ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การเพ่งดูโลก

การเพ่งดูโลก

การ​เพ่ง​ดู​โลก

ตัด​ฉลาม

ตลอด​ทั่ว​โลก ชาว​ประมง​เพื่อ​การ​พาณิชย์​ไล่​ล่า​ฉลาม​ไป​ทั่ว​มหาสมุทร ตัด​เอา​ครีบ​ของ​มัน​แล้ว​โยน​ซาก​ลง​ทะเล. วารสาร​ไซเยนซ์ นิวส์ รายงาน​ว่า “มี​การ​ตัด​ครีบ​ฉลาม​อย่าง​น่า​สยดสยอง​นี้​เนื่อง​จาก​มี​ความ​ต้องการ​แค่​ซุป [หู​ฉลาม] ราคา​แพง.” ใน​เดือน​สิงหาคม 2002 ยาม​ชายฝั่ง​ของ​สหรัฐ​ยึด​เรือ​ลำ​หนึ่ง​ของ​ฮาวาย​นอก​ชายฝั่ง​เม็กซิโก​หลัง​จาก​พบ​ว่า​เรือ​ลำ​นั้น​บรรทุก​ครีบ​ฉลาม​ถึง 32 ตัน. ไม่​มี​ชิ้น​ส่วน​อื่น ๆ ของ​ฉลาม​อยู่​ใน​เรือ. วารสาร​นั้น​กล่าว​ว่า “สินค้า​ที่​แปลก​ประหลาด​นี้​แสดง​ว่า​ต้อง​มี​การ​ฆ่า​ฉลาม​อย่าง​น้อย 30,000 ตัว​และ​มี​การ​ทิ้ง​ซาก​ฉลาม​ประมาณ 580,000 กิโลกรัม. เรือ​ประมง​ทั่ว​โลก​ใน​ปัจจุบัน​ฆ่า​ฉลาม​ปี​ละ​ประมาณ 100 ล้าน​ตัว.” เนื่อง​จาก​ครีบ​ฉลาม​มี​ราคา​สูง​ถึง​ปอนด์​ละ 200 ดอลลาร์​สหรัฐ​ใน​ตลาด​เสรี จึง​ไม่​อาจ​สนอง​ความ​ต้องการ​ที่​เพิ่ม​ขึ้น​นี้​ได้​เลย.

การ​บริหาร​เวลา

หนังสือ​พิมพ์​ดิ ออสเตรเลียน รายงาน​ดัง​นี้: การ​ศึกษา​วิจัย​เมื่อ​เร็ว ๆ นี้​สรุป​ว่า “คน​ที่​บ่น​ว่า​เขา​มี​เวลา​ไม่​พอ​นั้น​กำลัง​หลอก​ตัว​เอง.” หนังสือ​พิมพ์​ฉบับ​นั้น​อ้าง​ถึง​การ​ศึกษา​ของ​มหาวิทยาลัย​นิวเซาท์เวลส์​และ​มหาวิทยาลัย​แห่ง​ชาติ​ออสเตรเลีย และ​กล่าว​ว่า “พวก​เรา​หลาย​คน​ใช้​เวลา​ใน​การ​ทำ​งาน​อาชีพ​และ​ทำ​งาน​บ้าน​มาก​กว่า​ที่​จำเป็น​อย่าง​แท้​จริง.” นัก​วิจัย​ได้​คำนวณ​เวลา​ที่​คู่​สมรส​ซึ่ง​ทำ​งาน​อาชีพ​และ​ไม่​มี​บุตร​จำเป็น​ต้อง​ใช้​ใน​การ​ทำ​งาน​เพื่อ​จัด​หา​สิ่ง​จำเป็น​ใน​ชีวิต. จาก​นั้น​พวก​เขา​เทียบ​เวลา​ที่​คำนวณ​ได้​กับ​เวลา​ที่​คู่​สมรส​ใช้​ไป​จริง ๆ ใน​กิจกรรม​เหล่า​นั้น. หนังสือ​พิมพ์​ฉบับ​นั้น​กล่าว​ว่า การ​ศึกษา​พบ​ว่า​คู่​สมรส​ซึ่ง​ทำ​งาน​อาชีพ​และ​ไม่​มี​บุตร “ใช้​เวลา​ทำ​งาน​อาชีพ​รวม​กัน​สัปดาห์​ละ 79 ชั่วโมง, ทำ​งาน​บ้าน 37 ชั่วโมง​และ​เอา​ใจ​ใส่​เรื่อง​ส่วน​ตัว 138 ชั่วโมง แต่​ที่​จริง​พวก​เขา​จำเป็น​ต้อง​ทำ​งาน​อาชีพ​แค่​สัปดาห์​ละ 20 ชั่วโมง [คน​ละ 10 ชั่วโมง], ทำ​งาน​บ้าน 18 ชั่วโมง​และ​เอา​ใจ​ใส่​เรื่อง​ส่วน​ตัว 116 ชั่วโมง [รวม​ทั้ง​การ​กิน​และ​การ​นอน​หลับ].” ถ้า​คู่​สมรส​เต็ม​ใจ​จะ​ทำ​ชีวิต​ให้​เรียบ​ง่าย​ขึ้น พวก​เขา​อาจ​มี​เวลา​ว่าง​มาก​ขึ้น​ถึง 100 ชั่วโมง​ต่อ​สัปดาห์. ตาม​รายงาน​ของ​หนังสือ​พิมพ์​ดิ ออสเตรเลียน การ​ศึกษา​นี้​บ่ง​ชี้​ว่า คู่​สมรส​ซึ่ง​ทำ​งาน​อาชีพ​และ​ไม่​มี​บุตร “อ้าง​ว่า​มี​เวลา​น้อย​กว่า​คน​อื่น ๆ แต่​ที่​จริง​แล้ว​กลับ​เป็น​กลุ่ม​คน​ที่​มี​เวลา​มาก​กว่า​กลุ่ม​อื่น​ทั้ง​หมด โดย​คน​ที่​เป็น​พ่อ​แม่​เป็น​กลุ่ม​ที่​มี​เวลา​น้อย​กว่า​กลุ่ม​อื่น​มาก.”

