ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

“ฝนไม่เคยตกในลิมาหรือ?”

“ฝนไม่เคยตกในลิมาหรือ?”

“ฝน​ไม่​เคย​ตก​ใน​ลิมา​หรือ?”

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​เปรู

ถ้า​คุณ​ไป​เยือน​เปรู คุณ​คง​จะ​ได้​ยิน​ใคร​สัก​คน​บอก​ว่า “ฝน​ไม่​เคย​ตก​ใน​ลิมา”—เมือง​หลวง​ของ​เปรู. แต่​เมื่อ​คุณ​ยืน​ตัว​สั่น​อยู่​ท่ามกลาง​อากาศ​ที่​ทั้ง​หนาว​และ​ชื้น คุณ​คง​สงสัย​ว่า​เป็น​อย่าง​นั้น​จริง ๆ หรือ.

กรุง​ลิมา​ตั้ง​อยู่​ใน​ทะเล​ทราย​ใหญ่​เลียบ​ชายฝั่ง​อเมริกา​ใต้​ด้าน​แปซิฟิก ซึ่ง​เป็น​บริเวณ​ที่​มี​ภูมิ​อากาศ​แปลก​ที่​สุด​แห่ง​หนึ่ง​ใน​โลก. ดินแดน​ที่​แห้ง​แล้ง​นี้​ครอบ​คลุม​พื้น​ที่​จาก​ทะเล​ทราย​เซชูรา​ซึ่ง​อยู่​ทาง​เหนือ​สุด​ของ​เปรู​ไป​จน​ถึง​ทะเล​ทราย​อา​ตา​กามา​ที่​อยู่​ทาง​เหนือ​ของ​ชิลี.

ทะเล​ทราย​ที่​ติด​ชายฝั่ง​นี้​อยู่​ระหว่าง​เทือก​เขา​แอนดีส​อัน​ขรุขระ​กับ​มหาสมุทร​แปซิฟิก​สี​ฟ้า​ใส. เมื่อ​มอง​จาก​ระยะ​ไกล ดู​เหมือน​จะ​ไม่​มี​อะไร​เลย​บน​ชายฝั่ง นอก​จาก​ภูเขา​อัน​ขรุขระ​แห้ง​แล้ง​ที่​เป็น​หิน​และ​ทราย​ซึ่ง​มี​ตั้ง​แต่​สี​เทา​ไป​จน​ถึง​สี​น้ำตาล. การ​เซาะกร่อน​ทำ​ให้​หิน​สี​น้ำตาล​ร่วง​ลง​มา​กอง​ลด​หลั่น​กัน​เป็น​ชั้น ๆ ตาม​เชิง​เขา​หลาย​แห่ง. หิน​เหล่า​นี้​ค่อย ๆ เคลื่อน​ลง​มา​ที่​ทะเล และ​บาง​ครั้ง​ก็​ค่อย ๆ ถูก​ดัน​เนื่อง​จาก​แรง​สั่น​สะเทือน​ของ​แผ่นดิน​โลก​ซึ่ง​เกิด​ขึ้น​บ่อย ๆ ที่​นี่.

เมื่อ​หิน​มา​ถึง​ชาย​หาด คลื่น​ใน​มหาสมุทร​แปซิฟิก​ก็​ค่อย ๆ กัด​เซาะ​จน​กลาย​เป็น​ทราย ซึ่ง​จะ​ถูก​ลม​พัด​ให้​กลาย​เป็น​เนิน​ทราย​รูป​จันทร์​เสี้ยว. ใน​บาง​ส่วน​ของ​ทะเล​ทราย​อัน​กว้าง​ใหญ่​นี้ ไม่​เคย​มี​ฝน​ตก​เลย​ใน​รอบ 20 ปี ทำ​ให้​ที่​นี่​เป็น​พื้น​ที่​ที่​แห้ง​แล้ง​ที่​สุด​แห่ง​หนึ่ง​ของ​โลก. แต่​อะไร​ทำ​ให้​พื้น​ที่​เขต​นี้​แห้ง​แล้ง​มาก​ขนาด​นั้น?

