ทำไมกลับมาระบาดอีก?
ทำไมกลับมาระบาดอีก?
ประมาณ 40 ปีที่แล้ว ผู้คนคิดกันว่า โรคที่มีแมลงเป็นพาหะซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี อย่างเช่น มาลาเรีย, ไข้เหลือง, และไข้เลือดออกนั้นถูกขจัดออกไปจนเกือบหมดแล้วจากพื้นที่กว้างใหญ่ของโลก. แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น โรคเหล่านั้นกลับมาระบาดอีกครั้ง.
ทำไม? เหตุผลหนึ่งคือ แมลงบางชนิดและจุลชีพที่พวกมันนำมานั้นได้พัฒนาความสามารถที่จะต้านทานยาฆ่าแมลงและยาต่าง ๆ ที่เคยใช้ควบคุมมัน. กระบวนการปรับตัวซึ่งเป็นไปตามธรรมชาตินี้ได้รับการเกื้อหนุนไม่เพียงแต่จากการใช้ยาฆ่าแมลงมากเกินไปเท่านั้น แต่ยังใช้ยาอย่างผิดวิธีอีกด้วย. หนังสือยุง (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “ในครอบครัวที่ยากจนหลายครอบครัว ผู้คนรับยาแล้วกินยานั้นแค่พอให้อาการทุเลาลง แล้วก็เก็บยาที่เหลือไว้เผื่อเวลาป่วยคราวหน้า.” ด้วยการรักษาแบบกระท่อนกระแท่นเช่นนั้น จุลชีพที่แข็งแรงกว่าอาจเหลือรอดอยู่ในร่างกายของคนเราและขยายพันธุ์ใหม่กลายเป็นจุลชีพที่ดื้อยา.
การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ
ปัจจัยสำคัญซึ่งทำให้โรคที่มีแมลงเป็นพาหะกลับมาระบาดอีกครั้งคือ การเปลี่ยนแปลงทั้งในธรรมชาติและในสังคม. ตัวอย่างที่เด่นคือ การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศทั่วโลก. นักวิทยาศาสตร์บางคนคาดการณ์ว่า สภาพแวดล้อมที่ร้อนขึ้นทั่วโลกทำให้อาณาเขตของแมลงซึ่งเป็นพาหะนำโรคขยายเข้าไปสู่บริเวณที่ปัจจุบันมีอากาศหนาวเย็นกว่า. มีหลักฐานบางอย่างที่แสดงว่าสิ่งนี้อาจเกิดขึ้นแล้ว. นายแพทย์พอล อาร์. เอปสไตน์ แห่งศูนย์สุขภาพและสิ่งแวดล้อมโลก วิทยาลัยแพทย์ฮาร์เวิร์ด กล่าวว่า “ปัจจุบัน มีรายงานว่า มีการพบทั้งแมลงและโรคที่มีแมลงเป็นพาหะ (รวมทั้งมาลาเรียและไข้เลือดออก) ในพื้นที่ระดับสูงขึ้นในแอฟริกา, เอเชีย, และลาตินอเมริกา.” ในคอสตาริกา ไข้เลือดออกแพร่กระจายข้ามเทือกเขา ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้เคยจำกัดขอบเขตโรคนั้นให้อยู่เฉพาะแถบชายฝั่งแปซิฟิก แต่ตอนนี้โรคไข้เลือดออกได้แพร่ระบาดไปทั่วประเทศแล้ว.
