ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

มีอันตรายสำหรับผู้เล่นเกมไหม?

มีอันตรายสำหรับผู้เล่นเกมไหม?

มี​อันตราย​สำหรับ​ผู้​เล่น​เกม​ไหม?

เด็ก​ชาย​วัย 12 ปี​คน​หนึ่ง “ต้อน​คู่​ต่อ​สู้​ที่​ไม่​มี​อาวุธ​จน​หมด​ทาง​หนี​และ​เอา​ปืน​จ่อ​หัว​เขา. เจ้า​หนู​เยาะเย้ย​คู่​ต่อ​สู้​ที่​อยู่​บน​จอ​ภาพ​ด้วย​ความ​สะใจ​ว่า ‘แก​หนี​ไม่​พ้น​หรอก! แก​อยู่​ใน​กำ​มือ​ฉัน​แล้ว!’ เจ้า​หนู​กด​ปุ่ม​ยิง​เข้า​ที่​ใบ​หน้า​ของ​ตัว​ละคร​นั้น. เลือด​สาด​เปื้อน​เสื้อ​คลุม​ของ​เขา​ขณะ​ที่​ตัว​เขา​หมุน​คว้าง​แล้ว​ก็​ล้ม​ลง. เจ้า​หนู​คน​นั้น​พูด​ว่า ‘แก​เสร็จ​ฉัน​แล้ว!’ พร้อม​กับ​หัวเราะ.”

ตัว​อย่าง​นี้​เป็น​ฉาก​ใน​เกม​คอมพิวเตอร์​เกม​หนึ่ง ยก​มา​จาก​บทความ​เรื่อง “ความ​รุนแรง​ใน​คอมพิวเตอร์: ลูก​ของ​คุณ​เสี่ยง​อันตราย​ไหม?” (ภาษา​อังกฤษ) โดย​สตีเฟน บารร์ ซึ่ง​ทำ​ให้​เกิด​คำ​ถาม​ตาม​ชื่อ​เรื่อง​ของ​เรา. มี​เกม​คอมพิวเตอร์​และ​วิดีโอ​เกม​มาก​กว่า 5,000 เกม​ที่​ซื้อ​หา​ได้. ถือ​กัน​ว่า​เกม​บาง​ประเภท​ให้​ความ​รู้​และ​ความ​บันเทิง​ที่​ไม่​มี​พิษ​ภัย.

เกม​ประเภท​นี้​เกม​หนึ่ง​สอน​วิชา​ภูมิศาสตร์; และ​อีก​เกม​หนึ่ง​สอน​วิธี​ขับ​เครื่องบิน. ส่วน​เกม​อื่น ๆ ฝึก​ให้​ผู้​เล่น​คิด​อย่าง​มี​เหตุ​ผล​และ​แก้​ปัญหา. มี​แม้​กระทั่ง​เกม​ที่​มุ่ง​หมาย​ให้​มี​ผล​ใน​ทาง​รักษา​แก่​ผู้​เล่น. ตัว​อย่าง​เช่น มี​เกม​หนึ่ง​ที่​ออก​แบบ​ขึ้น​เพื่อ​ช่วย​คน​ที่​มี​ความ​ผิด​ปกติ​ใน​การ​อ่าน​ชนิด​หนึ่ง. นอก​จาก​นี้ เกม​บาง​เกม​อาจ​ช่วย​เด็ก ๆ ให้​มี​ความ​รู้​ด้าน​คอมพิวเตอร์​มาก​ขึ้น ซึ่ง​มี​ความ​สำคัญ​ยิ่ง​ขึ้น​เรื่อย ๆ ใน​ยุค​ที่​เทคโนโลยี​เป็น​สิ่ง​ที่​ขาด​ไม่​ได้.

ผู้​เชี่ยวชาญ​ชี้​ถึง​ผล​เสีย

เดวิด วอลช์ ประธาน​สถาบัน​สื่อ​และ​ครอบครัว​แห่ง​สหรัฐ กล่าว​ว่า “เกม​ประเภท​หนึ่ง​มี​เนื้อหา​ต่อ​ต้าน​สังคม เช่น เกี่ยว​กับ​ความ​รุนแรง, เพศ, และ​คำ​หยาบคาย. น่า​เป็น​ห่วง เกม​ประเภท​นี้​ดู​เหมือน​เป็น​ที่​นิยม​มาก​โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ใน​หมู่​เด็ก​อายุ 8 ถึง 15 ปี.”

