การเพ่งดูโลก
การเพ่งดูโลก
เปลี่ยนขยะเป็นทองคำ
บริษัททำเหมืองในญี่ปุ่นได้ค้นพบวิธีที่ง่ายและได้กำไรมากกว่าการหาโลหะมีค่า. หนังสือพิมพ์ไอเอชที อาซาฮี ชิมบุน แห่งกรุงโตเกียว รายงานว่า แทนที่จะใช้เวลาและเงินมากมายเพื่อค้นหาสินแร่ ขณะนี้บริษัทถลุงแร่แห่งหนึ่งในจังหวัดอากิตะกำลังหลอมเศษชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ที่ทิ้งแล้วเพื่อจะได้โลหะที่มีค่า. ตามคำกล่าวของประธานบริษัท “โทรศัพท์มือถือใช้แล้วหนัก 1 ตัน ซึ่งไม่รวมแบตเตอรี่ สามารถให้ทองคำหลายร้อยกรัม.” เมื่อเทียบกับวิธีทำเหมืองแบบเดิม ผลผลิตต่อตันของ “การทำเหมืองในมหานคร” แบบนี้ อาจสูงกว่าที่ได้จากแร่ประมาณสิบเท่า. ยิ่งกว่านั้น ไม่จำเป็นต้องมีการลงทุนเพิ่มเพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์ทำเหมือง เนื่องจากการทำเหมืองทองด้วยโทรศัพท์มือถือนี้ไม่แตกต่างจากการสกัดโลหะออกจากสินแร่มากนัก.
ลามะเฝ้ายาม
เพื่อป้องกันฝูงแกะของตน เจ้าของฟาร์มเลี้ยงแกะในอเมริกาเหนือกำลังเปลี่ยนไปใช้ตัวลามะ. หนังสือพิมพ์เดอะ โกลบ แอนด์ เมล์ แห่งแคนาดารายงานว่า ลามะ “รู้สึกรักและผูกพันกับสัตว์อื่นที่มันอยู่ด้วย.” มันปกป้องฝูงของมันอย่างจริงจังโดยส่งเสียงเตือน, ต้อนแกะ, ไล่ผู้บุกรุกออกไป, และเตะสัตว์ล่าเหยื่อ. ชาวไร่บางคนถึงกับชอบลามะมากกว่าสุนัขเฝ้ายามเพราะซื้อได้ในราคาค่อนข้างถูก. นอกจากนั้น หนังสือพิมพ์นี้บอกว่า “เนื่องจากลามะกินหญ้าและนอนกับฝูงแกะ จึงไม่มีค่าใช้จ่ายพิเศษในการดูแลพวกมัน และมันอาจอายุยืนกว่าสุนัขพันธุ์ที่นิยมใช้เฝ้ายามหลายปี.” คนเลี้ยงแกะชาวแคนาดาคนหนึ่งซึ่งมีลามะหลายตัวกล่าวถึงข้อดีดังนี้: “มันไม่ทำให้คุณต้องเสียอะไรเลย” และ “มันไม่เห่า.”
สารให้ความเย็นธรรมชาติ
คณะนักวิจัยในเยอรมนีได้ค้นพบสารเคมีธรรมชาติซึ่งมีฤทธิ์ทำให้เย็นได้มากกว่าเมนทอลถึง 35 เท่า แต่ไม่มีรสชาติแบบมินต์. สารเคมีตัวนี้ซึ่งเกิดขึ้นเองในเบียร์และวิสกี้ ถูกค้นพบที่ศูนย์วิจัยเคมีในอาหารแห่งเยอรมนีที่การ์คิง นครมิวนิก. วารสารนิว ไซเยนติสต์ ยกคำกล่าวของนายโทมัส ฮอฟมันน์ หัวหน้าคณะนักวิจัยนี้ ขึ้นมาที่ว่า “สารตัวนี้อาจทำให้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เบียร์, น้ำบรรจุขวด, เครื่องดื่มรสมะนาว, ช็อกโกแลตและลูกกวาดเย็นชื่นใจ.” และเนื่องจากสารตัวนี้ทำให้ผิวหนังรู้สึกเย็นแม้จะมีความเข้มข้นน้อยกว่ามินต์ถึง 250 เท่า มันจึงอาจเพิ่มความสดชื่นให้แก่เครื่องสำอางหรือครีมบำรุงผิวได้.
