สิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับคริสต์มาส
ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล
สิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับคริสต์มาส
คนนับล้านทั่วโลกกำลังเตรียมตัวฉลองเทศกาลคริสต์มาสปี 2002. บางทีคุณอาจเป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น. ในอีกด้านหนึ่ง นั่นอาจไม่ใช่ธรรมเนียมที่คุณจะเข้าร่วมในการฉลองพิธีทางศาสนาของเทศกาลยอดนิยมนี้. ไม่ว่าจะอย่างไร คุณคงไม่สามารถหนีพ้นอิทธิพลของเทศกาลคริสต์มาสไปได้. อิทธิพลของเทศกาลนี้แทรกซึมเข้าไปในโลกแห่งการค้าและการบันเทิง แม้แต่ในประเทศที่ไม่ใช่คริสเตียน.
คุณรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับคริสต์มาส? คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนให้ฉลองวันประสูติของพระคริสต์ไหม? การฉลองที่นิยมกันนี้ซึ่งจัดขึ้นทุก ๆ วันที่ 25 ธันวาคมมีความเป็นมาอย่างไร?
คริสต์มาสถูกสั่งห้าม
ถ้าคุณใช้เวลาสักเล็กน้อยค้นคว้าเรื่องนี้ คุณจะพบว่าคริสต์มาสไม่ได้มีต้นตอมาจากศาสนาคริสเตียนแท้. ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลหลายคนในนิกายต่าง ๆ ยอมรับเรื่องนี้. เมื่อคำนึงถึงเรื่องนี้ คุณไม่ควรแปลกใจที่ในอังกฤษ รัฐสภาของครอมเวลล์ได้ออกกฤษฎีกาในปี 1647 ให้คริสต์มาสเป็นวันที่ต้องบำเพ็ญทุกรกิริยาและในปี 1652 ก็ห้ามฉลองคริสต์มาสโดยเด็ดขาด. รัฐสภาตั้งใจจัดประชุมกันในวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปีตั้งแต่ปี 1644 ถึง 1656. ตามคำกล่าวของนักประวัติศาสตร์ เพนนี แอล. เรสทัด “ศาสนาจารย์ที่สอนเรื่องการประสูติของพระเยซูเสี่ยงต่อการถูกจำคุก. มัคนายกต้องเสียค่าปรับเนื่องจากตกแต่งโบสถ์ของตน. ตามกฎหมายแล้ว ร้านค้าต่าง ๆ ต้องเปิดในวันคริสต์มาสเหมือนกับวันที่เปิดขายของกันตามปกติ.” ทำไมจึงใช้มาตรการเข้มงวดเช่นนั้น? นักปฏิรูปนิกายพิวริตันที่ยึดถือหลักความเคร่งครัดในศาสนาเชื่อว่า คริสตจักรไม่ควรตั้งประเพณีที่ไม่ได้มีอยู่ในพระคัมภีร์. พวกเขาเทศน์อย่างกระตือรือร้นและแจกจ่ายหนังสือที่ประณามเทศกาลคริสต์มาส.
เคยมีทัศนะคล้าย ๆ กันนี้ในอเมริกาเหนือ. ระหว่างปี 1659 ถึง 1681 คริสต์มาสถูกสั่งห้ามในอาณานิคมอ่าวแมสซาชูเซตส์. * ตามกฎหมายที่ออกในตอนนั้นคือ ห้ามฉลองคริสต์มาสไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม. ผู้ฝ่าฝืนจะต้องถูกปรับ. ไม่ใช่แค่พวกพิวริตันในนิวอิงแลนด์เท่านั้นที่ไม่ชอบการฉลองคริสต์มาส แต่คนบางกลุ่มในอาณานิคมภาคกลางก็เช่นกัน. พวกเควกเกอร์ในเพนซิลเวเนียก็มีความเด็ดเดี่ยวพอ ๆ กับพวกพิวริตันเกี่ยวกับทัศนะที่มีต่อเทศกาลนี้. แหล่งอ้างอิงแหล่งหนึ่งกล่าวว่า “ไม่นานหลังจากชาวอเมริกันได้รับเอกราช เอลิซาเบท ดริงเกอร์ ซึ่งตัวเธอเองก็เป็นเควกเกอร์คนหนึ่ง ได้แบ่งชาวฟีลาเดลเฟียเป็นสามพวก. มีพวกเควกเกอร์ ซึ่ง ‘ถือว่า [คริสต์มาส] ไม่ได้มีความสำคัญเหนือกว่าวันอื่น ๆ,’ พวกที่ฉลองคริสต์มาสด้วยเหตุผลทางศาสนา, และพวกที่เหลือซึ่ง ‘ใช้วันคริสต์มาสในการเลี้ยงวุ่นวายและการปล่อยตัว.’”
เฮนรี วอร์ด บีเชอร์ นักเทศน์ที่มีชื่อเสียงชาวอเมริกัน ซึ่งเติบโตมาในครอบครัวนิกายแคลวินออร์โทด็อกซ์ แทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับคริสต์มาสจนกระทั่งเขาอายุ 30 ปี. บีเชอร์เขียนในปี 1874 ว่า “สำหรับข้าพเจ้าแล้ว คริสต์มาสเป็นวันของต่างชาติ.”