การ​ศึกษา​วิจัย​ราย​หนึ่ง​ใน​สหรัฐ​แสดง​ว่า เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์​ของ​วิดีโอ​เกม​ที่​เยาวชน​ชอบ​เล่น​มี​ความ​รุนแรง. ริก ไดเออร์ ประธาน​บริษัท​เวอร์ชัวล์ อิมิจ โพรดักชัน กล่าว​ว่า “สิ่ง​เหล่า​นี้​ไม่​ใช่​แค่​เกม​อีก​ต่อ​ไป. มัน​เป็น​อุปกรณ์​สำหรับ​การ​เรียน​รู้. เรา​กำลัง​สอน​เด็ก​ใน​วิธี​ที่​ไม่​น่า​เชื่อ​ที่​สุด​ว่า การ​เหนี่ยว​ไก​นั้น​เป็น​อย่าง​ไร. . . . สิ่ง​ที่​พวก​เขา​ไม่​ได้​เรียน​รู้​คือ​ผล​ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​ชีวิต​จริง.”

ประชาชน​เริ่ม​ส่ง​เสียง​ต่อ​ต้าน​เกม​ที่​มี​ความ​รุนแรง​มา​ตั้ง​แต่​ปี 1976 เมื่อ​มี​เกม​หยอด​เหรียญ​ชื่อ เดท เรซ. แนว​คิด​ของ​เกม​นี้​คือ​การ​ขับ​รถ​ชน​คน​ที่​เดิน​ข้าม​ไป​ข้าม​มา​บน​จอ​ภาพ. ผู้​เล่น​ที่​ชน​คน​เดิน​ถนน​ได้​มาก​ที่​สุด​ก็​ชนะ. เกม​รุ่น​ใหม่​ที่​ซับซ้อน​กว่า​มี​ภาพ​กราฟิก​ที่​ดี​ขึ้น​และ​ทำ​ให้​ผู้​เล่น​สามารถ​ทำ​สิ่ง​รุนแรง​เหมือน​จริง​มาก​ยิ่ง​ขึ้น.

ตัว​อย่าง​เช่น ใน​เกม​คาร์มาเก็ดดอน ผู้​เล่น​อาจ​ต้อง​ขับ​รถ​ชน​คน​ตาย​มาก​ถึง 33,000 คน​เมื่อ​เล่น​เกม​จบ​ทั้ง​หมด. คำ​บรรยาย​ใน​ภาค​ต่อ​ของ​เกม​นี้​คือ “เหยื่อ​ของ​คุณ​ไม่​เพียง​แต่​จะ​ถูก​ขยี้​จน​เละ​อยู่​ใต้​ล้อ​รถ​คุณ​และ​มี​เลือด​สาด​เต็ม​กระจก​หน้า​รถ​เท่า​นั้น แต่​พวก​เขา​ยัง​คุกเข่า​ลง​อ้อน​วอน​ขอ​ความ​เมตตา หรือ​ไม่​ก็​ฆ่า​ตัว​ตาย. ถ้า​คุณ​ชอบ คุณ​อาจ​ตัด​แขน​ตัด​ขา​ของ​เขา​ก็​ได้.”

ความ​รุนแรง​ที่​ถูก​จำลอง​ขึ้น​ทั้ง​หมด​นี้​ไม่​มี​พิษ​ภัย​อย่าง​นั้น​ไหม? มี​การ​ศึกษา​วิจัย​ประมาณ 3,000 ราย​ใน​ประเด็น​นี้. การ​ศึกษา​วิจัย​หลาย​ราย​บ่ง​ชี้​ว่า มี​ความ​เกี่ยว​พัน​กัน​ระหว่าง​ความ​รุนแรง​ใน​เกม​ต่าง ๆ กับ​การ​ที่​ผู้​เล่น​มี​ความ​ก้าวร้าว​มาก​ขึ้น. เหตุ​การณ์​รุนแรง​ต่าง ๆ ใน​หมู่​วัยรุ่น​มัก​ถูก​มอง​ว่า​เป็น​หลักฐาน​ของ​ความ​เกี่ยว​พัน​นี้.

ผู้​เชี่ยวชาญ​บาง​คน​บอก​ว่า​เกม​ไม่​มี​อิทธิพล​ขนาด​นั้น โดย​กล่าว​ว่า​ต้อง​คำนึง​ถึง​ปัจจัย​อื่น ๆ ด้วย เช่น อาจ​เป็น​ได้​ว่า​เด็ก​ซึ่ง​มี​แนว​โน้ม​ใน​ด้าน​ความ​รุนแรง​อยู่​แล้ว​เลือก​ที่​จะ​เล่น​เกม​เช่น​นั้น. แต่​เป็น​ไป​ได้​ไหม​ว่า​เกม​ที่​รุนแรง​มี​ส่วน​ส่ง​เสริม​ด้วย? ดู​เหมือน​ไม่​ตรง​กับ​ความ​เป็น​จริง​ที่​จะ​ยืนกราน​ว่า​ผู้​คน​ไม่​ได้​รับ​อิทธิพล​จาก​สิ่ง​ที่​เขา​เห็น. หาก​เป็น​เช่น​นั้น ทำไม​โลก​แห่ง​การ​ค้า​จึง​ทุ่ม​เงิน​ปี​ละ​หลาย​พัน​ล้าน​ดอลลาร์​เพื่อ​จะ​โฆษณา​ทาง​โทรทัศน์​ล่ะ?

