ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

โกลเดนวอตเทิล—ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิที่ซีกโลกใต้

โกลเดนวอตเทิล—ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิที่ซีกโลกใต้

โกลเดน​วอตเทิล—ต้อนรับ​ฤดู​ใบ​ไม้​ผลิ​ที่​ซีก​โลก​ใต้

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​ออสเตรเลีย

ดอกไม้​ที่​ประดับ​อยู่​ใน​สอง​สาม​หน้า​นี้​ไม่​ใช่​ดอกไม้​ธรรมดา. นี่​คือ​ดอกไม้​ที่​มี​ชื่อเสียง​และ​เป็น​ที่​ชื่น​ชอบ​ใน​ออสเตรเลีย. ที่​จริง ตั้ง​แต่​ปี 1912 ตรา​สัญลักษณ์​ของ​ประเทศ​ออสเตรเลีย​มี​รูป​ดอกไม้​นี้​อยู่​ด้วย และ​ใน​ปี 1988 มี​การ​ประกาศ​ให้​ดอกไม้​นี้​เป็น​ดอกไม้​ประจำ​ชาติ​ของ​ออสเตรเลีย. มี​รูป​ดอกไม้​นี้​ใน​เหรียญ​เงิน​และ​แสตมป์​ของ​ออสเตรเลีย​ด้วย. ทำไม​ผู้​คน​จึง​นิยม​ชม​ชอบ​ดอกไม้​นี้​กัน​นัก?

คำ​ตอบ​ส่วน​หนึ่ง​อาจ​พบ​ได้​ใน​บท​กวี​ซึ่ง​แต่ง​โดย​เวโรนิกา เมสัน ซึ่ง​ตี​พิมพ์​ใน​ปี 1929. หลัง​จาก​พรรณนา​ถึง “สี​เขียว​มะกอก​และ​สี​น้ำตาล​ปน​เทา” อัน​หม่น​หมอง​ซึ่ง​มี​อยู่​ทั่ว​ไป​ใน​ภูมิ​ประเทศ​ช่วง​ปลาย​ฤดู​หนาว กวี​ผู้​นี้​ก็​ประกาศ​ด้วย​ความ​ชื่นชม​ยินดี​ว่า “ทว่า บัด​นี้​วสันตฤดู​มา​ถึง​แล้ว / พร้อม​ด้วย​ดอก​วอตเทิล.”

ดู​เหมือน​เกือบ​ทุก​คน​ชอบ​ข่าว​ที่​ว่า​ฤดู​ใบ​ไม้​ผลิ​ย่าง​เข้า​มา​แล้ว. ใน​ออสเตรเลีย​แห่ง​ซีก​โลก​ใต้​นี้ ฤดู​ใบ​ไม้​ผลิ​เริ่ม​ขึ้น​เมื่อ​ฤดู​ใบ​ไม้​ร่วง​คืบ​คลาน​เข้า​สู่​ซีก​โลก​เหนือ. ทวีป​แห่ง​ซีก​โลก​ใต้​นี้​มี​สัญญาณ​อย่าง​หนึ่ง​ที่​บอก​ล่วง​หน้า​ว่า​ฤดู​ใบ​ไม้​ผลิ​กำลัง​จะ​มา​ถึง นั่น​คือ​การ​ที่​ดอก​โกลเดน​วอตเทิล​บาน​สะพรั่ง​อย่าง​กะทันหัน. ด้วย​เหตุ​นี้ ทุก​เดือน​สิงหาคม เรา​อาจ​ได้​ยิน​เสียง​เด็ก​นัก​เรียน​ท่อง​บท​กวี​ของ​เมสัน. และ​ใน​ปี 1992 ข้าหลวง​ใหญ่​ของ​ออสเตรเลีย​ก็​ประกาศ​ให้​วัน​ที่ 1 กันยายน​เป็น​วัน​วอตเทิล​แห่ง​ชาติ.