เครื่อง​ขวาง​กั้น​ฝน​แห่ง​เทือก​เขา​แอนดีส

คำ​ตอบ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ลม​สินค้า ซึ่ง​พัด​จาก​ทิศ​ตะวัน​ออก​ไป​ทิศ​ตะวัน​ตก. เมื่อ​ลม​นี้​พัด​มา​ปะทะ​กับ​สันเขา​รูป​ฟัน​เลื่อย​แห่ง​เทือก​เขา​แอนดีส ลม​นี้​ก็​ถูก​บังคับ​ให้​พัด​ขึ้น. เมื่อ​ลม​ลอย​สูง​ขึ้น​เพื่อ​ข้าม​เทือก​เขา​แอนดีส มัน​ก็​จะ​เย็น​ลง ทำ​ให้​ความ​ชื้น​ที่​มา​กับ​ลม​นี้​เกิด​การ​ควบ​แน่น​และ​ตก​ลง​เป็น​ฝน​และ​หิมะ ซึ่ง​ส่วน​ใหญ่​จะ​ตก​ทาง​ด้าน​ตะวัน​ออก​ของ​เทือก​เขา​นี้. ด้วย​เหตุ​นั้น เทือก​เขา​นี้​จึง​กลาย​เป็น​เครื่อง​ขวาง​กั้น​ฝน​สำหรับ​เชิง​เขา​ด้าน​ตะวัน​ตก.

นอก​จาก​นั้น ไม่​ว่า​จะ​เป็น​กระแส​น้ำ​เย็น​เปรู หรือ​ที่​เรียก​ว่า​กระแส​น้ำ​ฮุมโบลดต์ ซึ่ง​ไหล​จาก​แอนตาร์กติกา​ขึ้น​มา​ทาง​เหนือ หรือ​ลม​ที่​พัด​จาก​มหาสมุทร​แปซิฟิก​ใต้ ต่าง​ก็​ไม่​ได้​พา​ความ​ชื้น​มา​มาก​นัก. ปัจจัย​ทั้ง​หมด​นี้​ล้วน​ทำ​ให้​เกิด​ทะเล​ทราย​ที่​แห้ง​แล้ง​อย่าง​ยิ่ง แม้​ว่า​จะ​ไม่​ร้อน​ก็​ตาม. น่า​แปลก ถึง​แม้​ฝน​แทบ​จะ​ไม่​ตก​เลย แต่​ความ​ชื้น​ใน​อากาศ​กลับ​สูง​มาก โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ใน​ช่วง​ฤดู​หนาว​ของ​เปรู คือ​ตั้ง​แต่​เดือน​พฤษภาคม​ถึง​เดือน​พฤศจิกายน. ความ​ชื้น​ใน​อากาศ​เหล่า​นี้​มา​จาก​ไหน?

หมอก​การัว

ใน​ฤดู​หนาว ผืน​เมฆ​ที่​ลอย​ต่ำ​จะ​แผ่​คลุม​ทั่ว​แถบ​ชายฝั่ง และ​หมอก​ที่​หนา​ทึบ ซึ่ง​ชาว​เปรู​เรียก​ว่า​การัว จะ​ลอย​มา​จาก​มหาสมุทร​แปซิฟิก. ใน​ฤดู​นี้ อาจ​มอง​ไม่​เห็น​ดวง​อาทิตย์​เลย​เป็น​เวลา​นับ​เดือน ทำ​ให้​ภูมิภาค​นี้​มี​อากาศ​หนาว​เย็น ซึ่ง​บาง​คน​บอก​ว่า​ทำ​ให้​รู้สึก​หดหู่. แม้​ว่า​พื้น​ที่​นี้​อยู่​ใน​เขต​ร้อน แต่​อุณหภูมิ​เฉลี่ย​ใน​ฤดู​หนาว​ของ​กรุง​ลิมา​อยู่​ระหว่าง 16 ถึง 18 องศา​เซลเซียส. ใน​ฤดู​หนาว ความ​ชื้น​สัมพัทธ์​อาจ​สูง​ถึง 95 เปอร์เซ็นต์​โดย​ที่​ไม่​มี​ฝน​ตก และ​ลิเมนโญส หรือ​ชาว​ลิมา​ที่​ปรับ​ตัว​ได้​เป็น​อย่าง​ดี ก็​จะ​สวม​เสื้อ​ผ้า​หนา ๆ เพื่อ​ไม่​ให้​ความ​หนาว​เย็น​และ​ความ​ชื้น​แทรกซึม. *