“ความ​ชำนาญ​และ​ความ​ต้องการ​ที่​จะ​ฆ่า”

นัก​จิตวิทยา​การ​ทหาร​ชื่อ เดวิด กรอสส์แมน ผู้​แต่ง​หนังสือ​ชื่อ ว่า​ด้วย​การ​ฆ่า (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า ความ​รุนแรง​ใน​เกม​คอมพิวเตอร์​ฝึก​สอน​เด็ก ๆ ใน​วิธี​เดียว​กับ​ที่​มี​การ​ฝึก​สอน​ทหาร​ให้​เอา​ชนะ​ความ​ไม่​ต้องการ​ที่​จะ​ฆ่า​ซึ่ง​มี​มา​แต่​กำเนิด. ตัว​อย่าง​เช่น ทาง​ทหาร​ได้​ค้น​พบ​ว่า เพื่อ​จะ​ขจัด​ความ​ลังเล​ใน​การ​ฆ่า​ซึ่ง​มี​อยู่​ใน​คน​ส่วน​ใหญ่​ใน​กอง​ทหาร​ราบ​นั้น อาจ​ทำ​ได้​โดย​เพียง​แค่​เปลี่ยน​เป้า​ยิง​ธรรมดา​ให้​เป็น​เป้า​ยิง​รูป​คน​เมื่อ​ซ้อม​ยิง​ปืน. ใน​ลักษณะ​เดียว​กัน กรอสส์แมน​กล่าว​ว่า เกม​ที่​มี​ความ​รุนแรง​สอน​เด็ก ๆ ให้​มี “ความ​ชำนาญ​และ​ความ​ต้องการ​ที่​จะ​ฆ่า.”

ตาม​งาน​วิจัย​ที่​ลง​ใน​วารสาร​จิตวิทยา​บุคลิกภาพ​และ​สังคม (ภาษา​อังกฤษ) วิดีโอ​เกม​และ​เกม​คอมพิวเตอร์​ที่​มี​ความ​รุนแรง​อาจ​มี​อันตราย​มาก​กว่า​ความ​รุนแรง​ที่​แพร่​ภาพ​ใน​โทรทัศน์​หรือ​ใน​ภาพยนตร์​เสีย​ด้วย​ซ้ำ เนื่อง​จาก​ผู้​เล่น​เกม​รู้สึก​ว่า​ตัว​เอง​เป็น​ผู้​ที่​ทำ​ความ​รุนแรง​นั้น. โทรทัศน์​อาจ​ทำ​ให้​เรา​เป็น​ผู้​ชม​ความ​รุนแรง แต่​เกม​คอมพิวเตอร์​ทำ​ให้​เรา​รู้สึก​เหมือน​เป็น​คน​ที่​มี​ส่วน​ร่วม. ยิ่ง​กว่า​นั้น เด็ก​อาจ​ใช้​เวลา​ดู​ภาพยนตร์​เพียง​ไม่​กี่​ชั่วโมง แต่​เด็ก​อาจ​ต้อง​ใช้​เวลา​ถึง 100 ชั่วโมง​ใน​การ​เล่น​วิดีโอ​เกม​ทั่ว ๆ ไป​ให้​ชำนาญ.

