ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

สาเหตุที่ฝังรากลึกผลกระทบที่กว้างไกล

สาเหตุที่ฝังรากลึกผลกระทบที่กว้างไกล

สาเหตุ​ที่​ฝัง​ราก​ลึก​ผล​กระทบ​ที่​กว้าง​ไกล

“ผม​หิว​และ​พวก​คุณ​ก็​ตั้ง​คณะ​กรรมการ​ตรวจ​สอบ​เรื่อง​ความ​หิว​ของ​ผม. ผม​ไม่​มี​บ้าน​อยู่​และ​พวก​คุณ​ก็​ทำ​รายงาน​เรื่อง​ความ​ทุกข์​ของ​ผม. ผม​ป่วย​และ​พวก​คุณ​ก็​จัด​สัมมนา​เรื่อง​สภาพการณ์​ของ​ผู้​ยาก​ไร้. คุณ​ซักไซ้​เรื่อง​ความ​ทุกข์​ยาก​ของ​ผม​ทุก​แง่​ทุก​มุม แต่​กระนั้น​ผม​ก็​ยัง​หิว, ไม่​มี​บ้าน​อยู่, และ​เจ็บ​ป่วย.”—ไม่​ทราบ​ชื่อ​ผู้​เขียน.

แม้​ว่า​หน่วย​งาน​ต่าง ๆ ของ​โลก​ได้​พยายาม​หลาย​ต่อ​หลาย​ครั้ง​เพื่อ​หยุด​ยั้ง​ภาวะ​ทุโภชนาการ แต่​ก็​ไม่​ประสบ​ผล​สำเร็จ​ตาม​ที่​หวัง​ไว้. ตัว​อย่าง​เช่น ใน​ปี 1996 การ​ประชุม​สุด​ยอด​ว่า​ด้วย​เรื่อง​อาหาร​โลก​ของ​องค์การ​อาหาร​และ​เกษตรกรรม​แห่ง​สหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ได้​ตั้ง​เป้าหมาย​จะ​ทำ​ให้​ประชากร​โลก​ที่​เป็น​โรค​ขาด​สาร​อาหาร​มี​จำนวน​ลด​ลง​ครึ่ง​หนึ่ง คือ​ประมาณ 400 ล้าน​คน ก่อน​ถึง​ปี 2015. *

น่า​ชมเชย​ที่​มี​ความ​ก้าว​หน้า​บาง​อย่าง. แต่​น่า​เสียดาย รายงาน​เมื่อ​เร็ว ๆ นี้​ของ​องค์การ​อาหาร​และ​เกษตรกรรม​เรื่อง สถานะ​ความ​ไม่​มั่นคง​ของ​อาหาร​ใน​โลก​ปี 2001 ยอม​รับ​ว่า “เห็น​ได้​ชัด​ว่า การ​ลด​ลง​ของ​จำนวน​ผู้​เป็น​โรค​ขาด​สาร​อาหาร​ใน​โลก​ได้​ชะลอ​ตัว​ลง​แล้ว.” ดัง​นั้น เป้าหมาย​ของ​การ​ประชุม​สุด​ยอด​ครั้ง​นั้น​จึง​ยัง​ดู​เหมือน​ไกล​เกิน​เอื้อม. ที่​จริง รายงาน​ฉบับ​นั้น​ยอม​รับ​ว่า “จำนวน​ผู้​เป็น​โรค​ขาด​สาร​อาหาร​ได้​เพิ่ม​ขึ้น​อย่าง​มาก​ใน​ประเทศ​กำลัง​พัฒนา​ส่วน​ใหญ่.”

ทำไม​ศัตรู​ตัว​นี้​จึง​เอา​ชนะ​ได้​ยาก​เหลือ​เกิน? เพื่อ​จะ​ได้​คำ​ตอบ ก่อน​อื่น​เรา​อาจ​ต้อง​ให้​คำ​จำกัดความ​เกี่ยว​กับ​ภาวะ​ทุโภชนาการ แล้ว​จึง​พิจารณา​ผล​กระทบ​ที่​กว้าง​ไกล​และ​สาเหตุ​ที่​ฝัง​ราก​ลึก.

ภาวะ​ทุโภชนาการ​เกิด​จาก​อะไร?

ภาวะ​ทุโภชนาการ​เกิด​จาก​การ​ที่​เซลล์​ใน​ร่าง​กาย​ได้​รับ​สาร​อาหาร​ไม่​เพียง​พอ และ​มัก​เกิด​จาก​ปัจจัย​สอง​อย่าง​ประกอบ​กัน​คือ (1) การ​ได้​รับ​โปรตีน, แคลอรี, วิตามิน, และ​แร่​ธาตุ​ไม่​เพียง​พอ และ (2) การ​ติด​เชื้อ​บ่อย ๆ.

