ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การคุ้มครองจากตำรวจ—ความหวังและความหวาดกลัว

การคุ้มครองจากตำรวจ—ความหวังและความหวาดกลัว

การ​คุ้มครอง​จาก​ตำรวจ—ความ​หวัง​และ​ความ​หวาด​กลัว

เมื่อ​ต้น​ศตวรรษ​ที่ 19 หลาย​คน​ใน​ประเทศ​อังกฤษ​คัดค้าน​ข้อ​เสนอ​ที่​จะ​ให้​มี​กอง​กำลัง​ตำรวจ​ใน​เครื่อง​แบบ. พวก​เขา​กลัว​ว่า​กอง​กำลัง​ติด​อาวุธ​ภาย​ใต้​การ​ควบคุม​ของ​รัฐบาล​กลาง​อาจ​คุกคาม​เสรีภาพ​ของ​พวก​เขา. บาง​คน​กลัว​ว่า​ใน​ที่​สุด​พวก​เขา​อาจ​จะ​มี​ระบบ​ตำรวจ​ลับ​คล้าย​กับ​ของ​ฝรั่งเศส​ใน​สมัย​โชแซฟ ฟูเช. อย่าง​ไร​ก็​ดี พวก​เขา​จำ​ต้อง​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘เรา​จะ​ทำ​อย่าง​ไร​ถ้า​ไม่​มี​ตำรวจ?’

เวลา​นั้น​กรุง​ลอนดอน​เป็น​เมือง​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​และ​มั่งคั่ง​ที่​สุด​ใน​โลก; อาชญากรรม​มี​เพิ่ม​ขึ้น​และ​เป็น​ภัย​คุกคาม​ทาง​ธุรกิจ. ไม่​ว่า​จะ​เป็น​คน​ยาม​อาสา​สมัคร​ใน​ตอน​กลางคืน​หรือ​นัก​จับ​ขโมย​มือ​อาชีพ​ที่​เรียก​ว่า พวก​โบว์ สตรีต รันเนอร์ ซึ่ง​ได้​รับ​เงิน​สนับสนุน​จาก​เอกชน ก็​ไม่​สามารถ​ปก​ป้อง​ผู้​คน​และ​ทรัพย์​สิน​ของ​พวก​เขา​ได้. ไคลฟ์ เอ็มสลีย์ เขียน​ใน​หนังสือ​ตำรวจ​อังกฤษ: ประวัติ​ทาง​การ​เมือง​และ​สังคม (ภาษา​อังกฤษ) ว่า “ตอน​นั้น​ผู้​คน​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ เห็น​ว่า​อาชญากรรม​และ​ความ​วุ่นวาย​เป็น​สิ่ง​ที่​ไม่​ควร​มี​อยู่​ใน​สังคม​ที่​เจริญ​แล้ว.” ดัง​นั้น ชาว​ลอนดอน​หวัง​ว่า​ทุก​อย่าง​จะ​เรียบร้อย​และ​ตัดสิน​ใจ​ว่า​จะ​ต้อง​มี​ตำรวจ​มือ​อาชีพ​ภาย​ใต้​การ​กำกับ​ดู​แล​ของ​เซอร์​โรเบิร์ต พีล. ใน​เดือน​กันยายน 1829 ตำรวจ​ใน​เครื่อง​แบบ​แห่ง​สำนักงาน​ตำรวจ​นครบาล​ก็​เริ่ม​ออก​ลาด​ตระเวน​ท้อง​ที่​ของ​ตน.

ตั้ง​แต่​ประวัติศาสตร์​สมัย​ใหม่​ของ​ตำรวจ​เริ่ม​มี​ขึ้น ประเด็น​เรื่อง​ตำรวจ​ทำ​ให้​เกิด​ทั้ง​ความ​หวัง​และ​ความ​กลัว คือ​หวัง​ว่า​ตำรวจ​จะ​ให้​ความ​ปลอด​ภัย​และ​กลัว​ว่า​พวก​เขา​อาจ​ใช้​อำนาจ​อย่าง​ผิด ๆ.

จุด​เริ่ม​ต้น​ของ​ตำรวจ​อเมริกัน

ใน​สหรัฐ นคร​นิวยอร์ก​เป็น​เมือง​แรก​ที่​มี​ตำรวจ​มือ​อาชีพ. เมื่อ​เมือง​นี้​มี​ความ​มั่งคั่ง​มาก​ขึ้น อาชญากรรม​ก็​เพิ่ม​ขึ้น​ตาม​ไป​ด้วย. พอ​ถึง​ทศวรรษ 1830 ทุก​ครอบครัว​ก็​สามารถ​อ่าน​เรื่อง​ราว​อัน​น่า​กลัว​เกี่ยว​กับ​อาชญากรรม​ซึ่ง​มี​การ​ตี​พิมพ์​ใน​หนังสือ​พิมพ์​ราคา​ถูก​ที่​ออก​ใหม่. เสียง​เรียก​ร้อง​ของ​ประชาชน​มี​มาก​ขึ้น และ​นคร​นิวยอร์ก​ก็​มี​กอง​ตำรวจ​ของ​ตัว​เอง​ใน​ปี 1845. ตั้ง​แต่​นั้น​มา​ชาว​นิวยอร์ก​และ​ชาว​ลอนดอน​ต่าง​ก็​รู้สึก​ทึ่ง​ใน​ตำรวจ​ของ​อีก​ฝ่าย​หนึ่ง.

