เอดส์แพร่ระบาดในแอฟริกา
เอดส์แพร่ระบาดในแอฟริกา
“เรากำลังรับมือกับสิ่งที่ถือได้ว่าเป็นความหายนะครั้งยิ่งใหญ่แห่งยุคปัจจุบัน.”
คำกล่าวข้างต้นของสตีเฟน ลูวิส ทูตพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติด้านเอชไอวี/เอดส์ในแอฟริกา สะท้อนถึงความวิตกกังวลที่หลายคนมีต่อสถานการณ์โรคเอดส์ในแอฟริกาทางใต้ทะเลทรายสะฮารา.
มีปัจจัยหลายอย่างเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวี. ส่วนโรคเอดส์นั้นก็ยิ่งทำให้ปัญหาอื่น ๆ รุนแรงขึ้นอีก. สภาพการณ์ที่มีอยู่ดาษดื่นในบางประเทศของทวีปแอฟริกาและในส่วนอื่น ๆ ของโลกซึ่งเอดส์กำลังระบาดอยู่นั้นมักจะเกี่ยวข้องกับสิ่งต่อไปนี้.
ศีลธรรม. เนื่องจากเพศสัมพันธ์เป็นวิธีหลักในการติดเชื้อเอชไอวี การขาดมาตรฐานที่ชัดเจนทางศีลธรรมจึงดูเหมือนยิ่งทำให้โรคนี้ระบาดมากขึ้น. แต่หลายคนรู้สึกว่าการ
รณรงค์ให้ผู้ที่ไม่ได้แต่งงานงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์นั้นใช้ไม่ได้. ฟรังซัว ดูฟูร์ เขียนในหนังสือพิมพ์เดอะ สตาร์ แห่งนครโจฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้ ดังนี้: “เพียงแค่การเตือนวัยรุ่นให้งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์นั้นย่อมไม่ได้ผล. ทุก ๆ วันพวกเขาเห็นภาพปลุกเร้าทางเพศซึ่งสื่อว่าพวกเขาควรจะมีรูปร่างหน้าตาเช่นไรและควรจะปฏิบัติตัวเช่นไร.”การวิเคราะห์นี้ดูเหมือนได้รับการยืนยันโดยความประพฤติของคนหนุ่มสาว. ตัวอย่างเช่น การสำรวจในประเทศหนึ่งบ่งชี้ว่า ราว ๆ หนึ่งในสามของเยาวชนอายุระหว่าง 12 ถึง 17 ปีเคยมีเพศสัมพันธ์.
การข่มขืนได้รับการพรรณนาว่าเป็นเรื่องฉุกเฉินแห่งชาติในแอฟริกาใต้. รายงานข่าวในหนังสือพิมพ์ซิติเซน แห่งนครโจฮันเนสเบิร์ก กล่าวว่า การข่มขืน “แพร่หลายมากถึงขนาดที่มันรุนแรงกว่าอันตรายทางสุขภาพอื่น ๆ ทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงในประเทศนี้ และต่อเด็ก ๆ จำนวนมากขึ้นด้วย.” บทความเดียวกันนั้นกล่าวว่า “การข่มขืนเด็กเพิ่มขึ้นสองเท่าในช่วงเวลาไม่นานมานี้ . . . ดูเหมือนการทำเช่นนี้เป็นไปตามความเชื่อที่ว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ข่มขืนเด็กพรหมจารีจะหายโรค.”
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์. โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในภูมิภาคนั้นมีอัตราสูง. วารสารการแพทย์แอฟริกาใต้ (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “การเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทำให้มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวี-1 เพิ่มขึ้น 2 ถึง 5 เท่า.”
ความยากจน. หลายประเทศในแอฟริกากำลังต่อสู้กับความยากจน และนี่ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแพร่ระบาดของโรคเอดส์. สิ่งที่อาจถือกันว่าเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานในประเทศที่พัฒนาแล้วกลับเป็นสิ่งที่หาไม่ได้ในประเทศที่กำลังพัฒนาส่วนใหญ่. ชุมชนใหญ่ ๆ หลายแห่งไม่มีไฟฟ้าและไม่สามารถหาน้ำดื่มที่สะอาดได้. ในเขตชนบท ถนนมีไม่พอหรือไม่มีเลย. ชาวบ้านหลายคนเป็นโรคขาดอาหาร และสถานพยาบาลก็มีน้อยมาก.
