ความเชื่อถูกทดสอบในสโลวะเกีย
ความเชื่อถูกทดสอบในสโลวะเกีย
เล่าโดยยาน บอลี
ผมเกิดวันที่ 24 ธันวาคม 1910 ที่ซาฮอร์ หมู่บ้านทางภาคตะวันออกของสโลวะเกียในปัจจุบัน. สมัยนั้นหมู่บ้านของเราเป็นส่วนของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี. ปี 1913 แม่พาผมไปอยู่กับพ่อที่สหรัฐ ซึ่งท่านได้ออกจากซาฮอร์ไปก่อนหน้านี้. อีกสองปีหลังจากนั้น แม่กับผมได้มาถึงเมืองแกรี รัฐอินเดียนา และอันนาน้องสาวของผมก็เกิดมา. ต่อมา พ่อล้มป่วยและเสียชีวิตในปี 1917.
ผมเป็นนักเรียนที่สนใจใฝ่รู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องศาสนา. ที่คริสตจักรแคลวิน ผมได้เข้าโรงเรียนสอนศาสนาในวันอาทิตย์สำหรับเด็ก ๆ และครูสังเกตว่าผมเป็นคนฝักใฝ่สิ่งฝ่ายวิญญาณ. เพื่อสนองความกระหายใคร่รู้ ครูได้ให้คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลของโฮลแมนแก่ผม ซึ่งมีคำถามและคำตอบประมาณ 4,000 ข้อ. นั่นทำให้เด็กชายวัย 11 ขวบมีเรื่องต้องขบคิดมากทีเดียว.
‘นี่แหละความจริง’
ระหว่างช่วงแรก ๆ นั้น ผู้อพยพชาวสโลวะเกียบางคนในภูมิภาคซึ่งพวกเราอาศัยอยู่ได้เข้ามาเป็นนักศึกษาพระคัมภีร์ เป็นชื่อเรียกพยานพระยะโฮวาสมัยนั้น. หนึ่งในนั้นคือลุงของผม มีคาล บอลีเป็นคนหนึ่งที่ได้บอกเราเกี่ยวกับความจริงในคัมภีร์ไบเบิล. อย่างไรก็ดี ในปี 1922 แม่พาผมกับน้องสาวกลับซาฮอร์ ซึ่งตอนนั้นได้กลายมาเป็นส่วนทางตะวันออกของเชโกสโลวะเกีย.
หลังจากนั้นไม่นาน ลุงมีคาลได้ส่งคู่มือการศึกษาพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) ครบชุด ซึ่งเขียนโดยชาลส์ เทซ รัสเซลล์ มาให้ผม พร้อมกับวารสารหอสังเกตการณ์ ซึ่งพิมพ์ย้อนหลังไปถึงฉบับแรกสุดคือฉบับ 1 กรกฎาคม 1879. ผมอ่านจบทุกเล่ม บางตอนก็อ่านหลายครั้ง และเกิดความเชื่อมั่นว่าผมได้พบความจริงในคัมภีร์ไบเบิลที่ผมกำลังแสวงหา.
ระหว่างเวลานั้น นักศึกษาพระคัมภีร์บางคนที่เป็นชาวสโลวะเกียโดยกำเนิดได้เดินทางจากสหรัฐกลับบ้านเกิดเมืองนอนของตน. คนเหล่านี้เป็นนักศึกษาพระคัมภีร์ที่พูดภาษาสโลวักกลุ่มแรกในเชโกสโลวะเกีย. ผมกับแม่ได้เข้าร่วมการประชุมสมัยแรก ๆ ที่จัดขึ้นในหมู่บ้านซาฮอร์ของเรา และที่อื่น ๆ อีกในละแวกใกล้เคียง.
