ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คุณเห็นความแตกต่างไหม?

คุณเห็นความแตกต่างไหม?

คุณ​เห็น​ความ​แตกต่าง​ไหม?

“นี่​คือ​เปียโน!” “ไม่​ใช่ ผม​ว่า​มัน​ดู​เหมือน​ซินธิไซเซอร์​มาก​กว่า.” “นั่น​คือ​ออร์แกน​แน่ ๆ!” “ไม่​ใช่ คุณ​เข้าใจ​ผิด​แล้ว มัน​คือ​ฮาร์ปซิคอร์ด.” แล้ว​มัน​คือ​อะไร​กัน​แน่?

จริง ๆ แล้ว คีย์บอร์ด​ของ​เครื่อง​ดนตรี​ทุก​ชนิด​ที่​กล่าว​มา​มี​ลักษณะ​คล้าย​กัน​อยู่​บ้าง. แต่​เสียง​ที่​เกิด​จาก​เครื่อง​ดนตรี​เหล่า​นี้​และ​วิธี​ที่​ทำ​ให้​เกิด​เสียง​นั้น​เมื่อ​มี​การ​กด​คีย์​อาจ​แตกต่าง​กัน​อย่าง​มาก. ถ้า​อย่าง​นั้น เครื่อง​ดนตรี​ประเภท​คีย์บอร์ด​มี​ต้น​กำเนิด​และ​ได้​รับ​การ​พัฒนา​ขึ้น​อย่าง​ไร? ให้​เรา​มา​ดู​ความ​เป็น​มา​ของ​เครื่อง​ดนตรี​ประเภท​นี้​ตลอด​หลาย​ศตวรรษ​ที่​ผ่าน​มา.

อีทรัฟลุส​คือ​อะไร?

เชื่อ​กัน​ว่า​เครื่อง​ดนตรี​ประเภท​คีย์บอร์ด​ที่​เก่า​แก่​ที่​สุด​เท่า​ที่​รู้​จัก​กัน​นั้น​คือ​อีทรัฟลุส หรือ​ออร์แกน​น้ำ. คาด​ว่า​เครื่อง​ดนตรี​นี้​ถูก​สร้าง​ขึ้น​โดย คทีซีวีออส วิศวกร​ชาว​อะเล็กซานเดรีย ใน​ช่วง​ครึ่ง​แรก​ของ​ศตวรรษ​ที่​สาม​ก่อน ส.ศ. หนังสือ​เครื่อง​ดนตรี​ของ​ทาง​ตะวัน​ตก (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “มี​การ​สูบ​ลม . . . เข้า​ไป​ใน​ภาชนะ​ที่​มี​รู (พนีเยฟส์) ซึ่ง​ตั้ง​อยู่​ใน​ถัง​น้ำ และ​จาก​พนีเยฟส์ ลม​ก็​ถูก​ดัน​ต่อ​ไป​ที่​ตู้​เก็บ​ลม​ซึ่ง​อยู่​ด้าน​ล่าง​ของ​ท่อ [ที่​เรียง​เป็น​ตับ] แรง​ดัน​จาก​น้ำ​ทำ​ให้​ลม​ถูก​ปล่อย​ออก​มา​อย่าง​สม่ำเสมอ.” ท่อ​ต่าง ๆ ส่ง​เสียง​เนื่อง​จาก​ตัว​เลื่อน​ซึ่ง​ถูก​ควบคุม​ด้วย​คีย์​ขนาด​ใหญ่​หลาย​คีย์. เนื่อง​จาก​เสียง​ที่​ได้​นั้น​ดัง​แสบ​แก้ว​หู อีทรัฟลุส​จึง​เหมาะ​กับ​การ​แสดง​ใน​โรง​มหรสพ, งาน​ออก​ร้าน, และ​งาน​แสดง​กลางแจ้ง. อีทรัฟลุส​ได้​รับ​ความ​นิยม​สูง​สุด​ใน​สมัย​จักรวรรดิ​โรมัน และ​แม้​แต่​จักรพรรดิ​เนโร​ก็​ได้​รับ​การ​กล่าว​ขาน​ว่า​เล่น​เครื่อง​ดนตรี​นี้​ได้​อย่าง​ชำนาญ.

