ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ทางแก้มีไหม?

ทางแก้มีไหม?

ทาง​แก้​มี​ไหม?

คุณ​ควร​จะ​ทำ​อย่าง​ไร​กับ​สิ่ง​ของ​ที่​คุณ​ไม่​ต้องการ​แล้ว? “ก็​ทิ้ง​มัน​ไป​สิ” ดู​เหมือน​เป็น​คำ​ตอบ​ที่​ง่าย​และ​ชัดเจน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​กำจัด​ขยะ​ไม่​ใช่​เรื่อง​ง่าย​แบบ​นั้น​เสมอ​ไป. เรา​จะ​ทิ้ง​มัน​ไป​ที่​ไหน? สมาคม​สิ่ง​แวด​ล้อม​แห่ง​อิตาลี​กะ​ประมาณ​ว่า ขวด​แก้ว​ที่​ถูก​ทิ้ง​ลง​ทะเล​ต้อง​ใช้​เวลา 1,000 ปี​เพื่อ​จะ​สลาย​ตัว. ใน​ทาง​ตรง​กัน​ข้าม กระดาษ​ชำระ​จะ​ย่อย​สลาย​ภาย​ใน​เวลา​แค่​สาม​เดือน. ก้น​บุหรี่​ทำ​ให้​ทะเล​ปน​เปื้อน​อยู่​นาน​ถึง 5 ปี; ถุง​พลาสติก 10 ถึง 20 ปี; สิ่ง​ที่​เป็น​ไนลอน 30 ถึง 40 ปี; กระป๋อง 500 ปี; โพลี​สไตรีน 1,000 ปี.

ขยะ​เหล่า​นี้​มี​ปริมาณ​เพิ่ม​ขึ้น​อย่าง​มหาศาล. ปัจจุบัน โลก​แห่ง​การ​ค้า​มี​ของ​มาก​มาย​ที่​ต้องการ​ขาย และ​โลก​แห่ง​การ​โฆษณา​ก็​ต้องการ​ให้​เรา​เชื่อ​ว่า​เรา​จำเป็น​ต้อง​มี​ของ​ทั้ง​หมด​นั้น. หนังสือ​พิมพ์​อังกฤษ​ชื่อ​เดอะ การ์เดียน สรุป​สั้น ๆ ว่า “นัก​โฆษณา​ช่วย​เรา​สนอง​ความ​จำเป็น​ที่​เรา​ไม่​เคย​รู้​ด้วย​ซ้ำ​ว่า​เรา​มี.” ที่​จริง เรา​ถูก​ล่อ​ใจ​ให้​ซื้อ​ของ​รุ่น​ล่า​สุด​ที่​ออก​มา ถ้า​ไม่​เช่น​นั้น​เรา​อาจ​พลาด​โอกาส​ทดลอง​ของ​ใหม่. และ​แน่นอน ใน​ศัพท์​โฆษณา คำ​ว่า “ใหม่” หมาย​ถึง “ดี​กว่า​และ​เหนือ​กว่า” ส่วน​คำ​ว่า “เก่า” หมาย​ถึง “ด้อย​กว่า​และ​ล้า​สมัย.”

ด้วย​เหตุ​นี้ เรา​จึง​มัก​ถูก​กระตุ้น​ให้​ซื้อ​ของ​ใหม่​แทน​ที่​จะ​ซ่อม​ของ​เก่า. มี​การ​อ้าง​เหตุ​ผล​ว่า การ​เปลี่ยน​ไป​ใช้​ของ​ใหม่​นั้น​สะดวก​กว่า​และ​ประหยัด​กว่า​ที่​จะ​ซ่อม​ของ​เก่า. บาง​ครั้ง​ก็​จริง. แต่​บ่อย​ครั้ง​การ​ทิ้ง​ของ​เก่า​และ​ซื้อ​ของ​ใหม่​มา​แทน​เป็น​การ​สิ้น​เปลือง​และ​ไม่​จำเป็น.

