ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การเพ่งดูโลก

การเพ่งดูโลก

การ​เพ่ง​ดู​โลก

สงวน​กล้วยไม้​พันธุ์​หา​ยาก​ไม่​ให้​สูญ​พันธุ์

เป็น​เวลา 50 ปี​ที่​กล้วยไม้​พันธุ์​รอง​เท้า​นารี (Cypripedium calceolus) เพียง​ต้น​เดียว​ซึ่ง​ขึ้น​เอง​ตาม​ธรรมชาติ​ใน​บริเตน​ถูก​เก็บ​รักษา​โดย​มี​ยาม​เฝ้า​ตลอด 24 ชั่วโมง​เพื่อ​ป้องกัน​ไม่​ให้​สูญ​พันธุ์. คน​ใน​สมัย​วิกตอเรีย​และ​คน​รุ่น​ต่อ ๆ มา​ถือ​ว่า​กล้วยไม้​สี​แดง​เข้ม​และ​สี​เหลือง​ที่​สวย​งาม​พันธุ์​นี้​มี​ค่า​มาก​จน​เมื่อ​ถึง​ช่วง​ทศวรรษ​ปี 1950 กล้วยไม้​นี้​ก็ “ถูก​เด็ด​จน​เกือบ​สูญ​พันธุ์” และ​เหลือ​อยู่​เพียง​ต้น​เดียว. นัก​พฤกษศาสตร์​พยายาม​เพาะ​ต้น​กล้า​จาก​กล้วยไม้​ต้น​นี้​ซึ่ง​อยู่​ที่​มณฑล​นอร์ท​ยอร์กเชียร์ แต่​เนื่อง​จาก​มัน​ไม่​ค่อย​ออก​ดอก จึง​ทำ​ให้​ไม่​สามารถ​ผสม​เกสร​ตาม​แบบ​ธรรมชาติ​ได้. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ใน​ตอน​ต้น​ทศวรรษ​ปี 1990 นัก​วิทยาศาสตร์​ที่​สวน​พฤกษชาติ​คิว กรุง​ลอนดอน ค้น​พบ​วิธี​ที่​เรียก​ว่า การ​ขยาย​พันธุ์​แบบ​จุลภาค ซึ่ง​ทำ​ให้​พวก​เขา​สามารถ​เพาะ​ต้น​ใหม่​จาก​เมล็ด​ที่​ได้​มา​จาก​การ​ถ่าย​เรณู​ให้​ดอก​กล้วยไม้​ด้วย​มือ. จาก​นั้น​ต้น​กล้า​เหล่า​นี้​จะ​ถูก​ย้าย​ไป​ปลูก​ใน​ถิ่น​ที่​อยู่​ตาม​ธรรมชาติ​ซึ่ง​เป็น​หินปูน ผล​ที่​ได้​คือ ตอน​นี้​มี​กล้วยไม้​รอง​เท้า​นารี​ประมาณ 200 ถึง 300 ต้น​ขึ้น​อยู่​ใน​ภาค​เหนือ​ของ​อังกฤษ. หนังสือ​พิมพ์​ดิ อินดิเพนเดนต์ แห่ง​กรุง​ลอนดอน​รายงาน​ว่า มี​สถาน​ที่​แห่ง​หนึ่ง​ซึ่ง​เปิด​ให้​สาธารณชน​เข้า​ชม​ได้ แต่​ที่​เหลือ​นอก​นั้น​ยัง​คง​เป็น​ความ​ลับ​เพื่อ​รับประกัน​ว่า​พวก​มัน​จะ​ได้​รับ​การ​ปก​ป้อง ขณะ​ที่ “นัก​วิทยาศาสตร์​ทำ​งาน​ต่อ​ไป​เพื่อ​ทำ​ให้​มัน​แข็ง​แกร่ง​พอ​จะ​สู้​กับ​ศัตรู​พืช​และ​เชื้อ​รา​ได้.”