บาง​ประเทศ​มี​การ​กำหนด​ให้​ใช้​ระบบ​จัด​ประเภท​ซึ่ง​ได้​รับ​การ​ออก​แบบ​ขึ้น​เพื่อ​ระบุ​ว่า​เกม​ที่​มี​ความ​โหด​เหี้ยม​รุนแรง​เป็น​เกม​สำหรับ​ผู้​ใหญ่​เท่า​นั้น. แต่​ระบบ​เช่น​นี้​จะ​มี​ประโยชน์​ก็​ต่อ​เมื่อ​มี​การ​บังคับ​ใช้. การ​ศึกษา​วิจัย​ใน​สหรัฐ​แสดง​ว่า บิดา​มารดา 66 เปอร์เซ็นต์​ที่​ถูก​สำรวจ​ไม่​รู้​จัก​ระบบ​การ​จัด​ประเภท​ด้วย​ซ้ำ. ผู้​อำนวย​การ​คณะ​กรรมการ​จัด​ประเภท​ซอฟต์แวร์​บันเทิง​กล่าว​ว่า โดย​หลัก​แล้ว ระบบ​นี้​ไม่​ได้​ถูก​ออก​แบบ​มา​เพื่อ​ป้องกัน​ไม่​ให้​เด็ก​ซื้อ​เกม​บาง​อย่าง. เขา​อธิบาย​ว่า “หน้า​ที่​ของ​เรา​ไม่​ใช่​การ​กำหนด​รสนิยม. เรา​ทำ​ให้​บิดา​มารดา​มี​เครื่อง​มือ​ที่​จะ​ตัดสิน​ได้​ว่า​พวก​เขา​ต้องการ​หรือ​ไม่​ต้องการ​ให้​ลูก​ของ​ตน​เล่น​อะไร.”

เกม​เสพ​ติด​หรือ?

เกม​ออนไลน์​ชนิด​ใหม่ ซึ่ง​เล่น​ทาง​อินเทอร์เน็ต​กับ​คน​จาก​ทั่ว​โลก ทำ​ให้​ผู้​เล่น​แต่​ละ​คน​สามารถ​เลือก​เล่น​เป็น​ตัว​ละคร​ที่​สามารถ​เอา​ชนะ​อุปสรรค​ต่าง ๆ ได้ ทำ​ให้​ผู้​เล่น​รู้สึก​ว่า​ตน​เอง​ประสบ​ความ​สำเร็จ​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ. เวลา​ที่​ผู้​เล่น​ใช้​ไป​กับ​ตัว​ละคร​ของ​เขา​กลาย​เป็น​การ​ลง​ทุน และ​ทำ​ให้​ผู้​เล่น​เกิด​ความ​รู้สึก​ว่า​ได้​รับ​ผล​ตอบ​แทน​ซึ่ง​ทำ​ให้​อยาก​เล่น​มาก​ขึ้น. สำหรับ​บาง​คน​แล้ว การ​เล่น​เกม​อาจ​แทบ​ไม่​ต่าง​อะไร​กับ​สิ่ง​เสพ​ติด ซึ่ง​อาจ​เป็น​เหตุ​ผล​หนึ่ง​ที่​ทำ​ให้​เกม​ออนไลน์​เกม​หนึ่ง​ดำเนิน​ต่อ​ไป​เป็น​เดือน ๆ หรือ​แม้​กระทั่ง​เป็น​ปี​ด้วย​ซ้ำ.

วารสาร​ไทม์ รายงาน​ว่า ไม่​นาน​มา​นี้​ใน​ประเทศ​เกาหลี​ใต้​มี​ความ​สนใจ​กัน​มาก​ใน​เกม​ออนไลน์​ชื่อ ลินนิจ. ใน​เกม​นี้​ผู้​เล่น​จะ​ต่อ​สู้​เพื่อ​ให้​ได้​ชัย​ชนะ​โดย​อยู่​ใน​สภาพ​แวด​ล้อม​ของ​ยุค​กลาง. ผู้​เล่น​จะ​ผ่าน​เกม​ระดับ​ต่าง ๆ โดย​พยายาม​ไป​ให้​ถึง​ฐานะ​พิเศษ. หนุ่ม​สาว​บาง​คน​เล่น​เกม​นี้​ตลอด​ทั้ง​คืน​แล้ว​พอ​วัน​รุ่ง​ขึ้น​ก็​ไป​นั่ง​หลับ​ที่​โรง​เรียน. บิดา​มารดา​เป็น​ห่วง​แต่​ก็​มัก​ไม่​ทราบ​ว่า​จะ​จัด​การ​กับ​ปัญหา​นี้​อย่าง​ไร. ผู้​เล่น​เกม​วัย​เยาว์​คน​หนึ่ง​กล่าว​ใน​การ​ให้​สัมภาษณ์​ว่า “เมื่อ​ผู้​คน​พบ​ผม​ทาง​อินเทอร์เน็ต พวก​เขา​คิด​ว่า​ผม​เท่ แต่​เมื่อ​พวก​เขา​พบ​ตัว​จริง​ของ​ผม​พวก​เขา​แนะ​นำ​ให้​ผม​ลด​น้ำหนัก.”