ฝน​ที่​ตก​ปรอย ๆ ใน​ฤดู​หนาว​ก็​พอ​ที่​จะ​ทำ​ให้​ถนน​หน​ทาง​ใน​กรุง​ลิมา​เปียก และ​ยัง​คืน​ชีวิต​ให้​แก่​พืช​ใน​ทะเล​ทราย​ที่​ซ่อน​อยู่​ตาม​ภูเขา​สูง​แถบ​ชายฝั่ง. แพะ, แกะ, และ​วัว​ฝูง​ใหญ่ ๆ ก็​ได้​ประโยชน์​จาก​ทุ่ง​หญ้า​เขียว​ขจี​ที่​งอก​ขึ้น. ยิ่ง​กว่า​นั้น ตั้ง​แต่​ต้น​ทศวรรษ​ปี 1990 เรื่อย​มา เมือง​บาง​เมือง​ที่​อยู่​ใน​ทะเล​ทราย​ได้​ใช้​ที่​จับ​หมอก—ตาข่าย​โพลีโพรพีลีน​ขนาด​ใหญ่​ซึ่ง​ทำ​ให้​หมอก​ควบ​แน่น—เพื่อ​จะ​ได้​น้ำ​จาก​เมฆ​ที่​ลอย​ต่ำ​และ​มี​ความ​ชื้น​มาก​มา​ใช้​ดื่ม​และ​รด​ต้น​ไม้​ใน​สวน.

ถึง​กระนั้น ความ​ชื้น​จาก​หมอก​และ​เมฆ​ก็​ไม่​เพียง​พอ​สำหรับ​พืช​ป่า​เพื่อ​จะ​เจริญ​งอกงาม​ได้​ตลอด​ทั้ง​ปี. ปริมาณ​น้ำ​ทั้ง​หมด​ที่​กรุง​ลิมา​ได้​รับ​ใน​แต่​ละ​ปี​นั้น​แทบ​จะ​มี​ไม่​เกิน​ห้า​สิบ​มิลลิเมตร และ​ส่วน​ใหญ่​แล้ว​มา​จาก​การ​ควบ​แน่น​ของ​หมอก​กา​รัว. ดัง​นั้น พืช​สี​เขียว​ชนิด​เดียว​ที่​เจริญ​งอกงาม​ใน​ทะเล​ทราย​แถบ​ชายฝั่ง​ก็​คือ​พืช​ซึ่ง​ได้​รับ​น้ำ​จาก​แม่น้ำ​สาย​เล็ก ๆ ซึ่ง​นำ​น้ำ​ที่​ให้​ชีวิต​ไหล​ลง​มา​จาก​ที่​สูง​ของ​เทือก​เขา​แอนดีส​ซึ่ง​มี​หิมะ​ปก​คลุม. เมื่อ​มอง​จาก​ทาง​อากาศ ลุ่ม​น้ำ​เล็ก ๆ เหล่า​นี้​ดู​เหมือน​ริบบิ้น​สี​เขียว​ที่​พาด​ผ่าน​ทะเล​ทราย.

