ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

สุภาษิตอะกัน—กระจกสะท้อนบรรทัดฐานของสังคม

สุภาษิตอะกัน—กระจกสะท้อนบรรทัดฐานของสังคม

สุภาษิต​อะกัน—กระจก​สะท้อน​บรรทัดฐาน​ของ​สังคม

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​กานา

สุภาษิต​คือ​อะไร? พจนานุกรม​เล่ม​หนึ่ง​นิยาม​ความ​หมาย​คำ​ว่า​สุภาษิต​ไว้​ดัง​นี้: “ถ้อย​คำ​หรือ​ข้อ​ความ​ที่​กล่าว​สืบ​ต่อ​กัน​มา​ช้า​นาน​แล้ว มี​ความ​หมาย​เป็น​คติ​สอน​ใจ.” ชาว​โยรูบา​แห่ง​ไนจีเรีย​นิยาม​คำ​ว่า​สุภาษิต​ใน​แบบ​ที่​น่า​สนใจ​ยิ่ง​กว่า​นั้น โดย​บอก​ว่า​สุภาษิต​คือ “ม้า​ที่​อาจ​พา​เรา​ห้อ​ตะบึง​ไป​สู่​การ​ค้น​พบ​แนว​คิด​ต่าง ๆ.”

สุภาษิต​บท​หนึ่ง​ที่​รู้​จัก​กัน​ดี​ใน​หมู่​ชาว​อะกัน​แห่ง​กานา​ได้​แสดง​ถึง​ความ​สำคัญ​ของ​สุภาษิต สุภาษิต​นี้​คือ “พูด​กับ​คน​ฉลาด​ต้อง​พูด​เป็น​สุภาษิต ไม่​ใช่​ภาษา​ธรรมดา.” ความ​หมาย​คือ ไม่​จำเป็น​เสมอ​ไป​ที่​จะ​ต้อง​ใช้​คำ​พูด​ยืด​ยาว​กับ​คน​ฉลาด​เพื่อ​ทำ​ให้​เขา​เชื่อ​ว่า​อะไร​ควร​ทำ. สุภาษิต​ที่​เหมาะ​สม​จะ​กระตุ้น​ความ​คิด, ช่วย​ให้​เกิด​ความ​เข้าใจ, และ​สามารถ​จูง​ใจ​ให้​ทำ​สิ่ง​ที่​ถูก​ต้อง​ได้.

ใน​ประเทศ​กานา มี​การ​พูด​สุภาษิต​มาก​มาย​ใน​งาน​สมรส​และ​งาน​ศพ รวม​ทั้ง​มี​อยู่​ใน​เพลง​พื้น​บ้าน​ด้วย. สุภาษิต​ยัง​เป็น​สิ่ง​ที่​ขาด​ไม่​ได้​ใน​การ​เจรจา​ทาง​การ​ทูต. โฆษก​หรือ​ทูต​ผู้​แทน​มัก​จะ​ใช้​สุภาษิต​อย่าง​ช่ำชอง.

ใน​สังคม​ของ​ชาว​อะกัน การ​ใช้​สุภาษิต​อย่าง​ชำนิ​ชำนาญ​เป็น​เครื่อง​บ่ง​ชี้​ถึง​สติ​ปัญญา. น่า​สนใจ ใน​คัมภีร์​ไบเบิล กษัตริย์​ซะโลโม​ซึ่ง​เป็น​บุรุษ​ที่​มี​ชื่อเสียง​ว่า​มี​สติ​ปัญญา, ความ​รู้, และ​ความ​สามารถ​ด้าน​การ​ทูต ได้​รับ​การ​ยกย่อง​ว่า​รู้​สุภาษิต​ถึง 3,000 บท. แน่นอน สุภาษิต​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​จาก​พระเจ้า​และ​เป็น​จริง​เสมอ ไม่​เหมือน​สุภาษิต​ที่​อาศัย​ประสบการณ์​และ​ความ​เข้าใจ​ของ​มนุษย์. สุภาษิต​ของ​มนุษย์ ไม่​ว่า​จะ​แต่ง​ขึ้น​อย่าง​ชาญ​ฉลาด​สัก​เพียง​ไร ก็​ไม่​ควร​ถือ​ว่า​มี​คุณค่า​เทียบเท่า​คัมภีร์​ไบเบิล. แต่​ขอ​ให้​เรา​พิจารณา​สุภาษิต​บาง​บท​ของ​ชาว​อะกัน.

