กาลิเลโอขัดแย้งกับคริสตจักร
กาลิเลโอขัดแย้งกับคริสตจักร
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในอิตาลี
ในวันที่ 22 มิถุนายน 1633 ชายชราผู้กะปลกกะเปลี้ยคนหนึ่งคุกเข่าลงต่อหน้าศาลศาสนาโรมันคาทอลิก. เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้น. การศึกษาค้นคว้ามานานหลายปีทำให้เขาเกิดความเชื่อมั่นทางวิทยาศาสตร์. แต่ถ้าเขาอยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไป เขาต้องเลิกเชื่อในสิ่งที่เขารู้ว่าเป็นความจริง.
บุคคลผู้นี้ชื่อ กาลิเลโอ กาลิเลอี. คดีของกาลิเลโอ ตามที่หลายคนเรียกกัน ได้ก่อให้เกิดข้อสงสัย, คำถาม, และการถกเถียงกันซึ่งยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน ทั้ง ๆ ที่ผ่านมาประมาณ 370 ปีแล้ว. คดีนี้ได้ทิ้งร่องรอยที่ไม่อาจลบเลือนได้ไว้ในประวัติศาสตร์ของศาสนาและวิทยาศาสตร์. ทำไมจึงเป็นเรื่องใหญ่ขนาดนั้น? ทำไมคดีของกาลิเลโอจึงกลายเป็นข่าวขึ้นมาอีกครั้งในสมัยของเรา? คดีนี้เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึง “การแตกแยกกันระหว่างวิทยาศาสตร์กับศาสนา” ไหม ดังที่นักเขียนคนหนึ่งกล่าวไว้?
หลายคนถือว่า กาลิเลโอเป็น “บิดาแห่งวิทยาศาสตร์ยุคใหม่.” เขาเป็นทั้งนักคณิตศาสตร์, นักดาราศาสตร์, และนักฟิสิกส์. กาลิเลโอเป็นหนึ่งในคนกลุ่มแรก ๆ ที่สำรวจท้องฟ้าด้วยกล้องโทรทรรศน์ เขาตีความสิ่งที่เขาเห็นว่าสนับสนุนแนวคิดซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างดุเดือดในสมัยของเขาที่ว่า โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์และไม่ใช่ศูนย์กลางของเอกภพ. ไม่แปลกที่บางครั้งถือกันว่ากาลิเลโอเป็นผู้วางรากฐานสำหรับวิธีการทดลองแบบสมัยใหม่!
กาลิเลโอค้นพบและประดิษฐ์คิดค้นอะไรบ้าง? ในฐานะนักดาราศาสตร์ เขาค้นพบหลายสิ่ง เช่น ดาวพฤหัสบดีมีดวงจันทร์บริวาร, ทางช้างเผือกประกอบด้วยดวงดาว, ดวงจันทร์มีภูเขา, และดาวศุกร์มีข้างขึ้นข้างแรมเหมือนดวงจันทร์. ในฐานะนักฟิสิกส์ เขาได้ศึกษากฎที่ควบคุมทั้งการแกว่งของลูกตุ้ม และวัตถุที่ตกถึงพื้น. เขาประดิษฐ์เครื่องมือบางอย่าง เช่น บรรทัดคำนวณชนิดหนึ่ง. โดยใช้ข้อมูลที่ได้รับจากฮอลแลนด์ เขาประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ซึ่งทำให้ส่องดูเอกภพได้.
อย่างไรก็ตาม การเผชิญหน้ากับคณะสงฆ์แห่งคริสตจักรอย่างยืดเยื้อยาวนานทำให้ชีวิตการงานของนักวิทยาศาสตร์ผู้เรืองนามคนนี้กลายเป็นเหตุการณ์ที่ตึงเครียด ซึ่งเรียกกันว่าคดีของกาลิเลโอ. เรื่องนี้มีความเป็นมาอย่างไร และเพราะเหตุใด?
ขัดแย้งกับคริสตจักรโรมันคาทอลิก
เริ่มตั้งแต่ตอนปลายศตวรรษที่ 16 กาลิเลโอเชื่อในทฤษฎีของโคเพอร์นิคัส ที่ว่าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ไม่ใช่กลับกัน. ทฤษฎีนี้เรียกกันด้วยว่า ระบบเฮลิโอเซนทริก (ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง). ในปี 1610 หลังจากกาลิเลโอได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องดูเทห์ฟากฟ้า ซึ่งไม่เคยมีใครพบเห็นมาก่อน เขาก็เกิดความมั่นใจว่าได้ค้นพบสิ่งที่สนับสนุนทฤษฎีเฮลิโอเซนทริกแล้ว.