ผลิตภัณฑ์​หลาย​ชนิด​ใน​ปัจจุบัน​ได้​รับ​การ​ออก​แบบ​ให้​ใช้​แล้ว​ทิ้ง. ผลิตภัณฑ์​เหล่า​นั้น​อาจ​ยุ่งยาก​ใน​การ​ซ่อมแซม ซึ่ง​เป็น​จุด​หนึ่ง​ที่​ควร​คำนึง​ถึง​เมื่อ​ซื้อ​ของ​ต่าง ๆ. วารสาร​ผู้​บริโภค​ของ​เยอรมนี​กล่าว​ว่า “ผลิตภัณฑ์​แต่​ละ​ชิ้น​มี​อายุ​ใช้​งาน​สั้น​ลง​เรื่อย ๆ. สิ่ง​ที่ ‘ทัน​สมัย’ เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้​กลาย​เป็น​สิ่ง ‘ล้า​สมัย’ ใน​ตอน​นี้ และ​มัก​จะ​ถูก​นำ​ไป​ทิ้ง​ที่​กอง​ขยะ. ด้วย​เหตุ​นี้ วัตถุ​ดิบ​ที่​มี​ค่า​จึง​กลาย​เป็น​ขยะ​ที่​ไร้​ค่า​ไม่​เว้น​แต่​ละ​วัน!”

การ​จับจ่าย​ซื้อ​ของ​อย่าง​ที่​ไม่​มี​การ​เหนี่ยว​รั้ง​นี้​เป็น​ประโยชน์​ต่อ​ผู้​บริโภค​จริง ๆ ไหม? ใน​ความ​เป็น​จริง​แล้ว ผู้​ที่​ได้​รับ​ประโยชน์​คือ​พวก​นัก​ธุรกิจ​ซึ่ง​ตั้งใจ​จะ​หา​เงิน​เข้า​กระเป๋า​มาก ๆ. หนังสือ​พิมพ์​ราย​สัปดาห์​ของ​สวิตเซอร์แลนด์​ชื่อ​ดี เวลท์โวเค แย้ง​ว่า “คง​จะ​เกิด​การ​ล่ม​สลาย​ทาง​เศรษฐกิจ​ขึ้น​อย่าง​แน่นอน​ถ้า​ทุก​คน​ใช้​เครื่อง​เรือน​และ​รถยนต์​ของ​ตน​ไป​ตลอด​ชีวิต หรือ​แม้​แต่​ใช้​นาน​เป็น​สอง​เท่า​ของ​ที่​ใช้​กัน​อยู่​ใน​ปัจจุบัน.” การ​ล่ม​สลาย​ทาง​เศรษฐกิจ​คง​ไม่​ใช่​ทาง​แก้​แน่ ๆ เนื่อง​จาก​ภาวะ​เช่น​นี้​จะ​ทำ​ให้​ผู้​บริโภค​ตก​งาน​ด้วย. ถ้า​อย่าง​นั้น มี​ทาง​แก้​วิธี​อื่น​ไหม​สำหรับ​ปัญหา​ขยะ​ล้น​เมือง?

ทิ้ง, รีไซเคิล, หรือ​ลด?

ประเทศ​อุตสาหกรรม​บาง​ประเทศ​แก้​ปัญหา​ด้วย​วิธี​ง่าย ๆ คือ​เพียง​แต่​ทิ้ง​ขยะ​ของ​เสีย​ไป​ที่​ประเทศ​กำลัง​พัฒนา. ตัว​อย่าง​เช่น มี​รายงาน​ระบุ​ว่า “ณ สถาน​ที่​แห่ง​หนึ่ง​ซึ่ง​เป็น​ที่​อื้อฉาว​ใน​ไนจีเรีย มี​การ​พบ​สาร​เคมี​ที่​เป็น​พิษ 3,500 ตัน​รั่ว​ไหล​ออก​มา​จาก​ถัง​เก็บ​ที่​ขึ้น​สนิม​และ​ผุ​กร่อน 8,000 ถัง และ​ทำ​ให้​ดิน​และ​น้ำ​บาดาล​เป็น​พิษ.” การ​กำจัด​ของ​เสีย​วิธี​นี้​ดู​เหมือน​ไม่​ได้​เป็น​ทาง​แก้​ที่​ใช้​การ​ได้​ทั้ง​ไม่​ใช่​วิธี​ที่​ดี​ใน​การ​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​อื่น.

