การโกงนั้นผิดตรงไหน?
หนุ่มสาวถามว่า . . .
การโกงนั้นผิดตรงไหน?
“ทุกคนรู้ว่าการโกงนั้นผิดแต่มันง่ายดี.”—จิมมี อายุ 17 ปี.
คุณเคยอยากแอบดูกระดาษข้อสอบของเพื่อนขณะที่สอบไหม? ถ้าเคย คุณก็ไม่ใช่คนเดียวที่รู้สึกอย่างนั้น. เจนนา ซึ่งเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 6 กล่าวถึงเจตคติที่ไม่มีความละอายของเพื่อนนักเรียนหลายคนที่โกงดังนี้: “พวกนั้นคุยอวดว่าเขาโกงด้วยวิธีไหน. แล้วก็มองว่าคุณเป็นตัวประหลาดถ้าคุณไม่ โกง!”
ในการสำรวจรายหนึ่งในสหรัฐ 80 เปอร์เซ็นต์ของวัยรุ่นที่เรียนเก่งที่สุดในชั้นของตนยอมรับว่าเคยโกงข้อสอบ และ 95 เปอร์เซ็นต์ของพวก “หัวดี” ไม่เคยถูกจับได้. หลังจากทำการสำรวจเด็กนักเรียนชั้นประถมและมัธยมมากกว่า 20,000 คน สถาบันจริยศาสตร์โจเซฟสันลงความเห็นว่า “ในเรื่องความซื่อสัตย์และความสุจริต สถานการณ์กำลังแย่ลงเรื่อย ๆ.” ผู้ให้การศึกษาต่างก็ตกตะลึงเมื่อทราบว่าการทุจริตมีแพร่หลายสักเพียงไร! ผู้อำนวยการโรงเรียนคนหนึ่งชื่อแกรี เจ. นีลส์ ถึงกับพูดว่า “คนที่ไม่โกงนั่นแหละที่เป็นคนส่วนน้อย.”
บิดามารดาส่วนใหญ่คาดหมายให้ลูก ๆ ประพฤติตนอย่างน่านับถือในเรื่องการเรียน. แต่น่าเสียดาย เยาวชนหลายคนยอมอะลุ่มอล่วยความซื่อสัตย์ของตนด้วยการทุจริต. พวกเขากำลังใช้วิธีการใหม่ ๆ อะไรบ้าง? ทำไมเยาวชนบางคนยอมทุจริต? และเพราะเหตุใดคุณไม่ควรทุจริต?
โกงแบบไฮเทค
ผู้ทุจริตสมัยใหม่ใช้วิธีการโกงหลากหลายรูปแบบ. ที่จริง การทุจริตโดยการลอกการบ้านหรือการใช้กระดาษจดคำตอบดูเป็นเรื่องธรรมดาไปเลยเมื่อเทียบกับยุทธวิธีไฮเทคของยุคนี้. นี่รวมถึงการใช้เพจเจอร์ซึ่งรับคำตอบสำหรับข้อสอบจากคนซึ่งอยู่อีกที่หนึ่ง; เครื่องคิดเลขที่โปรแกรมข้อมูล “พิเศษ” ไว้; กล้องขนาดจิ๋วที่ซ่อนไว้ในเสื้อผ้า ซึ่งใช้ส่งคำถามไปยังผู้ช่วยซึ่งอยู่อีกที่หนึ่ง; เครื่องส่งข่าวสารด้วยคลื่นอินฟราเรดไปยังเพื่อนนักเรียนที่อยู่ใกล้ ๆ; และแม้แต่เว็บไซต์ที่มีรายงานต่าง ๆ ตอนปลายภาคเรียนแบบครบชุดในแทบทุกวิชา!
