อับโบรลยูส—ประสบการณ์ที่ไม่มีวันลืม
อับโบรลยูส—ประสบการณ์ที่ไม่มีวันลืม
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในบราซิล
ในศตวรรษที่ 16 กะลาสีซึ่งเดินเรือเข้ามาใกล้พืดหินปะการังนอกชายฝั่งรัฐบาเอีย ประเทศบราซิล ร้องเตือนเพื่อนกะลาสีด้วยกันว่า “อับรา โอส โอลยูส!” (ดูให้ดี!) มีการเล่าขานกันมาว่า คำเตือนที่ร้องซ้ำ ๆ กันนี้ได้กลายมาเป็นชื่อของเกาะเล็ก ๆ ห้าเกาะในเขตนี้ นั่นคือกลุ่มเกาะอับโบรลยูส.
กลุ่มเกาะอับโบรลยูสตั้งอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกใต้ ห่างจากเมืองชายฝั่งการาเวลัสกับอัลโกบาซาเพียง 80 กิโลเมตร. อย่างไรก็ตาม กลุ่มเกาะนี้มีพืดหินปะการังล้อมรอบอยู่และทำให้มันถูกแยกอยู่โดดเดี่ยว. ปะการังที่ไม่ปรากฏในแผนที่รวมทั้งพายุอันรุนแรงแห่งมหาสมุทรแอตแลนติกก็เพียงพอแล้วที่จะยับยั้งกะลาสีส่วนใหญ่ไม่ให้เสี่ยงเข้ามาใกล้บริเวณนี้ หากไม่มีสิ่งล้ำค่าที่น่าดึงดูดใจทางเศรษฐกิจ นั่นคือปลาวาฬหลังค่อม.
การล่าและการดูปลาวาฬหลังค่อม
ปลาวาฬแห่งกลุ่มเกาะอับโบรลยูสกลายเป็นแหล่งทำรายได้หลักของเมืองต่าง ๆ ที่มีการจับปลาตามแถบชายฝั่งในช่วงศตวรรษที่ 19. หลังจากเข้าร่วมพิธีมิสซาพิเศษซึ่งบาทหลวงในท้องถิ่นจะให้พรแก่เรือประมง นักล่าปลาวาฬก็จะพายเรือหรือแล่นเรือใบเปิดประทุนลำเล็ก ๆ ไปยังกลุ่มเกาะนี้. พวกเขาฆ่าสัตว์ขนาดยักษ์เหล่านี้ได้โดยวิธีใด? พวกเขาใช้ประโยชน์จากสัญชาตญาณความเป็นแม่ของปลาวาฬ. นักล่าปลาวาฬจะยิงฉมวกใส่ลูกปลาวาฬก่อนแล้วจึงใช้มันเป็นเหยื่อล่อให้แม่ปลาวาฬเข้ามาใกล้ ๆ. ปลาวาฬที่พวกเขาฆ่าก็จะถูกลากกลับเข้าฝั่งเพื่อเอาไปสกัดน้ำมันที่มีราคาแพงในโรงงานแปรรูปปลาวาฬหนึ่งในหกแห่งของเมืองการาเวลัส.
อย่างไรก็ตาม เมื่อตลาดน้ำมันปลาวาฬล้มในตอนกลางศตวรรษที่ 19 อุตสาหกรรมล่าปลาวาฬจึงซบเซาลง. หลังจากถูกล่ามาหลายสิบปี พอถึงศตวรรษที่ 20 แทบจะพูดได้ว่าปลาวาฬหลังค่อมไม่ได้กลับไปผสมพันธุ์ที่กลุ่มเกาะอับโบรลยูสอีกต่อไป. ผลก็คือ การล่าปลาวาฬรอบ ๆ หมู่เกาะนี้จึงค่อย ๆ เลิกราไป. ครั้งสุดท้ายที่มีการยิงปลาวาฬคือในปี 1929.