จะ​ว่า​อย่าง​ไร​กับ​การ​รีไซเคิล​สิ่ง​ที่​ไม่​ต้องการ​เพื่อ​นำ​กลับ​มา​ใช้​ใหม่​แทน​ที่​จะ​ทิ้ง​มัน​ไป​เฉย ๆ? แน่นอน โครงการ​แบบ​นี้​ทำ​ให้​ผู้​บริโภค​ต้อง​แยก​ขยะ​ออก​เป็น​ประเภท​ต่าง ๆ ซึ่ง​กฎหมาย​ใน​บาง​แห่ง​ก็​กำหนด​ให้​ทำ​อยู่​แล้ว. เจ้าหน้าที่​อาจ​ขอ​ให้​แยก​ขยะ​ออก​เป็น​ประเภท​ต่าง ๆ เช่น กระดาษ, กระดาษ​แข็ง, โลหะ, แก้ว, และ​ขยะ​ประเภท​ที่​เน่า​เสีย​ได้. นอก​จาก​นั้น อาจ​ต้อง​แยก​แก้ว​ออก​เป็น​สี ๆ ด้วย.

การ​รีไซเคิล​มี​ข้อ​ดี​อย่าง​เห็น​ได้​ชัด. หนังสือ 5000 วัน​เพื่อ​กู้​ดาว​เคราะห์​นี้ (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า การ​รีไซเคิล​อะลูมิเนียม “ทำ​ให้​ประหยัด​พลังงาน​อย่าง​มหาศาล” และ​อาจ “ลด​ความ​เสียหาย​ต่อ​สิ่ง​แวด​ล้อม​ซึ่ง​เกิด​จาก​การ​ทำ​เหมือง​เปิด​บอก​ไซต์.” หนังสือ​นั้น​ให้​ราย​ละเอียด​เพิ่ม​เติม​ว่า “ใน​การ​ผลิต​กระดาษ​จำนวน​เท่า​กัน การ​ผลิต​แบบ​รีไซเคิล​ใช้​พลังงาน​เพียง​ครึ่ง​หนึ่ง และ​ใช้​น้ำ​เพียง​หนึ่ง​ใน​สิบ​เท่า. . . . ของ​เสีย​หลาย​อย่าง​อาจ​ทำ​ให้​คืน​สภาพ, รีไซเคิล, และ​นำ​กลับ​ไป​ใช้​ใหม่. . . . แม้​ว่า​อุตสาหกรรม​นั้น ๆ จะ​ไม่​สามารถ​นำ​ของ​เสีย​ของ​ตน​เอง​กลับ​มา​ใช้​ใหม่​ได้ แต่​บาง​ครั้ง​ก็​อาจ​นำ​มา​รีไซเคิล​เพื่อ​ให้​อุตสาหกรรม​อื่น ๆ ใช้​ได้ . . . ใน​ฮอลแลนด์ เครือข่าย​แลก​เปลี่ยน​ของ​เสีย​ได้​ดำเนิน​งาน​อย่าง​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ตั้ง​แต่​ต้น​ทศวรรษ​ปี 1970.”

แทน​ที่​จะ​หา​วิธี​กำจัด​ขยะ เจ้าหน้าที่​บาง​คน​มุ่ง​เน้น​เรื่อง​การ​ป้องกัน​ไม่​ให้​เกิด​ขยะ​ตั้ง​แต่​แรก​มาก​กว่า. หนังสือ​ที่​เรา​กล่าว​ถึง​ข้าง​ต้น​เตือน​ว่า “จำ​ต้อง​ปฏิบัติการ​อย่าง​เร่ง​ด่วน” ถ้า​มนุษยชาติ​จะ “ออก​จาก​เศรษฐกิจ​แบบ​ที่​ชอบ​ทิ้ง . . . ไป​สู่​สังคม​แบบ​อนุรักษ์​ซึ่ง​ลด​ขยะ​ให้​เหลือ​น้อย​ที่​สุด​และ​ลด​การ​ใช้​ทรัพยากร.”

