การกันดารอาหารครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์—ตำนานแห่งความตายและการอพยพ
การกันดารอาหารครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์—ตำนานแห่งความตายและการอพยพ
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในไอร์แลนด์
ใกล้กับภูเขาโครแพทริก * ซึ่งเป็นภูเขา “บริสุทธิ์” ของไอร์แลนด์ มีเรือประหลาดที่สุดลำหนึ่งตั้งอยู่. เรือลำนี้ดูเหมือนเรือใบลำเล็กแห่งศตวรรษที่ 19 ซึ่งหันหัวเรือไปทิศตะวันตก คือทางมหาสมุทรแอตแลนติก. แต่เรือลำนี้จะไม่มีวันได้ออกทะเล. มันถูกยึดเข้ากับฐานคอนกรีตอย่างแน่นหนา. เรือนี้มีโครงกระดูกมนุษย์จำลองที่สะดุดตาห้อยระโยงระยางท่ามกลางเสากระโดงเรือ.
เรือลำนี้เป็นประติมากรรมโลหะขนาดใหญ่ซึ่งได้เปิดอย่างเป็นทางการในปี 1997 เพื่อระลึกถึงโศกนาฏกรรมที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของไอร์แลนด์ นั่นคือการกันดารอาหารครั้งใหญ่. โครงกระดูกและเรือเป็นสัญลักษณ์แห่งความตายและการอพยพออกจากประเทศของคนเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นลักษณะเด่นของช่วงเวลาอันน่าเศร้าสลดระหว่างปี 1845-1850.
แน่นอน ไอร์แลนด์ไม่ใช่ประเทศเดียวที่ประสบการกันดาร
อาหาร. หลายประเทศก็เคยประสบเช่นเดียวกัน. แต่ในหลายแง่ การกันดารอาหารครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์เป็นเรื่องที่น่าเศร้ายิ่งนัก. ในปี 1845 ไอร์แลนด์มีประชากรประมาณแปดล้านคน. พอถึงปี 1850 อาจมีผู้เสียชีวิตถึงหนึ่งล้านห้าแสนคนเนื่องจากการกันดารอาหาร! อีกหนึ่งล้านคนได้อพยพออกนอกประเทศเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า ส่วนใหญ่ไปบริเตนหรือไม่ก็สหรัฐ. นั่นเป็นการกันดารอาหารครั้งใหญ่ไหม? แน่นอนที่สุด.อะไรทำให้เกิดการกันดารอาหารครั้งใหญ่เช่นนั้น? มีการให้ความช่วยเหลืออะไรบ้างแก่ผู้ประสบภัย? เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากความหายนะครั้งนี้? เพื่อจะเข้าใจคำตอบสำหรับคำถามดังกล่าว ตอนแรกขอให้เราพิจารณาคร่าว ๆ ว่า วิถีชีวิตของชาวไอริชก่อนเกิดการกันดารอาหารเป็นเช่นไร.
ก่อนการกันดารอาหารครั้งใหญ่
พอถึงตอนต้นศตวรรษที่ 19 บริเตนได้ขยายการปกครองออกไปในหลายภูมิภาคของโลก. นั่นรวมถึงไอร์แลนด์ด้วย. ที่ดินส่วนใหญ่ในไอร์แลนด์เป็นของคนอังกฤษ ซึ่งหลายคนอาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษ. เจ้าของที่ดินเหล่านี้ซึ่งไม่ได้อาศัยอยู่ในที่ดินของตัวเองได้ขูดรีดค่าเช่าจากผู้เช่าชาวไอริชและจ่ายค่าแรงให้พวกเขาต่ำ.
ชาวไร่ชาวนารายย่อยนับพันอยู่ด้วยความยากจนข้นแค้น. เมื่อไม่สามารถซื้อเนื้อสัตว์หรืออาหารชนิดอื่น ๆ ได้ ผู้คนจึงปลูกพืชที่มีราคาถูกที่สุด, ปลูกง่ายที่สุด, และให้ผลผลิตมากที่สุดเท่าที่จะหาได้ภายใต้สภาพแวดล้อมเช่นนี้ นั่นคือมันฝรั่ง.