โรคเอดส์ก่อผลเสียต่อธุรกิจและอุตสาหกรรม. เมื่อลูกจ้างจำนวนมากขึ้นติดเชื้อ บริษัทเหมืองแร่ก็ได้รับผลกระทบจากการผลิตที่ลดลง. บางบริษัทกำลังพิจารณาวิธีที่จะใช้ระบบอัตโนมัติและเครื่องจักรกลในงานบางอย่างเพื่อทดแทนกำลังคน. มีการกะประมาณว่า ในปี 2000 ที่เหมืองแพลทินัมแห่งหนึ่งมีจำนวนลูกจ้างที่ป่วยด้วยโรคเอดส์เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า และคนงานประมาณ 26 เปอร์เซ็นต์ติดเชื้อนั้น.
ผลที่น่าเศร้าอย่างหนึ่งของโรคเอดส์คือ เด็กจำนวนมากกลายเป็นเด็กกำพร้าเมื่อบิดามารดาของพวกเขาเสียชีวิตด้วยโรคนี้. นอกจากจะสูญเสียบิดามารดาและขาดความมั่นคงทางการเงินแล้ว เด็กเหล่านี้ต้องทนกับการถูกรังเกียจเนื่องจากเอดส์. ญาติ ๆ หรือคนในชุมชนมักจะยากจนเกินกว่าจะให้ความช่วยเหลือได้ หรือไม่เต็มใจให้ความช่วยเหลือ. เด็กกำพร้าหลายคนต้องออกจากโรงเรียน. บางคนไปเป็นโสเภณีและจึงทำให้โรคนี้แพร่ออกไปอีก. ในหลายประเทศ รัฐบาลหรือเอกชนได้ตั้งโครงการขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กกำพร้าเหล่านี้.
การไม่มีความรู้. ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีจำนวนมากไม่ทราบว่าตนติดเชื้อ. หลายคนไม่ต้องการไปตรวจเนื่องจากกลัวว่าจะถูกรังเกียจถ้าพบว่าเป็นโรคนี้. ข่าวแจกของโครงการร่วมสหประชาชาติว่าด้วยเอชไอวี/เอดส์ (ยูเอ็นเอดส์) ชี้แจงว่า “คนที่ติดเชื้อเอชไอวีหรือถูกสงสัยว่าติดเชื้อนี้อาจถูกปฏิเสธไม่ให้เข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาล, ไม่ได้ที่พักพิงและไม่มีใครว่าจ้าง, มิตรสหายและเพื่อนร่วมงานพากันหนีหน้า, ไม่ได้การคุ้มครองจากการประกันหรือถูกปฏิเสธไม่ให้เดินทางเข้าประเทศอื่น.” บางคนถึงกับถูกฆ่าเมื่อพบว่าเขาติดเชื้อเอชไอวี.
วัฒนธรรม. หลายวัฒนธรรมในแอฟริกา ผู้หญิงมักไม่สามารถถามคู่ของตนเกี่ยวกับความสัมพันธ์นอกสายสมรส, ปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์, หรือเสนอให้มีเพศสัมพันธ์ด้วยวิธีที่ปลอดภัยกว่า. ความเชื่อทางวัฒนธรรมมักสะท้อนถึงการไม่มีความรู้และการไม่ยอมรับความจริงเกี่ยวกับโรคเอดส์. ตัวอย่างเช่น อาจโทษกันว่าโรคนี้เกิดจากเวทมนตร์คาถา และผู้คนอาจไปเสาะหาการรักษาจากหมอผี.
