ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

มาดริด—เมืองหลวงที่สร้างสำหรับกษัตริย์

มาดริด—เมืองหลวงที่สร้างสำหรับกษัตริย์

มาดริด—เมือง​หลวง​ที่​สร้าง​สำหรับ​กษัตริย์

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​สเปน

เมือง​หลวง​บาง​แห่ง​ของ​โลก​ตั้ง​อยู่​ใกล้​อ่าว​ที่​เกิด​ขึ้น​ตาม​ธรรมชาติ​และ​ใช้​เป็น​เมือง​ท่า​ที่​คับคั่ง​จอแจ​มา​นาน​แล้ว. เมือง​หลวง​บาง​แห่ง​ก็​ตั้ง​อยู่ ณ บริเวณ​ท่า​ข้าม​ที่​ใช้​กัน​บ่อย​และ​กลาย​เป็น​เมือง​ที่​มี​ชื่อเสียง​อย่าง​แทบ​จะ​เลี่ยง​ไม่​พ้น. เมือง​หลวง​ของ​ยุโรป​หลาย​เมือง​เป็น​เมือง​สำคัญ​ตั้ง​แต่​ยุค​โรมัน. แต่​กรุง​มาดริด เมือง​หลวง​ของ​สเปน หา​ได้​เป็น​เช่น​นั้น. เมือง​นี้​มี​พลเมือง​ไม่​ถึง 10,000 คน​ใน​ปี 1561 ตอน​ที่​เมือง​โดด​เด่น​ขึ้น​มา​อย่าง​ฉับพลัน.

เหตุ​ผล​ก็​ง่าย ๆ. ฟิลิป​ที่ 2 กษัตริย์​แห่ง​สเปน​และ​จักรวรรดิ​อัน​ไพศาล​ที่​อยู่​ไกล​โพ้น ทรง​รู้สึก​เบื่อ​หน่าย​กับ​การ​ย้าย​พระ​ตำหนัก​จาก​เมือง​หนึ่ง​ใน​แคว้น​คาสทีล​ไป​ยัง​อีก​เมือง​หนึ่ง. เนื่อง​จาก​คลั่งไคล้​การ​ล่า​สัตว์​มาก พระองค์​ทรง​ประสงค์​จะ​มี​พระ​ตำหนัก​ถาวร​ตั้ง​อยู่​ใน​ระยะ​ที่​สะดวก​แก่​การ​ไป​มา​ยัง​เขต​ล่า​สัตว์​ที่​ทรง​โปรด. กรุง​มาดริด​สนอง​ความ​ต้องการ​ดัง​กล่าว​ได้​อย่าง​เหมาะเจาะ และ​เมือง​นี้​ยัง​มี​น้ำ​ดื่ม​ที่​สะอาด, มี​พื้น​ที่​ให้​ขยาย, อีก​ทั้ง​มี​ที่​นา​อัน​อุดม​สมบูรณ์​อยู่​ใกล้ ๆ.

หลัง​จาก​ตัดสิน​พระทัย​แล้ว กษัตริย์​ฟิลิป​ทรง​ริเริ่ม​โครงการ​ก่อ​สร้าง​เพื่อ​ทำ​ให้​มาดริด​เป็น​เมือง​หลวง​ที่​เหมาะ. ภาย​หลัง กษัตริย์​สเปน​หลาย​พระองค์​ยัง​ได้​ตบแต่ง​เมือง​นี้​เพิ่ม​อีก ทำ​ให้​กรุง​มาดริด​มี​ความ​เกี่ยว​พัน​กับ​ราชวงศ์​ของ​กษัตริย์​อย่าง​ที่​ไม่​มี​ใด​เหมือน. พอ​ถึง​ศตวรรษ​ที่ 17 มาดริด​จึง​กลาย​เป็น​เมือง​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​สเปน. ปัจจุบัน เมือง​นี้​เป็น​นคร​หลวง​สมัย​ใหม่​ที่​เจริญ​รุ่งเรือง​ซึ่ง​มี​ประชากร​มาก​กว่า​สาม​ล้าน​คน.