ตามที่กล่าวในกรันเด ดีซีออนารีโอ เอนซีโกลเปดีโก อูเตเอเต กาลิเลโอไม่เพียงแต่ต้องการค้นพบสิ่งเหล่านี้. เขาต้องการทำให้ “ผู้มีตำแหน่งสูงในยุคนั้น (พวกกษัตริย์และคาร์ดินัล)” เชื่อว่าทฤษฎีของโคเพอร์นิคัสเป็นเรื่องจริง. เขาหวังอยู่เสมอว่า ด้วยความช่วยเหลือจากสหายที่มีอิทธิพล เขาจะชนะข้อคัดค้านของคริสตจักรและถึงกับได้แรงสนับสนุนจากคริสตจักรด้วยซ้ำ.
ในปี 1611 กาลิเลโอเดินทางไปโรม ที่ซึ่งเขาพบกับบาทหลวงระดับสูง. เขาใช้กล้องโทรทรรศน์แสดงให้คนเหล่านั้นเห็นการค้นพบทางดาราศาสตร์ของเขา. แต่ปรากฏว่าเรื่องราวไม่ได้เป็นไปอย่างที่เขาหวังไว้. พอถึงปี 1616 กาลิเลโอกลับต้องมาถูกทางการสอบสวน.
นักเทววิทยาแห่งศาลศาสนาโรมันคาทอลิกเรียกทฤษฎีเฮลิโอเซนทริกว่า “เรื่องโง่เขลาและเหลวไหลทางปรัชญาแถมผิดจารีตประเพณี เนื่องจากในหลายแง่ แนวคิดนี้ขัดแย้งอย่างเห็นได้ชัดกับข้อความในพระคัมภีร์บริสุทธิ์ทั้งความหมายตามตัวอักษร, ตามคำอรรถาธิบายที่ยอมรับกันทั่วไป, และตามความเข้าใจของสันตะปาปาและนักเทววิทยา.”
กาลิเลโอพบกับคาร์ดินัลโรเบิร์ต เบลลาร์มีน ซึ่งถือกันว่าเป็นนักเทววิทยาฝ่ายคาทอลิกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนั้นและได้รับการขนานนามว่า “ผู้ลงทัณฑ์พวกนอกรีต.” เบลลาร์มีนตักเตือนกาลิเลโออย่างเป็นทางการให้หยุดเผยแพร่ความคิดเห็นของเขาเรื่องดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง.
เผชิญหน้าศาลศาสนา
กาลิเลโอพยายามดำเนินการอย่างสุขุม แต่เขาไม่ได้ประกาศเพิกถอนการสนับสนุนทฤษฎีของโคเพอร์นิคัส. สิบเจ็ดปีต่อมา หรือในปี 1633 กาลิเลโอปรากฏตัวต่อหน้าศาลศาสนา. คาร์ดินัลเบลลาร์มีนเสียชีวิตไปแล้ว แต่ตอนนี้ผู้ต่อต้านคนสำคัญของกาลิเลโอคือโปปเออร์บันที่ 8 ซึ่งแต่ก่อนเคยเห็นพ้องกับเขา. นักเขียนหลายคนเรียกการพิจารณาคดีครั้งนี้ว่าหนึ่งในคดี
ที่โด่งดังที่สุดและอยุติธรรมที่สุดในสมัยอดีต โดยจัดไว้ในระดับเดียวกับการพิจารณาคดีของโสกราตีสและพระเยซู.อะไรกระตุ้นให้มีการพิจารณาคดีครั้งนี้? กาลิเลโอเขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อบทสนทนาว่าด้วยระบบโลกสองระบบสำคัญ. โดยหลักแล้ว หนังสือเล่มนี้สนับสนุนทฤษฎีเฮลิโอเซนทริก. ผู้เขียนถูกเรียกตัวให้ไปขึ้นศาลในปี 1632 แต่กาลิเลโอผัดเลื่อนไป เนื่องจากป่วยและมีอายุเกือบ 70 ปีแล้ว. เขาเดินทางไปโรมในปีต่อมา หลังจากถูกขู่ว่าจะถูกคุมตัวไป. ด้วยคำสั่งของโปป เขาถูกสอบสวนและถึงกับมีการขู่ว่าจะถูกทรมาน.
ชายชราที่เจ็บป่วยผู้นี้ถูกทรมานจริง ๆ หรือไม่นั้นยังเป็นที่ถกเถียงกัน. ดังที่บันทึกในคำตัดสินลงโทษ กาลิเลโอถูก “สอบสวนอย่างเข้มงวด.” ตามคำกล่าวของอิตาโล เมเรอู นักประวัติศาสตร์ด้านกฎหมายอิตาลี วลีนี้เป็นคำเฉพาะซึ่งในสมัยนั้นใช้หมายถึงการทรมาน. ผู้คงแก่เรียนหลายคนเห็นด้วยกับการตีความแบบนี้.