คน​อเมริกัน​ก็​กลัว​กอง​กำลัง​ติด​อาวุธ​ภาย​ใต้​การ​ควบคุม​ของ​รัฐบาล​เหมือน ๆ กับ​ที่​คน​อังกฤษ​กลัว. แต่​ทั้ง​สอง​ประเทศ​แก้​ปัญหา​ไม่​เหมือน​กัน. คน​อังกฤษ​เลือก​ที่​จะ​มี​ตำรวจ​ที่​ดู​เป็น​สุภาพ​บุรุษ​สวม​หมวก​ทรง​สูง​ใน​เครื่อง​แบบ​สี​น้ำเงิน​เข้ม. ตำรวจ​เหล่า​นี้​มี​เพียง​กระบอง​สั้น ๆ ที่​เหน็บ​ซ่อน​ไว้. ตราบ​จน​ทุก​วัน​นี้​ตำรวจ​ชาว​อังกฤษ​ก็​ยัง​ไม่​ได้​พก​ปืน​ยก​เว้น​ใน​สถานการณ์​ฉุกเฉิน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ดัง​ที่​รายงาน​ฉบับ​หนึ่ง​กล่าว​ไว้ “ผู้​คน​คิด​กัน​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ ว่า​เป็น​สิ่ง​ที่​ไม่​อาจ​เลี่ยง​ได้ . . . ที่​ตำรวจ​อังกฤษ​จะ​ต้อง​ติด​อาวุธ​เต็ม​อัตรา​ใน​ที่​สุด.”

อย่าง​ไร​ก็​ตาม ใน​สหรัฐ​ความ​กลัว​ที่​ว่า​รัฐบาล​อาจ​ใช้​อำนาจ​อย่าง​ผิด ๆ ได้​นำ​ไป​สู่​การ​มี​มติ​เห็น​ชอบ​บท​แก้ไข​เพิ่ม​เติม​รัฐธรรมนูญ​แห่ง​สหรัฐ​มาตรา​สอง ซึ่ง​รับประกัน “สิทธิ​ของ​ประชาชน​ใน​การ​ครอบครอง​และ​พก​พา​อาวุธ.” ผล​คือ ตำรวจ​ก็​ต้องการ​พก​ปืน. ต่อ​มา การ​ใช้​ปืน​ของ​ตำรวจ​ทำ​ให้​เกิด​การ​ยิง​กัน​บน​ถนน​ซึ่ง​กลาย​เป็น​ลักษณะ​เด่น​ของ​ตำรวจ​อเมริกัน​และ​พวก​โจร​ผู้​ร้าย อย่าง​น้อย​ก็​ใน​ภาพ​ลักษณ์​ของ​คน​ทั่ว​ไป. อีก​เหตุ​ผล​หนึ่ง​ที่​ทำ​ให้​ชาว​อเมริกัน​มี​ทัศนะ​ดัง​กล่าว​เกี่ยว​กับ​การ​พก​ปืน​คือ​กอง​กำลัง​ตำรวจ​กลุ่ม​แรก​ของ​สหรัฐ​เกิด​ขึ้น​ใน​สังคม​ที่​ต่าง​ไป​จาก​ลอนดอน​มาก. นิวยอร์ก​กลาย​เป็น​เมือง​ที่​ยุ่งเหยิง​วุ่นวาย​เนื่อง​จาก​มี​ประชากร​เพิ่ม​ขึ้น​อย่าง​รวด​เร็ว. การ​หลั่งไหล​ของ​คน​เข้า​เมือง​หลาย​แสน​คน​ซึ่ง​ส่วน​ใหญ่​มา​จาก​ยุโรป​บวก​กับ​ชาว​อเมริกัน​เชื้อ​สาย​แอฟริกา​ที่​เข้า​มา​หลัง​จาก​ที่​สงคราม​กลาง​เมือง​ใน​สหรัฐ​เริ่ม​ขึ้น​ระหว่าง​ปี 1861-1865 ได้​นำ​ไป​สู่​ความ​รุนแรง​ทาง​ชาติ​พันธุ์. ตำรวจ​รู้สึก​ว่า​พวก​เขา​จำ​ต้อง​ใช้​มาตรการ​ที่​แข็ง​กร้าว​มาก​กว่า.

ดัง​นั้น ตำรวจ​จึง​มัก​ถูก​มอง​ว่า​เป็น​อันตราย​แต่​ว่า​จำเป็น. ผู้​คน​พร้อม​จะ​อด​ทน​กับ​สิ่ง​ที่​เกิน​เลย​เป็น​ครั้ง​คราว​โดย​หวัง​ว่า​จะ​บรรลุ​เป้าหมาย​ใน​เรื่อง​ความ​เป็น​ระเบียบ​และ​ความ​ปลอด​ภัย​ใน​ระดับ​หนึ่ง. แต่​ใน​บาง​ส่วน​ของ​โลก กอง​กำลัง​ตำรวจ​อีก​ชนิด​หนึ่ง​กำลัง​เกิด​ขึ้น.

ตำรวจ​ที่​น่า​หวาด​กลัว

ช่วง​ต้น​ศตวรรษ​ที่ 19 เมื่อ​กอง​กำลัง​ตำรวจ​ยุค​ใหม่​เริ่ม​มี​ขึ้น มนุษยชาติ​ส่วน​ใหญ่​อยู่​ภาย​ใต้​การ​ปกครอง​ของ​จักรวรรดิ​ต่าง ๆ แห่ง​ยุโรป. โดย​ทั่ว​ไป​แล้ว ตำรวจ​ชาว​ยุโรป​ถูก​ตั้ง​ขึ้น​เพื่อ​ปก​ป้อง​ชน​ชั้น​ปกครอง​แทน​ที่​จะ​ปก​ป้อง​ประชาชน. แม้​แต่​คน​อังกฤษ ซึ่ง​ไม่​ชอบ​ความ​คิด​ที่​จะ​ให้​ตำรวจ​พก​อาวุธ​แบบ​ทหาร​ใน​ประเทศ​ของ​ตน​เอง ก็​ดู​เหมือน​แทบ​ไม่​ตะขิดตะขวง​ใจ​ที่​จะ​ใช้​กอง​ทหาร​สารวัตร​เพื่อ​ควบคุม​อาณานิคม​ต่าง ๆ ให้​อยู่​ใต้​อำนาจ. ร็อบ มอว์บี กล่าว​ใน​หนังสือ​ของ​เขา​ชื่อ​การ​ดำเนิน​งาน​ของ​ตำรวจ​ตลอด​ทั่ว​โลก (ภาษา​อังกฤษ) ว่า “เหตุ​การณ์​ที่​แสดง​ถึง​ความ​โหด​ร้าย​ของ​ตำรวจ, การ​คอร์รัปชัน, ความ​รุนแรง, การ​ฆาตกรรม​และ​การ​ใช้​อำนาจ​อย่าง​ผิด ๆ มี​อยู่​เกือบ​ทุก​ทศวรรษ​ใน​ประวัติศาสตร์​ตำรวจ​ยุค​อาณานิคม.” หลัง​จาก​ชี้​ว่า การ​ปฏิบัติ​หน้า​ที่​ของ​ตำรวจ​แห่ง​จักรวรรดิ​ต่าง ๆ มี​ประโยชน์​บาง​อย่าง​ด้วย หนังสือ​เล่ม​เดียว​กัน​นั้น​เสริม​ว่า การ​ปฏิบัติ​หน้า​ที่​เหล่า​นั้น​ทำ​ให้ “ทั่ว​โลก​รู้สึก​ว่า​ตำรวจ​เป็น​กอง​กำลัง​ของ​รัฐบาล​และ​ไม่​ได้​เป็น​การ​ให้​บริการ​แก่​ประชาชน.”