เนื่อง​จาก​กรุง​มาดริด​มี​ความ​เกี่ยว​พัน​อย่าง​ใกล้​ชิด​กับ​ราชวงศ์​ของ​สเปน อาคาร​ที่​มี​ชื่อเสียง​ทาง​ประวัติศาสตร์​หลาย​หลัง​จึง​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ราชวงศ์​สำคัญ​สอง​ราชวงศ์. เขต​เก่า​แก่​ที่​สุด​ของ​เมือง​นี้​เรียก​ว่า มาดริด​แห่ง​ออสเตรีย มี​มา​ตั้ง​แต่​สมัย​ราชวงศ์​ออสเตรีย​หรือ​ฮับสบูร์ก​แห่ง​ศตวรรษ​ที่ 16 และ 17. ราชวงศ์​ต่อ​มา​เป็น​ที่​รู้​จัก​ว่า​มาดริด​แห่ง​บูร์บง เป็น​ราชวงศ์​ปัจจุบัน​ที่​มี​มา​ตั้ง​แต่​ปี 1700.

ตลอด​หลาย​ศตวรรษ กษัตริย์​สเปน​สนับสนุน​หรือ​ประทาน​เงิน​สำหรับ​การ​ก่อ​สร้าง​อาคาร​ที่​สง่า​งาม​หลาย​หลัง​ใน​เมือง​หลวง. ภาพ​วาด​อัน​ล้ำ​ค่า​ที่​มี​การ​เก็บ​รวบ​รวม​ไว้​ใน​อาคาร​เหล่า​นั้น ปัจจุบัน​กลาย​เป็น​จุด​ศูนย์​รวม​ของ​หอ​ศิลป์​แห่ง​ชาติ​ของ​กรุง​มาดริด. และ​ที่​ดิน​กว้าง​ใหญ่​ใน​กรุง​มาดริด​ซึ่ง​เป็น​ของ​กษัตริย์​ใน​ที่​สุด​ได้​กลาย​เป็น​สวน​สาธารณะ​และ​สถาน​พักผ่อน​หย่อนใจ​ที่​สำคัญ​ของ​เมือง.

เมือง​สี​เขียว

เนื่อง​จาก​กษัตริย์​ทรง​สน​พระทัย​เรื่อง​การ​ล่า​สัตว์​และ​เรื่อง​สวน จึง​มี​การ​สงวน​พื้น​ที่​สี​เขียว​ไว้​มาก​พอ​อยู่​แล้ว​ตอน​ที่​เริ่ม​มี​การ​ขยาย​กรุง​มาดริด​อย่าง​ที่​เป็น​อยู่​ใน​ปัจจุบัน. ทั้ง ๆ ที่​เขต​เมือง​ขยาย​ตัว​อย่าง​รวด​เร็ว​ใน​ช่วง​ไม่​กี่​สิบ​ปี​มา​นี้ แต่​พื้น​ที่​สวน​สาธารณะ​อัน​กว้าง​ใหญ่​ก็​ยัง​แผ่​ขยาย​ลง​ไป​ทาง​ใต้​โดย​เฉพาะ​จาก​เทือก​เขา​ไป​จน​ถึง​ประตู​สู่​ใจ​กลาง​เมือง.

สวน​สาธารณะ​แห่ง​หนึ่ง​ใน​กรุง​มาดริด ซึ่ง​เดิม​เป็น​เขต​ล่า​สัตว์​ของ​กษัตริย์​นั้น​มี​ชื่อ​ว่า กาซา เด กัมโป ตั้ง​อยู่​ใกล้​พระ​ราชวัง และ​ตอน​นี้​สวน​ดัง​กล่าว​กลาย​เป็น​สวน​สัตว์​ที่​ทัน​สมัย. ทาง​เหนือ​ของ​กรุง​มาดริด​มี​พื้น​ที่​กว้าง​ใหญ่​ไพศาล​เป็น​ป่า​ไม้​โอ๊ก​พื้นเมือง​ซึ่ง​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ว่า​เนิน​แห่ง​เอล ปาร์โด ซึ่ง​แผ่​ไป​ถึง​ย่าน​ใจ​กลาง​เมือง​ใน​รัศมี 10 กิโลเมตร.

