ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ฉันจะรับมือกับปัญหาของการเป็นบุตรบุญธรรมได้อย่างไร?

ฉันจะรับมือกับปัญหาของการเป็นบุตรบุญธรรมได้อย่างไร?

หนุ่ม​สาว​ถาม​ว่า . . .

ฉัน​จะ​รับมือ​กับ​ปัญหา​ของ​การ​เป็น​บุตร​บุญธรรม​ได้​อย่าง​ไร?

“อัน​ที่​จริง ฉัน​ไม่​รู้​อะไร​เลย​เกี่ยว​กับ​พ่อ​แม่​แท้ ๆ และ​เรื่อง​นี้​ทำ​ให้​ฉัน​เป็น​ทุกข์​มาก.”—บาร์บารา อายุ 16 ปี.

“ผม​ไม่​รู้​เลย​ว่า​ผม​เกิด​ที่​ไหน​หรือ​พ่อ​แม่​แท้ ๆ ของ​ผม​เป็น​ใคร. บาง​ครั้ง​พอ​ตก​กลางคืน ผม​ครุ่น​คิด​ถึง​เรื่อง​นี้.”—แมต อายุ 9 ขวบ.

“เมื่อ​ผม​เถียง​กับ​พ่อ​แม่​บุญธรรม ผม​คิด​ว่า บาง​ที​พ่อ​แม่ ‘แท้ ๆ’ ของ​ผม​คง​จะ​เข้าใจ​ผม​มาก​กว่า​นี้. นับ​ว่า​เป็น​สิ่ง​เลว​ร้าย​มาก​ที่​ผม​จะ​คิด​อย่าง​นั้น และ​ผม​ก็​ไม่​เคย​ปริปาก​พูด​เรื่อง​นี้​กับ​พ่อ​แม่.”—ควินทานา อายุ 16 ปี.

ไม่​ต้อง​สงสัย—ชีวิต​ใน​ฐานะ​บุตร​บุญธรรม​ย่อม​มี​ปัญหา​ยุ่งยาก. หนุ่ม​สาว​จำนวน​ไม่​น้อย​ต่อ​สู้​กับ​ความ​รู้สึก​อย่าง​เดียว​กัน​กับ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​กล่าว​ข้าง​ต้น. หลาย​คน​นึก​ฝัน​ว่า​ตน​น่า​จะ​สืบ​หา​ว่า​ใคร​เป็น​พ่อ​แม่​แท้ ๆ หรือ​แคลง​ใจ​ว่า​ตน​คง​จะ​มี​ชีวิต​ที่​มี​ความ​สุข​มาก​กว่า​นี้​หาก​ได้​อยู่​กับ​พ่อ​แม่​แท้ ๆ. และ​ปัญหา​ใช่​ว่า​จะ​มี​เพียง​เท่า​นี้.

บทความ​ก่อน​ใน​ชุด​บทความ​นี้ เรา​ได้​พิจารณา​ข้อ​สันนิษฐาน​ใน​แง่​ลบ​บาง​อย่าง​ซึ่ง​หนุ่ม​สาว​บาง​คน​ที่​เป็น​บุตร​บุญธรรม​อาจ​คิด​เกี่ยว​กับ​ตัว​เอง. * การ​ต่อ​สู้​ความ​คิด​ที่​ก่อ​ให้​เกิด​ความ​ท้อ​ใจ​เช่น​นั้น​เป็น​สิ่ง​สำคัญ​ต่อ​การ​ประสบ​ความ​ชื่นชม​ยินดี​ใน​ชีวิต​ฐานะ​เป็น​บุตร​บุญธรรม. กระนั้น มี​อะไร​อีก​บ้าง​ที่​อาจ​เกิด​ขึ้น และ​คุณ​จะ​ลง​มือ​ปฏิบัติ​อย่าง​ไร​เพื่อ​จัด​การ​กับ​ข้อ​ท้าทาย​เหล่า​นั้น?

เขา​เป็น​พ่อ​แม่ “จริง ๆ” ของ​ฉัน​ไหม?

เจก ซึ่ง​อายุ​สิบ​สาม​ปี​บอก​ว่า เขา​เคย​ครุ่น​คิด​อยู่​นาน​เกี่ยว​กับ​มารดา​แท้ ๆ ของ​เขา. นั่น​ทำ​ให้​เขา​มี​ปัญหา​บาง​อย่าง​กับ​พ่อ​แม่​บุญธรรม. เขา​เล่า​ว่า “เมื่อ​ผม​โกรธ​ขึ้น​มา​ที​ไร ผม​มัก​จะ​พูด​ว่า ‘คุณ​ไม่​ใช่​แม่​จริง ๆ ของ​ผม คุณ​จะ​มา​ทำ​โทษ​ผม​แบบ​นี้​ไม่​ได้!’”