ประวัติศาสตร์ตอนใหม่ของกลุ่มเกาะอับโบรลยูสเริ่มขึ้นในปี 1983 เมื่อเกาะทั้งห้าในกลุ่มเกาะนี้รวมทั้งพืดหินใต้น้ำอับโบรลยูส ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมด 910 ตารางกิโลเมตร ได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเล. แทบไม่มีรายงานใด ๆ เกี่ยวกับปลาวาฬมาเป็นเวลา 50 ปี แต่ในปี 1987 นักวิจัยได้รายงานว่ามีการพบเห็นปลาวาฬในน่านน้ำของอุทยานแห่งชาติและตัดสินใจจะตรวจสอบเพิ่มเติม. พวกเขารู้สึกประหลาดใจที่ค้นพบว่าปลาวาฬหลังค่อมได้กลับมาผสมพันธุ์รอบ ๆ เกาะเหล่านี้อีกครั้งหนึ่ง.
ข่าวเรื่องการกลับมาของปลาวาฬพร้อมด้วยชื่อเสียงที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มเกาะอับโบรลยูสที่เป็นดั่งอุทยานที่สาบสูญไป เริ่มดึงดูดนัก
ท่องเที่ยวจำนวนเล็กน้อยให้มาเยือน. เช้าวันหนึ่งที่สดใสในฤดูร้อน ครอบครัวหนึ่งได้ขึ้นเรือประมงลำเล็กในเมืองการาเวลัสและมุ่งหน้าไปยังกลุ่มเกาะอับโบรลยูส ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางหกชั่วโมง. คนหนึ่งในกลุ่มนั้นได้เล่าถึงการไปเยือนกลุ่มเกาะนี้.กำแพงหมวกใบใหญ่
“ขณะที่มาโนเอล คนขับเรือของเรานำเรือผ่านรีฟ ออฟ วอลส์ (กำแพงพืดหินใต้น้ำ) ผมจึงได้เข้าใจว่าทำไมกะลาสีชาวโปรตุเกสในยุคแรก ๆ จึงกลัวทะเลแถบนี้. เสาปะการังหลากสีที่สูงเกือบ 20 เมตรและกว้าง 50 เมตรใกล้กับผิวน้ำ ผุดขึ้นมาจากพื้นทะเล. เนื่องจากเป็นรูปกรวยที่มียอดปักลง คนในท้องถิ่นจึงตั้งชื่อมันว่า หมวกใบใหญ่. ใต้น้ำ เสาปะการังหลายเสาเชื่อมต่อกันจนกลายเป็นซุ้มโค้งและทางเดินขนาดมหึมาและถึงกับเป็นกำแพงยาว 20 กิโลเมตรซึ่งโผล่พ้นผิวน้ำเป็นลานพืดหิน. ทั้งหมดนี้คือกำแพงของรีฟ ออฟ วอลส์.
“หลังจากผ่านพืดหินใต้น้ำมา เราก็เห็นกลุ่มเกาะอับโบรลยูสอยู่ที่ขอบฟ้า. จากระยะไกล เกาะทั้งห้าดูเหมือนลิ่มขัดบานประตูขนาดยักษ์ลอยอยู่ในทะเล. นักธรณีวิทยาบอกว่า ในอดีตอันแสนเนิ่นนาน แรงดันของลาวาที่พุ่งทะลักออกมาได้ดันให้ชั้นหินขนาดยักษ์เหล่านี้โผล่ขึ้นมาจากพื้นทะเล. ผลก็คือ เกาะเหล่านี้ทุกเกาะจึงมีลักษณะภูมิประเทศคล้ายกันหมด คือ มีหน้าผาสูงชันยื่นออกไปในทะเลทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ และค่อย ๆ ลาดลงสู่ชายหาดแคบ ๆ ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้.
“ถึงตอนนี้เราสามารถมองเห็นประภาคารและแนวบ้านพักสองชั้นที่กระจัดกระจายอยู่อย่างไม่เป็นระเบียบบนเกาะที่ใหญ่ที่สุด คือเกาะซานตาบาร์บารา. เจ้าหน้าที่จากสถาบันสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติทดแทนได้แห่งบราซิล (ไอบีเอเอ็มเอ) รวมทั้งทหารเรือฝ่ายบกของบราซิลซึ่งอยู่ในเกาะนี้ต่างก็พึ่งอาศัยเรือขนส่งอาหารและเครื่องใช้ซึ่งมาที่เกาะทุก ๆ สองสัปดาห์. ไม่ยากที่จะนึกภาพว่า พวกแพะบนเกาะก็เฝ้ารอการมาของเรืออย่างกระตือรือร้นด้วย เนื่องจากแพะเป็นอาหารสำรองยามฉุกเฉินของคนที่อยู่ในเกาะ. ไม่มีการอนุญาตให้สร้างบ้านพัก, โรงแรม, บาร์, หรือร้านอาหารบนเกาะ. นักท่องเที่ยวซึ่งต้องการจะพักค้างคืนต้องทนกับการนอนบนเรือที่จอดอยู่รอบ ๆ เกาะ.