ความ​เจ็บ​ป่วย​ต่าง ๆ เช่น ท้องร่วง, โรค​หัด, มาลาเรีย, และ​โรค​เกี่ยว​กับ​ทาง​เดิน​หายใจ​ทำ​ให้​ร่าง​กาย​ต้อง​ทำ​งาน​หนัก​และ​สูญ​เสีย​สาร​อาหาร. โรค​เหล่า​นี้​ทำ​ให้​ไม่​อยาก​อาหาร​และ​กิน​น้อย​ลง จึง​มี​ส่วน​ทำ​ให้​เกิด​ภาวะ​ทุโภชนาการ. ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง เด็ก​ที่​ขาด​สาร​อาหาร​ก็​เสี่ยง​ต่อ​การ​ติด​เชื้อ​มาก​ขึ้น. ดัง​นั้น นี่​จึง​เป็น​วัฏจักร​ซึ่ง​ทำ​ให้​อัตรา​การ​เสีย​ชีวิต​เนื่อง​จาก​ภาวะ​ขาด​โปรตีน​และ​แคลอรี​เพิ่ม​ทวี​ขึ้น.

ทำไม​เด็ก ๆ จึง​มี​ความ​เสี่ยง​ต่อ​ภาวะ​ทุโภชนาการ​มาก​กว่า? เด็ก​อยู่​ใน​ช่วง​ที่​มี​การ​เจริญ​เติบโต​อย่าง​รวด​เร็ว​ซึ่ง​ทำ​ให้​ความ​ต้องการ​แคลอรี​และ​โปรตีน​มี​เพิ่ม​ขึ้น. ด้วย​เหตุ​ผล​คล้าย​กัน หญิง​มี​ครรภ์​และ​หญิง​ที่​ให้​นม​ลูก​ก็​มี​ความ​เสี่ยง​ต่อ​ภาวะ​ทุโภชนาการ​ด้วย.

บ่อย​ครั้ง ปัญหา​ของ​เด็ก​เริ่ม​ก่อน​ที่​เขา​จะ​เกิด​มา​ด้วย​ซ้ำ. ถ้า​แม่​เป็น​โรค​ขาด​สาร​อาหาร​หรือ​อยู่​ใน​ภาวะ​ทุโภชนาการ​ก่อน​และ​ระหว่าง​การ​ตั้ง​ครรภ์ เด็ก​แรก​เกิด​ก็​จะ​มี​น้ำหนัก​ตัว​น้อย. หลัง​จาก​นั้น การ​หย่า​นม​ก่อน​เวลา, นิสัย​การ​กิน​ที่​ไม่​ดี, และ​การ​ขาด​สุขอนามัย​ก็​อาจ​ทำ​ให้​เกิด​ภาวะ​ทุโภชนาการ​ได้.

การ​ขาด​สาร​อาหาร​ที่​จำเป็น​ทำ​ให้​ร่าง​กาย​ของ​เด็ก​หยุด​เจริญ​เติบโต​และ​ไม่​พัฒนา​อย่าง​ที่​ควร​จะ​เป็น. เด็ก​จะ​ร้อง​งอแง​และ​ป่วย​บ่อย. ขณะ​ที่​อาการ​แย่​ลง จะ​เห็น​ได้​ชัด​ยิ่ง​ขึ้น​ว่า​เด็ก​มี​น้ำหนัก​ตัว​ลด​ลง, ดวง​ตา​และ​กระหม่อม (จุด​ที่​อ่อน​นิ่ม​ตรง​กลาง​ศีรษะ) เป็น​เบ้า​ลึก​ลง​ไป, ผิวหนัง​และ​เนื้อ​เยื่อ​ต่าง ๆ ขาด​ความ​ยืดหยุ่น, และ​ความ​สามารถ​ใน​การ​รักษา​อุณหภูมิ​ของ​ร่าง​กาย​ก็​ลด​น้อย​ลง.

โรค​ขาด​สาร​อาหาร​อาจ​มี​อาการ​แบบ​อื่น​ด้วย. อาการ​เหล่า​นี้​ก็​อาจ​ทำ​ให้​เด็ก​เจริญ​เติบโต​ช้า​เช่น​กัน. ตัว​อย่าง​เช่น การ​ได้​รับ​แร่​ธาตุ​ไม่​เพียง​พอ​สามารถ​ส่ง​ผล​กระทบ​เช่น​นั้น​ได้ ซึ่ง​ส่วน​ใหญ่​จะ​เป็น​ธาตุ​เหล็ก, ไอโอดีน, และ​สังกะสี รวม​ทั้ง​วิตามิน​ต่าง ๆ โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง วิตามิน​เอ. องค์การ​ทุน​เพื่อ​เด็ก​แห่ง​สหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) รายงาน​ว่า การ​ขาด​วิตามิน​เอ ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​เด็ก​เล็ก​ใน​โลก​ประมาณ 100 ล้าน​คน​และ​ทำ​ให้​ตา​บอด. นอก​จาก​นี้ การ​ขาด​วิตามิน​เอ​ยัง​ทำ​ให้​ระบบ​ภูมิ​คุ้ม​กัน​อ่อนแอ และ​ทำ​ให้​ความ​สามารถ​ใน​การ​ต้านทาน​การ​ติด​เชื้อ​ของ​เด็ก​ลด​ลง.

