ความกดดันจากคนรอบข้างมีพลังขนาดนั้นจริง ๆ หรือ?
หนุ่มสาวถามว่า . . .
ความกดดันจากคนรอบข้างมีพลังขนาดนั้นจริง ๆ หรือ?
“หนูคิดว่าหนูไม่รู้สึกถึงความกดดันจากคนรอบข้าง.”—พาเมลา นักเรียนชั้นมัธยม.
“ผมคิดว่า ความกดดันจากคนรอบข้างไม่ได้มีผลกระทบที่รุนแรงอย่างนั้นต่อผมอีกแล้ว. ความกดดันส่วนใหญ่มาจากตัวผมเอง.”—ร็อบบี ชายวัยหนุ่ม.
คุณเคยรู้สึกอย่างนี้ไหม? จริงอยู่ คุณอาจรู้จากคัมภีร์ไบเบิลว่า “การคบหาสมาคมที่ไม่ดีย่อมทำให้นิสัยดีเสียไป.” (1 โกรินโธ 15:33, ล.ม.) ถึงกระนั้น คุณอาจสงสัยว่า ‘มีการประเมินอิทธิพลของความกดดันจากคนรอบข้างสูงกว่าที่เป็นจริง กล่าวคือ มันอาจจะไม่รุนแรงอย่างที่พ่อแม่และผู้ใหญ่คนอื่น ๆ บอกอย่างนั้นไหม?’
ถ้าคุณเคยต่อสู้กับความสงสัยแบบนั้นเป็นครั้งคราว คุณก็ไม่ใช่หนุ่มสาวคนแรกที่รู้สึกเช่นนั้น. แต่เราขอเชิญคุณพิจารณาโอกาสที่เป็นไปได้. ความกดดันจากคนรอบข้างอาจมีอิทธิพลมากกว่าที่คุณคิดไหม? หนุ่มสาวหลายคนประหลาดใจเมื่อพบว่าความกดดันนี้มีพลังเพียงใด. เพื่อเป็นตัวอย่าง แอนจี ยอมรับว่าเธออาจทำตัวให้เป็นที่ยอมรับของสังคมมากกว่าที่เธอคิดไว้. เธอกล่าวว่า “บางครั้งความกดดันจากสังคมมีพลังมากจนคุณไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคือความกดดันจากคนรอบข้าง. คุณเริ่มเชื่อว่ามันคือความกดดันจากภายในตัวคุณเอง.”
ในทำนองเดียวกัน ร็อบบีซึ่งอ้างถึงข้างต้นกล่าวว่า ความกดดันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขามาจากภายในตัวเขาเอง. กระนั้น เขายอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะอยู่ใกล้เมืองใหญ่ ๆ. เพราะเหตุใด? เพราะความกดดันจากคนรอบข้างที่เกิดจากสภาพแวดล้อมที่มุ่งเน้นด้านวัตถุ. เขากล่าวว่า “ที่นี่ความร่ำรวยเป็นเรื่องใหญ่.” เห็นได้ชัดว่า ความกดดันจากคนรอบข้างเป็นพลังที่ต้องตระหนักถึง. ถ้าอย่างนั้น ทำไมหนุ่มสาวหลายคนจึงคิดว่าความกดดันจากคนรอบข้างไม่มีอิทธิพลต่อเขา?
มีพลังแบบแฝงเร้น
ความกดดันจากคนรอบข้างอาจลวงเราได้ ที่จริง เราอาจไม่สังเกตเห็นเลย. เพื่อเป็นตัวอย่าง: ถ้าเราอยู่ที่ระดับน้ำทะเล อากาศมากมายที่แผ่คลุมเหนือเราจะกดลงบนตัวเราตลอดเวลาประมาณ 1 กิโลกรัมต่อ 1 ตาราง * คุณอาจอยู่ภายใต้แรงกดดันนั้นทุกวัน แต่คุณแทบไม่รู้สึกเลย. เพราะอะไร? คุณเคยชินกับแรงกดดันนี้.