มี​ชีวิต​อยู่​โดย​ไม่​มี​ฝน

เพื่อ​จะ​รอด​ชีวิต​อยู่​ได้​ใน​ภูมิ​อากาศ​ที่​แห้ง​แล้ง​เช่น​นี้ ชน​พื้นเมือง​ใน​วัฒนธรรม​โบราณ​แถบ​ชายฝั่ง​ทะเล​ของ​เปรู—เช่น ชาว​ชีมู​และ​ชาว​โมชีกา—ได้​สร้าง​ระบบ​ชล​ประทาน​ที่​ซับซ้อน​ขึ้น. เช่น​เดียว​กับ​ใน​อียิปต์​โบราณ โครงการ​ด้าน​เกษตรกรรม​ที่​กว้าง​ใหญ่​เหล่า​นี้​ได้​ค้ำจุน​อารยธรรม​ที่​มี​ระบบ​ระเบียบ​อย่าง​ยิ่ง. ชาว​เปรู​โบราณ​สร้าง​เมือง​ที่​มี​การ​พัฒนา​เป็น​อย่าง​ดี รวม​ทั้ง​วิหาร​ทรง​พีระมิด, กำแพง​ขนาด​ใหญ่, และ​อ่าง​เก็บ​น้ำ โดย​ใช้​ก้อน​อิฐ​ตาก​แห้ง. เนื่อง​จาก​แทบ​ไม่​มี​ฝน​เลย ซาก​ปรัก​หัก​พัง​เหล่า​นี้​จึง​ยัง​คง​อยู่​ใน​สภาพ​ที่​ดี ทำ​ให้​นัก​โบราณคดี​รู้​อะไร​หลาย​อย่าง​เกี่ยว​กับ​ชีวิต​ใน​เปรู​ยุค​ก่อน​โคลัมบัส. ปัจจุบัน หลาย​หมู่​บ้าน​ที่​อยู่​แถบ​ชายฝั่ง​ยัง​คง​อาศัย​คู​คลอง​ที่​ได้​รับ​การ​บูรณะ​ขึ้น​ใหม่​ซึ่ง​ถูก​สร้าง​ขึ้น​ครั้ง​แรก​เมื่อ​หลาย​พัน​ปี​ก่อน.

ดัง​ที่​ชาว​ทะเล​ทราย​รุ่น​แรก ๆ ได้​เรียน​รู้ ดิน​ใน​ทะเล​ทราย​อุดม​สมบูรณ์​มาก​ถ้า​มี​น้ำ. โครงการ​ชล​ประทาน​แถบ​ชายฝั่ง​ทะเล​ของ​เปรู​ใน​ปัจจุบัน​ทำ​ให้​มี​น้ำ​ที่​จำเป็น​ต่อ​การ​เพาะ​ปลูก​พืช​หลาย​ชนิด เช่น ฝ้าย, ข้าว, ข้าว​โพด, อ้อย, องุ่น, มะกอก, และ​หน่อ​ไม้​ฝรั่ง รวม​ทั้ง​พืช​ผัก​ผลไม้​อื่น ๆ. ใน​ทุก​วัน​นี้ มาก​กว่า​ครึ่ง​หนึ่ง​ของ​ประชากร​ซึ่ง​มี​ประมาณ 27 ล้าน​คน​ของ​เปรู​อาศัย​อยู่​ตาม​แนว​ชายฝั่ง​แคบ ๆ นี้.