กษัตริย์​ฟิลิป​ที่ 2 ได้​กำหนด​ขอบ​เขต​ของ​สวน​สำหรับ​การ​ล่า​สัตว์​แห่ง​นี้​ขึ้น​ไม่​นาน​หลัง​จาก​ตั้ง​ให้​กรุง​มาดริด​เป็น​เมือง​หลวง. ที่​ประทับ​ระหว่าง​การ​ล่า​สัตว์​ของ​กษัตริย์ ซึ่ง​พระ​ราชบิดา​ของ​พระองค์​ได้​สร้าง​ขึ้น​ใน​ตอน​แรก ยัง​คง​ทำ​ให้​สวน​นี้​งาม​เด่น​อยู่. ปัจจุบัน ป่า​ไม้​บริเวณ​นี้​กลาย​เป็น​สวน​ของ​ท้องถิ่น​ที่​มี​การ​คุ้มครอง​สัตว์​สอง​ชนิด​ใน​ยุโรป​ที่​เสี่ยง​ต่อ​การ​สูญ​พันธุ์​มาก​ที่​สุด ซึ่ง​ก็​คือ​นก​อินทรี​จักรพรรดิ​ของ​สเปน​และ​แร้ง​ดำ​ของ​ยุโรป.

สวน​สาธารณะ​เรตีโร​เคย​เป็น​สวน​หลวง​ที่​มี​พื้น​ที่​กว้าง​ใหญ่​อยู่​ใจ​กลาง​กรุง​มาดริด และ​เป็น​ที่​ซึ่ง​บรรดา​เชื้อ​พระ​วงศ์​ใช้​จัด​กีฬา​สู้​วัว​กระทิง​และ​กระทั่ง​ใช้​เป็น​ยุทธการ​ทาง​ทะเล. สาธารณชน​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​เข้า​ไป​ใน​สวน​สาธารณะ​แห่ง​นี้​ได้​ใน​ศตวรรษ​ที่ 18 โดย​มี​เงื่อนไข​ว่า ต้อง​แต่ง​ตัว​อย่าง​เหมาะ​สม. แน่นอน ปัจจุบัน​กฎเกณฑ์​เรื่อง​การ​แต่ง​กาย​เข้มงวด​น้อย​ลง และ​มาดรีเลโญส (ชาว​เมือง​มาดริด) จึง​แห่​กัน​ไป​ที่​สวน​อัน​เป็น​ที่​นิยม​นี้​ทุก​สุด​สัปดาห์. ปราสาท​แก้ว​เจียระไน​ที่​สร้าง​จาก​เหล็ก​ดัด​และ​กระจก อีก​ทั้ง​ระเบียง​รูป​ครึ่ง​วง​กลม​ซึ่ง​ทำ​ให้​มอง​เห็น​เรือ​ที่​แล่น​อยู่​ใน​ทะเลสาบ​นั้น เป็น​เพียง​จุด​ที่​น่า​ประทับใจ​สอง​จุด​ใน​สวน​นี้ ซึ่ง​ยัง​มี​อีก​หลาย​จุด.

ชาลส์​ที่ 3 กษัตริย์​แห่ง​ศตวรรษ​ที่ 18 ซึ่ง​มี​ความ​สน​พระทัย​อย่าง​แรง​กล้า​ใน​เรื่อง​ศิลปะ​และ​วิทยาศาสตร์ ได้​ตั้ง​สวน​พฤกษศาสตร์​หลวง​ไว้​ข้าง​สวน​สาธารณะ​เรตีโร. ตลอด​สอง​ร้อย​ห้า​สิบ​ปี​มา​นี้ สวน​ดัง​กล่าว​มี​ความ​เชี่ยวชาญ​เป็น​พิเศษ​ใน​เรื่อง​พันธุ์​ไม้​ของ​อเมริกา​กลาง​กับ​อเมริกา​ใต้.