แต่อากาศที่อุ่นขึ้นอาจส่งผลมากกว่านั้น. ในบางพื้นที่ มันทำให้แม่น้ำกลายเป็นแอ่งโคลน ส่วนบางพื้นที่มันทำให้เกิดฝนตกน้ำท่วมและหลังจากนั้นก็กลายเป็นบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง. ในทั้งสองกรณี น้ำที่ขังอยู่นิ่ง ๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่เหมาะมาก. อากาศที่ร้อนขึ้นยังทำให้วัฏจักรของการแพร่พันธุ์สั้นลงด้วย โดยทำให้ยุงมีอัตราการขยายพันธุ์เร็วขึ้น และทำให้ฤดูที่มียุงชุมยาวนานขึ้น. เมื่ออากาศร้อนขึ้น ยุงก็บินว่อนมากขึ้น. อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นถึงกับส่งผลกระทบไปถึงข้างในตัวยุงและส่งผลให้จุลชีพที่เป็นตัวก่อโรคมีอัตราการแพร่พันธุ์สูงขึ้น ด้วยเหตุนี้ โอกาสติดโรคจึงมีเพิ่มขึ้นแม้จะกัดเพียงครั้งเดียว. แต่ยังมีเรื่องน่าเป็นห่วงอื่น ๆ อีก.
กรณีศึกษาเกี่ยวกับโรค
ความเปลี่ยนแปลงในสังคมมนุษย์ยังอาจเป็นปัจจัยหนึ่งด้วยซึ่งทำให้มีโรคที่มีแมลงเป็นพาหะ. เพื่อจะเข้าใจว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เราต้องพิจารณาบทบาทของแมลงให้ละเอียดยิ่งขึ้น. ในหลายโรค แมลงอาจเป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ ตัวเชื่อมที่อยู่ในกระบวนการแพร่เชื้อ. สัตว์หรือนกอาจเป็นพาหะนำโรคโดยนำแมลงติดไปกับตัวมันหรือมีจุลชีพอยู่ในกระแสเลือดมัน. ถ้าพาหะตัวนั้นอยู่รอดได้ มันก็อาจเป็นแหล่งเพาะโรคด้วย.
ลองพิจารณาโรคไลม์เป็นตัวอย่าง มีการกล่าวถึงโรคนี้ในปี 1975 และตั้งชื่อตามเมืองไลม์ รัฐคอนเนตทิคัต สหรัฐอเมริกา ที่ซึ่งมีการพบเห็นเป็นครั้งแรก. เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคไลม์อาจมาถึงอเมริกาเหนือเมื่อหนึ่งร้อยปีมาแล้วโดยทางหนูหรือปศุสัตว์บนเรือที่มาจากยุโรป. หลังจากเห็บไอโซดิส (Ixodes) ตัวจิ๋วดูดเลือดสัตว์ที่ติดเชื้อ แบคทีเรียก็จะอยู่ในตัวเห็บตลอดชีวิตของมัน. ต่อมา เมื่อเห็บกัดสัตว์ตัวอื่นหรือกัดมนุษย์ มันก็อาจแพร่เชื้อแบคทีเรียไปยังกระแสเลือดของเหยื่อ.
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐ โรคไลม์เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งมีอยู่ที่นั่นนานมาแล้ว. แหล่งเพาะเชื้อแบคทีเรียที่สำคัญของโรคไลม์คือหนูตีนขาว. หนูชนิดนี้ยังมีเห็บเกาะอยู่ที่ตัวมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เห็บกำลังเจริญเติบโต. เห็บที่โตเต็มวัยมักชอบเกาะตัวกวางมากกว่า ซึ่งมันจะดูดเลือดและผสมพันธุ์. เมื่อกินเลือดจนอิ่มหนำ ตัวเมียที่โตเต็มวัยก็จะกระโดดลงมาวางไข่ที่พื้น และไม่นานไข่ก็ฟักเป็นตัวอ่อนเพื่อเริ่มวัฏจักรใหม่.
สภาพการณ์เปลี่ยนไป
จุลินทรีย์อยู่ร่วมกับสัตว์และแมลงมาหลายปีโดยไม่ได้ทำให้มนุษย์เป็นโรค. แต่สภาพการณ์ที่เปลี่ยนไปทำให้โรคประจำถิ่นกลายเป็นโรคระบาด ซึ่งแพร่ไปสู่คนจำนวนมากในชุมชน. ในกรณีของโรคไลม์ มีสภาพการณ์อะไรบ้างที่เปลี่ยนไป?