เมื่อ​ฝน​ตก

อย่าง​ไร​ก็​ตาม บาง​ครั้ง​ก็​มี​ฝน​ตก​ใน​บาง​แห่ง​ของ​ทะเล​ทราย รวม​ทั้ง​ใน​กรุง​ลิมา. เป็น​ช่วง​ใน​ระยะ​ไม่​กี่​ปี กระแส​น้ำ​เย็น​เปรู​จะ​เปิด​ทาง​ให้​กระแส​น้ำ​อุ่น​ไหล​มา​จาก​มหาสมุทร​แปซิฟิก​ด้าน​ตะวัน​ตก. ปรากฏการณ์​นี้​เรียก​ว่า​เอลนินโญ เป็น​สัญญาณ​ว่า​จะ​มี​ฝน​ตก​ใน​ไม่​ช้า. ปรากฏการณ์​เอลนินโญ​ที่​รุนแรง​เป็น​พิเศษ​เกิด​ขึ้น​ใน​ปี 1925, ปี 1983, และ​ปี 1997/1998. เป็น​ที่​เข้าใจ​ได้​ว่า ชาว​ทะเล​ทราย​ซึ่ง​คุ้น​เคย​กับ​สภาพ​ฝน​แล้ง​นั้น​ไม่​ได้​เตรียม​รับมือ​กับ​ฝน​ที่​เท​ลง​มา​อย่าง​หนัก​และ​น้ำ​ท่วม​ที่​ตาม​มา.

เคย​มี​น้ำ​ท่วม​เช่น​นั้น​ใน​เมือง​อิ​กา ประเทศ​เปรู ใน​ปี 1998. แม่น้ำ​อิ​กา​ไหล​บ่า​ท่วม​พื้น​ที่​กว้าง​ใหญ่​ใน​เมือง และ​บ้าน​ที่​สร้าง​ด้วย​อิฐ​ซึ่ง​ทำ​จาก​โคลน​ก็​ละลาย​หาย​ไป. ทะเล​ทราย​ส่วน​อื่น​กลับ​ได้​รับ​ประโยชน์ โดย​ดูด​ซับ​ความ​ชื้น​และ​กลาย​เป็น​ทุ่ง​หญ้า​เขียว​สด. ปรากฏการณ์​เอลนินโญ​ครั้ง​ล่า​สุด​ทำ​ให้​พื้น​ที่​ส่วน​ใหญ่​ของ​ทะเล​ทราย​เซชูรา​กลาย​เป็น​สวน​ที่​มี​ต้น​ไม้​เขียว​ขจี​ออก​ดอก​งาม​สะพรั่ง​ซึ่ง​ทำ​ให้​เรา​นึก​ถึง​คำ​สัญญา​ของ​พระเจ้า​ที่​ว่า วัน​หนึ่ง ‘ป่า​ทราย​จะ​มี​ดอก​ดก​ดุจ​หญ้าฝรั่น.’ (ยะซายา 35:1, ล.ม.) ฝน​ที่​ตก​หนัก​ยัง​ทำ​ให้​เกิด​ทะเลสาบ​ขนาด​ใหญ่​ใน​ทะเล​ทราย​อีก​ด้วย ซึ่ง​ประมาณ​กัน​ว่า​ทะเลสาบ​นี้​ยาว 300 กิโลเมตร​และ​กว้าง 40 กิโลเมตร โดย​หนังสือ​พิมพ์​ตั้ง​ชื่อ​เล่น​ให้​ทะเลสาบ​นี้​ว่า ลานินญา.

แน่นอน​ว่า ทะเล​ทราย​ใหญ่​แถบ​ชายฝั่ง​เปรู​เป็น​หนึ่ง​ใน​สิ่ง​มหัศจรรย์​นานา​ชนิด​ซึ่ง​เกิด​ขึ้น​ตาม​ธรรมชาติ​ใน​โลก​ของ​เรา. แม้​ว่า​ที่​นี่​ไม่​ค่อย​มี​ฝน​ตก แต่​โดย​การ​ชล​ประทาน​และ​การ​ใช้​น้ำ​อัน​ล้ำ​ค่า​อย่าง​เหมาะ​สม ดินแดน​ที่​แห้ง​แล้ง​นี้​จึง​กลาย​เป็น​บ้าน​ที่​น่า​อยู่​สำหรับ​หลาย​ล้าน​คน.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 11 ใน​ฤดู​ร้อน เมื่อ​อุณหภูมิ​สูง​ขึ้น​ถึง 20 หรือ 27 องศา​เซลเซียส ชาว​ลิมา​ก็​จะ​ถอด​เสื้อ​ผ้า​หนา ๆ ออก​และ​เพลิดเพลิน​กับ​ชาย​หาด​ที่​สวย​งาม​หลาย​แห่ง.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 27]