ชาว​ยุโรป​แก่​ลง

หนังสือ​พิมพ์​เอล ปาอิส ของ​สเปน​รายงาน​ว่า “ประเทศ​ที่​เก่า​แก่​ของ​ยุโรป​กำลัง​มี​ลักษณะ​สม​ชื่อ​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ.” เกือบ​ทุก​ประเทศ​ของ​สหภาพ​ยุโรป ประชากร​อย่าง​น้อย 20 เปอร์เซ็นต์​มี​อายุ​มาก​กว่า 60 ปี. นัก​ประชากรศาสตร์​คาด​คะเน​ว่า​พอ​ถึง​ปี 2050 ใน​บาง​ประเทศ​อย่าง​เช่น ออสเตรีย, อิตาลี, และ​สเปน พลเมือง 4 ใน 10 คน​จะ​มี​อายุ​มาก​กว่า 60 ปี. การ​ประชุม​ว่า​ด้วย​ความ​แก่​ชรา​ระดับ​โลก​ครั้ง​ที่​สอง ซึ่ง​จัด​ขึ้น​ที่​กรุง​มาดริด ประเทศ​สเปน ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า การ​ที่​ประชากร​แก่​ชรา​ลง​นี้​ทำ​ให้​ต้อง​มี​การ​ปรับ​เปลี่ยน​ทาง​สังคม​และ​ทาง​เศรษฐกิจ. การ​จัด​หา​เงิน​ทุน​สำหรับ​เงิน​บำนาญ​และ​การ​ประกัน​สุขภาพ​ก็​จะ​กลาย​เป็น​เรื่อง​ที่​ยาก​ขึ้น. ตัว​อย่าง​เช่น นาย​จ้าง​อาจ​ต้อง​จ้าง​คน​งาน​ที่​มี​อายุ​มาก​ขึ้น, จัด​ตาราง​เวลา​ใน​การ​ทำ​งาน​ให้​ยืดหยุ่น​ได้​หรือ​แบ่ง​งาน​ให้​สอง​คน​ทำ​ใน​ตำแหน่ง​เดียว​กัน, และ​จัด​ให้​มี​การ​เกษียณ​อายุ​แบบ​ปรับ​เปลี่ยน​ได้. ยิ่ง​กว่า​นั้น โฮเซป มารีอา รีเอรา นัก​ธุรกิจ​ชาว​สเปน​กล่าว​ว่า “เนื่อง​จาก​จะ​มี​คน​หนุ่ม​สาว​น้อย​ลง บริษัท​ที่​ต้องการ​จะ​เจริญ​ก้าว​หน้า​จึง​ต้อง​ให้​บริการ​และ​ขาย​สินค้า​เพื่อ​คน​สูง​อายุ.”