ถนน​แห่ง​ศิลปะ

เนื่อง​จาก​ความ​เอื้อเฟื้อ​ของ​ราชวงศ์​สเปน กรุง​มาดริด​ยัง​เป็น​ที่​ตั้ง​หอ​ศิลป์​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​แห่ง​หนึ่ง​ใน​โลก​ด้วย. พิพิธภัณฑสถาน​ปราโด​ถูก​สร้าง​ขึ้น​ตาม​พระ​บัญชา​ของ​กษัตริย์​ชาลส์​ที่ 3 ซึ่ง​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ตาม​ประวัติศาสตร์​ว่า​เป็น​นายก​เทศมนตรี​ที่​โดด​เด่น​ของ​กรุง​มาดริด. งาน​ศิลป์​ส่วน​ใหญ่​เหล่า​นี้​เป็น​ของ​กษัตริย์​สเปน ซึ่ง​ได้​เริ่ม​สะสม​ผล​งาน​ศิลปะ​มา​กว่า​สี่​ร้อย​ปี​แล้ว.

ใน​ศตวรรษ​ที่ 17 เบลัซเกซ จิตรกร​ประจำ​ราชสำนัก​ไม่​เพียง​แต่​วาด​ภาพ​งาน​ชิ้น​เอก​ด้วย​ตัว​เอง​เท่า​นั้น แต่​ยัง​ได้​เดิน​ทาง​ไป​ทั่ว​ยุโรป​เพื่อ​ซื้อ​ภาพ​วาด​ที่​ดี​เลิศ​สำหรับ​กษัตริย์​ฟิลิป​ที่ 4 ผู้​ทรง​อุปถัมภ์​เขา. ใน​ศตวรรษ​ต่อ​มา ฟรันซิสโก เด โกยา ได้​เป็น​จิตรกร​ประจำ​ราชสำนัก​อย่าง​เป็น​ทาง​การ. ไม่​แปลก​ที่​พิพิธภัณฑสถาน​ปราโด​จะ​มี​ผล​งาน​ชิ้น​เยี่ยม​มาก​มาย​ที่​วาด​โดย​จิตรกร​ผู้​มี​ชื่อเสียง​สอง​คน​นี้.

หอ​ศิลป์​ซึ่ง​ถือ​กัน​ว่า​มี​ค่า​สูง​อีก​สอง​แห่ง คือ​พิพิธภัณฑสถาน​ทิว​ซัน-บอร์นามิซา และ​พิพิธภัณฑสถาน​แห่ง​ชาติ​เซนโตร เด อาร์เต เรย์นา โซฟีอา ตั้ง​อยู่​บน​ถนน​ที่​มี​ต้น​ไม้​เรียง​ราย​อยู่​เป็น​แถว​เหมือน​กับ​พิพิธภัณฑสถาน​ปราโด. ถนน​ที่​สวย​งาม​นี้​ซึ่ง​มี​ชื่อ​ว่า​ถนน​แห่ง​ศิลปะ ยัง​มี​การ​ประดับ​ด้วย​รูป​ปั้น​มาก​มาย​ที่​มี​ชื่อเสียง​ของ​กรุง​มาดริด.

เช่น​เดียว​กับ​หลาย​เมือง กรุง​มาดริด​มี​ทั้ง​ความ​รุ่งเรือง​และ​ความ​เสื่อม. เมือง​หลวง​นี้​ถูก​ปิด​ล้อม​เกือบ​ตลอด​เวลา​ที่​เกิด​สงคราม​กลาง​เมือง​ใน​สเปน (ปี 1936-1939) และ​ยัง​คง​เห็น​รอย​กระสุน​บาง​รอย​ซึ่ง​เกิด​จาก​การ​สู้​รบ​นั้น​ได้​บน​ซุ้ม​ประตู​อัน​เป็น​อนุสรณ์​ที่​รู้​จัก​กัน​ว่า ปเวร์ตา เด อัลกาลา. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ตั้ง​แต่​ตอน​เริ่ม​ต้น ผู้​ก่อ​ตั้ง​เมือง​ต้องการ​ให้​กรุง​มาดริด​เป็น​เมือง​ที่​มี​วัฒนธรรม​ซึ่ง​ผู้​คน​สามารถ​อยู่​ร่วม​กัน​ได้.