พวกผู้ให้การศึกษาพยายามจะหยุดยั้งแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงนี้ แต่นี่ไม่ใช่งานง่าย ๆ. ว่ากันตามจริงแล้ว ใช่ว่านักเรียนทุกคน หรือครูทุกคน จะเห็นพ้องในเรื่องที่ว่าอะไรถือว่าเป็นการทุจริต. ตัวอย่างเช่น เมื่อนักเรียนกลุ่มหนึ่งทำงานร่วมกันในโครงการหนึ่ง เส้นแบ่งระหว่างการทำงานร่วมกันอย่างซื่อสัตย์กับการสมรู้ร่วมคิดแบบไม่ซื่อสัตย์อาจไม่ชัดเจน. นอกจากนั้น ยังมีคนที่อาจฉวยประโยชน์จากความพยายามของกลุ่มโดยปล่อยให้คนอื่นทำงานทั้งหมด. ยูจิซึ่งกำลังเรียนอยู่ในวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่งกล่าวว่า “นักเรียนพวกนี้บางคนขี้เกียจมาก พวกเขาไม่ยอมทำอะไรเลย! แล้ว
พวกเขาก็ได้คะแนนเท่ากับพวกเรา. ผมว่านั่นก็เป็นการทุจริตเหมือนกัน!”ทำไมเขาจึงโกง?
ในการสำรวจรายหนึ่ง การขาดการเตรียมตัวปรากฏว่าเป็นเหตุผลอันดับหนึ่งที่ทำให้นักเรียนหลายคนทุจริต. ส่วนนักเรียนบางคนก็คิดว่าพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่น เนื่องจากถูกบีบคั้นด้วยบรรยากาศแห่งการแข่งขันกันที่โรงเรียนหรือเนื่องจากบิดามารดาคาดหมายสูงมาก. แซม วัย 13 ปีกล่าวว่า “คะแนนคือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับพ่อแม่ผม. พวกท่านถามว่า ‘ลูกสอบวิชาคณิตศาสตร์ได้คะแนนเท่าไร? ลูกสอบวิชาภาษาอังกฤษได้คะแนนเท่าไร?’ ผมไม่ชอบเลย!”
สำหรับบางคน การถูกกดดันอยู่ตลอดเวลาให้ทำคะแนนได้ดี ๆ ทำให้พวกเขาเริ่มทุจริต. หนังสือชีวิตส่วนตัวของวัยรุ่นชาวอเมริกัน (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “มีอะไรบางอย่างที่ไม่สมดุลในระบบซึ่งมีความกดดันสูงมากจนมักทำให้ความเพลิดเพลินในการเรียนถูกแทนที่ด้วยความกดดันที่จะต้องทำคะแนนให้ดี ๆ ซึ่งบางครั้งต้องยอมทุจริต.” นักเรียนหลายคนเห็นด้วย. ถ้าจะว่าไป ไม่มีใครอยากสอบตก และยิ่งกว่านั้นไม่มีใครอยากเรียนซ้ำชั้น. จิมมี นักเรียนชั้นมัธยมคนหนึ่งกล่าวว่า “บางคนกลัวมากว่าจะสอบตก ถึงขนาดที่แม้ว่าเขารู้คำตอบอยู่แล้ว แต่ก็ยังโกงข้อสอบอยู่ดีเพื่อให้แน่ใจ.”
การที่หลายคนเต็มใจละทิ้งมาตรฐานด้านความซื่อสัตย์อาจทำให้การทุจริตถูกมองว่าเป็นเรื่องไม่เสียหาย. และบางครั้งอาจดูเหมือนเป็นข้อได้เปรียบจริง ๆ. เกรก วัย 17 ปีบอกว่า “เมื่อวานผมเห็นเด็กคนหนึ่งโกงข้อสอบวิชาหนึ่ง. วันนี้เมื่อเราได้กระดาษสอบคืน เขาได้คะแนนมากกว่าผมอีก.” หลายคนถูกทำให้เขวไปเนื่องจากมีการทุจริตกันอย่างมากในหมู่เพื่อน. ยูจิบอกว่า “นักเรียนบางคนคิดว่า ‘ถ้าคนอื่นทำ ฉันก็ต้องทำเหมือนกัน.’ ” แต่นั่นเป็นความจริงไหม?
