รั้วที่ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศ
รั้วที่ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศ
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในออสเตรเลีย
รั้วนี้เคยแบ่งรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียตั้งแต่เหนือจรดใต้. เมื่อสร้างเสร็จในปี 1907 รั้วที่ทำด้วยไม้และลวดซึ่งยาว 1,833 กิโลเมตรนี้เป็นรั้วที่ยาวที่สุดในโลก. ชื่อที่เป็นทางการของรั้วนี้คือ รั้วป้องกันกระต่ายหมายเลข 1.
ดังที่ชื่อบ่งบอก ทีแรกรั้วนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นรั้วป้องกันฝูงกระต่ายที่ก่อความเสียหายซึ่งอพยพมาทางตะวันตกข้ามทวีปออสเตรเลียในตอนปลายศตวรรษที่ 19. ปัจจุบัน รั้วซึ่งมีอายุถึงหนึ่งร้อยปีนี้ส่วนใหญ่ยังคงมีอยู่. แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ รั้วดังกล่าวกลายเป็นจุดรวมความสนใจทางวิทยาศาสตร์ด้วยเหตุผลที่น่าทึ่ง. ดูเหมือนว่ารั้วที่มนุษย์สร้างนี้ส่งผลทางอ้อมต่อสภาพอากาศในท้องถิ่น.
ก่อนที่เราจะสืบค้นดูว่ารั้วที่สูงเมตรเศษ ๆ นี้ส่งผลกระทบถึงขนาดนั้นได้อย่างไร ให้เรามาดูประวัติของสิ่งก่อสร้างที่น่าทึ่งนี้อย่างคร่าว ๆ.
การต่อสู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จ
ในการต่อสู้กับกระต่ายที่บุกรุกเข้ามา คนงานถึง 400 คนตรากตรำทำงานตั้งแต่ปี 1901 ถึงปี 1907 เพื่อสร้างรั้วป้องกันกระต่ายหมายเลข 1. กระทรวงเกษตรแห่งรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียกล่าวว่า “มีการขนส่งวัสดุประมาณ 8,000 ตันโดยทางเรือแล้วต่อด้วยทางรถไฟไปยังโรงเก็บสินค้าต่าง ๆ ก่อนที่จะถูกลากไปยังสถานที่ก่อสร้างรั้วซึ่งอยู่ไกลโพ้นโดยขบวนม้า, อูฐ, และลา.”
ทั้งสองฝั่งของรั้ว คนงานจะถางป่าเป็นแนวยาวกว้างสามเมตร. มีการใช้ต้นไม้ที่โค่นได้บางต้นเพื่อใช้ทำเสารั้ว และในที่ที่ไม่มีต้นไม้ก็มีการนำเข้าเสาโลหะ. เมื่อสร้างเสร็จ แนวรั้วนี้ไม่ได้เป็นแค่แนวป้องกันกระต่ายเท่านั้น แต่ยังเป็นถนนขรุขระซึ่งตัดจากฟากหนึ่งไปอีกฟากหนึ่งของทวีปอีกด้วย.
รั้วนี้เป็นเหมือนตาข่ายขนาดใหญ่ โดยบังคับกระต่ายที่บุกรุกเข้ามาให้เข้าไปในบริเวณที่ดักกระต่าย ซึ่งพวกมันจะตายที่นั่น. แต่พวกกระต่ายปีนข้ามรั้วบางช่วงมาได้. มันทำอย่างไร? เมื่อมันกระเสือกกระสนดันกันไปทางฝั่งตะวันตก มันก็ปีนขึ้นไปบนซากกระต่ายตัวอื่น ๆ ที่ทับถมกันเป็นกองสูงอยู่ข้างรั้วแล้วก็ข้ามกันไปเป็นฝูง. มีการสร้างรั้วขึ้นอีกสองรั้วขยายต่อจากรั้วอันแรก. เครือข่ายรั้วทั้งหมดมีความยาวรวมกันถึง 3,256 กิโลเมตร.
หลักฐานที่แสดงถึงความทรหดของมนุษย์
ผู้ตรวจเขตแดนจำนวนไม่กี่คนเท่านั้นที่ได้ตรวจตรารั้วที่ยาวไกลนี้ เช่น เอฟ. เอช. บรูมฮอลล์. ในหนังสือชื่อรั้วที่ยาวที่สุดในโลก (ภาษาอังกฤษ) บรูมฮอลล์กล่าวว่า “หน้าที่ของนักตรวจตรา . . . คือการดูแลรั้วและถนนข้าง ๆ รั้วให้อยู่ในสภาพดี . . . , การตัดพุ่มไม้และต้นไม้ทั้งสองข้างของรั้วให้มีความกว้างตามที่กำหนด [และ] การดูแลประตูรั้ว ซึ่งมีอยู่ประมาณทุก ๆ ระยะ 20 ไมล์ [32 กิโลเมตร] ให้อยู่ในสภาพดี รวมทั้งการกำจัด [ซากกระต่าย] ในบริเวณที่ดักกระต่าย.”
การเป็นนักตรวจเขตแดนคงต้องเป็นหนึ่งในอาชีพที่เดียวดายที่สุดในโลก. โดยมีแค่อูฐเป็นเพื่อน นักตรวจตราแต่ละคนมีหน้าที่ต้องดูแลแนวรั้วหลายกิโลเมตร ซึ่งดูเหมือนทอดยาวไปยังขอบฟ้าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด. นักตรวจตราบางคนไม่มีแม้กระทั่งอูฐเป็นเพื่อน เนื่องจากพวกเขาต้องถีบจักรยานไปบนทางที่ขรุขระตามแนวรั้วที่ได้รับมอบหมาย. ปัจจุบัน มีการตรวจตรารั้วช่วงที่ยังเหลืออยู่ในแบบที่ค่อนข้างสะดวกสบายโดยใช้รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อ.