ดัง​ที่​คุณ​พอ​จะ​มอง​ออก เจก​จำเป็น​ต้อง​หา​คำ​ตอบ​ให้​ได้​สำหรับ​คำ​ถาม​สำคัญ​ที่​ว่า ใคร​คือ​แม่ “จริง ๆ” ของ​เขา? ถ้า​คุณ​เป็น​บุตร​บุญธรรม คุณ​อาจ​กำลัง​ปล้ำ​สู้​กับ​ปัญหา​อย่าง​เดียว​กัน​นี้ โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ถ้า​คุณ​แคลง​ใจ​ว่า​พ่อ​แม่​จริง ๆ คง​จะ​ปฏิบัติ​กับ​คุณ​ดี​กว่า​พ่อ​แม่​บุญธรรม. แต่​การ​ให้​กำเนิด​บุตร​เป็น​เพียง​สิ่ง​เดียว​เท่า​นั้น​หรือ​ที่​ทำ​ให้​บุคคล​สอง​คน​กลาย​เป็น​พ่อ​แม่ “จริง ๆ”?

แม่​บุญธรรม​ของ​เจก​ไม่​ได้​คิด​เช่น​นั้น. เจก​บอก​ว่า “แม่​จะ​พูด​ว่า ‘ใช่ แม่​เป็น แม่​จริง ๆ ของ​ลูก. ถึง​แม้​ลูก​มี​แม่​ที่​ให้​กำเนิด​ลูก​ก็​จริง แต่​เวลา​นี้​แม่​เป็น​แม่​จริง ๆ.’” เมื่อ​ผู้​ใหญ่​รับ​เด็ก​เข้า​มา​ใน​บ้าน​และ​ตก​ลง​จะ​รับผิดชอบ​เรื่อง​ที่​อยู่​อาศัย, อาหาร​การ​กิน, และ​เอา​ใจ​ใส่​ดู​แล​ความ​จำเป็น​ของ​เด็ก โดย​แท้​แล้ว พวก​เขา​ก็​กลาย​เป็น​พ่อ​แม่ “จริง ๆ.” (1 ติโมเธียว 5:8) และ​ดู​เหมือน​ว่า​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น​ด้วย​ใน​สายตา​ของ​นัก​กฎหมาย​ใน​ประเทศ​ที่​คุณ​อาศัย​อยู่. แล้ว​ใน​สาย​พระ​เนตร​ของ​พระเจ้า​ล่ะ?

ขอ​ให้​พิจารณา​เรื่อง​การ​รับ​บุตร​บุญธรรม​ราย​หนึ่ง ซึ่ง​อาจ​เป็น​กรณี​ที่​โด่งดัง​มาก​ที่​สุด​ใน​ประวัติศาสตร์ นั่น​คือ​พระ​เยซู​คริสต์. พระ​เยซู​ไม่​ใช่​บุตร​ทาง​สาย​เลือด​ของ​ช่าง​ไม้​ที่​ชื่อ​โยเซฟ กระนั้น โยเซฟ​ได้​รับ​เด็ก​น้อย​คน​นั้น​เสมือน​เป็น​บุตร​ของ​ตัว​เอง. (มัดธาย 1:24, 25) เมื่อ​พระ​เยซู​โต​ขึ้น พระองค์​ขืน​อำนาจ​โยเซฟ​ไหม? ตรง​กัน​ข้าม พระ​เยซู​ทราบ​ว่า​เป็น​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระเจ้า​ที่​จะ​ให้​พระองค์​เชื่อ​ฟัง​พ่อ​บุญธรรม. พระ​เยซู​ทรง​คุ้น​เคย​เป็น​อย่าง​ดี​กับ​กฎหมาย​ที่​พระ​ยะโฮวา​ประทาน​แก่​บุตร​หลาน​ชาว​อิสราเอล. กฎหมาย​ข้อ​นั้น​ว่า​อย่าง​ไร?