เปลี่ยน​ของ​เสีย​เป็น​เงิน

เป็น​เวลา​นับ​พัน​ปี ทะเล​ที่​เย็น​และ​อุดม​ด้วย​สาร​อาหาร​ใกล้​ชายฝั่ง​ตะวัน​ตก​ของ​เปรู​มี​อาหาร​มาก​มาย​ให้​กับ​ฝูง​นก​ทะเล​นับ​ล้าน​ตัว ซึ่ง​อาหาร​เหล่า​นั้น​ส่วน​ใหญ่​เป็น​ปลา​ซาร์ดีน​และ​ปลา​แอนโชวี. เนื่อง​จาก​แทบ​ไม่​มี​ฝน​ตก​เลย​ใน​บริเวณ​นั้น ตลอด​เวลา​หลาย​ปี มูล​นก​ได้​สะสม​อยู่​บน​เกาะ​แถบ​ชายฝั่ง​เป็น​กอง​ขนาด​มหึมา บาง​แห่ง​สูง​ถึง 30 เมตร! ก่อน​ชาว​สเปน​จะ​มา​ถึง มี​การ​พบ​ว่า มูล​นก​เหล่า​นี้​ซึ่ง​เรียก​กัน​ว่า​กัวโน ตาม​ชื่อ​ที่​ชาว​อินเดียน​แดง​เผ่า​เกชัว​เรียก​กัน​นั้น เป็น​ปุ๋ย​ชั้น​เยี่ยม. ใน​ช่วง​ครึ่ง​หลัง​ของ​ศตวรรษ​ที่ 19 กัวโน​กลาย​เป็น​สินค้า​ส่ง​ออก​ของ​เปรู​ที่​ประสบ​ความ​สำเร็จ​อย่าง​สูง จน​กระทั่ง​มี​ปุ๋ย​เคมี​ใน​ตลาด​โลก​เข้า​มา​แทน​ที่. จน​ถึง​ตอน​นั้น กัวโน​ที่​สะสม​มา​แต่​เก่า​ก่อน​ก็​หมด​ไป. ใน​เวลา​นี้ ส่วน​ใหญ่​แล้ว​ปริมาณ​กัวโน​จะ​ขึ้น​อยู่​กับ​กำลัง​การ​ผลิต​ของ​นก​ใน​ปัจจุบัน.

[แผนที่​หน้า 24]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

ลิมา

[ภาพ​หน้า 25]

ชายฝั่ง​แปซิฟิก​ทาง​ใต้​ของ​กรุง​ลิมา

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

© Yann Arthus-Bertrand/CORBIS

[ภาพ​หน้า 25]

ทะเล​ทราย​เซชูรา​ซึ่ง​ทอด​ยาว​ตาม​ชายฝั่ง​เปรู

[ภาพ​หน้า 26]

แผง​จับ​หมอก เมือง​เมเฮีย เปรู

คู​น้ำ​ดั้งเดิม​ของ​ชาว​อินคา​ซึ่ง​ยัง​ใช้​งาน​ได้ อยู่​ที่​เมือง​โอลลานไททัมโบ เปรู

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

© Jeremy Horner/CORBIS; inset: Courtesy of the charity FogQuest; www.fogquest.org

[ภาพ​หน้า 26]

ฝน​ตก​หนัก​ซึ่ง​เกิด​จาก​ปรากฏการณ์​สภาพ​อากาศ​เอลนินโญ ทำ​ให้​เกิด​น้ำ​ท่วม​อย่าง​หนัก​ใน​เมือง​อิ​กา เปรู วัน​ที่ 30 มกราคม 1998

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

AP Photo/Martin Mejia