ทำไม​ต้อง​มี​ออร์แกน​อัด​อากาศ?

เมื่อ​วิธี​อัด​ความ​ดัน​น้ำ​ถูก​แทน​ที่​ด้วย​สูบ​ลม​หนัง​จีบ​ซึ่ง​เป่า​ลม​ภาย​ใต้​ความ​ดัน ยุค​แห่ง​ออร์แกน​ลม​จึง​เริ่ม​ขึ้น. สูบ​ลม​หนัง​จีบ​ทำ​ให้​ผู้​เล่น​สามารถ​นั่ง​ที่​เครื่อง​ดนตรี และ​ใช้​เท้า​หรือ​มือ​สูบ​ลม​ได้. มี​การ​พบ​ซาก​โบราณ​ของ​ออร์แกน​ลม​ซึ่ง​มี​อายุ​ตั้ง​แต่​สมัย​ศตวรรษ​ที่​สาม ส.ศ. และ​มี​การ​ใช้​ออร์แกน​นี้​อย่าง​แพร่​หลาย​ใน​ช่วง​หลาย​ร้อย​ปี​ต่อ​มา. เนื่อง​จาก​ยัง​มี​การ​ใช้​คีย์บอร์ด​แบบ​ง่าย ๆ ทำนอง​เพลง​ต่าง ๆ จึง​เล่น​ได้​ใน​จังหวะ​ที่​ช้า​มาก​เท่า​นั้น. ที่​เป็น​เช่น​นี้​เนื่อง​จาก​ขนาด​ของ​แต่​ละ​คีย์​จะ​ต้อง​ได้​สัดส่วน​กับ​ท่อ​ออร์แกน​ของ​มัน. เพื่อ​จะ​เล่น​โน้ต​เสียง​ต่ำ ผู้​เล่น​อาจ​ต้อง​ใช้​ทั้ง​มือ​หรือ​กระทั่ง​ใช้​หมัด​เพื่อ​จะ​กด​คีย์​ขนาด​ใหญ่​ลง​ได้.

พอ​ถึง​ศตวรรษ​ที่ 14 ออร์แกน​แทบ​จะ​กลาย​เป็น “เครื่อง​ดนตรี​สำหรับ​ใช้​เฉพาะ​ใน​โบสถ์​ทาง​ยุโรป​ตะวัน​ตก.” (สารานุกรม​ดนตรี [ภาษา​อังกฤษ]) การ​พัฒนา​กลไก​แกน​กลิ้ง​ได้​ทำ​ให้​คีย์บอร์ด​ออร์แกน​เปลี่ยน​รูป​ร่าง​และ​การ​ทำ​งาน​ไป​อย่าง​มาก. กลไก​นี้​ทำ​ให้​สามารถ​ติด​ตั้ง​ท่อ​ต่าง ๆ ห่าง​จาก​คีย์บอร์ด​และ​ทำ​ให้​คีย์​แคบ​ลง​ด้วย. ใน​ที่​สุด ก็​สามารถ​ใช้​เพียง​นิ้ว​เดียว​ใน​การ​กด​แต่​ละ​คีย์ ผู้​เล่น​จึง​สามารถ​เล่น​เพลง​เร็ว ๆ ได้​อย่าง​นิ่มนวล. โมซาร์ท​ชอบ​ออร์แกน​มาก​ถึง​ขนาด​ที่​เขา​เรียก​มัน​ว่า เจ้า​แห่ง​เครื่อง​ดนตรี.