เมื่อก่อน สัตว์นักล่าทำให้เห็บกวางแทบไม่มีโอกาสสัมผัสกับมนุษย์ โดยการควบคุมประชากรกวาง. เมื่อผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยุโรปยุคแรก ๆ หักร้างถางพงเพื่อทำการเกษตร จำนวนประชากรกวางก็ลดน้อยลงไปอีก และสัตว์ที่ล่ากวางเป็นอาหารก็อพยพไป. แต่ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ฟาร์มหลายแห่งถูกทิ้งร้างเนื่องจากชาวนาย้ายถิ่นฐานไปทางตะวันตก และป่าก็เริ่มแผ่คลุมผืนดินอีกครั้ง. กวางอพยพกลับมา แต่สัตว์นักล่าตามธรรมชาติไม่ได้กลับ
มาด้วย. ดังนั้น ประชากรกวางจึงเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และประชากรเห็บก็เช่นกัน.ต่อมา แบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคไลม์ปรากฏขึ้นและอาศัยอยู่ในสัตว์ที่เป็นพาหะนานหลายสิบปีจนกระทั่งกลายเป็นภัยคุกคามต่อมนุษย์. อย่างไรก็ดี เมื่อเริ่มมีการสร้างชานเมืองขึ้นตามชายป่า เด็กและผู้ใหญ่จำนวนมากขึ้นก็เริ่มเข้าไปสู่ถิ่นที่อยู่ของเห็บ. เห็บก็เริ่มเกาะบนมนุษย์และมนุษย์ก็ติดโรคไลม์.
โรคภัยในโลกที่ไม่มั่นคง
เหตุการณ์ที่กล่าวข้างต้นเป็นเพียงหนึ่งในหลายทางที่ทำให้โรคแพร่ระบาด และเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่แสดงว่าการกระทำของมนุษย์ส่งผลต่อการเกิดโรค. นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชื่อยูจีน ลินเดน เขียนในหนังสือของเขาชื่ออนาคตที่มองเห็นได้อย่างแจ่มชัด (ภาษาอังกฤษ) ว่า “โรคที่พัฒนาขึ้นใหม่เกือบทุกโรคหวนกลับมาอีกก็เพราะมนุษย์เข้าไปยุ่ง.” ตัวอย่างอื่น ๆ เช่น: การเดินทางในสมัยใหม่ซึ่งเป็นที่นิยมกันและมีความรวดเร็วมากอาจทำให้เชื้อโรคและพาหะนำโรคนั้นแพร่ไปทั่วโลกได้. ความเสียหายต่อถิ่นที่อยู่ของสัตว์ใหญ่สัตว์เล็กล้วนทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพตกอยู่ในอันตราย. ลินเดนให้ข้อสังเกตว่า “มลพิษส่งผลกระทบต่ออากาศและน้ำ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของทั้งสัตว์และมนุษย์อ่อนแอลง.” เขายกข้อสรุปของนายแพทย์เอปสไตน์ ขึ้นมากล่าว ที่ว่า “โดยพื้นฐานแล้ว การที่มนุษย์
รบกวนระบบนิเวศได้ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของโลกอ่อนแอลง และทำให้เกิดสภาพที่เอื้อประโยชน์แก่จุลชีพ.”ความไม่มั่นคงทางการเมืองนำไปสู่สงครามซึ่งทำความเสียหายต่อระบบนิเวศ และทำลายสาธารณูปโภคที่เป็นพื้นฐานของการรักษาพยาบาลและการแจกจ่ายอาหาร. นอกจากนั้น ไบโอบุลเลติน ของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติของอเมริกายังชี้ว่า “ผู้ลี้ภัยซึ่งขาดอาหารและอ่อนแอมักจำต้องอยู่ในค่ายซึ่งมีผู้คนแออัดและมีสภาพที่ไม่ถูกสุขลักษณะทำให้ผู้คนมีโอกาสติดเชื้อได้หลายอย่าง.”
ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจทำให้ผู้คนอพยพย้ายถิ่น ทั้งที่ย้ายไปต่างประเทศและภายในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะย้ายเข้าไปอยู่ในเขตเมืองที่แออัด. ไบโอบุลเลติน อธิบายว่า “เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดีในที่ซึ่งผู้คนอยู่กันอย่างแออัด.” ขณะที่ประชากรในเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว “บ่อยครั้งมาตรการด้านสาธารณสุขที่จำเป็นอย่างเช่น การให้การศึกษาขั้นพื้นฐาน, โภชนาการ, และโครงการฉีดวัคซีนก็ไม่สามารถตามได้ทัน.” การที่ผู้คนอยู่กันอย่างแออัดยังทำให้ต้องแบกภาระเพิ่มขึ้นอีกทั้งในเรื่องน้ำ, สิ่งปฏิกูล, และระบบกำจัดของเสีย ทำให้การรักษาสภาพที่ถูกสุขอนามัยกลายเป็นเรื่องยาก และในเวลาเดียวกันก็ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การแพร่พันธุ์ของแมลงและพาหะนำโรคอื่น ๆ. อย่างไรก็ตาม สภาพการณ์ยังไม่สิ้นหวัง ดังที่บทความถัดไปจะแสดงให้เห็น.
[คำโปรยหน้า 11]
“โรคที่พัฒนาขึ้นใหม่เกือบทุกโรคหวนกลับมาอีกก็เพราะมนุษย์เข้าไปยุ่ง”
[กรอบ/ภาพหน้า 7]
ไวรัสเวสต์ไนล์จู่โจมสหรัฐ
ไวรัสเวสต์ไนล์ ซึ่งมียุงเป็นตัวการสำคัญในการแพร่เชื้อสู่มนุษย์ ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในปี 1937 ในประเทศยูกันดาและต่อมามีการพบไวรัสชนิดนี้ทางตะวันออกกลาง, เอเชีย, แถบโอเชียเนีย, และยุโรป. ไม่เคยพบไวรัสชนิดนี้ทางซีกโลกตะวันตกจนกระทั่งในปี 1999. อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่นั้นมา มีรายงานว่า มีผู้ติดเชื้อกว่า 3,000 รายในสหรัฐ และมากกว่า 200 คนได้เสียชีวิตแล้ว.
คนที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อ แม้ว่าบางคนอาจมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด. แต่มีอยู่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่เป็นโรคร้ายแรง รวมทั้งเป็นไข้สมองอักเสบและไขสันหลังอักเสบ. ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือรักษาไวรัสเวสต์ไนล์โดยเฉพาะ. ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐเตือนว่า ไวรัสเวสต์ไนล์อาจติดต่อได้โดยการปลูกถ่ายอวัยวะหรือการถ่ายเลือดจากผู้บริจาคที่ติดเชื้อด้วย. สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานในปี 2002 ว่า “ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจหาไวรัสเวสต์ไนล์ในเลือด.”
[ที่มาของภาพ]
CDC/James D. Gathany
[กรอบ/ภาพ หน้า 8, 9]
คุณจะป้องกันตัวเองได้อย่างไร? สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ
ตื่นเถิด! ได้ปรึกษาผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตต่าง ๆ ทั่วโลกซึ่งมีแมลงและมีโรคที่เกิดจากแมลงเพื่อจะได้คำแนะนำในเรื่องการรักษาสุขภาพ. คุณอาจพบว่าคำแนะนำของพวกเขานำไปใช้ได้ในเขตที่คุณอาศัยอยู่.