ไม่ว่าเขาถูกทรมานหรือไม่ กาลิเลโอก็ถูกตัดสินในวันที่ 22 มิถุนายน 1633 ในห้องโถงที่ไม่มีการตกแต่งใด ๆ ต่อหน้าสมาชิกศาลศาสนา. เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดฐาน “เชื่อถือหลักคำสอนเท็จที่ขัดกับพระคัมภีร์บริสุทธิ์ซึ่งมาจากพระเจ้า ที่ว่าดวงอาทิตย์ . . . ไม่ได้เคลื่อนจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก และที่ว่าโลกเคลื่อนที่และไม่ใช่ศูนย์กลางของเอกภพ.”
กาลิเลโอไม่ต้องการจะเป็นผู้สละชีพเพื่อความเชื่อ เขาจึงจำต้องเพิกถอนคำแถลงของตน. หลังจากมีการอ่านคำตัดสินแล้ว นักวิทยาศาสตร์ผู้ชราที่สวมชุดผู้ยินยอมสารภาพก็ได้คุกเข่าลงและประกาศอย่างเป็นพิธีการว่า “ข้าพเจ้าขอเพิกถอน, สาปแช่ง, และเกลียดชังความผิดและความเห็นนอกรีตที่กล่าวมา [ทฤษฎีของโคเพอร์นิคัส] และโดยทั่วไปแล้วรวมถึงความผิดพลาด, ความเห็นนอกรีต, หรือนิกายอื่น ๆ ทั้งหมดที่ขัดกับคริสตจักรบริสุทธิ์.”
มีการเล่าลือกันมากแต่ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันว่า หลังจากประกาศเพิกถอนความเชื่อแล้ว กาลิเลโอกระทืบเท้าแล้วก็ร้องประท้วงออกมาว่า “แต่กระนั้น โลกเคลื่อนที่!” นักวิจารณ์อ้างว่า ความอับอายเนื่องจากการปฏิเสธสิ่งที่เขาค้นพบทำให้นักวิทยาศาสตร์ผู้นี้ตรมทุกข์ตราบจนวันตาย. เขาถูกตัดสินจำคุก แต่มีการเปลี่ยนคำตัดสินลงโทษให้กักบริเวณอยู่แต่ในบ้านไปตลอดชีวิต. สายตาของเขาค่อย ๆ บอดและแทบจะอยู่ลำพังคนเดียว.
ความขัดแย้งระหว่างศาสนาและวิทยาศาสตร์หรือ?
หลายคนลงความเห็นว่า ตัวอย่างของกาลิเลโอพิสูจน์ว่าวิทยาศาสตร์กับศาสนาเข้ากันไม่ได้เลย. ที่จริง ตลอดหลายศตวรรษ คดีของกาลิเลโอทำให้ผู้คนหันหลังให้ศาสนา ทำให้หลายคนเชื่อว่า โดยพื้นฐานแล้ว ศาสนาเป็นสิ่งที่ขัดขวางความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์. เป็นเช่นนั้นจริง ๆ หรือ?
ที่จริง โปปเออร์บันที่ 8 และนักเทววิทยาของศาลศาสนาโรมันคาทอลิกประณามทฤษฎีของโคเพอร์นิคัส โดยอ้างว่า ทฤษฎีนั้นขัดกับคัมภีร์ไบเบิล. ปรปักษ์ของกาลิเลโออ้างคำพูดของยะโฮซูอะที่ว่า “โอ้ดวงอาทิตย์ จงหยุดนิ่งเสีย” ซึ่งตามความเห็นของพวกเขา ต้องเข้าใจตามตัวอักษร. (ยะโฮซูอะ 10:12) แต่จริง ๆ แล้ว คัมภีร์ไบเบิลขัดแย้งกับทฤษฎีของโคเพอร์นิคัสไหม? ไม่เลย.
