ฉันจำเป็นต้องมีโทรศัพท์มือถือไหม?
หนุ่มสาวถามว่า . . .
ฉันจำเป็นต้องมีโทรศัพท์มือถือไหม?
“ดิฉันรู้สึกไม่มั่นใจและไม่พอใจมากถ้าไม่มีโทรศัพท์มือถือติดตัว.”—อะกิโกะ. *
โทรศัพท์มือถือเป็นที่นิยมกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ในหลายประเทศ. เครื่องมือสื่อสารนี้ใช้ได้สะดวก. เพื่อน ๆ และพ่อแม่ของคุณสามารถติดต่อคุณได้ทุกที่ทุกเวลา และคุณก็ติดต่อกับพวกเขาได้เช่นกัน. โทรศัพท์มือถือบางรุ่นสามารถโต้ตอบข้อความสั้น ๆ ซึ่งหนังสือพิมพ์เดอะ ไทมส์ แห่งกรุงลอนดอนกล่าวว่า “เป็นวิธีการล่าสุดในการสนองความต้องการเรื่องการสื่อสารของคนหนุ่มสาว.” ตอนนี้มีแม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือที่สามารถต่ออินเทอร์เน็ต, เข้าไปดูเว็บไซต์, และเปิดอีเมล.
คุณอาจมีอยู่แล้วเครื่องหนึ่ง หรือไม่คุณอาจกำลังวางแผนซื้อสักเครื่องหนึ่ง. ไม่ว่าในกรณีใด คุณอาจคิดว่า สิ่งต่าง ๆ มักมีสองด้านที่ต่างกัน. โทรศัพท์มือถืออาจมีประโยชน์บางอย่าง. อย่างไรก็ตาม คุณคงต้องการจะมองอีก
ด้านหนึ่งด้วย เพราะถึงแม้คุณตัดสินใจจะซื้อสักเครื่องหนึ่ง การรู้ว่าอาจมีข้อเสียอะไรบ้างจะช่วยคุณใช้มันอย่างสุขุม.“คิดราคาดู”
พระเยซูตรัสถึงหลักการอันสุขุมที่ให้ “คิดราคาดู” ก่อนจะเริ่มทำโครงการที่สำคัญ. (ลูกา 14:28) หลักการข้อนี้จะใช้ในเรื่องโทรศัพท์มือถือได้ไหม? ได้แน่นอน. จริงที่คุณอาจซื้อเครื่องโทรศัพท์มือถือได้ถูกหรืออาจได้มาฟรีด้วยซ้ำ. แต่ดังที่เฮนนาวัย 17 ปีได้ประสบ “ค่าโทรศัพท์อาจสูงมากจนน่าตกใจ.” นอกจากนั้น อาจมีแรงกดดันอยู่เรื่อย ๆ ให้รับบริการเสริมและซื้อเครื่องรุ่นที่แพงกว่า. ด้วยเหตุนี้ ฮิโรชิกล่าวว่า “ผมทำงานไม่เต็มเวลาและเก็บเงินไว้ซื้อเครื่องรุ่นใหม่ทุกปี.” หนุ่มสาวหลายคนทำอย่างนี้. *
ถึงแม้พ่อแม่ของคุณจะจ่ายค่าโทรศัพท์ให้ ก็ยังเป็นเรื่องสำคัญที่จะพิจารณาเรื่องค่าใช้จ่าย. คริสเตียนผู้รับใช้เดินทางคนหนึ่งในญี่ปุ่นกล่าวว่า “แม่บางคนทำงานไม่เต็มเวลาเพิ่มพิเศษเพียงเพื่อจะช่วยลูกจ่ายค่าโทรศัพท์มือถือ ซึ่งอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นเลย.” คุณคงไม่ต้องการวางภาระเช่นนั้นให้พ่อแม่ของคุณแน่ ๆ!
“ตัวฆ่าเวลา”
บางคนที่เริ่มใช้โทรศัพท์มือถืออย่างพอประมาณอาจพบว่ามันกินเวลาไปมากกว่าที่คาดไว้ และทำให้มีเวลาน้อยลงสำหรับสิ่งที่สำคัญกว่า. มิกะเคยใช้เวลาอยู่กับครอบครัวนาน ๆ รอบโต๊ะอาหารค่ำ. เธอกล่าวว่า “ตอนนี้หลังจากที่เรารับประทานอาหารเสร็จ เราจะกลับเข้าห้องของตัวเองพร้อมกับ [โทรศัพท์มือถือ] ของตน.”
หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน แห่งกรุงลอนดอนกล่าวว่า “หนึ่งในสามของหนุ่มสาวอายุระหว่าง 16 ถึง 20 ปีชอบใช้ระบบส่งข้อความมากกว่าวิธีสื่อสารด้วยการเขียนวิธีอื่น ๆ ทั้งหมด.” ระบบส่งข้อความอาจเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการพูดโทรศัพท์ แต่การที่คุณจะพิมพ์ข้อความลงไปนั้นใช้เวลามากกว่า. มิเอโกะยอมรับว่า “ถ้ามีใครสักคนส่งข้อความมาว่า ‘ราตรีสวัสดิ์’ ดิฉันก็จะตอบกลับไปว่า ‘ราตรีสวัสดิ์.’ จากนั้นเราก็จะส่งข้อความโต้ตอบกันเป็นชั่วโมง. เป็นเพียงเรื่องไร้สาระเท่านั้น.”
คนใช้โทรศัพท์มือถือหลายคนอาจประหลาดใจทีเดียวถ้าพวกเขาหยุดคิดและรวมเวลาทั้งหมดที่ใช้ในการโทรศัพท์แต่ละเดือน. เด็กสาววัย 19 คนหนึ่งชื่อ เทยา ยอมรับว่า “สำหรับหลายคนแล้ว โทรศัพท์มือถือเป็นตัวฆ่าเวลา ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้ประหยัดเวลา.” ถึงแม้สภาพการณ์ของคุณทำให้มีเหตุผลที่จะมีโทรศัพท์มือถือ แต่ก็สำคัญที่จะคำนึงถึงเรื่องเวลาขณะใช้มัน.
เด็กสาวคริสเตียนคนหนึ่งชื่อ มาร์ยา กล่าวว่า “ที่การประชุมใหญ่ของคริสเตียน หนุ่มสาวหลายคนส่งข้อความเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้คนอื่นอยู่เรื่อย ๆ. การทำอย่างนี้เป็นเรื่องธรรมดามาก!” มีการเห็นพฤติกรรมคล้ายกันนี้ท่ามกลางหนุ่มสาวที่อยู่ในงานเผยแพร่ของคริสเตียนด้วย. คัมภีร์ไบเบิลแนะนำคริสเตียนให้ซื้อโอกาสมาใช้สำหรับกิจกรรมฝ่ายวิญญาณ. (เอเฟโซ 5:16) น่าเศร้าเพียงไรถ้าเวลาอันมีค่านั้นถูกใช้ไปกับการคุยโทรศัพท์!
การสื่อสารลับ
มาเรียให้ความเห็นเกี่ยวกับหลุมพรางอีกอย่างหนึ่ง “เนื่องจากสายที่เข้ามาไปถึงตัวคนนั้นโดยตรง ไม่ได้ไปที่บ้าน จึงมีอันตรายที่พ่อแม่จะไม่ทราบว่าลูกของตนกำลังคุยกับใครหรือแม้แต่ไม่ทราบว่าลูกของตนกำลังใช้โทรศัพท์อยู่หรือไม่.” หนุ่มสาวบางคนจึงใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อสร้างความสัมพันธ์แบบลับ ๆ กับคนเพศตรงข้าม. บางคนอะลุ่มอล่วยและเพิกเฉยมาตรฐานที่ตามปกติพวกเขาจะยึดมั่นเมื่อติดต่อพูดคุยกับคนอื่น. เป็นเช่นนั้นอย่างไร?
หนังสือพิมพ์เดอะ เดลี เทเลกราฟ แห่งกรุงลอนดอนกล่าวว่า “ในการส่งข้อความไม่มีใครสามารถตรวจสอบว่า [คนหนุ่มสาว] กำลังทำอะไร.” การไม่เห็นหรือไม่ได้ยินอีกฝ่ายหนึ่งก็อาจส่งผลกระทบต่อคุณได้ด้วย. ทีโมกล่าวว่า “บางคนรู้สึกว่าการส่งข้อความเป็นวิธีสื่อความที่เป็นกลาง ๆ. ในการส่งข้อความ บางคนอาจส่งข้อความที่พวกเขาถือว่าไม่เหมาะจะพูดต่อหน้า.”
