ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เมื่อกลางวันกลายเป็นกลางคืน

เมื่อกลางวันกลายเป็นกลางคืน

เมื่อ​กลางวัน​กลาย​เป็น​กลางคืน

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​แองโกลา​และ​แซมเบีย

บาง​คน​อาจ​พูด​ว่า ‘กลางวัน​กลาย​เป็น​กลางคืน​หรือ? เป็น​ไป​ไม่​ได้!’ เรื่อง​นี้​ไม่​ใช่​แค่​เป็น​ไป​ได้ แต่​ยัง​เกิด​ขึ้น​หลาย​ครั้ง​ใน​รอบ​สิบ​ปี​อีก​ด้วย นั่น​คือ​เมื่อ​ใด​ก็​ตาม​ที่​เกิด​สุริยุปราคา​เต็ม​ดวง. สุริยุปราคา​เกิด​จาก​อะไร และ​ทำไม​จึง​น่า​ตื่น​ตา​ตื่น​ใจ​เช่น​นี้? คำ​ตอบ​เริ่ม​ต้น​ที่​ดวง​จันทร์.

คุณ​คุ้น​เคย​ดี​กับ​รูป​ทรง​ของ​ดวง​จันทร์​ที่​เปลี่ยน​แปลง​ไป​ขณะ​ที่​มัน​โคจร​รอบ​โลก​ไหม? เมื่อ​ดวง​จันทร์​และ​ดวง​อาทิตย์​อยู่​ตรง​ข้าม​กัน​บน​ท้องฟ้า เรา​จะ​เห็น​ดวง​จันทร์​ใน​ช่วง​ซึ่ง​เรา​เรียก​ว่า​จันทร์​เต็ม​ดวง​ขึ้น​ทาง​ตะวัน​ออก​ขณะ​ที่​ดวง​อาทิตย์​กำลัง​ลับ​ขอบ​ฟ้า​ไป​ทาง​ตะวัน​ตก. ขณะ​ที่​แต่​ละ​วัน​ผ่าน​ไป ดวง​จันทร์​ก็​ขึ้น​ช้า​ลง​ทุก​คืน และ​ค่อย ๆ เคลื่อน​ข้าม​ท้องฟ้า​ไป​ทาง​ที่​ดวง​อาทิตย์​กำลัง​ขึ้น. ด้าน​ที่​สว่าง​ของ​ดวง​จันทร์​ก็​ค่อย ๆ เล็ก​ลง จน​ใน​ที่​สุด​เหลือ​เป็น​เสี้ยว. เมื่อ​ดวง​จันทร์​อยู่​ใน​ตำแหน่ง​ใกล้​กับ​ดวง​อาทิตย์​ตลอด​วัน แม้​แต่​เสี้ยว​นั้น​ก็​หาย​ไป และ​เรา​จะ​มอง​ไม่​เห็น​ดวง​จันทร์​เลย​เมื่อ​ด้าน​มืด​ของ​ดวง​จันทร์​หัน​เข้า​หา​โลก. ช่วง​นี้​เรา​เรียก​ว่า​จันทร์​ดับ. จาก​นั้น​กระบวนการ​ก็​วน​กลับ โดย​ที่​ดวง​จันทร์​เคลื่อน​ห่าง​ออก​จาก​ดวง​อาทิตย์​มาก​ขึ้น​และ​ใน​ที่​สุด​ก็​กลับ​เป็น​ดวง​จันทร์​เต็ม​ดวง​อีก​ครั้ง. วัฏจักร​นี้​เกิด​ขึ้น​ซ้ำ​ทุก ๆ 28 วัน​โดย​ประมาณ.