ผล​กระทบ​ที่​กว้าง​ไกล

ภาวะ​ทุโภชนาการ​ทำ​ความ​เสียหาย​แก่​ร่าง​กาย​ของ​คน​เรา โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ของ​เด็ก. อวัยวะ​และ​ระบบ​ทุก​อย่าง​ใน​ร่าง​กาย​อาจ​ได้​รับ​ผล​กระทบ รวม​ทั้ง​หัวใจ, ไต, กระเพาะ, ลำไส้, ปอด, และ​สมอง.

การ​ศึกษา​วิจัย​หลาย​ราย​แสดง​ให้​เห็น​ว่า การ​ที่​เด็ก​เจริญ​เติบโต​ช้า​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​มี​พัฒนาการ​ทาง​ด้าน​จิตใจ​ที่​บกพร่อง​และ​มี​ความ​สามารถ​ทาง​การ​เรียน​รู้​และ​ทาง​ปัญญา​ที่​ต่ำ. รายงาน​จาก​สหประชาชาติ​เรียก​ผล​กระทบ​เหล่า​นี้​ว่า​ผล​กระทบ​ระยะ​ยาว​ของ​ภาวะ​ทุโภชนาการ​ที่​ก่อ​ความ​เสียหาย​ร้ายแรง​ที่​สุด.

สำหรับ​เด็ก​ที่​รอด​ชีวิต​จาก​ภาวะ​ทุโภชนาการ ผล​เสียหาย​อาจ​มี​ไป​ถึง​วัย​ผู้​ใหญ่. นั่น​คือ​สาเหตุ​ที่​องค์การ​ยูนิเซฟ​กล่าว​ว่า “การ​ลด​ลง​ทาง​เชาวน์​ปัญญา​ของ​มนุษย์​ใน​ขอบ​เขต​ที่​ใหญ่​โต​เช่น​นี้—ด้วย​สาเหตุ​ที่​ป้องกัน​ได้​เกือบ​ทั้ง​หมด—นับ​เป็น​การ​สูญ​เปล่า ถึง​กับ​เป็น​เรื่อง​ผิด​ศีลธรรม​ด้วย​ซ้ำ.” ดัง​นั้น ผล​กระทบ​ระยะ​ยาว​ของ​ภาวะ​ทุโภชนาการ​จึง​เป็น​เรื่อง​ที่​น่า​ห่วง​อย่าง​ยิ่ง. การ​วิจัย​เมื่อ​เร็ว ๆ นี้​เชื่อม​โยง​โรค​ขาด​สาร​อาหาร​ใน​วัย​ทารก​เข้า​กับ​แนว​โน้ม​ต่อ​การ​เป็น​โรค​เรื้อรัง​ใน​วัย​ผู้​ใหญ่ เช่น โรค​หัวใจ, เบาหวาน, และ​ความ​ดัน​โลหิต​สูง.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม ภาวะ​ทุโภชนาการ​ขั้น​รุนแรง​ไม่​ใช่​ปัญหา​ที่​ก่อ​ความ​เสียหาย​มาก​ที่​สุด ดัง​ที่​ยูนิเซฟ​ยอม​รับ “มาก​กว่า​สาม​ใน​สี่​ของ​การ​เสีย​ชีวิต​ทั้ง​หมด​อัน​เนื่อง​มา​จาก​ภาวะ​ทุโภชนาการ​ไม่​ได้​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ภาวะ​ทุโภชนาการ​ขั้น​รุนแรง แต่​เป็น​ขั้น​เริ่ม​ต้น และ​ขั้น​ปานกลาง.” (เรา​ทำ​ให้​เป็น​ตัว​เอน.) เด็ก​ที่​ประสบ​กับ​ภาวะ​ทุโภชนาการ​ขั้น​เริ่ม​ต้น​หรือ​ขั้น​ปานกลาง​อาจ​เผชิญ​ปัญหา​สุขภาพ​ระยะ​ยาว. ดัง​นั้น เป็น​สิ่ง​สำคัญ​อย่าง​ยิ่ง​ที่​จะ​ตรวจ​ดู​อาการ​ของ​โรค​ขาด​สาร​อาหาร​ใน​เด็ก​เพื่อ​จะ​ให้​การ​รักษา​ที่​เหมาะ​สม​ได้.—ดู​กรอบ​หน้า 7.

สาเหตุ​ที่​ฝัง​ราก​ลึก

ดัง​ที่​กล่าว​ข้าง​ต้น สาเหตุ​โดย​ตรง​ของ​ภาวะ​ทุโภชนาการ​คือ​การ​ขาด​อาหาร. แต่​ยัง​มี​สาเหตุ​ที่​ลึกซึ้ง​กว่า​นั้น​ใน​ทาง​สังคม, เศรษฐกิจ, วัฒนธรรม, และ​สภาพ​แวด​ล้อม. สาเหตุ​ใหญ่​คือ​ความ​ยาก​จน ซึ่ง​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​หลาย​ล้าน​คน โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ใน​ประเทศ​กำลัง​พัฒนา. อย่าง​ไร​ก็​ตาม นอก​จาก​ความ​ยาก​จน​จะ​เป็น​สาเหตุ​แล้ว ความ​ยาก​จน​ยัง​เป็น​ผล​ของ​ภาวะ​ทุโภชนาการ​ด้วย เนื่อง​จาก​โรค​ขาด​สาร​อาหาร​ทำ​ให้​ความ​สามารถ​ใน​การ​ผลิต​ของ​ผู้​คน​ลด​ลง ด้วย​เหตุ​นี้​ความ​ยาก​จน​จึง​ยิ่ง​เพิ่ม​ทวี​ขึ้น.