อาการ​แพ้​มนุษย์

หนังสือ​พิมพ์​เยอรมัน​ชื่อ​ไลพ์ซีเกอร์ ฟอล์คไซทุง กล่าว​ว่า “สัตว์​หลาย​ชนิด​มี​อาการ​แพ้​มนุษย์.” ตาม​รายงาน​นี้ สมาคม​โรค​ภูมิ​แพ้​และ​โรค​หืด​แห่ง​เยอรมนี (เดอาอาเบ) ประกาศ​เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้​ว่า “การ​อยู่​กับ​มนุษย์​ทำ​ให้​สัตว์ 1 ใน​ทุก ๆ 20 ตัว​เกิด​อาการ​แพ้​แบบ​ธรรมดา เช่น ผื่น​ขึ้น​ตาม​ผิวหนัง​หรือ​การ​จาม​ติด ๆ กัน.” กล่าว​กัน​ว่า ใน​กรณี​ส่วน​ใหญ่ สาเหตุ​คือ​เศษ​ผิวหนัง​มนุษย์​ที่​หลุด​ออก​มา​และ​มูล​ของ​ไร​ฝุ่น​ที่​กิน​เศษ​ผิวหนัง​เหล่า​นั้น. ถ้า​สัตว์​เลี้ยง​เกา​หรือ​เลีย​ตัว​เอง​หรือ​กัด​ขน​ตัว​เอง​บ่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่​มัน​ไม่​มี​หมัด เจ้าของ​ก็​เห็น​สัญญาณ​ที่​บ่ง​บอก​ว่า​สัตว์​ตัว​นั้น​มี​อาการ​แพ้​มนุษย์ และ​ถ้า​มัน​อาการ​ดี​ขึ้น​หลัง​จาก​เปลี่ยน​ที่​อยู่​หรือ​เมื่อ​เจ้าของ​ไม่​อยู่ นั่น​ก็​เป็น​หลักฐาน​ชี้​ชัด​มาก​ขึ้น. กล่าว​กัน​ว่า อาหาร​และ​เกสร​ดอกไม้​ก็​ทำ​ให้​สัตว์​เกิด​อาการ​แพ้​ได้​ด้วย. เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง สมาคม​เดอาอาเบ ได้​กล่าว​ถึง​ม้า​จำนวน​มาก​ขึ้น​เป็น​ไข้​ละออง​ฟาง​เมื่อ​ไม่​กี่​ปี​มา​นี้.

อะไร​ทำ​ให้​เป็น “ลูก​ผู้​ชาย”?

หนังสือ​พิมพ์​ดิ อินดิเพนเดนต์ แห่ง​กรุง​ลอนดอน​รายงาน​ว่า “เด็ก​ผู้​ชาย . . . ยัง​คง​เชื่อ​ว่า​การ​เล่น​กีฬา​เก่ง, ใส่​เสื้อ​ผ้า​ยี่ห้อ​ดัง ๆ และ​การ​พยายาม​ไม่​สนิท​กับ​ใคร​มาก​เกิน​ไป​เป็น​เครื่อง​แสดง​ถึง​การ​เป็น ‘ลูก​ผู้​ชาย’ ขณะ​ที่​การ​ทำ​งาน​หนัก ‘ไม่​ใช่​ลักษณะ​ของ​เพศ​ชาย.’ เด็ก​ผู้​ชาย​จะ​นับถือ​เพื่อน​ร่วม​ชั้น​ที่​ข่ม​คน​อื่น​ได้​และ​ชอบ​ใช้​คำ​หยาบ. วัยรุ่น​ที่​ไม่​ได้​ทำ​ตัว​อย่าง​นี้​ก็​เสี่ยง​ต่อ​การ​ถูก​รังแก​หรือ​ถูก​ตรา​หน้า​ว่า​เป็น​กะเทย.” หนังสือ​พิมพ์​นี้​รายงาน​ว่า การ​สำรวจ​เด็ก​ผู้​ชาย​อายุ 11 ถึง 14 ปี​ใน​โรง​เรียน 12 แห่ง​ที่​กรุง​ลอนดอน ซึ่ง​ทำ​โดย​วิทยาลัย​เบิร์ก​เบก​แห่ง​มหาวิทยาลัย​ลอนดอน​เผย​ว่า พวก​เด็ก​ผู้​ชาย “ยอม​รับ​ว่า​การ​ที่​พวก​เขา ‘ทำ​ท่า​นักเลง​โต’ มัก​ทำ​ให้​พวก​เขา​รู้สึก​โดด​เดี่ยว​และ​ไม่​กล้า​แสดง​ความ​รู้สึก​ของ​ตน​เอง​ออก​มา.” ศาสตราจารย์​สตีเฟน ฟรอช ซึ่ง​เป็น​หัวหน้า​งาน​วิจัย​ครั้ง​นี้​กล่าว​ว่า “เด็ก​ผู้​ชาย​ต้อง​ได้​รับ​การ​รับรอง​อย่าง​หนักแน่น​ว่า​การ​เป็น​ผู้​ชาย​ไม่​จำเป็น​ต้อง​หมาย​ถึง​การ​เป็น​คน​แข็ง​กระด้าง​และ​ปิด​ซ่อน​ความ​รู้สึก​ของ​ตัว​เอง​ไว้.”

