ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

แมกนาคาร์ตาและการแสวงหาเสรีภาพของมนุษย์

แมกนาคาร์ตาและการแสวงหาเสรีภาพของมนุษย์

แมกนาคาร์ตา​และ​การ​แสวง​หา​เสรีภาพ​ของ​มนุษย์

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​บริเตน

ท่ามกลาง​ภูมิ​ประเทศ​อัน​งดงาม​แห่ง​แคว้น​เซอร์​เรย์​ใน​อังกฤษ มี​แม่น้ำ​เทมส์​ไหล​ผ่าน. ใน​ทุ่ง​หญ้า​แห่ง​หนึ่ง​ริม​ฝั่ง​แม่น้ำ​สาย​นี้​มี​อนุสาวรีย์​พร้อม​ด้วย​คำ​จารึก​ที่​เป็น​อนุสรณ์​ถึง​เหตุ​การณ์​ซึ่ง​เกิด​ขึ้น​เกือบ​แปด​ร้อย​ปี​มา​แล้ว. ที่​นี่ ณ ทุ่ง​หญ้า​รันนีมีด พระเจ้า​จอห์น​แห่ง​อังกฤษ (ครอง​ราชย์​ปี 1199-1216) ทรง​เผชิญ​หน้า​กับ​เหล่า​ขุนนาง​ที่​เป็น​ศัตรู​ผู้​มี​อิทธิพล ซึ่ง​เป็น​เจ้าของ​ที่​ดิน​ที่​โกรธ​แค้น​เนื่อง​จาก​ถูก​กษัตริย์​กดขี่. เหล่า​ขุนนาง​เรียก​ร้อง​ให้​กษัตริย์​บรรเทา​ความ​คับ​แค้น​ใจ​ของ​ตน​โดย​ให้​สิทธิ์​บาง​อย่าง. เนื่อง​จาก​ถูก​กดดัน​อย่าง​หนัก ใน​ที่​สุด​กษัตริย์​จึง​ได้​ประทับ​ตรา​ของ​พระองค์​ลง​ใน​เอกสาร​ซึ่ง​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ใน​เวลา​ต่อ​มา​ว่า แมกนาคาร์ตา (มหา​กฎบัตร).

เพราะ​เหตุ​ใด​เอกสาร​ฉบับ​นี้​จึง​ได้​รับ​การ​พรรณนา​ว่า​เป็น “เอกสาร​ทาง​กฎหมาย​ฉบับ​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​ใน​ประวัติศาสตร์​ตะวัน​ตก”? คำ​ตอบ​จะ​เผย​ให้​เห็น​เรื่อง​ราว​มาก​มาย​เกี่ยว​กับ​การ​แสวง​หา​เสรีภาพ​ของ​มนุษย์.

ข้อ​บังคับ​ของ​ขุนนาง

พระเจ้า​จอห์น​ทรง​มี​ปัญหา​กับ​คริสตจักร​โรมัน​คาทอลิก. พระองค์​แข็งข้อ​ต่อ​โปป​อินโนเซนต์​ที่ 3 โดย​ไม่​ยอม​รับ​สตีเฟน แลง​ตัน​เป็น​อาร์ชบิชอป​แห่ง​แคนเทอร์เบอรี. ผล​ก็​คือ คริสตจักร​เพิกถอน​การ​สนับสนุน และ​ขับ​กษัตริย์​ออก​จาก​ศาสนา. แต่​พระเจ้า​จอห์น​พยายาม​ขอ​การ​คืน​ดี​กัน. พระองค์​ยอม​ยก​อาณาจักร​แห่ง​อังกฤษ​และ​ไอร์แลนด์​ให้​แก่​โปป. ฝ่าย​โปป​ก็​คืน​อาณาจักร​เหล่า​นั้น​ให้​แก่​พระเจ้า​จอห์น​โดย​ที่​กษัตริย์​ต้อง​ปฏิญาณ​ว่า​จะ​จงรักภักดี​ต่อ​คริสตจักร​และ​จ่าย​ค่า​บรรณาการ​ประจำ​ปี. บัด​นี้ พระเจ้า​จอห์น​จึง​ตก​อยู่​ใต้​อำนาจ​โปป.