“ขณะที่มาโนเอลหย่อนสมอลงด้วยความระมัดระวัง โดยคอยดูไม่ให้สมอไปถูกพืดหินปะการัง เจ้าหน้าที่ ไอบีเอเอ็มเอ สองคนก็ขึ้นมาบนเรือของเราและอธิบายกฎบางข้อของอุทยาน. นักท่องเที่ยวจะไปเยี่ยมชมได้แค่สองเกาะ คือเกาะซิริบาและเกาะเรดอนดา, ต้องไปตามเส้นทางที่หมายไว้, และต้องมีเจ้าหน้าที่
ไปด้วยตลอดเวลา. ห้ามตกปลาและห้ามเก็บสิ่งหนึ่งสิ่งใดกลับไปเป็นที่ระลึก แม้กระทั่งก้อนหินที่ชายหาด. การดูปลาวาฬก็มีข้อกำหนดที่เข้มงวดด้วย. เรือจะเข้าใกล้ปลาวาฬได้ไม่เกินสามลำ และห้ามเรือเข้าใกล้กว่า 100 เมตร. ถ้าปลาวาฬเข้ามาใกล้เรือ ต้องดับเครื่องยนต์และจะติดเครื่องได้อีกครั้งก็ต่อเมื่อปลาวาฬโผล่ขึ้นผิวน้ำแล้ว. เรือต้องออกจากบริเวณนั้นทันทีถ้าปลาวาฬแสดงท่าทีไม่พอใจ.”ฝูงนกอันสวยงาม
“ที่นี่มีนกอยู่มากมาย. นกร่อนทะเล, นกบู๊บบี้หน้าดำ, นกบู๊บบี้สีน้ำตาล, นกโจรสลัดใหญ่, และนกนางนวลแกลบดำ ล้วนมีที่ผสมพันธุ์บนกลุ่มเกาะอับโบรลยูส.
“ขณะที่เราตะเกียกตะกายข้ามชายฝั่งที่เต็มไปด้วยหินบนเกาะซิริบาในวันแรกที่เราไปถึง ชอร์แดน นักวิจัยของ ไอบีเอเอ็มเอ คนหนึ่ง ชี้ให้เราดูรังของนกบู๊บบี้และนกร่อนทะเลปากแดง. นกบู๊บบี้ชอบทำรังที่พื้นโล่ง ๆ แต่นกร่อนทะเลปากแดงชอบทำรังตามซอกหิน ซึ่งเป็นที่กำบังไม่ให้รังของมันพลิกคว่ำได้ง่าย ๆ เมื่อมีลมแรง.
“นกที่สวยที่สุดอย่างไม่มีข้อสงสัยคือนกโจรสลัด ซึ่งมีขนาดพอ ๆ กับแม่ไก่. ในฤดูผสมพันธุ์ ถุงคอที่เด่นสะดุดตาของนกตัวผู้จะเปลี่ยนเป็นสีแดงสดและพองขึ้นเท่ากับขนาดของลูกฟุตบอล. น่าแปลก นกโจรสลัดต้องพึ่งอาศัยทะเลแต่มันกลับกลัวน้ำ. มันมีน้ำมันสำหรับแต่งขนเพียงเล็กน้อย มันจึงไม่สามารถดำน้ำหาปลาได้โดยที่ไม่เปียก.