นัก​จิตวิทยา​ชาว​เกาหลี​ชื่อ จุนโม ควอน คิด​ว่า​เกม​ลินนิจ​ได้​รับ​ความ​นิยม​มาก​ขนาด​นั้น​เพราะ​ว่า “ใน​โลก​แห่ง​ความ​จริง ที่​เกาหลี คุณ​ต้อง​ข่ม​ห้าม​แรง​กระตุ้น​และ​ความ​ปรารถนา​ใน​ส่วน​ลึก​ของ​คุณ​ไว้. ใน​เกม สิ่ง​เหล่า​นั้น​ถูก​ปลด​ปล่อย​ออก​มา.” ด้วย​เหตุ​นี้ คน​หนุ่ม​สาว​จึง​หนี​จาก​ความ​เป็น​จริง​เข้า​ไป​สู่​โลก​ใน​จินตนาการ. นัก​วิเคราะห์​ที่​มี​ความ​เข้าใจ​คน​หนึ่ง​พรรณนา​ถึง​ผู้​เล่น​เกม​ดัง​นี้: “สำหรับ​คน​ที่​เล่น​เกม โลก​ของ​เกม​น่า​ดึงดูด​ใจ​มาก​กว่า​โลก​แห่ง​ความ​เป็น​จริง​มาก. โลก​แห่ง​ความ​เป็น​จริง​เป็น​เพียง​ช่วง​เวลา​ที่​เขา​จะ​หา​เงิน​จำนวน​เล็ก​น้อย​ที่​จำเป็น​เพื่อ​จะ​นำ​มา​เล่น​เกม​ต่อ​ไป.”

ผล​กระทบ​ต่อ​สุขภาพ

สถิติ​จาก​สหรัฐ​แสดง​ว่า นัก​เรียน​ชั้น​ประถม​ปี​ที่​หก​โดย​เฉลี่ย​แล้ว​ดู​โทรทัศน์​วัน​ละ​สี่​ชั่วโมง และ​นั่น​ยัง​ไม่​ได้​รวม​เวลา​ที่​เขา​ใช้​เล่น​เกม​โดย​จ้อง​อยู่​หน้า​จอ​คอมพิวเตอร์​หรือ​จอ​ทีวี​ด้วย​ซ้ำ. ใน​การ​สำรวจ​เมื่อ​ปี 1995 เด็ก​มาก​กว่า 60 เปอร์เซ็นต์​ยอม​รับ​ว่า​พวก​เขา​มัก​จะ​เล่น​เกม​นาน​กว่า​ที่​ตั้งใจ​ไว้. ผล​ที่​เกิด​ขึ้น​ได้​ง่าย ๆ คือ​การ​ละเลย​การ​บ้าน. การ​ศึกษา​วิจัย​ใน​ญี่ปุ่น​แสดง​ว่า เกม​คอมพิวเตอร์​กระตุ้น​สมอง​ของ​เด็ก​เพียง​ส่วน​เล็ก​น้อย​เท่า​นั้น. ตาม​การ​ศึกษา​วิจัย​นั้น เด็ก​จำเป็น​ต้อง​อ่าน, เขียน, และ​ทำ​คณิตศาสตร์​มาก​ขึ้น. แต่​เพื่อ​สมอง​ของ​พวก​เขา​จะ​ได้​รับ​การ​พัฒนา​อย่าง​เต็ม​ที่ พวก​เขา​ก็​จำเป็น​ต้อง​มี​การ​เล่น​นอก​บ้าน​แบบ​ที่​กระตุ้น​สมอง​กับ​เด็ก​อื่น ๆ และ​ต้อง​มี​การ​ติด​ต่อ​สัมพันธ์​กับ​คน​อื่น​ด้วย.

มี​รายงาน​ว่า ใน​สหรัฐ เด็ก​อายุ​ระหว่าง​ห้า​ถึง​แปด​ขวบ​ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์​เป็น​โรค​อ้วน. สิ่ง​ที่​น่า​จะ​มี​ส่วน​ทำ​ให้​เกิด​ปัญหา​นี้​คือ​การ​ขาด​การ​ออก​กำลัง​กาย​เนื่อง​จาก​ใช้​เวลา​อยู่​หน้า​จอ​ทีวี​หรือ​จอ​คอมพิวเตอร์​มาก​เกิน​ไป. บริษัท​หนึ่ง​ถึง​กับ​พัฒนา​อุปกรณ์​ออก​กำลัง​กาย​ที่​สามารถ​ใช้​ได้​ขณะ​เล่น​เกม​คอมพิวเตอร์. แต่​เห็น​ได้​ชัด​ว่า คง​ดี​กว่า​มาก​ถ้า​จะ​จำกัด​เวลา​การ​เล่น​เกม​เหล่า​นี้ เพื่อ​จะ​มี​เวลา​มาก​พอ​สำหรับ​กิจกรรม​อื่น ๆ ซึ่ง​จะ​ช่วย​ให้​เด็ก​พัฒนา​บุคลิกภาพ​ใน​ทุก​ด้าน.