การประชุมเหล่านั้นเหมือนการประชุมคริสเตียนในสมัยศตวรรษแรก. ปกติเราประชุมกันในบ้านของนักศึกษาพระคัมภีร์ โดยนั่งรอบโต๊ะและมีตะเกียงน้ำมันก๊าดตั้งไว้ตรงกลาง. เนื่องจากอายุน้อยกว่าใคร ๆ ผมจึงนั่งค่อนไปข้างหลัง ฟังอยู่ในที่มืด. แต่บางครั้ง เขาก็ขอให้ผมมีส่วนร่วมด้วย. เมื่อคนอื่น ๆ รู้สึกไม่ค่อยแน่ใจขณะอ่านภาษาสโลวัก เขาก็จะพูดว่า “ยาน ไหนช่วยบอกหน่อย เรื่อง
นั้นภาษาอังกฤษว่าอย่างไร?” ผมรีบขยับเข้ามาใกล้ตะเกียงและแปลข้อความในหนังสือภาษาอังกฤษออกเป็นภาษาสโลวัก.ในบรรดาผู้ที่เป็นนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลในสหรัฐ และได้กลับสู่ดินแดนซึ่งเปลี่ยนเป็นเชโกสโลวะเกียก็คือ มีคาล ชาลาตา. เขากลับไปยังหมู่บ้านเซคอฟเซใกล้ ๆ หมู่บ้านของเรา คือหมู่บ้านที่เขาเคยอยู่แต่ก่อน และเขาได้ช่วยจัดระเบียบงานเผยแพร่ในเชโกสโลวะเกีย. บราเดอร์ชาลาตาพาผมเดินทางไปเผยแพร่กับเขา. ครั้นแล้ว ในปี 1924 เมื่อมีอายุ 13 ปี ผมขอให้เขาบัพติสมาผม. แม้แม่จะเห็นว่าผมยังค่อนข้างเด็กเกินไปที่จะก้าวสู่ขั้นตอนสำคัญขนาดนั้น แต่ผมก็ทำให้ท่านมั่นใจในการตัดสินใจอันเด็ดเดี่ยวของผม. ดังนั้น ณ การประชุมวันเดียวในเดือนกรกฎาคมปีนั้นซึ่งจัดขึ้นใกล้ ๆ แม่น้ำโอนดาวา ผมจึงได้แสดงสัญลักษณ์การอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาโดยการรับบัพติสมาในแม่น้ำสายนั้น.
สิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับงานรับใช้
เมื่อผมอายุ 17 ปี ผมได้ยินว่ามีการจัดงานศพห่างไปเพียงไม่กี่กิโลเมตรจากหมู่บ้านที่ผมทำงานเผยแพร่อยู่. นับเป็นครั้งแรกที่นักศึกษาพระคัมภีร์ได้จัดงานดังกล่าวในภูมิภาคนี้. ครั้นไปถึงที่นั่น ผมเดินแหวกพวกชาวบ้านที่อยากรู้อยากเห็นเพื่อจะเข้าไปหาผู้บรรยาย. เมื่อพบแล้ว เขาหันมาบอกผมว่า “ผมจะบรรยายก่อน แล้วคุณจะบรรยายต่อจากผม.”
ผมขยายบทบรรยายโดยอาศัยข้อคัมภีร์จาก 1 เปโตร 4:7, (ล.ม.) ที่ว่า “อวสานของสิ่งสารพัดใกล้เข้ามาแล้ว.” ผมชี้จากพระคัมภีร์ว่า แม้แต่อวสานของความทุกข์และความตายก็ใกล้เข้ามา และผมได้อธิบายความหวังเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย. (โยฮัน 5:28, 29; กิจการ 24:15) แม้ตามความเป็นจริงแล้ว ผมดูอ่อนวัยกว่าอายุจริง หรืออาจเป็นเพราะหน้าตาผมดูเด็กมาก แต่ทุกคนที่มาร่วมงานต่างก็ตั้งใจฟังด้วยความสนใจ.
มีการลงข่าวที่น่าตื่นเต้นในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 กันยายน 1931 (ภาษาอังกฤษ) ซึ่งอธิบายว่าพวกเราไม่ต้องการเป็นที่รู้จักในชื่อนักศึกษาพระคัมภีร์อีกต่อไป หรือแม้แต่ชื่อใด ๆ ก็ตาม แต่เราต้องการให้ผู้คนรู้จักเราว่าเป็นพยานพระยะโฮวา. หลังจากอ่านข่าวนี้แล้ว นักศึกษาพระคัมภีร์ในภูมิภาคของเราจึงได้จัดการประชุมพิเศษขึ้น. นักศึกษาพระคัมภีร์ประมาณ 100 คนได้ประชุมกันที่หมู่บ้านปอซดีชอฟเซ. ณ การประชุมนั้น ผมมีสิทธิพิเศษได้บรรยายเรื่อง “ชื่อใหม่” ซึ่งอาศัยบทความในวารสารหอสังเกตการณ์ ตามที่กล่าวข้างต้น.