นอกจากนี้ คริสตจักรแบพติสต์และคองกรีเกชันแนลิสต์ในยุคแรกยังพบว่า การฉลองวันประสูติของพระคริสต์ไม่ได้มีรากฐานมาจากพระคัมภีร์. หนังสือเล่มหนึ่งกล่าวว่า จนกระทั่งวันที่ 25 ธันวาคม 1772 คริสตจักรแบพติสต์แห่งนิวพอร์ต
[โรดไอแลนด์] จึงได้ฉลองเทศกาลคริสต์มาสเป็นครั้งแรก. นั่นคือประมาณ 130 ปีหลังจากการก่อตั้งคริสตจักรแบพติสต์แห่งแรกในนิวอิงแลนด์.ต้นกำเนิดของคริสต์มาส
สารานุกรมคาทอลิกฉบับใหม่ (ภาษาอังกฤษ) ยอมรับว่า “วันที่พระคริสต์ประสูตินั้นไม่เป็นที่ทราบกัน. พระธรรมกิตติคุณไม่ได้บอกทั้งวันและเดือน . . . ตามสมมุติฐานของ เอช. อูเซเนอร์ . . . ซึ่งเป็นที่ยอมรับของผู้คงแก่เรียนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน วันประสูติของพระคริสต์ถูกกำหนดขึ้นในวันที่ดวงอาทิตย์โคจรถึงจุดเหมายัน (วันที่ 25 ธันวาคมตามปฏิทินจูเลียน หรือวันที่ 6 มกราคมตามปฏิทินอียิปต์) เนื่องจากในวันนั้น ขณะที่ดวงอาทิตย์เริ่มกลับสู่ท้องฟ้าซีกเหนือ ผู้นับถือเทพมิทราจะฉลองวันดีเอส นาตาลิส โซลิส อินวิกตี (วันประสูติของพระอาทิตย์ที่เกรียงไกร). ในวันที่ 25 ธ.ค. ปี 274 เอาเรเลียนได้ประกาศให้สุริยเทพเป็นผู้คุ้มครองจักรวรรดิองค์หลักและได้อุทิศวิหารในคัมปัส มาร์ทีอุส ให้สุริยเทพ. คริสต์มาสมีต้นกำเนิดในสมัยที่ลัทธิบูชาดวงอาทิตย์มีอิทธิพลมากเป็นพิเศษในโรม.”
ไซโคลพีเดีย ของแมกคลินทอก และสตรองกล่าวว่า “การฉลองเทศกาลคริสต์มาสไม่ได้รับการก่อตั้งจากพระเจ้า ทั้งไม่มีต้นกำเนิดในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่. วันประสูติของพระคริสต์ไม่สามารถสืบค้นได้จากพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ และจริง ๆ แล้วไม่ว่า จากแหล่งไหนทั้งนั้น.”
“คำล่อลวงเหลวไหล”
เมื่อคำนึงถึงเรื่องที่กล่าวข้างต้น คริสเตียนแท้ควรเข้าร่วมในประเพณีคริสต์มาสไหม? พระเจ้าพอพระทัยการผสมผสานการนมัสการพระองค์กับความเชื่อและกิจปฏิบัติทางศาสนาของผู้คนที่ไม่นมัสการพระองค์ไหม? อัครสาวกเปาโลเตือนที่โกโลซาย 2:8 ว่า “จงระวังให้ดี, เกรงว่าจะมีผู้หนึ่งผู้ใดนำท่านทั้งหลายให้หลงด้วยหลักปรัชญาและด้วยคำล่อลวงเหลวไหล, ตามเรื่องซึ่งมนุษย์สอนกันต่อ ๆ มานั้น, ตามโลกธรรม, และไม่ใช่ตามพระคริสต์.”
อัครสาวกเขียนด้วยว่า “อย่าเข้าเทียมแอกด้วยกันกับคนที่ไม่เชื่อ เพราะว่าความชอบธรรมจะมีหุ้นส่วนอะไรกับความชั่ว? และความสว่างจะเข้าสนิทกันกับความมืดได้อย่างไร? พระคริสต์กับเบลิอาล [ซาตาน] จะมีเสียงเข้ากันอย่างไรได้? หรือคนที่เชื่อจะมีส่วนอะไรกับคนที่ไม่เชื่อ?”—2 โกรินโธ 6:14, 15.
เมื่อเห็นหลักฐานที่ไม่อาจโต้แย้งได้เช่นนี้ พยานพระยะโฮวาจึงไม่ร่วมฉลองเทศกาลคริสต์มาส. สอดคล้องกับพระคัมภีร์ พวกเขาพยายามยึดอยู่กับ “แบบแห่งการนมัสการที่สะอาดและปราศจากมลทินจากทัศนะของพระเจ้า” โดยรักษาตัว “ให้ปราศจากด่างพร้อยของโลก.”—ยาโกโบ 1:27, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 7 ก่อตั้งในปี 1628 โดยพวกพิวริตัน อาณานิคมอ่าวแมสซาชูเซตส์เป็นที่ตั้งถิ่นฐานที่ใหญ่ที่สุดและประสบความสำเร็จมากที่สุดในยุคแรกของนิวอิงแลนด์.
[คำโปรยหน้า 16]
รัฐสภาอังกฤษสั่งห้ามฉลองคริสต์มาสในปี 1652
[คำโปรยหน้า 17]
“สำหรับข้าพเจ้าแล้ว คริสต์มาสเป็นวันของต่างชาติ”—เฮนรี วอร์ด บีเชอร์ นักเทศน์ชาวอเมริกัน
[ภาพหน้า 17]
ผู้นมัสการเทพมิทราและสุริยเทพ (รูปนูนต่ำ) ฉลองวันที่ 25 ธันวาคม
[ที่มาของภาพหน้า 17]
Musée du Louvre, Paris