ฉันจะรับมือกับความกดดันจากคนรอบข้างได้อย่างไร?
หนุ่มสาวถามว่า . . .
ฉันจะรับมือกับความกดดันจากคนรอบข้างได้อย่างไร?
“ความกดดันจากคนรอบข้างมีอยู่ทุกหนแห่ง.”—เจสซี วัย 16 ปี.
“ความกดดันจากเพื่อนนักเรียนเป็นเรื่องยากที่สุดเรื่องหนึ่งที่ผมต้องเผชิญขณะที่เติบโตขึ้น.”—โจนาทาน วัย 21 ปี.
ความกดดันจากคนรอบข้างเป็นพลังที่ไม่อาจมองข้ามได้. แต่ขอให้มั่นใจว่า คุณสามารถ ต้านทานความกดดันนั้นได้. ที่จริง คุณจัดการเรื่องนี้ได้และถึงกับใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตัวคุณได้ด้วยซ้ำ. แต่โดยวิธีใดล่ะ?
เรื่องที่แล้วในบทความชุดนี้ เราได้พิจารณาขั้นแรกที่สำคัญคือ การยอมรับพลังของความกดดันจากคนรอบข้างและการที่คุณถูกพลังนั้นโจมตีได้ง่าย. * มีขั้นตอนอะไรอีกที่เป็นประโยชน์ซึ่งคุณอาจทำได้? การชี้นำที่เป็นประโยชน์ซึ่งจำเป็นสำหรับคุณนั้นมีอยู่ในพระคำของพระเจ้า. สุภาษิต 24:5 (ล.ม.) กล่าวว่า “ชายที่มีความรู้ก็มีกำลังมากขึ้น.” ความรู้เช่นไรจะเสริมสร้างคุณให้มีพลังเหนือความกดดันจากคนรอบข้าง? ก่อนตอบคำถามนี้ ทีแรกขอเราพิจารณาปัญหาหนึ่งที่อาจทำให้ความกดดันจากคนรอบข้างมีอำนาจเหนือคุณ.
การขาดความมั่นใจ—อันตรายอย่างหนึ่ง
บางครั้งหนุ่มสาวซึ่งเป็นพยานพระยะโฮวาพบว่าความกดดันจากคนรอบข้างเป็นข้อท้าทายพิเศษเนื่องจากแนวทางชีวิตของพวกเขาเกี่ยวข้องกับการบอกคนอื่นถึงความเชื่อของตน. (มัดธาย 28:19, 20) บางครั้ง คุณรู้สึกว่ายากไหมที่จะบอกเรื่องความเชื่อของคุณแก่หนุ่มสาวคนอื่น ๆ ที่คุณพบ? ไม่ใช่คุณคนเดียวที่รู้สึกเช่นนั้น. เมลานีวัย 18 ปีกล่าวว่า “เมื่อฉันต้องบอกหนุ่มสาวคนอื่นว่าฉันเป็นพยานฯ มันยากกว่าที่ฉันคิด.” เธอกล่าวเสริมว่า “ทันทีที่ฉันรวบรวมความกล้าได้จนพอที่จะบอกเด็กคนอื่น ๆ ว่าฉันเป็นพยานฯ ฉันก็เกิดกลัวขึ้นมาอีก.” ดูเหมือนว่า ความกดดันจากคนรอบข้างที่เป็นไปในทางลบยับยั้งเธอไว้มิให้พูด.
คัมภีร์ไบเบิลยืนยันกับเราว่า แม้แต่ชายหญิงที่มีความเชื่อที่โดดเด่นก็เคยลังเลที่จะพูดกับผู้คนถึงเรื่องพระเจ้า. ตัวอย่างเช่น เด็กหนุ่มยิระมะยาทราบว่าตนจะต้องเผชิญกับการเยาะเย้ยยิระมะยา 1:6, 7.