ปัจจัย​สำคัญ​ที่​ทำ​ให้​เกิด​สุริยุปราคา​คือ​ช่วง​จันทร์​ดับ. ตาม​ปกติ​ดวง​จันทร์​เพียง​แค่​เคลื่อน​ผ่าน​ดวง​อาทิตย์​ใน​ท้องฟ้า​เวลา​กลางวัน​โดย​ที่​เรา​ไม่​รู้ เพราะ​วงโคจร​ของ​มัน​ไม่​ได้​อยู่​ใน​ระนาบ​เดียว​กัน. แต่​มี​บาง​ครั้ง​ที่​ดวง​อาทิตย์, ดวง​จันทร์, และ​โลก​เรียง​ตัว​ใน​แนว​ตรง​กัน​พอ​ดี. ตอน​นี้​เงา​ของ​ดวง​จันทร์​จะ​ตก​ลง​บน​พื้น​ผิว​โลก และ​ทำ​ให้​เกิด​สุริยุปราคา.

สุริยุปราคา​เกิด​จาก​ความ​สัมพันธ์​อัน​น่า​ทึ่ง​ระหว่าง​ดวง​อาทิตย์, ดวง​จันทร์, กับ​โลก. ดวง​อาทิตย์​มี​ขนาด​มโหฬาร คือ​มี​เส้น​ผ่า​ศูนย์กลาง​ยาว​กว่า​ดวง​จันทร์​ประมาณ 400 เท่า. แต่​น่า​ทึ่ง​ที่​ดวง​อาทิตย์​ก็​อยู่​ห่าง​จาก​เรา​มาก​กว่า​ดวง​จันทร์​ประมาณ 400 เท่า. ผล​คือ จาก​สายตา​ของ​เรา ดวง​อาทิตย์​และ​ดวง​จันทร์​มี​ขนาด​ปรากฏ​เกือบ​เท่า​กัน. ด้วย​เหตุ​นี้ บาง​ครั้ง​ดวง​จันทร์​จึง​ดู​เหมือน​จะ​บัง​ดวง​อาทิตย์​ได้​มิด​พอ​ดี.

เพื่อ​จะ​เกิด​สุริยุปราคา​เต็ม​ดวง ดวง​อาทิตย์, ดวง​จันทร์, และ​โลก​ต้อง​ไม่​เพียง​แต่​เรียง​ตัว​ใน​แนว​ตรง​กัน​พอ​ดี แต่​ใน​ขณะ​นั้น ดวง​จันทร์​ต้อง​อยู่​ใน​วงโคจร​ช่วง​ที่​เข้า​มา​ใกล้​โลก​ด้วย. * เมื่อ​เกิด​เหตุ​การณ์​เช่น​นี้ บริเวณ​ปลาย​แหลม​ของ​เงา​รูป​กรวย​ของ​ดวง​จันทร์​จะ​ทำ​ให้​เกิด​ความ​มืด​เป็น​แถบ​แคบ ๆ บน​พื้น​ผิว​โลก.

ใน​กรณี​สุริยุปราคา​เต็ม​ดวง​ที่​เกิด​ขึ้น​เมื่อ​วัน​ที่ 21 มิถุนายน 2001 เงา​มืด​นั้น​มี​ความ​กว้าง​ถึง 200 กิโลเมตร. ทาง​เดิน​ของ​เงา​มืด​เริ่ม​ต้น​เมื่อ​ดวง​อาทิตย์​ขึ้น ณ บริเวณ​นอก​ชายฝั่ง​ตะวัน​ออก​ของ​อเมริกา​ใต้​แล้ว​เคลื่อน​ผ่าน​มหาสมุทร​แอตแลนติก​ใต้ ที่​ซึ่ง​จะ​เห็น​สุริยุปราคา​ได้​นาน​ที่​สุด​คือ​เกือบ​ห้า​นาที. หลัง​จาก​เคลื่อน​ผ่าน​แองโกลา, แซมเบีย, ซิมบับเว, และ​โมซัมบิก มัน​ก็​สิ้น​สุด​ลง​เมื่อ​ดวง​อาทิตย์​ตก​นอก​ชายฝั่ง​ตะวัน​ออก​ของ​มาดากัสการ์. ขอ​ให้​เรา​ดู​ว่า​ปรากฏการณ์​บน​ท้องฟ้า​ครั้ง​นี้​เป็น​เช่น​ไร​ใน​สายตา​ของ​ผู้​สังเกตการณ์​ใน​แองโกลา​และ​แซมเบีย.