รัฐบาล​ที่​ควบคุม​อำนาจ​เด็ดขาด​ซึ่ง​กลัว​การ​ปฏิวัติ​มัก​ใช้​ตำรวจ​ลับ​เพื่อ​สืบ​เรื่อง​ราว​ของ​พลเมือง​ของ​ตน​เสมอ. ตำรวจ​เหล่า​นั้น​เค้น​ข้อมูล​ออก​มา​โดย​การ​ทรมาน​และ​ขจัด​คน​ที่​สงสัย​ว่า​เป็น​พวก​บ่อน​ทำลาย​รัฐบาล​โดย​การ​ลอบ​สังหาร​หรือ​การ​จับ​ขัง​โดย​ไม่​มี​การ​พิจารณา​คดี. พวก​นาซี​มี​เกสตาโป, สหภาพ​โซเวียต​มี​เคจีบี, และ​เยอรมนี​ตะวัน​ออก​มี​สตาซี. น่า​ตกตะลึง​ที่​สตาซี จ้าง​เจ้าหน้าที่ 100,000 คน​และ​พวก​สาย​ลับ​อาจ​ถึง​ห้า​แสน​คน​เพื่อ​คอย​ควบคุม​ประชากร​ประมาณ 16 ล้าน​คน. เจ้าหน้าที่​คอย​ดัก​ฟัง​โทรศัพท์​ตลอด​ยี่​สิบ​สี่​ชั่วโมง​และ​บันทึก​ข้อมูล​เกี่ยว​กับ​หนึ่ง​ใน​สาม​ของ​ประชากร​ทั้ง​หมด. จอห์น เคอเลอร์ เขียน​ใน​หนังสือ​สตาซี ว่า “เจ้าหน้าที่​สตาซี​ไม่​รู้​จัก​ขอบ​เขต​และ​ไม่​มี​ความ​ละอาย. นัก​เทศน์​นัก​บวช​รวม​ทั้ง​ผู้​มี​ตำแหน่ง​สูง​จำนวน​มาก​ทั้ง​ใน​คริสตจักร​โปรเตสแตนต์​และ​คริสตจักร​คาทอลิก​ล้วน​ถูก​เกณฑ์​ให้​เป็น​สาย​ลับ. ห้อง​ทำ​งาน​และ​ห้อง​สารภาพ​บาป​ของ​พวก​เขา​เต็ม​ไป​ด้วย​เครื่อง​ดัก​ฟัง.”

อย่าง​ไร​ก็​ตาม ตำรวจ​ที่​น่า​หวาด​กลัว​ไม่​ได้​มี​เฉพาะ​ใน​อาณา​เขต​ของ​รัฐบาล​ที่​ควบคุม​อำนาจ​เด็ดขาด​เท่า​นั้น. ตำรวจ​ใน​เมือง​ใหญ่ ๆ ใน​ที่​อื่น​ก็​ถูก​กล่าวหา​ว่า​ก่อ​ให้​เกิด​ความ​หวาด​กลัว​เมื่อ​พวก​เขา​บังคับ​ใช้​กฎหมาย​ด้วย​วิธี​ที่​แข็ง​กร้าว​เกิน​ไป โดย​เฉพาะ​เมื่อ​มุ่ง​เป้า​ไป​ที่​ชน​กลุ่ม​น้อย. เมื่อ​ให้​ความ​เห็น​เกี่ยว​กับ​ข่าว​อื้อฉาว​ใน​นคร​ลอสแอนเจลิส วารสาร​ข่าว​ฉบับ​หนึ่ง​กล่าว​ว่า ข่าว​อื้อฉาว​นี้ “แสดง​ให้​เห็น​ว่า​พฤติกรรม​นอก​ลู่​นอก​ทาง​ของ​ตำรวจ​ได้​ไป​ถึง​ขั้น​ใหม่​แห่ง​การ​ละเลย​กฎหมาย​และ​ทำ​ให้​เกิด​คำ​ใหม่​ขึ้น นั่น​คือ​แก๊ง​ตำรวจ.”

ดัง​นั้น เจ้าหน้าที่​รัฐบาล​จึง​ได้​ตั้ง​คำ​ถาม​ว่า กรม​ตำรวจ​จะ​ทำ​อะไร​ได้​บ้าง​เพื่อ​ปรับ​ปรุง​ภาพ​ลักษณ์​ของ​ตน​เอง? ด้วย​ความ​พยายาม​ที่​จะ​เน้น​บทบาท​ใน​การ​บริการ​ชุมชน กอง​กำลัง​ตำรวจ​หลาย​กลุ่ม​พยายาม​เน้น​เรื่อง​การ​ปฏิบัติ​หน้า​ที่​ซึ่ง​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ผล​ประโยชน์​ของ​ชุมชน.