ปัญหา​สุขภาพ​อีก​อย่าง​หนึ่ง​คือ ปัญหา​สายตา ซึ่ง​อาจ​เกิด​จาก​การ​เพ่ง​มอง​จอ​ภาพ​เป็น​เวลา​นาน ๆ. การ​สำรวจ​แสดง​ว่า อย่าง​น้อย​หนึ่ง​ใน​สี่​ของ​ผู้​ใช้​คอมพิวเตอร์​ทั้ง​หมด​มี​ปัญหา​สายตา. เหตุ​ผล​หนึ่ง​คือ​อาจ​มี​การ​กะพริบ​ตา​น้อย​ลง ทำ​ให้​ตา​แห้ง​และ​ระคาย​เคือง. การ​กะพริบ​ตา​เป็น​การ​ทำ​ความ​สะอาด​ตา, กระตุ้น​การ​ผลิต​น้ำตา, และ​ล้าง​สิ่ง​ปน​เปื้อน​ให้​หลุด​ออก​ไป.

เนื่อง​จาก​เล่น​จน​ลืม​ตัว เด็ก ๆ อาจ​เล่น​เกม​คอมพิวเตอร์​หลาย​ชั่วโมง​โดย​แทบ​ไม่​ได้​หยุด​พัก. นี่​อาจ​ทำ​ให้​ตา​ล้า​และ​มี​ปัญหา​ใน​การ​ปรับ​สายตา. ผู้​เชี่ยวชาญ​แนะ​ให้​หยุด​พัก​เป็น​ระยะ ๆ ครั้ง​ละ​สอง​สาม​นาที​หลัง​จาก​ใช้​คอมพิวเตอร์​ทุก ๆ หนึ่ง​ชั่วโมง. *

ธุรกิจ​ระดับ​โลก​กำลัง​ขยาย​ตัว

ดู​เหมือน​เกม​ออนไลน์​กำลัง​ได้​รับ​ความ​สนใจ​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ ตลอด​ทั่ว​โลก. อินเทอร์เน็ต​คาเฟ่​กำลัง​เปิด​กัน​แห่ง​แล้ว​แห่ง​เล่า. ร้าน​เหล่า​นี้​มี​คอมพิวเตอร์​จำนวน​หนึ่ง และ​ลูก​ค้า​ก็​จ่าย​เงิน​เพื่อ​เล่น​เกม​ทาง​เครือข่าย. ไม่​แปลก​ที่​หนุ่ม​สาว​บาง​คน​เสีย​เงิน​เดือน​ละ 200 ดอลลาร์​ให้​กับ​ร้าน​อินเทอร์เน็ต​เหล่า​นั้น.

ไม่​ต้อง​สงสัย อุตสาหกรรม​เกม​กำลัง​ขยาย​ตัว. เป็น​ที่​คาด​กัน​ว่า​ตลาด​เกม​ออนไลน์​จะ​เพิ่ม​ขึ้น​ถึง​กว่า 70 เปอร์เซ็นต์​ใน​ระยะ​ห้า​ปี​ข้าง​หน้า.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม เห็น​ได้​ชัด​ว่า​อุตสาหกรรม​ที่​กำลัง​เฟื่องฟู​นี้​มี​ข้อ​เสีย. อันตราย​มี​อยู่​จริง. ไม่​มี​ใคร​ใน​พวก​เรา​ที่​ไม่​ได้​รับ​ผล​เสีย​จาก​การ​ทำ​สิ่ง​ที่​เป็น​อันตราย​ต่อ​สุขภาพ, ทำ​ให้​เสีย​เวลา​และ​เสีย​เงิน​มาก​มาย, หรือ​ทำ​ให้​เรา​ชินชา​กับ​ความ​รุนแรง​และ​การ​ฆ่า. เด็ก ๆ ของ​เรา​ยิ่ง​ต้อง​ได้​รับ​ผล​เสียหาย​มาก​กว่า. ดัง​นั้น ที่​ว่า​เกม​คอมพิวเตอร์​ทุก​เกม​ให้​ความ​รู้​หรือ​ความ​สนุกสนาน​ที่​ไม่​มี​พิษ​ภัย​นั้น จึง​ไม่​เป็น​ความ​จริง. เดวิด วอลช์ ซึ่ง​กล่าว​ถึง​ข้าง​ต้น เตือน​ว่า “สื่อ​ต่าง ๆ อาจ​มี​อิทธิพล​มาก​กว่า​ที่​เรา​คิด.” เขา​เสริม​ว่า “ถ้า​บิดา​มารดา​เป็น​ผู้​รับผิดชอบ​ใน​การ​ดู​แล​ลูก ๆ แล้ว​ล่ะ​ก็ คำ​นิยาม​ใน​การ​ดู​แล​นี้​ก็​ต้อง​ปรับ​ให้​ทัน​กับ​โลก​ของ​สื่อ​ที่​เปลี่ยน​แปลง​อยู่​เสมอ.”

