ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ละอองเกสร—มหันตภัยหรือสิ่งมหัศจรรย์?

ละอองเกสร—มหันตภัยหรือสิ่งมหัศจรรย์?

ละออง​เกสร—มหันตภัย​หรือ​สิ่ง​มหัศจรรย์?

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​ออสเตรเลีย

ฮัด​เช่ย! เสียง​จาม​ที่​ดัง​ขึ้น​พร้อม​กับ​อาการ​ระคาย​เคือง​ตา​และ​จมูก แถม​มี​น้ำมูก​น้ำตา​ไหล​เป็น​สัญญาณ​บอก​ให้​คน​นับ​ล้าน​รู้​ว่า​ฤดู​ใบ​ไม้​ผลิ​มา​ถึง​แล้ว. ส่วน​ใหญ่​พวก​เขา​เกิด​อาการ​ภูมิ​แพ้​เนื่อง​จาก​มี​เรณู​หรือ​ละออง​เกสร​จำนวน​มาก​ฟุ้ง​กระจาย​อยู่​ใน​อากาศ. วารสาร​บีเอ็มเจ (เมื่อ​ก่อน​คือ​บริติช เมดิคัล เจอร์นัล) กะ​ประมาณ​ว่า 1 ใน 6 ของ​ผู้​ที่​อยู่​ใน​ประเทศ​อุตสาหกรรม​เป็น​โรค​แพ้​ละออง​เกสร​ตาม​ฤดู​กาล​หรือ​ที่​เรียก​กัน​ด้วย​ว่า​ไข้​ละออง​ฟาง. ตัว​เลข​นี้​ไม่​น่า​แปลก​ใจ​ถ้า​คิด​ถึง​ละออง​เกสร​ปริมาณ​มหาศาล​ที่​ต้น​ไม้​ปล่อย​ไว้​ใน​อากาศ.

นัก​วิทยาศาสตร์​ประมาณ​ว่า ป่า​สน​สปรูซ​ซึ่ง​มี​พื้น​ที่​เพียง​หนึ่ง​ใน​สาม​ของ​สวีเดน​ทาง​ตอน​ใต้ ปล่อย​ละออง​เกสร​ออก​มา​ถึง​ปี​ละ 75,000 ตัน. หญ้า​แร็กวีด​เพียง​ต้น​เดียว ซึ่ง​เป็น​ตัวการ​ทำ​ให้​ผู้​เป็น​ไข้​ละออง​ฟาง​ใน​อเมริกา​เหนือ​เกิด​อาการ​แพ้ สามารถ​ผลิต​ละออง​เกสร​ได้​วัน​ละ​หนึ่ง​ล้าน​อณู. เนื่อง​จาก​ถูก​พัด​พา​ไป​ตาม​สาย​ลม มี​การ​พบ​ละออง​เกสร​ของ​หญ้า​แร็กวีด​สูง​จาก​พื้น​โลก 3 กิโลเมตร​และ​ไกล​ออก​ไป​ใน​ทะเล​ถึง 600 กิโลเมตร.

แต่​ทำไม​ละออง​เกสร​จึง​ทำ​ให้​บาง​คน​เกิด​อาการ​แพ้? ก่อน​ที่​เรา​จะ​พิจารณา​คำ​ถาม​ดัง​กล่าว ให้​เรา​มา​ตรวจ​ดู​ละออง​เกสร​ให้​ละเอียด​ยิ่ง​ขึ้น​เพื่อ​จะ​เห็น​การ​ออก​แบบ​อัน​น่า​ทึ่ง​ใน​ละออง​เล็ก ๆ เหล่า​นี้.

ละออง​แห่ง​ชีวิต

สารานุกรม​บริแทนนิกา กล่าว​ว่า ละออง​เกสร​หรือ​เรณู “ถูก​สร้าง​ขึ้น​ใน​อับ​เรณู หรือ​ส่วน​ที่​เป็น​เกสร​ตัว​ผู้​ของ​พืช​ที่​แพร่​พันธุ์​ด้วย​เมล็ด และ​ถูก​พา​ไป​หา​เกสร​ตัว​เมีย​ด้วย​วิธี​ต่าง ๆ (เช่น ลม, น้ำ, แมลง) ที่​ซึ่ง​เกิด​การ​ปฏิสนธิ.”