คีย์บอร์ด​แบบ​ใช้​สาย​รุ่น​แรก ๆ

คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ถึง​เครื่อง​ดนตรี​ประเภท​เครื่อง​สาย​เป็น​ครั้ง​แรก​ที่​เยเนซิศ 4:21 (ดู​ฉบับ​แปล​ใหม่) และ​มี​การ​กล่าว​ถึง​เครื่อง​สาย​หลาย​ครั้ง​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ชาติ​อิสราเอล. แต่​จน​กระทั่ง​ราว ๆ ศตวรรษ​ที่ 15 ส.ศ. การ​ผสมผสาน​ระหว่าง​เครื่อง​สาย (ปกติ​ใช้​นิ้ว​ดีด​หรือ​ใช้​ค้อน​หรือ​ไม้​เคาะ) กับ​คีย์บอร์ด​จึง​ได้​เกิด​ขึ้น. คีย์บอร์ด​ที่​เรา​รู้​จัก​กัน​ใน​ปัจจุบัน​ปรากฏ​ขึ้น​ครั้ง​แรก​ที่​เครื่อง​ดนตรี​ซึ่ง​เรียก​ว่า​คลาวิคอร์ด. เครื่อง​ดนตรี​ชนิด​นี้​เป็น​แบบ​เรียบ​ง่าย ซึ่ง​ดู​เหมือน​กล่อง​และ​มี​สาย​เสียง​ขึง​จาก​ซ้าย​ไป​ขวา. เมื่อ​ผู้​เล่น​กด​คีย์ ลิ้น​ทองเหลือง​จะ​กระดก​ขึ้น​และ​เคาะ​สาย​เสียง​จาก​ด้าน​ล่าง.

จาก​นั้น​ก็​มี​ฮาร์ปซิคอร์ด, สพิเนต, และ​เวอร์จินัล. * เครื่อง​ดนตรี​เหล่า​นี้ โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ฮาร์ปซิคอร์ด ได้​กลาย​มา​เป็น​เครื่อง​ดนตรี​คีย์บอร์ด​ซึ่ง​มี​ความ​สำคัญ​ที่​สุด​ระหว่าง​ศตวรรษ​ที่ 16 และ 17. กลไก​แบบ​ใหม่​ของ​ฮาร์ปซิคอร์ด​ถือ​เป็น​การ​เปลี่ยน​แปลง​ขนาน​ใหญ่. หนังสือ​ประวัติศาสตร์​ของ​เครื่อง​ดนตรี (ภาษา​อังกฤษ) พรรณนา​เครื่อง​ดนตรี​ชนิด​นี้​ว่า “สาย​เสียง​จะ​ถูก​ดีด​ด้วย​ก้าน​ขน​นก​แทน​ที่​จะ​ถูก​เคาะ​ด้วย​ลิ้น​โลหะ​เหมือน​คลาวิคอร์ด. ตอน​ปลาย​ของ​คีย์​แต่​ละ​คีย์​มี​แกน​ตั้ง​อัน​หนึ่ง ซึ่ง​ก็​คือ​แท่ง​ไม้​อัน​เล็ก ๆ ที่​ตั้ง​อยู่ ซึ่ง​จาก​แกน​ตั้ง​อัน​นี้​จะ​มี​ก้าน​ขน​นก​หรือ​ลิ้น​หนัง​สั้น ๆ ยื่น​ออก​มา. . . . เมื่อ​กด​คีย์ แกน​ตั้ง​ก็​จะ​ถูก​ดัน​ขึ้น ทำ​ให้​ก้าน​ขน​นก​ดีด​ที่​สาย​เสียง จาก​นั้น​ด้วย​อุปกรณ์​สปริง มัน​จึง​ตก​ลง​มา​โดย​ไม่​โดน​สาย​เสียง​ซ้ำ​อีก.”

กลไก​แบบ​ใหม่​ทำ​ให้​ฮาร์ปซิคอร์ด​มี​เสียง​ที่​แปลก​ไม่​เหมือน​ใคร. อดีต​นัก​เปียโน​คอนเสิร์ต​คน​หนึ่ง​พรรณนา​เสียง​ของ​ฮาร์ปซิคอร์ด​ว่า​ต่าง​จาก​เสียง​เปียโน​สมัย​ใหม่​ดัง​นี้: “มัน​มี​เสียง​ใส, แหลม, และ​ไม่​กังวาน.”