อย่าง​ไร​ก็​ตาม คน​ที่​ต้องการ​จะ “ออก​จาก​เศรษฐกิจ​แบบ​ที่​ชอบ​ทิ้ง” จะ​ต้อง​เต็ม​ใจ​ใช้​สินค้า​ที่​ตน​ซื้อ​มา​ให้​นาน​ที่​สุด​เท่า​ที่​จะ​นาน​ได้ และ​จะ​ทิ้ง​ก็​ต่อ​เมื่อ​ซ่อม​ไม่​ได้​แล้ว​เท่า​นั้น. สิ่ง​ของ​ที่​ไม่​ต้องการ​แล้ว​แต่​ยัง​ใช้​ได้ ก็​อาจ​ส่ง​ให้​คน​อื่น​ใช้​ต่อ​ได้. สำนักงาน​เออโค-อินสทีทุท​แห่ง​เยอรมนี (สถาบัน​นิเวศ​วิทยา​ประยุกต์) ใน​ดาร์มสทัดท์ คำนวณ​ว่า​ครอบครัว​ที่​ยึด​ถือ​อย่าง​เหนียวแน่น​ต่อ​หลักการ​ที่​ว่า “ใช้​นาน ๆ แทน​ที่​จะ​ใช้​แล้ว​ทิ้ง” จะ​ทำ​ให้​ขยะ​ลด​ลง​ถึง 75 เปอร์เซ็นต์​เมื่อ​เทียบ​กับ​ครอบครัว​ทั่ว​ไป.

แต่​จะ​มี​ครอบครัว​จำนวน​มาก​พอ​ที่​จะ​ยึด​ถือ​หลักการ​ดัง​กล่าว​ไหม? คง​ไม่. ปัญหา​เรื่อง​ขยะ​ของ​มนุษยชาติ​เป็น​เพียง​อาการ​อย่าง​หนึ่ง​ที่​ชี้​ถึง​ประเด็น​ที่​ใหญ่​กว่า. ใน​สังคม​ที่​ชอบ​ทิ้ง​ใน​ปัจจุบัน ผู้​คน​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ ได้​รับ​เอา​เจตคติ​แบบ​ที่​เรา​อาจ​เรียก​ว่า ทัศนะ​ที่​ชอบ​ทิ้ง. ให้​เรา​พิจารณา​เจตคติ​แบบ​นี้ และ​ความ​สุด​โต่ง​บาง​อย่าง​ที่​เจตคติ​แบบ​นี้​อาจ​ทำ​ให้​เกิด​ขึ้น​ได้.