ปัจจัย​อื่น​ก็​มี​ส่วน​ด้วย. การ​ขาด​ความ​รู้ ทำ​ให้​มี​นิสัย​การ​กิน​ที่​ไม่​ดี. การ​ติด​เชื้อ ก็​มี​ส่วน​ด้วย ดัง​ที่​เรา​พิจารณา​ไป​แล้ว. นอก​จาก​นี้ ยัง​มี​สาเหตุ​ทาง​สังคม​และ​วัฒนธรรม อย่าง​เช่น การ​แจก​จ่าย​อาหาร​ไม่​เท่า​เทียม​กัน และ​การ​มี​อคติ​ต่อ​ผู้​หญิง. ผู้​หญิง​มัก​ได้​กิน “เป็น​คน​สุด​ท้าย​แถม​ยัง​น้อย​ที่​สุด” นั่น​คือ ได้​กิน​หลัง​จาก​พวก​ผู้​ชาย​และ​น้อย​กว่า​ผู้​ชาย. ผู้​หญิง​ยัง​ไม่​ได้​รับ​โอกาส​ใน​การ​ศึกษา​ซึ่ง​จะ​ช่วย​ให้​พวก​เธอ​เอา​ใจ​ใส่​ลูก​ได้​ดี​ขึ้น.

นอก​จาก​นั้น ปัจจัย​ทาง​สภาพ​แวด​ล้อม ก็​ทำ​ให้​การ​ผลิต​อาหาร​ลด​ลง. ปัจจัย​เหล่า​นี้​รวม​ถึง​ภัย​ธรรมชาติ​และ​สงคราม. ตาม​ที่​กล่าว​ใน​สถานะ​ความ​ไม่​มั่นคง​ของ​อาหาร​ใน​โลก​ปี 2001 เพียง​แค่​ใน​ช่วง​เดือน​ตุลาคม 1999 ถึง​เดือน​มิถุนายน 2001 มี 22 ประเทศ​ประสบ​ภัย​แล้ง, 17 ประเทศ​ประสบ​พายุ​เฮอร์ริเคน​หรือ​น้ำ​ท่วม, 14 ประเทศ​ประสบ​สงคราม​กลาง​เมือง​หรือ​ความ​ไม่​สงบ, 3 ประเทศ​ประสบ​ความ​หนาว​จัด, และ​อีก 2 ประเทศ​ประสบ​แผ่นดิน​ไหว.

การ​รักษา​และ​การ​ป้องกัน

จะ​รักษา​เด็ก​ที่​ประสบ​ภาวะ​ทุโภชนาการ​ได้​อย่าง​ไร? ถ้า​เด็ก​เป็น​โรค​ขาด​สาร​อาหาร​อย่าง​รุนแรง การ​เข้า​รักษา​ใน​โรง​พยาบาล​อาจ​เป็น​การ​รักษา​ขั้น​เริ่ม​ต้น​ที่​ดี​ที่​สุด. ตาม​ที่​กล่าว​ใน​คู่มือ​แพทย์​ซึ่ง​จัด​พิมพ์​โดย​องค์การ​อนามัย​โลก แพทย์​จะ​ประเมิน​อาการ​ของ​เด็ก​และ​รักษา​การ​ติด​เชื้อ​ใด ๆ รวม​ทั้ง​ภาวะ​ขาด​น้ำ. การ​ให้​อาหาร​จะ​เริ่ม​ที​ละ​เล็ก​ที​ละ​น้อย มัก​เริ่ม​ด้วย​การ​ให้​อาหาร​ทาง​สาย​ยาง. ระยะ​เริ่ม​แรก​นี้​อาจ​ใช้​เวลา​นาน​ถึง​หนึ่ง​สัปดาห์.