กาชาด​ถูก​วิจารณ์

ไม่​นาน​หลัง​จาก​การ​โจมตี​เมื่อ​วัน​ที่ 11 กันยายน สภา​กาชาด​อเมริกัน​ก็​เริ่ม​ปฏิบัติ​งาน​โดย​เชิญ​ชวน​ให้​บริจาค​เงิน​และ​เลือด. มี​การ​บริจาค​เงิน​ประมาณ 850 ล้าน​ดอลลาร์​และ​บริจาค​เลือด 400,000 หน่วย. แม้​ว่า​การ​รับ​บริจาค​จะ​รวด​เร็ว แต่​การ​แจก​จ่าย​ออก​ไป​นั้น​เชื่อง​ช้า. หนังสือ​พิมพ์​เดอะ วอชิงตัน ไทมส์ รายงาน​ว่า “สภา​กาชาด​อเมริกัน​ช้า​ใน​การ​แจก​จ่าย​เงิน​บรรเทา​ทุกข์​ให้​แก่​ครอบครัว​ที่​ได้​รับ​ผล​กระทบ​จาก​การ​โจมตี. กองทุน​บรรเทา​ทุกข์​ถูก​นำ​ไป​ใช้​ใน​โครงการ​ต่าง ๆ ที่​ไม่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​โจมตี​เมื่อ​วัน​ที่ 11 กันยายน” และ​เงิน​ก้อน​ใหญ่​ถูก​จด​บัญชี​ว่า​เป็น​เงิน​สำหรับ “ความ​จำเป็น​ระยะ​ยาว เช่น โครงการ​แช่​แข็ง​เลือด, การ​ให้​คำ​ปรึกษา, และ​สำหรับ​การ​โจมตี​ใน​อนาคต.” บทความ​นั้น​กล่าว​ว่า เนื่อง​จาก​ความ​จำเป็น​ที่​ต้อง​ใช้​เลือด​ที่​รับ​บริจาค​มา​นั้น​มี​ไม่​มาก​นัก​และ​กำหนด​วัน​หมด​อายุ​ของ​เลือด​ซึ่ง​นาน 42 วัน​นั้น​ก็​ผ่าน​ไป​แล้ว เลือด​เหล่า​นั้น “ก็​ไม่​มี​ประโยชน์​และ​ต้อง​เผา​ทิ้ง.” หนังสือ​พิมพ์​ฉบับ​นี้​รายงาน​ว่า คณะ​กรรมการ​บริหาร​สภา​กาชาด​ซึ่ง​ถูก​รุม​วิพากษ์วิจารณ์​อย่าง​หนัก ได้​ไล่​ประธาน​บอร์ด​ออก และ​ประกาศ​เมื่อ​ปลาย​เดือน​มกราคม 2002 ว่า 90 เปอร์เซ็นต์​ของ​เงิน​กองทุน​ซึ่ง​ได้​รวบ​รวม​ไว้​จะ​ไป​ถึง​มือ​ผู้​ประสบ​ภัย​ครั้ง​นี้​ก่อน​วัน​ที่ 11 กันยายน 2002.