ผู้​สื่อ​ข่าว​สงคราม​บอบช้ำ​ทาง​จิตใจ

หนังสือ​พิมพ์​เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ รายงาน​ว่า “[ผู้​สื่อ​ข่าว​สงคราม] จำนวน​มาก​ที​เดียว​ได้​รับ​การ​กระทบ​กระเทือน​ทาง​จิตใจ​อย่าง​รุนแรง​เนื่อง​จาก​สิ่ง​ที่​พวก​เขา​ได้​เห็น​และ​ได้​ประสบ.” หนังสือ​พิมพ์​นี้​กำลัง​กล่าว​ถึง “การ​ศึกษา​วิจัย​เกี่ยว​กับ​ผู้​สื่อ​ข่าว​ต่าง​ประเทศ [140 คน] จาก​สำนัก​ข่าว​ใหญ่ ๆ หก​แห่ง​ซึ่ง​รายงาน​เรื่อง​สงคราม​และ​การ​ต่อ​สู้​ด้วย​อาวุธ​เป็น​ประจำ.” บทความ​นี้​ชี้​แจง​ว่า “ผู้​สื่อ​ข่าว​สงคราม​มี​อัตรา​เป็น​โรค​ซึมเศร้า​ขั้น​รุนแรง​และ​มี​ภาวะ​ความ​เครียด​หลัง​เหตุ​สะเทือน​ขวัญ​อย่าง​รุนแรง​มาก​กว่า​เมื่อ​เทียบ​กับ​ผู้​สื่อ​ข่าว​ซึ่ง​ไม่​ได้​รายงาน​ข่าว​สงคราม [จำนวน 107 คน​ซึ่ง​นำ​มา​เทียบ​กัน].” อาการ​ต่าง ๆ “รวม​ไป​ถึง​ภาพ​หลอน, ฝัน​ร้าย​ซ้ำ ๆ, อารมณ์​ฉุนเฉียว, ขาด​สมาธิ​และ​ระแวด​ระวัง​มาก​เกิน​ไป.” นอก​จาก​นั้น “ผู้​สื่อ​ข่าว​ยัง​กล่าว​ว่า​ตน​มี​ปัญหา​ทาง​ด้าน​สังคม . . . รวม​ทั้ง​การ​ไม่​สามารถ​ปรับ​ตัว​เข้า​กับ​สังคม​เมือง, ไม่​อยาก​คบหา​กับ​เพื่อน ๆ, มี​ปัญหา​เกี่ยว​กับ​ความ​สัมพันธ์​และ​การ​ใช้​แอลกอฮอล์​เป็น​ยา​นอน​หลับ.” โดย​เฉลี่ย ชาย​และ​หญิง​ใน​งาน​วิจัย​นี้ “ใช้​เวลา 15 ปี​ใน​เขต​สงคราม เช่น บอสเนีย, รวันดา, เชชเนีย, โซมาเลีย, และ​อัฟกานิสถาน.”