ติดนิสัยหลอกลวง
ลองเทียบการทุจริตกับการขโมย. ข้อเท็จจริงที่ว่าหลายคนขโมย ทำให้การขโมยเป็นสิ่งถูกต้องไหม? คุณอาจบอกว่า ‘ไม่ถูกแน่นอน’ โดยเฉพาะถ้าคุณเอง เป็นฝ่ายที่ถูกขโมยเงิน! โดยการทุจริต เรากำลังรับเอาเกียรติสำหรับสิ่งที่เราไม่สมควรได้รับ บางครั้งถึงกับเป็นการเอาเปรียบคนที่ซื่อสัตย์. (เอเฟโซ 4:28) ทอมมี ซึ่งจบชั้นมัธยมเมื่อไม่นานมานี้กล่าวว่า “นี่ไม่ถูกต้องเลย. คุณกำลังบอกว่า ‘ฉันรู้เรื่องนี้’ ทั้ง ๆ ที่คุณไม่รู้. คุณจึงโกหก.” ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิลในเรื่องนี้บ่งไว้อย่างชัดเจนที่โกโลซาย 3:9 ที่ว่า “อย่าพูดมุสาต่อกันและกัน.”
การทุจริตอาจกลายเป็นเหมือนการเสพติดที่เลิกยาก. เจนนาบอกว่า “คนที่ทุจริตรู้ว่าพวกเขาไม่ต้องเรียนก็สอบผ่านได้ พวกเขาจึงพึ่งการทุจริตอย่างเดียว. และเมื่อพวกเขาต้องพึ่งตัวเอง เขาก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร.”
หลักการที่บันทึกไว้ที่ฆะลาเตีย 6:7 นั้นเป็นการเตือนสติ: “คนใดหว่านพืชอย่างใดลง, ก็จะเกี่ยวเก็บผลอย่างนั้น.” ผลของการทุจริตในโรงเรียนอาจรวมไปถึงความเจ็บปวดอันเนื่องมาจากความรู้สึกผิดที่คอยรบกวน, การสูญเสียความไว้วางใจจากเพื่อน ๆ, และการชะงักงันด้านการเรียนรู้เนื่องจากคุณหลีกเลี่ยงกระบวนการเรียนรู้. เช่นเดียวกับมะเร็งที่กลายเป็นโรคร้าย แบบแผนของการหลอกลวงเช่นนี้อาจส่งผลกระทบต่อแง่มุมอื่น ๆ ของชีวิตและอาจทำลายสัมพันธภาพที่คุณถือว่ามีค่ามากที่สุดได้. ที่แน่ ๆ คือ สิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อสายสัมพันธ์ของคุณกับพระเจ้า ผู้ซึ่งไม่พอพระทัยการทุจริต.—สุภาษิต 11:1.
คนที่อาศัยการทุจริตก็หลอกตัวเอง. (สุภาษิต 12:19) โดยการกระทำของตัวเอง พวกเขาอยู่ในฐานะคล้ายกับผู้ปกครอง ในเมืองเยรูซาเลมโบราณที่บอกว่า “เราได้ใช้ความมุสาเป็นที่คุ้มภัย, และใช้ความเท็จเป็นที่บังตัวเราไว้.” (ยะซายา 28:15) อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว คนทุจริตไม่สามารถซ่อนการกระทำของตนจากพระเจ้าได้.—เฮ็บราย 4:13.
อย่าโกง!
ในหลายกรณี หนุ่มสาวได้ใช้ความพยายามและไหว-พริบอย่างมากที่จะทำการทุจริต ซึ่งถ้าพวกเขานำความพยายามและไหวพริบนั้นไปใช้กับการเรียนอย่างซื่อสัตย์ก็คงดีกว่า. ดังที่แอบบี วัย 18 ปี กล่าวไว้ “ถ้าพวกเขาใช้ความพยายามในการเรียนมากเท่ากับที่พยายามโกง พวกเขาคงเรียนได้ดีมาก.”