อันตราย​ของ​ทัศนะ​ที่​ชอบ​ทิ้ง

ทัศนะ​ที่​ชอบ​ทิ้ง​อาจ​ไม่​ได้​หมาย​ถึง​แค่​การ​ใช้​ของ​แบบ​สิ้น​เปลือง​เล็ก ๆ น้อย ๆ. ทัศนะ​แบบ​นี้​อาจ​ทำ​ให้​ผู้​คน​ไม่​เห็น​คุณค่า​และ​ไม่​รู้​จัก​คิด จน​ถึง​กับ​ทิ้ง​อาหาร​และ​สิ่ง​ของ​อื่น ๆ ที่​ยัง​ไม่​ได้​ใช้​เป็น​จำนวน​มาก ๆ อย่าง​ไม่​สนใจ​ไยดี. คน​ที่​สนใจ​แต่​ตัว​เอง​และ​ถูก​ครอบ​งำ​ด้วย​ความ​คลั่งไคล้​และ​ความ​ชอบ​หรือ​ความ​ไม่​ชอบ​ใน​สิ่ง​เล็ก ๆ น้อย ๆ อาจ​รู้สึก​ว่า​ต้อง​เปลี่ยน​เสื้อ​ผ้า, เครื่อง​เรือน, และ​สิ่ง​ของ​อื่น ๆ ที่​ยัง​ดี​อยู่​เสมอ ๆ.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม ทัศนะ​ที่​ชอบ​ทิ้ง​อาจ​ไม่​ได้​จำกัด​แค่​สิ่ง​ของ​เท่า​นั้น. โครงการ​ใน​เยอรมนี​ที่​อุทิศ​ให้​กับ​การ​ใช้​ประโยชน์​จาก​สิ่ง​ของ​ใน​บ้าน​ที่​ทิ้ง​แล้ว​กล่าว​ว่า “วิธี​ที่​เรา​จัด​การ​กับ​ชุด​รับ​แขก​ใน​ห้อง​นั่ง​เล่น​ที่​เรา​เบื่อ​แล้ว และ​เรา​โยน​มัน​ทิ้ง​หลัง​จาก​ใช้​ไป​ห้า​ปี​เพื่อ​ซื้อ​ชุด​ใหม่ ก็​เป็น​แบบ​เดียว​กับ​ที่​เรา​ปฏิบัติ​ต่อ​มนุษย์. คำ​ถาม​คือ​สังคม​ของ​เรา​จะ​ทน​กับ​เรื่อง​นี้​ได้​นาน​เพียง​ใด.” รายงาน​ฉบับ​นี้​ชี้​แจง​ว่า “เมื่อ​คน​หนึ่ง​ไม่​สามารถ​ปฏิบัติ​งาน​ได้​อย่าง​เต็ม​ประสิทธิภาพ คน​ใหม่​ก็​จะ​ถูก​นำ​เข้า​มา​แทน​ที่​เขา​ทันที. เพราะ​ถึง​อย่าง​ไร​ก็​มี​คน​งาน​อีก​มาก​มาย!”

อัล กอร์ อดีต​รอง​ประธานาธิบดี​ของ​สหรัฐ กล่าว​ใน​หนังสือ​ของ​เขา​ชื่อ​โลก​อยู่​ใน​ระหว่าง​เสี่ยง (ภาษา​อังกฤษ) โดย​ตั้ง​คำ​ถาม​ที่​ตรง​กับ​ประเด็น​นี้​ว่า “ถ้า​เรา​มอง​สิ่ง​ของ​ต่าง ๆ ว่า​เป็น​สิ่ง​ของ​ที่​เรา​ทิ้ง​ได้ เรา​ได้​เปลี่ยน​วิธี​คิด​ที่​มี​ต่อ​เพื่อน​มนุษย์​ให้​เป็น​แบบ​เดียว​กัน​นั้น​ไหม? . . . ใน​ระหว่าง​นั้น เรา​ได้​สูญ​เสีย​ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​คน​แต่​ละ​คน​ซึ่ง​มี​ลักษณะ​เฉพาะ​ที่​ไม่​เหมือน​ใคร​ไหม?”

คน​ที่​ขาด​ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​และ​ความ​นับถือ​ต่อ​ผู้​อื่น​คง​จะ​รู้สึก​ง่าย​กว่า และ​ไม่​ค่อย​ตะขิดตะขวง​ใจ ที่​จะ​เลิก​คบ​เพื่อน​หรือ​หย่า​คู่​สมรส. หนังสือ​พิมพ์​เยอรมัน​ชื่อ​ซืดดอยท์เช ไซทุง ให้​ความ​เห็น​เกี่ยว​กับ​วิธี​คิด​เช่น​นี้​ว่า “เรา​ซื้อ​เสื้อ​ผ้า​ใหม่​ปี​ละ​สอง​ครั้ง, ซื้อ​รถ​คัน​ใหม่​ทุก ๆ สี่​ปี, และ​ซื้อ​ชุด​รับ​แขก​ใหม่​ทุก ๆ สิบ​ปี; ทุก​ปี​เรา​มอง​หา​สถาน​ที่​ตากอากาศ​แห่ง​ใหม่; เรา​ย้าย​บ้าน, เปลี่ยน​งาน, เปลี่ยน​ธุรกิจ—แล้ว​ทำไม​เรา​ไม่​เปลี่ยน​คู่​สมรส​ของ​เรา?”