หลัง​จาก​นั้น​ก็​จะ​เป็น​ขั้น​ฟื้นฟู​สมรรถภาพ. มี​การ​ให้​เด็ก​เริ่ม​กิน​นม​แม่​อีก​และ​สนับสนุน​ให้​กิน​มาก​ที่​สุด​เท่า​ที่​เป็น​ไป​ได้. การ​กระตุ้น​ทาง​อารมณ์​และ​ทาง​ร่าง​กาย​นับ​ว่า​สำคัญ​มาก​ใน​ช่วง​นี้. การ​ให้​ความ​เอา​ใจ​ใส่​และ​ความ​รัก​อาจ​ส่ง​ผล​ที่​น่า​ทึ่ง​ต่อ​พัฒนาการ​ของ​เด็ก. นี่​คือ​ตอน​ที่​ผู้​เป็น​แม่​จะ​ได้​รับ​การ​สอน​ให้​รู้​วิธี​เลี้ยง​ดู​ลูก​ด้วย​อาหาร​ที่​เหมาะ​สม​และ​ถูก​สุขอนามัย เพื่อ​อาการ​จะ​ไม่​กำเริบ​อีก. จาก​นั้น เด็ก​ก็​จะ​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​ออก​จาก​โรง​พยาบาล. เป็น​สิ่ง​สำคัญ​ที่​จะ​พา​เด็ก​กลับ​ไป​โรง​พยาบาล​หรือ​คลินิก​เพื่อ​ตรวจ​ดู​อาการ​อย่าง​ต่อ​เนื่อง​ใน​ภาย​หลัง.

อย่าง​ไร​ก็​ดี เห็น​ได้​ชัด​ว่า​การ​ป้องกัน​นั้น​เป็น​แนว​ทาง​ที่​ดี​ที่​สุด. นั่น​คือ​เหตุ​ผล​ที่​หลาย​ประเทศ รวม​ทั้ง​รัฐบาล​และ​องค์กร​เอกชน​ต่าง ๆ หลาย​แห่ง ได้​จัด​ทำ​โครงการ​อาหาร​เสริม​หรือ​โครงการ​เพิ่ม​คุณภาพ​อาหาร​สำหรับ​การ​บริโภค​ทั่ว​ไป. นอก​จาก​นี้ ชุมชน​ต่าง ๆ ก็​มี​ส่วน​ช่วย​ป้องกัน​ภาวะ​ทุโภชนาการ​ใน​หลาย​ทาง เช่น โดย​จัด​ให้​มี​โครงการ​การ​ศึกษา​ด้าน​โภชนาการ, ป้องกัน​แหล่ง​น้ำ​ดื่ม, สร้าง​ห้อง​สุขา, รักษา​สิ่ง​แวด​ล้อม​ให้​สะอาด, สนับสนุน​การ​รณรงค์​ให้​ฉีด​วัคซีน, และ​ดู​แล​ด้าน​การ​เจริญ​เติบโต​และ​พัฒนาการ​ของ​เด็ก.

กระนั้น แต่​ละ​คน​อาจ​ทำ​อะไร​ได้​เพื่อ​ป้องกัน​การ​เกิด​ภาวะ​ทุโภชนาการ? กรอบ​ใน​หน้า 8 มี​คำ​แนะ​นำ​บาง​อย่าง​ที่​เป็น​ประโยชน์. พร้อม​กับ​คำ​แนะ​นำ​เหล่า​นี้ นัก​โภชนาการ​ด้าน​โรค​เด็ก​ชื่อ เคออร์คีนา ทูสซาอินต์ แนะ​นำ​ให้​แม่​กลับ​ไป​พบ​กุมาร​แพทย์​หรือ​คลินิก​หลัง​จาก​คลอด​บุตร​ได้​เจ็ด​วัน และ​เมื่อ​บุตร​มี​อายุ​หนึ่ง​เดือน และ​ทุก ๆ เดือน​หลัง​จาก​นั้น. นอก​จาก​นี้ แม่​ควร​ไป​พบ​แพทย์​ถ้า​เด็ก​มี​อาการ​ขาด​น้ำ, ท้องร่วง​อย่าง​หนัก, หรือ​เป็น​ไข้.

แม้​ว่า​ข้อ​แนะ​เหล่า​นี้​ช่วย​ใน​เรื่อง​การ​ปรับ​ปรุง​คุณภาพ​อาหาร​ของ​เด็ก แต่​ก็​ต้อง​ยอม​รับ​ว่า​ภาวะ​ทุโภชนาการ​เป็น​ปัญหา​ใหญ่ ซึ่ง​ใหญ่​จน​เกิน​ความ​สามารถ​ของ​มนุษย์​ที่​จะ​แก้ไข​ได้. สารานุกรม​บริแทนนิกา (ภาษา​อังกฤษ) ยอม​รับ​ว่า “ถึง​อย่าง​ไร การ​จัด​หา​อาหาร​ให้​เพียง​พอ​และ​การ​ให้​การ​ศึกษา​ด้าน​โภชนาการ​แก่​ทุก​คน​ก็​ยัง​คง​เป็น​ปัญหา​สำคัญ​ยิ่ง.” ดัง​นั้น มี​ความ​หวัง​ไหม​ที่ “ภาวะ​ฉุกเฉิน​ที่​ไม่​ส่ง​เสียง” นี้​จะ​ยุติ​ลง?

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 3 สำหรับ​ข้อมูล​เพิ่ม​เติม​เรื่อง​การ​ประชุม​สุด​ยอด​ว่า​ด้วย​เรื่อง​อาหาร​โลก ดู​ตื่นเถิด! ฉบับ 8 สิงหาคม 1997 หน้า 12-14.