เมื่อมีการขอให้คนที่เข้าร่วมประชุมรับรองมติอย่างเดียวกันกับที่เพื่อนร่วมความเชื่อในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกได้รับรองไปแล้ว ทุกคนได้ยกมือด้วยความปีติยินดีอย่างยิ่ง. จากนั้นเราได้ส่งโทรเลขถึงสำนักงานใหญ่ของพยานพระยะโฮวาในบรุกลิน นิวยอร์ก มีใจความว่า “พวกเราพยานพระยะโฮวาได้ร่วมชุมนุมกันวันนี้ ณ หมู่บ้านปอซดีชอฟเซ ทุกคนเห็นด้วยกับคำอธิบายในหอสังเกตการณ์ เกี่ยวกับชื่อใหม่ และพวกเรายอมรับชื่อใหม่นี้ คือพยานพระยะโฮวา.”
ภูมิภาคอันกว้างใหญ่ของสโลวะเกียและทรานสการ์พาเทีย ซึ่งเป็นส่วนของเชโกสโลวะเกียสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเขตงานที่บังเกิดผลดีมากสำหรับงานรับใช้ของคริสเตียน. เราออกไปให้คำพยานในเขตงานอันกว้างใหญ่นี้โดยการเดินเท้า, โดยทางรถไฟ, รถประจำทาง, และจักรยานด้วย. สมัยนั้นมีการฉาย “ภาพยนตร์เรื่องการทรงสร้าง” ตามเมืองต่าง ๆ ซึ่งเป็นภาพยนตร์และภาพนิ่งที่ฉายให้ตรงกับคำบรรยายที่บันทึกเสียงไว้แล้ว. หลังจากการฉายภาพยนตร์แต่ละครั้ง ก็มีการรวบรวมรายชื่อและที่อยู่ของคนสนใจ. ผมได้ชื่อพร้อมที่อยู่เหล่านี้จำนวนมากและเขาได้ขอให้ผมจัดพยานฯ ไปเยี่ยมเยียนบรรดาคนสนใจ. ในบางเมือง เราเช่าห้องประชุมใหญ่ซึ่งผมได้ให้คำบรรยายพิเศษภายหลังการฉายภาพยนตร์.
ในช่วงทศวรรษปี 1930 ผมได้รับสิทธิพิเศษเป็นตัวแทนเข้าร่วมการประชุมใหญ่ในเมืองหลวง ซึ่งก็คือกรุงปราก. ปี 1932 การประชุมนานาชาติได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศเชโกสโลวะเกีย. เราประชุมกันที่โรงละคร
วารีเอเท. หัวเรื่องคำบรรยายสาธารณะ “ยุโรปก่อนหายนะ” จับความสนใจของประชาชน และได้มีประมาณ 1,500 คนเข้าร่วมประชุม. การประชุมนานาชาติอีกครั้งหนึ่งได้จัดขึ้นที่กรุงปรากในปี 1937 และผมมีสิทธิพิเศษได้บรรยายหนึ่งเรื่อง. ตัวแทนที่เข้าร่วมประชุมมาจากหลายประเทศในยุโรป และพวกเราทุกคนต่างก็ได้รับการหนุนใจที่จำเป็นเพื่อจะนำพาเราให้ผ่านพ้นการทดลองซึ่งจวนจะมีมาในไม่ช้าระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2.แต่งงานและการทดสอบอันแสนสาหัส
หลังจากกลับถึงเชโกสโลวะเกียแล้ว ผมกับแม่ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดทำการประกาศร่วมกับเพื่อนนักศึกษาพระคัมภีร์ในปอซดีชอฟเซที่อยู่ใกล้ ๆ. ที่นั่น ผมเริ่มสังเกตเด็กสาวสวยชื่ออันนา โรฮาโลวา. ครั้นเราเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เราตระหนักว่าความรู้สึกที่มีต่อกันนั้นลึกซึ้งเกินกว่าจะเป็นเพียงความรักใคร่ฉันพี่น้องคริสเตียน. ในปี 1937 เราจึงได้แต่งงานกัน. นับตั้งแต่นั้น อันนาได้ช่วยเหลือเกื้อกูลผมโดยตลอด แม้กระทั่ง ‘ยามยากลำบาก’ ซึ่งคืบใกล้เข้ามา.—2 ติโมเธียว 4:2.