“การที่นกโจรสลัดมีขนที่ไม่สามารถกันน้ำได้ก็ถูกชดเชยโดยความสามารถในการบินของมัน. ด้วยปีกอันน่าทึ่งซึ่งมีระยะระหว่างปลายปีถึง 2 เมตร มันสามารถดักกระแสลมอุ่นไว้และร่อนอยู่กลางอากาศได้โดยแทบไม่ต้องกระพือปีกเลย ขณะที่คอยมองหานกบู๊บบี้ นักจับปลาซึ่งเป็นหุ้นส่วนที่ไม่ค่อยจะเต็มใจนักของมัน. ทันทีที่นกบู๊บบี้จับปลาได้ นกโจรสลัดจะโฉบลงมาและจู่โจมด้วยปากที่เป็นตะขอยาว บางครั้งก็แย่งปลาไปจากปากของนกบู๊บบี้เลยด้วยซ้ำ. ถ้านกบู๊บบี้ที่ตกใจกลัวทำปลาหล่น เจ้านกโจรสลัดก็จะรีบพุ่งตัวไปคาบปลาไว้ได้ก่อนที่มันจะตกถึงน้ำ. แล้วถ้านกบู๊บบี้กลืนปลาลงไปก่อนล่ะ? เคยมีการพบเห็นเจ้านกโจรสลัดจอมอันธพาลไล่นกบู๊บบี้และบังคับให้มันสำรอกอาหารออกมา!”
ภาพใต้ทะเล
“วันที่สอง เราไปสำรวจโลกใต้น้ำ. อุณหภูมิของน้ำที่กลุ่มเกาะนี้ไม่เคยต่ำกว่า 24 องศาเซลเซียส และระยะที่มองเห็นได้อาจไกลถึง 15 เมตร. ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ดำน้ำราคาแพงเพื่อจะสำรวจบริเวณน้ำตื้นอันสงบเงียบซึ่งอยู่ใกล้ ๆ เกาะเหล่านี้. สิ่งที่คุณต้องมีก็คือท่อหายใจ, หน้ากาก, และตีนกบ. ขณะที่แสงอาทิตย์สาดส่องมายังโลกใต้น้ำนี้ มันสะท้อน
ให้เห็นฝูงปลาขนาดใหญ่, ปะการังสีเขียว, สีม่วง, และสีเหลือง, รวมทั้งฟองน้ำและสาหร่ายสีแดง. เราถูกห้อมล้อมไปด้วยแสงสีต่าง ๆ. แม้จะมีปะการังเพียงไม่กี่ชนิดเมื่อเทียบกับพืดหินใต้น้ำในที่อื่น ๆ แต่ปะการังบางชนิดก็พบได้เฉพาะที่นี่เท่านั้น.“น้ำทะเลสีฟ้าเข้มรอบ ๆ เกาะเนืองแน่นไปด้วยปลามากกว่า 160 ชนิด. มีสิ่งมีชีวิตทุกชนิดทุกขนาด: บางครั้งมีเต่าจะละเม็ด, ปลาเทวดาฝรั่งเศส, ปลาขี้ตังเบ็ด, ปลากระทุงเหว, ปลานกแก้ว, ปลากะรังขนาดใหญ่, และปลาไหลมอเรย์. ปลาพวกนี้เชื่องมากถึงขนาดที่คุณสามารถยื่นอาหารให้มันกินได้ และเมื่ออาหารหมดแล้ว มันก็จะตอดนิ้วของคุณเบา ๆ เพื่อหาอาหารเพิ่ม.”
การกลับมา
“บ่ายวันที่สามที่เราอยู่ในกลุ่มเกาะนี้ เรามุ่งหน้ากลับไปยังเมืองการาเวลัสด้วยความรู้สึกที่ปนเปกันไป. ผมหลงใหลกับกลุ่มเกาะอับโบรลยูส แต่ก็ผิดหวังที่เรายังไม่ได้เห็นปลาวาฬแม้แต่ตัวเดียว. อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเริ่มเดินทางกลับได้ประมาณ 30 นาที จู่ ๆ มาโนเอลก็ตะโกนว่า ‘ปลาวาฬ! ปลาวาฬ!’ ปลาวาฬหลังค่อมสามตัว ตัวใหญ่สองตัวกับลูกอีกหนึ่งตัว อยู่ห่างไปประมาณ 200 เมตร. เรามองเห็นครีบขนาดใหญ่ซึ่งด้านล่างเป็นสีขาวได้อย่างชัดเจน. บางทีด้วยความอยากรู้อยากเห็น ปลาวาฬตัวหนึ่งจึงว่ายเข้ามาใกล้และว่ายอยู่ข้าง ๆ เรือของเราสองสามนาที. ผมไม่เชื่อสายตาตัวเองเมื่อเห็นปลาวาฬกระโดดน้ำเล่น. มันยกลำตัวที่ใหญ่โตของมันโผล่ขึ้นมาครึ่งตัวแล้วก็หงายหลังกระแทกน้ำ. มันทำให้เกิดรอยคลื่นขนาดใหญ่ในทะเล! ขณะที่กลุ่มเกาะซึ่งเห็นอยู่ไกล ๆ เบื้องหลังเรามีขนาดเล็กลง เรายังมองเห็นครีบหางของปลาวาฬรวมทั้งน้ำที่มันพ่นขึ้นมาเป็นครั้งคราว. เราดีใจที่เห็นว่าปลาวาฬหลังค่อมกำลังกลับมา.”