สถานพยาบาลไม่เพียงพอ. โรคเอดส์ทำให้สถานพยาบาลที่มีจำกัดอยู่แล้วต้องแบกภาระมากยิ่งขึ้น. โรง
พยาบาลขนาดใหญ่สองแห่งรายงานว่า กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยในโรงพยาบาลเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี. หัวหน้าบุคลากรแพทย์ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดควาซูลู-นาทาล กล่าวว่า แผนกของเขาทำงานที่ระดับ 140 เปอร์เซ็นต์ของความสามารถ. บางครั้ง คนไข้สองคนนอนบนเตียงเดียวกัน และคนที่สามจะนอนอยู่ที่พื้นใต้เตียงนั้น!—วารสารการแพทย์แอฟริกาใต้.แม้ว่าสภาพการณ์ในแอฟริกานั้นน่าเศร้าอยู่แล้ว แต่สัญญาณต่าง ๆ บ่งชี้ว่าสภาพการณ์อาจเลวร้ายลงอีก. ปีเตอร์ ปีโย แห่งยูเอ็นเอดส์กล่าวว่า “เรายังอยู่ในขั้นแรก ๆ ของการระบาด.”
เห็นได้ชัดว่าในบางประเทศมีการใช้มาตรการหลายอย่างเพื่อจัดการกับโรคนี้. และในเดือนมิถุนายน 2001 ก็เป็นครั้งแรกที่สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติได้จัดการประชุมพิเศษขึ้นเพื่อหารือกันเกี่ยวกับเรื่องเอชไอวี/เอดส์. ความพยายามของมนุษย์จะประสบความสำเร็จไหม? ในที่สุดการระบาดของโรคเอดส์ที่ทำให้ถึงตายนี้จะยุติลงเมื่อไร?
[กรอบ/ภาพหน้า 5]
เนไวราพินยาต้านเอดส์และสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของแอฟริกาใต้
เนไวราพิน (Nevirapine) คืออะไร? ตามคำกล่าวของนักหนังสือพิมพ์ชื่อ นิโคล อิตาโน ยานี้คือ “ยาต้านรีโทรไวรัสชนิดหนึ่งซึ่งการทดสอบแสดงว่าสามารถลดโอกาสที่โรคเอดส์จะติดต่อ [จากมารดา] สู่ลูกได้ถึงครึ่งหนึ่ง.” บริษัทยาแห่งหนึ่งในเยอรมนีเสนอจะให้ยานี้แก่แอฟริกาใต้ฟรี ๆ ในระยะเวลาห้าปีข้างหน้า. แต่จนกระทั่งเดือนสิงหาคม 2001 รัฐบาลแอฟริกาใต้ก็ยังไม่ได้ยอมรับข้อเสนอนี้. มีปัญหาอะไร?
แอฟริกาใต้มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี 4.7 ล้านคน ซึ่งมากกว่าประเทศใด ๆ ในโลก. วารสารดิ อิโคโนมิสต์ แห่งกรุงลอนดอนรายงานในเดือนกุมภาพันธ์ 2002 ว่า นายทาโบ มเบกิ ประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้ “ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับทัศนะที่ยอมรับกันทั่วไปที่ว่าเชื้อเอชไอวีก่อให้เกิดโรคเอดส์” และ “สงสัยเรื่องค่าใช้จ่าย, ความปลอดภัยและประโยชน์ของยาต้านเอดส์. เขาไม่ได้สั่งห้ามยาเหล่านั้น แต่แพทย์ในแอฟริกาใต้ไม่ได้รับการสนับสนุนให้ใช้มัน.” ทำไมเรื่องนี้น่าเป็นห่วงมาก? เนื่องจากแต่ละปีมีเด็กที่เกิดมาพร้อมกับเชื้อเอชไอวีหลายหมื่นคนในแอฟริกาใต้และ 25 เปอร์เซ็นต์ของหญิงที่ตั้งครรภ์มีไวรัสนี้.