รูป​แบบ​ของ​ฮาร์ปซิคอร์ด​เปลี่ยน​แปลง​ไป​มาก​เมื่อ​เวลา​ผ่าน​ไป. รุ่น​แรก ๆ มี​คีย์บอร์ด​เพียง​หนึ่ง​แผง​และ​มี​สาย​เสียง​เพียง​สาย​เดียว​สำหรับ​แต่​ละ​คีย์. ต่อ​มา รุ่น​ที่​ประณีต​บรรจง​มาก​ขึ้น​ก็​มี​คีย์บอร์ด​สอง​แผง, มี​สาย​เสียง​หลาย​สาย​สำหรับ​แต่​ละ​คีย์, และ​มี​อุปกรณ์​อื่น ๆ สำหรับ​ปรับ​เสียง. นัก​แต่ง​เพลง​ผู้​ยิ่ง​ใหญ่​ใน​ยุค​นั้น อาทิ โยฮันน์ เซบาสเทียน บาค (1685-1750) และ​โดเมนีโก สการ์ลาตตี (1685-1757) ใช้​ประโยชน์​อย่าง​เต็ม​ที่​จาก​เสียง​และ​ความ​สามารถ​ทาง​เทคนิค​ของ​ฮาร์ปซิคอร์ด​และ​ได้​แต่ง​เพลง​อัน​ไพเราะ​มาก​มาย ซึ่ง​ส่วน​ใหญ่​ก็​ยัง​มี​การ​เล่น​กัน​จน​ถึง​สมัย​ของ​เรา.

แอคคอร์เดียน​ถูก​พัฒนา​ขึ้น​ใน​ศตวรรษ​ที่ 19 และ​เปียโน​แอคคอร์เดียน​เป็น​ที่​นิยม​กัน​เป็น​พิเศษ​ใน​ศตวรรษ​ที่ 20. เครื่อง​ดนตรี​ชนิด​นี้​เป็น​การ​ผสมผสาน​กัน​ระหว่าง​คีย์บอร์ด​กับ​เครื่อง​เป่า เนื่อง​จาก​มัน​มี​สูบ​ลม​หนัง​จีบ​ซึ่ง​จะ​ดัน​ลม​ผ่าน​ให้​ลิ้น​สั่น. แอคคอร์เดียน​สมัย​ใหม่​มี​เสียง​ต่ำ​สุด​ถึง 140 เสียง​ซึ่ง​ควบคุม​โดย​ปุ่ม​เจ็ด​แถว​และ​ช่วง​คีย์บอร์ด​ซึ่ง​ครอบ​คลุม​ตั้ง​แต่​สอง​ถึง​สี่​เสียง​คู่​แปด.

ยุค​เครื่อง​ดนตรี​ไฟฟ้า

ศตวรรษ​ที่ 20 เริ่ม​เข้า​สู่​ยุค​ของ​คีย์บอร์ด​ไฟฟ้า. คีย์บอร์ด​ไฟฟ้า​ที่​เก่า​แก่​ที่​สุด​คือ​เทลฮาร์โมเนียม ซึ่ง​ถูก​พัฒนา​ขึ้น​ใน​ปี 1906 โดย​แทดดีอัส เคฮิลล์. ออร์แกน​ไฟฟ้า​ปรากฏ​ขึ้น​ใน​ทศวรรษ​ปี 1930 และ​ไม่​นาน​ก็​ตาม​มา​ด้วย​ฮาร์ปซิคอร์ด​ไฟฟ้า​และ​เปียโน​ไฟฟ้า. เครื่อง​ดนตรี​เหล่า​นี้​แตกต่าง​จาก​กลไก​ของ​อีทรัฟลุส​โดย​สิ้นเชิง เมื่อ​มี​การ​กด​คีย์​หนึ่ง​ใน​ออร์แกน​ไฟฟ้า สัญญาณ​อิเล็กทรอนิกส์​จะ​ก่อ​ให้​เกิด​เสียง ซึ่ง​จะ​ถูก​ปรับ​แต่ง​และ​ขยาย.