ไม่ใช่ความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
แม้ว่ารั้วนี้อาจป้องกันภัยจากกระต่ายไม่สำเร็จ แต่ปรากฏว่ารั้วนี้เป็นประโยชน์ในการป้องกันปัญหาอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือนกอีมู นกพื้นเมืองชนิดหนึ่งของออสเตรเลีย. ในปี 1976 นกที่บินไม่ได้ขนาดยักษ์นี้จำนวนมากกว่า 100,000 ตัวพร้อมใจกันอพยพไปทางพื้นที่การเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ทางตะวันตกของรั้ว. รั้วนี้หยุดยั้งการบุกรุกของพวกมันไว้ได้ และแม้ว่าต้องกำจัดนกไปถึง 90,000 ตัว แต่พืชผลส่วนใหญ่ในปีนั้นก็รอดพ้นจากความหายนะ.
นับตั้งแต่วิกฤตการณ์ครั้งนั้น ก็ได้มีการเสริมหรือวางแนวรั้วใหม่เป็นระยะทาง 1,170 กิโลเมตรเพื่อป้องกันไร่นาในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียซึ่งอาจได้รับความเสียหายเนื่องจากนก * ผลคือ รั้วนี้กลายเป็นเส้นแบ่งเขต. ทางตะวันออกเป็นพื้นที่กันดารรกร้างในใจกลางของออสเตรเลีย. ส่วนทางตะวันตกเป็นไร่นาทางการเกษตรของมนุษย์ซึ่งได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดี.
อีมูที่อพยพย้ายถิ่นและฝูงหมาป่าที่ท่องไปทั่ว.กำแพงสภาพอากาศอย่างที่คาดไม่ถึง
ความแตกต่างอย่างชัดเจนในเรื่องพืชพรรณนี้เองที่อาจอธิบายได้ถึงผลกระทบของรั้วที่มีต่อสภาพอากาศอย่างเห็นได้ชัด. วารสารทางวิทยาศาสตร์ชื่อเดอะ เฮลิกซ์ กล่าวว่า “แม้ว่าดูเหมือนไม่น่าเชื่อ แต่ปริมาณฝนทางฝั่งตะวันออกของรั้วมีเพิ่มขึ้น ส่วนทางฝั่งตะวันตกกลับลดลง.” ด้วยเหตุนี้ พืชพื้นเมืองทางตะวันออกจึงได้รับน้ำตามธรรมชาติอย่างสม่ำเสมอ ขณะที่ชาวไร่ที่อยู่ทางตะวันตกต้องพึ่งอาศัยระบบชลประทานมากขึ้นเรื่อย ๆ. เมื่อให้เหตุผลที่อาจเป็นไปได้อย่างหนึ่งสำหรับการเปลี่ยนแปลงนี้ วารสารนี้อธิบายว่า “พืชผลทางการเกษตรในพื้นที่ไร่นาซึ่งมีรากตื้น ๆ ปล่อยไอน้ำออกมาไม่มากเท่ากับพืชพื้นเมืองที่มีรากลึกกว่า.”
เมื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับอีกปัจจัยหนึ่ง ทอม ไลออนส์ ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศ กล่าวว่า “สมมุติฐานของเราคือ เนื่องจากพืชพื้นเมืองมีสีเข้มกว่าพื้นที่การเกษตรมาก มันจึงปล่อยความร้อนสู่บรรยากาศมากกว่า ซึ่งทำให้เกิด . . . กระแสอากาศปั่นป่วนและช่วยทำให้เมฆก่อตัวขึ้น.”
รั้วป้องกันกระต่ายอาจไม่ได้ป้องกันชาวไร่ในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียไว้จากภัยกระต่าย แต่ผลกระทบที่รั้วนี้มีต่อสภาพอากาศซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนและบทเรียนที่ได้จากเรื่องนี้เกี่ยวกับความจำเป็นที่ต้องมีวิสัยทัศน์ในการจัดการกับที่ดินก็ยังอาจมีประโยชน์ด้วย.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 15 รั้วนี้ปัจจุบันรู้จักกันว่ารั้วป้องกันแห่งรัฐ.
[แผนที่หน้า 14]
(ดูรายละเอียดในวารสาร)
รั้วป้องกันกระต่ายหมายเลข 1
[ภาพหน้า 15]
กระต่าย
[ภาพหน้า 15]
การตรวจรั้ว ต้นศตวรรษที่ 20
[ภาพหน้า 15]
นกอีมู
[ภาพหน้า 15]
ด้วยความยาว 1,833 กิโลเมตร รั้วป้องกันกระต่ายหมายเลข 1 เคยเป็นแนวรั้วที่ต่อเนื่องกันซึ่งยาวที่สุดในโลก. รั้วนี้แยกพื้นที่กันดารรกร้างจากพื้นที่ไร่นา ด้วยเหตุนี้จึงก่อให้เกิดกำแพงสภาพอากาศ
[ที่มาของภาพหน้า 15]
All color pictures: Department of Agriculture, Western Australia; top center: Courtesy of Battye Library Image number 003582D