เนื่องจากความเห็นที่ขัดแย้งกันนี้ จึงมีการนำคดีขึ้นศาลเพื่อบังคับให้รัฐบาลแจกจ่ายยาเนไวราพิน. ศาลรัฐธรรมนูญแห่งแอฟริกาใต้ได้แถลงคำตัดสินในเดือนเมษายน 2002. ตามคำกล่าวของนายราวี เนสส์แมน ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือพิมพ์เดอะ วอชิงตัน โพสต์ ศาลตัดสินว่า “รัฐบาลต้องทำให้ยานี้มีไว้พร้อมในสถานพยาบาลต่าง ๆ ซึ่งสามารถจ่ายยานี้ได้.” ขณะที่รัฐบาลแอฟริกาใต้ได้แจกจ่ายยานี้ในสถานพยาบาลนำร่อง 18 แห่งทั่วประเทศอยู่แล้ว แต่กล่าวกันว่า การตัดสินครั้งใหม่นี้ให้ความหวังแก่หญิงที่ตั้งครรภ์ซึ่งติดเชื้อเอชไอวีทุกคนในประเทศนี้.
[กรอบ/ภาพหน้า 6]
ไวรัสเจ้าเล่ห์หลอกเซลล์
ขอใช้เวลาสักครู่กับโลกขนาดจิ๋วของไวรัสภูมิคุ้มกันเสื่อมในคน (เอชไอวี). นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งกล่าวว่า “หลังจากได้ส่องดูอนุภาคไวรัสทางกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนมาหลายปี ดิฉันยังคงรู้สึกทึ่งและตื่นเต้นกับรูปแบบอันซับซ้อนและละเอียดอ่อนในสิ่งที่เล็กมากจริง ๆ.”
ไวรัสมีขนาดเล็กกว่าแบคทีเรีย และแบคทีเรียก็มีขนาดเล็กกว่าเซลล์ของมนุษย์โดยทั่ว ๆ ไปมาก. แหล่งอ้างอิงหนึ่งกล่าวว่า เชื้อเอชไอวีมีขนาดเล็กมากจนต้องมีเอชไอวี “230 ล้าน [อนุภาค] จึงจะมีขนาดเท่ากับจุดที่อยู่ท้ายประโยคนี้.” ไวรัสไม่สามารถขยายพันธุ์ได้นอกจากมันจะแทรกซึมเข้าไปอยู่ในเซลล์และกลายเป็นผู้บังคับควบคุมเซลล์นั้น.
เมื่อเอชไอวีบุกเข้าไปในร่างกายมนุษย์ มันต้องต่อสู้กับกองกำลังมากมายที่มีอยู่ในระบบภูมิคุ้มกัน. * ระบบป้องกันซึ่งประกอบด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาวถูกผลิตขึ้นในไขกระดูก. เซลล์เม็ดเลือดขาวประกอบด้วยเซลล์ลิมโฟไซต์สองชนิดหลัก ๆ ซึ่งรู้จักกันว่าทีเซลล์ และบีเซลล์. เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดอื่น ๆ ถูกเรียกว่าฟาโกไซต์ หรือ “เซลล์กลืนกิน.”
ทีเซลล์ประเภทต่าง ๆ มีหน้าที่ต่างกัน. พวกที่เรียกกันว่าทีเซลล์ผู้ช่วย จะทำหน้าที่สำคัญในการกำหนดยุทธวิธีการรบ. ทีเซลล์ผู้ช่วยจะช่วยระบุตัวผู้บุกรุกที่แปลกปลอมและออกคำสั่งให้ผลิตเซลล์ที่โจมตีและทำลายศัตรู. เมื่อเอชไอวีโจมตี มันจะพุ่งเป้าไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ทีเซลล์ผู้ช่วยเหล่านี้. มีการกระตุ้นทีเซลล์นักฆ่าให้ทำลายเซลล์ในร่างกายที่ถูกบุกรุก. บีเซลล์จะผลิตแอนติบอดี ซึ่งถูกระดมมาต่อสู้กับการติดเชื้อ.
กลวิธีอันมีเล่ห์เหลี่ยม
เอชไอวีถูกจัดอยู่ในจำพวกรีโทรไวรัส. พิมพ์เขียวทางพันธุกรรมของเอชไอวีอยู่ในรูปของอาร์เอ็นเอ (ribonucleic acid) ไม่ใช่ดีเอ็นเอ (deoxyribonucleic acid). เอชไอวีอยู่ในกลุ่มย่อยจำเพาะกลุ่มหนึ่งของรีโทรไวรัส ซึ่งรู้จักกันว่าเลนติไวรัส เพราะมันอาจแฝงตัวอยู่เป็นเวลานานก่อนที่อาการขั้นรุนแรงของโรคจะปรากฏออกมา.