ปุ๋ยกับจุลชีพดื้อยา
วารสารนิว ไซเยนติสต์ รายงานว่า “ไร่นาตลอดทั่วยุโรปปนเปื้อนยาปฏิชีวนะที่ให้แก่สัตว์เลี้ยงในฟาร์มในระดับที่เป็นอันตราย.” แต่ละปีมีการให้ยาปฏิชีวนะมากกว่า 10,000 ตันแก่สัตว์เลี้ยงในประเทศสหภาพยุโรปและสหรัฐเพื่อกระตุ้นการเติบโตและป้องกันโรค. วารสารนี้ชี้ว่า “แต่การวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ค้นพบความเกี่ยวพันโดยตรงระหว่างการใช้ยาเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นในฟาร์มกับการเกิดจุลชีพที่ดื้อยาปฏิชีวนะที่ติดไปถึงคน. ยาซึ่งอยู่ในปุ๋ยที่พ่นกันตามไร่นา อาจปนอยู่ในอาหารและน้ำ . . . [และมัน] ทำให้พืชผักปนเปื้อน จากนั้นเราก็บริโภคเข้าไป.”
คุณปู่คุณย่า “บุญธรรม”
หนังสือพิมพ์เอล ปาอิส ของสเปนรายงานว่า บางครอบครัวในสเปนได้เตรียมที่จะรับคนสูงอายุที่ไม่มีญาติพี่น้อง 66 คนให้มาอยู่ด้วย. หนังสือพิมพ์นี้กล่าวว่า “วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ . . . คือให้คนที่ไม่สามารถอยู่ตามลำพังได้อีกต่อไปมีทางเลือกอื่นนอกจากการไปอยู่ที่บ้านพักคนชรา.” ท่ามกลางผู้สมัครที่ต้องการรับผู้สูงอายุไปอยู่ด้วยก็มีคู่สมรสในวัย 50 กว่าปีซึ่งอยากใช้ชีวิตร่วมกับผู้สูงอายุสักคน. ครอบครัวอื่น ๆ ที่มีลูกเล็ก ๆ บอกว่าพวกเขาอยากมีคุณปู่คุณย่าที่บ้าน. แม้ว่าครอบครัวที่รับผู้สูงอายุเหล่านี้ได้รับเงินช่วยเหลือ แต่นางมารีซา มูโญซ-กาบาเยโร ผู้อำนวยการโครงการนี้ กล่าวว่า “สิ่งที่กระตุ้นพวกเขาจริง ๆ แล้วไม่ใช่เงิน. ถ้าเป็นเช่นนั้น ไม่นานพวกเขาก็คงทนไม่ไหวเนื่องจากการดูแลผู้สูงอายุเป็นงานหนัก.”
ความรุนแรงในบ้านที่ยุโรป
นางอันนา ดีอามันโตปูลู กรรมาธิการกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งรับผิดชอบเรื่องการจ้างงานและงานสังคม กล่าวว่า “ผู้หญิงชาวยุโรปหนึ่งในทุก ๆ ห้าคนถูกคู่ของตนทำร้ายอย่างรุนแรงในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต.” ณ การประชุมของรัฐมนตรีว่าด้วยความรุนแรงต่อผู้หญิงซึ่งจัดขึ้นที่สเปนเมื่อปีที่แล้ว นางดีอามันโตปูลูกล่าวว่า “ทั่วโลก ผู้หญิงอายุระหว่าง 15 ถึง 44 ปีมีโอกาสได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเนื่องจากถูกผู้ชายทำร้ายมากกว่าโรคมะเร็ง, มาลาเรีย, อุบัติเหตุทางรถยนต์หรือสงครามรวมกัน.” ในสหราชอาณาจักร “มีผู้หญิงหนึ่งคนเสียชีวิตทุก ๆ 3 วันเนื่องจากความรุนแรงภายในบ้าน” ส่วน “ในไอร์แลนด์ มากกว่าครึ่งของผู้หญิงที่ถูกฆาตกรรมนั้นถูกฆ่าโดยคู่หรือสามีของตน.” และในออสเตรีย เลอ มงด์ หนังสือพิมพ์รายวันภาษาฝรั่งเศสรายงานว่า “ครึ่งหนึ่งของคดีหย่าร้างทั้งหมดมีมูลเหตุจากการร้องเรียนของฝ่ายภรรยาที่ถูกสามีของตนทำร้าย.”