การ​เตรียม​การ​สำหรับ​ปรากฏการณ์​นี้

ด้วย​ความ​คาด​หวัง​อย่าง​สูง นัก​วิจัย​มือ​อาชีพ, นัก​ดาราศาสตร์​สมัคร​เล่น, และ​คน​อื่น​อีก​มาก​พา​กัน​หลั่งไหล​เข้า​มา​ใน​แอฟริกา​เพื่อ​ดู​สุริยุปราคา​เต็ม​ดวง​ครั้ง​แรก​ของ​สหัสวรรษ​ใหม่. เนื่อง​จาก​กรุง​ลูซากา ประเทศ​แซมเบีย เป็น​เมือง​หลวง​เพียง​แห่ง​เดียว​ใน​เส้น​ทาง​ของ​อุป​ราคา ผู้​มา​เยือน​หลาย​คน​จึง​มุ่ง​หน้า​ไป​ที่​นั่น​เพื่อ​ดู​ปรากฏการณ์​ครั้ง​นี้.

นี่​อาจ​เป็น​สิ่ง​ที่​ดึงดูด​นัก​ท่อง​เที่ยว​ให้​เข้า​มา​ใน​แซมเบีย​มาก​ที่​สุด​เท่า​ที่​เคย​มี​มา. เพียง​ไม่​กี่​วัน​ก่อน​เกิด​สุริยุปราคา กรุง​ลูซากา​ก็​เต็ม​ไป​ด้วย​ผู้​มา​เยือน​หลาย​พัน​คน. มี​การ​ตระเตรียม​เพื่อ​วัน​นั้น​หลาย​เดือน​ล่วง​หน้า. โรงแรม, ห้อง​พัก, ค่าย​พัก​แรม, และ​บ้าน​ส่วน​ตัว​ถูก​จอง​ล่วง​หน้า​จน​เต็ม​เพื่อ​เป็น​ที่​พัก​สำหรับ​ผู้​มา​เยือน​กลุ่ม​ใหญ่.

สถาน​ที่​ที่​เปิด​ให้​สาธารณชน​เข้า​ชม​สุริยุปราคา​รวม​ไป​ถึง​สนามบิน​ลูซากา ที่​ซึ่ง​ผู้​มา​เยือน​สามารถ​ลง​เครื่องบิน​ได้​ใน​ตอน​เช้า, ดู​สุริยุปราคา, แล้ว​ก็​ขึ้น​เครื่องบิน​กลับ​ใน​ตอน​เย็น. เป็น​เวลา​หลาย​สัปดาห์ สถานี​โทรทัศน์​และ​วิทยุ​ประกาศ​เรื่อง​ปรากฏการณ์​ที่​กำลัง​มา​ถึง และ​ย้ำ​เตือน​ถึง​อันตราย​ของ​การ​มอง​ดู​ดวง​อาทิตย์​ด้วย​ตา​เปล่า. แว่นตา​ชนิด​พิเศษ​สำหรับ​ดู​ดวง​อาทิตย์​ขาย​ดี​เกิน​คาด และ​ร้าน​ค้า​หลาย​ร้าน​ก็​ขาย​จน​หมด​สต๊อก.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม สุริยุปราคา​ครั้ง​นี้​จะ​เห็น​ได้​ใน​ทวีป​แอฟริกา​เป็น​แห่ง​แรก​ที่​ซุมเบ เมือง​ชาย​ทะเล​ใน​แองโกลา. ที่​นี่​เป็น​ที่​ซึ่ง​ผู้​สังเกตการณ์​จะ​ได้​เห็น​สุริยุปราคา​นาน​สี่​นาที​ครึ่ง นาน​ที่​สุด​เท่า​ที่​เกิด​บน​ผืน​แผ่นดิน.