แนว​คิด​เรื่อง​พระเจ้า

ใน​ประเทศ​กานา สุภาษิต​มัก​ยอม​รับ​ว่า​มี​พระเจ้า และ​เรื่อง​นี้​แสดง​ให้​เห็น​ใน​สุภาษิต​หลาย​บท​ของ​ชาว​อะกัน. แนว​คิด​แบบ​อเทวนิยม​ไม่​มี​อยู่​ใน​ปรัชญา​ของ​ชาว​อะกัน. ตัว​อย่าง​เช่น สุภาษิต​บท​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “ไม่​มี​ใคร​ต้อง​สอน​เด็ก​เรื่อง​พระเจ้า.” การ​ดำรง​อยู่​ของ​พระเจ้า​ปรากฏ​ชัด​ซึ่ง​แม้​แต่​เด็ก​ก็​ยัง​รู้​ดี. สุภาษิต​นี้​มัก​ใช้​กล่าว​ถึง​สิ่ง​ที่​เด็ก​รู้​เอง​โดย​ไม่​ต้อง​สอน​กัน​มาก​นัก.

สุภาษิต​อีก​บท​หนึ่ง​ของ​ชาว​อะกัน​กล่าว​ว่า “ถ้า​วิ่ง​หนี​พระเจ้า เจ้า​ก็​ยัง​อยู่​ใต้​พระเจ้า.” ดัง​นั้น จึง​เป็น​แค่​การ​หลอก​ตัว​เอง​ถ้า​ใคร​คิด​จะ​ไม่​สนใจ​พระเจ้า. นาน​มา​แล้ว คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ถึง​จุด​เดียว​กัน​นี้​โดย​กล่าว​ว่า พระ​เนตร​ของ​พระเจ้า “อยู่​ทั่ว​ทุก​แห่ง, เฝ้า​ดู​ทั้ง​คน​ชั่ว​และ​คน​ดี.” (สุภาษิต 15:3) เรา​ทุก​คน​ต้อง​ให้​การ​ต่อ​พระองค์​ผู้​ทรง​ฤทธานุภาพ​ทุก​ประการ.

ถ้อย​คำ​ที่​แสดง​ถึง​บรรทัดฐาน​และ​ค่า​นิยม​ของ​สังคม

เช่น​เดียว​กับ​สุภาษิต​ของ​วัฒนธรรม​อื่น สุภาษิต​อะกัน​เป็น​คลัง​แห่ง​บรรทัดฐาน​และ​ค่า​นิยม​ของ​สังคม. ตัว​อย่าง​เช่น มี​การ​เน้น​อย่าง​เด่น​ชัด​ถึง​พลัง​ของ​คำ​พูด​ใน​ตัว​อย่าง​นี้: “เท้า​พลาด​ไม่​เท่า​ลิ้น​พลั้ง.” ลิ้น​ที่​ระราน​อาจ​ทำ​ความ​เสียหาย​ได้​มาก​จริง ๆ และ​อาจ​มี​ผล​ต่อ​ความ​เป็น​ความ​ตาย​ได้.—สุภาษิต 18:21.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม ถ้า​รู้​จัก​ควบคุม ลิ้น​ก็​อาจ​เป็น​ผู้​สร้าง​สันติ​ได้​อย่าง​แท้​จริง ดัง​ภาษิต​ที่​ว่า “เมื่อ​มี​ลิ้น ฟัน​ก็​ไม่​โต้​แย้ง​กัน.” จุด​สำคัญ​คือ เรื่อง​ราว​ระหว่าง​สอง​ฝ่าย​ที่​บาดหมาง​กัน เช่น ระหว่าง​สามี​กับ​ภรรยา อาจ​ยุติ​ลง​ได้​อย่าง​สงบ​หาก​มี​การ​พูด​คุย​กัน​อย่าง​ใจ​เย็น. และ​แม้​เมื่อ​วิธี​นี้​ไม่​ได้​ผล การ​ใช้​ลิ้น​อย่าง​ชำนิ​ชำนาญ​ของ​คน​กลาง​ก็​อาจ​ยุติ​ความ​ขัด​แย้ง​ได้.