ไม่นานหลังจากเราแต่งงานกัน ก็ปรากฏว่ายุโรปกำลังเตรียมทำสงครามโลกครั้งที่ 2. พอถึงเดือนพฤศจิกายน 1938 ส่วนที่อยู่ทางใต้ของทรานสการ์พาเทียและสโลวะเกียก็ถูกยึดโดยฮังการี ซึ่งร่วมมือกับพรรคนาซีของเยอรมนี. ตำรวจฮังการีสั่งห้ามการประชุมต่าง ๆ ของเรา และเราต้องไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจเป็นประจำ.
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มขึ้นในเดือนกันยายน 1939 พวกเราหลายคนทั้งชายและหญิงจากเมืองซาฮอร์ถูกควบคุมตัวและถูกนำไปที่ปราสาทเก่าใกล้เมืองมูคาเชฟเว ปัจจุบันอยู่ในยูเครน. ที่นั่น เราได้พบเพื่อนพยานฯ หลายคนจากประชาคมทรานสการ์พาเทีย. หลังการสอบสวนนานถึงสามสี่เดือน แถมถูกทุบตีบ่อย ๆ เราถูกดำเนินคดีโดยศาลทหารพิเศษ. เขาถามพวกเราทุกคนด้วยคำถามเดียวกันว่า “เพื่อประเทศฮังการี คุณเต็มใจจะสู้รบกับสหภาพโซเวียตไหม?” เนื่องจากพวกเราปฏิเสธ เราจึงถูกตัดสินลงโทษและในที่สุดพวกเราถูกส่งเข้าคุก เลขที่ 85 ถนนมอร์กิต ในกรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี.
นักโทษทั้งหมดอดอยาก. ไม่นานโรคต่าง ๆ ก็แพร่ระบาด และนักโทษเริ่มเสียชีวิต. น่าอบอุ่นใจเสียนี่กระไรเมื่อภรรยาของผมเดินทางจากซาฮอร์มาเยี่ยม! แม้ว่าเราได้พูดกันเพียงห้านาทีโดยผ่านลูกกรงเหล็กกั้น แต่ผมรู้สึกขอบคุณพระยะโฮวาที่ผมมีคู่ครองที่ซื่อสัตย์มั่นคงอย่างนี้. *
จากคุกสู่ค่ายแรงงาน
ผมถูกพาตัวออกจากคุกตรงไปยังเมืองยาซเบเรนย์ ประเทศฮังการี ซึ่งพยานพระยะโฮวาราว ๆ 160 คนถูกนำตัวไปที่นั่นแล้ว. ระหว่างอยู่ที่นั่น นายทหารชาวฮังการียื่นข้อเสนอสุดท้ายจากรัฐบาลฮังการีให้เราคือ “ถ้าใครเต็มใจรับใช้ในกองทัพ ให้ก้าวออกมายืนข้างหน้า.” ไม่มีสักคนก้าวออกไป. นายทหารจึงพูดว่า “ถึงแม้ฉันไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่พวกนายกำลังทำอยู่ แต่ฉันขอชมเชยที่พวกนายยังรักษาความเชื่ออยู่เสมอ.”
สองสามวันต่อมา พวกเราลงเรือที่แม่น้ำดานูบและเริ่มเดินทางไปยังค่ายแรงงานใกล้เมืองบอร์ในยูโกสลาเวีย. ระหว่างที่พวกเราอยู่บนเรือ พวกทหารและผู้บัญชาการพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้เราอะลุ่มอล่วยความเชื่อ. ผู้บัญชาการสั่งทหารให้ทุบตีเราด้วยปืนไรเฟิล, เตะถีบเราด้วยรองเท้าบูต, และใช้วิธีทรมานอื่น ๆ อีกหลายอย่าง.