[กรอบ​หน้า 7]

ลูก​ของ​คุณ​ประสบ​ภาวะ​ทุโภชนาการ​ไหม?

ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​สุขภาพ​ประเมิน​สุขภาพ​ของ​เด็ก​ใน​ด้าน​โภชนาการ​อย่าง​ไร? พวก​เขา​อาจ​วิเคราะห์​สัญญาณ​และ​อาการ​แสดง​ต่าง ๆ, ถาม​เกี่ยว​กับ​นิสัย​ใน​การ​กิน, และ​สั่ง​ให้​ทำ​การ​วิจัย​ใน​ห้อง​ทดลอง. อย่าง​ไร​ก็​ดี ส่วน​ใหญ่​พวก​เขา​อาศัย​การ​วัด​ที่​แม่นยำ. พวก​เขา​วัด​ขนาด​ตัว​เด็ก​และ​เทียบ​กับ​ตัว​เลข​ที่​ใช้​เป็น​เกณฑ์​มาตรฐาน. การ​ทำ​อย่าง​นี้​ช่วย​พวก​เขา​ให้​วิเคราะห์​ได้​ว่า​เด็ก​ประสบ​ภาวะ​ทุโภชนาการ​ประเภท​ไหน​และ​ร้ายแรง​เพียง​ไร.

การ​วัด​ค่า​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​คือ​น้ำหนัก, ส่วน​สูง, และ​ขนาด​รอบ​แขน. การ​เทียบ​น้ำหนัก​กับ​อายุ​จะ​เผย​ให้​ทราบ​ระดับ​ความ​รุนแรง​ของ​โรค​ขาด​สาร​อาหาร ซึ่ง​ถ้า​รุนแรง​มาก เด็ก​ก็​จะ​ซูบ​ผอม​จน​แทบ​ไม่​มี​กล้ามเนื้อ​เลย. ถือ​กัน​ว่า​อยู่​ใน​ขั้น​รุนแรง​ถ้า​เด็ก​มี​น้ำหนัก​ต่ำ​กว่า​มาตรฐาน​มาก​กว่า 40 เปอร์เซ็นต์, อยู่​ใน​ขั้น​ปานกลาง​ถ้า​ต่ำ​กว่า​มาตรฐาน 25 ถึง 40 เปอร์เซ็นต์, และ​อยู่​ใน​ขั้น​เริ่ม​ต้น​ถ้า​ต่ำ​กว่า​มาตรฐาน 10 ถึง 25 เปอร์เซ็นต์. ถ้า​อัตรา​ส่วน​สูง​อยู่​ใน​เกณฑ์​ที่​ต่ำ​มาก​เมื่อ​เทียบ​กับ​อายุ​อาจ​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​เป็น​โรค​ขาด​สาร​อาหาร​เรื้อรัง คือ​เด็ก​คน​นั้น​จะ​แคระ​แกร็น.

ภาวะ​ขาด​โปรตีน​และ​แคลอรี​ประเภท​ที่​ร้ายแรง​ที่​สุด​คือ​มาราสมัส, ควาชิออร์กอร์, และ​แบบ​ที่​มี​ลักษณะ​ทั้ง​สอง​อย่าง. มาราสมัส (แบบ​ที่​ค่อย ๆ ผอม​ลง) พบ​ใน​เด็ก​ทารก​อายุ​ระหว่าง 6 ถึง 18 เดือน. โรค​นี้​เกิด​ขึ้น​อย่าง​ช้า ๆ เมื่อ​ร่าง​กาย​ขาด​แคลอรี​และ​สาร​อาหาร​แบบ​เรื้อรัง รวม​ทั้ง​เป็น​ผล​จาก​การ​กิน​นม​ไม่​เพียง​พอ​หรือ​ใช้​นม​ที่​เจือ​จาง​มาก​แทน​นม​มารดา. ทารก​จะ​มี​น้ำหนัก​ตัว​ลด​ลง​มาก กล้ามเนื้อ​ลีบ​จน​เหลือ​แต่​หนัง​หุ้ม​กระดูก และ​การ​เจริญ​เติบโต​ก็​ช้า​มาก. นอก​จาก​นี้ เด็ก​คน​นั้น​จะ​มี “หน้า​เหมือน​คน​แก่,” หงุดหงิด, และ​ร้องไห้​บ่อย ๆ.

