ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เกลือสมุทร—ผลผลิตจากน้ำทะเล, สายลม, และแสงแดด

เกลือสมุทร—ผลผลิตจากน้ำทะเล, สายลม, และแสงแดด

เกลือ​สมุทร—ผล​ผลิต​จาก​น้ำ​ทะเล, สาย​ลม, และ​แสง​แดด

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​ฝรั่งเศส

ณ เขต​ติด​ต่อ​ระหว่าง​ทะเล​กับ​แผ่นดิน มี​แอ่ง​น้ำ​ที่​ปะติดปะต่อ​กัน​เป็น​แปลง ๆ หลาย​หลาก​สี ซึ่ง​สะท้อน​ให้​เห็น​ถึง​บรรยากาศ​ของ​ท้องฟ้า. ชาย​ที่​ยืน​อยู่​ท่ามกลาง​แอ่ง​น้ำ​สี่​เหลี่ยม​ผืน​ผ้า​ที่​ปะติดปะต่อ​กัน​นั้น ซึ่ง​มี​ชื่อ​เรียก​ใน​ภาษา​ฝรั่งเศส​ว่า​ปาลูดิเยร์ กำลัง​โกย​ผล​ผลิต​อัน​อุดม​สมบูรณ์​จาก​น้ำ​ขึ้น​มา​รวม​ไว้​เป็น​กอง​สี​ขาว​กอง​เล็ก ๆ ซึ่ง​ส่อง​แสง​เป็น​ประกาย​เมื่อ​ต้อง​แสง​อาทิตย์. ที่​นี่ ใน​ที่​ลุ่ม​น้ำ​เค็ม​แห่ง​เมือง​เกรองด์ และ​ที่​เกาะ​นัวร์มูตีเย​และ​เกาะ​เร บริเวณ​ชายฝั่ง​แอตแลนติก ปาลูดิเยร์ ใน​ฝรั่งเศส​ก็​ยัง​คง​ใช้​วิธี​การ​ดั้งเดิม​ใน​การ​ผลิต​เกลือ.

“ทองคำ​สี​ขาว”

การ​ใช้​แอ่ง​เกลือ​ตาม​ชายฝั่ง​แอตแลนติก​ของ​ฝรั่งเศส​เริ่ม​มี​ขึ้น​ราว ๆ ศตวรรษ​ที่​สาม​สากล​ศักราช. แต่​การ​ผลิต​เกลือ​ไม่​ได้​เริ่ม​ขึ้น​อย่าง​จริงจัง​จน​กระทั่ง​ตอน​ปลาย​ของ​ยุค​กลาง. การ​ขยาย​ตัว​ของ​ประชากร​ใน​ยุโรป​ยุค​กลาง​ทำ​ให้​มี​ความ​ต้องการ​เกลือ​เพิ่ม​ขึ้น​อย่าง​มาก เนื่อง​จาก​เกลือ​สามารถ​ถนอม​อาหาร​ประเภท​เนื้อ​สัตว์​และ​ปลา​ได้. ตัว​อย่าง​เช่น เพื่อ​จะ​หมัก​ปลา​เฮอร์ริง​สี่​ตัน​ไม่​ให้​เน่า​เสีย​ต้อง​ใช้​เกลือ​หนึ่ง​ตัน. เมื่อ​คำนึง​ถึง​เรื่อง​ที่​ว่า​เนื้อ​สัตว์​เป็น​สิ่ง​ฟุ่มเฟือย​สำหรับ​คน​ธรรมดา ปลา​เค็ม​จึง​เป็น​อาหาร​หลัก​ของ​คน​เหล่า​นั้น. เรือ​จาก​ทั่ว​ยุโรป​เหนือ​จึง​เดิน​ทาง​มา​ที่​ชายฝั่ง​ของ​บริตตานี​เพื่อ​ซื้อ​เกลือ​ใน​ปริมาณ​มาก ๆ ซึ่ง​ชาว​ประมง​จำเป็น​ต้อง​ใช้​ใน​การ​หมัก​ปลา​ที่​จับ​ได้.

