ดิฉันเอาชนะภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
ดิฉันเอาชนะภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
ดิฉันจำได้ว่าดิฉันเฝ้ามองสามีเล่นกับลูกสาวที่เพิ่งเกิดอย่างมีความสุขแล้วก็คิดว่าสามีกับลูก ๆ คงจะมีความสุขมากกว่านี้ถ้าไม่มีดิฉัน. ดิฉันรู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระของพวกเขา. ดิฉันอยากจะขึ้นรถแล้วขับไปโดยไม่กลับมาอีกเลย. ดิฉันไม่รู้เลยว่าตัวเองเป็นโรคภาวะซึมเศร้าหลังคลอด.
ช่วงสิบปีแรกในชีวิตสมรสของดิฉันเป็นช่วงเวลาที่มีความสุข. ดิฉันกับเจสันมีความสุขกับการเลี้ยงดูลีอานา ลูกสาวคนแรกของเรา. ดังนั้น เมื่อดิฉันตั้งครรภ์อีก เราทุกคนต่างก็รู้สึกปีติยินดีกับข่าวนี้.
แต่การตั้งครรภ์ครั้งนี้มีปัญหามาก. ที่จริง ดิฉันเกือบเสียชีวิตจากอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นหลังคลอด. แต่ก่อนหน้านั้นในช่วงที่ดิฉันใกล้คลอด ดูเหมือนมีเมฆหมอกมาบดบังจิตใจของดิฉันไว้. อาการยิ่งหนักขึ้นหลังจากที่เราพาคาร์ลี ลูกสาวตัวน้อยที่เพิ่งคลอดออกจากโรงพยาบาลกลับ
มาบ้าน. ดิฉันรู้สึกเหนื่อยอ่อนตลอดเวลาและรู้สึกว่าไม่สามารถตัดสินใจแม้แต่เรื่องง่าย ๆ. ดิฉันจะโทรศัพท์ไปหาเจสันที่ทำงานวันละหลายครั้ง เพียงเพื่อจะถามเกี่ยวกับงานบ้านที่ดิฉันควรจะทำลำดับต่อไปหรือเพื่อให้เขารับรองว่าสิ่งที่ดิฉันเพิ่งพูดหรือทำไปนั้นถูกต้องแล้ว.ดิฉันรู้สึกกลัวที่จะอยู่กับผู้คน แม้แต่เพื่อนเก่า ๆ. ถ้าบังเอิญมีคนมาที่ประตูบ้าน ดิฉันจะไปซ่อนตัวในห้องนอน. ดิฉันปล่อยให้บ้านรกรุงรัง และกลายเป็นคนที่มักจะใจลอยและสับสน. ดิฉันชอบอ่านหนังสือ แต่แทบจะอ่านไม่ได้เลยเพราะไม่มีสมาธิ. ดิฉันรู้สึกยากที่จะอธิษฐาน ดังนั้นสุขภาพฝ่ายวิญญาณก็เสื่อมทรุดลงด้วย. ดิฉันกลายเป็นคนเย็นชา ไม่สามารถรู้สึกรักใคร ๆ ได้. ดิฉันกลัวว่าลูก ๆ จะได้รับอันตรายเนื่องจากดิฉันไม่สามารถคิดอย่างที่ถูกที่ควร. ความรู้สึกนับถือตัวเองลดน้อยลง. ดิฉันคิดว่าตัวเองกำลังจะเสียสติ.
ระหว่างช่วงเวลานั้น เมื่อเจสันกลับจากที่ทำงาน เขาจะช่วยดิฉันทำความสะอาดบ้านหรือไม่ก็ทำอาหารให้ครอบครัว แต่ดิฉันจะโกรธที่เขาช่วย! ดิฉันรู้สึกว่าการกระทำของเขาบ่งชี้ว่าดิฉันเป็นแม่ที่ใช้ไม่ได้. ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าเขาไม่ได้เสนอจะช่วย ดิฉันก็จะหาว่าเขาไม่สนใจไยดี. ถ้าเจสันไม่ได้รับมือกับเรื่องนี้ด้วยความอาวุโสและด้วยความรักอย่างที่เขาทำนั้น ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดของดิฉันคงจะเป็นความหายนะสำหรับครอบครัวเรา. บางทีเจสันอาจอธิบายได้ดีที่สุดว่าอาการของดิฉันส่งผลกระทบต่อเขาอย่างไร.