จง​นับถือ​บิดา​มารดา​ของ​ตน

พระ​คัมภีร์​บอก​พวก​เด็ก ๆ ว่า “จง​นับถือ​บิดา​มารดา​ของ​ตน.” (พระ​บัญญัติ 5:16) คำ “นับถือ” ที่​ใช้​บ่อย ๆ ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​บ่ง​ชี้​ถึง​การ​ให้​ความ​เคารพ​นับถือ​อย่าง​สูง, การ​ยกย่อง, และ​การ​คำนึง​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​ผู้​อื่น. คุณ​สามารถ​ให้​เกียรติ​ผู้​ที่​อุปการะ​เลี้ยง​ดู​คุณ​ตาม​กฎหมาย​โดย​แสดง​ความ​กรุณา​ต่อ​เขา, เคารพ​ศักดิ์ศรี​ของ​เขา, ตั้งใจ​ฟัง​ความ​คิด​เห็น​ของ​เขา, และ​เต็ม​ใจ​ทำ​ตาม​คำ​ขอร้อง​ใด ๆ ที่​มี​เหตุ​ผล.

แต่​จะ​ว่า​อย่าง​ไร​เมื่อ​พ่อ​แม่​บุญธรรม​ดู​เหมือน​ไม่​มี​เหตุ​ผล? เป็น​ความ​จริง​ที่​เรื่อง​ทำนอง​นี้​อาจ​เกิด​ขึ้น​ได้. พ่อ​แม่​ทุก​คน​ต่าง​ก็​เป็น​มนุษย์​ไม่​สมบูรณ์ ไม่​ว่า​พ่อ​แม่​บุญธรรม​หรือ​พ่อ​แม่​แท้ ๆ. ข้อ​บกพร่อง​ของ​ท่าน​อาจ​ทำ​ให้​การ​เชื่อ​ฟัง​เป็น​ไป​ได้​ยาก. และ​ไม่​น่า​แปลก​ใจ​ถ้า​ใน​เวลา​นั้น​คุณ​มี​แนว​โน้ม​ที่​จะ​เพ่ง​มอง​เฉพาะ​ข้อ​เท็จ​จริง​ที่​ว่า​คุณ​เป็น​บุตร​บุญธรรม และ​สงสัย​ว่า​การ​เป็น​บุตร​บุญธรรม​ทำ​ให้​คุณ​มี​พันธะ​ต้อง​เชื่อ​ฟัง​น้อย​ลง​หรือ​ไม่. แต่​เป็น​อย่าง​นั้น​จริง ๆ ไหม?

ใน​กรณี​เช่น​นี้​อาจ​ช่วย​คุณ​ให้​นึก​ถึง​สภาพการณ์​ของ​พระ​เยซู. โปรด​จำ​ไว้​ว่า​พระองค์​สมบูรณ์​พร้อม. (เฮ็บราย 4:15; 1 เปโตร 2:22) แต่​พ่อ​บุญธรรม​และ​แม่​ผู้​ให้​กำเนิด​พระองค์​ต่าง​ก็​เป็น​มนุษย์​ไม่​สมบูรณ์. เช่น​นั้น​แล้ว พระ​เยซู​ก็​คง​มี​โอกาส​เห็น​บิดา​มารดา​ของ​พระองค์​ทำ​ผิด​พลาด​บ้าง. พระองค์​ขืน​อำนาจ​โยเซฟ​ผู้​ไม่​สมบูรณ์​ซึ่ง​อยู่​ใน​ฐานะ​ประมุข หรือ​ขัด​ขืน​การ​ชี้​นำ​ที่​มี​ข้อ​บกพร่อง​ของ​มาเรีย​ผู้​เป็น​มารดา​ไหม? เปล่า​เลย. คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​เรา​ว่า ขณะ​ทรง​เจริญ​วัย พระ​เยซู​ยัง “อยู่​ใต้​ความ​ปกครอง” ของ​บิดา​มารดา.—ลูกา 2:51.

เอา​ล่ะ เมื่อ​คุณ​กับ​พ่อ​แม่​บุญธรรม​มี​แง่​คิด​แตกต่าง​กัน คุณ​อาจ​รู้สึก​มั่น​ใจ​ว่า​พวก​ท่าน​คิด​ผิด. ถึง​กระนั้น คุณ​ต้อง​ยอม​รับ​ว่า​คุณ​เอง​ก็​ไม่​สมบูรณ์​เช่น​กัน. ดัง​นั้น มี​ความ​เป็น​ไป​ได้​เสมอ​ที่​ว่า​คุณ จะ​เป็น​ฝ่าย​ผิด. ไม่​ว่า​ใคร​ผิด​ใคร​ถูก นับ​ว่า​เป็น​แนว​ทาง​ที่​ดี​ที่​สุด​มิ​ใช่​หรือ​ที่​จะ​ติด​ตาม​แบบ​อย่าง​ของ​พระ​เยซู? (1 เปโตร 2:21) การ​ทำ​เช่น​นั้น​จะ​ช่วย​คุณ​ให้​อ่อนน้อม​ยอม​ฟัง. แต่​มี​เหตุ​ผล​สำคัญ​ยิ่ง​กว่า​นั้น​อีก​สำหรับ​การ​เชื่อ​ฟัง​บิดา​มารดา​ของ​คุณ.

คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ดัง​นี้: “ท่าน​ทั้ง​หลาย​ผู้​เป็น​บุตร จง​เชื่อ​ฟัง​บิดา​มารดา​ของ​ตน​ใน​ทุก​สิ่ง เพราะ​การ​นี้​เป็น​ที่​ชอบ​พระทัย​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า.” (โกโลซาย 3:20, ล.ม.) ใช่​แล้ว การ​ที่​คุณ​เชื่อ​ฟัง​ทำ​ให้​พระ​บิดา​ของ​คุณ​ที่​สถิต​ใน​สวรรค์​ทรง​ปีติ​ยินดี. (สุภาษิต 27:11) และ​พระองค์​ทรง​ประสงค์​ให้​คุณ​เรียน​รู้​ที่​จะ​เชื่อ​ฟัง​เพราะ​พระองค์​ประสงค์​จะ​ให้​คุณ​มี​ความ​สุข​ด้วย. พระ​คำ​ของ​พระองค์​สนับสนุน​เด็ก​ทั้ง​หลาย​ให้​เชื่อ​ฟัง โดย​กล่าว​เพิ่ม​เติม​ดัง​นี้: “เพื่อ​ว่า​เจ้า​จะ​อยู่​ดี​มี​สุข​และ​เจ้า​จะ​อยู่​ยืนยง​บน​แผ่นดิน​โลก.”—เอเฟโซ 6:3, ล.ม.

เสริม​ความ​สัมพันธ์​กับ​พ่อ​แม่​บุญธรรม​ให้​แน่นแฟ้น

การ​มี​สัมพันธภาพ​ที่​ดี​กับ​พ่อ​แม่​บุญธรรม​ไม่​ได้​เป็น​เพียง​การ​ให้​เกียรติ​และ​การ​เชื่อ​ฟัง​เท่า​นั้น. คุณ​เอง​คง​อยาก​ให้​บ้าน​มี​บรรยากาศ​ที่​อบอุ่น​ด้วย​ความ​รัก. พ่อ​แม่​บุญธรรม​ของ​คุณ​มี​ความ​รับผิดชอบ​ที่​จะ​สร้าง​บรรยากาศ​แบบ​นั้น. แต่​คุณ​สามารถ​แสดง​บทบาท​สำคัญ​ได้​เช่น​กัน. โดย​วิธี​ใด?

ประการ​แรก คุณ​ควร​มอง​หา​วิธี​ที่​จะ​ทำ​ให้​คุณ​ใกล้​ชิด​สนิทสนม​กับ​พ่อ​แม่​บุญธรรม​มาก​ขึ้น. ลอง​ถาม​ถึง​ภูมิหลัง, ความ​เป็น​มา​ใน​ชีวิต, และ​ความ​สนใจ​ของ​ท่าน. ขอ​คำ​แนะ​นำ​เพื่อ​แก้ไข​ปัญหา​หนัก​ใจ​บาง​อย่าง โดย​เลือก​ช่วง​เวลา​ที่​ท่าน​ผ่อน​คลาย​และ​อยู่​พร้อม​จะ​รับ​ฟัง. (สุภาษิต 20:5) ประการ​ที่​สอง หา​วิธี​ที่​จะ​ช่วย​แบ่ง​เบา​งาน​ใน​ครอบครัว เช่น ช่วย​ทำ​งาน​บ้าน​และ​งาน​อื่น ๆ โดย​ไม่​ต้อง​รอ​ให้​บอก.