หลาย​เดือน​ก่อน​เกิด​สุริยุปราคา ป้าย​ประกาศ​เรื่อง​สุริยุปราคา​และ​คำ​เตือน​เกี่ยว​กับ​อันตราย​ของ​การ​ชม​สุริยุปราคา​ก็​ถูก​ติด​ตั้ง​ทั่ว​กรุง​ลู​อัน​ดา เมือง​หลวง​ของ​แองโกลา และ​ใน​เมือง​ใหญ่​เมือง​อื่น ๆ. เงา​ของ​ดวง​จันทร์​พาด​ผ่าน​ใจ​กลาง​ประเทศ ดัง​นั้น ทั่ว​ทั้ง​แองโกลา​จึง​เห็น​อย่าง​น้อย​ก็​สุริยุปราคา​ที่​เกือบ​เต็ม​ดวง. กรุง​ลู​อัน​ดา​จะ​เห็น​ดวง​อาทิตย์​ถูก​บัง​ถึง 96 เปอร์เซ็นต์. รัฐบาล​พร้อม​กับ​ความ​ร่วม​มือ​จาก​บริษัท​เอกชน ได้​จัด​ให้​มี​การ​นำ​เข้า​แว่นตา​ชนิด​พิเศษ​สำหรับ​ดู​ดวง​อาทิตย์​เพื่อ​การ​จำหน่าย. มี​การ​แจก​แว่นตา​หลาย​อัน​ให้​แก่​ผู้​ด้อย​โอกาส​ฟรี ๆ.

ศูนย์กลาง​สำหรับ​การ​ดู​สุริยุปราคา​ของ​แองโกลา​อยู่​ที่​ซุมเบ เมือง​ซึ่ง​ตั้ง​อยู่​บน​ที่​ราบ​แคบ ๆ บริเวณ​ชายฝั่ง​อัน​สวย​งาม​ระหว่าง​มหาสมุทร​แอตแลนติก​ใต้​และ​ที่​ราบ​สูง​ตอน​กลาง​ของ​แองโกลา. พื้น​ที่​แถบ​เมือง​ซุมเบ​รอด​พ้น​จาก​การ​สู้​รบ​อัน​เลว​ร้าย​ซึ่ง​ได้​ทำ​ความ​เสียหาย​แก่​ประเทศ​แองโกลา ดัง​นั้น ผู้​มา​เยือน​จึง​ได้​เห็น​เมือง​ที่​ยัง​อยู่​ใน​สภาพ​เดิม​ซึ่ง​มี​ชาว​เมือง​ที่​อบอุ่น​เป็น​มิตร​และ​ชอบ​คบหา​สมาคม​อยู่​ราว ๆ 25,000 คน. เพื่อ​จะ​เอา​ใจ​ใส่​ผู้​มา​เยือน​ทั้ง​หมด ยัง​มี​การ​จัด​เตรียม​สิ่ง​อำนวย​ความ​สะดวก​ต่าง ๆ และ​มี​การ​ปรับ​ปรุง​ระบบ​ไฟฟ้า​ใน​ท้องถิ่น​อีก​ด้วย. มี​การ​จัด​การ​ประชุม​เชิง​ปฏิบัติการ​กับ​นัก​วิทยาศาสตร์, คณะ​รัฐมนตรี, และ​ผู้​ทำ​งาน​ด้าน​สังคม​สงเคราะห์​จาก​แองโกลา​และ​ประเทศ​อื่น ๆ. มี​การ​สร้าง​เวที​ขนาด​ใหญ่​บน​ชาย​หาด​สำหรับ​รายการ​บันเทิง​ที่​ยิ่ง​ใหญ่​อย่าง​ที่​ไม่​เคย​มี​มา​ก่อน​ใน​เมือง​ซุมเบ.