ละออง​เรณู​ของ​ไม้​ดอก​ประกอบ​ด้วย​สาม​ส่วน​ต่าง​หาก​กัน​คือ นิวเคลียส​ของ​เซลล์​สเปิร์ม และ​ส่วน​ที่​เป็น​ผนัง​หรือ​เปลือก​นอก​ของ​ละออง​เรณู​ซึ่ง​มี​สอง​ชั้น. เปลือก​ชั้น​นอก​ที่​แข็งแรง​สามารถ​ทน​ต่อ​การ​เสื่อม​สลาย​ได้​อย่าง​ดี​เยี่ยม​และ​ยัง​ทน​ต่อ​กรด​เข้มข้น, ด่าง, และ​แม้​แต่​ความ​ร้อน​จัด​ได้. กระนั้น นอก​จาก​กรณี​ยก​เว้น​ไม่​กี่​กรณี เรณู​ส่วน​มาก​มี​อายุ​อยู่​ได้​แค่​ไม่​กี่​วัน​หรือ​ไม่​กี่​สัปดาห์. แต่​เปลือก​นอก​ที่​ทนทาน​ของ​มัน​อาจ​อยู่​ได้​หลาย​พัน​ปี​โดย​ไม่​สลาย​ตัว. ด้วย​เหตุ​นี้ จึง​มี​การ​พบ​ละออง​เรณู​มาก​มาย​ใน​ชั้น​ดิน​ของ​โลก. ที่​จริง นัก​วิทยาศาสตร์​ได้​เรียน​รู้​หลาย​อย่าง​เกี่ยว​กับ​ประวัติ​ทาง​พฤกษศาสตร์​ของ​โลก โดย​ศึกษา​เรณู​ที่​พบ​ใน​ตัว​อย่าง​ดิน​ซึ่ง​ขุด​จาก​ความ​ลึก​ระดับ​ต่าง ๆ กัน.

ประวัติ​ทาง​พฤกษศาสตร์​นี้​ค่อนข้าง​จะ​เชื่อถือ​ได้ เนื่อง​จาก​เปลือก​ชั้น​นอก​ของ​ละออง​เรณู​มี​รูป​แบบ​ซึ่ง​ไม่​ซ้ำ​กัน. สุด​แล้ว​แต่​ชนิด​ของ​ละออง​เกสร เปลือก​นอก​อาจ​เป็น​แบบ​ผิว​เรียบ, เป็น​รอย​ย่น, มี​ลวด​ลาย, หรือ​เต็ม​ไป​ด้วย​หนาม​และ​ปุ่ม. วอน เอ็ม. ไบรอันต์ จูเนียร์ ศาสตราจารย์​ด้าน​มานุษยวิทยา กล่าว​ว่า “ด้วย​เหตุ​นี้ สำหรับ​วัตถุ​ประสงค์​ใน​การ​ระบุ​ชนิด​พันธุ์ เรณู​ของ​พืช​แต่​ละ​ชนิด​ก็​ไว้​ใจ​ได้​เหมือน​กับ​ลาย​นิ้ว​มือ​มนุษย์.”

วิธี​ที่​พืช​ถ่าย​เรณู

เมื่อ​ละออง​เรณู​มา​ติด​ที่​ยอด​เกสร​ตัว​เมีย ปฏิกิริยา​ทาง​เคมี​จะ​ทำ​ให้​ละออง​เรณู​บวม​ขึ้น​และ​งอก​หลอด​ยาว​ลง​ไป​ยัง​ออวุล (ไข่​อ่อน). เซลล์​สเปิร์ม​ที่​อยู่​ภาย​ใน​ละออง​เรณู​จะ​เคลื่อน​ผ่าน​ลง​มา​ตาม​หลอด​สู่​ออวุล ทำ​ให้​เมล็ด​พืช​ที่​ปฏิสนธิ​แล้ว​ก่อ​ตัว​ขึ้น. เมื่อ​เมล็ด​นั้น​แก่​เต็ม​ที่ มัน​ก็​พร้อม​จะ​งอก​ขึ้น​ถ้า​อยู่​ใน​สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​เหมาะ​สม.

พืช​ที่​แพร่​พันธุ์​ด้วย​เมล็ด​บาง​ชนิด​งอก​ขึ้น​เป็น​ต้น​เพศ​ผู้​หรือ​ไม่​ก็​ต้น​เพศ​เมีย แต่​ส่วน​ใหญ่​จะ​มี​ทั้ง​เรณู​และ​ออวุล. พืช​บาง​ชนิด​ถ่าย​เรณู​ใน​ต้น​เดียว​กัน ส่วน​บาง​ชนิด​จะ​ถ่าย​เรณู​กับ​ต้น​อื่น​โดย​การ​ถ่าย​เรณู​ไป​ยัง​พืช​ชนิด​เดียว​กัน​หรือ​ชนิด​ที่​ใกล้​กัน​มาก ๆ. สารานุกรม​บริแทนนิกา กล่าว​ว่า พืช​ที่​ถ่าย​เรณู​กับ​ต้น​อื่น “มัก​เลี่ยง​ไม่​ให้​มี​การ​ถ่าย​เรณู​ใน​ต้น​เดียว​กัน​โดย​ปล่อย​เรณู​ออก​มา​ก่อน​หรือ​ไม่​ก็​หลัง​จาก​ยอด​เกสร​ตัว​เมีย​ใน​ต้น​เดียว​กัน​พร้อม​จะ​ผสม​พันธุ์.” ส่วน​พืช​ชนิด​อื่น ๆ ก็​มี​วิธี​การ​ทาง​เคมี​ที่​คอย​ตรวจ​ดู​ความ​แตกต่าง​ระหว่าง​เรณู​ของ​ต้น​เดียว​กัน​กับ​ของ​ต้น​อื่น​ใน​ชนิด​เดียว​กัน. เมื่อ​เห็น​ว่า​เป็น​เรณู​จาก​ต้น​เดียว​กัน มัน​ก็​จะ​ทำ​ให้​เรณู​นั้น​ไม่​ติด บ่อย​ครั้ง​โดย​กัน​ไม่​ให้​หลอด​เรณู​งอก​ไป​ถึง​ออวุล.