เมื่อเคโกะ เด็กสาวคริสเตียนวัย 17 ปี เริ่มใช้โทรศัพท์มือถือ เธอบอกหมายเลขโทรศัพท์ของเธอให้เพื่อนหลายคน. ไม่นานเธอก็เริ่มโต้ตอบข้อความทุกวันกับเด็กหนุ่มคนหนึ่งในประชาคม. เคโกะกล่าวว่า “ตอนแรกเราก็แค่คุยกันเรื่องทั่ว ๆ ไป แต่แล้วเราก็เริ่มเล่าปัญหาให้กัน. เราสร้างโลกส่วนตัวของเราขึ้นโดยทางโทรศัพท์มือถือ.”
น่าดีใจที่เธอได้รับความช่วยเหลือจากพ่อแม่ของเธอและคริสเตียนผู้ปกครองก่อนที่เรื่องราวจะร้ายแรงไปกว่านั้น. ตอนนี้เธอยอมรับว่า “แม้แต่ก่อนที่จะให้โทรศัพท์มือ *
ถือแก่ดิฉัน คุณพ่อคุณแม่ก็เตือนดิฉันมากเกี่ยวกับการโต้ตอบข้อความกับคนในเพศตรงข้าม ดิฉันส่งข้อความไปหาเขาทุกวัน. นั่นไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการใช้โทรศัพท์.”คัมภีร์ไบเบิลเตือนสติเราว่า “จงรักษาสติรู้สึกผิดชอบอันดีไว้.” (1 เปโตร 3:16, ล.ม.) การทำอย่างนั้นหมายความว่าเมื่อคุณใช้โทรศัพท์มือถือ คุณต้องทำให้แน่ใจอย่างที่โคอิชิพูดไว้ว่า “คุณไม่มีอะไรต้องอาย” แม้ว่าจะมีคนอื่นเห็นข้อความของคุณหรือได้ยินคุณพูด. จงจำไว้เสมอว่าไม่มีความลับใด ๆ สำหรับพระบิดาฝ่ายสวรรค์. คัมภีร์ไบเบิลอธิบายว่า “สิ่งใดที่ไม่ได้ปรากฏแก่พระองค์ไม่มี แต่สรรพสิ่งปรากฏแจ้งต่อพระเนตรของพระองค์ผู้ซึ่งเราต้องให้การนั้น.” (เฮ็บราย 4:13) ถ้าเช่นนั้น จะพยายามมีความสัมพันธ์แบบลับ ๆ ทำไมล่ะ?
ตั้งข้อจำกัด
ถ้าคุณกำลังคิดจะซื้อโทรศัพท์มือถือ ก่อนอื่นคุณควรประเมินสภาพการณ์อย่างถี่ถ้วนเพื่อดูว่าคุณจำเป็นต้องมีจริง ๆ ไหม. พิจารณาเรื่องนี้กับพ่อแม่ของคุณ. บางคนรู้สึกเหมือนกับเด็กสาวชื่อ เยนนา ซึ่งบอกว่า “การมีโทรศัพท์มือถือนั้นนับว่าเป็นความรับผิดชอบมากเกินกว่าที่หนุ่มสาวหลายคนจะรับได้.”
แม้ว่าคุณตัดสินใจจะมีโทรศัพท์มือถือสักเครื่อง ก็ยังเป็นเรื่องสำคัญที่จะควบคุมการใช้. โดยวิธีใด? โดยการตั้งข้อจำกัดที่สมเหตุผล. ตัวอย่างเช่น จงจำกัดการบริการที่คุณเลือกใช้หรือเวลาและจำนวนเงินที่คุณใช้ไปกับโทรศัพท์. เนื่องจากบริษัทโทรศัพท์ส่วนใหญ่รายงานการใช้โดยละเอียด คุณอาจต้องการจะวิเคราะห์ใบแจ้งค่าโทรศัพท์กับพ่อแม่เป็นครั้งคราว. บางคนพบว่าเป็นเรื่องสะดวกที่จะใช้โทรศัพท์มือถือแบบจ่ายล่วงหน้าเพื่อจะจำกัดการใช้งาน.