ความ​หวัง​ใน​การ​ดำเนิน​งาน​ของ​ตำรวจ​แบบ​ชุมชน

การ​ดู​แล​ความ​สงบ​เรียบร้อย​แบบ​ดั้งเดิม​ของ​ญี่ปุ่น​เป็น​ที่​สนใจ​ของ​ชาว​ต่าง​ประเทศ. แต่​เดิม ตำรวจ​ชาว​ญี่ปุ่น​ทำ​งาน​ใน​สถานี​เล็ก ๆ ที่​รับผิดชอบ​ท้อง​ที่​หนึ่ง ๆ ซึ่ง​ดำเนิน​งาน​โดย​เจ้าหน้าที่​ราว ๆ สิบ​คน​ซึ่ง​ผลัด​เวร​กัน. แฟรงก์ ไลชแมน อาจารย์​ชาว​อังกฤษ​ประจำ​ภาค​วิชา​อาชญา​วิทยา​ซึ่ง​อาศัย​ใน​ญี่ปุ่น​มา​เป็น​เวลา​นาน กล่าว​ว่า “ขอบ​เขต​การ​บริการ​อย่าง​เป็น​มิตร​ของ​เหล่า​เจ้าหน้าที่​ใน​โคบัน นั้น​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ดี: พวก​เขา​ให้​ข้อมูล​เกี่ยว​กับ​ที่​อยู่​ตาม​ถนน​สาย​ต่าง ๆ ใน​ญี่ปุ่น​ซึ่ง​ส่วน​ใหญ่​ยัง​ไม่​มี​การ​ตั้ง​ชื่อ; ให้​คน​ที่​ติด​ฝน​ยืม​ร่ม​ที่​ไม่​มี​เจ้าของ; ช่วย​พวก​ซารารีเมน ที่​เมา​เหล้า​ให้​ขึ้น​รถไฟ​เที่ยว​สุด​ท้าย​กลับ​บ้าน​ได้; และ​ให้​คำ​แนะ​นำ​เรื่อง ‘ความ​ทุกข์​ร้อน​ของ​พลเมือง.’” ตำรวจ​ใน​ละแวก​บ้าน​นี้​เป็น​ปัจจัย​หนึ่ง​ที่​ทำ​ให้​ญี่ปุ่น​มี​ชื่อเสียง​จน​เป็น​ที่​อิจฉา​ใน​เรื่อง​ที่​ว่า​ประเทศ​นี้​มี​ถนน​ที่​สามารถ​เดิน​ได้​อย่าง​ปลอด​ภัย.

การ​ปฏิบัติ​หน้า​ที่​ของ​ตำรวจ​ลักษณะ​นี้​จะ​ได้​ผล​ใน​ที่​อื่น​ไหม? บาง​คน​ที่​ศึกษา​ด้าน​อาชญากรรม​เริ่ม​มอง​เห็น​บทเรียน​ใน​การ​ทำ​อย่าง​นี้. ความ​ก้าว​หน้า​ด้าน​การ​สื่อสาร​สมัย​ใหม่​มี​แนว​โน้ม​ที่​จะ​ทำ​ให้​ตำรวจ​ห่าง​เหิน​จาก​ประชาชน​ที่​ตน​เอง​ให้​บริการ. ทุก​วัน​นี้​ใน​หลาย ๆ เมือง งาน​ของ​ตำรวจ​มัก​ดู​จะ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​จัด​การ​กับ​เหตุ​ฉุกเฉิน​เป็น​ส่วน​ใหญ่. บาง​ครั้ง​ดู​เหมือน​ว่า​การ​ย้ำ​เตือน​ตั้ง​แต่​แรก​เริ่ม​เกี่ยว​กับ​การ​ป้องกัน​อาชญากรรม​นั้น​สูญ​สิ้น​ไป​แล้ว. เพื่อ​แก้ไข​แนว​โน้ม​เช่น​นี้ การ​ให้​เพื่อน​บ้าน​ช่วย​กัน​ดู​แล​ก็​กลับ​มา​เป็น​ที่​นิยม​อีก​ครั้ง.

การ​ให้​เพื่อน​บ้าน​ช่วย​กัน​ดู​แล

ดูอี ตำรวจ​นาย​หนึ่ง พูด​ถึง​งาน​ของ​เขา​ใน​เวลส์​ว่า “โครงการ​นี้​ได้​ผล​จริง ๆ; มัน​ทำ​ให้​อาชญากรรม​ลด​ลง​ได้. การ​ให้​เพื่อน​บ้าน​ช่วย​กัน​ดู​แล​หมาย​ถึง​การ​ให้​ผู้​คน​คอย​สอดส่อง​ดู​แล​ความ​ปลอด​ภัย​ของ​กัน​และ​กัน. เรา​จัด​การ​ประชุม​เพื่อ​ให้​คน​ใน​ละแวก​เดียว​กัน​รู้​จัก​กัน, ถาม​ชื่อ​และ​หมาย​เลข​โทรศัพท์​กัน, และ​ฟัง​เกี่ยว​กับ​วิธี​ป้องกัน​อาชญากรรม. ผม​ชอบ​โครงการ​นี้​เพราะ​มัน​สร้าง​ความ​รู้สึก​แบบ​ชุมชน​ใน​ละแวก​บ้าน​ขึ้น​มา​อีก​ครั้ง. บ่อย​ครั้ง ผู้​คน​ไม่​รู้​จัก​เพื่อน​บ้าน​ของ​ตัว​เอง​ด้วย​ซ้ำ. โครงการ​นี้​ประสบ​ความ​สำเร็จ​เพราะ​มัน​ทำ​ให้​ผู้​คน​มี​การ​ระแวด​ระวัง​มาก​ขึ้น.” โครงการ​นี้​ยัง​ปรับ​ปรุง​ความ​สัมพันธ์​ระหว่าง​ตำรวจ​กับ​ประชาชน​ให้​ดี​ขึ้น​ด้วย.