สามีของดิฉันเล่าว่าเขาได้รับผลกระทบอย่างไร
“ตอนแรก ผมไม่อยากเชื่อว่าเกิดอะไรขึ้นกับแจเนลล์. เธอเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงจากที่เคยเป็นคนร่าเริงและกล้าแสดงออก และเริ่มทำตัวเหมือนเป็นอีกคนหนึ่ง. เธอเริ่มคิดว่าทุกอย่างที่ผมพูดเป็นคำวิพากษ์วิจารณ์ส่วนตัว และเธอถึงกับไม่พอใจเมื่อผมพยายามแบ่งเบางานของเธอ. ตอนแรก ผมอยากบอกให้เธอควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของเธอ แต่ผมรู้ว่าการพูดอย่างนั้นก็มีแต่จะทำให้แย่ลงไปอีก.
“ความสัมพันธ์ระหว่างเราตึงเครียดอยู่เสมอ. แจเนลล์ดูเหมือนจะคิดว่าทุกคนในโลกไม่ชอบเธอ. ผมเคยได้ยินเรื่อง
ผู้หญิงคนอื่นที่มีอาการคล้าย ๆ กับเธอซึ่งเกิดจากภาวะซึมเศร้าหลังคลอด. ดังนั้น เมื่อผมเริ่มสงสัยว่าเธอเป็นโรคนี้ ผมก็เริ่มอ่านข้อมูลทุกอย่างเท่าที่หาได้เกี่ยวกับเรื่องนี้. สิ่งที่ผมอ่านยืนยันว่าที่ผมสงสัยนั้นถูกแล้ว. ผมยังได้รู้ว่าอาการเจ็บป่วยของแจเนลล์ไม่ใช่ความผิดของเธอ มันไม่ได้เกิดจากการละเลยในส่วนของเธอ.“ผมยอมรับว่า การเอาใส่ใจเป็นพิเศษที่เธอกับลูก ๆ ต้องการนั้นทำให้ผมอ่อนเปลี้ยทั้งทางอารมณ์และทางกาย. เป็นเวลาสองปีที่ผมต้องเอาใจใส่ทั้งงานอาชีพและหน้าที่รับผิดชอบในฐานะผู้ปกครองในประชาคมรวมทั้งในฐานะสามีและบิดาไปพร้อม ๆ กัน. น่าดีใจที่ผมสามารถปรับตารางงานเพื่อผมจะกลับบ้านได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคืนที่เราเข้าร่วมการประชุมคริสเตียน. แจเนลล์จำเป็นต้องให้ผมกลับบ้านมาทันเวลาเพื่อช่วยทำอาหารเย็นและแต่งตัวให้ลูก ๆ. ดังนั้น เราทุกคนจึงเข้าร่วมการประชุมได้.”
วิธีที่ดิฉันฟื้นตัว
ถ้าไม่มีการเกื้อหนุนด้วยความรักจากสามี ดิฉันคงฟื้นตัวช้ากว่านี้มาก. เจสันฟังด้วยความอดทนขณะที่ดิฉันระบายความกลัวของตัวเอง. ดิฉันพบว่าเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะไม่เก็บความรู้สึกของตัวเองเอาไว้. บางครั้ง ดิฉันถึงกับดูเหมือนพูดแบบโกรธเกรี้ยว. แต่เจสันก็รับรองกับดิฉันมาตลอดว่าเขารักดิฉันและเราจะฝ่าฟันไปด้วยกัน. เขาพยายามช่วยให้ดิฉันมองในแง่บวกเสมอ. ภายหลัง ดิฉันก็จะขอโทษสำหรับคำพูดที่พูดออกไปด้วยความโมโห. เขายืนยันกับดิฉันอีกว่า ที่ดิฉันพูดเช่นนั้นก็เพราะโรคของดิฉันนั่นแหละ. ตอนนี้เมื่อดิฉันมองย้อนไป ดิฉันตระหนักว่าคำพูดที่ไตร่ตรองอย่างดีของเขามีความหมายมากเพียงไรสำหรับดิฉัน.