นอก​เหนือ​จาก​สิ่ง​อื่น ๆ แล้ว กฎบัตร​ของ​กรุง​มาดริด​ซึ่ง​มี​การ​ลง​นาม​เมื่อ​ปี 1202 ได้​กำหนด​ไว้​ว่า พลเมือง​จะ​ต่อ​สู้​กัน​แบบ​ตัว​ต่อ​ตัว, ถือ​ปืน, หรือ​พูด​หยาบ​หยาม​หรือ​สบประมาท​กัน​ไม่​ได้. นอก​จาก​นี้ มี​การ​คาด​หมาย​ว่า​พวก​เขา​ต้อง​รักษา​เมือง​ให้​สะอาด, หลีก​เลี่ยง​การ​ฉ้อ​โกง​ชาว​เมือง​ด้วย​กัน, และ​ดู​แล​ค่า​ใช้​จ่าย​ใน​งาน​ฉลอง​สมรส​ให้​สม​เหตุ​ผล. สอดคล้อง​กับ​ความ​ประสงค์​ดัง​กล่าว กรุง​มาดริด​ใน​ปัจจุบัน​จึง​เป็น​เมือง​ที่​สะอาด แม้​ว่า​งาน​ฉลอง​สมรส​เป็น​อะไร​ที่​แพง​มาก! ผู้​มา​เยือน​ที่​ต้องการ​รับประทาน​อาหาร​ราคา​ถูก​อาจ​จะ​อยาก​ลอง​ชิม​ตาปัส​แบบ​พื้น ๆ ดู​บ้าง ซึ่ง​เป็น​อาหาร​คำ​เล็ก ๆ รสชาติ​ดี​ที่​เสิร์ฟ​พร้อม​กับ​เครื่อง​ดื่ม​เย็น​ใน​ร้าน​อาหาร​หลาย​แห่ง.

เมื่อ​ไม่​กี่​ปี​มา​นี้​กรุง​มาดริด​ได้​ขยาย​ออก​ไป​มาก​ที​เดียว. ปัจจุบัน​เมือง​นี้​มี​ระบบ​ขน​ส่ง​ที่​มี​ประสิทธิภาพ​และ​มี​สาธารณูปโภค​ที่​จำเป็น​ทุก​อย่าง​เพื่อ​รอง​รับ​นัก​ท่อง​เที่ยว​นับ​ล้าน​คน​ที่​มา​เยือน​ใน​แต่​ละ​ปี. พยาน​พระ​ยะโฮวา​หลาย​พัน​คน​จาก​สเปน​และ​ประเทศ​อื่น ๆ จะ​มา​เยือน​เมือง​นี้​ใน​เดือน​กรกฎาคม​และ​สิงหาคม. พวก​พยาน​ฯ วาง​แผน​จะ​จัด​การ​ประชุม​นานา​ชาติ​ขึ้น​ใน​สนาม​ฟุตบอล​ขนาด​ใหญ่​แห่ง​หนึ่ง​ของ​กรุง​มาดริด. ด้วย​เหตุ​นี้ ผู้​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​หลาย​คน​จะ​มี​โอกาส​ได้​เห็น​เมือง​หลวง​ที่​สร้าง​ขึ้น​สำหรับ​กษัตริย์​ด้วย​ตา​ของ​เขา​เอง.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 24]

พระ​ราชวัง​ที่​เหมาะ​สำหรับ​กษัตริย์

พระ​บรม​มหา​ราชวัง. บาง​ที​อาจ​เป็น​อาคาร​ที่​น่า​ประทับใจ​ที่​สุด​ของ​กรุง​มาดริด พระ​ราชวัง​นี้​ตั้ง​อยู่​บน​ที่​ที่​เคย​เป็น​ป้อม​ปราการ​ของ​พวก​มัวร์​ใน​ยุค​โบราณ กรุง​มาดริด​ถูก​สร้าง​ขึ้น​เป็น​ครั้ง​แรก​รอบ ๆ บริเวณ​นี้. วัง​นี้​ใช้​จัด​งาน​สำคัญ​ต่าง ๆ ของ​รัฐ แม้​ว่า​ตั้ง​แต่​ปี 1931 เป็น​ต้น​มา ไม่​ได้​ใช้​เป็น​ที่​ประทับ​ของ​กษัตริย์. สวน​ที่​จัด​อย่าง​เป็น​กิจจะลักษณะ​ทอด​ยาว​เป็น​แนว​จาก​วัง​ไป​ถึง​แม่น้ำ​ที่​อยู่​เบื้อง​ล่าง.