สิ่งที่ขัดแย้งกันก็คือวิทยาศาสตร์กับการตีความพระคัมภีร์ที่ผิดไปอย่างเห็นได้ชัด. กาลิเลโอก็เข้าใจเช่นนั้นด้วย. เขาเขียนไปยังศิษย์คนหนึ่งว่า “แม้ว่าพระคัมภีร์ไม่อาจผิดพลาดได้ แต่ผู้ตีความและผู้ให้อรรถาธิบายอาจผิดพลาดได้ในหลาย ๆ แนวทาง. หนึ่งในแนวทางเหล่านี้ ซึ่งร้ายแรงอย่างยิ่งและมีบ่อยมาก จะเกิดขึ้นเมื่อพวกเขาต้องการเข้าใจแค่ความหมายตามตัวอักษรเท่านั้น.” นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่จริงจังทุกคนย่อมต้องเห็นพ้องด้วย. *
กาลิเลโอกล่าวยิ่งกว่านั้น. เขาอ้างว่าหนังสือสองเล่ม คือคัมภีร์ไบเบิลกับหนังสือแห่งธรรมชาติ ถูกเขียนขึ้นโดยผู้เขียนคนเดียวกันและไม่อาจจะขัดแย้งกันได้. กระนั้น เขาเสริมว่า ไม่มีใครสามารถ “อ้างได้อย่างแน่นอนว่านักตีความทุกคนได้รับการดลใจจากพระเจ้า.” การวิพากษ์วิจารณ์เป็นนัย ๆ ต่อการตีความอย่างเป็นทางการของคริสตจักรครั้งนี้คงถูกมองว่าเป็นการยั่วยุ ซึ่งทำให้
ศาลศาสนาโรมันคาทอลิกประณามนักวิทยาศาสตร์ผู้นี้. ถ้าจะว่าไป สามัญชนกล้าดีอย่างไรจึงมาก้าวก่ายสิทธิในการตีความของคริสตจักร?โดยอ้างถึงคดีของกาลิเลโอ ผู้คงแก่เรียนหลายคนตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับแนวคิดที่ว่าทั้งคริสตจักรและโปปผิดพลาดไม่ได้. นักเทววิทยาฝ่ายคาทอลิกชื่อ ฮันส์ คึง เขียนว่า ความผิดพลาด “ที่เกิดขึ้นหลายครั้งและโต้แย้งไม่ได้” ของ “คำสอนอย่างเป็นทางการของคริสตจักร” รวมทั้ง “การประณามกาลิเลโอ” ทำให้มีข้อสงสัยเกี่ยวกับคำสอนที่ว่าคริสต์จักรและโปปผิดพลาดไม่ได้.
กาลิเลโอได้ชื่อเสียงคืนมาหรือ?
ในเดือนพฤศจิกายน 1979 หนึ่งปีหลังจากได้รับเลือกตั้ง โปปจอห์น ปอลที่ 2 หวังจะทบทวนสถานภาพของกาลิเลโออีกครั้ง ซึ่งโปปยอมรับว่า กาลิเลโอ “ต้องทนทุกข์อย่างมาก . . . ด้วยน้ำมือของบุคคลและสถาบันของคริสตจักร.” สิบสามปีต่อมา ในปี 1992 คณะกรรมการซึ่งโปปองค์เดียวกันนั้นแต่งตั้งขึ้นได้ยอมรับว่า “นักเทววิทยาบางคนในยุคเดียวกับกาลิเลโอ . . . ไม่เข้าใจความหมายอันลึกซึ้งที่ไม่เป็นไปตามตัวอักษรของพระคัมภีร์ เมื่อพวกเขาพรรณนาโครงสร้างทางกายภาพของเอกภพที่ถูกสร้างขึ้นมา.”
อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงก็คือ ทฤษฎีเฮลิโอเซนทริกไม่ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยนักเทววิทยาเท่านั้น. โปปเออร์บันที่ 8 ซึ่งมีบทบาทสำคัญในคดีนี้ ยืนกรานอย่างขันแข็งว่ากาลิเลโอต้องเลิกบ่อนทำลายคำสอนที่มีมานานนับศตวรรษของคริสตจักรที่ว่าโลกเป็นศูนย์กลางของเอกภพ. คำสอนนั้นไม่ได้มาจากคัมภีร์ไบเบิล แต่มาจากอาริสโตเติล นักปรัชญาชาวกรีก.
หลังจากคณะกรรมการในสมัยปัจจุบันทบทวนคดีนี้อย่างถี่ถ้วน โปปเรียกการตัดสินลงโทษกาลิเลโอครั้งนั้นว่า “การตัดสินที่หุนหันและน่าเศร้า.” นักวิทยาศาสตร์ผู้นี้ได้ชื่อเสียงกลับคืนมาไหม? นักเขียนคนหนึ่งกล่าวว่า “ที่จะพูดว่ากาลิเลโอได้ชื่อเสียงกลับคืนมานั้นเป็นเรื่องน่าหัวเราะ เพราะประวัติศาสตร์ไม่ได้ประณามกาลิเลโอ แต่ประณามศาลแห่งคริสตจักร.” นักประวัติศาสตร์ชื่อ ลุยจิ ฟีร์โป กล่าวว่า “ไม่ใช่สิทธิของผู้ข่มเหงที่จะประกาศคืนชื่อเสียงให้กับเหยื่อ.”