ในที่สุด เราสองคนก็ได้พบคุณหมอที่ใจดีมากคนหนึ่งซึ่งสละเวลาฟังว่าดิฉันรู้สึกอย่างไร.
เขาวินิจฉัยว่าอาการของดิฉันคือภาวะซึมเศร้าหลังคลอด และแนะว่าควรบำบัดด้วยการกินยาที่ช่วยควบคุมความรู้สึกกังวลที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ. เขายังสนับสนุนให้ดิฉันไปหาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต. นอกจากนั้น เขาแนะนำให้ออกกำลังกายเป็นประจำ ซึ่งเป็นวิธีบำบัดที่ได้ผลซึ่งช่วยหลายคนในการต่อสู้กับโรคซึมเศร้า.อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งในช่วงของการฟื้นตัวคือ การรับมือกับความอับอายที่เกี่ยวโยงกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด. บ่อยครั้งผู้คนรู้สึกว่ายากที่จะแสดงความเห็นอกเห็นใจคนที่เป็นโรคซึ่งพวกเขาไม่เข้าใจ. เพื่อเป็นตัวอย่าง ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดไม่เหมือนกับการขาหัก ซึ่งคนอื่นสามารถมองเห็นและจึงแสดงความเห็นอกเห็นใจได้. ถึงกระนั้น ครอบครัวของดิฉันกับเพื่อนสนิทก็พิสูจน์ตัวว่าเขาได้ให้การเกื้อหนุนและมีความเข้าใจอย่างแท้จริง.
ความช่วยเหลือด้วยความรักจากครอบครัวและเพื่อน ๆ
ดิฉันกับเจสันรู้สึกขอบคุณเป็นอย่างยิ่งสำหรับความช่วยเหลือที่ได้รับจากแม่ของดิฉันในช่วงที่ยากลำบากนี้. บางครั้ง เจสันจำเป็นต้องพักจากความวุ่นวายทางอารมณ์ที่บ้าน. แม่คอยหนุนกำลังใจดิฉันเสมอและไม่พยายามทำงานทุกอย่างแทนดิฉัน. แทนที่จะทำอย่างนั้น แม่ช่วยเหลือดิฉันและหนุนกำลังใจดิฉันให้ทำเท่าที่ทำได้.
เพื่อน ๆ ในประชาคมก็ให้การเกื้อหนุนที่ยอดเยี่ยมด้วย. หลายคนส่งข้อความสั้น ๆ บอกเราว่าพวกเขาคิดถึงดิฉัน. ดิฉันรู้สึกซาบซึ้งกับถ้อยคำที่กรุณาเหล่านั้นสักเพียงไร! โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อดิฉันรู้สึกลำบากใจที่จะพูดกับผู้คน ไม่ว่าจะทางโทรศัพท์หรือต่อหน้า. ดิฉันรู้สึกว่ายากที่จะสมาคมคบหากับเพื่อนคริสเตียนก่อนและหลังการประชุม
เสียด้วยซ้ำ. ด้วยเหตุนี้ โดยการเขียนข้อความถึงเรา เพื่อน ๆ ไม่เพียงแสดงว่าพวกเขาคำนึงถึงข้อจำกัดของโรคซึมเศร้าของดิฉัน แต่ยังยืนยันความรักและความห่วงใยที่มีต่อดิฉันและครอบครัวด้วย.ไม่ใช่ต้องทนไปตลอดชีวิต!