ความสะอาด—การป้องกันด่านแรกของคุณ
▪ ดูแลรักษาบ้านให้สะอาดอยู่เสมอ
“ปิดภาชนะที่ใช้เก็บอาหาร. เก็บอาหารที่ทำเสร็จแล้วให้มิดชิดจนกว่าจะเสิร์ฟ. ทำความสะอาดบริเวณที่อาหารหกเปื้อนทันที. อย่าแช่จานที่ใช้แล้วไว้ค้างคืนหรือโยนขยะที่เป็นเศษอาหารไปนอกบ้านเพื่อนำไปทิ้งในวันรุ่งขึ้น. จงกลบหรือฝังขยะเหล่านั้น เนื่องจากแมลงและหนูจะออกมาหาอาหารในตอนกลางคืน. นอกจากนั้น การเทคอนกรีตบาง ๆ บนพื้นดินจะช่วยให้รักษาความสะอาดบ้านได้ง่ายขึ้นและทำให้ปลอดแมลง.”—แอฟริกา.
“เก็บผลไม้หรือสิ่งที่ล่อแมลงไว้นอกบ้าน. อย่าให้สัตว์ที่เลี้ยงในฟาร์ม เช่น แพะ, หมู, หรือไก่ เข้ามาในบ้าน. ปิดห้องสุขานอกบ้านให้มิดชิด. กลบมูลสัตว์โดยเร็วหรือโรยปูนขาวไว้เพื่อไม่ให้แมลงวันตอม. แม้ว่าเพื่อนบ้านจะไม่ทำสิ่งเหล่านี้ แต่คุณก็สามารถควบคุมจำนวนแมลงได้ในระดับหนึ่งและเป็นการวางตัวอย่างที่ดีด้วย.”—อเมริกาใต้.
[รูปภาพ]
การทิ้งอาหารหรือขยะไว้โดยไม่ปิดก็เหมือนเชิญแมลงให้มากินอาหารกับคุณ
▪ สุขอนามัยส่วนบุคคล
“สบู่เป็นของที่ไม่แพง ดังนั้น จงล้างมือและซักเสื้อผ้าบ่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากสัมผัสผู้คนหรือสัตว์. พยายามอย่าถูกต้องซากสัตว์. อย่าเอามือมาสัมผัสปาก, จมูก, และดวงตาของคุณ. ควรซักเสื้อผ้าเป็นประจำแม้ดูเหมือนว่ายังสะอาดอยู่. อย่างไรก็ตาม แมลงชอบกลิ่นบางชนิด ดังนั้น จงหลีกเลี่ยงสบู่และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่แต่งกลิ่น.”—แอฟริกา.
มาตรการป้องกัน
▪ ขจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
ปิดฝาแท็งก์น้ำและอ่างน้ำ. กำจัดภาชนะที่ไม่มีฝาปิดทั้งหมดซึ่งมีน้ำเข้าไปขังได้. อย่าให้มีน้ำขังในกระถางต้นไม้. ยุงสามารถขยายพันธุ์ในแอ่งใด ๆ ก็ตามที่มีน้ำขังอยู่นานกว่าสี่วัน.—เอเชียตะวันออกเฉียงใต้.
▪ หลีกเลี่ยงแมลงให้มากที่สุด
หลีกเลี่ยงการออกไปในเวลาและสถานที่ที่แมลงชอบออกหากิน. ดวงอาทิตย์ตกเร็วในเขตร้อน ดังนั้น กิจกรรมประจำวันหลายอย่างจึงทำกันในตอนค่ำ ซึ่งเป็นช่วงที่มีแมลงมาก. การนั่งหรือนอนหลับนอกบ้านทำให้คุณเสี่ยงมากขึ้นเมื่อโรคที่มีแมลงเป็นพาหะกำลังระบาด.—แอฟริกา.