และการข่มเหงหากเชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้าที่ให้ประกาศอย่างกล้าหาญ. นอกจากนี้ ยิระมะยายังขาดความมั่นใจ. เพราะเหตุใด? ท่านทูลพระเจ้าว่า “ดูเถิด, ข้าพเจ้าพูดไม่ได้, เพราะข้าพเจ้าเป็นเด็กอยู่.” พระเจ้าทรงเห็นด้วยไหมที่ว่าความหนุ่มแน่นของยิระมะยาทำให้ท่านไม่มีคุณวุฒิที่จะพูด? ไม่เลย. พระยะโฮวาทรงรับรองกับผู้พยากรณ์คนนี้ว่า “อย่าว่าตัวข้าพเจ้าเป็นเด็ก.” พระยะโฮวาทรงดำเนินการต่อไปตามที่ทรงมุ่งหมายไว้และมอบหมายงานสำคัญให้ชายหนุ่มผู้ลังเลคนนี้.—เมื่อเราขาดความมั่นใจ คือรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง ความกดดันจากคนรอบข้างอาจเป็นสิ่งที่ต้านทานได้ยากทีเดียว. การศึกษาวิจัยได้บ่งชี้เรื่องนี้. ตัวอย่างเช่น ย้อนหลังไปในปี 1937 นักวิทยาศาสตร์ชื่อมูซาเฟอร์ เชอรีฟ ได้ทำการทดลองที่ขึ้นชื่อ. เขาให้คนเข้าไปอยู่ในห้องมืด ให้พวกเขามองเห็นจุดแสงเพียงจุดเดียว แล้วถามพวกเขาว่าจุดแสงนั้นเคลื่อนไปไกลแค่ไหน.
ที่จริง แสงไม่ได้เคลื่อนที่เลย; นี่เป็นเพียงภาพลวงตา. เมื่อถูกทดสอบเป็นรายบุคคล พวกเขาบอกระยะที่ตนเห็นแสงเคลื่อนที่ตามการกะประมาณของตนเอง. อย่างไรก็ดี เมื่อทดสอบเป็นกลุ่ม มีการขอให้พวกเขาบอกระยะที่ตนกะไว้ด้วยเสียงดัง. เกิดอะไรขึ้น? เนื่องจากขาดความมั่นใจในสิ่งที่ตนเห็น พวกเขาจึงมีอิทธิพลต่อกันและกัน. เมื่อทำการทดสอบซ้ำหลายครั้ง คำตอบของพวกเขากลับใกล้เคียงกันมากขึ้นจนกระทั่งมีการตั้ง “มาตรฐานของกลุ่ม” ขึ้น. แม้แต่เมื่อถูกทดสอบทีละคนอีกในภายหลัง หลายคนยังคงได้รับผลกระทบจากความเห็นร่วมกันของคนกลุ่มนั้น.
การทดลองนั้นแสดงให้เห็นจุดสำคัญประการหนึ่ง. การขาดความเชื่อมั่นในตัวเองหรือขาดความมั่นใจทำให้คนเราได้รับผลกระทบจากความกดดันของคนรอบข้างได้ง่ายขึ้น. นั่นเป็นเรื่องที่น่าคิดมิใช่หรือ? ที่จริง ความกดดันจากคนรอบข้างอาจมีผลกระทบต่อผู้คนเมื่อเกี่ยวข้องกับประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญมาก รวมทั้งทัศนะของเขาในเรื่องเพศสัมพันธ์ก่อนการสมรส, การใช้ยาเสพติด, และแม้แต่เป้าหมายที่เขาจะติดตามในชีวิต. หากเรายอมรับเอา “มาตรฐานของกลุ่ม” ในประเด็นดังกล่าวแล้ว เราอาจทำให้อนาคตของเราได้รับผลเสียหายอย่างใหญ่หลวงก็ได้. (เอ็กโซโด 23:2) เราจะทำอะไรได้บ้าง?