คีย์บอร์ด​ไฟฟ้า​ซึ่ง​เป็น​ที่​นิยม​กัน​มาก​ที่​สุด​ชนิด​หนึ่ง​ใน​ปัจจุบัน​คือ​ซินธิไซเซอร์ ซึ่ง​เริ่ม​มี​การ​พัฒนา​ขึ้น​ใน​ทศวรรษ​ปี 1940 และ​กลาย​มา​เป็น​เครื่อง​ดนตรี​พื้น​ฐาน​ซึ่ง​วง​ดนตรี​สมัย​ใหม่​ส่วน​ใหญ่​นิยม​ใช้. เมื่อ​มี​การ​กด​คีย์​หนึ่ง​ของ​ซินธิไซเซอร์ เรา​สามารถ​ได้​ยิน​เสียง​แทบ​ทุก​อย่าง​เท่า​ที่​จะ​จินตนาการ​ได้ ตั้ง​แต่​สุนัข​เห่า​ไป​จน​ถึง​วง​ซิมโฟนี​ออร์เคสตรา.

ไม่​น่า​แปลก​ใจ คอมพิวเตอร์​ก็​มี​บทบาท​เด่น​ใน​ดนตรี​สมัย​ใหม่​ด้วย. เครื่อง​ซินธิไซเซอร์​ใน​ปัจจุบัน​มัก​มี​คอมพิวเตอร์​เป็น​ส่วน​ประกอบ หรือ​ไม่​คอมพิวเตอร์​ก็​ถูก​ใช้​เป็น​เครื่อง​กำเนิด​เสียง และ​ตัว​มัน​เอง​จึง​เป็น​เครื่อง​ดนตรี. แม้​ว่า​มัก​มี​การ​ใช้​คีย์บอร์ด​ดนตรี​ใน​การ​ควบคุม​คอมพิวเตอร์ แต่​นัก​ดนตรี​ใน​ปัจจุบัน​ก็​มี​ทาง​เลือก​ที่​จะ​ตั้ง​โปรแกรม​คอมพิวเตอร์​ของ​เขา​ด้วย​เมาส์​หรือ​แป้น​พิมพ์​คอมพิวเตอร์​แบบ​มาตรฐาน. “ปัจจุบัน​ห้อง​อัดเสียง​เกือบ​ทุก​แห่ง​มี​อุปกรณ์​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​คอมพิวเตอร์​มาก​มาย. ดนตรี​จะ​ถูก​บันทึก​ด้วย​ระบบ​ดิจิตอล​ลง​ใน​ฮาร์ดดิสก์​แล้ว​จะ​ถูก​ปรับ​แต่ง​ด้วย​แผง​ควบคุม​การ​มิกซ์​เสียง​โดย​ใช้​ซอฟต์แวร์​ที่​ล้ำ​หน้า​ก่อน​ที่​ดนตรี​ขั้น​สุด​ท้าย​จะ​ถูก​อัด​มาสเตอร์​ลง​บน​เทป​บันทึก​เสียง​ระบบ​ดิจิตอล.”—สารานุกรม​ดนตรี.

พัฒนาการ​ล่า​สุด​นี้​หมาย​ความ​ว่า​เครื่อง​ดนตรี​ประเภท​คีย์บอร์ด​ใกล้​จะ​ถึง​จุด​จบ​แล้ว​ไหม? ไม่​น่า​จะ​เป็น​เช่น​นั้น เมื่อ​เรา​นึก​ถึง​ความ​เรียบ​ง่าย​ที่​ได้​อารมณ์​ใน​บทเพลง​ของ​เบโทเฟน เช่น “มูนไลท์โซนาตา,” “เฟือร์เอลิเซ” หรือ​เพลง “เคลร์เดอลูน” ของ​เดอบุสซี. แต่​เมื่อ​คิด​ย้อน​ถึง​เครื่อง​ดนตรี​ประเภท​คีย์บอร์ด​ซึ่ง​มี​ประวัติ​ยาว​นาน​หลาย​ร้อย​ปี รวม​ถึง​ผล​กระทบ​ที่​มัน​มี​ต่อ​ชีวิต​ของ​ผู้​คน​หลาย​ล้าน​คน เรา​ก็​ถูก​กระตุ้น​ให้​ตระหนัก​ว่า​คีย์บอร์ด​มี​ส่วน​อย่าง​มาก​ใน​โลก​ของ​ดนตรี​และ​ความ​สุข​ของ​มนุษย์​มา​หลาย​ยุค​หลาย​สมัย.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 11 เวอร์จินัล​มี​อายุ​ตั้ง​แต่​ศตวรรษ​ที่ 15 มี​สาย​เสียง​โลหะ 32 เส้น และ​เป็น​คลาวิคอร์ด​แบบ​หนึ่ง แต่​มี​เสียง​เหมือน​ฮาร์ปซิคอร์ด. สพิเนต​เป็น​ฮาร์ปซิคอร์ด​รุ่น​เล็ก.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 20, 21]

