โบราณคดี—จำเป็นสำหรับความเชื่อไหม?
ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล
โบราณคดี—จำเป็นสำหรับความเชื่อไหม?
ในปี 1873 นักเทศน์ชาวอังกฤษชื่อแซมมูเอล แมนนิง เขียนเกี่ยวกับกรุงเยรูซาเลมว่า “เนื่องจากถูกดึงดูดโดยความงามอย่างที่ไม่อาจห้ามใจได้ ผู้จาริกแสวงบุญหลั่งไหลเข้าไปที่นั่นจากสุดปลายแผ่นดินโลกจริง ๆ. กำแพงที่พังทลาย, ถนนที่สกปรกและชำรุดทรุดโทรม, ซากปรักหักพังต่าง ๆ ล้วนได้รับความนับถือจากมนุษย์หลายล้านคนพร้อมด้วยความเคารพยำเกรงอันลึกซึ้ง อย่างที่ไม่มีสถานที่ใดบนแผ่นดินโลกเทียบได้.”
ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ดึงดูดให้ผู้คนไปเยือนอย่างน้อยก็นับตั้งแต่สมัยจักรพรรดิคอนสแตนตินชาวโรมัน. * เป็นเวลาประมาณ 1,500 ปีที่นักแสวงบุญสัญจรมา โดยพยายามสัมผัสกับดินแดนศักดิ์สิทธิ์ด้วยตัวเองโดยมีจุดประสงค์ทางศาสนา. กระนั้น น่าแปลกใจที่ต้นศตวรรษที่ 19 นี้เอง ผู้คงแก่เรียนถึงได้เริ่มเดินทางมาพร้อมกับเหล่าผู้แสวงบุญ นี่จึงเป็นการเปิดยุคแห่งโบราณคดีด้านคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งก็คือการศึกษาเกี่ยวกับวัตถุ, ผู้คน, สถานที่, และภาษาในดินแดนศักดิ์สิทธิ์โบราณ.
การค้นพบของนักโบราณคดีทำให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับสมัยคัมภีร์ไบเบิลเพิ่มขึ้นในหลายแง่มุม. นอกจากนั้น บันทึกทางโบราณคดีก็มักจะสอดคล้องลงรอยกับประวัติศาสตร์ที่จารึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล. แต่ความรู้ดังกล่าวจำเป็นสำหรับความเชื่อของคริสเตียนไหม? เพื่อจะตอบคำถามนี้ ให้เรามุ่งความสนใจไปยังสถานที่ซึ่งมีการขุดค้นทางโบราณคดีหลายครั้งหลายคราว นั่นคือกรุงเยรูซาเลมและพระวิหารในกรุงนั้น.
“ศิลาที่ซ้อนทับกันอยู่ที่นี่ซึ่งจะไม่ถูกทำลายลงก็หามิได้”
ในวันที่ 11 เดือนไนซานฤดูใบไม้ผลิปี ส.ศ. 33 ตามปฏิทินของชาวยิว พระเยซูคริสต์มาระโก 13:1.
ออกจากกรุงเยรูซาเลมเป็นครั้งสุดท้ายพร้อมกับสาวกบางคน. ขณะที่พวกเขามุ่งหน้าไปยังภูเขามะกอกเทศ สาวกคนหนึ่งกล่าวว่า “อาจารย์เจ้าข้า, ขอพระองค์ทอดพระเนตรดูศิลาและตึกใหญ่เหล่านี้.”—คนยิวที่ซื่อสัตย์เหล่านี้รู้สึกรักพระเจ้าและพระวิหารของพระองค์ยิ่งนัก. พวกเขาภูมิใจในชุดอาคารที่งามสง่าเหล่านี้และประเพณีที่สืบต่อกันมานานถึง 1,500 ปีซึ่งวิหารนี้เป็นเครื่องหมายแสดงถึง. คำตอบที่พระเยซูให้แก่เหล่าสาวกเป็นสิ่งที่น่าตกใจมาก: “ท่านเห็นตึกใหญ่เหล่านี้หรือ ศิลาที่ซ้อนทับกันอยู่ที่นี่ซึ่งจะไม่ถูกทำลายลงก็หามิได้.”—มาระโก 13:2.