ความสำคัญของมันฝรั่ง
มีการนำมันฝรั่งเข้ามาในไอร์แลนด์เป็นครั้งแรกราว ๆ ปี 1590. การปลูกมันฝรั่งประสบความสำเร็จมากเพราะภูมิอากาศที่ชื้นและอบอุ่นของไอร์แลนด์เหมาะกับการเจริญเติบโตของมันฝรั่ง และมันฝรั่งก็ขึ้นได้แม้แต่ในดินที่มีคุณภาพต่ำมาก. มีการใช้มันฝรั่งเป็นอาหารของทั้งคนและสัตว์. พอถึงตอนกลางศตวรรษที่ 19 เกือบหนึ่งในสามของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดใช้สำหรับการปลูกมันฝรั่ง. เกือบสองในสามของมันฝรั่งเหล่านั้นเป็นอาหารของมนุษย์. โดยทั่วไปแล้ว ผู้ชายชาวไอริชกินมันฝรั่งทุกวัน และแทบไม่กินอย่างอื่นเลย!
เนื่องจากผู้คนจำนวนมากพึ่งมันฝรั่งเป็นอาหารเพียงอย่างเดียว สภาพการณ์เช่นนี้กระตุ้นให้เกิดความหายนะ. จะเกิดอะไรขึ้นถ้าการเพาะปลูกไม่เกิดผล.
ครั้งแรกที่การเพาะปลูกไม่เกิดผล
ก่อนหน้านี้การเพาะปลูกมันฝรั่งเคยไม่เกิดผลมาบ้างแล้ว. มาตรการบรรเทาทุกข์ระยะสั้นแก้ปัญหาได้สำเร็จ และเมื่อผลผลิตในปีถัดไปมีมาก ความลำบากก็ไม่รุนแรงเท่าไร. ดังนั้น เมื่อการปลูกมันฝรั่งล้มเหลวในปี 1845 พวกเจ้าหน้าที่ก็ไม่เห็นว่ามีเหตุผลอะไรที่จะต้องเป็นห่วง.
แต่คราวนี้สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิมมาก. ปัจจุบันเราทราบว่าโรคเชื้อราที่ชื่อ phytophthora infestans ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอีกอย่างว่าโรคใบไหม้ เป็นสาเหตุของความล้มเหลวในการปลูกมันฝรั่งเมื่อปี 1845. เชื้อรานี้ที่มากับอากาศแพร่กระจายอย่างรวดเร็วจากไร่หนึ่งไปยังไร่อื่น ๆ. มันฝรั่งที่ติดเชื้อเน่าตายไปในดิน และกล่าวกันว่ามันฝรั่งที่เก็บไว้ในโรงนาก็ “ละลายหายไป.” เนื่องจากมีการปลูกมันฝรั่งเพียงพันธุ์เดียว พืชผลของทั้งประเทศจึงเป็นโรคนี้. และเนื่องจากหัวมันฝรั่งที่จะนำไปปลูกในปีถัดไปได้มาจากพืช
ผลที่เก็บในปีนั้น เชื้อรานี้จึงยังความหายนะต่อพืชผลในอนาคตด้วย.ครั้งที่สองที่การเพาะปลูกไม่เกิดผล
หัวมันฝรั่งคุณภาพต่ำซึ่งอาจเก็บรักษาไว้ได้ถูกนำไปปลูกในปีถัดไป นั่นคือปี 1846 แต่โรคใบไหม้ก็ทำลายพืชผลของปีที่สองนั้นด้วย. เนื่องจากไม่มีอะไรเหลือให้เก็บเกี่ยวได้ คนงานในไร่หลายคนจึงตกงาน. เจ้าของไร่ไม่สามารถจ่ายค่าแรงให้พวกเขาได้.