วัง​อารังเควซ. อารังเควซ​อยู่​ห่าง​จาก​เมือง​หลวง​ประมาณ 50 กิโลเมตร​ลง​ไป​ทาง​ใต้ ริม​แม่น้ำ​เตกัส. สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​อุดม​สมบูรณ์​และ​ภูมิ​อากาศ​ที่​อบอุ่น​กว่า​ทำ​ให้​วัง​นี้​เป็น​ที่​โปรดปราน​ของ​กษัตริย์​ฟิลิป​ที่ 2 ผู้​ทรง​ริเริ่ม​การ​ก่อ​สร้าง​พระ​ราชวัง. ราชวัง​และ​สวน​ต่าง ๆ ที่​สวย​งาม​สร้าง​เสร็จ​ใน​ศตวรรษ​ที่ 18 โดย​กษัตริย์​ชาลส์​ที่ 3.

เอล เอสโกเรียล. กษัตริย์​ฟิลิป​ที่ 2 เริ่ม​การ​ก่อ​สร้าง​อาราม​ที่​ใหญ่​โต, ห้อง​สมุด, สุสาน, และ​พระ​ราชวัง​หลัง​นี้​ไม่​นาน​หลัง​จาก​ที่​พระองค์​ทรง​ตั้ง​ให้​กรุง​มาดริด​เป็น​เมือง​หลวง. การ​ก่อ​สร้าง​นี้​ใช้​เวลา​กว่า 20 ปี ที่​นี่​กลาย​เป็น​ศูนย์กลาง​แห่ง​จักรวรรดิ​ของ​ฟิลิป เป็น​สถาน​ที่​ที่​ตกแต่ง​อย่าง​เรียบ​ง่าย​ซึ่ง​พระองค์​จะ​ทรง​งาน​ได้​โดย​ไม่​มี​ใคร​รบกวน. วัง​นี้​เป็น​หอ​เก็บ​เอกสาร​สำคัญ​ที่​สุด​แห่ง​หนึ่ง​ของ​สเปน รวม​ทั้ง​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​ภาษา​สเปน​บาง​ฉบับ​ใน​ยุค​กลาง​ด้วย.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 25]

พระ​ราชวัง​เอล ปาร์โด. พระ​ตำหนัก​ของ​กษัตริย์​ที่​ใช้​ประทับ​ระหว่าง​การ​ล่า​สัตว์​หลัง​นี้​ตั้ง​อยู่​ใน​สวน​ประจำ​ท้องถิ่น​ซึ่ง​อยู่​ติด​กับ​กรุง​มาดริด. พระ​ราชบิดา​ของ​กษัตริย์​ฟิลิป​ที่ 2 ได้​ทรง​สร้าง​อาคาร​หลัง​เดิม และ​ลาน​พระ​ราชวัง​ชั้น​ใน​มี​อายุ​นับ​จาก​ช่วง​เวลา​นั้น.

ใน​ลา กรังฮา เด ซาน อิลเดฟอนโซ ซึ่ง​ขึ้น​ไป​ทาง​เหนือ 80 กิโลเมตร มี​พระ​ราชวัง​ที่​โอ่อ่า​หรูหรา​อย่าง​ยิ่ง. วัง​นี้​สร้าง​โดย​กษัตริย์​ฟิลิป​ที่ 5 โดย​เลียน​แบบ​พระ​ราชวัง​แวร์ซาย​ที่​พระองค์​เคย​ประทับ​ใน​วัย​เยาว์. สวน​และ​น้ำพุ​ที่​สร้าง​ขึ้น​อย่าง​ประณีต​ใน​วัง​นี้​ผิดแผก​แตกต่าง​จาก​ป่า​สน​อัน​กว้าง​ใหญ่​ไพศาล​ซึ่ง​ปก​คลุม​ภูเขา​ที่​อยู่​ล้อม​รอบ.