แน่​ล่ะ ต้น​โกลเดน​วอตเทิล​ไม่​เพียง​ประกาศ​ว่า​ฤดู​ใบ​ไม้​ผลิ​มา​ถึง​แล้ว แต่​ยัง​ประกาศ​ด้วย​วิธี​ที่​สวย​สด​งดงาม​อย่าง​ยิ่ง. บท​กวี​ของ​เมสัน​พูด​ถึง “วอตเทิล​ที่​ถอน​สาย​บัว​อย่าง​น่า​รัก” ซึ่ง​หมาย​ถึง​กิ่ง​วอตเทิล​ที่​เต็ม​ไป​ด้วย​ดอก​บาน​สะพรั่ง​โบก​พลิ้ว​ไป​มา​ตาม​สาย​ลม​อ่อน ๆ ใน​ฤดู​ใบ​ไม้​ผลิ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม วอตเทิล​ไม่​ใช่​ชื่อ​ที่​เป็น​ทาง​การ​ของ​ต้น​ไม้​ชนิด​นี้. จริง ๆ แล้ว ต้น​ไม้​ชนิด​นี้​อยู่​ใน​วงศ์​ที่​น่า​สนใจ​ซึ่ง​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ใน​แถบ​ที่​มี​ภูมิ​อากาศ​อบอุ่น​ตลอด​ทั่ว​โลก.

วงศ์​ที่​ทนทาน​และ​มี​ชื่อเสียง

ชื่อ​ทาง​พฤกษศาสตร์​ของ​ต้น​โกลเดน​วอตเทิล​คือ Acacia pycnantha. ต้น​ไม้​ชนิด​นี้​เป็น​ไม้​พุ่ม​หรือ​ไม้​ขนาด​เล็ก​ซึ่ง​สูง​ประมาณ 4 ถึง 8 เมตร. แต่​มี​ต้น​ไม้​ใน​วงศ์​อาเคเชีย (กระถิน) ประมาณ 600 ถึง 1,000 ชนิด​ใน​ออสเตรเลีย ซึ่ง​ถูก​เรียก​ว่า​วอตเทิล. ที่​จริง มาก​กว่า​ครึ่ง​หนึ่ง​ของ​อาเคเชีย​หลาก​หลาย​พันธุ์​ซึ่ง​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ใน​โลก​พบ​ได้​ใน​ออสเตรเลีย. ที่​ยุโรป​และ​อเมริกา ต้น​อาเคเชีย​มัก​ถูก​เรียก​ว่า​มิโมซา. มี​ต้น​อาเคเชีย​อีก​พันธุ์​หนึ่ง​ที่​ถูก​กล่าว​ถึง​บ่อย ๆ ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. พระเจ้า​ทรง​บัญชา​ให้​สร้าง​หีบ​แห่ง​สัญญา​ไมตรี​และ​บาง​ส่วน​ของ​พลับพลา​ด้วย​ไม้​อาเคเชีย (ซิติม).—เอ็กโซโด 25:10; 26:15, 26.

ต้น​ไม้​ใน​วงศ์​อาเคเชีย​ที่​มี​ชื่อเสียง​ชนิด​หนึ่ง​คือ​พันธุ์​ที่​มี​รูป​ทรง​คล้าย​กับ​ร่ม​ซึ่ง​อยู่​ใน​แอฟริกา. ใบ​ของ​อาเคเชีย​พันธุ์​นี้​เป็น​อาหาร​โปรด​ของ​ยีราฟ. ที่​จริง พวก​มัน​คง​จะ​กิน​ใบ​อาเคเชีย​จน​หมด​เกลี้ยง​ถ้า​ไม่​มี​ความ​สัมพันธ์​แบบ​พึ่ง​พา​กัน​ที่​แปลก​ประหลาด​ระหว่าง​ต้น​ไม้​กับ​มด​ชนิด​หนึ่ง. ต้น​ไม้​นี้​ให้​ที่​พักพิง​และ​น้ำ​หวาน​แก่​มด. ส่วน​มด​ก็​จะ​กัด​เจ้า​ยีราฟ​จอม​ตะกละ ทำ​ให้​เจ้า​ยักษ์​ใจ​ดี​เดิน​ไป​กิน​ต้น​อื่น. ความ​สัมพันธ์​แบบ​พึ่ง​พา​กัน​เช่น​นี้​เป็น​หลักฐาน​แสดง​ถึง​การ​ออก​แบบ​ที่​มี​เชาวน์​ปัญญา​มิ​ใช่​หรือ?