สติ​ปัญญา​ที่​ใช้​ได้​จริง

มี​การ​แสดง​ให้​เห็น​คุณค่า​ของ​ความ​เข้าใจ​และ​การ​มอง​การณ์​ไกล​ไว้​อย่าง​ชัดเจน​ใน​สุภาษิต​หลาย​บท​ซึ่ง​เน้น​สติ​ปัญญา​ที่​ใช้​ได้​จริง. คน​ที่​หุนหัน​และ​กล้า​บ้า​บิ่น​ซึ่ง​ไม่​ได้​คิด​ว่า​การ​กระทำ​ของ​ตน​จะ​ส่ง​ผล​เช่น​ไร อาจ​ได้​รับ​คำ​แนะ​นำ​จาก​สุภาษิต​นี้: “ต้อง​มอง​หา​ทาง​หนี​ก่อน​จะ​หา​เรื่อง​กับ​งู​เห่า.”

บิดา​มารดา​ที่​สังเกต​เห็น​นิสัย​ที่​ไม่​ดี​บาง​อย่าง​ของ​ลูก​คง​อยาก​เอา​ใจ​ใส่​ฟัง​สุภาษิต​บท​นี้: “ถ้า​เห็น​ไม้​ที่​อาจ​โต​จน​ทิ่ม​ตา​ได้​ละ​ก็ จง​ถอน​ทิ้ง อย่า​เหลา​ให้​แหลม.” ใช่​แล้ว ควร​ถอน​ราก​นิสัย​ที่​ไม่​ดี​ต่าง ๆ ทิ้ง ก่อน​ที่​นิสัย​นั้น​จะ​ใหญ่​ขึ้น​จน​กลาย​เป็น​ปัญหา​จริง ๆ.

บ่ง​ชี้​ถึง​ขนบธรรมเนียม​และ​วัฒนธรรม

บาง​ครั้ง​จำ​ต้อง​เข้าใจ​วัฒนธรรม​เพื่อ​จะ​เข้าใจ​สุภาษิต​ใน​วัฒนธรรม​นั้น​ได้. ตัว​อย่าง​เช่น ใน​หมู่​ชาว​อะกัน ถือ​กัน​ว่า​การ​แสดง​ท่า​ทาง​ด้วย​มือ​ซ้าย​ต่อ​หน้า​คน​อื่น โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ต่อ​ผู้​สูง​อายุ ถือ​ว่า​ไม่​สุภาพ. มารยาท​เรื่อง​นี้​มี​การ​แสดง​ไว้​ใน​สุภาษิต​ที่​ว่า “อย่า​เอา​มือ​ซ้าย​ชี้​ทาง​ไป​บ้าน​เกิด.” หรือ​พูด​อีก​อย่าง​คือ คน​เรา​ควร​หยั่ง​รู้​ค่า​สิ่ง​ที่​เขา​มี รวม​ทั้ง​ต้น​กำเนิด​ของ​เขา.

สุภาษิต​บท​หนึ่ง​ที่​บ่ง​ชี้​ถึง​ธรรมเนียม​การ​รับประทาน​อาหาร​ใน​บ้าน​ชาว​อะกัน​ทั่ว​ไป​กล่าว​ว่า “เด็ก​ที่​รู้​จัก​ล้าง​มือ​จะ​ได้​กิน​อาหาร​ร่วม​กับ​ผู้​ใหญ่.” ใน​เวลา​อาหาร สมาชิก​ครอบครัว​จะ​นั่ง​กัน​เป็น​กลุ่ม ๆ ตาม​อายุ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เด็ก​ที่​ประพฤติ​ตัว​ดี โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ใน​ด้าน​ความ​สะอาด​และ​กิริยา​มารยาท อาจ​ได้​รับ​การ​เชิญ​ให้​นั่ง​ร่วม​กับ​พ่อ​และ​ผู้​ใหญ่​คน​อื่น ๆ ที่​โต๊ะ​อาหาร. สุภาษิต​บท​นี้​เน้น​จุด​ที่​ว่า ความ​น่า​นับถือ​ของ​บุคคล​หนึ่ง​ตัดสิน​กัน​ที่​ความ​ประพฤติ​ไม่​ใช่​อายุ.