เซนติเมตร.จริงอยู่ ความกดอากาศไม่ได้เป็นอันตรายเสมอไป. แต่เมื่อผู้คนกดดันเราอย่างแยบยล พวกเขาอาจทำให้เราเปลี่ยนไปทีละเล็กทีละน้อย. อัครสาวกเปาโลเข้าใจพลังของความกดดันจากคนรอบข้าง. ท่านเตือนพวกคริสเตียนในกรุงโรมว่า “อย่าปล่อยให้โลกรอบตัวท่านบีบท่านเข้าสู่แบบพิมพ์ของมัน.” (โรม 12:2, พันธสัญญาใหม่ในภาษาอังกฤษสมัยปัจจุบัน) แต่เรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ความกดดันจากคนรอบข้างก่อผลอย่างไร?
คุณชอบไหมเมื่อคนอื่น ๆ ชื่นชอบและยอมรับตัวคุณ? พวกเราส่วนใหญ่คงยอมรับว่าเราชอบ. แต่ความปรารถนาตามธรรมชาติที่อยากให้ตัวเราเป็นที่ชื่นชอบเช่นนั้นอาจกลายเป็นดาบสองคม. เราจะทำถึงขนาดไหนเพื่อให้คนอื่น ๆ ยอมรับเราอย่างที่เราปรารถนา? ถึงแม้เราจะมั่นใจในตัวเราเองเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่จะว่าอย่างไรกับคนอื่น ๆ ที่อยู่รอบตัวเรา? พวกเขาพยายามต้านทานความกดดันจากคนรอบข้างไหม หรือพวกเขาปล่อยให้มันนวดปั้นตนเอง?
ตัวอย่างเช่น หลายคนในปัจจุบันมองว่ามาตรฐานของคัมภีร์ไบเบิลเรื่องศีลธรรมเป็นสิ่งที่ล้าสมัยหรือใช้การไม่ได้ในโลกยุคใหม่ของเรา. หลายคนคิดว่า การนมัสการพระเจ้าตามแบบที่พระองค์บอกให้เราทำในพระคำของพระองค์นั้นไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร. (โยฮัน 4:24) ทำไมพวกเขาคิดอย่างนั้น? คำตอบส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความกดดันจากคนรอบข้าง. ที่เอเฟโซ 2:2 เปาโลกล่าวถึงระบบของโลกนี้ว่ามี “วิญญาณ” หรือเจตคติที่แพร่หลาย. วิญญาณนั้นกดดันให้ผู้คนปรับตัวเข้ากับความคิดของโลกที่ไม่รู้จักพระยะโฮวา. เราอาจได้รับผลกระทบอย่างไร?
ในแต่ละวัน กิจกรรมของเราที่โรงเรียน, ในการศึกษา, พันธะหน้าที่ต่อครอบครัว, และในการงานอาชีพมักเกี่ยวข้องกับการที่เราต้องคลุกคลีอยู่กับผู้คนที่ไม่ได้ยึดถือค่านิยมทุกอย่างของคริสเตียนเหมือนกับเรา. ตัวอย่างเช่น ที่โรงเรียนอาจมีหลายคนที่พยายามทำแทบทุกวิถีทางเพื่อได้รับความนิยมชมชอบ, ทำผิดศีลธรรมทางเพศ, หรือแม้แต่ใช้ยาและแอลกอฮอล์อย่างผิด ๆ. จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราเลือกเพื่อนสนิทท่ามกลางคนที่มีความประพฤติเช่นนั้น หรือคนที่ถือว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องธรรมดา และน่าชมเชยด้วยซ้ำ? เราคงเริ่มรับเอาเจตคติคล้าย ๆ กันนั้น โดยตอนแรกอาจเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป. “วิญญาณ” หรือ “อากาศ” ของโลกจะกดดันเรา หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือบีบเราเข้าสู่แบบพิมพ์ของโลก.
น่าสนใจ นักสังคมศาสตร์สมัยใหม่บางคนได้ทำการทดลองซึ่งสนับสนุนหลักการเหล่านี้ของคัมภีร์ไบเบิล. ขอพิจารณาการทดลองที่โดดเด่นของแอช. มีการเชิญคนหนึ่งให้นั่งรวมกับคนกลุ่มหนึ่ง. ดร. แอชให้พวกเขาดูกระดาษแผ่นใหญ่ซึ่งมีเส้นแนวตั้งเส้นหนึ่ง จากนั้นก็ให้ดูกระดาษอีกแผ่นหนึ่งที่มีเส้นแนวตั้งสามเส้นซึ่งมีขนาดต่างกันอย่างเห็นได้ชัด. จากนั้นเขาขอให้แต่ละคนในกลุ่มบอกว่าเส้นใดในสามเส้นนั้นมีขนาดเท่ากันกับเส้นในแผ่นแรก. คำตอบง่าย. สองครั้งแรกทุกคนก็ตอบอย่างเดียวกัน. แต่ในการทดสอบครั้งที่สามมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง.