เอาละ คุณคิดว่าตัวเองจะทำอย่างไรในการทดสอบนั้นหากคุณรู้ แน่ว่าจุดแสงนั้นไม่ได้เคลื่อนที่? คุณคงจะไม่ได้รับผลกระทบจากกลุ่มที่ถูกทดสอบนั้น. ใช่แล้ว เราจำเป็นต้องมีความมั่นใจ. แต่ความมั่นใจชนิดใดที่เกี่ยวข้องด้วย และเราจะได้ความมั่นใจนั้นโดยวิธีใด?
ทำให้พระยะโฮวาเป็นแหล่งแห่งความมั่นใจของคุณ
คุณอาจได้ยินเรื่องการสร้างความมั่นใจในตัวเองมามากแล้ว. แต่เมื่อพูดถึงวิธีที่จะได้มาซึ่งความมั่นใจดังกล่าว และคุณต้องมีความมั่นใจมากแค่ไหนนั้น ก็มีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกัน. คัมภีร์ไบเบิลมีคำแนะนำที่สมดุลดังนี้: “ข้าพเจ้าบอกทุกคนท่ามกลางท่านทั้งหลายว่า อย่าคิดถึงตัวเองเกินกว่าที่จำเป็นจะคิดนั้น; แต่คิดเพื่อจะมีสุขภาพจิตดี.” (โรม 12:3, ล.ม.) ข้อนี้ในฉบับแปลอีกฉบับหนึ่งอ่านว่า “ข้าพเจ้าขอกล่าวแก่ท่านทั้ง หลายทุกคนว่า อย่าประเมินค่าตัวเองเกินกว่าคุณค่าแท้ของเขา แต่ให้ตีราคาตัวเองพอสมควร.”—ชาลส์ บี. วิลเลียมส์.
การ ‘ตีราคาพอสมควร’ เกี่ยวกับ “คุณค่าแท้” ของตัวคุณย่อมป้องกันมิให้คุณกลายเป็นคนทะนงตน, อวดดี, หรือยโสโอหัง. ในอีกด้านหนึ่ง แง่คิดที่สมดุลดังกล่าวคงจะรวมถึงการมีความมั่นใจอยู่บ้างในความสามารถจริง ๆ ของคุณที่จะคิด, หาเหตุผล, และตัดสินใจอย่างมีสติ. พระผู้สร้างทรงประทาน ‘ความสามารถในการหาเหตุผล’ แก่คุณ และนั่นมิใช่ของประทานที่ด้อยค่า. (โรม 12:1, ล.ม.) การคำนึงถึงเรื่องนั้นจะช่วยคุณให้ต้านทานแรงกระตุ้นที่จะยอมให้คนรอบข้างตัดสินใจแทนคุณ. อย่างไรก็ดี มีความมั่นใจชนิดหนึ่งที่จะปกป้องคุณได้มากกว่านั้นเสียอีก.
กษัตริย์ดาวิดได้รับการดลใจให้เขียนว่า “ข้าแต่พระยะโฮวาเจ้า, เพราะพระองค์เป็นที่หวังใจของข้าพเจ้า: พระองค์เป็นที่วางใจของข้าพเจ้าตั้งแต่เด็ก ๆ มา.” (บทเพลงสรรเสริญ 71:5) ถูกแล้ว ดาวิดมีความมั่นใจเต็มที่ในพระบิดาของท่านทางภาคสวรรค์ และท่านได้ทำเช่นนั้นตั้งแต่เป็นเด็กมา. ท่านเป็น “แต่เด็กหนุ่ม” บางทีอาจเป็นวัยรุ่น ตอนที่ชายร่างยักษ์ชาวฟิลิสตินได้ท้าให้ทหารอิสราเอลคนใดคนหนึ่งออกมาสู้กับเขาตัวต่อตัว. พวกทหารตกใจกลัว. (1 ซามูเอล 17:11, 33) บางทีในท่ามกลางพวกเขาอาจมีความกดดันจากคนรอบข้างซึ่งทำให้ท้อใจ. ไม่ต้องสงสัยว่าพวกเขาคงได้พูดคุยกันแบบที่ทำให้หดหู่ใจเกี่ยวกับรูปร่างและความกล้าหาญของฆาละยัธ และยืนยันว่าคนใดที่ยอมรับคำท้าดังกล่าวคงต้องเป็นบ้าไปแล้ว. ดาวิดไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ เลยจากความกดดันแบบนั้น. เพราะเหตุใด?