อนาคตที่ไม่แน่นอน
อันตรายจากนักล่าปลาวาฬอาจหมดไปแล้ว แต่อันตรายอื่น ๆ ยังมีอยู่. คงเป็นเรื่องไม่ตรงกับความจริงที่จะคิดว่าหมู่เกาะเหล่านี้สามารถหลีกพ้นจากปัญหาสิ่งแวดล้อมได้. นักสมุทรศาสตร์คนหนึ่งกล่าวดังนี้: ‘เพียงแค่อนุรักษ์กลุ่มเกาะนี้และห้ามไม่ให้มีคนเข้าไปยังไม่พอ ถ้าทุกสิ่งรอบ ๆ เกาะกำลังถูกทำลาย.’
นักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่าอุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้นเป็นเหตุให้รีฟ ออฟ วอลส์กลายเป็นสีขาว ซึ่งเป็นสัญญาณว่าสาหร่ายขนาดจิ๋วกำลังหายไป. ดูเหมือนเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ว่า การตัดไม้ทำลายป่าบนแผ่นดินใหญ่และการเซาะกร่อนของหน้าดิน ซึ่งทำให้มีตะกอนถูกแม่น้ำพัดพาลงทะเลเพิ่มขึ้น จะส่งผลต่อปะการังของหมู่เกาะนี้ในที่สุด. และแน่นอน เมื่อนักท่องเที่ยวมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี นักอนุรักษ์ก็จะต้องระวังระไวมากขึ้นเพื่อปกป้องกลุ่มเกาะอับโบรลยูสไม่ให้ได้รับอันตรายจากความงดงามอันเป็นธรรมชาติของมันเอง.
จนถึงปัจจุบันนี้ ยังไม่มีทีท่าว่าจะมีอันตรายใด ๆ ตามที่กลัวกันเกิดขึ้นต่อความงามอันบริสุทธิ์ของกลุ่มเกาะนี้ ทั้งปลาวาฬที่โลดโผนน่าเกรงขาม, ชีวิตนกที่น่าทึ่ง, และปะการังที่ไม่เหมือนใคร. เกือบ 500 ปีหลังจากการค้นพบเกาะเหล่านี้ อับโบรลยูสยังเป็นสถานที่ซึ่งคุ้มค่าแก่การไปเยี่ยมชม. การมาเยือนกลุ่มเกาะนี้ให้ความเพลิดเพลินและเป็นประสบการณ์ที่ผู้มาเยือนไม่มีวันลืมได้.
[แผนที่หน้า 15]
(ดูรายละเอียดในวารสาร)
บราซิล
อับโบรลยูส
[แผนที่หน้า 15]
(ดูรายละเอียดในวารสาร)
กลุ่มเกาะอับโบรลยูส
ซิริบา
เรดอนดา
ซานตาบาร์บารา
กัวริตา
ซูเอสตี
[ภาพหน้า 15]
ประภาคารอับโบรลยูส สร้างในปี 1861
[ภาพหน้า 16]
นกโจรสลัด
[ภาพหน้า 16]
ปะการังสมอง
[ที่มาของภาพ]
Enrico Marcovaldi/Abrolhos Turismo
[ภาพหน้า 16]
ปลาเทวดาฝรั่งเศส
[ภาพหน้า 16]
นกบู๊บบี้หน้าดำ
[ภาพหน้า 17]
เรดอนดา
[ที่มาของภาพ]
Foto da ilha: Maristela Colucci
[ภาพหน้า 17]
ปลาไหลมอเรย์
[ภาพหน้า 17]
ปลาขี้ตังเบ็ด
[ภาพหน้า 17]
นกร่อนทะเลปากแดง
[ภาพหน้า 18]
ปลาวาฬหลังค่อมและลูก