นอกจากนั้น จงคิดให้รอบคอบว่าคุณจะรับสายหรือตอบข้อความเมื่อไรและโดยวิธีใด. จงตั้งกฎที่สมเหตุผลของคุณเอง. ชินจิชี้แจงดังนี้: “ผมเปิดเมล์บอกซ์วันละหนึ่งครั้งเท่านั้น และผมมักจะตอบเฉพาะข้อความที่สำคัญจริง ๆ. ผลก็คือ พวกเพื่อน ๆ ก็เลิกส่งข้อความไร้สาระมาให้ผม. ถ้ามีปัญหาด่วนจริง ๆ พวกเขาก็จะโทรศัพท์มาหาผมอยู่แล้ว.” ที่สำคัญกว่านั้น จงเลือกเฟ้นคนที่คุณจะติดต่อสัมพันธ์ด้วย. จงรอบคอบในการให้หมายเลขโทรศัพท์. จงใช้มาตรฐานเดียวกันกับที่คุณใช้มาตลอดในเรื่องการคบหาที่ดี.—1 โกรินโธ 15:33.
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “มีเวลากำหนดสำหรับทุกสิ่ง. . . . เวลานิ่งเงียบและเวลาพูด.” (ท่านผู้ประกาศ 3:1, 7, ล.ม.) เห็นได้ชัดว่ามีเวลาที่โทรศัพท์มือถือต้อง “นิ่งเงียบ” ด้วย. การประชุมคริสเตียนและงานเผยแพร่ก็เป็น “เวลากำหนด” สำหรับการนมัสการพระเจ้า ไม่ใช่เวลาใช้โทรศัพท์. ผู้จัดการร้านอาหารและโรงภาพยนตร์มักจะขอให้ลูกค้างดใช้โทรศัพท์มือถือ. เราก็เคารพคำขอเหล่านั้น. องค์บรมมหิศรแห่งเอกภพทรงคู่ควรกับความเคารพไม่น้อยไปกว่านั้นแน่!
ถ้าไม่ได้คาดหมายว่าจะมีสายที่สำคัญจริง ๆ เข้ามา หลายคนเลือกที่จะปิดเครื่อง หรือปรับไปที่ระบบไร้เสียงเมื่อทำกิจกรรมที่สำคัญ. บางคนเก็บโทรศัพท์มือถือของตนไว้ที่อื่น. ถึงอย่างไร ข้อความส่วนใหญ่ก็จัดการทีหลังได้มิใช่หรือ?
ถ้าคุณตัดสินใจจะมีโทรศัพท์มือถือ จงตั้งใจจะควบคุมมันและอย่าให้มันควบคุมคุณ. เห็นได้ชัดว่า คุณต้องตื่นตัวและจัดลำดับความสำคัญให้ถูกต้อง. คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนเราว่า “ให้ความมีเหตุผลของท่านทั้งหลายปรากฏแก่คนทั้งปวง.” (ฟิลิปปอย 4:5, ล.ม.) ถ้าคุณตัดสินใจจะมีโทรศัพท์มือถือ จงตั้งใจจะแสดงความมีเหตุผลในการใช้เครื่องมือสื่อสารชนิดนี้.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 บางชื่อเป็นนามสมมุติ.
^ วรรค 7 สำหรับการพิจารณาเรื่องงานอาชีพหลังเลิกเรียน โปรดดูบทความ “หนุ่มสาวถามว่า—การหาเงินเสียหายตรงไหน?” ในตื่นเถิด! ฉบับ 8 ตุลาคม 1997.
^ วรรค 18 การคุยหรือการโต้ตอบข้อความกับคนในเพศตรงข้ามเป็นประจำทางโทรศัพท์อาจเป็นการนัดพบรูปแบบหนึ่ง. โปรดดูบทความ “หนุ่มสาวถามว่า—การคุยกันนั้นผิดตรงไหน?” ในตื่นเถิด! ฉบับ 8 กันยายน 1992.
[คำโปรยหน้า 16]
หนุ่มสาวบางคนสร้างความสัมพันธ์กันแบบลับ ๆ โดยทางโทรศัพท์มือถือ