เหมือนเช่นเคย เป็นเรื่องง่ายมากที่จะบอกว่าเส้นไหนที่มีขนาดเท่ากับเส้นแรก. แต่คนที่ถูกทดสอบไม่รู้ว่าคนอื่น ๆ ในกลุ่มถูกจ้างให้มาเป็นส่วนหนึ่งในการทดลอง. คนเหล่านั้นให้คำตอบที่ผิดอย่างเดียวกันหมด. แล้วเกิดอะไรขึ้น? มีเพียง 25 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ถูกทดสอบที่ยึดมั่นกับสิ่งที่ตนเองรู้ว่าเป็นความจริง. คนอื่น ๆ นอกนั้นเห็นพ้องกับคนในกลุ่มอย่างน้อยหนึ่งครั้ง แม้ว่านี่หมายถึงการปฏิเสธสิ่งที่เขามองเห็นด้วยสายตาตัวเอง!
เห็นได้ชัดว่า ผู้คนต้องการทำตามคนรอบข้าง มากถึงขนาดที่คนส่วนใหญ่จะปฏิเสธสิ่งที่เขารู้ว่าเป็นเรื่องจริง. หนุ่มสาวหลายคนได้สังเกตเห็นผลของความกดดันนี้. แดเนียลวัย 16 ปียอมรับว่า “ความกดดันจากคนรอบข้างอาจทำให้คุณเปลี่ยนไป. และยิ่งมีคนห้อมล้อมคุณมากเท่าไร ความกดดันก็มากขึ้นเท่านั้น. คุณอาจถึงกับเริ่มคิดว่าสิ่งที่พวกเขาทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง.”
แอนจี ซึ่งกล่าวถึงข้างต้น เล่าตัวอย่างของความกดดันเช่นนั้นที่มีอยู่ทั่วไปในโรงเรียน: “เมื่อคุณอยู่ในชั้นมัธยมต้น เป็นเรื่องสำคัญมากว่าคุณจะใส่เสื้อผ้าอะไร. คุณต้องมีเสื้อผ้ายี่ห้อดัง ๆ. จริง ๆ แล้วคุณไม่อยากเสียเงิน 50 ดอลลาร์
เพื่อจะซื้อเสื้อตัวเดียวหรอก ใครจะอยาก ทำอย่างนั้น?” ดังที่แอนจีกล่าว อาจเป็นเรื่องยากที่จะรู้สึกถึงความกดดันขณะที่มันเกิดกับตัวคุณ. แต่ความกดดันจากคนรอบข้างอาจส่งผลต่อเราในเรื่องที่ร้ายแรงกว่านั้นไหม?เหตุที่ความกดดันจากคนรอบข้างอาจเป็นอันตราย
ขอนึกภาพว่าคุณกำลังว่ายน้ำอยู่ในทะเล. ขณะที่คุณสนุกอยู่กับการว่ายน้ำและการโต้คลื่น พลังอื่น ๆ อาจกำลังผลักดันคุณโดยไม่รู้ตัว. คลื่นดันคุณเข้าหาฝั่ง กระนั้นอาจมีกระแสน้ำที่อยู่ข้างใต้ด้วย. มันทำให้คุณลอยไปทางด้านข้างอย่างช้า ๆ. ในที่สุดเมื่อคุณมองไปที่ฝั่ง คุณก็ไม่เห็นครอบครัวหรือเพื่อน ๆ อีกแล้ว. คุณไม่รู้ตัวเลยว่าถูกกระแสน้ำพัดพาไปไกลแค่ไหน! ในทำนองเดียวกัน ขณะที่เราทำกิจวัตรประจำวัน ความคิดและความรู้สึกของเราตกอยู่ภายใต้พลังชักจูงอยู่ตลอดเวลา. ก่อนที่เรารู้ตัว พลังชักจูงเหล่านี้อาจผลักดันเราไปไกลจากมาตรฐานที่เราเคยคิดอยู่เสมอว่าเราจะยึดมั่น.