ความ​ลำบาก​ทาง​การ​เงิน​ทำ​ให้​กษัตริย์​มี​ปัญหา​มาก​ขึ้น​อีก. ระหว่าง​การ​ครอง​ราชย์ 17 ปี พระเจ้า​จอห์น​เรียก​เก็บ​ภาษี​จาก​เจ้าของ​ที่​ดิน​เพิ่ม​อีก 11 ครั้ง. ความ​วุ่นวาย​ทั้ง​หมด​เรื่อง​คริสตจักร​และ​เรื่อง​การ​เงิน​ทำ​ให้​มี​การ​เชื่อ​กัน​อย่าง​แพร่​หลาย​ว่า​กษัตริย์​เป็น​ผู้​ที่​ไม่​น่า​ไว้​วางใจ. บุคลิกภาพ​ของ​พระเจ้า​จอห์น​ก็​ดู​เหมือน​ไม่​ได้​ช่วย​บรรเทา​ความ​กังวล​ดัง​กล่าว​เลย.

ใน​ที่​สุด ความ​ไม่​สงบ​ก็​ปะทุ​ขึ้น เมื่อ​เหล่า​ขุนนาง​จาก​ทาง​เหนือ​ของ​ประเทศ​ไม่​ยอม​จ่าย​ภาษี​อีก​ต่อ​ไป. พวก​เขา​เดิน​ขบวน​มา​ที่​ลอนดอน​และ​ประกาศ​ยก​เลิก​การ​สวามิภักดิ์​ต่อ​กษัตริย์. จาก​นั้น​ทั้ง​สอง​ฝ่าย​ได้​โต้​เถียง​กัน​มาก โดย​ที่​กษัตริย์​ประทับ​อยู่​ใน​พระ​ราชวัง​ที่​วินด์เซอร์ และ​เหล่า​ขุนนาง​ตั้ง​ค่าย​อยู่​ทาง​ตะวัน​ออก​ใน​เมือง​ใกล้ ๆ ที่​ชื่อ​สเตนส์. การ​เจรจา​ลับ​ทำ​ให้​ทั้ง​สอง​ฝ่าย​มา​เผชิญ​หน้า​กัน​ที่​ทุ่ง​รันนีมีด ซึ่ง​อยู่​ระหว่าง​เมือง​ทั้ง​สอง. ใน​วัน​จันทร์​ที่ 15 มิถุนายน 1215 ณ ทุ่ง​หญ้า​แห่ง​นี้ พระเจ้า​จอห์น​ประทับ​ตรา​ใน​เอกสาร​ซึ่ง​มี​ข้อ​บังคับ 49 ข้อ. เอกสาร​นี้​ขึ้น​ต้น​ว่า ‘นี่​คือ​ข้อ​บังคับ​ที่​เหล่า​ขุนนาง​ต้องการ​และ​ได้​รับ​การ​ยินยอม​โดย​กษัตริย์.’

เสรีภาพ​ภาย​ใต้​กฎหมาย

อย่าง​ไร​ก็​ตาม ความ​ไม่​ไว้​วางใจ​ใน​เจตนา​ของ​พระเจ้า​จอห์น​ก็​ปรากฏ​ขึ้น​อย่าง​รวด​เร็ว. ท่ามกลาง​ความ​รู้สึก​ต่อ​ต้าน​อย่าง​มาก​ต่อ​กษัตริย์​และ​โปป กษัตริย์​ได้​ส่ง​ทูต​ไป​หา​โปป​ที่​กรุง​โรม. โปป​ออก​กฤษฎีกา​ทันที​เพื่อ​ประกาศ​ว่า​ข้อ​ตก​ลง​รันนีมีด​เป็น​โมฆะ. ส่วน​ที่​อังกฤษ​สงคราม​กลาง​เมือง​ก็​ปะทุ​ขึ้น​อย่าง​รวด​เร็ว. แต่​ใน​ปี​ต่อ​มา พระเจ้า​จอห์น​ก็​สิ้น​พระ​ชนม์​อย่าง​กะทันหัน และ​เจ้า​ชาย​เฮนรี พระ​โอรส ซึ่ง​มี​พระ​ชนมายุ​ได้​เก้า​พรรษา ก็​ขึ้น​ครอง​ราชย์​แทน.