ป้องกันเด็กจมน้ำ
วารสารบีเอ็มเจ (เดิมชื่อวารสารทางการแพทย์แห่งบริเตน [ภาษาอังกฤษ]) รายงานว่า ในประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในโลก 26 ประเทศ การจมน้ำเป็นสาเหตุการตายที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดเป็นอันดับสองสำหรับเด็ก ๆ ที่อายุต่ำกว่า 14 ปี. ตามรายงานในวารสารนี้ “เด็กทารกมีโอกาสจมน้ำตายในบ้านมากที่สุด (ส่วนใหญ่ในอ่างอาบน้ำ); เด็กที่เดินเตาะแตะมักจมน้ำในแหล่งน้ำใกล้บ้าน เช่น สระหรือบ่อน้ำ; และเด็กที่โตกว่านั้นก็มักจมน้ำในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น ทะเลสาบและแม่น้ำ.” เพื่อป้องกันอุบัติเหตุเช่นนั้น ผู้เชี่ยวชาญแนะนำดังต่อไปนี้: คอยดูแลทารกที่อยู่ในอ่างอาบน้ำหรือใกล้ ๆ แหล่งน้ำตลอดเวลา; ทำรั้วกั้นรอบสระน้ำในสวนหรือสระว่ายน้ำโดยไม่ให้มีทางเข้าจากตัวบ้าน; อย่าปล่อยให้เด็กว่ายน้ำคนเดียวหรืออยู่ในที่ไกลตา; เข้ารับการฝึกเทคนิคการช่วยชีวิต.
วัยเริ่มเจริญพันธุ์ก่อนเวลา
หนังสือพิมพ์เบอร์ลิเนอร์ ไซทุง แห่งเยอรมนีรายงานว่า “วัยเริ่มเจริญพันธุ์เริ่มต้นเร็วกว่าที่เคยเป็นมา.” ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอีกต่อไปที่วัยเด็กจะยุติลง อย่างน้อยก็ในทางชีววิทยา เมื่อเด็กมีอายุระหว่าง 10 ถึง 12 ปีหรือเร็วกว่านั้นด้วยซ้ำ. นักวิจัยทั่วโลกได้สังเกตเห็นแนวโน้มนี้แต่ไม่แน่ใจว่าอะไรเป็นสาเหตุ. มีการกล่าวถึงการได้รับสารอาหารที่ดีขึ้นและการที่โรคติดเชื้อมีน้อยลงว่าอาจเป็นสาเหตุ. ส่วนคนอื่นกล่าวโทษสารพิษในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารที่เลียนแบบผลกระทบของฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิง. ไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใดก็ตาม การเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วขึ้นอาจทำให้มีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น. หนังสือพิมพ์ฉบับนี้กล่าวว่า “บ่อยครั้ง นับตั้งแต่การเล่นในกองทรายไปจนถึงการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกใช้เวลาไม่กี่ปีเท่านั้น.”
ความโกรธอาจทำให้คุณตายได้
หนังสือพิมพ์ดีอารีโอ เมดีโก แห่งสเปนกล่าวว่า “คนที่อารมณ์ร้ายมีโอกาสเป็นโรคเส้นเลือดสมองมากกว่า.” นานมาแล้วที่แพทย์ชี้ว่าพฤติกรรมที่ก้าวร้าวทำให้มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจสูงขึ้น. การวิจัยเมื่อไม่นานมานี้แสดงว่าพฤติกรรมดังกล่าวยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเส้นเลือดสมองอีกด้วย. ในการสำรวจผู้ใหญ่ 14,000 คน คนขี้โมโหที่อายุไม่ถึง 60 ปีมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเส้นเลือดสมองสูงขึ้นสามเท่า. เพราะเหตุใด? รายงานนั้นกล่าวว่า ดูเหมือนว่าความโกรธจะทำให้ความดันโลหิต, การตีบของหลอดเลือด, และสารสร้างลิ่มเลือด “เพิ่มขึ้นอย่างมาก” ซึ่ง “ในที่สุดอาจส่งผลต่อการไหลเวียนโลหิตในสมอง.”