โรค​เบาหวาน​ใน​อินเดีย​กำลัง​เพิ่ม​ขึ้น

องค์การ​อนามัย​โลก​กะ​ประมาณ​ว่า​มี​ผู้​เป็น​โรค​เบาหวาน​มาก​กว่า 170 ล้าน​คน​ทั่ว​โลก. หนังสือ​พิมพ์​เดคคัน เฮรัลด์ รายงาน​ว่า อินเดีย​เป็น​ประเทศ​ที่​มี​จำนวน​ผู้​ป่วย​สูง​ที่​สุด คือ 32 ล้าน​คน และ​คาด​กัน​ว่า​ตัว​เลข​นี้​จะ​เกิน 57 ล้าน​คน​เมื่อ​ถึง​ปี 2005. ณ การ​ประชุม​นานา​ชาติ​ว่า​ด้วย​โรค​เบาหวาน​ใน​เอเชีย ซึ่ง​จัด​ขึ้น​ที่​ประเทศ​ศรีลังกา นัก​วิชาการ​ชี้​ว่า​อาหาร​และ​การ​เปลี่ยน​วิธี​ดำเนิน​ชีวิต​เป็น​สาเหตุ​หลัก​ที่​ทำ​ให้​เกิด​การ​เพิ่ม​ขึ้น​อย่าง​รวด​เร็ว​เช่น​นี้ ประกอบ​กับ​ความ​เครียด, ปัจจัย​ทาง​พันธุกรรม, น้ำหนัก​ตัว​แรก​คลอด​น้อย, และ​การ​ให้​อาหาร​ทารก​แรก​เกิด​มาก​เกิน​ไป. อินเดีย​เป็น​ประเทศ​หนึ่ง​ที่​ค่า​รักษา​โรค​เบาหวาน​ถูก​ที่​สุด​ใน​โลก. กระนั้น อาการ​เจ็บ​ป่วย​ซึ่ง​เกิด​จาก​เบาหวาน​และ​อัตรา​การ​เสีย​ชีวิต​ก็​ยัง​สูง​อยู่ ส่วน​หนึ่ง​เนื่อง​จาก​การ​ขาด​ความ​รู้​อีก​ทั้ง​การ​วินิจฉัย​โรค​ที่​ล่า​ช้า. การ​ศึกษา​ที่​ทำ​ใน​เมือง​ใหญ่ ๆ ของ​อินเดีย​พบ​ว่า 12 เปอร์เซ็นต์​ของ​ประชากร​ผู้​ใหญ่​เป็น​โรค​เบาหวาน​และ 14 เปอร์เซ็นต์​เป็น​โรค​การ​ทน​กลูโคส​บกพร่อง ซึ่ง​มัก​จะ​เกิด​ขึ้น​ก่อน​เป็น​โรค​เบาหวาน.

เพศ​ศึกษา​จำเป็น​ยิ่ง​กว่า​แต่​ก่อน

วารสาร​เดร์ ชปีเกล รายงาน​ว่า ตาม​สถิติ​อย่าง​เป็น​ทาง​การ​ใน​เยอรมนี ระหว่าง​ปี 1996 ถึง 2001 การ​ทำ​แท้ง​มี​เพิ่ม​ขึ้น​ถึง​ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์​ท่ามกลาง​เด็ก​อายุ 15 ถึง 17 ปี และ​เพิ่ม​ขึ้น​ถึง 90 เปอร์เซ็นต์​ท่ามกลาง​เด็ก​ผู้​หญิง​ที่​อายุ​น้อย​กว่า​นั้น​ด้วย​ซ้ำ. นอร์เบิร์ท คลูเก แห่ง​มหาวิทยาลัย​โคเบลนซ์-ลัน​เดา กล่าว​ว่า ขณะ​ที่​เด็ก ๆ กำลัง​ย่าง​เข้า​สู่​วัย​เจริญ​พันธุ์​ด้วย​อายุ​ที่​น้อย​กว่า​แต่​ก่อน พวก​เขา ‘ไม่​ได้​รับ​การ​สอน​อย่าง​ถูก​ต้อง​ใน​เรื่อง​ทาง​เพศ และ​ที่​สำคัญ​คือ​ได้​รับ​การ​สอน​ช้า​เกิน​ไป.’ คลูเก​กล่าว​ว่า เด็ก ๆ ต้อง​ได้​รับ​ความ​รู้​เพียง​พอ​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​เพศ​ก่อน​ที่​พวก​เขา​จะ​มี​อายุ​ถึง​สิบ​ขวบ แต่​บิดา​มารดา​หลาย​คน​เลี่ยง​ความ​รับผิดชอบ​ใน​เรื่อง​นี้. หนังสือ​พิมพ์​เบอร์ลิเนอร์ มอร์เกนโพสท์ รายงาน​ว่า ผู้​อำนวย​การ​สภา​บิดา​มารดา​แห่ง​สหพันธรัฐ​ใน​กรุง​บอนน์​แนะ​นำ​ว่า เมื่อ​บิดา​มารดา​สอน​บุตร​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​เพศ พวก​เขา​ควร​เน้น​ใน​แง่​ที่​เกี่ยว​กับ​อารมณ์​มาก​กว่า อย่าง​เช่น “ความ​รัก​และ​ความ​สัมพันธ์” แทน​ที่​จะ​เน้น​เรื่อง​กระบวนการ​ทาง​ชีววิทยา.

เส้น​ประสาท​มี​สอง​ชุด​หรือ?