ภัย​ธรรมชาติ​อัน​ร้ายกาจ

สำนัก​ข่าว​รอยเตอร์​รายงาน​ว่า “ภัย​ธรรมชาติ​ได้​ทำ​ให้​มี​ผู้​เสีย​ชีวิต​ตลอด​ทั่ว​โลก​อย่าง​น้อย 25,000 คน​ใน​ปี 2001 ซึ่ง​มาก​กว่า​ปี​ที่​ผ่าน​มา​ถึง​สอง​เท่า.” ตาม​คำ​กล่าว​ของ​มิวนิก เร บริษัท​รับประกัน​ภัย​ต่อ​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​โลก ความ​เสียหาย​ทาง​เศรษฐกิจ​มี​มูลค่า​ทั้ง​สิ้น 36,000 ล้าน​ดอลลาร์ มาก​กว่า​ความ​เสียหาย​ที่​เกิด​จาก​การ​โจมตี​สหรัฐ​เมื่อ​วัน​ที่ 11 กันยายน​มาก​ที​เดียว. สอง​ใน​สาม​ของ​ภัย​พิบัติ​ใหญ่ ๆ 700 ครั้ง​ซึ่ง​เกิด​ขึ้น​นั้น​เกี่ยว​ข้อง​กับ​พายุ​และ​น้ำ​ท่วม. มี​การ​กล่าว​โทษ​ว่า สภาพ​อากาศ​ที่​เลว​ร้าย​เกิด​ขึ้น​เนื่อง​จาก​ภูมิ​อากาศ​ของ​โลก​เปลี่ยน​แปลง​อย่าง​ต่อ​เนื่อง. บริษัท​นี้​กล่าว​ว่า “ไฟ​ป่า​ใน​ออสเตรเลีย, น้ำ​ท่วม​ใน​บราซิล​และ​ตุรกี, หิมะ​ตก​หนัก​ใน​ภาค​กลาง​และ​ใต้​ของ​ยุโรป​และ​พายุ​ไต้ฝุ่น​ใน​สิงคโปร์ ซึ่ง​เคย​คิด​ว่า​เป็น​ไป​ไม่​ได้​ใน​ทาง​อุตุนิยมวิทยา​นั้น ล้วน​บ่ง​ชี้​ถึง​ความ​เกี่ยว​พัน​กัน​ระหว่าง​การ​เปลี่ยน​แปลง​ของ​ภูมิ​อากาศ​และ​ความ​หายนะ​อัน​เนื่อง​มา​จาก​ลม​ฟ้า​อากาศ​ซึ่ง​มี​เพิ่ม​มาก​ขึ้น.” บริษัท​นี้​ยัง​ให้​ข้อ​สังเกต​ด้วย​ว่า ปี 2001 เป็น​ปี​ที่​ร้อน​ที่​สุด​เป็น​อันดับ​สอง​ตั้ง​แต่​ที่​เริ่ม​มี​การ​บันทึก​ข้อมูล​เมื่อ 160 ปี​ที่​แล้ว. แผ่นดิน​ไหว​ทำ​ให้​มี​ผู้​เสีย​ชีวิต​มาก​ที่​สุด คือ​กว่า 14,000 คน​ใน​เดือน​มกราคม​เพียง​เดือน​เดียว ซึ่ง​เป็น​ผล​จาก​แผ่นดิน​ไหว​ใน​อินเดีย. รวม​ทั้ง​หมด​แล้ว​มี​แผ่นดิน​ไหว​ครั้ง​ใหญ่ 80 ครั้ง​ตลอด​ปี.