ในเมื่อตอนนี้พระมาซีฮาที่ทรงสัญญาไว้เสด็จมาแล้ว พระเจ้าจะปล่อยให้พระวิหารของพระองค์เองถูกทำลายได้อย่างไร? เหล่าสาวกของพระเยซูต้องได้รับความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์จึงจะค่อย ๆ เข้าใจว่าพระองค์หมายความอย่างไรอย่างเต็มที่. แต่คำตรัสของพระเยซูเกี่ยวข้องอะไรกับโบราณคดีด้านคัมภีร์ไบเบิล?
“เมือง” ใหม่
ในวันเพนเตคอสต์ปี ส.ศ. 33 ชาติยิวสูญเสียฐานะอันเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า. (มัดธาย 21:43) ผลก็คือ ชาติยิวถูกแทนที่ด้วยสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่ามาก นั่นคือรัฐบาลฝ่ายสวรรค์ซึ่งจะนำพระพรมาสู่มนุษยชาติทั้งมวล. (มัดธาย 10:7) สมจริงตามคำพยากรณ์ของพระเยซู กรุงเยรูซาเลมและพระวิหารถูกทำลายในปี ส.ศ. 70. โบราณคดีสนับสนุนบันทึกของคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับเหตุการณ์เหล่านี้. แต่สำหรับคริสเตียนแล้ว ความเชื่อไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ามีการค้นพบซากของพระวิหารโบราณนั้นหรือไม่. ความเชื่อของพวกเขารวมจุดอยู่ที่เยรูซาเลมอีกแห่งหนึ่ง ทว่าเป็นเมืองที่ต่างออกไป.
ในปี ส.ศ. 96 อัครสาวกโยฮัน ซึ่งได้ยินคำพยากรณ์ของพระเยซูเรื่องพินาศกรรมของกรุงเยรูซาเลมและพระวิหาร และเป็นผู้ที่มีชีวิตอยู่จนเห็นความสำเร็จของคำพยากรณ์นั้น ได้รับนิมิตดังต่อไปนี้: “ข้าพเจ้าได้เห็นเมืองบริสุทธิ์คือเมืองยะรูซาเลมใหม่เลื่อนลอยลงมาจากสวรรค์แต่พระเจ้า.” พระสุรเสียงจากพระที่นั่งตรัสว่า “พระองค์จะสถิตอยู่กับ [มนุษยชาติ], เขาจะเป็นพลเมืองของพระองค์, พระเจ้าเองจะดำรงอยู่กับเขา, และจะทรงเป็นพระเจ้าของเขา และพระเจ้าจะทรงเช็ดน้ำตาทุก ๆ หยดจากตาของเขา ความตายจะไม่มีต่อไป การคร่ำครวญและร้องไห้และการเจ็บปวดอย่างหนึ่งอย่างใดจะไม่มีอีกเลย.”—วิวรณ์ 21:2-4.
“เมือง” นี้ประกอบด้วยเหล่าคริสเตียนผู้ซื่อสัตย์ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นกษัตริย์ร่วมกับพระคริสต์ในสวรรค์. พวกเขากับพระคริสต์จะเป็นรัฐบาลฝ่ายสวรรค์ หรือราชอาณาจักรของพระเจ้า ซึ่งจะครอบครองทั่วทั้งแผ่นดินโลก และนำเผ่าพันธุ์มนุษย์กลับสู่ความสมบูรณ์ระหว่างรัชสมัยพันปี. (มัดธาย 6:10; 2 เปโตร 3:13) คริสเตียนชาวยิวในศตวรรษแรกซึ่งจะร่วมอยู่ในกลุ่มนั้นตระหนักว่า ไม่มีอะไรที่พวกเขาเคยมีในระบบของยิวจะเทียบได้กับสิทธิพิเศษในการปกครองร่วมกับพระคริสต์ในสวรรค์.
เมื่อเขียนเกี่ยวกับฐานะอันโดดเด่นในลัทธิยูดายซึ่งท่านเคยมีในอดีต อัครสาวกเปาโลกล่าวแทนคริสเตียนทั้งหมดว่า “สิ่งใด ๆ ที่เป็นคุณประโยชน์แก่ข้าพเจ้า, ข้าพเจ้าถือว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นที่ไร้ประโยชน์แล้วเพราะเห็นแก่พระคริสต์. แท้จริง ข้าพเจ้าถือว่าสิ่งสารพัตรเป็นที่ไร้ประโยชน์เพราะเห็นแก่ความประเสริฐแห่งความรู้ถึงพระเยซูคริสต์เจ้าของข้าพเจ้า.”—ฟิลิปปอย 3:7, 8.