ผู้​สนับสนุน​พระเจ้า​เฮนรี​วัย​เยาว์​จัด​ให้​มี​การ​ออก​ข้อ​ตก​ลง​รันนีมีด​อีก​ครั้ง. ตาม​ที่​กล่าว​ใน​หนังสือ​เล่ม​เล็ก​แมกนาคาร์ตา ข้อ​ตก​ลง​ฉบับ​แก้ไข​นี้​ถูก “เปลี่ยน​ด้วย​ความ​เร่ง​รีบ​จาก​เครื่อง​มือ​ต่อ​ต้าน​ทรราช​ไป​เป็น​แถลง​การณ์​ซึ่ง​ผู้​ที่​เดิน​สาย​กลาง​อาจ​ถูก​โน้ม​น้าว​ให้​สนับสนุน​ผล​ประโยชน์ [ของ​กษัตริย์].” มี​การ​ออก​ข้อ​ตก​ลง​นี้​อีก​หลาย​ครั้ง​ระหว่าง​รัชกาล​ของ​พระเจ้า​เฮนรี. เมื่อ​กษัตริย์​องค์​ต่อ​มา​คือ พระเจ้า​เอดเวิร์ด​ที่ 1 ประกาศ​รับรอง​กฎบัตร​แมกนาคาร์ตา​อีก​ครั้ง​ใน​วัน​ที่ 12 ตุลาคม 1297 จึง​มี​การ​รวม​กฎบัตร​นี้​เข้า​กับ​ประมวล​กฎหมาย​ใน​ที่​สุด ซึ่ง​ก็​คือ​รายการ​เอกสาร​ที่​มี​ความ​สำคัญ​เป็น​พิเศษ​ต่อ​สาธารณชน.

กฎบัตร​นี้​จำกัด​อำนาจ​ของ​กษัตริย์. กฎบัตร​นี้​กำหนด​ว่า บัด​นี้​กษัตริย์​ต้อง​อยู่​ภาย​ใต้​กฎหมาย​เช่น​เดียว​กับ​พลเมือง​ทุก​คน​ของ​พระองค์. วินสตัน เชอร์ชิลล์ นัก​ประวัติศาสตร์​และ​นายก​รัฐมนตรี​ของ​อังกฤษ​ผู้​มี​ชื่อเสียง​แห่ง​ศตวรรษ​ที่ 20 กล่าว​ว่า แมกนาคาร์ตา​ทำ​ให้​มี “ระบบ​การ​ตรวจ​สอบ​และ​การ​ถ่วง​ดุล​อำนาจ ซึ่ง​จะ​ให้​อำนาจ​ที่​จำเป็น​แก่​กษัตริย์ แต่​ก็​ป้องกัน​ทรราช​หรือ​คน​โง่​เขลา​ไม่​ให้​ใช้​อำนาจ​อย่าง​ผิด ๆ.” เป็น​อุดมการณ์​ที่​สูง​ส่ง​จริง ๆ! แต่​กฎหมาย​นี้​มี​ความ​หมาย​อย่าง​ไร​ต่อ​สามัญ​ชน? ใน​ตอน​นั้น แทบ​ไม่​มี​ความ​หมาย​เลย. แมกนาคาร์ตา​ให้​ราย​ละเอียด​เฉพาะ​เรื่อง​สิทธิ​ของ “เสรี​ชน” เท่า​นั้น ซึ่ง​จริง ๆ แล้ว​เป็น​พวก​ชน​ชั้น​สูง​และ​ใน​ตอน​นั้น​เป็น​เพียง​ชน​กลุ่ม​น้อย. *

สารานุกรม​บริแทนนิกา ชี้​ให้​เห็น​ว่า “นับ​ตั้ง​แต่​ช่วง​ต้น ๆ ใน​ประวัติศาสตร์” แมกนาคาร์ตา “กลาย​เป็น​สัญลักษณ์​และ​การ​เรียก​ร้อง​ให้​ต่อ​ต้าน​การ​กดขี่ และ​ผู้​คน​แต่​ละ​รุ่น​ตี​ความ​ว่า​กฎบัตร​นี้​เป็น​การ​ปก​ป้อง​เสรีภาพ​ของ​ตน​ที่​ถูก​คุกคาม.” เพื่อ​ชี้​ถึง​นัย​สำคัญ​นี้ การ​ประชุม​รัฐสภา​ของ​อังกฤษ​แต่​ละ​สมัย​จะ​เปิด​ด้วย​การ​รับรอง​แมกนาคาร์ตา​อีก​ครั้ง.