คุณ​กำลัง​คิด​จะ​แต่งงาน​ไหม? ถ้า​อย่าง​นั้น ลอง​ฟัง​สุภาษิต​อะกัน​บท​นี้ “การ​สมรส​ไม่​ได้​ให้​ชิม​เหมือน​กะแช่.” คน​ขาย​กะแช่ หรือ​น้ำตาล​เมา​ซึ่ง​เป็น​เครื่อง​ดื่ม​หมัก​ที่​ทำ​มา​จาก​ต้น​มะพร้าว​หรือ​ต้น​ตาล โดย​ทั่ว​ไป​แล้ว​มัก​จะ​ยอม​ให้​ผู้​ซื้อ​ชิม​ดู​ก่อน​ตัดสิน​ใจ​ว่า​จะ​ซื้อ​เท่า​ไร​หรือ​กระทั่ง​ว่า​จะ​ซื้อ​หรือ​ไม่. แต่​การ​สมรส​ไม่​อาจ​ให้​ชิม​ได้​อย่าง​นั้น. สุภาษิต​บท​นี้​เน้น​ว่า​การ​สมรส​เป็น​สาย​สัมพันธ์​ถาวร​และ​การ​สมรส​แบบ​ลอง​อยู่​กิน​กัน​ก่อน​ไม่​เป็น​ที่​ยอม​รับ.

การ​พินิจ​พิจารณา​สิ่ง​ต่าง ๆ อย่าง​ถี่ถ้วน

สุภาษิต​หลาย​บท​แสดง​ว่า​บรรพบุรุษ​ชาว​อะกัน​ได้​พินิจ​พิจารณา​คน​และ​สัตว์​อย่าง​ถี่ถ้วน. ตัว​อย่าง​เช่น การ​เฝ้า​สังเกต​แม่​ไก่​กับ​ลูก​ไก่​อย่าง​ใกล้​ชิด​ทำ​ให้​เกิด​สุภาษิต​นี้​ขึ้น​มา “ลูก​ไก่​ที่​ยืน​อยู่​ใกล้​แม่​จะ​ได้​กิน​ต้น​ขา​ของ​ตั๊กแตน.” หมาย​ความ​ว่า​อะไร? ถ้า​คน​เรา​แยก​ตัว​ออก​จาก​ผู้​อื่น เขา​ก็​จะ​ถูก​ลืม​ได้​ง่าย ๆ เมื่อ​ถึง​เวลา​แบ่ง​ของ​ดี ๆ.

ใคร​ก็​ตาม​ที่​เคย​เห็น​กบ​ตาย คง​จะ​เข้าใจ​ความ​เป็น​จริง​ของ​คำ​กล่าว​นี้​ได้​ไม่​ยาก: “จะ​เห็น​ว่า​ตัว​กบ​ยาว​แค่​ไหน​ก็​ตอน​ที่​มัน​ตาย​แล้ว.” สุภาษิต​บท​นี้​มัก​ถูก​อ้าง​ถึง​เมื่อ​คน​หนึ่ง​ไม่​ได้​รับ​การ​หยั่ง​รู้​ค่า. ถ้า​เกิด​เหตุ​การณ์​เช่น​นี้ คน​ที่​ไม่​มี​ใคร​เห็น​ค่า​ก็​จะ​ได้​รับ​การ​ปลอบโยน​จาก​ข้อ​ที่​ว่า ถ้า​ขาด​เขา​ไป คน​อื่น​ก็​อาจ​เห็น​คุณค่า​ที่​แท้​จริง​ของ​เขา.

สุภาษิต​แบบ “ภาพ​แสดง”

แม้​ว่า​สุภาษิต​อะกัน​มี​การ​ถ่ายทอด​จาก​คน​รุ่น​หนึ่ง​สู่​อีก​รุ่น​หนึ่ง​โดย​การ​เล่า​สืบ​ปาก แต่​สุภาษิต​หลาย​บท​ก็​มี​การ​รักษา​ไว้​โดย​ภาพ​ศิลป์. ศิลปะ​เหล่า​นี้​เห็น​ได้​จาก​งาน​ไม้​แกะ​สลัก, ไม้เท้า, ลูก​ตุ้ม​ทอง, และ​เสื้อ​ผ้า​พื้นเมือง​รวม​ทั้ง​ลาย​ผ้า​สมัย​ใหม่​ด้วย. ผู้​มา​เยือน​สถาน​แสดง​ศิลปะ​ใน​กานา​อาจ​เห็น​ภาพ​ผู้​ชาย​คน​หนึ่ง​กำลัง​ปีน​ต้น​ไม้​ขณะ​ที่​อีก​คน​หนึ่ง​คอย​ช่วย. นี่​คือ​ภาพ​แทน​สุภาษิต​ที่​ว่า “ถ้า​ปีน​ต้น​ไม้​ที่​ดี ก็​อาจ​มี​คน​ช่วย.” แง่​คิด​ที่​แฝง​อยู่​นั้น​ชัดเจน คือ​ถ้า​คุณ​มุ่ง​ติด​ตาม​เป้าหมาย​ที่​คุ้มค่า คุณ​อาจ​ได้​รับ​การ​สนับสนุน.