รัฐบาลตั้งหน่วยงานบรรเทาทุกข์ขึ้นหลายหน่วย และว่าจ้างคนที่น่าสงสารเหล่านี้หลายคน เพื่อพวกเขาจะหาเลี้ยงครอบครัวได้ โดยส่วนใหญ่จ้างไปสร้างถนน.
บางคนสามารถหางานทำได้ที่สถานสงเคราะห์เท่านั้น. หน่วยงานเหล่านี้ว่าจ้างคนที่สิ้นเนื้อประดาตัว. คนงานได้รับอาหารและที่พักเป็นค่าตอบแทนสำหรับงานที่พวกเขาทำ. งานที่ทำก็หนักมาก. บ่อยครั้งอาหารก็เน่าเสีย และที่พักก็เป็นแบบง่าย ๆ. คนงานบางคนเสียชีวิต.
มาตรการเหล่านี้ช่วยบรรเทาความลำบากได้บ้าง. แต่สถานการณ์แย่ลงอีก. ฤดูหนาวปี 1846/1847 เป็นช่วงที่หนาวจัด และทำให้งานภายนอกส่วนใหญ่ลดน้อยลงไป. หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาลจึงแจกจ่ายอาหารให้ฟรี. อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านไปได้สองปี เงินทุนของรัฐบาลสำหรับงานบรรเทาทุกข์ก็เริ่มหมดไป และความช่วยเหลือที่จัดหามาให้ก็ไม่เพียงพอเลยสำหรับผู้คนที่ร่างกายอ่อนแอซึ่งมีมากขึ้นเรื่อย ๆ. จากนั้นความหายนะอีกอย่างหนึ่งก็โถมกระหน่ำไอร์แลนด์.
เจ้าของที่ดินที่อยู่นอกประเทศ ซึ่งหลายคนก็มีหนี้สินจำนวนมากอยู่แล้ว ยังคงเรียกร้องค่าเช่าต่อไป. ผู้เช่าหลายคนไม่สามารถจ่ายค่าเช่า และผลก็คือ หลายพันคนถูกไล่ออกจากที่ดินของตน. ผู้เช่าบางคนได้แต่ทิ้งที่ดินและเข้าไปในเมืองใหญ่โดยหวังว่าชีวิตจะดีขึ้น. แต่ในเมื่อไม่มีอาหาร, ไม่มีเงิน, และไม่มีบ้าน พวกเขาจะไปที่ไหน? การอพยพจึงเป็นทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่สำหรับผู้คนจำนวนมากขึ้น.
พร้อมใจกันอพยพ
การอพยพออกนอกประเทศไม่ใช่เรื่องใหม่. ตั้งแต่ตอนต้นศตวรรษที่ 18 มีผู้อพยพจำนวนไม่มากที่ย้ายจากไอร์แลนด์ไปยังบริเตนและอเมริกาอยู่เรื่อย ๆ. แต่ภายหลังฤดูหนาวปี 1845 จำนวนไม่มากนั้นกลายเป็นจำนวนมหาศาล! พอถึงปี 1850 มี 26 เปอร์เซ็นต์ของผู้อาศัยอยู่ในนครนิวยอร์กเป็นชาวไอร์แลนด์ และมีพลเมืองที่เป็นชาวไอริชโดยกำเนิดในเมืองนั้นมากกว่าในกรุงดับลิน เมืองหลวงของไอร์แลนด์เสียอีก.
ตลอดช่วงหกปีแห่งการกันดารอาหาร เรือห้าพันลำฝ่าอันตรายเป็นระยะทาง 5,000 กิโลเมตรข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก. เรือหลายลำเก่าทรุดโทรม. บางลำเคยเป็นเรือขนทาสมาก่อน. เรือเหล่านั้นยังถูกใช้เพราะมีเหตุฉุกเฉินเท่านั้น. มีการปรับปรุงเพียงเล็กน้อยในบริเวณที่พักอันคับแคบ. ไม่มีระบบสุขาภิบาล และผู้โดยสารต้องประทังชีวิตด้วยอาหารเพียงเล็กน้อย.