คำ​ว่า ควาชิออร์กอร์ มา​จาก​คำ​ภาษา​แอฟริกา​คำ​หนึ่ง​ซึ่ง​หมาย​ความ​ว่า “เด็ก​ที่​ถูก​ขับ​ไล่.” คำ​นี้​หมาย​ถึง​เด็ก​ที่​ถูก​น้อง​ซึ่ง​เพิ่ง​เกิด​แย่ง​ที่​ใน​อก​ของ​แม่. อาการ​เช่น​นี้​เกิด​ขึ้น​หลัง​จาก​หย่า​นม และ​แม้​ว่า​โรค​นี้​รวม​ไป​ถึง​การ​ขาด​แคลอรี แต่​สาเหตุ​หลัก​เกิด​จาก​การ​ขาด​โปรตีน​อย่าง​รุนแรง. โรค​นี้​ทำ​ให้​ร่าง​กาย​กัก​เก็บ​น้ำ​ไว้ จึง​ทำ​ให้​เด็ก​มี​อาการ​บวม​โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ที่​มือ​เท้า​และ​ท้อง. บาง​ครั้ง​โรค​นี้​ทำ​ให้​ใบ​หน้า​บวม​ด้วย จน​ดู​คล้าย​ดวง​จันทร์​เต็ม​ดวง. ผิวหนัง​ฟก​ช้ำ​เป็น​จ้ำ ๆ อีก​ทั้ง​สภาพ​และ​สี​ของ​เส้น​ผม​ก็​เปลี่ยน​ไป. เด็ก​ที่​มี​อาการ​เช่น​ว่า​นี้​จะ​ตับ​โต, เซื่อง​ซึม, และ​ดู​เศร้า. เอริก ซึ่ง​กล่าว​ถึง​ก่อน​หน้า​นี้​เป็น​โรค​ดัง​กล่าว เนื่อง​จาก​เขา​ได้​กิน​นม​แม่​เพียง​แค่​เดือน​แรก; จาก​นั้น​แม่​ก็​ให้​เขา​กิน​นม​วัว​ที่​เจือ​จาง​มาก. เมื่อ​อายุ​ได้​สาม​เดือน เขา​ได้​กิน​ซุป​ผัก​และ​น้ำ​ผสม​น้ำตาล และ​ถูก​ฝาก​ไว้​ให้​เพื่อน​บ้าน​ดู​แล.

ภาวะ​ขาด​โปรตีน​และ​แคลอรี​ประเภท​ที่​สาม​มี​อาการ​ของ​ทั้ง​มาราสมัส​และ​ควาชิออร์กอร์​รวม​กัน. อาการ​เหล่า​นี้​ทั้ง​หมด​อาจ​ทำ​ให้​เสีย​ชีวิต​ถ้า​ไม่​ได้​รับ​การ​รักษา​แต่​เนิ่น ๆ.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 8]

ปก​ป้อง​ลูก​ของ​คุณ​จาก​ภาวะ​ทุโภชนาการ!

▪ นับ​ว่า​สำคัญ​มาก​ที่​จะ​ปรับ​ปรุง​คุณภาพ​อาหาร​ของ​แม่. หญิง​มี​ครรภ์​และ​หญิง​ที่​ให้​นม​ลูก​ต้อง​บริโภค​แคลอรี​และ​โปรตีน​มาก​ขึ้น. โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง โปรตีน​จะ​ช่วย​ใน​การ​ผลิต​นม​แม่. ดัง​นั้น เมื่อ​อาหาร​มี​น้อย จง​ให้​ความ​สำคัญ​กับ​หญิง​ใน​วัย​เจริญ​พันธุ์​และ​เด็ก​เล็ก ๆ.

▪ ใน​เกือบ​ทุก​กรณี อาหาร​ที่​ดี​ที่​สุด​สำหรับ​ทารก​คือ​นม​แม่. โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง ใน​ช่วง​ไม่​กี่​วัน​แรก​หลัง​คลอด เนื่อง​จาก​นม​แม่​มี​แอนติบอดี​ซึ่ง​ป้องกัน​ทารก​จาก​การ​ติด​เชื้อ. ใน​ช่วง​สี่​เดือน​แรก​หรือ​ราว ๆ นั้น นม​แม่​มี​สาร​อาหาร​ที่​จำเป็น​สำหรับ​เด็ก​อย่าง​ครบ​ถ้วน​เพื่อ​การ​เจริญ​เติบโต​และ​พัฒนาการ​ที่​เหมาะ​สม.

▪ แม้​ว่า​นม​แม่​ยัง​คง​เป็น​อาหาร​หลัก แต่​ใน​ช่วง​เดือน​ที่​สี่​ถึง​เดือน​ที่​หก เด็ก​ก็​พร้อม​จะ​กิน​อาหาร​อื่น​ได้​แล้ว. ควร​ค่อย ๆ ให้​ลูก​เริ่ม​กิน​ผลไม้​และ​ผัก​บด. ให้​ทารก​ลอง​กิน​อาหาร​ใหม่​ที​ละ​อย่าง. หลัง​จาก​นั้น​สอง​สาม​วัน เมื่อ​เด็ก​คุ้น​เคย​กับ​อาหาร​ชนิด​นั้น​แล้ว ก็​ให้​ลอง​กิน​อาหาร​อีก​ชนิด​หนึ่ง. แน่นอน บ่อย​ครั้ง​จำ​ต้อง​มี​ความ​อด​ทน​และ​ใช้​ความ​พยายาม​หลาย​ครั้ง​กว่า​เด็ก​จะ​ยอม​รับ​อาหาร​ใหม่. เมื่อ​เตรียม​อาหาร​เหล่า​นี้ พึง​จำ​ไว้​ว่า​ทุก​อย่าง​ต้อง​สะอาด, สะอาด, และ​สะอาด​จริง ๆ! ควร​ล้าง​อาหาร​และ​ภาชนะ​ให้​ดี!