โปรดสังเกตถ้อยคำที่ดาวิดพูดกับฆาละยัธ: “เจ้าเข้ามาหาเราด้วยดาบและหอกยาวหอกสั้น แต่ฝ่ายเรามาหาเจ้าด้วยนามแห่งพระยะโฮวาของพลโยธาพระเจ้าแห่งกองทัพยิศราเอล, ซึ่งเจ้าได้ท้าทายนั้น.” (1 ซามูเอล 17:45) ดาวิดใช่ว่าจะมองไม่เห็นรูปร่าง, พละกำลัง, หรืออาวุธของฆาละยัธ. แต่ท่านทราบอะไรบางอย่างที่แน่นอนเหมือนกับที่ทราบว่าท้องฟ้าอยู่เหนือท่าน. ท่านทราบว่าฆาละยัธไม่มีค่าอะไรเลยเมื่อเทียบกับพระยะโฮวาพระเจ้า. หากพระยะโฮวาอยู่ฝ่ายดาวิด แล้วท่านจะกลัวฆาละยัธไปทำไม? ความมั่นใจในพระเจ้าเช่นนั้นได้ทำให้ดาวิดเชื่อมั่น. ไม่ว่าจะมีความกดดันจากคนรอบข้างมากน้อยแค่ไหน ก็ไม่อาจทำให้ท่านหวั่นไหวได้.
คุณมีความมั่นใจในพระยะโฮวาเช่นนั้นไหม? พระองค์ไม่ทรงเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่สมัยของดาวิด. (มาลาคี 3:6; ยาโกโบ 1:17) ยิ่งคุณเรียนรู้เกี่ยวกับพระองค์มากเท่าไร คุณก็จะยิ่งแน่ใจมากเท่านั้นในทุกสิ่งที่พระองค์ทรงบอกไว้ในพระคำของพระองค์. (โยฮัน 17:17) ในพระคำนั้น คุณจะพบมาตรฐานที่แน่นอนและไว้ใจได้ซึ่งจะชี้นำชีวิตคุณและช่วยคุณให้ต้านทานแรงกดดันจากคนรอบข้าง. นอกจากการทำให้พระยะโฮวาเป็นแหล่งแห่งความมั่นใจของคุณแล้ว ยังมีสิ่งอื่นที่คุณจะทำได้ด้วย.
เลือกที่ปรึกษาที่ดี
พระคำของพระเจ้าเน้นถึงความจำเป็นที่จะเสาะหาการชี้นำที่ดี. สุภาษิต 1:5 (ล.ม.) กล่าวว่า “คนที่มีความเข้าใจคือผู้นั้นซึ่งรับการชี้นำที่ชำนาญ.” พ่อแม่ของคุณ ซึ่งเป็นห่วงอย่างสุดซึ้งในเรื่องผลประโยชน์อันดีที่สุดของคุณ อาจเป็นแหล่งที่ให้การชี้นำได้. อินทิราทราบข้อนี้ดี. เธอเล่าว่า “เป็นเพราะคุณพ่อคุณแม่ใช้พระคัมภีร์หาเหตุผลกับดิฉันอยู่เรื่อย ๆ และทำให้พระยะโฮวาเป็นจริงในชีวิตของดิฉัน นั่นแหละที่ทำให้ดิฉันดำเนินในทางแห่งความจริงจนกระทั่งบัดนี้.” หนุ่มสาวหลายคนรู้สึกคล้ายกัน.