ความ​มั่งคั่ง​ที่​ได้​จาก “ทองคำ​สี​ขาว” นี้​ไม่​อาจ​รอด​พ้น​สายตา​ของ​กษัตริย์​แห่ง​ฝรั่งเศส. ใน​ปี 1340 มี​การ​เรียก​เก็บ​ภาษี​เกลือ. ภาษี​นี้​ทำ​ให้​ประชาชน​ไม่​พอ​ใจ​อย่าง​มาก และ​กระตุ้น​ให้​เกิด​การ​จลาจล​แบบ​นอง​เลือด. สิ่ง​ที่​ถือ​ว่า​ไม่​ยุติธรรม​มาก​ที่​สุด​คือ ผู้​ซื้อ​ต้อง​จ่าย​ใน​ราคา​ที่​สูง​มาก​และ​ต้อง​ซื้อ​ใน​ปริมาณ​ที่​กำหนด​ไว้​เป็น​อย่าง​น้อย ไม่​ว่า​เขา​ต้องการ​ใช้​เท่า​ไร​จริง ๆ. ยิ่ง​กว่า​นั้น คน​ที่​มี​ฐานะ​พิเศษ เช่น ขุนนาง​และ​นัก​เทศน์​นัก​บวช ได้​รับ​การ​ยก​เว้น​ภาษี. บาง​มณฑล​รวม​ทั้ง​บริตตานี ก็​ได้​รับ​การ​ยก​เว้น​ด้วย ส่วน​มณฑล​อื่น ๆ จ่าย​แค่​หนึ่ง​ใน​สี่​ของ​อัตรา​ภาษี. นี่​ทำ​ให้​เกลือ​มี​ราคา​แตกต่าง​กัน​อย่าง​มาก โดย​ที่​เกลือ​ใน​มณฑล​หนึ่ง​อาจ​แพง​กว่า​อีก​มณฑล​หนึ่ง​ถึง 40 เท่า.

ไม่​แปลก​ที่​ใน​สภาพการณ์​เช่น​นี้​ทำ​ให้​มี​การ​ลักลอบ​กัน​อย่าง​แพร่​หลาย. อย่าง​ไร​ก็​ตาม คน​ที่​ถูก​จับ​ได้​ว่า​ลักลอบ​ก็​จะ​ถูก​ลง​โทษ​อย่าง​หนัก. พวก​เขา​อาจ​ถูก​ตี​ตรา​ด้วย​เหล็ก​เผา​ไฟ แล้ว​ส่ง​ไป​เป็น​ทาส​ฝีพาย​ใน​เรือ หรือ​ถึง​กับ​ถูก​ประหาร. ใน​ตอน​ต้น​ศตวรรษ​ที่ 18 ประมาณ​หนึ่ง​ใน​สี่​ของ​ทาส​ฝีพาย​ใน​เรือ​เป็น​ผู้​ลักลอบ​ขน​เกลือ ส่วน​คน​อื่น​ก็​เป็น​อาชญากร​ทั่ว​ไป, ทหาร​ที่​หนี​จาก​กองทัพ, หรือ​ชาว​โปรเตสแตนต์​ที่​ถูก​ข่มเหง​หลัง​จาก​การ​เพิกถอน​พระ​ราชกฤษฎีกา​แห่ง​นองต์. * เมื่อ​มี​การ​ปฏิวัติ​เกิด​ขึ้น​ทั่ว​ฝรั่งเศส​ใน​ปี 1789 ข้อ​เรียก​ร้อง​แรก ๆ ข้อ​หนึ่ง​คือ​การ​ยก​เลิก​ภาษี​นี้​ซึ่ง​เป็น​ที่​จง​เกลียด​จง​ชัง.