ตอนนี้ดิฉันดีขึ้นมากแล้ว เนื่องจากคำแนะนำของคุณหมอ, ครอบครัวที่ให้การเกื้อหนุนอย่างมาก, และเพื่อน ๆ ที่แสดงความเข้าใจ. ดิฉันยังออกกำลังกายเป็นประจำ แม้แต่ตอนที่ดิฉันรู้สึกเหนื่อย เพราะการออกกำลังกายช่วยให้ดิฉันฟื้นตัวได้ดีขึ้น. ดิฉันยังพยายามแสดงการตอบรับที่ดีเมื่อได้รับการหนุนกำลังใจจากคนอื่น. ในช่วงที่ป่วย ดิฉันฟังเทปการอ่านคัมภีร์ไบเบิลและเพลงราชอาณาจักร ซึ่งเป็นดนตรีที่เสริมสร้างฝ่ายวิญญาณและอารมณ์ซึ่งจัดทำโดยพยานพระยะโฮวา. การจัดเตรียมที่ดีเหล่านี้ช่วยเสริมกำลังฝ่ายวิญญาณให้ดิฉันและช่วยรักษาความคิดของดิฉันให้เป็นแบบที่เสริมสร้างอยู่เสมอ. ไม่นานมานี้ ดิฉันถึงกับเริ่มให้คำบรรยายนักเรียนที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลในการประชุมประชาคมอีกครั้ง.
ดิฉันต้องใช้เวลามากกว่าสองปีครึ่งเพื่อจะไปถึงจุดที่ดิฉันสามารถรู้สึก และแสดงความรักต่อสามี, ลูก ๆ, และคนอื่นได้อย่างเต็มที่ยิ่งขึ้น. แม้ว่าช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับครอบครัวของดิฉัน แต่เราก็รู้สึกว่าตอนนี้สายสัมพันธ์ของเราแน่นแฟ้นยิ่งกว่าเมื่อก่อน. ดิฉันขอบคุณเจสันมากเป็นพิเศษที่ยืนยันความรักที่มีต่อดิฉันอย่างล้นเหลือโดยการอดทนต่ออาการซึมเศร้าในช่วงที่ดิฉันเป็นหนักที่สุดและพร้อมเสมอที่จะช่วยเหลือในยามที่ดิฉันต้องการ. เหนือสิ่งอื่นใด เราทั้งสองมีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับพระยะโฮวา ผู้ซึ่งได้ทรงเสริมกำลังเราระหว่างช่วงแห่งความยุ่งยากของเรา.
ดิฉันยังรู้สึกซึมเศร้าอยู่บ้างเป็นบางครั้ง แต่ด้วยความช่วยเหลือจากครอบครัว, คุณหมอ, ประชาคม, และพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา ความหวังที่จะหายก็มีมากขึ้น. ถูกแล้ว ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดไม่ใช่สิ่งที่ต้องทนไปตลอดชีวิต. มันเป็นศัตรูที่เราเอาชนะได้.—เล่าโดยแจเนลล์ มาร์แชลล์
[กรอบ/ภาพหน้า 20]
ปัจจัยที่อาจมีส่วนทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนแล้ว มีอีกหลายอย่างที่บางครั้งอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด. ปัจจัยเหล่านี้รวมไปถึง:
1. ความคิดของผู้หญิงคนนั้นต่อการเป็นมารดา ซึ่งอาจเกิดจากวัยเด็กที่ไม่มีความสุขและสายสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับบิดามารดา.
2. การที่สังคมคาดหมายจากมารดาอย่างที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง.
3. ในครอบครัวมีประวัติคนที่เคยเป็นโรคซึมเศร้า.
4. การขาดความสุขในชีวิตสมรสและขาดการสนับสนุนจากครอบครัวหรือญาติ ๆ.
5. การประเมินค่าตัวเองต่ำ.
6. การดูแลลูกน้อยอยู่ตลอดเวลาทำให้รู้สึกว่าตนแบกภาระหนักเกินไป.
รายการที่ลงไว้นี้ไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด. ปัจจัยอื่น ๆ อาจมีส่วนทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด. ที่จริง สาเหตุของภาวะนี้ยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างเต็มที่.