เมื่อเขาส่งมอบพวกเราให้พันโทอันดราส โบล็อก ซึ่งเป็นผู้บัญชาการค่ายแรงงานที่เมืองบอร์ เขาบอกพวกเราว่า “ถ้าเรื่องที่ฉันได้ยินเกี่ยวกับพวกแกเป็นความจริง พวกแกจะต้องตายในไม่ช้า.” แต่หลังจากอ่านหนังสือปิดผนึก
จากเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้ว เขาปฏิบัติต่อพวกเราด้วยความนับถือ. โบล็อกให้พวกเรามีอิสระไปไหนมาไหนได้พอสมควร และอนุญาตให้สร้างโรงเรือนสำหรับพวกเราเองด้วยซ้ำ. ถึงแม้อาหารขาดแคลน แต่เรามีห้องครัวของเราเอง ดังนั้นการแจกจ่ายอาหารจึงเป็นไปอย่างยุติธรรม.เดือนมีนาคม 1944 เยอรมนีเข้ายึดครองประเทศฮังการี. ตอนนั้น เอดเด มอรันยี ผู้บัญชาการที่ฝักใฝ่ลัทธินาซีถูกส่งมาแทนโบล็อก. เขาวางกฎระเบียบอย่างเข้มงวด ไม่ต่างกันกับที่ค่ายกักกัน. แต่จากนั้นไม่นาน กองทัพรัสเซียก็รุกมาถึงที่นั่นและค่ายกักกันที่เมืองบอร์ถูกย้ายไปอยู่ที่อื่น. ต่อมา ระหว่างที่พวกเราเดินกันเป็นขบวนนั้น พวกเราเป็นประจักษ์พยานการสังหารหมู่ชาวยิวที่เชอร์เวงกอ. ดูเหมือนเป็นเรื่องอัศจรรย์ที่พวกเราไม่ถูกประหาร.
เมื่อถึงพรมแดนระหว่างฮังการีกับออสเตรีย พวกเราได้รับคำสั่งให้ขุดรังปืนกลเป็นที่ตั้งแท่นปืน. พวกเราอธิบายว่า ที่เราเป็นนักโทษก็เพราะเราไม่ยอมมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมใด ๆ ทางทหาร. เนื่องจากผมยืนอยู่หน้ากลุ่ม นายทหารฮังการีจับตัวผมไว้แน่นและเริ่มทุบตีผม. “ฉันจะฆ่าแก!” เขาตะโกนลั่น. “ถ้าแกไม่ทำ คนอื่นจะทำตามตัวอย่างที่ไม่ดีของแก!” เพราะอานดรัช บาร์ทา พยานฯ ที่อายุมากกว่าผม ซึ่งเคยนำหน้าพวกเราในงานเผยแพร่ ได้เข้ามาขวางไว้ด้วยความกล้าหาญ ผมจึงรอดชีวิตมาได้. *
สองสามสัปดาห์ต่อมา สงครามก็ยุติลงและพวกเราเริ่มเดินทางกลับบ้าน. นักโทษคนอื่น ๆ ซึ่งถูกปล่อยจากค่ายแรงงานในเมืองบอร์ก่อนหน้านี้ได้รายงานว่าทุกคนที่ถูกพาตัวไปยังเมืองเชอร์เวงกอถูกฆ่าตายหมด. ดังนั้น ตลอดเวลาหกเดือน ภรรยาผมจึงคิดว่าเธอเป็นม่ายเสียแล้ว. แต่แล้ววันหนึ่งเธอต้องรู้สึกประหลาดใจเพียงใดเมื่อเห็นผมยืนอยู่ที่บันไดหน้าประตูบ้าน! น้ำตาแห่งความปีติยินดีไหลรินอาบแก้มขณะที่เราสวมกอดกันหลังจากที่ต้องพลัดพรากจากกันหลายปี.