ที่​ตาก​เกลือ​กลาง​แจ้ง

วิธี​สกัด​เกลือ​ตาม​ชายฝั่ง​แอตแลนติก​ของ​ฝรั่งเศส​แทบ​ไม่​ได้​เปลี่ยน​แปลง​เลย​ตลอด​หลาย​ร้อย​ปี​ที่​ผ่าน​มา. มี​การ​ผลิต​เกลือ​โดย​วิธี​ใด? พวก​ปาลูดิเยร์ ใช้​เวลา​ช่วง​ฤดู​ใบ​ไม้​ร่วง​ถึง​ฤดู​ใบ​ไม้​ผลิ​ซ่อม​คันนา​และ​คู​น้ำ​ใน​ที่​ลุ่ม​น้ำ​เค็ม​และ​เตรียม​อ่าง​ตก​ผลึก​ไว้​ให้​พร้อม. เมื่อ​ฤดู​ร้อน​มา​ถึง ดวง​อาทิตย์, ลม, และ​คลื่น​ก็​ทำ​ให้​ที่​ลุ่ม​น้ำ​เค็ม​กลาย​เป็น​ที่​ตาก​เกลือ​กลาง​แจ้ง. เมื่อ​น้ำ​ขึ้น น้ำ​ทะเล​จะ​ไหล​เข้า​มา​ใน​อ่าง​แรก​ซึ่ง​เรียก​ว่า วาซิแยร์ ที่​ซึ่ง​น้ำ​ถูก​กัก​ไว้​และ​เริ่ม​ระเหย. จาก​นั้น​น้ำ​จะ​ถูก​ระบาย​อย่าง​ช้า ๆ ไป​ยัง​อ่าง​ต่อ ๆ ไป ซึ่ง​มัน​จะ​ระเหย​ต่อ​ไป​อีก. ขณะ​ที่​น้ำ​นั้น​เค็ม​ขึ้น​เรื่อย ๆ สาหร่าย​ที่​เล็ก​มาก​จน​มอง​ด้วย​ตา​เปล่า​ไม่​เห็น​ก็​จะ​เจริญ​เติบโต ทำ​ให้​น้ำ​เกลือ​กลาย​เป็น​สี​แดง​ชั่ว​ระยะ​หนึ่ง. เมื่อ​มัน​ตาย มัน​จะ​ทำ​ให้​เกลือ​มี​กลิ่น​ดอก​ไวโอเลต​จาง ๆ. เมื่อ​น้ำ​เกลือ​ไหล​ไป​ถึง​แอ่ง​ตก​ผลึก น้ำ​นั้น​จะ​มี​เกลือ​ละลาย​อยู่​อย่าง​หนา​แน่น โดย​มี​เกลือ​เพิ่ม​ขึ้น​จาก​ราว ๆ 35 กรัม​ต่อ​หนึ่ง​ลิตร​เป็น​ประมาณ 260 กรัม.

เนื่อง​จาก​ที่​ลุ่ม​น้ำ​เค็ม​เหล่า​นี้​มี​ลักษณะ​ที่​เสียหาย​ได้​ง่าย การ​เก็บ​รวบ​รวม​เกลือ​โดย​ใช้​เครื่องจักร​แบบ​ที่​ทำ​กัน​ใน​ที่​ลุ่ม​น้ำ​เค็ม​ชายฝั่ง​เมดิเตอร์เรเนียน​ของ​เมือง​ซาแลง-เดอ-ชีโร​และ​เอกโมรท์​จึง​ไม่​สามารถ​ทำ​ได้. โดย​ใช้​เครื่อง​มือ​ที่​ทำ​ด้วย​ไม้​ยาว ๆ ลักษณะ​คล้าย​คราด พวก​ปาลูดิเยร์ โกย​เกลือ​ขึ้น​ไว้​ที่​ขอบ​อ่าง โดย​ระวัง​ที่​จะ​ไม่​ขูด​เอา​ดิน​บริเวณ​ก้น​อ่าง​ที่​ตื้น ๆ ขึ้น​มา​ด้วย. เกลือ​ซึ่ง​มี​สี​เทา​เล็ก​น้อย​เนื่อง​จาก​ดิน ถูก​ตาก​ไว้​ให้​แห้ง​ใน​ตอน​นั้น. โดย​เฉลี่ย​แล้ว ปาลูดิเยร์ คน​หนึ่ง​ทำ​นา​เกลือ​ได้​ประมาณ 60 อ่าง แต่​ละ​อ่าง​จะ​ผลิต​เกลือ​ได้​ประมาณ​หนึ่ง​ตัน​ครึ่ง​ใน​แต่​ละ​ปี.