หากคุณเป็นสมาชิกคนหนึ่งของประชาคมคริสเตียน คุณก็มีแหล่งที่ให้การเกื้อหนุนที่ดีเยี่ยมอยู่ที่นั่น ซึ่งได้แก่ผู้ดูแลหรือผู้ปกครองที่ได้รับการแต่งตั้ง, อีกทั้งคริสเตียนที่อาวุโสคนอื่น ๆ ด้วย. เด็กสาวนาเดียรำพึงว่า “ฉันนับถือผู้ปกครองในประชาคมจริง ๆ. ฉันยังจำคำบรรยายของผู้ดูแลผู้เป็นประธานได้ ซึ่งมุ่งไปยังคนหนุ่มสาวเป็นพิเศษ. หลังเลิกประชุม ฉันกับเพื่อนรู้สึกตื่นเต้นเพราะเรื่องที่เขาพูดถึงนั้นเป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่ากำลังประสบอยู่.”
อาวุธที่ทรงพลังอีกอย่างหนึ่งในการต้านทานความกดดันจากคนรอบข้างที่เป็นไปในทางลบก็คือความกดดันในทางที่ดี. หากคุณเลือกเพื่อนอย่างฉลาด พวกเขาจะช่วยคุณให้ยึดอยู่กับเป้าหมายที่ดีและมาตรฐานอันถูกต้อง. เราจะเลือกเพื่อนที่ดีได้อย่างไร? ขอจดจำคำแนะนำนี้ไว้: “บุคคลที่ดำเนินกับคนมีปัญญาก็จะเป็นคนมีปัญญา แต่คนที่คบกับคนโฉดเขลาย่อมจะรับความเสียหาย.” (สุภาษิต 13:20, ล.ม.) นาเดียพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในการเลือกคบเพื่อนนักเรียนที่มีปัญญา นั่นคือเพื่อนร่วมความเชื่อ ซึ่งยึดถือมาตรฐานทางศีลธรรมอย่างเดียวกัน. เธอเล่าว่า “เมื่อพวกเด็กผู้ชายที่ไม่ใช่พยานฯ ในโรงเรียนมาห้อมล้อมเพื่อจะ ‘เย้าแหย่’ เรา พวกเราก็ช่วยเหลือกัน.” เพื่อนที่ดีอาจช่วยทำให้คุณลักษณะดีที่สุดในตัวเราปรากฏออกมา. การเสาะหาเพื่อนเช่นนั้นย่อมคุ้มค่ากับความพยายาม.
ดังนั้น ขอให้มั่นใจว่าหากคุณสร้างความมั่นใจในพระยะโฮวา, แสวงหาการชี้นำจากคริสเตียนที่อาวุโส, และเลือกคบเพื่อนอย่างฉลาดแล้ว คุณก็จะรับมือกับข้อท้าทายของความกดดันจากคนรอบข้างได้. ที่จริง คุณอาจส่งผลกระทบในทางที่ดีแก่เพื่อน ๆ ของคุณและช่วยพวกเขาให้คงอยู่ในแนวทางสู่ชีวิตกับคุณได้.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 6 โปรดดูบทความเรื่อง “ความกดดันจากคนรอบข้างมีพลังขนาดนั้นจริง ๆ หรือ?” ในตื่นเถิด! ฉบับ 8 ธันวาคม 2002.
[คำโปรยหน้า 26]
จงเสาะหาเพื่อนที่ดี ผู้ซึ่งรักพระเจ้าและมาตรฐานของพระองค์เหมือนกับคุณ
[ภาพหน้า 26]
“การคบหาสมาคมที่ไม่ดีย่อมทำให้นิสัยดีเสียไป.”—1 โกรินโธ 15:33, ล.ม.
“บุคคลที่ดำเนินกับคนมีปัญญาก็จะเป็นคนมีปัญญา.”—สุภาษิต 13:20, ล.ม.