จริงอยู่ การล่อใจให้ทำการทุจริตอาจมีพลัง. แต่คุณต้องหลีกเลี่ยงหลุมพรางทางศีลธรรมนี้! (สุภาษิต 2:10-15) คุณจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร? ประการแรก จำไว้ว่าคุณไปโรงเรียนเพื่ออะไร นั่นคือเพื่อเรียนรู้. จริงอยู่ อาจดูเหมือนมีผลประโยชน์เล็กน้อยในการรวบรวมข้อเท็จจริงที่คุณอาจไม่มีวันได้ใช้. แต่ถ้าข้ามขั้นตอนนี้โดยการทุจริต คนเราก็ย่อมทำความเสียหายต่อความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และการนำความรู้ไปใช้อย่างบังเกิดผล. หากไม่ใช้ความพยายามก็ไม่มีทางที่จะได้ความเข้าใจแท้; ต้องมีการเสียสละบ้าง. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “จงซื้อความจริงและอย่าขายไปเสีย จงซื้อปัญญาวินัยและความรอบรู้.” (สุภาษิต 23:23, ฉบับแปลใหม่) ถูกแล้ว คุณต้องถือว่าการศึกษาและการเตรียมตัวเป็นเรื่องจริงจัง. จิมมีแนะนำว่า “คุณต้องอ่านหนังสือก่อนสอบ. นั่นจะทำให้คุณมั่นใจว่าคุณรู้คำตอบ.”
จริงอยู่ บางครั้งคุณอาจไม่รู้คำตอบทั้งหมด และนี่อาจทำให้คุณได้คะแนนต่ำกว่า. แต่ถ้าคุณไม่ยอมอะลุ่มอล่วยหลักการของคุณ คุณก็จะเห็นว่าคุณต้องทำอะไรเพื่อปรับปรุงตัวเอง.—สุภาษิต 21:5.
ยูจิ ซึ่งกล่าวถึงข้างต้น เป็นพยานพระยะโฮวาคนหนึ่ง. เขาอธิบายว่าเขาทำอย่างไรเมื่อเพื่อนร่วมชั้นกดดันเขาให้ช่วยโกงข้อสอบ เขาบอกว่า “ประการแรก ผมบอกพวกเขาว่าผมเป็นพยานฯ. นั่นช่วยผมได้มากเพราะพวกเขารู้ว่าพยานพระยะโฮวาเป็นคนซื่อสัตย์. ถ้ามีคนขอให้ผมบอกคำตอบตอนทำข้อสอบ ผมก็เพียงแต่ปฏิเสธ. แล้วหลังจากนั้นผมก็อธิบายกับเขาว่าทำไมผมทำอย่างนั้น.”
ยูจิเห็นพ้องกับถ้อยคำของอัครสาวกเปาโลที่มีไปยังชาวเฮ็บรายที่ว่า “เราปรารถนาจะประพฤติตัวซื่อสัตย์ในทุกสิ่ง.” (เฮ็บราย 13:18, ล.ม.) การที่คุณยึดมั่นกับมาตรฐานสูงด้านความซื่อสัตย์และการไม่ยอมอะลุ่มอล่วยให้กับการทุจริตทำให้คะแนนที่ดีที่คุณได้นั้นมีคุณค่าอย่างแท้จริง. คุณนำของขวัญที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งเท่าที่จะหาได้จากโรงเรียนมาให้บิดามารดาของคุณ นั่นคือหลักฐานของความซื่อสัตย์แบบคริสเตียน. (3 โยฮัน 4) ยิ่งกว่านั้น คุณรักษาสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาดและมีความยินดีที่รู้ว่าคุณทำให้พระยะโฮวาสำราญพระทัย.—สุภาษิต 27:11.
ดังนั้น ไม่ว่าการโกงจะแพร่หลายขนาดไหน จงอย่าโกง! โดยทำเช่นนั้น คุณจะรักษาสายสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นและที่สำคัญที่สุด กับพระเจ้าแห่งความจริง พระยะโฮวา.—บทเพลงสรรเสริญ 11:7; 31:5.
[คำโปรยหน้า 26]
คนที่ทุจริตมักไม่ตระหนักว่า จริง ๆ แล้วเขากำลังขโมย
[คำโปรยหน้า 26]
บ่อยครั้งการโกงนำไปสู่ความไม่ซื่อสัตย์ชนิดที่ร้ายแรงกว่า
[คำโปรยหน้า 27]
คนทุจริตไม่สามารถซ่อนการกระทำของตนจากพระเจ้าได้
[ภาพหน้า 27]
การศึกษาให้เพียงพอก่อนสอบจะทำให้คุณรู้สึกมั่นใจ