[รูปภาพ]
การนอนหลับนอกบ้านในเขตที่มียุงชุมก็เหมือนเชิญพวกมันให้กินคุณเป็นอาหาร
ใส่เสื้อผ้าที่ปิดคลุมร่างกายให้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ในป่า. ทายากันยุงที่เสื้อผ้าและผิวหนัง ทำตามคำแนะนำในฉลากเสมอ. ตรวจดูร่างกายของคุณและลูก ๆ ว่ามีเห็บติดมาหรือไม่หลังจากออกไปนอกบ้าน. ดูแลสัตว์เลี้ยงให้มีสุขภาพดีและอย่าให้มีหมัดหรือเห็บ.—อเมริกาเหนือ.
สัมผัสสัตว์ที่เลี้ยงในฟาร์มให้น้อยที่สุด เพราะแมลงอาจแพร่โรคจากสัตว์เหล่านั้นมายังมนุษย์.—เอเชียกลาง.
ทุกคนในครอบครัวควรใช้มุ้ง ซึ่งจะดีมากถ้าเป็นชนิดที่อาบยาฆ่าแมลงมาแล้ว. หน้าต่างควรมีมุ้งลวด และคอยดูแลให้มุ้งลวดอยู่ในสภาพดีเสมอ. ปิดช่องใต้ชายคาให้มิดชิดซึ่งแมลงอาจเข้ามาได้. มาตรการป้องกันเหล่านี้อาจต้องเสียเงินบ้าง แต่คุณจะเสียเงินมากกว่านั้นด้วยซ้ำถ้าคุณต้องพาลูกไปโรงพยาบาลหรือถ้าผู้หาเลี้ยงครอบครัวเกิดล้มป่วยทำงานไม่ได้.—แอฟริกา.
[รูปภาพ]
มุ้งที่อาบยาฆ่าแมลงถูกกว่าค่ายาและค่าโรงพยาบาล
ขจัดที่ที่แมลงชอบไปแอบซ่อนในบ้านของคุณ. ฉาบปูนที่ผนังและเพดาน และอุดรูรวมทั้งรอยแตกร้าวด้วย. เอาผ้าที่กันแมลงได้มาขึงไว้บนเพดานใต้หลังคาที่มุงด้วยจาก. ขจัดของที่ทำให้ห้องรก เช่น กองกระดาษหรือกองเสื้อผ้า หรือรูปภาพที่แขวนไว้ติด ๆ กันบนผนัง ที่ซึ่งแมลงชอบซ่อนอยู่.—อเมริกาใต้.
บางคนถือว่าแมลงและหนูเป็นแขกประจำบ้าน. แต่มันไม่ใช่! อย่าให้มันเข้ามาในบ้าน. ใช้ยาไล่แมลงและยาฆ่าแมลง แต่ต้องทำตามคำบ่งใช้ในฉลากอย่างเคร่งครัด. ใช้ที่ดักแมลงวันและไม้ตีแมลงวัน. จงรู้จักประดิษฐ์ เช่น ผู้หญิงคนหนึ่งเย็บผ้าเป็นถุงยาว ๆ ใส่ทรายเข้าไป และนำไปอุดช่องใต้ประตูเพื่อไม่ให้แมลงเข้า.—แอฟริกา.
[รูปภาพ]
แมลงไม่ควรเป็นแขกในบ้านของเรา. จงไล่มันไป!
▪ วิธีป้องกันตัวเอง
รักษาภูมิต้านทานให้แข็งแรงเสมอโดยรับประทานอาหาร, พักผ่อนและออกกำลังกายให้เพียงพอ. ลดความเครียด.—แอฟริกา.
นักเดินทาง: รู้ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับความเสี่ยงในการติดโรค. ขอข้อมูลได้ที่กระทรวงสาธารณสุขและเว็บไซต์ของรัฐบาล. ก่อนออกเดินทาง จงใช้มาตรการป้องกันที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่ที่คุณจะไป.
ถ้าคุณรู้สึกไม่สบาย
▪ พบแพทย์โดยเร็ว
โรคส่วนใหญ่สามารถรักษาได้ง่ายกว่าหากตรวจพบเสียแต่เนิ่น ๆ.