เข็มขัด​นิรภัย​เบาะ​หลัง​ช่วย​ชีวิต

หนังสือ​พิมพ์​เดอะ การ์เดียน แห่ง​กรุง​ลอนดอน​รายงาน​ว่า “ผู้​โดยสาร​ที่​นั่ง​เบาะ​หลัง​ซึ่ง​ไม่​ได้​คาด​เข็มขัด​นิรภัย​ทำ​ให้​ผู้​โดยสาร​ที่​นั่ง​เบาะ​หน้า​ซึ่ง​คาด​เข็มขัด​นิรภัย​มี​โอกาส​เสีย​ชีวิต​มาก​ขึ้น​ถึง​ห้า​เท่า​เมื่อ​รถ​ชน​กัน.” ใน​การ​ศึกษา​บันทึก​เกี่ยว​กับ​อุบัติเหตุ​ทาง​รถยนต์​มาก​กว่า 100,000 ราย​ใน​ช่วง​เวลา​กว่า​ห้า​ปี​ที่​ญี่ปุ่น นัก​วิจัย​แห่ง​มหาวิทยาลัย​โตเกียว​พบ​ว่า การ​เสีย​ชีวิต​เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์​ของ​ผู้​โดยสาร​ที่​คาด​เข็มขัด​นิรภัย​ซึ่ง​นั่ง​เบาะ​หน้า​อาจ​หลีก​เลี่ยง​ได้​ถ้า​ผู้​โดยสาร​ที่​นั่ง​เบาะ​หลัง​คาด​เข็มขัด​นิรภัย. เมื่อ​รถ​ชน ผู้​โดยสาร​ที่​นั่ง​ใน​รถ​จะ​พุ่ง​ไป​ข้าง​หน้า​อย่าง​แรง​ซึ่ง​ทำ​ให้​ผู้​ที่​นั่ง​เบาะ​หน้า​มี​โอกาส​สูง​ขึ้น​ที่​จะ​บาดเจ็บ​สาหัส​หรือ​ถึง​กับ​ถูก​กระแทก​จน​เสีย​ชีวิต. แม้​ว่า​การ​ใส่​เข็มขัด​นิรภัย​ที่​เบาะ​หลัง​เป็น​กฎ​ข้อ​บังคับ​ใน​บริเตน​มา​ตั้ง​แต่​ปี 1991 แต่​การ​สำรวจ​แสดง​ว่า​ราว ๆ 40 เปอร์เซ็นต์​ของ​ผู้​ใหญ่​ใน​ประเทศ​นั้น​ยัง​ไม่​ได้​คาด​เข็มขัด.