ผู้โดยสารหลายพันคน ซึ่งอ่อนแออยู่แล้วจากการกันดารอาหาร ก็เริ่มป่วย. หลายคนเสียชีวิตขณะอยู่กลางทะเล. ในปี 1847 เรือที่มุ่งหน้าไปแคนาดาหลายลำถูกเรียกว่าเรือหีบศพ. ในจำนวนผู้อพยพประมาณ 100,000 คนที่เดินทางกับเรือเหล่านั้น มีมากกว่า 16,000 คนเสียชีวิตกลางทะเลหรือไม่นานหลังจากขึ้นฝั่งแล้ว. จดหมายที่ส่งกลับมาหามิตรสหายและญาติในไอร์แลนด์บอกเล่าสภาพการณ์ที่อันตรายเหล่านี้ แต่ก็ยังคงมีคนอพยพออกเป็นจำนวนมาก.
เจ้าของที่ดินบางคนให้ความช่วยเหลือคนที่เคยเช่าที่ของตน. ตัวอย่างเช่น เจ้าของที่ดินคนหนึ่งทำสัญญาเช่าเรือสามลำและบริจาคให้ผู้เช่าของเขาหลายพันคน. แต่ผู้อพยพส่วนใหญ่ต้องดิ้นรนหาค่าโดยสารของตนเอง. บ่อยครั้งมีเพียงหนึ่งหรือสองคนจากครอบครัว
ใหญ่หนึ่งครอบครัวที่สามารถซื้อค่าโดยสารได้. ลองนึกภาพความเศร้าสลดที่ท่าเรือเมื่อสมาชิกครอบครัวนับพันคนล่ำลากัน ซึ่งคงจะไม่ได้พบหน้ากันอีกเลย.โรคระบาดและการเพาะปลูกไม่เกิดผลเป็นครั้งที่สาม
หลังจากการปลูกมันฝรั่งล้มเหลวติดต่อกันสองครั้งและการไล่ที่ครั้งใหญ่ ประชากรที่ลดจำนวนลงอย่างมากต้องต่อสู้กับความหายนะอีกอย่างหนึ่ง. โรคระบาด! ไข้รากสาดใหญ่, โรคบิด, โรคลักปิดลักเปิดทำให้มีผู้เสียชีวิตอีกมาก. ผู้รอดชีวิตหลายคนคงคิดว่าสถานการณ์คงจะไม่เลวร้ายไปกว่านี้อีกแล้ว แต่พวกเขาคิดผิด.
ความสำเร็จในการปลูกพืชผลในปี 1847 กระตุ้นให้เกษตรกรปลูกมันฝรั่งเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าในปี 1848. จากนั้นความหายนะก็เกิดขึ้น! ฤดูร้อนปีนั้นมีฝนตกมาก. โรคใบไหม้ระบาดอีกครั้ง. พืชผลเสียหายเป็นครั้งที่สามในสี่ฤดู. หน่วยงานของรัฐบาลและหน่วยงานการกุศลไม่อาจช่วยเหลือได้อีกต่อไป. แม้แต่ตอนนั้น สภาพการณ์เลวร้ายที่สุดยังไม่ยุติลง. ในปี 1849 อหิวาตกโรคก็พร่าชีวิตผู้คนไปอีก 36,000 คน.