ทนาย​ความ​ใน​อังกฤษ​สมัย​ศตวรรษ​ที่ 17 ใช้​มาตรา​ต่าง ๆ ใน​แมกนาคาร์ตา​เป็น​พื้น​ฐาน​สำหรับ​สิทธิ​ต่าง ๆ เช่น การ​พิจารณา​คดี​โดย​คณะ​ลูก​ขุน, ฮาบีอัส คอร์ปัส, * ความ​เท่า​เทียม​กัน​ทาง​กฎหมาย, การ​ไม่​มี​สิทธิ์​จับ​กุม​ตาม​อำเภอใจ, และ​การ​ที่​รัฐสภา​จะ​เป็น​ฝ่าย​ควบคุม​การ​เก็บ​ภาษี.

การ​แสวง​หา​ดำเนิน​ต่อ​ไป

ลอร์ด​บิงแฮม ผู้​เป็น​ประธาน​ศาล​สูง​สุด​แห่ง​อังกฤษ​และ​เวลส์​ตั้ง​แต่​ปี 1996 ถึง 2000 ยอม​รับ​ว่า “หลาย​ครั้ง​ใน​อดีต ความ​สำคัญ​ของ​แมกนาคาร์ตา​ตาม​รัฐธรรมนูญ​ไม่​ได้​ขึ้น​อยู่​กับ​สิ่ง​ที่​กล่าว​ใน​กฎบัตร​นั้น​จริง ๆ มาก​เท่า​กับ​สิ่ง​ที่​คิด​กัน​ว่า​มี​กล่าว​ใน​กฎบัตร​นั้น.” ถึง​กระนั้น ใน​เวลา​ต่อ​มา​แนว​คิด​เรื่อง​เสรีภาพ​ที่​ผูก​โยง​กับ​กฎบัตร​นี้​ก็​ได้​แพร่​เข้า​ไป​ใน​ประเทศ​ที่​ใช้​ภาษา​อังกฤษ.

ผู้​ตั้ง​ถิ่น​ฐาน ซึ่ง​ออก​จาก​อังกฤษ​ใน​ปี 1620 โดย​มุ่ง​หน้า​ไป​ยัง​อเมริกา ได้​นำ​แมกนาคาร์ตา​ไป​ด้วย​ฉบับ​หนึ่ง. ใน​ปี 1775 เมื่อ​อาณานิคม​ของ​อังกฤษ​ใน​อเมริกา​ก่อ​การ​กบฏ​เพื่อ​ต่อ​ต้าน​การ​เก็บ​ภาษี​ทั้ง ๆ ที่​ไม่​ให้​พวก​เขา​มี​ผู้​แทน​ใน​รัฐสภา สภา​ใน​ที่​ซึ่ง​ปัจจุบัน​คือ​รัฐ​แมสซาชูเซตส์​ได้​ประกาศ​ว่า การ​เก็บ​ภาษี​เช่น​นั้น​เป็น​การ​ฝ่าฝืน​แมกนาคาร์ตา. ที่​จริง ตรา​สัญลักษณ์​อย่าง​เป็น​ทาง​การ​ของ​รัฐ​แมสซาชูเซตส์​ที่​ใช้​กัน​ใน​ตอน​นั้น​เป็น​รูป​ผู้​ชาย​ซึ่ง​มือ​ข้าง​หนึ่ง​ถือ​ดาบ​และ​มือ​อีก​ข้าง​หนึ่ง​ถือ​แมกนาคาร์ตา.

เมื่อ​เหล่า​ผู้​แทน​จาก​ชาติ​ที่​เพิ่ง​ก่อ​ตั้ง​ประชุม​กัน​เพื่อ​ร่าง​รัฐธรรมนูญ​สำหรับ​สหรัฐ​อเมริกา พวก​เขา​ยึด​มั่น​กับ​หลักการ​ของ​เสรีภาพ​ภาย​ใต้​กฎหมาย. ร่าง​พระ​ราชบัญญัติ​คุ้มครอง​สิทธิ​แห่ง​สหรัฐ​ได้​มา​จาก​การ​ยอม​รับ​หลักการ​ดัง​กล่าว​ด้วย. ด้วย​เหตุ​นี้ ใน​ปี 1957 เพื่อ​เป็น​การ​ยอม​รับ​แมกนาคาร์ตา สมาคม​เนติบัณฑิต​แห่ง​อเมริกา​จึง​ได้​ตั้ง​อนุสาวรีย์​ที่​รันนีมีด​โดย​มี​คำ​จารึก​ว่า “เพื่อ​รำลึก​ถึง​แมกนาคาร์ตา—สัญลักษณ์​แห่ง​เสรีภาพ​ภาย​ใต้​กฎหมาย.”