งาน​ศพ​เป็น​โอกาส​พิเศษ​อย่าง​ยิ่ง​สำหรับ​สิ่ง​ที่​นัก​เขียน​คน​หนึ่ง​เรียก​ว่า “วาทศิลป์​สิ่ง​ทอ.” บรรยากาศ​ที่​น่า​เศร้า​ใน​งาน​ศพ​กระตุ้น​ให้​คิด​ใคร่ครวญ​ถึง​ชีวิต​โดย​แท้. ผล​ก็​คือ ลวด​ลาย​ที่​เห็น​ใน​ผ้า​ที่​ใช้​ใน​งาน​ศพ​จะ​ถ่ายทอด​แง่​คิด​ที่​มี​ความ​หมาย​ลึกซึ้ง​เกี่ยว​กับ​ชีวิต. ตัว​อย่าง​เช่น ผ้า​ลาย​บันได​อาจ​ทำ​ให้​นึก​ถึง​สุภาษิต​ที่​ว่า “ไม่​ใช่​คน​คน​เดียว​ที่​ปีน​บันได​แห่ง​ความ​ตาย.” * สุภาษิต​นี้​เตือน​ทุก​คน​ให้​มอง​ตัว​เอง​อย่าง​ถ่อม​ใจ และ​ไม่​ดำเนิน​ชีวิต​ราว​กับ​ว่า​ตัว​เอง​ไม่​มี​วัน​ตาย.—ท่าน​ผู้​ประกาศ 7:2.

ใน​สังคม​อะกัน ทูต​ผู้​แทน​หรือ​โฆษก​ของ​ผู้​ปกครอง​ใน​ท้องถิ่น​สามารถ​ใช้​สุภาษิต​ได้​อย่าง​คล่องแคล่ว และ​พวก​เขา​มัก​ถือ​ไม้เท้า​ประจำ​ตำแหน่ง​ซึ่ง​มี​ลวด​ลาย​ที่​แสดง​ถึง​หลักการ​อัน​ทรง​คุณค่า​บาง​อย่าง​ของ​ผู้​คน. ตัว​อย่าง​เช่น นก​ที่​จับ​หัว​งู​เป็น “ภาพ​แสดง” สำหรับ​คำ​กล่าว​ที่​ว่า “ถ้า​จับ​หัว​งู​ได้ ที่​เหลือ​ก็​เป็น​แค่​เชือก.” แง่​คิด​นี้​หมาย​ถึง​อะไร? ให้​จัด​การ​กับ​ปัญหา​อย่าง​จริงจัง คือ​กล้า​เผชิญ​กับ​ปัญหา.

มารยาท​การ​ใช้​สุภาษิต

เช่น​เดียว​กับ​การ​ใช้​ตัว​อย่าง​ใด ๆ ก็​ตาม การ​ที่​จะ​ใช้​สุภาษิต​เมื่อ​ไร​และ​อย่าง​ไร​นั้น​ขึ้น​อยู่​กับ​ทั้ง​เหตุ​ผล​และ​ผู้​ฟัง. การ​ใช้​สุภาษิต​อย่าง​ไม่​ถูก​ต้อง​อาจ​ลด​ประสิทธิภาพ​ของ​การ​อ้าง​เหตุ​ผล​ได้. และ​เนื่อง​จาก​ใน​บาง​วัฒนธรรม การ​ใช้​สุภาษิต​เป็น​ส่วน​สำคัญ​ของ​มารยาท​การ​พูด การ​ใช้​สุภาษิต​อย่าง​ผิด ๆ อาจ​ทำ​ให้​คน​อื่น​มอง​ผู้​พูด​ไป​ใน​แง่​ลบ​ได้.