ผลที่ตามมา
อย่างไรก็ตาม โรคระบาดครั้งนั้นเป็นจุดเปลี่ยน. การปลูกมันฝรั่งในปีถัดไปเกิดผลดี. สิ่งต่าง ๆ ก็ค่อย ๆ ดีขึ้น. รัฐบาลออกกฎหมายใหม่ซึ่งยกเลิกหนี้สินทั้งหมดที่เกิดจากการกันดารอาหาร. ประชากรเริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นอีกครั้ง. แม้ว่าโรคใบไหม้มีผลกระทบต่อพืชผลอยู่บ้างในปีถัด ๆ ไป แต่ก็ไม่เคยมีอะไรที่จะเทียบได้กับสภาพการณ์อันน่ากลัวซึ่งทำให้ประชากรในไอร์แลนด์ลดลงมากกว่าหนึ่งในสี่ระหว่างช่วงกันดารอาหารที่น่าเศร้าสลดนี้.
ทุกวันนี้ ทั่วทั้งไอร์แลนด์ กำแพงหินที่หักพังและซากของบ้านหลายหลังเป็นเครื่องเตือนใจที่น่าหดหู่ถึงสมัยแห่งความยากลำบากซึ่งยังผลให้ชาวไอริชพากันอพยพย้ายถิ่น. ในสหรัฐเพียงประเทศเดียว มากกว่า 40 ล้านคนอ้างได้ว่ามีเชื้อสายชาวไอริช. ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี รวมทั้งเฮนรี ฟอร์ด ผู้ประดิษฐ์รถยนต์ฟอร์ด มีเชื้อสายโดยตรงมาจากผู้อพยพซึ่งลงเรือมาจากไอร์แลนด์ในช่วงกันดารอาหาร.
แน่นอน การเพาะปลูกมันฝรั่งซึ่งไม่เกิดผลครั้งแล้วครั้งเล่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเรื่องราวอันน่าเศร้าสลดแห่งความตายและการอพยพออกจากประเทศ. ปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือสิ่งที่ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลในสมัยโบราณพรรณนาไว้ว่า “มนุษย์ใช้อำนาจเหนือมนุษย์อย่างที่ก่อผลเสียหายแก่เขา.” (ท่านผู้ประกาศ 8:9, ล.ม.) น่ายินดีที่เราได้รับการรับรองจากคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระเจ้าที่ว่า พระผู้สร้างแผ่นดินโลกและผลผลิตทั้งสิ้นบนแผ่นดินโลกจะทรงก่อตั้งโลกใหม่ที่เป็นอุทยาน และนำมาซึ่งสันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองถาวรมาสู่ทุกคน. (2 เปโตร 3:13) นอกจากนั้น ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญในสมัยโบราณบอกล่วงหน้าไว้ด้วยว่า “ธัญญาหารจะบริบูรณ์บนแผ่นดิน; ต้นไม้บนยอดเขาจะมีผลดก.”—บทเพลงสรรเสริญ 72:16, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 ดูหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 เมษายน 1995 หน้า 26-28.
[ภาพหน้า 14]
อนุสาวรีย์การกันดารอาหารครั้งใหญ่
[ภาพหน้า 15]
การค้นหามันฝรั่ง ดังที่ลงภาพไว้ใน “อิลลัสเทรตเตด ลอนดอน นิวส์” ฉบับ 22 ธันวาคม 1849
[ภาพหน้า 16]
การแจกจ่ายเสื้อผ้าให้ครอบครัวที่ยากจน
[ที่มาของภาพ]
and page 15: From the newspaper The Illustrated London News, December 22, 1849
[ภาพหน้า 16, 17]
“เรือผู้อพยพ” (ภาพวาดโดยชาลส์ เจ. สตานิแลนด์ ราว ๆ ปี 1880)
[ที่มาของภาพ]
Bradford Art Galleries and Museums, West Yorkshire, UK/Bridgeman Art Library
[ภาพหน้า 17]
ซากของบ้านหลายหลังเป็นเครื่องเตือนใจที่น่าหดหู่ถึงสมัยแห่งความยากลำบากที่เกิดจากปีแห่งการกันดารอาหาร
[ที่มาของภาพหน้า 14]
Top sketch: Courtesy of the “Views of the Famine” Web site at http://vassun.vassar.edu/˜sttaylor/FAMINE