ภัย​จาก​มลพิษ​ทาง​อากาศ​ใน​เอเชีย

วารสาร​ด้าน​สิ่ง​แวด​ล้อม​ชื่อ​ดาวน์ ทู เอิร์ท กล่าว​ว่า “ใน​อินเดีย ผู้​คน​มาก​กว่า 40,000 คน​เสีย​ชีวิต​ทุก​ปี​เนื่อง​จาก​มลพิษ​ทาง​อากาศ.” การ​วิจัย​ที่​ทำ​โดย​ธนาคาร​โลก​และ​สถาบัน​สิ่ง​แวด​ล้อม​แห่ง​สตอกโฮล์ม​แสดง​ว่า มลพิษ​ทาง​อากาศ​ใน​เอเชีย​สูง​กว่า​ใน​ยุโรป​และ​ใน​อเมริกา​รวม​กัน​มาก และ​เป็น​เหตุ​ให้​มี​ผู้​เสีย​ชีวิต​หลาย​พัน​คน​ใน​กรุง​โซล, ปักกิ่ง, กรุงเทพ​ฯ, จาการ์ตา, และ​มะนิลา. ตัว​อย่าง​เช่น ใน​กรุง​มะนิลา มี​มาก​กว่า 4,000 คน​เสีย​ชีวิต​ทุก​ปี​เนื่อง​จาก​โรค​หลอด​ลม​อักเสบ​เรื้อรัง​ชนิด​ร้ายแรง. อัตรา​การ​เสีย​ชีวิต​ใน​กรุง​ปักกิ่ง​และ​กรุง​จาการ์ตา​สูง​กว่า​นี้​ด้วย​ซ้ำ. วารสาร​นี้​กล่าว​ว่า เชื่อ​กัน​ว่า​ปัญหา​เกิด​จาก “การ​ใช้​เชื้อเพลิง​คุณภาพ​ต่ำ, วิธี​การ​ผลิต​พลังงาน​ที่​ไม่​มี​ประสิทธิภาพ, การ​ใช้​ยาน​พาหนะ​ที่​มี​สภาพ​ทรุดโทรม​และ​การ​จราจร​ติด​ขัด.”

ฉวย​โอกาส​จาก​การ​เปลี่ยน​ไป​ใช้​เงิน​ยู​โร

หนังสือ​พิมพ์​โคร์รีเอเร เดลลา เซรา กล่าว​ว่า เมื่อ​มี​การ​เปลี่ยน​ไป​ใช้​เงิน​ยูโร คริสตจักร​คาทอลิก​แห่ง​อิตาลี​ได้​ฉวย “โอกาส​จาก​การ​เลิก​ใช้​เงิน​ลีร์​เพื่อ​แก้​ปัญหา​เงิน​บริจาค​ตก​ต่ำ” โดย “ปรับ​ราคา​ขึ้น.” สำนัก​บาทหลวง​แห่ง​กรุง​โรม​ได้​ส่ง​จดหมาย​เวียน​ไป​ยัง​เขต​ปกครอง​ทุก​เขต​ให้ “ปรับ ‘รายการ​ราคา.’ ค่า​ประกอบ​พิธี​มิสซา ซึ่ง​เมื่อ​ก่อน​คิด​เพียง​แค่ 15,000 ลีร์ เพิ่ม​ขึ้น​เป็น 10 ยู​โร (19,363 ลีร์). อัตรา​สูง​สุด​สำหรับ​ค่า​ประกอบ​พิธี​แต่งงาน ซึ่ง​เมื่อ​ก่อน​คิด 450,000 ลีร์ เพิ่ม​ขึ้น​เป็น 270 ยูโร (523,000 ลีร์).” อย่าง​ไร​ก็​ตาม จดหมาย​เวียน​ฉบับ​นั้น​ระบุ​ว่า “ตัว​เลข​นี้​สำหรับ​การ​แต่งงาน​ของ ‘ผู้​ที่​ไม่​ใช่​สมาชิก​ของ​โบสถ์​ท้องถิ่น’ ส่วน​ใน​กรณี​ของ​สมาชิก​ของ​โบสถ์​ท้องถิ่น​นั้น การ​บริจาค​ขึ้น​อยู่​กับ​ดุลพินิจ เช่น​เดียว​กับ​การ​บัพติสมา​และ​งาน​ศพ.” หนังสือ​พิมพ์​ฉบับ​นั้น​กล่าว​ว่า ถึง​อย่าง​นั้น บาทหลวง​ใน​เขต​ปกครอง​ใน​โรม​ยัง​คง​เผชิญ​ปัญหา​ที่​มัก​จะ​พบ​ว่า​กล่อง​บริจาค​ว่าง​เปล่า​อย่าง​น่า​กลุ้ม​ใจ ซึ่ง​อาจ​เป็น​ผล​จาก “ความ​โลภ​อย่าง​หนึ่ง​ของ​ศาสนิกชน รวม​ทั้ง​จำนวน​ผู้​เข้า​โบสถ์​ที่​ลด​ลง.”