เมื่อเอชไอวีแทรกตัวเข้าไปอยู่ในเซลล์ได้แล้ว มันก็สามารถใช้กลไกของเซลล์นั้นเพื่อประโยชน์ของตัวมันเอง. มันจะ “ตั้งโปรแกรมใหม่” โดยให้ดีเอ็นเอในเซลล์นั้นสร้างเอชไอวีขึ้นมามาก ๆ. แต่ก่อนที่มันจะทำอย่างนี้ได้ เอชไอวีต้องใช้ “ภาษา” อีกอย่างหนึ่ง. มันต้องเปลี่ยนอาร์เอ็นเอของมันเองให้เป็นดีเอ็นเอ เพื่อกลไกของเซลล์ที่ถูกเบียดเบียนจะสามารถอ่านและเข้าใจได้. เพื่อจะทำอย่างนี้ได้ เอชไอวีใช้เอนไซม์ไวรัสตัวหนึ่งที่เรียกว่า รีเวอร์สทรานสคริปเทส (reverse transcriptase). ต่อมา เซลล์ก็ตาย หลังจากที่มันได้ผลิตอนุภาคเอชไอวีขึ้นมาหลายพันตัว. อนุภาคที่ถูกผลิตขึ้นใหม่เหล่านี้ก็เข้าไปแทรกตัวอยู่ในเซลล์อื่น ๆ.
เมื่อจำนวนทีเซลล์ผู้ช่วยลดลงอย่างมากแล้ว กองกำลังอื่นก็สามารถเอาชนะร่างกายได้โดยไม่ต้องกลัวถูกโจมตี. ร่างกายก็พ่ายแพ้ต่อโรคและการติดเชื้อหลายชนิด. ผู้ติดเชื้อได้ก้าวไปสู่การเป็นเอดส์เต็มขั้น. เอชไอวีทำความเสียหายแก่ระบบภูมิคุ้มกันทั้งระบบได้สำเร็จ.
ที่กล่าวมาเป็นคำอธิบายแบบง่าย ๆ. เราต้องจำไว้ว่ายังมีอีกมากที่นักวิจัยไม่ทราบ ทั้งในเรื่องระบบภูมิคุ้มกันและการทำงานของเอชไอวี.
เป็นเวลาเกือบสองทศวรรษมาแล้ว ไวรัสตัวเล็ก ๆ นี้ได้ทำให้นักวิจัยทางการแพทย์ชั้นแนวหน้าทั่วโลกต้องทุ่มเทกำลังความคิดและกำลังกายไปมาก ซึ่งทำให้ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมหาศาล. ผลก็คือมีการเรียนรู้หลายอย่างเกี่ยวกับเอชไอวี. ศัลยแพทย์ที่ชื่อ ดร. เชอร์วิน บี. นูแลนด์ ให้ความเห็นเมื่อหลายปีก่อนว่า “ปริมาณข้อมูลที่ . . . ได้มีการรวบรวมเกี่ยวกับไวรัสภูมิคุ้มกันเสื่อมในคนและความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในการคิดค้นวิธีป้องกันการโจมตีของไวรัสนี้เป็นสิ่งที่น่าทึ่งจริง ๆ.”
อย่างไรก็ตาม การระบาดของโรคเอดส์ที่ทำให้ถึงตายนี้ยังรุดหน้าต่อไปอย่างรวดเร็วจนน่าตื่นตระหนก.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 26 ดูตื่นเถิด! (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 8 กุมภาพันธ์ 2001 หน้า 13-15.
[ภาพ]
เอชไอวีบุกรุกเข้าไปในลิมโฟไซต์ของระบบภูมิคุ้มกันและตั้งโปรแกรมใหม่ให้เซลล์นั้นผลิตเอชไอวี
[ที่มาของภาพ]
CDC, Atlanta, Ga.
[ภาพหน้า 7]
คนหนุ่มสาวหลายพันคนยึดมั่นกับมาตรฐานของคัมภีร์ไบเบิล