ภาย​ใต้​สภาพการณ์​บาง​อย่าง ผลึก​เกลือ​ก่อ​ตัว​ขึ้น​เป็น​ชั้น​บาง ๆ บน​ผิว​น้ำ​เหมือน​เกล็ด​หิมะ. เฟลอร์เดอเซล (ดอกไม้​เกลือ) ตาม​ที่​รู้​จัก​กัน​นี้ เป็น​ผล​ผลิต​เพียง​ไม่​กี่​เปอร์เซ็นต์​ที่​ได้​จาก​เกลือ​ใน​แต่​ละ​ปี แต่​มัน​เป็น​ที่​ต้องการ​อย่าง​มาก​ใน​อาหาร​ฝรั่งเศส.

แน่นอน ทั้ง​หมด​นี้​ขึ้น​อยู่​กับ​ความ​แปรปรวน​ของ​ลม​ฟ้า​อากาศ. อดีต​พ่อค้า​เกลือ​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “เรา​เสี่ยง​ต่อ​การ​สูญ​เสีย​ผล​ผลิต​ทุก​ปี. อย่าง​เช่น ใน​ปี 1950 ฝน​ตก​ตลอด​ฤดู​ร้อน. เรา​เก็บ​เกลือ​ได้​ไม่​เต็ม​หมวก​ฟาง​ใบ​หนึ่ง​ด้วย​ซ้ำ.” ปาสคาล ซึ่ง​เป็น​ปาลูดิเยร์ คน​หนึ่ง​ใน​เกรองด์ ให้​ความ​เห็น​ว่า “ใน​ปี 1997 ผม​เก็บ​เกลือ​เม็ด​ได้ 180 ตัน​และ ‘ดอกไม้​เกลือ’ 11 ตัน. ปี​นี้ [1999] สภาพ​อากาศ​ไม่​ดี. ผม​เก็บ​ได้​แค่ 82 ตัน.” น่า​แปลก อากาศ​ที่​ร้อน​จัด​ก็​อาจ​ก่อ​ความ​เสียหาย​ได้​ด้วย เพราะ​ทำ​ให้​น้ำ​ทะเล​ร้อน​เกิน​ไป​และ​เกลือ​จึง​ไม่​ตก​ผลึก.

มี​ขึ้น​มี​ลง

ใน​ศตวรรษ​ที่ 19 การ​นำ​อุตสาหกรรม​มา​ใช้​ทำ​ให้​เกลือ​จาก​ที่​ลุ่ม​น้ำ​เค็ม​แถบ​ชายฝั่ง​แอตแลนติก​เป็น​ที่​ต้องการ​น้อย​ลง. การ​ขน​ส่ง​ที่​ได้​รับ​การ​ปรับ​ปรุง​ทำ​ให้​ผู้​ผลิต​เกลือ​แถบ​ชายฝั่ง​ทะเล​เมดิเตอร์เรเนียน​นำ​เกลือ​ราคา​ถูก​ไป​ขาย​กัน​เกลื่อน. ยิ่ง​กว่า​นั้น สภาพ​ภูมิ​อากาศ​แถบ​เมดิเตอร์เรเนียน​ก็​ทำ​ให้​มี​การ​ผลิต​เกลือ​ได้​ถึง​ปี​ละ​มาก​กว่า 1.5 ล้าน​ตัน. เมื่อ​มี​การ​แข่งขัน​เช่น​นั้น พอ​ถึง​ทศวรรษ​ปี 1970 การ​ผลิต​เกลือ​ใน​ที่​ลุ่ม​ชายฝั่ง​แอตแลนติก​ก็​ถึง​จุด​ตก​ต่ำ​ที่​สุด​และ​ดู​เหมือน​จะ​ไป​ไม่​รอด.