อาเคเชีย​พันธุ์​ที่​มี​ใน​ออสเตรเลีย​ไม่​มี​ยีราฟ​มา​รุกราน. แต่​มัน​ก็​มี​ศัตรู เช่น ความ​แห้ง​แล้ง และ​เพื่อ​เอา​ชนะ​สิ่ง​นี้ มัน​จึง​มี​มาตรการ​ป้องกัน​ที่​ได้​ผล​ดี. เปลือก​ชั้น​นอก​ของ​เมล็ด​อาเคเชีย​แข็ง​มาก​จน​ต้อง​ทำ​ให้​เปลือก​นั้น​แตก​ก่อน​เพื่อ​น้ำ​จะ​ซึม​เข้า​ไป​และ​งอก​เป็น​ต้น​ใหม่​ได้. เมล็ด​มัน​แข็ง​ถึง​ขนาด​ที่​ชาว​สวน​ต้อง​เอา​ฝัก​เมล็ด​ไป​ลวก​ใน​น้ำ​เดือด​ให้​มัน​พอง​ขึ้น เพื่อ​เวลา​นำ​ไป​เพาะ​มัน​จะ​ได้​งอก​เป็น​ต้น. ใน​สภาพ​แวด​ล้อม​ตาม​ธรรมชาติ เมล็ด​อาเคเชีย​อาจ​ฝัง​ตัว​อยู่​ใน​ดิน​ได้​นาน​หลาย​สิบ​ปี! ใน​ที่​สุด ไฟ​ป่า​จะ​ทำ​ให้​เมล็ด​ที่​แข็ง​และ​เล็ก​นี้​งอก​ขึ้น. ด้วย​เหตุ​นี้ แม้​แต่​ใน​ช่วง​ที่​แห้ง​แล้ง​ที่​สุด ก็​มี “ธนาคาร​เชื้อ​พันธุ์” ของ​อาเคเชีย​ฝัง​ตัว​อยู่​ใน​พื้น​ดิน​อย่าง​ปลอด​ภัย เพียง​แต่​รอ​เวลา​ที่​จะ​งอก​ขึ้น​มา​ใหม่.

ปัจจุบัน​เป็น​เวลา​หลาย​ปี​แล้ว​ที่​ต้น​วอตเทิล​ออสเตรเลีย​ที่​ทนทาน​ถูก​ส่ง​ออก​ไป​ยัง​แอฟริกา​เพื่อ​ใช้​เป็น​พืช​ที่​อาจ​เป็น​แหล่ง​อาหาร​ได้​ใน​ยาม​เกิด​ภัย​แล้ง. ข้อ​ได้​เปรียบ​อย่าง​มาก​ข้อ​หนึ่ง​คือ​ต้น​อาเคเชีย​พวก​นี้​สามารถ​อยู่​รอด​ใน​ดิน​ที่​ไม่​อุดม​สมบูรณ์​และ​แห้ง​แล้ง. บาง​พันธุ์​ขึ้น​ได้​แม้​แต่​บน​เนิน​ทราย! ต้น​ไม้​เหล่า​นี้​ยึด​ดิน​ไว้​ด้วย​กัน, เพิ่ม​ไนโตรเจน​ให้​ดิน, และ​เป็น​ที่​กำบัง​ลม โดย​วิธี​เหล่า​นี้​ต้น​อาเคเชีย​จึง​ช่วย​ปรับ​สภาพ​แวด​ล้อม​ให้​พืช​ชนิด​อื่น​ด้วย.