▪ เมื่อ​เด็ก​มี​อายุ​ระหว่าง​ใน​ช่วง​เดือน​ที่​ห้า​ถึง​เดือน​ที่​เก้า โดย​ทั่ว​ไป​ทารก​จะ​เริ่ม​ต้องการ​แคลอรี​และ​โปรตีน​มาก​กว่า​ที่​มี​ใน​น้ำ​นม. ควร​ให้​เขา​เริ่ม​กิน​อาหาร​ชนิด​อื่น​ต่อ​ไป​เรื่อย ๆ. ตอน​แรก​อาจ​ให้​อาหาร​ประเภท​ธัญพืช​และ​อาหาร​ทารก​ที่​เป็น​ผัก แล้ว​จาก​นั้น​ก็​ให้​พวก​เนื้อ​สัตว์​และ​ผล​ผลิต​จาก​นม. ขณะ​ที่​อาหาร​ใน​ช่วง​แรก ๆ นั้น​ต้อง​บด​กับ​ตะแกรง แต่​สำหรับ​ทารก​อายุ​หก​เดือน​ขึ้น​ไป เขา​ก็​จะ​กิน​อาหาร​ที่​สับ​ละเอียด​ได้​แล้ว. การ​เติม​เกลือ​หรือ​น้ำตาล​นั้น​ไม่​จำเป็น​และ​ไม่​ควร​ทำ.

▪ หลัง​จาก​เดือน​ที่​แปด นม​แม่​ก็​ไม่​ได้​เป็น​อาหาร​หลัก​สำหรับ​เด็ก​อีก​ต่อ​ไป แต่​เป็น​อาหาร​เสริม. เด็ก​เริ่ม​กิน​อาหาร​ที่​ครอบครัว​กิน. ควร​ล้าง​อาหาร​ให้​สะอาด​เสมอ และ​ควร​สับ​ให้​ละเอียด​เพื่อ​จะ​เคี้ยว​ง่าย​ขึ้น. อาหาร​ที่​ดี​ที่​สุด​รวม​ไป​ถึง​ผลไม้​และ​ผัก, ธัญพืช​และ​พืช​จำพวก​ถั่ว, เนื้อ​สัตว์​และ​ผล​ผลิต​จาก​นม. * โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง เด็ก​ต้องการ​อาหาร​ที่​อุดม​ด้วย​วิตามิน​เอ ตัว​อย่าง​เช่น นม​แม่, ผัก​ใบ​เขียว​เข้ม, และ​ผัก​ผลไม้​ที่​มี​สี​ส้ม​หรือ​สี​เหลือง เช่น มะม่วง, แครอท, และ​มะละกอ. เด็ก​อายุ​ต่ำ​กว่า​สาม​ขวบ​ต้อง​กิน​วัน​ละ​ห้า​หรือ​หก​ครั้ง.

▪ อาหาร​ประเภท​ต่าง ๆ หลาก​หลาย​ชนิด​เท่า​ที่​เป็น​ไป​ได้​ประกอบ​กัน​หลาย ๆ แบบ​จะ​ให้​สาร​อาหาร​ที่​ป้องกัน​ลูก​น้อย​ของ​คุณ. แม่​ควร​ใส่​ใจ​ใน​การ​ให้​ลูก​กิน​อาหาร​ที่​มี​คุณภาพ ไม่​บังคับ​ให้​ลูก​กิน​เมื่อ​เขา​อิ่ม​แล้ว​หรือ​ไม่​ควร​ห้าม​ลูก​เมื่อ​ดู​เหมือน​ว่า​เขา​ยัง​ไม่​อิ่ม.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 43 คุณ​จะ​ได้​ข้อมูล​มาก​ขึ้น​ใน​บทความ “อาหาร​ที่​มี​คุณค่า​ที่​คุณ​หา​ได้” ใน​ตื่นเถิด! (ภาษา​อังกฤษ) ฉบับ 8 พฤษภาคม 2002.

[รูปภาพ​หน้า]

ผู้​เชี่ยวชาญ​เห็น​พ้อง​กัน​ว่า โดย​ทั่ว​ไป​แล้ว นม​แม่​เป็น​อาหาร​ที่​ดี​ที่​สุด​สำหรับ​ทารก​แรก​เกิด

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

© Caroline Penn/Panos Pictures

[ภาพ​หน้า 7]

เด็ก ๆ กำลัง​กิน​ข้าว​สาลี​อบ​แห้ง​กับ​ผัก​ที่​โรง​เรียน​ใน​ภูฏาน

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 7]

FAO photo/WFP Photo: F. Mattioli

[ภาพ​หน้า 9]

คุณ​อาจ​ทำ​ตาม​ขั้น​ตอน​ต่าง ๆ เพื่อ​ปรับ​ปรุง​คุณภาพ​อาหาร​ของ​ลูก​คุณ

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 9]

FAO photo