ใน​ปี 1948 เอเลนอร์ รูสเวลต์ รัฐ​สตรี​ชาว​อเมริกัน ได้​ช่วย​ร่าง​ปฏิญญา​สากล​ว่า​ด้วย​สิทธิ​มนุษยชน​ของ​สหประชาชาติ โดย​หวัง​ว่า​ปฏิญญา​ฉบับ​นี้​จะ​กลาย​เป็น “แมกนาคาร์ตา​สากล​สำหรับ​มวล​มนุษย์​ทุก​หน​แห่ง.” ที่​จริง ประวัติ​ความ​เป็น​มา​ของ​แมกนาคาร์ตา​แสดง​ให้​เห็น​ชัดเจน​ว่า​มนุษยชาติ​ปรารถนา​เสรีภาพ​มาก​เพียง​ใด. แม้​ว่า​จะ​เป็น​ความ​ปรารถนา​อัน​สูง​ส่ง แต่​สิทธิ​มนุษยชน​พื้น​ฐาน​ของ​มนุษย์​ก็​ยัง​ถูก​ละเมิด​ใน​หลาย​ประเทศ. รัฐบาล​ของ​มนุษย์​ได้​แสดง​ให้​เห็น​ครั้ง​แล้ว​ครั้ง​เล่า​ว่า​ไม่​สามารถ​รับประกัน​เสรีภาพ​สำหรับ​ทุก​คน. นั่น​เป็น​เหตุ​ผล​หนึ่ง​ที่​พยาน​พระ​ยะโฮวา​หลาย​ล้าน​คน​ใน​ปัจจุบัน​ทะนุถนอม​เสรีภาพ​ที่​สูง​ส่ง​กว่า​ภาย​ใต้​กฎหมาย​ของ​รัฐบาล​ที่​ต่าง​ไป นั่น​คือ​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า.

คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ถึง​สิ่ง​ที่​น่า​ทึ่ง​เกี่ยว​กับ​พระเจ้า​คือ “พระ​วิญญาณ​ของ​พระ​ยะโฮวา​อยู่​ที่​ใด เสรีภาพ​ก็​อยู่​ที่​นั่น.” (2 โกรินโธ 3:17, ล.ม.) ถ้า​คุณ​สนใจ​อยาก​ทราบ​ว่า​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​จะ​ให้​เสรีภาพ​ชนิด​ใด​แก่​มนุษยชาติ ขอ​เชิญ​ถาม​พยาน​พระ​ยะโฮวา​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​นี้​เมื่อ​พวก​เขา​มา​เยี่ยม​คุณ​ครั้ง​ต่อ​ไป. คุณ​อาจ​พบ​ว่า​คำ​ตอบ​เป็น​เรื่อง​ที่​น่า​ทึ่ง​และ​ให้​เสรีภาพ.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 12 “แม้​ว่า​ใน​ปี 1215 คำ ‘เสรี​ชน’ มี​ความ​หมาย​จำกัด แต่​พอ​ถึง​ศตวรรษ​ที่​สิบ​เจ็ด คำ​นี้​หมาย​รวม​ถึง​ผู้​คน​เกือบ​ทุก​คน.”—ประวัติศาสตร์​อารยธรรม​ตะวัน​ตก (ภาษา​อังกฤษ).

^ วรรค 14 เป็น​คำ​ภาษา​ลาติน​ที่​หมาย​ความ​ว่า “คุณ​ควร​มี​สิ่ง​ที่​จับ​ต้อง​ได้” ข้อ​บัญญัติ​ฮาบีอัส คอร์ปัส เป็น​เอกสาร​ทาง​กฎหมาย​ที่​สั่ง​ให้​สอบสวน​ว่า​การ​คุม​ขัง​บุคคล​ใด ๆ ชอบ​ด้วย​กฎหมาย​หรือ​ไม่.