เนื่องจากอัครสาวกเปาโลมีความนับถืออย่างสูงต่อพระบัญญัติของพระเจ้าและการจัดเตรียมเรื่องพระวิหาร จึงเป็นที่แน่นอนว่า ถ้อยคำของท่านไม่ได้หมายความว่าควรดูถูกการจัดเตรียมเหล่านี้จากพระเจ้า. * (กิจการ 21:20-24) เปาโลเพียงแต่แสดงให้เห็นว่าการจัดเตรียมสำหรับคริสเตียนนั้นเหนือกว่าระบบของยิว.
ไม่ต้องสงสัย เปาโลและคริสเตียนชาวยิวคนอื่น ๆ ในศตวรรษแรกมีความรู้โดยเฉพาะในรายละเอียดอันน่าประทับใจหลายเรื่องเกี่ยวกับระบบยิว. และเนื่องจากโบราณคดีทำให้เรื่องราวในอดีตกระจ่างชัดขึ้น คริสเตียนในปัจจุบันจึงสามารถเข้าใจรายละเอียดบางอย่างเหล่านั้นได้. กระนั้น ขอสังเกตว่าเปาโลบอกให้ชายหนุ่มติโมเธียวมุ่งสนใจสิ่งใดเป็นหลัก: “จงเอาใจใส่ในข้อความเหล่านี้ [เรื่องเกี่ยวกับประชาคมคริสเตียน] ฝังตัวท่านไว้ในการนี้ทีเดียว เพื่อความจำเริญของท่านจะได้ปรากฏแจ้งแก่คนทั้งปวง.”—1 ติโมเธียว 4:15.
น่ายินดีที่โบราณคดีด้านคัมภีร์ไบเบิลทำให้เราเข้าใจภูมิหลังของคัมภีร์ไบเบิลมากขึ้น. แต่คริสเตียนตระหนักว่าความเชื่อของพวกเขาไม่ได้ขึ้นอยู่กับหลักฐานที่มนุษย์ขุดพบ แต่ขึ้นอยู่กับคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระเจ้า.—1 เธซะโลนิเก 2:13; 2 ติโมเธียว 3:16, 17.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 4 ทั้งคอนสแตนตินและพระนางเฮเลนา พระมารดาของพระองค์ สนใจในการระบุตำแหน่งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของกรุงเยรูซาเลม. พระนางเฮเลนาไปเยือนกรุงเยรูซาเลมด้วยพระองค์เอง. คนอื่นอีกหลายคนทำอย่างเดียวกันกับพระนางในหลายศตวรรษต่อมา.
^ วรรค 15 ในชั่วระยะหนึ่ง คริสเตียนชาวยิวในศตวรรษแรกที่กรุงเยรูซาเลมได้ปฏิบัติตามพระบัญญัติของโมเซในแง่ต่าง ๆ คงจะเนื่องจากเหตุผลดังต่อไปนี้. พระบัญญัตินี้มาจากพระยะโฮวา. (โรม 7:12, 14) พระบัญญัติเป็นประเพณีที่ฝังรากลึกท่ามกลางชาวยิว. (กิจการ 21:20) พระบัญญัติเป็นกฎหมายของประเทศ และการต่อต้านใด ๆ ที่มีต่อพระบัญญัติจะเป็นเหตุให้เกิดการต่อต้านข่าวสารของคริสเตียนโดยไม่จำเป็น.
[ภาพหน้า 18]
บน: เยรูซาเลมในปี 1920; เหรียญโรมันที่ชาวยิวใช้ ส.ศ. 43; ผลทับทิมทำจากงาช้าง อาจมาจากพระวิหารของซะโลโม ศตวรรษที่แปดก่อน ส.ศ.
[ที่มาของภาพ]
Pages 2 and 18: Coin: Photograph © Israel Museum, Jerusalem; courtesy of Israel Antiquities Authority; pomegranate: Courtesy of Israel Museum, Jerusalem