คัมภีร์ไบเบิลเป็น “ตะเกียงส่องสว่างเข้าไปในที่มืด.” (2 เปโตร 1:19) กาลิเลโอปกป้องคัมภีร์ไบเบิลจากการตีความผิด ๆ. แต่คริสตจักรทำตรงกันข้าม โดยปกป้องคำสอนที่สืบทอดมาของมนุษย์แทนที่จะปกป้องคัมภีร์ไบเบิล.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 24 ผู้อ่านที่สุจริตใจคงพร้อมจะยอมรับว่า ข้อความเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ซึ่งหยุดนิ่งบนท้องฟ้าไม่ได้มุ่งหมายให้เป็นการวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์ แต่เป็นเพียงการสังเกตแบบง่าย ๆ ว่าสิ่งต่าง ๆ ปรากฏอย่างไรในมุมมองของมนุษย์ที่เห็นเหตุการณ์. นักดาราศาสตร์ก็เช่นกัน มักจะพูดถึงเรื่องการขึ้นและการตกของดวงอาทิตย์, ดาวเคราะห์, และดาวฤกษ์. พวกเขาไม่ได้หมายความว่าวัตถุฟากฟ้าเหล่านี้โคจรรอบโลกจริง ๆ แต่หมายความว่าสิ่งเหล่านี้ดูเหมือนเคลื่อนที่ข้ามท้องฟ้าของเราไปต่างหาก.
[กรอบ/ภาพหน้า 14]
ชีวิตของกาลิเลโอ
กาลิเลโอเกิดในปี 1564 ที่เมืองปีซา บิดาของเขาเป็นชาวเมืองฟลอเรนซ์ กาลิเลโอศึกษาแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยปีซา. กาลิเลโอไม่ค่อยสนใจด้านแพทยศาสตร์ จึงเลิกศึกษาแล้วไปศึกษาด้านฟิสิกส์และคณิตศาสตร์. ในปี 1585 เขากลับไปอยู่กับครอบครัวโดยไม่ได้ใบรับรองวุฒิการศึกษาใด ๆ เลย. ถึงอย่างนั้น เขาก็ได้รับการยกย่องจากนักคณิตศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น เขาจึงได้รับตำแหน่งผู้บรรยายวิชาคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยปีซา. หลังจากบิดาเสียชีวิต ความลำบากทางเศรษฐกิจทำให้กาลิเลโอต้องย้ายไปอยู่ปาดัว ที่นั่น เขาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ทำให้มีรายได้มากขึ้น คือเป็นหัวหน้าภาควิชาคณิตศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยปาดัว.
ระหว่าง 18 ปีที่อยู่ในเมืองปาดัว กาลิเลโอมีบุตรชายและบุตรสาวรวม 3 คนกับหญิงสาวชาวเวนิซซึ่งเป็นภรรยานอกกฎหมายของเขา. ในปี 1610 เขากลับไปฟลอเรนซ์ ซึ่งที่นั่นเขามีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น ทำให้สามารถอุทิศเวลาเพื่อการค้นคว้าวิจัยได้มากขึ้น แต่ก็ต้องแลกกับอิสรภาพที่เขาเคยมีในเขตสาธารณรัฐเวนิซ. แกรนด์ดุ๊กแห่งทัสคานีได้ตั้งเขาเป็น “นักปรัชญาและนักคณิตศาสตร์อันดับหนึ่ง.” กาลิเลโอเสียชีวิตที่ฟลอเรนซ์ในปี 1642 ขณะถูกกักบริเวณในบ้านเนื่องจากถูกศาลศาสนาลงโทษ.
[ที่มาของภาพหน้า 14]
From the book The Library of Original Sources, Volume VI, 1915
[ภาพหน้า 12]
กล้องโทรทรรศน์ของกาลิเลโอ ซึ่งช่วยเขาให้ยืนยันว่าโลกไม่ใช่ศูนย์กลางของเอกภพ
[ที่มาของภาพหน้า 12]
Scala/Art Resource, NY
[ภาพหน้า 12]
ระบบจีโอเซนทริก (โลกเป็นศูนย์กลาง)
ระบบเฮลิโอเซนทริก (ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง)
[ที่มาของภาพหน้า 12]
Background: © 1998 Visual Language
[ที่มาของภาพหน้า 11]
Picture: From the book The Historian’s History of the World