ใน​กานา ถือ​กัน​ว่า​ผู้​หลัก​ผู้​ใหญ่​ใน​สังคม​เป็น​ผู้​แต่ง​และ​ผู้​รักษา​สุภาษิต. ดัง​นั้น สุภาษิต​จึง​มัก​เริ่ม​ด้วย​วลี​ที่​ว่า “ผู้​ใหญ่​ท่าน​บอก​ว่า . . . ” และ​ใน​สถานการณ์​ที่​ผู้​พูด​กำลัง​พูด​กับ​ผู้​ฟัง​ที่​อายุ​แก่​กว่า​มาก ก็​นับ​ว่า​สุภาพ​ที่​จะ​เริ่ม​พูด​สุภาษิต​ด้วย​การ​กล่าว​ว่า “พวก​ท่าน​เอง​ที่​เป็น​ผู้​ใหญ่​บอก​ว่า . . . ” ด้วย​ความ​นับถือ ผู้​พูด​ที่​อายุ​อ่อน​กว่า​ไม่​ต้องการ​แสดง​ตัว​ว่า​กำลัง​สอน​ผู้​ที่​อายุ​มาก​กว่า​ด้วย​ถ้อย​คำ​แห่ง​สติ​ปัญญา​ที่​แฝง​อยู่​ใน​สุภาษิต.

ข้อ​สังเกต​ที่​น่า​สนใจ

สุภาษิต​อาจ​อยู่​ก่อน​หรือ​หลัง​การ​อ้าง​เหตุ​ผล​ก็​ได้. นอก​จาก​นั้น สุภาษิต​อาจ​ถูก​ถัก​ทอ​เข้า​กับ​การ​อ้าง​เหตุ​ผล​อย่าง​หลักแหลม​จน​คน​เรา​ต้อง​มี​ความ​หยั่ง​เห็น​จึง​จะ​เข้าใจ​ความ​หมาย​ได้. เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง ชาว​อะกัน​อาจ​พูด​ถึง​คน​ที่​ถ่อม​ใจ​และ​รัก​สงบ​ว่า “ถ้า​ทุก​สิ่ง​ขึ้น​อยู่​กับ​คน​นั้น​หรือ​คน​นี้​เพียง​คน​เดียว คง​ไม่​มี​การ​ยิง​ปืน​ใน​หมู่​บ้าน​นี้.” นี่​ทำ​ให้​นึก​ถึง​สุภาษิต​ที่​ว่า “ถ้า​เป็น​เพียง​เรื่อง​ระหว่าง​หอย​ทาก​กับ​เต่า ก็​คง​ไม่​มี​การ​ยิง​ปืน​ใน​ป่า.” สัตว์​ทั้ง​สอง​ชนิด​ถูก​มอง​ว่า​เป็น​สัตว์​ที่​มี​ความ​อ่อน​สุภาพ​สงบเสงี่ยม​และ​ไม่​ชอบ​ต่อ​สู้. คน​ที่​มี​คุณสมบัติ​เหล่า​นี้​ก็​ย่อม​ส่ง​เสริม​สันติ​สุข.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม ถ้า​คุณ​ต้องการ​ให้​ชาว​อะกัน​สัก​คน​พูด​สุภาษิต​ขึ้น​มา​หลาย ๆ บท คุณ​อาจ​ได้​ฟัง​แค่​บท​เดียว​คือ “ฝัน​ไม่​ได้​ถ้า​ไม่​ได้​หลับ.” พูด​อีก​อย่าง​หนึ่ง​คือ เรา​ไม่​อาจ​ยก​สุภาษิต​จาก​ความ​ว่าง​เปล่า เหมือน​กับ​ที่​เรา​ฝัน​ไม่​ได้​ถ้า​ยัง​ตื่น​อยู่. สถานการณ์​จะ​เป็น​ตัว​กำหนด​ว่า​ควร​ใช้​สุภาษิต​ข้อ​ไหน​และ​เมื่อ​ไร.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 25 น่า​สังเกต​ว่า ลาย​ผ้า​ดัง​กล่าว​มี​อยู่​ใน​ผ้า​หลาก​หลาย​สี​และ​ไม่​ได้​จำกัด​เฉพาะ​ผ้า​สี​เข้ม​ซึ่ง​มัก​ใช้​สำหรับ​งาน​ศพ.