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 24]

Foto: Cortesía del Patrimonio Nacional, Madrid, España

[กรอบ/ภาพ​หน้า 26]

อนุสาวรีย์​ที่​มี​ชื่อเสียง​ของ​กรุง​มาดริด

ปลาซา มาโยร์ (1). เป็น​เวลา​กว่า​สาม​ศตวรรษ​มา​แล้ว​ที่​มี​การ​ใช้​จัตุรัส​แห่ง​นี้​เป็น​ตลาด​และ​สถาน​ที่​สำคัญ​ใน​การ​จัด​งาน​สำหรับ​สาธารณชน เช่น กีฬา​สู้​วัว​กระทิง, พระ​ราช​พิธี​ราชาภิเษก, และ​การ​ประหาร​ชีวิต​ผู้​ที่​ถูก​เรียก​ว่า​พวก​นอก​รีต. ภาพ​วาด​หนึ่ง​ที่​อยู่​ใน​พิพิธภัณฑสถาน​ปราโด (2) เป็น​ภาพ​ที่​เด่น​ชัด​ของ​จัตุรัส​ปลาซา มาโยร์ ระหว่าง​ที่​มี​การ​พิพากษา​โทษ​พวก​นอก​รีต​ต่อ​สาธารณชน ซึ่ง​จัด​ขึ้น​ใน​กรุง​มาดริด​เมื่อ​ปี 1680.

ศาลา​ประชาคม​ตั้ง​อยู่​ใน​ปลาซา เด ลา วียา จัตุรัส​เก่า​แก่​ที่​น่า​ชม ซึ่ง​เมือง​นั้น​ได้​จัด​การ​ประชุม​อย่าง​เป็น​ทาง​การ​ครั้ง​แรก​ที่​นั่น. จัตุรัส​นี้​มี​อาคาร​เก่า​แก่​อยู่​รอบ​ด้าน​และ​ยัง​คง​ไว้​ซึ่ง​บรรยากาศ​ของ​กรุง​มาดริด​แห่ง​ศตวรรษ​ที่ 16. ไม่​ไกล​จาก​นั้น ผู้​มา​เยือน​จะ​มอง​เห็น​ปเวร์ตา เดล ซอล จัตุรัส​ที่​คับคั่ง​จอแจ​มาก​ที่​สุด​ใน​เมือง​และ​เป็น​จุด​เริ่ม​ต้น​ของ​ถนน​ทุก​สาย​ที่​แยก​จาก​กรุง​มาดริด​ไป​ถึง​จังหวัด​ต่าง ๆ. จุด​ที่​กล่าว​มา​นั้น​เป็น​ส่วน​ที่​เก่า​แก่​ที่​สุด​ของ​เมือง.

ขณะ​ที่​กรุง​มาดริด​ขยาย​ออก​ไป กษัตริย์​แห่ง​ราชวงศ์​บูร์บง โดย​เฉพาะ​กษัตริย์​ชาลส์​ที่ 3 ได้​สร้าง​หรือ​สนับสนุน​การ​สร้าง​อนุสาวรีย์​อื่น ๆ ซึ่ง​มัก​จะ​เลียน​แบบ​สถาปัตยกรรม​ฝรั่งเศส​ซึ่ง​เป็น​ที่​มา​ของ​ราชวงศ์​บูร์บง ตัว​อย่าง​เช่น พระ​ราชวัง, หอ​สมุด​แห่ง​ชาติ (3), พิพิธภัณฑสถาน​ของ​เทศบาล (4), น้ำพุ​แห่ง​เทพ​ธิดา​ซีเบเล (5), น้ำพุ​แห่ง​เทพ​เนปจูน, และ​ปเวร์ตา เด อัลกาลา (6).

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 26]

Picture 2: MUSEO NACIONAL DEL PRADO; pictures 5 and 6: Godo-Foto