ที่​จริง เป็น​อย่าง​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ไว้ “ฉาก​ของ​โลก​นี้​กำลัง​เปลี่ยน​ไป.” (1 โกรินโธ 7:31, ล.ม.) และ​ดู​เหมือน​ไม่​มี​อะไร​เปลี่ยน​ไป​เร็ว​ยิ่ง​กว่า​สื่อ​บันเทิง. บิดา​มารดา​หลาย​คน​รู้สึก​หมด​แรง​กับ​การ​ที่​ต้อง​พยายาม​ไล่​ให้​ทัน​กับ​แนว​โน้ม​ที่​เปลี่ยน​ไป​ตลอด​เวลา​และ​อิทธิพล​ที่​จู่​โจม​ลูก ๆ ของ​ตน​ทุก​วัน. แต่​อย่า​ท้อ​ใจ. บิดา​มารดา​หลาย​คน​กำลัง​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ใน​การ​เลี้ยง​ดู​ลูก​โดย​ช่วย​ให้​พวก​เขา​จดจ่อ​กับ​สิ่ง​ที่​สำคัญ​จริง ๆ. เช่น​เดียว​กับ​เรา​ทุก​คน เด็ก ๆ ต้อง​รู้​ว่า​ความ​บันเทิง​ไม่​สามารถ​สนอง​ความ​จำเป็น​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​ของ​เรา ไม่​ว่า​จะ​เป็น​คอมพิวเตอร์, ทีวี, หรือ​สื่อ​บันเทิง​อื่น ๆ. ดัง​ที่​พระ​เยซู​เคย​ตรัส​ไว้ ความ​สุข​แท้​มี​แก่​คน​ที่ “รู้​สำนึก​ถึง​ความ​จำเป็น​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​ตน.—มัดธาย 5:3, ล.ม.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 24 นอก​จาก​นั้น บาง​คน​แนะ​นำ​ให้​ผู้​ใช้​คอมพิวเตอร์​ทุก​คน​พัก​สายตา​ทุก ๆ 15 นาที​โดย​มอง​วัตถุ​ที่​อยู่​ไกล​ออก​ไป​นอก​จอ​ภาพ. คน​อื่น ๆ แนะ​ให้​นั่ง​ห่าง​จาก​จอ​ภาพ​อย่าง​น้อย​สอง​ฟุต​และ​หลีก​เลี่ยง​การ​ใช้​คอมพิวเตอร์​เมื่อ​รู้สึก​เหนื่อย.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 6]

เกม​อิเล็กทรอนิกส์—บท​สรุป​ของ​ความ​เสี่ยง

▸ การ​เล่น​เกม​คอมพิวเตอร์​และ​วิดีโอ​เกม​ที่​มี​ความ​รุนแรง​อาจ​กระตุ้น​ให้​เกิด​พฤติกรรม​ที่​ก้าวร้าว.

▸ เกม​อิเล็กทรอนิกส์​ไม่​ได้​ทำ​ให้​คุณ​เป็น​เพียง​ผู้​ชม​ความ​รุนแรง​เท่า​นั้น; เกม​เหล่า​นี้​ได้​รับ​การ​ออก​แบบ​มา​เพื่อ​ทำ​ให้​คุณ​รู้สึก​เหมือน​เป็น​ผู้​มี​ส่วน​ร่วม.

▸ สำหรับ​คน​ที่​ถูก​ชักจูง​ง่าย เกม​อาจ​ทำ​ให้​แยก​ความ​แตกต่าง​ระหว่าง​ความ​เป็น​จริง​กับ​ความ​ฝัน​ได้​ไม่​ชัดเจน.

▸ เหมือน​กับ​สิ่ง​เสพ​ติด การ​เล่น​เกม​อาจ​ทำ​ให้​ละเลย​พันธะ​หน้า​ที่​และ​สัมพันธภาพ​ที่​สำคัญ.

▸ เกม​อาจ​ผลาญ​เวลา​ที่​เด็ก​ควร​ใช้​กับ​กิจกรรม​อื่น ๆ ที่​สำคัญ เช่น การ​เรียน, การ​ติด​ต่อ​สัมพันธ์​กับ​คน​อื่น, และ​การ​เล่น​ที่​เป็น​แบบ​สร้าง​สรรค์.