การ​ริเริ่ม​อีก​อย่าง​หนึ่ง​คือ​การ​สนับสนุน​ให้​ตำรวจ​แสดง​ความ​เห็น​อก​เห็น​ใจ​ต่อ​ผู้​เสียหาย​มาก​ขึ้น. ยาน ฟาน เดก ผู้​เชี่ยวชาญ​ชาว​ดัตช์​ที่​มี​ชื่อเสียง​ใน​ด้าน​การ​วิจัย​เกี่ยว​กับ​ผู้​เสียหาย เขียน​ว่า “ต้อง​มี​การ​สอน​เจ้าหน้าที่​ตำรวจ​ให้​รู้​ว่า​วิธี​ที่​เขา​พูด​และ​ปฏิบัติ​กับ​ผู้​เสียหาย​นั้น​สำคัญ​พอ ๆ กับ​วิธี​ที่​แพทย์​พูด​และ​ปฏิบัติ​กับ​คนไข้.” ใน​หลาย​แห่ง ตำรวจ​ยัง​ไม่​ถือ​ว่า​ความ​รุนแรง​และ​การ​ข่มขืน​ใน​ครอบครัว​เป็น​อาชญากรรม​จริง ๆ. แต่​ร็อบ มอว์บี กล่าว​ว่า “วิธี​ที่​ตำรวจ​จัด​การ​กับ​ความ​รุนแรง​และ​การ​ข่มขืน​ใน​ครอบครัว​นั้น​ดี​ขึ้น​อย่าง​มาก​ใน​ช่วง​ปี​หลัง ๆ นี้. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ยัง​สามารถ​ปรับ​ปรุง​ให้​ดี​ขึ้น​ได้​อีก​มาก.” การ​ใช้​อำนาจ​ตำรวจ​อย่าง​ผิด ๆ ก็​เป็น​อีก​แง่​มุม​หนึ่ง​ที่​ตำรวจ​เกือบ​ทุก​แห่ง​จะ​ปรับ​ปรุง​แก้ไข​ได้.

ความ​กลัว​เรื่อง​การ​คอร์รัปชัน​ใน​วงการ​ตำรวจ

บาง​ครั้ง​การ​รู้สึก​ว่า​ได้​รับ​การ​ปก​ป้อง​จาก​ตำรวจ​ดู​เหมือน​เป็น​การ​พา​ซื่อ โดย​เฉพาะ​เมื่อ​ข่าว​เกี่ยว​กับ​การ​คอร์รัปชัน​ของ​ตำรวจ​แพร่​สะพัด​ไป​ทั่ว. รายงาน​ข่าว​เช่น​นี้​มี​อยู่​ตั้ง​แต่​ตอน​เริ่ม​ต้น​ของ​ประวัติศาสตร์​ตำรวจ. เมื่อ​พูด​ถึง​ปี 1855 หนังสือ​เอ็น​วาย​พี​ดี—เมือง​และ​ตำรวจ​ใน​เมือง (ภาษา​อังกฤษ) พรรณนา​ถึง “ความ​รู้สึก​ของ​ชาว​นิวยอร์ก​หลาย​คน​ที่​ว่า​ผู้​ร้าย​กับ​ตำรวจ​นั้น​แยก​กัน​ไม่​ค่อย​ออก.” หนังสือ​โฉม​หน้า​ของ​ลาติน​อเมริกา (ภาษา​อังกฤษ) ที่​แต่ง​โดย​ดังแคน กรีน รายงาน​ว่า “เชื่อ​กัน​ว่า [ตำรวจ] ที่​นั่น​ล้วน​แต่​มี​การ​คอร์รัปชัน, ไร้​ประสิทธิภาพ, และ​เป็น​ผู้​ย่ำยี​สิทธิ​มนุษยชน.” หัวหน้า​ฝ่าย​บุคลากร​ซึ่ง​มี​ตำรวจ​ใน​สังกัด 14,000 นาย​ใน​ประเทศ​แถบ​ลาติน​อเมริกา​แห่ง​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “คุณ​จะ​คาด​หมาย​อะไร​จาก​นาย​ตำรวจ​ที่​ได้​เงิน​เดือน​เพียง [4,400 บาท]? ถ้า​มี​คน​เสนอ​ให้​สินบน​เขา เขา​จะ​ทำ​อย่าง​ไร?”

ปัญหา​เรื่อง​การ​คอร์รัปชัน​นั้น​ใหญ่​เพียง​ไร? คำ​ตอบ​ขึ้น​อยู่​กับ​ว่า​คุณ​ถาม​ใคร. ตำรวจ​ใน​อเมริกา​เหนือ​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​ออก​ลาด​ตระเวน​ใน​เมือง​ที่​มี​ประชากร 100,000 คน​มา​หลาย​ปี​ตอบ​ว่า “แน่นอน มี​ตำรวจ​ที่​ไม่​ซื่อ​สัตย์ แต่​ตำรวจ​ส่วน​ใหญ่​เป็น​คน​จริง​ใจ. นี่​เป็น​สิ่ง​ที่​ผม​ประสบ​กับ​ตัว​เอง.” ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง เจ้า​พนักงาน​สอบสวน​อาชญากรรม​ซึ่ง​มี​ประสบการณ์ 26 ปี​จาก​อีก​ประเทศ​หนึ่ง​ตอบ​ว่า “ผม​เชื่อ​ว่า​การ​คอร์รัปชัน​มี​อยู่​ทุก​หน​ทุก​แห่ง. ตำรวจ​ที่​ซื่อ​สัตย์​หา​ได้​ยาก​มาก. ถ้า​ตำรวจ​เข้า​ตรวจ​ค้น​บ้าน​ที่​ถูก​ขโมย​ขึ้น​และ​พบ​เงิน​สด เขา​คง​จะ​เอา​เงิน​นั้น​ไป. ถ้า​เขา​ตาม​ของ​ที่​ถูก​ขโมย​ไป​คืน​มา​ได้ เขา​จะ​เอา​ของ​ส่วน​หนึ่ง​ไว้​เป็น​ของ​ตัว​เอง.” ทำไม​ตำรวจ​บาง​คน​จึง​กลาย​เป็น​คน​ทุจริต?