ทำไม​ต้อง​มี​เปียโน​ฟอร์เต?

ใน​ช่วง 25 ปี​สุด​ท้าย​แห่ง​ศตวรรษ​ที่ 18 ฮาร์ปซิคอร์ด​ก็​ค่อย ๆ ถูก​แทน​ที่​ด้วย​เครื่อง​ดนตรี​คีย์บอร์ด​ซึ่ง​ถือ​กัน​ว่า​ยอด​เยี่ยม​ที่​สุด นั่น​คือ​เปียโน​ฟอร์เต หรือ​ที่​รู้​จัก​กัน​ทั่ว​ไป​ว่า เปียโน. เครื่อง​ดนตรี​ชนิด​นี้​ได้​ชื่อ​มา​อย่าง​ไร? มี​การ​ถก​กัน​มาก​ว่า​ใคร​เป็น​ผู้​ประดิษฐ์​เปียโน​ขึ้น​และ​ประดิษฐ์​เมื่อ​ไร แต่​ชาว​อิตาลี​ชื่อ บาร์​โต​โล​เม​โอ กริสโตโฟรี ได้​ทำ​การ​ทดลอง​กับ​เปียโน​ฟอร์เต​ใน​ช่วง​ต้น​ศตวรรษ​ที่ 18. ชื่อ​ที่​กริสโตโฟรี​ตั้ง​ให้​เครื่อง​ดนตรี​ชนิด​นี้​คือ กราวีเชมบาโล กอล ปีอาโน เอ ฟอร์เต (ฮาร์ปซิคอร์ด​ที่​มี​เสียง​เบา​และ​ดัง) เน้น​ข้อ​ได้​เปรียบ​อย่าง​หนึ่ง​ของ​เครื่อง​ดนตรี​ชนิด​นี้​ที่​เหนือ​กว่า​ฮาร์ปซิคอร์ด ซึ่ง​ผู้​เล่น​ควบคุม​ระดับ​ความ​ดัง​ของ​เสียง​ได้​น้อย​มาก. เมื่อ​กด​คีย์​บน​เปียโน​ฟอร์เต กลไก​ซึ่ง​ได้​รับ​การ​พัฒนา​ขึ้น​ใหม่​จะ​เหวี่ยง​ค้อน​จาก​ด้าน​ล่าง​ให้​เคาะ​สาย​เสียง. ความ​ดัง​ของ​โน้ต​จะ​ขึ้น​อยู่​กับ​แรง​ที่​ใช้​กด​คีย์. นี่​ทำ​ให้​ผู้​เล่น​มี​อิสระ​ใน​การ​แสดง​อารมณ์​และ​ความ​ดัง​ของ​ดนตรี​ได้​ตาม​ต้องการ ไม่​ว่า​จะ​เป็น​แบบ​ปีอาโน เบา ๆ หรือ​ฟอร์เต ดัง ๆ.