แต่​จะ​ว่า​อย่าง​ไร​เกี่ยว​กับ​พ่อ​แม่​แท้ ๆ ของ​คุณ? ถ้า​คุณ​ตัดสิน​ใจ​จะ​สืบ​หา​ให้​พบ หรือ​ท่าน​เป็น​ฝ่าย​ที่​ต้องการ​สืบ​หา​คุณ จำเป็น​ไหม​ที่​จะ​ให้​เรื่อง​นี้​คุกคาม​ความ​สัมพันธ์​ระหว่าง​คุณ​กับ​พ่อ​แม่​บุญธรรม? ใน​อดีต องค์กร​ที่​จัด​การ​เรื่อง​การ​อุปการะ​บุตร​บุญธรรม​มัก​ปฏิเสธ​ที่​จะ​ให้​ข้อมูล​แก่​พ่อ​แม่​แท้ ๆ เมื่อ​มี​การ​สืบ​หา​บุตร​ซึ่ง​ได้​ยก​ให้​เป็น​บุตร​บุญธรรม​ของ​คน​อื่น และ​ก็​ไม่​ประสงค์​ให้​ฝ่าย​บุตร​รู้​เช่น​กัน. ปัจจุบัน นโยบาย​ดัง​กล่าว​ใน​บาง​ประเทศ​ไม่​ค่อย​จะ​เข้มงวด​นัก และ​เคย​มี​การ​พา​เด็ก​หลาย​คน​ที่​เป็น​บุตร​บุญธรรม​ไป​พบ​หน้า​พ่อ​แม่​แท้ ๆ ซึ่ง​เด็ก​จำ​ไม่​ได้​เลย. จริง​อยู่ นโยบาย​เกี่ยว​กับ​การ​รับ​บุตร​บุญธรรม​อาจ​แตกต่าง​กัน​ใน​ประเทศ​ที่​คุณ​อาศัย​อยู่.

จะ​อย่าง​ไร​ก็​ตาม ไม่​ว่า​คุณ​พยายาม​สืบ​หา​พ่อ​แม่​แท้ ๆ หรือ​ไม่ นั่น​เป็น​การ​ตัดสิน​ใจ​ส่วน​ตัว และ​อาจ​ไม่​ใช่​เรื่อง​ง่าย​เสีย​ที​เดียว. หนุ่ม​สาว​ที่​เป็น​บุตร​บุญธรรม​มี​ความ​รู้สึก​ไขว้เขว​ใน​ประเด็น​นี้. บาง​คน​เฝ้า​คอย​อยาก​พบ​พ่อ​แม่​แท้ ๆ; บาง​คน​ตั้งใจ​จะ​ไม่​ยอม​พบ​หน้า​กัน. อย่าง​ไร​ก็​ดี คุณ​อาจ​แน่​ใจ​ได้​ว่า​หนุ่ม​สาว​ที่​เป็น​บุตร​บุญธรรม​หลาย​คน​เมื่อ​ได้​พบ​หน้า​พ่อ​แม่​แท้ ๆ แล้ว สัมพันธภาพ​อัน​มั่นคง​ที่​เขา​มี​กับ​พ่อ​แม่​บุญธรรม​ไม่​ได้​ขาด​สะบั้น​ลง.

จง​ขอ​คำ​แนะ​นำ​จาก​พ่อ​แม่​บุญธรรม และ​บาง​ที​จาก​เพื่อน ๆ ใน​ประชาคม​คริสเตียน ผู้​ซึ่ง​มี​ความ​คิด​ความ​อ่าน​เป็น​ผู้​ใหญ่. (สุภาษิต 15:22) ประเมิน​ทาง​เลือก​ของ​คุณ​ให้​รอบคอบ และ​ใช้​เวลา​ไตร่ตรอง​ให้​ดี​ก่อน​จะ​ลง​มือ​ทำ​การ​อัน​ใด. ดัง​สุภาษิต 14:15 (ล.ม.) บอก​ว่า “คน​ฉลาด​พิจารณา​ก้าว​เท้า​ของ​ตน.”

ถ้า​คุณ​ตัดสิน​ใจ​จะ​ประสาน​สาย​สัมพันธ์​กับ​พ่อ​แม่​แท้ ๆ ของ​คุณ จง​พยายาม​ทำ​ให้​พ่อ​แม่​บุญธรรม​มั่น​ใจ​ว่า​คุณ​ยัง​คง​รัก​และ​นับถือ​ท่าน​ไม่​เสื่อม​คลาย. โดย​วิธี​นี้ ขณะ​ที่​คุณ​ค่อย ๆ มา​รู้​จัก​ผู้​ให้​กำเนิด​ซึ่ง​ได้​ยก​คุณ​ให้​เป็น​บุตร​บุญธรรม​ของ​คน​อื่น​นาน​มา​แล้ว คุณ​ก็​ยัง​จะ​สามารถ​รักษา​สัมพันธภาพ​อัน​มั่นคง​กับ​พ่อ​แม่​ที่​ได้​อบรม​เลี้ยง​ดู​คุณ​มา​จน​โต.