บาง​คน​เริ่ม​เป็น​ตำรวจ​โดย​มี​อุดมการณ์​อัน​สูง​ส่ง แต่​แล้ว​กลับ​พ่าย​แพ้​ต่อ​อิทธิพล​ของ​เพื่อน​ตำรวจ​ที่​ทุจริต​และ​มาตรฐาน​อัน​เสื่อม​ทราม​ของ​โลก​อาชญากรรม​ซึ่ง​พวก​เขา​ต้อง​เข้า​ไป​ยุ่ง​เกี่ยว. หนังสือ​สิ่ง​ที่​ตำรวจ​ทราบ (ภาษา​อังกฤษ) ยก​คำ​พูด​ของ​นาย​ตรวจ​แห่ง​นคร​ชิคาโก​ขึ้น​มา​ว่า “สำหรับ​เจ้าหน้าที่​ตำรวจ​แล้ว พวก​เขา​ประสบ​พบ​เจอ​กับ​ความ​ชั่ว​ร้าย. พวก​เขา​อยู่​ท่ามกลาง​มัน. พวก​เขา​สัมผัส​มัน . . . พวก​เขา​ชิม​รสชาติ​ของ​มัน . . . พวก​เขา​ดม​กลิ่น​มัน . . . พวก​เขา​ได้​ยิน​เสียง​มัน . . . พวก​เขา​ต้อง​จัด​การ​กับ​มัน.” การ​สัมผัส​กับ​ความ​ชั่ว​ร้าย​เลว​ทราม​เช่น​นั้น​อาจ​ส่ง​ผล​ใน​ทาง​ลบ​ได้​ง่าย ๆ.

แม้​ว่า​ตำรวจ​ให้​การ​บริการ​ที่​มี​คุณค่า​มาก แต่​ก็​ยัง​ไม่​ดี​พร้อม. เรา​จะ​หวัง​สิ่ง​ที่​ดี​กว่า​นี้​ได้​ไหม?

[กรอบ/ภาพ​หน้า 8, 9]

“ตำรวจ​อังกฤษ​ดี​อะไร​อย่าง​นี้!”

ชาว​อังกฤษ​เป็น​หนึ่ง​ใน​ชาติ​แรก ๆ ที่​สามารถ​มี​กอง​กำลัง​ตำรวจ​ซึ่ง​ถือ​เป็น​ความ​ฟุ่มเฟือย. พวก​เขา​ต้องการ​ให้​สังคม​ของ​ตน​เป็น​ระเบียบ เหมือน​กับ​ระบบ​รถ​ม้า​โดยสาร​ที่​มี​ประสิทธิภาพ​ซึ่ง​วิ่ง​ตรง​เวลา​อย่าง​ยิ่ง. ใน​ปี 1829 เซอร์​โรเบิร์ต (บ๊อบบี้) พีล รัฐมนตรี​ว่า​การ​กระทรวง​มหาดไทย ได้​โน้ม​น้าว​ให้​รัฐสภา​อนุมัติ​การ​ก่อ​ตั้ง​กรม​ตำรวจ​แห่ง​มหา​นคร​ลอนดอน โดย​มี​สำนักงาน​ใหญ่​อยู่​ที่​สกอตแลนด์ยาร์ด. ตอน​แรก​ตำรวจ​เหล่า​นี้​ไม่​เป็น​ที่​ชื่น​ชอบ​เนื่อง​จาก​พวก​เขา​กวาด​ล้าง​พวก​ขี้เมา​และ​พวก​ที่​เล่น​การ​พนัน​บน​ท้องถนน แต่​ต่อ​มา พวก​เขา​ก็​กลาย​เป็น​ที่​ชื่น​ชอบ​ของ​ประชาชน​อย่าง​ยิ่ง.

ใน​ปี 1851 ลอนดอน​ได้​เชิญ​ผู้​คน​จาก​ทั่ว​โลก​ด้วย​ความ​ภาคภูมิ​ใจ​ให้​มา​ยัง​งาน​แสดง​สินค้า​ครั้ง​ยิ่ง​ใหญ่​และ​ชื่นชม​กับ​ความ​สำเร็จ​ทาง​อุตสาหกรรม​ของ​อังกฤษ. แขก​รับ​เชิญ​ต่าง​รู้สึก​ทึ่ง​ใน​ถนน​หน​ทาง​ที่​เป็น​ระเบียบ​และ​ไม่​มี​พวก​ขี้​เหล้า​เมา​ยา, โสเภณี, และ​คน​จรจัด. ตำรวจ​ที่​มี​ประสิทธิภาพ​ชี้​บอก​ทาง​ให้​ฝูง​ชน, หิ้ว​กระเป๋า​ให้​พวก​เขา, ช่วย​คน​ข้าม​ถนน, และ​ถึง​กับ​อุ้ม​หญิง​ชรา​ขึ้น​รถ​แท็กซี่. ไม่​น่า​แปลก​ใจ​ที่​คน​อังกฤษ​รวม​ทั้ง​ชาว​ต่าง​ประเทศ​ที่​มา​เยือน​ได้​ยิน​เสียง​ชม​ว่า “ตำรวจ​อังกฤษ​ดี​อะไร​อย่าง​นี้!”

ดู​เหมือน​พวก​เขา​มี​ประสิทธิภาพ​ใน​การ​ป้องกัน​อาชญากรรม​จน​หัวหน้า​ตำรวจ​แห่ง​เมือง​เชสเตอร์​วาด​มโนภาพ​ไว้​ใน​ปี 1873 ว่า​อาชญากร​จะ​ถูก​ขจัด​ให้​สิ้น​ซาก! ตำรวจ​ยัง​เริ่ม​จัด​รถ​พยาบาล​และ​หน่วย​ดับ​เพลิง​ไว้​บริการ​ด้วย. พวก​เขา​จัด​งาน​การ​กุศล​เพื่อ​หา​รอง​เท้า​และ​เสื้อ​ผ้า​ให้​คน​ยาก​จน. บาง​คน​จัด​ชมรม​เพื่อ​เด็ก​ชาย, การ​ท่อง​เที่ยว, และ​บ้าน​ตากอากาศ.