▸ การ​เพ่ง​มอง​จอ​ภาพ​นาน ๆ อาจ​ทำ​ให้​สายตา​ล้า​ได้.

▸ การ​ขาด​การ​ออก​กำลัง​กาย ซึ่ง​อาจ​เกิด​จาก​การ​เล่น​เกม จะ​ทำ​ให้​เป็น​โรค​อ้วน​ได้.

▸ เกม​อาจ​ทำ​ให้​คุณ​เสีย​เงิน​และ​เวลา.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 8]

วิธี​หนึ่ง​ใน​การ​เลิก​นิสัย​นี้

โทมัส คริสเตียน​วัย 23 ปี​เล่า​ว่า “ตอน​ที่​ผม​เป็น​เด็ก​นัก​เรียน การ​เล่น​เกม​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​การ​บ้าน​ของ​ผม​ใน​ด้าน​ลบ​อย่าง​มาก. เมื่อ​ผม​โต​ขึ้น การ​เล่น​เกม​ก็​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​สิ่ง​อื่น ๆ ด้วย. ผม​ยัง​คง​เล่น​เกม​ต่อ​ไป แม้​กระทั่ง​หลัง​จาก​ที่​ผม​เริ่ม​เป็น​อาสา​สมัคร​ผู้​เผยแพร่​เต็ม​เวลา​แล้ว​ก็​ตาม. ใน​ที่​สุด ผม​ได้​มา​ตระหนัก​ว่า​การ​เล่น​เกม​ทำ​ให้​ผม​เสีย​เวลา​และ​เสีย​กำลัง​มาก​เกิน​ไป. บาง​ครั้ง​เมื่อ​ผม​เล่น​เกม​ก่อน​ออก​ไป​ใน​งาน​เผยแพร่​หรือ​ไป​ยัง​การ​ประชุม​คริสเตียน ผม​รู้สึก​ว่า​ยาก​ที่​จะ​มี​สมาธิ. ผม​แทบ​จะ​คิด​อยู่​ตลอด​ว่า​ผม​จะ​แก้​ปัญหา​บาง​อย่าง​ใน​เกม​อย่าง​ไร​หลัง​จาก​กลับ​บ้าน​แล้ว. การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว​และ​การ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ประจำ​ก็​ได้​รับ​ผล​เสีย. ความ​ยินดี​ใน​การ​รับใช้​พระเจ้า​ก็​เริ่ม​ลด​ลง.

“ตอน​ดึก​ของ​คืน​หนึ่ง​เมื่อ​ผม​เข้า​นอน​แล้ว ผม​รู้สึก​ว่า​ผม​จะ​เป็น​เช่น​นี้​ต่อ​ไป​อีก​ไม่​ได้​แล้ว. ผม​ลุก​ขึ้น, เปิด​คอมพิวเตอร์, เลือก​เกม​ทั้ง​หมด, แล้ว​ก็​กด​ปุ่ม​ลบ​ทิ้ง. ทุก​อย่าง​หาย​ไป​ใน​พริบ​ตา! นั่น​เป็น​เรื่อง​ยาก​มาก. ผม​ยอม​รับ​ว่า​ผม​ติด​เกม​มาก​กว่า​ที่​เคย​คิด. แต่​ผม​ก็​ยัง​เกิด​ความ​รู้สึก​ที่​ดี​มาก​เหมือน​กับ​ได้​ชัย​ชนะ​เนื่อง​จาก​ผม​รู้​ว่า​ผม​ทำ​สิ่ง​นั้น​เพื่อ​ประโยชน์​ของ​ตัว​ผม​เอง. ผม​ยอม​รับ​ว่า​ตั้ง​แต่​นั้น​ผม​ก็​ยัง​ซื้อ​เกม​อยู่​บ้าง. แต่​ตอน​นี้​ผม​เข้มงวด​กับ​ตัว​เอง​มาก​ขึ้น. เมื่อ​ใด​ก็​ตาม​ที่​ผม​รู้สึก​ว่า​ยาก​ที่​จะ​รักษา​ความ​สมดุล​ใน​การ​เล่น​เกม ผม​ก็​เพียง​แต่​กด​ปุ่ม​ลบ​ทิ้ง​อีก.”

[ภาพ​หน้า 6]

บาง​คน​กล่าว​ว่า​มี​ความ​เกี่ยว​พัน​กัน​ระหว่าง​ความ​รุนแรง​ใน​เกม​กับ​การ​ที่​ผู้​เล่น​มี​ความ​ก้าวร้าว​มาก​ขึ้น

[ภาพ​หน้า 7]

ห้อง​เล่น​เกม​อินเทอร์เน็ต​ใน​กรุง​โซล เกาหลี