วัน​อัน​น่า​ตื่นเต้น​มา​ถึง

ข้อ​ดี​อย่าง​หนึ่ง​ของ​การ​ดู​สุริยุปราคา​ใน​แองโกลา​คือ​ใน​เดือน​มิถุนายน​ไม่​ค่อย​มี​ฝน. แต่​ลอง​นึก​ถึง​ความ​ตื่น​ตระหนก​เมื่อ​เมฆ​ลอย​มา​ปก​คลุม​บริเวณ​เมือง​ซุมเบ​หนึ่ง​วัน​ก่อน​เกิด​สุริยุปราคา! ตลอด​เย็น​วัน​นั้น​และ​เช้า​วัน​รุ่ง​ขึ้น เมือง​นั้น​ถูก​บดบัง​ด้วย​เมฆ​หนา​ทึบ. ความ​หวัง​ทั้ง​สิ้น​ที่​จะ​ได้​เห็น​สุริยุปราคา​จะ​ต้อง​พัง​ทลาย​ลง​ไหม? พอ​ถึง​ช่วง​สาย เมฆ​ก็​เริ่ม​สลาย​ตัว และ​พอ​ใกล้​เที่ยง​ท้องฟ้า​ก็​กลาย​เป็น​สี​ฟ้า​ไร้​เมฆ​หมอก. โล่ง​อก​ไป​ที! คล้าย​กัน มี​ความ​กังวล​ใน​แซมเบีย เนื่อง​จาก​ยาม​เช้า​ท้องฟ้า​ไม่​สดใส​และ​มี​เมฆ​บัง. กระนั้น ที่​แซมเบีย​ก็​เช่น​กัน ทัศนียภาพ​กลับ​มา​สดใส​ทัน​เวลา. ขอ​ฟัง​ประจักษ์​พยาน​พรรณนา​เหตุ​การณ์​ที่​เกิด​ขึ้น.

แองโกลา: “เรา​เลือก​ที่​จะ​ดู​สุริยุปราคา​บน​จุด​ที่​สูง​ซึ่ง​มอง​ลง​มา​เห็น​ทะเล. เมื่อ​เวลา​ใกล้​เข้า​มา ฝูง​ชน​เริ่ม​มา​รวม​ตัว​กัน​ที่​ชาย​หาด​ใน​เมือง​และ​ใน​สถาน​ที่​ซึ่ง​จัด​ไว้​สำหรับ​ชม​ปรากฏการณ์​นี้. เที่ยง​ตรง ตอน​ที่​สุริยุปราคา​กำลัง​จะ​เริ่ม หลาย​คน​ใส่​แว่นตา​ป้องกัน และ​เฝ้า​ดู ‘สัมผัส’ แรก​ที่​ดวง​จันทร์​บัง​ดวง​อาทิตย์. ไม่​นาน​เท่า​ไร​หลัง​เที่ยง​วัน สุริยุปราคา​ก็​เริ่ม​ขึ้น. โดย​ใช้​กล้อง​สอง​ตา​หรือ​กล้อง​โทรทรรศน์ ผู้​คน​สามารถ​เห็น​จุด​บน​ดวง​อาทิตย์​หลาย​จุด ซึ่ง​เป็น​จุด​ดำ​บน​พื้น​ผิว​ของ​ดวง​อาทิตย์. ผู้​เฝ้า​ดู​เห็น​จุด​เหล่า​นี้​ค่อย ๆ หาย​ไป​ใน​เงา​มืด​ที​ละ​จุด. ใน​ช่วง​ที่​เกิด​สุริยุปราคา​อยู่​นั้น อุณหภูมิ​ก็​ลด​ลง​อย่าง​น่า​สังเกต​และ​แสง​ก็​เริ่ม​มี​สี​แปลก ๆ. ใน​ที่​สุด ขณะ​ที่​เสี้ยว​สุด​ท้าย​ของ​ดวง​อาทิตย์​หาย​ลับ​ไป​ใน​เงา​ที่​คืบ​คลาน​เข้า​มา ความ​มืด​ก็​เกิด​ขึ้น.”