เสริม​สร้าง​ความ​สัมพันธ์​ระหว่าง​คุณ​กับ​พระ​บิดา​ทาง​ภาค​สวรรค์​ให้​มั่นคง

หนุ่ม​สาว​หลาย​คน​ที่​เป็น​บุตร​บุญธรรม​ดิ้นรน​ต่อ​สู้​กับ​ความ​กลัว​ว่า​จะ​ถูก​ทอดทิ้ง. พวก​เขา​กังวล​ว่า​อาจ​จะ​สูญ​เสีย​ครอบครัว​ที่​รับ​เขา​เป็น​บุตร​บุญธรรม อย่าง​ที่​ได้​เคย​สูญ​เสีย​ครอบครัว​แท้ ๆ มา​แล้ว​ครั้ง​หนึ่ง. ความ​กลัว​เช่น​ว่า​นี้​เป็น​ที่​เข้าใจ​ได้. กระนั้น ขอ​ให้​ระลึก​ถึง​ถ้อย​คำ​ที่​ฉลาด​สุขุม​ที่​ว่า “ใน​ความ​รัก​นั้น​ไม่​มี​ความ​กลัว แต่​ว่า​ความ​รัก​ที่​สมบูรณ์​ก็​กำจัด​ความ​กลัว​เสีย.” (1 โยฮัน 4:18) อย่า​ปล่อย​ให้​ความ​กลัว​อัน​เลว​ร้าย​ครอบ​งำ​ความ​คิด​นึก​ของ​คุณ​ว่า​คุณ​อาจ​จะ​เสีย​บุคคล​อัน​เป็น​ที่​รัก​ไป. แทน​ที่​จะ​ปล่อย​ให้​เป็น​เช่น​นั้น จง​พัฒนา​ความ​รัก​ต่อ​ผู้​อื่น​ให้​มาก​ขึ้น รวม​ถึง​ทุก​คน​ใน​ครอบครัว​ของ​คุณ​ด้วย. ยิ่ง​กว่า​นั้น จง​เสริม​สร้าง​ความ​รัก​ที่​คุณ​มี​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า พระ​บิดา​ผู้​สถิต​ใน​สวรรค์​ให้​แน่นแฟ้น. เนื่อง​ด้วย​ทรง​เป็น​ที่​เชื่อถือ​ไว้​วางใจ​ได้​อย่าง​ครบ​ถ้วน พระองค์​จะ​ไม่​มี​วัน​ทอดทิ้ง​บุตร​ทั้ง​หลาย​ที่​สัตย์​ซื่อ. พระองค์​สามารถ​ช่วย​คุณ​ให้​รู้สึก​อุ่น​ใจ​ได้.—ฟิลิปปอย 4:6, 7.

คาทรีนา ซึ่ง​ถูก​รับ​เป็น​บุตร​บุญธรรม​ตั้ง​แต่​เล็ก​พูด​ว่า การ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ช่วย​เธอ​ได้​มาก​ที​เดียว​ใน​การ​เข้า​ใกล้​พระเจ้า​ยิ่ง​ขึ้น และ​ดำเนิน​ชีวิต​อย่าง​มี​ความ​สุข​และ​ก่อ​ประโยชน์. เธอ​บอก​ว่า สัมพันธภาพ​อัน​แนบแน่น​กับ​พระ​ยะโฮวา “เป็น​สิ่ง​สำคัญ​จริง ๆ เพราะ​พระ​บิดา​ของ​เรา​ผู้​สถิต​ใน​สวรรค์​ทรง​ทราบ​ความ​รู้สึก​ของ​เรา.” ข้อ​คัมภีร์​ที่​คาทรีนา​ชอบ​มาก​คือ​บทเพลง​สรรเสริญ 27:10 ที่​ว่า “เมื่อ​บิดา​มารดา​ละ​ทิ้ง​ข้าพเจ้า​แล้ว, พระ​ยะโฮวา​จะ​ทรง​รับ​ข้าพเจ้า​ไว้.”

[เชิงอรรถ]

[ภาพ​หน้า 20]

มอง​หา​วิธี​ที่​จะ​ใกล้​ชิด​กับ​พ่อ​แม่​บุญธรรม​ให้​มาก​ขึ้น