ตัวอย่างเช่น อัครสาวกเปโตรเป็นคนกล้า. ท่านฟาดฟันดาบอย่างไม่เกรงกลัวเมื่ออยู่ต่อหน้าฝูงชนที่เป็นศัตรูในคืนที่พระเยซูถูกจับกุม. (มาระโก 14:43-47; โยฮัน 18:10) แต่หลายปีต่อมา ความกดดันจากคนรอบข้างทำให้ท่านแสดงความลำเอียงอย่างเห็นได้ชัด. ท่านหลบเลี่ยงคริสเตียนต่างชาติ แม้ว่าก่อนหน้านั้นท่านได้รับนิมิตจากพระคริสต์ที่สั่งไม่ให้ท่านถือว่าคนต่างชาติเป็นมลทิน. (กิจการ 10:10-15, 28, 29) เปโตรอาจรู้สึกว่าการเผชิญกับความรังเกียจเดียดฉันท์จากคนอื่นนั้นยากกว่าการเผชิญกับคมดาบ! (ฆะลาเตีย 2:11, 12) จริงทีเดียว ความกดดันจากคนรอบข้างอาจเป็นอันตราย.
สำคัญยิ่งที่จะยอมรับพลังของความกดดันจากคนรอบข้าง
ตัวอย่างของเปโตรสอนบทเรียนสำคัญแก่เราได้. การเป็นคนเข้มแข็งในบางด้านไม่ได้หมายถึงการเป็นคนเข้มแข็งในทุกด้าน. เปโตรมีจุดอ่อน เช่นเดียวกับเราทุกคน. ไม่ว่าเราเป็นใคร เราต้องรู้จุดอ่อนของเราเอง. เราอาจถามตัวเองอย่างตรงไปตรงมาว่า ‘ฉันมีจุดอ่อนตรงไหน? ฉันอยากมีชีวิตแบบที่มั่งคั่งร่ำรวยไหม? ความภูมิใจมากเกินไปในรูปลักษณ์และความสำเร็จของตัวเองเริ่มมีอิทธิพลต่อหัวใจของฉันไหม? ฉันยอมทำถึงขนาดไหนเพื่อจะได้คำสรรเสริญ, ฐานะทางสังคม, และความนิยมชมชอบ?’
เราอาจไม่มีวันพาตัวเองเข้าสู่วิถีทางที่เป็นอันตรายโดยจงใจเลือกคบคนใช้ยาเสพติดที่ผิดศีลธรรมหรือคนที่สำส่อนทางเพศ. แต่จะว่าอย่างไรกับความอ่อนแออื่น ๆ ที่แฝงเร้นอยู่ในตัวเรา? ถ้าเราเลือกคบสนิทกับคนที่จะมีอิทธิพลต่อเราในส่วนที่เป็นจุดอ่อนของเรา เราก็อาจพาตัวเองเข้าไปอยู่ในจุดที่จะถูกคนรอบข้างกดดันได้ ซึ่งอาจก่อความเสียหายถาวรแก่ตัวเราเอง.
กระนั้น ข่าวดีคือความกดดันจากคนรอบข้างไม่ได้เลวร้ายไปเสียทั้งหมด. เราจะจัดการกับความกดดันจากคนรอบข้าง แม้กระทั่งทำให้เราได้ประโยชน์จากมันได้ไหม? และเราจะต่อสู้กับความกดดันที่ไม่ดีจากคนรอบข้างได้อย่างไร? คำถามเหล่านี้จะมีการพิจารณาในบทความ “หนุ่มสาวถามว่า . . . ” ในวันข้างหน้า.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 9 การทดลองง่าย ๆ แสดงให้เห็นว่าความกดอากาศมีอยู่จริง. ถ้าคุณนำขวดพลาสติกเปล่าขึ้นไปบนยอดเขา ปล่อยให้อากาศเข้าไปจนเต็มขวด แล้วปิดฝาให้แน่น จะเกิดอะไรขึ้นกับขวดนั้นเมื่อคุณลงจากเขา? มันจะยุบแฟบลง. ความกดอากาศภายนอกนั้นสูงกว่าอากาศที่เบาบางในขวดมาก.
[กรอบ/ภาพหน้า 24, 25]
สภาพแวดล้อมที่มุ่งเน้นด้านวัตถุอาจทำให้ความกดดันจากคนรอบข้างเพิ่มทวีขึ้นได้มาก