. เทคโนโลยี​ด้าน​อาหาร​แบบ​ใหม่ ๆ เป็น​อันตราย​กว่า​วิธี​การ​เหล่า​นี้​มาก​ไหม? แม้​แต่​พวก​ผู้​เชี่ยวชาญ​ก็​ยัง​ไม่​เห็น​พ้อง​กัน​ใน​เรื่อง​นี้. ที่​จริง รายงาน​ทาง​วิทยาศาสตร์​ที่​น่า​เชื่อถือ​หลาย​ฉบับ​ต่าง​ก็​สนับสนุน​ทั้ง​สอง​ฝ่าย​และ​ดู​เหมือน​ยิ่ง​ทำ​ให้​ความ​เห็น​แตก​แยก​กัน.

เนื่อง​จาก​พวก​เขา​มอง​ว่า​เป็น​ไป​ได้​ยาก​ที่​จะ​เลี่ยง​อาหาร​ที่​ผ่าน​กรรมวิธี​ทาง​เทคโนโลยี​ขั้น​สูง​หรือ​เนื่อง​จาก​คิด​ว่า​มี​ปัญหา​อื่น​ที่​เร่ง​ด่วน​กว่า หลาย​คน​ใน​เวลา​นี้​จึง​ตัดสิน​ใจ​ว่า​จะ​ไม่​กังวล​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​นี้. แต่​บาง​คน​ก็​เป็น​ห่วง​ค่อนข้าง​มาก​ที​เดียว. คุณ​จะ​ทำ​อะไร​ได้​บ้าง​ถ้า​คุณ​กับ​ครอบครัว​รู้สึก​ไม่​แน่​ใจ​เกี่ยว​กับ​การ​กิน​อาหาร​ที่​ผ่าน​การ​แปรรูป ซึ่ง​ดู​เหมือน​เทคโนโลยี​สมัย​ใหม่​ทำ​ให้​ซับซ้อน​เกิน​ไป? มี​ขั้น​ตอน​ต่าง ๆ ที่​ทำ​ได้​จริง​ซึ่ง​คุณ​อาจ​เลือก​ใช้ ดัง​จะ​มี​การ​พิจารณา​ใน​บทความ​ถัด​ไป. แต่​ก่อน​อื่น คง​ดี​ที่​เรา​จะ​แน่​ใจ​ว่า​เรา​มี​ทัศนะ​ที่​สมดุล​ใน​ประเด็น​นี้.

ความ​ปลอด​ภัย​ของ​อาหาร​ก็​เหมือน​กับ​สุขภาพ. ไม่​มี​วิธี​ใด​ใน​ปัจจุบัน​ที่​จะ​ทำ​ให้​สมบูรณ์​ได้. ตาม​รายงาน​ใน​วารสาร​นาทูร์ อุนท์ คอสมอส ภาษา​เยอรมัน แม้​แต่​คน​ที่​ทราบ​กัน​ว่า​พิถีพิถัน​มาก​ใน​การ​เลือก​และ​ประกอบ​อาหาร ก็​ไม่​อาจ​เข้มงวด​ได้​อย่าง​เต็ม​ที่​ใน​เรื่อง​โภชนาการ. สิ่ง​ที่​เป็น​ประโยชน์​กับ​คน​หนึ่ง​อาจ​เป็น​โทษ​กับ​อีก​คน​หนึ่ง. ดัง​นั้น นับ​ว่า​สุขุม​มิ​ใช่​หรือ​ที่​จะ​สร้าง​เจตคติ​ที่​สมดุล​และ​หลีก​เลี่ยง​ความ​สุด​โต่ง?

แน่นอน คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​ได้​บอก​เรา​ว่า​ควร​ตัดสิน​ใจ​อย่าง​ไร​ใน​เรื่อง​อาหาร​ที่​ใช้​เทคโนโลยี​ขั้น​สูง​ใน​ปัจจุบัน. แต่​คัมภีร์​ไบเบิล​สอน​เรา​เกี่ยว​กับ​คุณลักษณะ​ที่​ควร​ปลูกฝัง​ซึ่ง​จะ​ช่วย​เรา​ใน​เรื่อง​นี้. ฟิลิปปอย 4:5 (ล.ม.) กล่าว​ว่า “ให้​ความ​มี​เหตุ​ผล​ของ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ปรากฏ​แก่​คน​ทั้ง​ปวง.” ความ​มี​เหตุ​ผล​ช่วย​ให้​เรา​ตัดสิน​ใจ​ได้​อย่าง​สมดุล​และ​หลีก​เลี่ยง​ความ​สุด​โต่ง. คุณลักษณะ​นี้​ช่วย​ให้​เรา​ไม่​เข้า​ไป​บงการ​คน​อื่น​ว่า​ควร​หรือ​ไม่​ควร​ทำ​อะไร. และ​นั่น​จะ​ช่วย​ไม่​ให้​เรา​เข้า​ไป​โต้​เถียง​ใน​เรื่อง​ที่​ไร้​แก่น​สาร​ซึ่ง​ก่อ​ความ​แตก​แยก​กับ​คน​ที่​มี​ความ​เห็น​ต่าง​กัน​กับ​เรา.

กระนั้น ต้อง​ยอม​รับ​ว่า​อันตราย​หลาย​อย่าง​ที่​เกิด​จาก​อาหาร​ไม่​ใช่​เรื่อง​ที่​ต้อง​โต้​เถียง​ไป​เสีย​ทุก​เรื่อง. อันตราย​เหล่า​นี้​มี​อะไร​บ้าง และ​คุณ​จะ​ใช้​มาตรการ​ความ​ปลอด​ภัย​ใด​ได้​บ้าง?

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 4 ส่วน​ใหญ่​แล้ว​เรา​กิน​อาหาร​ที่​เรา​ชอบ. ตื่นเถิด! ไม่​ได้​เสนอ​แนะ​ว่า​ควร​กิน​หรือ​ไม่​ควร​กิน​อาหาร​ชนิด​ต่าง ๆ ที่​มี​การ​พิจารณา​ที่​นี่ ไม่​ว่า​อาหาร​นั้น​จะ​ได้​รับ​การ​ผลิต​ขึ้น​ด้วย​เทคโนโลยี​ชนิด​ใด. บทความ​ชุด​นี้​มี​จุด​มุ่ง​หมาย​เพื่อ​ให้​ผู้​อ่าน​ได้​รับ​ทราบ​ข้อ​เท็จ​จริง​ตาม​ที่​ทราบ​กัน​ใน​ปัจจุบัน.

^ วรรค 15 โปรด​ดู​ตื่นเถิด! (ภาษา​อังกฤษ) ฉบับ 22 เมษายน 2000.

[ภาพ​หน้า 4]

ผู้​บริโภค​ได้​รับ​ผล​กระทบ​จาก​ฮอร์โมน​และ​ยา​ปฏิชีวนะ​ที่​ให้​กับ​ปศุสัตว์​หรือ​ไม่?

[ภาพ​หน้า 6]

นับ​ว่า​สุขุม​ที่​จะ​อ่าน​ฉลาก​กำกับ​อาหาร​อย่าง​ละเอียด

[ภาพ​หน้า 7]

นับ​ว่า​ดี​ที่​จะ​ซื้อ​อาหาร​สด​เป็น​ประจำ