แซมเบีย: “เนื่อง​จาก​สำนักงาน​สาขา​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​แซมเบีย​ตั้ง​อยู่​ที่​มา​เคนี ใน​กรุง​ลูซากา ที่​นี่​จึง​เป็น​ที่​ซึ่ง​เหมาะ​มาก​สำหรับ​การ​ดู​สุริยุปราคา​เต็ม​ดวง. เวลา 15:07 น. ดวง​จันทร์​เริ่ม​บัง​ดวง​อาทิตย์. เงา​เป็น​แถบ ๆ พาด​ผ่าน​ผนัง​ตึก ทำ​ให้​เกิด​แสง​เป็น​ลำ. ลม​สงบ​ลง และ​นก​ก็​เงียบ​เสียง​ไป. สัตว์​ป่า​เริ่ม​เตรียม​จะ​เข้า​นอน​ยาม​ค่ำ​คืน. เวลา 15:09 น. ไม่​กี่​วินาที​ก่อน​จะ​ถูก​บัง​มิด ดวง​อาทิตย์​ที่​กำลัง​อันตรธาน​ไป​ก็​เหลือ​แค่​จุด​ของ​แสง​ที่​แวว​วาว​ไม่​กี่​จุด จาก​นั้น​ก็​เหลือ​เพียง​จุด​เดียว. ปรากฏการณ์​เหล่า​นี้​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ว่า ปรากฏการณ์​ลูกปัด​เบลี​และ​ปรากฏการณ์​แหวน​เพชร​ตาม​ลำดับ. * จาก​นั้น​ก็​ตาม​ด้วย​ภาพ​ชั้น​บรรยากาศ​โครโมสเฟียร์​ของ​ดวง​อาทิตย์ เป็น​แสง​วาบ​สี​แดง​อม​ชมพู ซึ่ง​นำ​ไป​สู่​ความ​มืด​มิด!”

แองโกลา: “ปรากฏการณ์​แหวน​เพชร​ที่​น่า​ตื่น​ตา​ตื่น​ใจ​ทำ​ให้​เกิด​การ​ตะลึงงัน​และ​การ​ร้อง​ตะโกน. จาก​นั้น​เวลา 13:48 น. ตาม​เวลา​ใน​ท้องถิ่น การ​บัง​เต็ม​ดวง​ก็​เริ่ม​ขึ้น. ปฏิกิริยา​มี​หลาก​หลาย. บาง​คน​วุ่น​อยู่​กับ​การ​ถ่าย​ภาพ. คน​อื่น ๆ เริ่ม​ตะโกน​ขึ้น​พร้อม ๆ กัน​ว่า ‘เต็ม​ดวง​แล้ว! เต็ม​ดวง​แล้ว! เต็ม​ดวง​แล้ว!’ และ​ยัง​มี​บาง​คน​ที่​เริ่ม​เป่า​ปาก​และ​ร้อง​ตะโกน​ด้วย​ความ​ทึ่ง​เมื่อ​กลางวัน​กลาย​เป็น​กลางคืน. พวย​ก๊าซ​ของ​ดวง​อาทิตย์​ใน​ชั้น​บรรยากาศ​ซึ่ง​มี​อุณหภูมิ​นับ​ล้าน​องศา​ดู​เหมือน​พุ่ง​ออก​มา​ทุก​ทิศ​ทาง​เป็น​โคโรนา. เรา​สามารถ​เห็น​เปลว​ก๊าซ​ที่​เป็น​เส้น​โค้ง​แผ่​รอบ ๆ เส้น​รอบ​วง​อัน​ดำ​มืด​ของ​ดวง​จันทร์. ทันใด​นั้น เหมือน​กับ​ว่า​เวลา​เคลื่อน​ไป​อย่าง​รวด​เร็ว ช่วง​สุริยุปราคา​เต็ม​ดวง​ก็​หมด​ไป​และ​ลำ​แสง​จาก​ดวง​อาทิตย์​ก็​ส่อง​ออก​มา​จาก​อีก​ด้าน​หนึ่ง​ของ​เงา​มืด.

“ขณะ​ที่​ดวง​อาทิตย์​เริ่ม​ปรากฏ​ออก​มา เรา​เห็น​จุด​บน​ดวง​อาทิตย์​ซึ่ง​ก่อน​หน้า​นี้​ถูก​กลืน​หาย​ไป​ค่อย ๆ ปรากฏ​ออก​มา​ที​ละ​จุด ขณะ​ที่​รูป​ทรง​กลม ๆ ของ​ดวง​อาทิตย์​ที่​คุ้น​เคย​กัน​ค่อย ๆ กลับ​คืน​สู่​สภาพ​เดิม.”