▪ ระวังการวินิจฉัยผิด
หาแพทย์ที่ชำนาญด้านโรคที่มีแมลงเป็นพาหะและโรคในเขตร้อน ถ้าคุณเดินทางไปที่เขตร้อน. บอกแพทย์ให้ครบถ้วนว่าคุณมีอาการอย่างไรบ้างและคุณเดินทางไปที่ไหนมาบ้าง แม้แต่ในอดีต. ใช้ยาปฏิชีวนะเฉพาะเมื่อจำเป็นจริง ๆ และใช้ให้ครบตามที่กำหนด.
[รูปภาพ]
โรคที่เกิดจากแมลงอาจมีอาการคล้ายกันกับโรคอื่น ๆ. จงเล่าให้แพทย์ฟังอย่างละเอียดว่าคุณเดินทางไปที่ไหนมาบ้าง
[ที่มาของรูปภาพ]
Globe: Mountain High Maps® Copyright © 1997 Digital Wisdom, Inc.
[กรอบ/ภาพหน้า 10]
แมลงแพร่เชื้อเอชไอวีได้ไหม?
หลังจากตรวจสอบและค้นคว้าวิจัยมากว่าสิบปี นักกีฏวิทยาและนักวิทยาศาสตร์เวชกรรมไม่พบหลักฐานว่ายุงหรือแมลงชนิดอื่นถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี คือไวรัสเอดส์ได้.
เพื่อเป็นตัวอย่าง ในกรณีของยุง ส่วนปากของมันไม่เหมือนกับเข็มฉีดยาซึ่งเป็นช่องทางเดียวที่สามารถฉีดเลือดกลับไปใหม่ได้. แต่ยุงดูดเลือดเข้าทางช่องหนึ่งแล้วก็ปล่อยน้ำลายออกอีกทางหนึ่ง. โทมัส ดามาสโซ ผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อเอชไอวีซึ่งอยู่ในคณะทำงานที่ดูแลด้านสุขภาพระดับภูมิภาคในเมืองมองกู ประเทศแซมเบีย อธิบายว่า ระบบย่อยอาหารของยุงจะย่อยสลายเลือด และทำลายไวรัส. เราไม่พบว่ามีเชื้อเอชไอวีอยู่ในมูลยุง. และไม่เหมือนเชื้อมาลาเรีย เชื้อเอชไอวีไม่เข้าไปในต่อมน้ำลายของยุง.
ที่จะติดเชื้อเอชไอวีได้นั้น คนเราต้องได้รับเชื้อโรคจำนวนมาก. ถ้ายุงถูกขัดจังหวะขณะที่กำลังดูดเลือด และมันบินไปเกาะอีกคนหนึ่งทันที เลือดที่ยังอาจค้างอยู่ในส่วนปากของมันก็มีน้อยจนไม่อาจก่อผลใด ๆ ได้. ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า แม้แต่การตบยุงที่มีเชื้อเอชไอวีบนแผล ก็จะไม่ทำให้ติดเชื้อเอชไอวี.
[ที่มาของภาพ]
CDC/James D. Gathany
[ภาพหน้า 7]
เห็บกวาง (ที่เห็นในภาพขยายด้านขวา) แพร่โรคไลม์สู่มนุษย์
ซ้ายไปขวา: ตัวเมียที่โตเต็มวัย, ตัวผู้ที่โตเต็มวัย, และตัวอ่อน, ทั้งหมดขนาดเท่าของจริง
[ที่มาของภาพ]
All ticks: CDC
[ภาพหน้า 10, 11]
อุทกภัย, สภาพที่ไม่ถูกสุขลักษณะ, และการอพยพย้ายถิ่นของมนุษย์มีส่วนทำให้โรคที่มีแมลงเป็นพาหะแพร่ระบาด
[ที่มาของภาพ]
FOTO UNACIONES (from U.S. Army)