แต่​ใน​ช่วง​หลัง ๆ นี้ ความ​น่า​ดึงดูด​ใจ​ของ “ทองคำ​สี​ขาว” ที่​เคย​มี​อยู่​ใน​อดีต ก็​ได้​รับ​การ​ฟื้นฟู​ขึ้น​อีก​ครั้ง. เนื่อง​จาก​มี​การ​ตระหนัก​ถึง​คุณค่า​ทาง​นิเวศ​วิทยา​และ​ทาง​เศรษฐกิจ​ของ​ที่​ลุ่ม​น้ำ​เค็ม​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ นี่​จึง​ทำ​ให้​สถานการณ์​ค่อย ๆ เปลี่ยน​ไป. แอ่ง​เกลือ​เป็น​ส่วน​ของ​ระบบ​นิเวศ​ซึ่ง​เป็น​แหล่ง​ที่​มี​พืช​พรรณ​นา​นา​ชนิด​และ​มี​นก​อพยพ​จำนวน​มาก​มา​อาศัย​อยู่—แหล่ง​พักพิง​ซึ่ง​ได้​รับ​การ​ยอม​รับ​และ​ได้​รับ​การ​คุ้มครอง​ใน​ปัจจุบัน.

สิ่ง​ที่​น่า​ดึงดูด​ใจ​อีก​ประการ​หนึ่ง​คือ บริเวณ​ชายฝั่ง​ที่​ยัง​เป็น​ธรรมชาติ​เหล่า​นี้​มี​ขนบธรรมเนียม​ที่​ไม่​ได้​รับ​ผล​กระทบ​จาก​ความ​วุ่นวาย​ของ​รูป​แบบ​ชีวิต​สมัย​ใหม่ ซึ่ง​ดึงดูด​นัก​ท่อง​เที่ยว​ที่​ต้องการ​หลีก​หนี​ความ​วุ่นวาย​ใน​เมือง. ที่​มอง​ข้าม​ไม่​ได้​อีก​อย่าง​หนึ่ง​คือ​ข้อ​เท็จ​จริง​ที่​ว่า ใน​สมัย​ที่​มี​ความ​ห่วงใย​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ ใน​เรื่อง​มลพิษ​และ​คุณภาพ​ของ​อาหาร​ที่​เรา​กิน อาหาร​ที่​ผลิต​โดย​วิธี​ธรรมชาติ​ทุก​ขั้น​ตอน ซึ่ง​ไม่​มี​การ​ปรุง​แต่ง​ด้วย​สาร​เคมี​หรือ​กระบวนการ​ทาง​เคมี มี​ข้อ​ได้​เปรียบ​ใน​ด้าน​การ​ตลาด​มาก​ที​เดียว. บาง​ที แม้​โลก​จะ​อยู่​ใน​กระแส​แห่ง​โลกาภิวัตน์​และ​การ​แข่งขัน​กัน​อย่าง​ดุเดือด แต่​ก็​ยัง​มี​ที่​สำหรับ​พวก​ปาลูดิเยร์ ของ​ฝรั่งเศส พร้อม​ทั้ง​อาชีพ​เก็บ​เกลือ​ที่​เก่า​แก่​หลาย​ร้อย​ปี.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 7 ดู​หอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 สิงหาคม 1998 หน้า 25-29 จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา.

[กรอบ​หน้า 22]