จัดระเบียบการงานขึ้นมาใหม่
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สโลวะเกียรวมตัวเข้ากับเชกเกียตั้งเป็นประเทศเชโกสโลวะเกีย. อย่างไรก็ตาม พื้นที่ส่วนใหญ่ของทรานสการ์พาเทียซึ่งเคยเป็นส่วนของเชโกสโลวะเกียตอนก่อนสงครามได้กลายมาเป็นส่วนของยูเครนในสหภาพโซเวียต. ปี 1945 ผมกับมีคาล มอสกัล ได้ไปที่บราทิสลาวา ปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของสโลวะเกีย ซึ่งเราได้พบกับพี่น้องผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเพื่อจัดระเบียบงานเผยแพร่ขึ้นมาใหม่. ถึงแม้อิดโรยและอ่อนล้าทั้งร่างกายและอารมณ์ แต่พวกเราก็ยังตั้งใจจะทำงานมอบหมายเกี่ยวกับการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าให้สำเร็จลุล่วง.—มัดธาย 24:14; 28:18-20.
หลังสงคราม การประชุมใหญ่เป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญสำหรับงานของเรา. เดือนกันยายน 1946 มีการจัดการประชุมสำหรับทั้งประเทศเป็นครั้งแรกที่เมืองเบอร์โน. ผมได้รับสิทธิพิเศษให้บรรยายเรื่อง “ฤดูเกี่ยว อวสานของโลก.”
ในปี 1947 มีการจัดการประชุมใหญ่ระดับชาติอีกครั้งหนึ่งในเบอร์โน. ณ การประชุมนั้น นาทาน เอช. นอรร์, มิลตัน จี. เฮนเชล, และเฮย์เดน ซี. คัฟวิงตัน จากสำนักงาน
ใหญ่ของพยานพระยะโฮวาที่บรุกลิน นิวยอร์ก ได้มาเยี่ยมและให้คำบรรยายที่หนุนกำลังใจ. ผมได้รับสิทธิพิเศษเป็นล่ามแปลคำบรรยายของพวกท่าน. แม้ว่าพวกเราผู้ประกาศข่าวราชอาณาจักรในเชโกสโลวะเกียสมัยนั้นมีประมาณ 1,400 คน แต่มากกว่า 2,300 คนได้เข้ามาฟังคำบรรยายสาธารณะ.การข่มเหงภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์
พรรคคอมมิวนิสต์ยึดอำนาจปกครองเชโกสโลวะเกียในปี 1948 และต่อมาไม่นานก็มีการสั่งห้ามงานเผยแพร่ของเราซึ่งยืดเยื้อต่อเนื่องนานถึง 40 ปี. ในปี 1952 พวกเราหลายคนซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐเห็นว่าเป็นผู้นำได้ถูกจับเข้าคุก. ส่วนใหญ่ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการบ่อนทำลาย แต่พวกเราบางคนถูกฟ้องในข้อหาเป็นกบฏ. ผมถูกจำคุกและถูกสอบสวนนานถึง 18 เดือน. ครั้นผมถามว่าผมเป็นกบฏในทางใด ผู้พิพากษาตอบดังนี้: “คุณพูดเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า. และคุณบอกว่าราชอาณาจักรนั้นจะปกครองโลก. ทั้งนี้รวมถึงเชโกสโลวะเกียด้วย.”
ผมตอบว่า “ถ้าเป็นอย่างนั้น ท่านคงจะต้องตัดสินทุกคนที่อธิษฐานตามคำอธิษฐานขององค์พระผู้เป็นเจ้าและทูลขอเพื่อให้ ‘ราชอาณาจักรของพระเจ้ามา’ เป็นกบฏกันหมด.” ถึงอย่างไร ผมก็ถูกตัดสินจำคุกห้าปีครึ่งและถูกส่งไปที่คุกคอมมิวนิสต์ในเมืองยาชีมอฟในเชโกสโลวะเกีย ซึ่งขึ้นชื่อในด้านหฤโหด.
หลังจากติดคุกจนเกือบครบกำหนดพ้นโทษ ผมก็ได้รับการปล่อยตัว. อันนาภรรยาของผมได้เกื้อหนุนผมอย่างซื่อสัตย์โดยทางจดหมายและการเยี่ยม อีกทั้งได้เอาใจใส่เลี้ยงดูมารีอาลูกสาวของเรา. ในที่สุด เราได้กลับมาอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว และเราทำกิจกรรมต่าง ๆ ของคริสเตียนเช่นเดิม ซึ่งก็ต้องแอบทำอย่างลับ ๆ.