แน่นอน ตำรวจ​ใหม่​ก็​มี​ปัญหา​ทาง​วินัย​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​คอร์รัปชัน​และ​ความ​โหด​ร้าย​ด้วย. แต่​ตำรวจ​ส่วน​ใหญ่​ภูมิ​ใจ​ที่​ได้​รักษา​ความ​สงบ​เรียบร้อย​โดย​ใช้​กำลัง​น้อย​ที่​สุด. ใน​ปี 1853 ตำรวจ​ใน​วีแกน แลงคาเชียร์ ต้อง​เผชิญ​หน้า​กับ​คน​งาน​เหมือง​แร่​ที่​นัด​หยุด​งาน​ซึ่ง​ก่อ​การ​จลาจล. นาย​สิบ​ตำรวจ​ที่​กล้า​หาญ​ซึ่ง​ควบคุม​ดู​แล​กำลัง​ตำรวจ​เพียง​สิบ​นาย​ได้​ปฏิเสธ​อย่าง​หนักแน่น​ที่​จะ​ใช้​ปืน​ของ​เจ้าของ​เหมือง. ตัว​อย่าง​ที่​แสดง​ถึง​น้ำใจ​ที่​พัฒนา​ขึ้น​คือ​จดหมาย​ที่​เฮกเตอร์ แมเคลาด์ ได้​รับ​ใน​ปี 1886 เมื่อ​เขา​เจริญ​รอย​ตาม​พ่อ​ของ​เขา​ใน​การ​เป็น​ตำรวจ. ดัง​ที่​ยก​มา​กล่าว​ใน​หนังสือ​ตำรวจ​อังกฤษ (ภาษา​อังกฤษ) จดหมาย​นั้น​กล่าว​ว่า “เมื่อ​แสดง​ความ​เกรี้ยวกราด คุณ​ก็​สูญ​เสีย​การ​เห็น​อก​เห็น​ใจ​จาก​ประชาชน . . . ผม​ถือ​เอา​ผล​ประโยชน์​ของ​ประชาชน​มา​ก่อน​เพราะ​คุณ​เป็น​ผู้​รับใช้​ชุมชน พวก​คุณ​ถูก​มอบหมาย​ให้​ทำ​หน้า​ที่​ใน​ตอน​นี้ และ​เป็น​หน้า​ที่​ของ​คุณ​ที่​จะ​ทำ​ให้​ประชาชน​ใน​ชุมชน​พอ​ใจ รวม​ทั้ง​ผู้​บังคับ​บัญชา​ของ​คุณ​ด้วย.”

เฮย์เดน ผู้​ตรวจ​ราชการ​แห่ง​กรม​ตำรวจ​ใน​เขต​มหา​นคร​ซึ่ง​เกษียณ​อายุ​แล้ว​กล่าว​ว่า “เรา​ถูก​สอน​มา​ตลอด​ให้​อด​กลั้น​เพราะ​การ​ปฏิบัติ​หน้า​ที่​ของ​ตำรวจ​จะ​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ได้​ก็​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​การ​สนับสนุน​จาก​ชุมชน. กระบอง​ไม้​สั้น ๆ ของ​เรา​เป็น​มาตรการ​ขั้น​สุด​ท้าย​จริง ๆ ซึ่ง​เจ้าหน้าที่​ส่วน​ใหญ่​ไม่​เคย​ใช้​ตลอด​ช่วง​เวลา​ที่​เป็น​ตำรวจ.” นอก​จาก​นี้​สิ่ง​ที่​ช่วย​เสริม​ภาพ​ลักษณ์​ที่​ดี​ให้​กับ​ตำรวจ​อังกฤษ​คือ​ละคร​ชุด​ทาง​โทรทัศน์​ที่​โด่งดัง​เรื่อง​ดิกซัน​แห่ง​ด๊อกกรีน ซึ่ง​ออก​อากาศ​เป็น​เวลา 21 ปี เป็น​เรื่อง​ราว​ของ​นาย​ตำรวจ​ที่​ซื่อ​สัตย์​ซึ่ง​รู้​จัก​ทุก​คน​ใน​ท้อง​ที่​ของ​เขา. ละคร​เรื่อง​นี้​อาจ​ช่วย​หนุน​กำลังใจ​ให้​ตำรวจ​ทำ​ตาม​ภาพ​ลักษณ์​ดัง​กล่าว แต่​ที่​แน่ ๆ ละคร​เรื่อง​นี้​กระตุ้น​ให้​ชาว​อังกฤษ​ชื่น​ชอบ​ตำรวจ.

เจตคติ​ใน​บริเตน​เปลี่ยน​ไป​ใน​ช่วง​ทศวรรษ​ปี 1960 และ​ความ​ภาคภูมิ​ใจ​ที่​มี​มา​ช้า​นาน​ใน​ชาติ​ก็​เปลี่ยน​เป็น​ความ​เคลือบ​แคลง​ใจ​ต่อ​พวก​เจ้าหน้าที่. รายงาน​เรื่อง​การ​คอร์รัปชัน​และ​การ​เหยียด​ผิว​ทำลาย​ชื่อเสียง​ของ​ตำรวจ​ใน​ช่วง​ทศวรรษ​ปี 1970 ทั้ง ๆ ที่​พวก​เขา​พยายาม​จะ​ทำ​ให้​ประชาชน​สนับสนุน​พวก​เขา​ใน​โครงการ​ให้​เพื่อน​บ้าน​ช่วย​กัน​ดู​แล. เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้ หลัง​จาก​มี​การ​กล่าวหา​กัน​หลาย​ครั้ง​หลาย​หน​เรื่อง​การ​เหยียด​ผิว​และ​การ​ปลอม​แปลง​หลักฐาน​เพื่อ​ให้​มี​การ​พิพากษา​ลง​โทษ ตำรวจ​ก็​ได้​พยายาม​ที่​จะ​ปรับ​ปรุง​ตัว​อย่าง​จริงจัง​ต่อ​ไป.