เกลือ​และ​สุขภาพ​คุณ

กล่าว​กัน​ว่า การ​กิน​อาหาร​ที่​มี​เกลือ​สูง​ทำ​ให้​เกิด​ความ​ดัน​โลหิต​สูง ซึ่ง​เป็น​ปัจจัย​อย่าง​หนึ่ง​ที่​ทำ​ให้​เกิด​ภาวะ​หัวใจ​ขาด​เลือด​เฉียบ​พลัน. ด้วย​เหตุ​นี้ ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​สุขภาพ​มัก​แนะ​นำ​ไม่​ให้​กิน​เกลือ​มาก​กว่า​วัน​ละ​หก​กรัม.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​ศึกษา​วิจัย​เมื่อ​เร็ว ๆ นี้​ดู​เหมือน​จะ​บ่ง​ชี้​ว่า​การ​กิน​เกลือ​น้อย​ลง​ไม่​ได้​ทำ​ให้​ความ​ดัน​โลหิต​ลด​ลง​มาก​สัก​เท่า​ไร​ใน​ผู้​ที่​เป็น​โรค​ความ​ดัน​โลหิต​สูง​อยู่​แล้ว และ​การ​ทำ​อย่าง​นั้น​ก็​แทบ​จะ​ไม่​มี​ผล​กระทบ​เลย​ด้วย​ซ้ำ​ต่อ​ผู้​ที่​มี​ความ​ดัน​โลหิต​ปกติ. งาน​ศึกษา​วิจัย​ที่​ลง​พิมพ์​ใน​วารสาร​เดอะ แลนเซต ฉบับ 14 มีนาคม 1998 บ่ง​ชี้​ว่า คน​ที่​กิน​อาหาร​ที่​มี​เกลือ​ต่ำ​เกิด​อาการ​ภาวะ​หัวใจ​ขาด​เลือด​เฉียบ​พลัน​มาก​กว่า​คน​ที่​กิน​เกลือ​ตาม​ปกติ และ​การ​ศึกษา​วิจัย​นั้น​สรุป​ว่า “สำหรับ​อาหาร​ที่​มี​เกลือ​ต่ำ อันตราย​อาจ​มี​มาก​กว่า​ประโยชน์.” บทความ​ใน​วารสาร​สมาคม​การ​แพทย์​แห่ง​แคนาดา (ซี​เอ็ม​เอ​เจ) ฉบับ 4 พฤษภาคม 1999 แถลง​ว่า “ปัจจุบัน​ยัง​ไม่​มี​การ​แนะ​นำ​ให้​จำกัด​การ​บริโภค​เกลือ​สำหรับ​ผู้​มี​ความ​ดัน​โลหิต​ปกติ เนื่อง​จาก​ไม่​มี​หลักฐาน​เพียง​พอ​ที่​แสดง​ว่า​การ​ทำ​อย่าง​นั้น​จะ​ทำ​ให้​มี​โอกาส​เป็น​โรค​ความ​ดัน​โลหิต​สูง​น้อย​ลง.”

นี่​หมาย​ความ​ว่า​ไม่​มี​ความ​จำเป็น​ต้อง​เป็น​ห่วง​ว่า​จะ​กิน​เกลือ​มาก​น้อย​เท่า​ไร​อย่าง​นั้น​ไหม? เช่น​เดียว​กับ​ประเด็น​เรื่อง​อาหาร​การ​กิน​อื่น ๆ หลักการ​ที่​ดี​คือ​การ​รู้​จัก​ประมาณ​ตน. บทความ​ใน​วารสาร​ซี​เอ็ม​เอ​เจ ที่​กล่าว​ถึง​ข้าง​ต้น​แนะ​นำ​ว่า คน​เรา​ควร​ระวัง​ที่​จะ​ไม่​กิน​เกลือ​มาก​เกิน​ไป, จำกัด​ปริมาณ​เกลือ​ที่​ใช้​ใน​การ​ทำ​อาหาร, และ​พยายาม​หลีก​เลี่ยง​การ​เติม​เกลือ​ที่​โต๊ะ​อาหาร. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ถ้า​คุณ​เป็น​โรค​ความ​ดัน​โลหิต​สูง​หรือ​มี​ปัญหา​เกี่ยว​กับ​หัวใจ จง​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ของ​แพทย์.

[แผนที่​หน้า 21]

(ดู​ราย​ละเอียด​ใน​วารสาร)

เกรองด์

อีล เดอ นัวร์มูตีเย

อีล เดอ แร

[ภาพ​หน้า 22]

“เฟลอร์เดอเซล”

[ภาพ​หน้า 23]

เมือง​อีล เดอ แร

[ภาพ​หน้า 23]

การ​เก็บ “เฟลอร์เดอเซล”

[ภาพ​หน้า 23]

ที่​ลุ่ม​น้ำ​เค็ม​และ​อ่าง​เกลือ

[ภาพ​หน้า 23]

“ปาลูดิเยร์” คน​หนึ่ง​ใน​นัวร์มูตีเย

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 21]

© Cliché Bibliothèque nationale de France, Paris

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 23]

Top: Index Stock Photography Inc./Diaphor Agency; left: © V. Sarazin/CDT44; center and right: © Aquasel, Noirmoutier