วารสาร​วิทยาศาสตร์​บิลด์ แดร์ วิสเซนชาฟท์ ภาษา​เยอรมัน รายงาน​ว่า มนุษย์​เกิด​มา​พร้อม​กับ​ระบบ​ประสาท​พิเศษ​ที่​รับ​รู้​ความ​รัก​และ​ความ​อ่อนโยน. นัก​วิทยาศาสตร์​ชาว​สวีเดน​ค้น​พบ​ว่า ผู้​หญิง​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​สูญ​เสีย​ประสาท​สัมผัส​หลัก​ไป​ยัง​คง​มี​ความ​รู้สึก​เพลิดเพลิน​เมื่อ​ถูก​ลูบ​ด้วย​แปรง​ทาสี​นุ่ม ๆ. พวก​เขา​พบ​ว่า ความ​รู้สึก​เพลิดเพลิน​นี้​ถูก​กระตุ้น​โดย​ระบบ​ประสาท​ชุด​ที่​สอง​ใน​ผิวหนัง ซึ่ง​ประกอบ​ด้วย​ใย​ประสาท​สัมผัส​ความ​เร็ว​ต่ำ​ที่​เรียก​ว่า ใย​ประสาท​สัมผัส​ซี. ระบบ​ประสาท​ชุด​นี้​ตอบ​สนอง​ต่อ​การ​สัมผัส​เบา ๆ เท่า​นั้น​และ​จะ​กระตุ้น​สมอง​ส่วน​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​อารมณ์​ความ​รู้สึก. เมื่อ​ให้​ความ​เห็น​ว่า​เหตุ​ใด​มนุษย์​จึง​อาจ​มี​ระบบ​ประสาท​สอง​ชุด หนังสือ​พิมพ์​อินเตอร์​แนชันแนล เฮรัลด์ ทริบูน กล่าว​ว่า “ใย​ประสาท​สัมผัส​ความ​เร็ว​ต่ำ​ทำ​งาน​ตั้ง​แต่​ช่วง​แรก ๆ ของ​ชีวิต บาง​ที​ตั้ง​แต่​อยู่​ใน​ครรภ์​เสีย​ด้วย​ซ้ำ ส่วน​ใย​ประสาท​สัมผัส​ความ​เร็ว​สูง​นั้น​จะ​ค่อย ๆ พัฒนา​ขึ้น​หลัง​จาก​คลอด​แล้ว. เด็ก​แรก​เกิด​อาจ​จะ​รับ​รู้​ความ​รัก​จาก​การ​สัมผัส​ของ​พ่อ​แม่​ได้​ตั้ง​แต่​ก่อน​ที่​พวก​เขา​จะ​รู้สึก​ถึง​การ​สัมผัส​นั้น​เสีย​อีก.”

อีเมล​กับ​ทักษะ​ทาง​สังคม

หนังสือ​พิมพ์​เดอะ โกลบ แอนด์ เมล์ แห่ง​แคนาดา​กล่าว​ว่า ตาม​ที่​นัก​วิจัย​สอง​คน​กล่าว พนักงาน​มี​แนว​โน้ม​จะ​ติด​ต่อ​กับ​เพื่อน​ร่วม​งาน​ที่​อยู่​ใน​ตึก​ชั้น​เดียว​กัน​โดย​ทาง​อีเมล​มาก​พอ ๆ กับ​ที่​พวก​เขา​จะ​ติด​ต่อ​กับ​เพื่อน​ร่วม​งาน​ที่​อยู่​ใน​เขต​เวลา​ต่าง​กัน. เดวิด คริสตัล ศาสตราจารย์​ด้าน​ภาษา​ศาสตร์​แห่ง​มหาวิทยาลัย​เวลส์ กล่าว​ถึง​ผล​กระทบ​ที่​อีเมล​มี​ต่อ​ทักษะ​ทาง​สังคม​ดัง​นี้: “การ​พูด​โต้​ตอบ​กัน​ทันที​เป็น​ลักษณะ​พื้น​ฐาน​ของ​การ​สนทนา” และ​อีเมล​ไม่​มี​ลักษณะ​นี้ เนื่อง​จาก​มี​ช่วง​เวลา​ผ่าน​ไป​ก่อน​จะ​มี​การ​ตอบ​ข้อ​ความ. ยิ่ง​กว่า​นั้น ผู้​เขียน​อีเมล​อาจ​พูด​อยู่​ฝ่าย​เดียว​โดย​ไม่​ถูก​ขัด​จังหวะ. หนังสือ​พิมพ์​โกลบ กล่าว​ว่า “ความ​สามารถ​ที่​จะ​ผลัด​กัน​พูด​นั้น​เป็น​ทักษะ​ทาง​สังคม​ที่​สำคัญ​มาก.”