[กรอบหน้า 21]
ไม่ใช่แค่อารมณ์แปรปรวนหลังคลอด
ควรเข้าใจว่าภาวะซึมเศร้าหลังคลอดต่างกับภาวะอารมณ์แปรปรวนหลังคลอดแบบธรรมดา. แพทย์หญิงลอรา เจ. มิลเลอร์กล่าวว่า “ผู้หญิงประมาณ 50% ที่คลอดบุตรประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ในแบบหลังซึ่งทำให้รู้สึกเศร้าโศก. อารมณ์แบบนี้มักพุ่งขึ้นสูงสุดในช่วงวันที่สามถึงวันที่ห้าหลังคลอด และจะค่อย ๆ จางหายไปภายในไม่กี่สัปดาห์.” นักวิจัยชี้ว่า อารมณ์แบบนี้อาจเกิดจากการที่ระดับฮอร์โมนของผู้หญิงมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงหลังคลอด.
ไม่เหมือนกับภาวะอารมณ์แปรปรวน ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นความรู้สึกซึมเศร้าระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นตอนที่เพิ่งคลอดบุตรหรือหลายสัปดาห์กระทั่งหลายเดือนหลังจากนั้น. คุณแม่คนใหม่ที่มีอาการนี้อาจรู้สึกปีติยินดีในช่วงนาทีหนึ่งแล้วก็ซึมเศร้า และอาจถึงกับอยากฆ่าตัวตายในนาทีต่อมา. นอกจากนั้น เธออาจมีอารมณ์ฉุนเฉียว, ขุ่นเคือง, และโมโห. เธออาจมีความรู้สึกฝังแน่นว่าตนเองขาดความสามารถในการเป็นแม่และขาดความรักต่อลูกน้อย. แพทย์หญิงมิลเลอร์กล่าวว่า “แม่ที่เป็นโรคซึมเศร้าบางคนรู้ตัวว่ารักลูกน้อยของตน แต่พวกเธอแทบจะไม่มีอารมณ์อื่นใดนอกจากความเซื่องซึม, ความฉุนเฉียว, หรือความรังเกียจ. บางคนอาจคิดทำร้ายหรือถึงกับฆ่าลูกน้อยของตนด้วยซ้ำ.”
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมีประวัติมานานแล้ว. ย้อนไปถึงศตวรรษที่สี่ก่อนสากลศักราช นายแพทย์ชาวกรีกชื่อฮิปโปกราติส ได้สังเกตว่าผู้หญิงบางคนมีการเปลี่ยนแปลงทางจิตอย่างที่น่าตกใจภายหลังการคลอดบุตร. งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการวิจัยทางการแพทย์และชีววิทยาแห่งบราซิล (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดกับมารดา 10-15% ในหลายประเทศ.” อย่างไรก็ตาม วารสารนั้นกล่าวว่า น่าเศร้า “ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นโรคซึมเศร้าเช่นนี้ไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องและไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม.”
ความผิดปกติที่ไม่ค่อยพบเห็นบ่อยนักแต่ร้ายแรงกว่าภาวะซึมเศร้าแบบนี้คือโรคจิตหลังคลอด. ผู้ป่วยอาจมีอาการประสาทหลอน, ได้ยินเสียงในศีรษะ, และไม่รับรู้ความเป็นจริง แม้ว่าคนนั้นอาจมีช่วงที่คุมสติได้นานหลายชั่วโมงหรือหลายวัน. สาเหตุของโรคจิตชนิดนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่แพทย์หญิงมิลเลอร์ให้ข้อสังเกตว่า “ความอ่อนแอทางพันธุกรรมอาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนซึ่งดูเหมือนเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด.” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้อาจให้การรักษาที่ได้ผลสำหรับอาการโรคจิตหลังคลอด.