ต้น​วอตเทิล​สารพัด​ประโยชน์

มี​นัก​วิทยาศาสตร์​บาง​คน​มอง​ว่า​เมล็ด​วอตเทิล​บาง​ชนิด​อาจ​นำ​มา​ทำ​เป็น​อาหาร​ได้ โดย​ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า​มัน​มี​โปรตีน​สูง​และ​มี​คุณค่า​ทาง​อาหาร​เช่น​เดียว​กับ​ธัญพืช​ชนิด​อื่น ๆ. เมื่อ​นำ​เมล็ด​ไป​คั่ว รสชาติ​ของ​มัน​จะ​คล้าย​ถั่ว; ส่วน​บาง​พันธุ์​เมื่อ​นำ​ไป​ต้ม ก็​มี​รสชาติ​เหมือน​ถั่ว​ลันเตา. เมล็ด​วอตเทิล​เคย​ถูก​นำ​ไป​โม่​เป็น​แป้ง​แล้ว​ทำ​เป็น​ขนมปัง​หรือ​แม้​กระทั่ง​เส้น​พาสตา. วอตเทิล​บาง​พันธุ์​มี​เมล็ด​มาก​ถึง 10 กิโลกรัม​ใน​หนึ่ง​ปี.

ดอก​วอตเทิล​ที่​มี​กลิ่น​หอม​ถูก​นำ​ไป​ใช้​ทำ​หัว​น้ำหอม. นอก​จาก​นั้น มี​การ​ใช้​ต้น​อาเคเชีย​อย่าง​กว้างขวาง​เพื่อ​เป็น​อาหาร​สัตว์​และ​ยึด​ดิน​ไม่​ให้​ถูก​เซาะกร่อน. แต่​เรา​ยัง​แทบ​ไม่​ได้​กล่าว​ถึง​ประโยชน์​ของ​ไม้​อาเคเชีย​เลย.

ชาว​อะบอริจินี​แห่ง​ออสเตรเลีย​ใน​ยุค​แรก ๆ ทำ​บูมเมอแรง​จาก​ไม้​อาเคเชีย. ต้น​วอตเทิล​พันธุ์​หนึ่ง คือ Acacia acuminata ถูก​เรียก​ว่า​ต้น​แยม​ราสป์เบอร์รี เพราะ​ไม้​ของ​มัน​เมื่อ​ตัด​ใหม่ ๆ จะ​มี​กลิ่น​เหมือน​ลูก​ราสป์เบอร์รี​บด. ชาว​อาณานิคม​ออสเตรเลีย​ยุค​แรก ๆ ใช้​ต้น​อาเคเชีย​ทำ​บ้าน​ไม้​ขัด​แตะ​แล้ว​พอก​ด้วย​โคลน. มี​การ​พอก​โคลน​บน​ขัด​แตะ​เป็น​ชั้น ๆ เพื่อ​ทำ​เป็น​ฝา​บ้าน.

เป็น​เรื่อง​น่า​ทึ่ง​มิ​ใช่​หรือ​ที่​ต้น​ไม้​ชนิด​นี้​มี​ประโยชน์​มาก​มาย​สัก​เพียง​ไร? อย่าง​ไร​ก็​ตาม เมื่อ​ออสเตรเลีย​ย่าง​เข้า​ฤดู​ใบ​ไม้​ผลิ สิ่ง​ที่​ผุด​ขึ้น​ใน​ความ​คิด​ของ​ผู้​คน​ไม่​ใช่​ประโยชน์​ต่าง ๆ นานา​ของ​ต้น​วอตเทิล. แต่​ขณะ​ที่​ดอก​ฝอย ๆ เป็น​พุ่ม ๆ เปลี่ยน​เนิน​เขา​ให้​เป็น​สี​เหลือง​อร่าม นั่น​จะ​ทำ​ให้​หัวใจ​ของ​ผู้​คน​พอง​โต​และ​ระลึก​ถึง​บท​กวี. ทั้ง​ความ​งาม​และ​ประโยชน์​ใช้สอย​ของ​ต้น​ไม้​นี้​ทำ​ให้​หลาย​คน​ที่​ชื่นชม​มัน​นึก​ถึง​ความ​ปราดเปรื่อง​และ​ความ​เฉลียวฉลาด​ของ​ผู้​ทรง “สร้าง​สรรพสิ่ง​ทั้ง​ปวง” นั่น​คือ​พระเจ้า.—เฮ็บราย 3:4.

[ภาพ​หน้า 16, 17]

ดอก​วอตเทิล​และ​ฝัก​เมล็ด

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

© Australian Tourist Commission

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 15]

Wattle: © Copyright CSIRO Land and Water; stamp: National Philatelic Collection, Australia Post; emblem: Used with permission of the Department of the Prime Minister and Cabinet