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Photograph above: http://www.constabulary.com

[กรอบ/ภาพ​หน้า 10]

ปาฏิหาริย์​ใน​นิวยอร์ก​หรือ?

เมื่อ​ตำรวจ​ใช้​ความ​พยายาม​เป็น​พิเศษ ผล​ที่​ได้​อาจ​น่า​ทึ่ง​ที​เดียว. นาน​มา​แล้ว​ที่​นิวยอร์ก​ถูก​มอง​ว่า​เป็น​เมือง​ที่​อันตราย​ที่​สุด​เมือง​หนึ่ง​ของ​โลก และ​พอ​ถึง​ปลาย​ทศวรรษ​ปี 1980 ก็​ดู​เหมือน​ว่า​กอง​กำลัง​ตำรวจ​ที่​ท้อ​แท้​ไม่​สามารถ​ควบคุม​สถานการณ์​ได้. ความ​กดดัน​ทาง​เศรษฐกิจ​ทำ​ให้​เทศบาล​จำ​ต้อง​งด​การ​ขึ้น​ค่า​แรงงาน​และ​ลด​กำลัง​ตำรวจ. พ่อค้า​ยา​เสพ​ติด​ก็​ย้าย​เข้า​มา​ใน​เมือง​และ​ทำ​ให้​ความ​รุนแรง​อัน​น่า​กลัว​ทวี​ขึ้น. ผู้​อาศัย​ย่าน​ใจ​กลาง​เมือง​เข้า​นอน​พร้อม​กับ​ได้​ยิน​เสียง​ปืน. มี​การ​จลาจล​ครั้ง​ใหญ่ ๆ เกิด​ขึ้น​ใน​ปี 1991 และ​ตำรวจ​เอง​ก็​ทำ​การ​ประท้วง​อย่าง​เปิด​เผย​เพื่อ​แสดง​ความ​ไม่​พอ​ใจ.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม ผู้​บัญชา​การ​ตำรวจ​คน​ใหม่​ใส่​ใจ​ที่​จะ​หนุน​กำลังใจ​เจ้าหน้าที่​ของ​เขา โดย​จัด​การ​ประชุม​เป็น​ประจำ​กับ​พวก​เขา​เพื่อ​วิเคราะห์​แผนการ​ของ​แต่​ละ​ท้อง​ที่. เจมส์ ลาร์ดเนอร์ และ โทมัส เรปเปตโต อธิบาย​ใน​หนังสือ​เอ็น​วาย​พี​ดี ดัง​นี้: “หัวหน้า​หน่วย​นัก​สืบ​หรือ​หัวหน้า​หน่วย​ยา​เสพ​ติด​เป็น​คน​ที่​ผู้​บัญชา​การ​ประจำ​ท้อง​ที่​อ่าน​ข่าว​พบ​ใน​หนังสือ​พิมพ์​แต่​แทบ​ไม่​เคย​พบ​ตัว. ตอน​นี้​พวก​เขา​ทั้ง​หมด​นั่ง​คุย​กัน​เป็น​ชั่วโมง.” ตัว​เลข​อาชญากรรม​เริ่ม​ลด​ลง. รายงาน​การ​ฆาตกรรม​ค่อย ๆ ลด​ลง​เรื่อย ๆ จาก​เกือบ 2,000 ราย​ใน​ปี 1993 เหลือ 633 ราย​ใน​ปี 1998 ซึ่ง​เป็น​ตัว​เลข​ที่​ต่ำ​ที่​สุด​ใน​รอบ 35 ปี. ชาว​นิวยอร์ก​เริ่ม​พูด​กัน​ถึง​เรื่อง​ปาฏิหาริย์. อาชญากรรม​ที่​มี​การ​แจ้ง​ความ​ใน​ช่วง​แปด​ปี​หลัง​นี้​ลด​ลง​ถึง 64 เปอร์เซ็นต์.

การ​ปรับ​ปรุง​นี้​สำเร็จ​ได้​อย่าง​ไร? หนังสือ​พิมพ์​เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ ฉบับ​วัน​ที่ 1 มกราคม 2002 ชี้​ว่า ปัจจัย​สำคัญ​อย่าง​หนึ่ง​ของ​ความ​สำเร็จ​นี้​คือ​คอมป์สตัต ซึ่ง​เป็น “ระบบ​ติด​ตาม​อาชญากรรม​โดย​การ​วิเคราะห์​สถิติ​ของ​แต่​ละ​ท้อง​ที่​ทุก​สัปดาห์​เพื่อ​ตรวจ​จับ​และ​ตอบ​สนอง​ปัญหา​ทันที​ที่​มัน​ปรากฏ​ขึ้น.” อดีต​อธิบดี​กรม​ตำรวจ​เบอร์นาร์ด เคอริก กล่าว​ว่า “เรา​คอย​สังเกต​ว่า​อาชญากรรม​เกิด​ขึ้น​ที่​ไหน, ทำไม​มัน​จึง​เกิด​ขึ้น แล้ว​เรา​ก็​ย้าย​กำลัง [ตำรวจ] และ​การ​ช่วยเหลือ​ไป​ที่​นั่น​เพื่อ​จะ​แน่​ใจ​ว่า​ท้อง​ที่​เหล่า​นั้น​ได้​รับ​การ​เอา​ใจ​ใส่​มาก​ขึ้น. นั่น​แหละ​คือ​วิธี​ลด​อาชญากรรม.”

[ภาพ​หน้า 7]

สถานี​ตำรวจ​ของ​ญี่ปุ่น

[ภาพ​หน้า 7]

ตำรวจ​จราจร​ใน​ฮ่องกง

[ภาพ​หน้า 8, 9]

เจ้าหน้าที่​ควบคุม​ฝูง​ชน​ใน​การ​แข่งขัน​ฟุตบอล​ที่​อังกฤษ

[ภาพ​หน้า 9]

หน้า​ที่​ของ​ตำรวจ​รวม​ไป​ถึง​การ​ช่วยเหลือ​ผู้​ประสบ​อุบัติเหตุ