บาง​คน​ใน​ทุก​วัน​นี้​ดู​เหมือน​เต็ม​ใจ​จะ​โยน​แทบ​ทุก​สิ่ง​ที่​กลาย​เป็น​ภาระ​ทิ้ง​ไป. เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง ประเทศ​หนึ่ง​ใน​ยุโรป กะ​ประมาณ​ว่า​มี​แมว 100,000 ตัว​และ สุนัข 96,000 ตัว​ที่​เจ้าของ​ทิ้ง​ใน​ปี 1999. นัก​เคลื่อน​ไหว​เพื่อ​พิทักษ์​สัตว์​ใน​ประเทศ​นั้น​กล่าว​ว่า เพื่อน​ร่วม​ชาติ​ของ​เธอ “ไม่​คิด​ว่า​การ​เป็น​เจ้าของ​สัตว์​เลี้ยง​เป็น​ข้อ​ผูก​มัด​ถาวร. พวก​เขา​จะ​ซื้อ​ลูก​สุนัข​มา​ตัว​หนึ่ง​ใน​เดือน​กันยายน แล้ว​ทิ้ง​มัน​ไป [หนึ่ง​ปี​ต่อ​มา​ตอน​ที่​พวก​เขา​ไป​พักผ่อน​ตากอากาศ] ใน​เดือน​สิงหาคม.” ที่​แย่​ยิ่ง​กว่า​นั้น​คือ​ทัศนะ​ที่​ชอบ​ทิ้ง​นี้​รวม​ไป​ถึง​ชีวิต​มนุษย์​ด้วย​ซ้ำ.

ขาด​ความ​นับถือ​ต่อ​ชีวิต

หลาย​คน​ใน​ทุก​วัน​นี้​ดู​เหมือน​คิด​ว่า​ชีวิต​ของ​ตน​เอง​มี​ค่า​น้อย​จริง ๆ. อย่าง​ไร​หรือ? ตัว​อย่าง​เช่น วารสาร​ใน​ยุโรป​ฉบับ​หนึ่ง​ให้​ข้อ​สังเกต​เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้​ว่า คน​หนุ่ม​สาว​ที่​พร้อม​จะ​เสี่ยง​อันตราย​มี​เพิ่ม​ขึ้น​ใน​ช่วง​หลัง ๆ นี้. เรื่อง​นี้​อาจ​เห็น​ได้​จาก​การ​ที่​ผู้​คน​เต็ม​ใจ​จะ​เล่น​กีฬา​ผาด​โผน​กัน​มาก​ขึ้น. เพียง​เพื่อ​ได้​ความ​ตื่นเต้น​ช่วง​สั้น ๆ พวก​เขา​เต็ม​ใจ​จะ​เสี่ยง​ต่อ​การ​เอา​ชีวิต​ของ​ตน​ไป​ทิ้ง! นัก​ธุรกิจ​หน้า​เลือด​ต่าง​ฉวย​ประโยชน์​จาก​ความ​นิยม​ใน​เรื่อง​นี้. นัก​การ​เมือง​ชาว​เยอรมัน​คน​หนึ่ง​ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า ผู้​ส่ง​เสริม​กีฬา​ผาด​โผน “มัก​ถือ​ว่า​ราย​ได้​สำคัญ​กว่า​สุขภาพ​และ​ชีวิต​มนุษย์.”

แล้ว​จะ​ว่า​อย่าง​ไร​กับ​การ​ทิ้ง​ชีวิต​มนุษย์​ที่​ยัง​ไม่​เกิด​มา? องค์การ​อนามัย​โลก​กะ​ประมาณ​ว่า “เด็ก​ประมาณ 75 ล้าน​คน​ทั่ว​โลก​ที่​เกิด​มา​ใน​แต่​ละ​ปี​จริง ๆ แล้ว​ไม่​เป็น​ที่​ต้องการ​ของ​ใคร​เลย. สำหรับ​ผู้​หญิง​หลาย​คน การ​ทำ​แท้ง​เป็น​ทาง​ออก​เพียง​ทาง​เดียว.” แม้​ว่า​เกิด​มา​แล้ว ทารก​ก็​อยู่​ใน​อันตราย. ตาม​ที่​หนังสือ​พิมพ์​ออ เอสตาโด เดอ ซัง เปาลู แห่ง​บราซิล​รายงาน “การ​ทิ้ง​ทารก​ตาม​ถนน​กำลัง​เพิ่ม​มาก​ขึ้น.” ใน​ท้อง​ที่​ที่​คุณ​อยู่​เป็น​เช่น​นี้​ด้วย​ไหม?