ปัจจัย​อีก​อย่าง​หนึ่ง​คือ​การ​ใช้​แป้น​เหยียบ (เพเดิล) สาม​ประเภท นั่น​คือ​แป้น​เหยียบ​เสียง​กังวาน, แป้น​เหยียบ​เสียง​เบา​มาก, และ​แป้น​เหยียบ​เสียง​เบา. แป้น​เหยียบ​อัน​แรก​ทำ​ให้​เสียง​กังวาน, อัน​ที่​สอง​หน่วง​เสียง​โน้ต​ตัว​ก่อน​ให้​กังวาน​อยู่​ต่อ​ไป​เมื่อ​เล่น​โน้ต​ตัว​ใหม่, และ​อัน​ที่​สาม​ทำ​ให้​เสียง​เบา​ลง.

ตลอด​ศตวรรษ​ที่ 18 เปียโน​ฟอร์เต​ก็​ได้​รับ​การ​พัฒนา​และ​ปรับ​แต่ง​ต่อ​ไป​ใน​ยุโรป. ใน​ช่วง​ต้น​ทศวรรษ​ปี 1740 เปียโน​เหลี่ยม​ก็​ถูก​พัฒนา​ขึ้น ซึ่ง​เป็น​รุ่น​ที่​เล็ก​และ​ประหยัด​ขึ้น. แกรนด์​เปียโน หรือ​คอนเสิร์ต​แกรนด์​เปียโน ซึ่ง​มี​ขนาด​ใหญ่​กว่า​นั้น​ใช้​พื้น​ที่​มาก​กว่า เนื่อง​จาก​มัน​มี​สาย​เสียง​ที่​มี​ความ​ยาว​ต่าง​กัน​ขึง​ใน​แนว​นอน. ตอน​ต้น​ศตวรรษ​ที่ 19 ก็​เกิด​มี​เปียโน​แบบ​ตั้ง ซึ่ง​ยัง​เป็น​รุ่น​ที่​นิยม​กัน​อยู่​ใน​ปัจจุบัน.

ตื่นเถิด! ถาม​นัก​เปียโน​คน​หนึ่ง​เกี่ยว​กับ​ความ​แตกต่าง​ที่​สำคัญ​ระหว่าง​เสียง​ของ​แกรนด์​เปียโน​กับ​เปียโน​แบบ​ตั้ง. เธอ​กล่าว​ว่า “มัน​ต่าง​กัน​ใน​สาม​คำ​คือ เสียง, ความ​ชัดเจน, และ​ความ​ใส. แกรนด์​เปียโน​มี​ระดับ​ความ​กังวาน​มาก​กว่า. เสียง​มี​ความ​ใส​และ​เปี่ยม​ด้วย​พลัง. เมื่อ​เทียบ​กัน​แล้ว เปียโน​แบบ​ตั้ง​มี​เสียง​นุ่ม​กว่า. เนื่อง​จาก​ข้อ​เท็จ​จริง​ที่​ว่า​เปียโน​แบบ​ตั้ง​มัก​จะ​ถูก​ตั้ง​ชิด​กับ​ผนัง ซึ่ง​ทำ​ให้​เสียง​ที่​ออก​มา​จาก​แผ่น​ก้อง​เสียง​ที่​อยู่​ด้าน​หลัง​มี​ความ​กังวาน​น้อย​ลง.”

[รูปภาพ]

คอนเสิร์ต​แกรนด์​เปียโน​ขนาด 2.7 เมตร

[ภาพ​หน้า 18]

เวอร์จินัล​พร้อม​ด้วย​ภาพ​สวน ปี 1666 อังกฤษ

ฮาร์ปซิคอร์ด และ​คีย์​กระดอง​เต่า (ภาพ​แทรก) ปี 1760 เยอรมนี

เปียโน​แอคคอร์เดียน ปี 1960 อิตาลี

คลาวิคอร์ด ปี 1906 สหรัฐ

ซินธิไซเซอร์​สมัย​ใหม่​กับ​คอมพิวเตอร์

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Top four photos: Courtesy of the Yale University Collection of Musical Instruments

[ภาพ​หน้า 19]

อีทรัฟลุส

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 19]

Courtesy Macedonian Heritage

[ภาพ​หน้า 19]

ออร์แกน ซิดนีย์​โอเปรา​เฮาส์ ออสเตรเลีย

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 19]

By courtesy of Australian Archives, Canberra, A.C.T.