แซมเบีย: “ที่​นี่​มี​ช่วง​ที่​ดวง​อาทิตย์​ถูก​บัง​มิด​นาน 3 นาที 14 วินาที ดัง​นั้น จึง​มี​เวลา​ที่​จะ​ตระหนัก​ถึง​ความ​ยิ่ง​ใหญ่​ของ​เหตุ​การณ์​นี้. ตอน​นั้น​ฟ้า​มืด แต่​ก็​ยัง​มี​แสง​สลัว​อยู่​ที่​ขอบ​ฟ้า. แม้​ว่า​ท้องฟ้า​ยัง​เป็น​สี​คราม แต่​เรา​ก็​มอง​เห็น​ดาว​เคราะห์​ต่าง ๆ ได้ ซึ่ง​ตาม​ปกติ​จะ​ถูก​แสง​ดวง​อาทิตย์​บดบัง​ไว้ ตัว​อย่าง​เช่น ดาว​พฤหัสบดี​และ​ดาว​เสาร์​ปรากฏ​เป็น​จุด​สว่าง​ซึ่ง​เห็น​ได้​อย่าง​ชัดเจน. บาง​ที​ลักษณะ​ที่​น่า​ทึ่ง​ที่​สุด​ของ​สุริยุปราคา​คือ​แสง​โค​โร​นา​ของ​ดวง​อาทิตย์. แสง​นี้​เป็น​แสง​สี​ขาว​อม​ชมพู​กระจาย​อยู่​รอบ​ดวง​กลม​สี​ดำ. ด้วย​ความ​อัศจรรย์​ใจ ผู้​ชม​บาง​คน​พรรณนา​ว่า ‘น่า​ทึ่ง​จริง ๆ งดงาม​เหลือ​เกิน.’ ดวง​จันทร์​ค่อย ๆ เคลื่อน​ออก​ไป ทำ​ให้​มอง​เห็น​ดวง​อาทิตย์​มาก​ขึ้น จน​กระทั่ง​เวลา 16:28 น. แสง​อาทิตย์​ก็​ไม่​ถูก​บดบัง​อีก​ต่อ​ไป. สุริยุปราคา​สิ้น​สุด​ลง​แล้ว!”

บทเรียน​จาก​สุริยุปราคา

หลัง​จาก​นั้น หลาย​คน​ได้​พูด​ถึง​ความ​รู้สึก​ที่​ได้​จาก​ประสบการณ์​ที่​กระตุ้น​ใจ​นี้. ใน​แองโกลา ผู้​หญิง​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า​เธอ​ซึ้ง​ใจ​จน​เกือบ​ร้องไห้​ออก​มา. อีก​คน​หนึ่ง​ใคร่ครวญ​ถึง​ของ​ประทาน​อัน​งดงาม​จาก​พระเจ้า. ส่วน​อีก​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า​มี​เพียง​พระ​ผู้​สร้าง​ที่​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​เท่า​นั้น​ที่​จะ​ทำ​ให้​เกิด​ปรากฏการณ์​ที่​น่า​พิศวง​เช่น​นี้​เพื่อ​ผู้​คน​จะ​หยั่ง​รู้​ค่า​ความ​งาม​อัน​น่า​ทึ่ง​ของ​แหล่ง​พลังงาน​ของ​โลก.

เห็น​ได้​ชัด​ว่า​ผู้​คน​มาก​มาย​ใน​แอฟริกา​มี​ความ​นับถือ​พระ​ผู้​สร้าง​และ​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​อย่าง​ยิ่ง. เมื่อ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​เมือง​ซุมเบ​พูด​กับ​คน​อื่น ๆ เกี่ยว​กับ​สุริยุปราคา​และ​กล่าว​ว่า​นี่​เป็น​เพียง​หนึ่ง​ใน​ราชกิจ​อัน​มหัศจรรย์​ของ​พระ​ยะโฮวา พระ​ผู้​สร้าง​ของ​เรา ชาว​เมือง​ก็​แสดง​ความ​สนใจ​จริง ๆ ที่​จะ​พูด​คุย​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​นี้. หลาย​คน​รับ​วารสาร​หอสังเกตการณ์ ฉบับ​ที่​พูด​ถึง​ราชกิจ​อัน​มหัศจรรย์​นี้​ด้วย​ความ​กระตือรือร้น.