รอบ​ตัว​เรา​ใน​โลก​ทุก​วัน​นี้ เรา​เห็น​หลักฐาน​ที่​ว่า ชีวิต​มนุษย์​มัก​ถูก​มอง​ว่า​ด้อย​ค่า​หรือ​ไร้​ค่า เป็น​สิ่ง​ที่​จะ​ทิ้ง​ไป​ได้​โดย​แทบ​ไม่​ต้อง​ใส่​ใจ. เรา​เห็น​แนว​โน้ม​นี้​ใน​ความ​บันเทิง​ที่​รุนแรง​อัน​เป็น​ที่​นิยม​กัน ซึ่ง “พระ​เอก” ฆ่า “ผู้​ร้าย” ตาย​เป็น​จำนวน​มาก​ใน​ภาพยนตร์​หรือ​รายการ​โทรทัศน์​เพียง​เรื่อง​เดียว. เรา​เห็น​คลื่น​ของ​อาชญากรรม​รุนแรง​ซึ่ง​เกิด​ขึ้น​เป็น​ระลอก ๆ ทั่ว​โลก ซึ่ง​คน​ร้าย​ฆ่า​เหยื่อ​เพื่อ​เงิน​เพียง​น้อย​นิด หรือ​โดย​ไม่​มี​เหตุ​ผล​เลย. และ​เรา​ทราบ​จาก​ข่าว​ที่​ทำ​ให้​รู้สึก​หดหู่​ใจ​เกี่ยว​กับ​ปฏิบัติการ​ของ​พวก​ผู้​ก่อ​การ​ร้าย, การ​ฆ่า​ล้าง​เผ่า​พันธุ์, และ​การ​กวาด​ล้าง​ชาติ​พันธุ์ ซึ่ง​ล้วน​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ล้าง​ผลาญ​ชีวิต​ผู้​คน​เป็น​จำนวน​มาก ๆ อย่าง​เย็นชา—ชีวิต​อัน​ล้ำ​ค่า​ถูก​ทิ้ง​ขว้าง​ราว​กับ​ขยะ.

เรา​อาจ​ไม่​สามารถ​หลีก​เลี่ยง​การ​อยู่​ใน​สังคม​ที่​ชอบ​ทิ้ง​ได้ แต่​เรา​หลีก​เลี่ยง​การ​มี​ทัศนะ​แบบ​ชอบ​ทิ้ง​ได้. บทความ​ถัด​ไป​จะ​พิจารณา​ว่า​อะไร​อาจ​ช่วย​เรา​ให้​รับมือ​กับ​สังคม​ที่​ชอบ​ทิ้ง​ใน​ปัจจุบัน​รวม​ทั้ง​ทัศนะ​ของ​สังคม​เช่น​นี้​ซึ่ง​ไม่​เป็น​ที่​น่า​ปรารถนา.

[ภาพ​หน้า 6]

ใน​หลาย​แห่ง การ​รีไซเคิล​เป็น​ข้อ​บังคับ

[ภาพ​หน้า 7]

ความ​คลั่งไคล้​ที่​เปลี่ยน​ไป​ทำ​ให้​คุณ​รู้สึก​ว่า​ต้อง​ทิ้ง​เสื้อ​ผ้า​ที่​ยัง​ดี​อยู่​และ​ซื้อ​ใหม่​ไหม?

[ภาพ​หน้า 8]

เด็ก​ที่​ยัง​ไม่​เกิด​มา​ควร​ได้​รับ​การ​ทะนุถนอม ไม่​ใช่​ทิ้ง​ไป

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 8]

Index Stock Photography Inc./BSIP Agency

[ภาพ​หน้า 8]

ชีวิต​มี​ค่า​ยิ่ง​กว่า​ที่​จะ​เสี่ยง​เอา​ไป​ทิ้ง​เพื่อ​ความ​ตื่นเต้น