[กรอบ​หน้า 13]

มหา​กฎบัตร

แมกนาคาร์ตา (ภาษา​ลาติน​แปล​ว่า “มหา​กฎบัตร”) เดิม​มี​ชื่อ​ว่า “ข้อ​บังคับ​ของ​เหล่า​ขุนนาง.” พระเจ้า​จอห์น​ประทับ​ตรา​ของ​พระองค์​ใน​เอกสาร​ที่​มี 49 มาตรา​นี้. ใน​ช่วง​ไม่​กี่​วัน​ถัด​มา ความ​ตก​ลง​นี้​ได้​รับ​การ​ขยาย​เป็น 63 มาตรา และ​กษัตริย์​ก็​ประทับ​ตรา​ใน​เอกสาร​อีก​ครั้ง. การ​ออก​กฎบัตร​อีก​ครั้ง​ใน​ปี 1217 มี​กฎบัตร​ที่​สอง​ที่​เล็ก​กว่า​ออก​คู่​กัน​ด้วย​ซึ่ง​เป็น​เรื่อง​เกี่ยว​กับ​กฎหมาย​ป่า​ไม้. นับ​แต่​นั้น​มา มี​การ​เรียก​ข้อ​บังคับ​นี้​ว่า แมกนาคาร์ตา.

ทั้ง 63 มาตรา​แบ่ง​ออก​เป็น​เก้า​หมวด ซึ่ง​มี​เรื่อง​ที่​เกี่ยว​กับ​ความ​คับ​แค้น​ใจ​ของ​เหล่า​ขุนนาง, การ​ปฏิรูป​กฎหมาย​และ​ความ​ยุติธรรม, และ​เสรีภาพ​ของ​คริสตจักร. มาตรา​ที่ 39 ซึ่ง​เป็น​พื้น​ฐาน​ทาง​ประวัติศาสตร์​สำหรับ​เสรีภาพ​ของ​พลเมือง​อังกฤษ อ่าน​ว่า “ไม่​มี​เสรี​ชน​คน​ใด​อาจ​ถูก​จับ​หรือ​ถูก​จำ​คุก, หรือ​ถูก​ยึด​สิทธิ​หรือ​ทรัพย์​สิน, หรือ​ถูก​ประกาศ​ว่า​เป็น​บุคคล​นอก​กฎหมาย​หรือ​ถูก​เนรเทศ, หรือ​ถูก​ริบ​ฐานะ​ของ​ตน​ใน​ทาง​อื่น​ใด, ทั้ง​เรา​จะ​ไม่​ใช้​กำลัง​กับ​เขา, หรือ​สั่ง​ให้​ผู้​อื่น​ทำ​เช่น​นั้น เว้น​แต่​มี​การ​พิพากษา​ที่​ชอบ​ด้วย​กฎหมาย​จาก​ผู้​ที่​เทียบเท่า​กับ​เขา​หรือ​โดย​กฎหมาย​ของ​ประเทศ.”

[ภาพ​หน้า 13]

ฉาก​หลัง: แมกนาคาร์ตา​ฉบับ​แก้ไข​ครั้ง​ที่​สาม

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 13]

By permission of the British Library, 46144 Exemplification of King Henry III’s reissue of Magna Carta 1225

[ภาพ​หน้า 12]

พระเจ้า​จอห์น

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 12]

From the book Illustrated Notes on English Church History (Vols. I and II)

[ภาพ​หน้า 12]

พระเจ้า​จอห์น​ยอม​สละ​ราชสมบัติ​ให้​โปป

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 12]

From the book The History of Protestantism (Vol. I)

[ภาพ​หน้า 13]

พระเจ้า​จอห์น​เผชิญ​หน้า​กับ​เหล่า​ขุนนาง​ของ​พระองค์​และ​ยอม​ประทับ​ตรา​แมกนาคาร์ตา ปี 1215

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 13]

From the book The Story of Liberty, 1878

[ภาพ​หน้า 14]

อนุสาวรีย์​แมกนาคาร์ตา​ที่​รันนีมีด ประเทศ​อังกฤษ

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 14]

ABAJ/Stephen Hyde

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 12]

Top background: By permission of the British Library, Cotton Augustus II 106 Exemplification of King John’s Magna Carta 1215; King John’s Seal: Public Record Office, London