ชีวิตที่น่าพอใจเนื่องด้วยการรับใช้พระยะโฮวา
ช่วงเวลากว่า 70 ปีที่ผ่านมา พยานพระยะโฮวาในพื้นที่ของเราได้รับใช้พระเจ้าภายใต้สภาพการณ์หลากหลาย ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์. จริงอยู่ ผมอายุมากขึ้นและร่างกายก็อ่อนแอลง ถึงกระนั้น ผมยังสามารถรับใช้ในฐานะคริสเตียนผู้ปกครองในซาฮอร์ พร้อมด้วยผู้ซื่อสัตย์อย่างเช่น ยาน คอร์พา-โอนโด ซึ่งขณะนี้ยังมีชีวิตอยู่และอายุ 98 ปีแล้ว. * ภรรยาที่รักของผม ซึ่งเป็นของประทานจากพระยะโฮวาอย่างแท้จริงได้เสียชีวิตเมื่อปี 1996.
ผมยังจำได้อย่างแม่นยำเกี่ยวกับภาพจินตนาการซึ่งอยู่ในหนังสือทางสู่อุทยาน (ภาษาอังกฤษ) หน้า 228 ถึง 231 จัดพิมพ์ปี 1924. มีการขอให้ผู้อ่านวาดมโนภาพว่าตัวเองอยู่ในอุทยาน กำลังฟังเสียงพูดคุยกันระหว่างชายหญิงสองคนที่เป็นขึ้นจากตาย. คนทั้งสองยังนึกสงสัยอยู่ว่าตอนนี้เขาอยู่ที่ไหน. แล้วชายคนหนึ่งซึ่งรอดผ่านสงครามอาร์มาเก็ดดอนได้รับสิทธิพิเศษให้ชี้แจงแก่คนทั้งสองว่าเขาถูกปลุกให้เป็นขึ้นมาอยู่ในอุทยาน. (ลูกา 23:43, ล.ม.) ถ้าผมรอดผ่านอาร์มาเก็ดดอน ผมอยากจะเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ภรรยาฟัง, มารดาของผมด้วย, และคนอื่น ๆ ที่ผมรักเมื่อพวกเขาเป็นขึ้นจากตาย. แต่ถ้าผมตายก่อนอาร์มาเก็ดดอน ผมก็จะคอยท่าเวลาที่ใครสักคนในโลกใหม่จะเล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากผมตายไปแล้ว.
ตอนนี้ ผมจะทะนุถนอมสิทธิพิเศษอันเยี่ยมยอดและน่าเกรงขามอย่างยิ่งต่อ ๆ ไปในการสนทนากับองค์บรมมหิศรแห่งเอกภพ และการที่ผมสามารถเข้าใกล้พระองค์ได้. ความตั้งใจของผมคือ จะดำเนินชีวิตประสานกับถ้อยคำของอัครสาวกเปาโลที่โรม 14:8 (ล.ม.) ต่อ ๆ ไปที่ว่า “ถ้าเราอยู่ เราก็อยู่เพื่อพระยะโฮวา และถ้าเราตาย เราก็ตายเพื่อพระยะโฮวา. เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเราอยู่หรือตาย เราก็เป็นของพระยะโฮวา.”
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 22 โปรดอ่านเรื่องราวของอันเดรย์ ฮันอัก ในตื่นเถิด ฉบับ 8 พฤษภาคม 2002 หน้า 19-24. เรื่องนั้นพรรณนาสภาพคุกแห่งนี้และเหตุการณ์ในเมืองเชอร์เวงกอ ซึ่งจะกล่าวถึงทีหลังในบทความนี้.
^ วรรค 28 เพื่อได้ข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับอานดรัช บาร์ทา ดูหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 กรกฎาคม 1993 หน้า 10-11.
^ วรรค 39 อ่านชีวประวัติของเขาได้ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 กันยายน 1998 หน้า 24-28.
[ภาพหน้า 21]
กับอันนา หนึ่งปีหลังการสมรสของเรา
[ภาพหน้า 22]
กับนาทาน เอช. นอรร์ ณ การประชุมใหญ่ในเมืองเบอร์โน ปี 1947