ปรากฏการณ์​บน​ฟาก​ฟ้า​นี้​ช่วย​ให้​หลาย​ล้าน​คน​ลืม​ปัญหา​ของ​ตน​ไป​สอง​สาม​นาที​และ​สนใจ​สิ่ง​ที่​เสริม​สร้าง​และ​น่า​ทึ่ง​อย่าง​แท้​จริง. เมื่อ​ได้​เห็น​ลักษณะ​อัน​น่า​ทึ่ง​ของ​ดวง​อาทิตย์​ซึ่ง​ตาม​ปกติ​ไม่​อาจ​มอง​เห็น​ได้ บาง​คน​จึง​คิด​ถึง​สง่า​ราศี​ซึ่ง​ไม่​อาจ​เห็น​ได้​แต่​มหัศจรรย์​ยิ่ง​กว่า​สง่า​ราศี​ของ​ดวง​อาทิตย์ นั่น​คือ​พระ​ผู้​สร้าง​ดวง​อาทิตย์ ซึ่ง​มี​พระ​นาม​ว่า​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 7 เนื่อง​จาก​วงโคจร​ของ​ดวง​จันทร์​และ​โลก​เป็น​วง​รี ขนาด​ปรากฏ​ของ​ดวง​อาทิตย์​และ​ดวง​จันทร์​จึง​เปลี่ยน​แปลง​ไป​เล็ก​น้อย​ขึ้น​อยู่​กับ​ว่า​โลก​และ​ดวง​จันทร์​อยู่ ณ ตำแหน่ง​ใด​ใน​วงโคจร. เมื่อ​ดวง​จันทร์​โคจร​อยู่ ณ จุด​ที่​ไกล​จาก​โลก​มาก​ที่​สุด เงา​มืด​ของ​ดวง​จันทร์​อาจ​ตก​ไม่​ถึง​พื้น​ผิว​โลก. เมื่อ​เกิด​ปรากฏการณ์​เช่น​นี้ ผู้​สังเกตการณ์​บน​โลก​ซึ่ง​อยู่​ใน​แนว​เดียว​กับ​เงา​จะ​เห็น​สุริยุปราคา​วง​แหวน คือ​จะ​เห็น​ดวง​อาทิตย์​เป็น​วง​สว่าง​โดย​มี​ดวง​สี​ดำ​อยู่​ตรง​กลาง.

^ วรรค 19 ปรากฏการณ์​ซึ่ง​รู้​จัก​กัน​ว่า​ลูกปัด​เบลี​เกิด​จาก​แสง​อาทิตย์​ส่อง​ผ่าน​หุบเขา​บน​ดวง​จันทร์​ก่อน​จะ​ถูก​บัง​มิด​ดวง. คำ​ว่า “แหวน​เพชร” พรรณนา​ถึง​รูป​ลักษณ์​ของ​ดวง​อาทิตย์​ก่อน​จะ​ถูก​บัง​จน​มิด เมื่อ​เหลือ​เพียง​แค่​ส่วน​เล็ก ๆ ทำ​ให้​ดู​เหมือน​วง​แหวน​สี​ขาว​พร้อม​กับ​แสง​ที่​เป็น​ประกาย​คล้าย​กับ​แหวน​เพชร.

[แผนภูมิ​หน้า 21]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

→ →

ดวง​อาทิตย์ → ดวง​จันทร์ ⇨ เงา​มืด ⇨ โลก

→ →

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

© 1998 Visual Language

[ภาพ​หน้า 23]

ปรากฏการณ์​ลูกปัด​เบลี

สุริยุปราคา​เต็ม​ดวง

ปรากฏการณ์​แหวน​เพชร

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Courtesy Juan Carlos Casado, www.skylook.net

[ภาพ​หน้า 23]

ผู้​ชม​สุริยุปราคา​ใน​เมือง​ลูซากา ประเทศ​แซมเบีย