[กรอบ/ภาพหน้า 22]
วิธีที่คุณจะช่วยเหลือตนเอง *
1. ถ้าอาการซึมเศร้ายังคงยืดเยื้อ จงขอความช่วยเหลือจากแพทย์. ยิ่งคุณทำเช่นนั้นเร็วเท่าไร คุณก็จะยิ่งฟื้นตัวได้เร็วขึ้นเท่านั้น. จงหาแพทย์ที่มีความเข้าใจซึ่งรู้จักภาวะเช่นนี้เป็นอย่างดี. อย่าอายที่คุณมีอาการซึมเศร้าหลังคลอดหรือถ้าคุณต้องกินยา.
2. ออกกำลังกายเป็นประจำ. การศึกษาวิจัยแสดงว่าการออกกำลังกายเป็นประจำเป็นวิธีบำบัดที่ได้ผลสำหรับโรคซึมเศร้า.
3. เล่าให้คนที่คุณใกล้ชิดที่สุดฟังว่าคุณรู้สึกอย่างไร. อย่าแยกตัวอยู่คนเดียวหรือเก็บความรู้สึกของคุณไว้.
4. จำไว้ว่าคุณไม่จำเป็นต้องมีบ้านที่สมบูรณ์แบบ. พยายามทำให้ชีวิตของคุณเรียบง่ายโดยจดจ่อกับสิ่งที่สำคัญ ๆ.
5. อธิษฐานขอความกล้าและความอดทน. ถ้าคุณรู้สึกว่ายากจะอธิษฐาน จงขอใครสักคนอธิษฐานกับคุณ. การฟื้นตัวอาจช้ากว่าปกติถ้าคุณมัวแต่รู้สึกผิดหรือรู้สึกไร้ค่า.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 39 ตื่นเถิด! ไม่ได้แนะนำวิธีการรักษาอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ. ข้อแนะสำหรับทั้งผู้ชายและผู้หญิงในบทความนี้ไม่ได้ครอบคลุมทุกสภาพการณ์ และบางจุดอาจใช้ไม่ได้ในบางกรณี.
[กรอบหน้า 23]
ข้อแนะสำหรับสามี
1. จงตระหนักว่า ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดไม่ใช่ความผิดของภรรยาคุณ. ถ้าอาการของเธอยืดเยื้อ จงร่วมมือกับเธอในการหาความช่วยเหลือจากแพทย์ที่เข้าใจปัญหานี้และมีความเห็นอกเห็นใจ.
2. จงฟังภรรยาของคุณอย่างอดทน. ตระหนักถึงความรู้สึกของเธอ. อย่ากลัดกลุ้มที่เธอมองโลกในแง่ร้าย. ช่วยเธออย่างกรุณาให้มองเห็นด้านดีของเรื่องต่าง ๆ และให้คำรับรองว่าเธอจะดีขึ้น. อย่าคิดว่าคุณต้องแก้ปัญหาทุกอย่างที่เธอพูดถึง. เธออาจต้องการเพียงแค่การปลอบใจ ไม่ใช่คำตอบที่อาศัยเหตุผล. (1 เธซะโลนิเก 5:14) จำไว้ว่า ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดทำให้ยากสำหรับผู้ที่เป็นโรคนี้จะคิดอย่างมีเหตุผลหรือคิดอย่างแจ่มชัดได้.
3. จงลดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นเพื่อคุณจะมีเวลาช่วยเหลือภรรยามากขึ้น. การที่คุณทำเช่นนั้นอาจทำให้เธอหายเร็วขึ้น.
4. จงให้เวลากับตัวเองบ้าง. การที่คุณมีสุขภาพดีทั้งด้านร่างกาย, จิตใจ, และฝ่ายวิญญาณ จะทำให้คุณช่วยเหลือภรรยาของคุณได้ดีขึ้น.
5. จงหาใครสักคนที่จะพูดคุยด้วยซึ่งจะหนุนกำลังใจคุณ อาจเป็นผู้ชายที่อาวุโสฝ่ายวิญญาณซึ่งภรรยาของเขาเคยมีอาการซึมเศร้าหลังคลอด.
[ภาพหน้า 23]
ครอบครัวมาร์แชลล์