ใน​พื้น​ที่​ซึ่ง​มี​พืช​หลาก​หลาย​ชนิด อากาศ​อาจ​เต็ม​ไป​ด้วย​ละ​ออง​เกสร​หรือ​เรณู​สารพัด​ชนิด. พืช​จะ​เลือก​เอา​แต่​เรณู​ที่​มัน​ต้องการ​ได้​อย่าง​ไร? พืช​บาง​ชนิด​ใช้​หลักการ​ทาง​อากาศ​พลศาสตร์​ที่​ซับซ้อน. ขอ​พิจารณา​ต้น​สน​เป็น​ตัว​อย่าง.

ใช้​ประโยชน์​จาก​ลม

ลูก​สน​ตัว​ผู้​จะ​งอก​เป็น​กระจุก และ​เมื่อ​โต​เต็ม​ที่​มัน​จะ​ปล่อย​เรณู​จำนวน​มาก​ไป​ตาม​สาย​ลม. นัก​วิทยาศาสตร์​ได้​ค้น​พบ​ว่า ลูก​สน​ตัว​เมีย​กับ​ใบ​ที่​มี​ลักษณะ​เป็น​เส้น ๆ รอบ​ลูก​สน​นั้น​จะ​ดัก​ให้​ลม​ที่​เต็ม​ไป​ด้วย​เรณู​พัด​วน และ​ตก​ลง​สู่​พื้น​ผิว​ที่​มี​การ​สืบ​พันธุ์​ใน​ลูก​สน. ใน​ลูก​สน​ตัว​เมีย​ที่​พร้อม​จะ​ผสม​พันธุ์ เรณู​จะ​ถูก​พัด​เข้า​ไป​ใน​พื้น​ผิว​เหล่า​นี้​ได้​เมื่อ​เกล็ด​บาน​ออก​และ​แยก​จาก​กัน​เล็ก​น้อย.

นัก​วิจัย​คาร์ล เจ. นิคลาส ได้​ทำ​การ​ทดสอบ​อย่าง​ถี่ถ้วน​เกี่ยว​กับ​รูป​แบบ​ด้าน​การ​บิน​อัน​ยอด​เยี่ยม​ของ​ลูก​สน. เขา​เขียน​ใน​วารสาร​ไซเยนติฟิก อเมริกัน ว่า “การ​ศึกษา​ของ​เรา​เผย​ว่า​รูป​ทรง​ที่​ไม่​ซ้ำ​แบบ​กัน​ของ​ลูก​สน​แต่​ละ​ชนิด​ทำ​ให้​เกิด​การ​ดัก​ลม​ใน​รูป​แบบ​เฉพาะ​ตัว . . . ใน​ทำนอง​เดียว​กัน เรณู​ของ​แต่​ละ​ชนิด​ก็​มี​ขนาด, รูป​ทรง​และ​ความ​หนา​แน่น​ต่าง​กัน ทำ​ให้​ละออง​เรณู​มี​ปฏิกิริยา​ต่อ​กระแส​ลม​ไม่​เหมือน​กัน.” เทคนิค​เหล่า​นี้​เกิด​ผล​เพียง​ไร? นิคลาส​กล่าว​ว่า “ลูก​สน​ส่วน​ใหญ่​ที่​เรา​ศึกษา​นั้น​กรอง​เอา​แต่​เรณู ‘ของ​มัน’ จาก​อากาศ​แต่​ไม่​เอา​ของ​ชนิด​อื่น.”

แน่นอน ไม่​ใช่​พืช​ทุก​ชนิด​ที่​อาศัย​ลม​ใน​การ​ถ่าย​เรณู ซึ่ง​ผู้​ที่​แพ้​ละออง​เกสร​คง​โล่ง​ใจ​ได้! พืช​หลาย​ชนิด​ใช้​ประโยชน์​จาก​สัตว์.

ล่อ​ด้วย​น้ำ​หวาน

พืช​ที่​ถ่าย​เรณู​โดย​อาศัย​นก, สัตว์​เลี้ยง​ลูก​ด้วย​นม​ตัว​เล็ก ๆ, และ​แมลง​มัก​จะ​ใช้​ขอ, หนาม, หรือ​ขน​เหนียว ๆ เพื่อ​ทำ​ให้​เรณู​ติด​ไป​กับ​ตัว​สัตว์​ที่​ทำ​หน้า​ที่​ผสม​เกสร​ขณะ​กำลัง​หา​อาหาร. ตัว​อย่าง​เช่น ผึ้ง​บัมเบิล​ที่​มี​ขน​ปุกปุย​อาจ​ขน​ละออง​เรณู​ไป​กับ​ตัว​มัน​ใน​แต่​ละ​ครั้ง​ได้​มาก​ถึง 15,000 อณู!

ที่​จริง ผึ้ง​เป็น​ผู้​ผสม​เกสร​ตัว​หลัก​ของ​พืช​ดอก. พืช​จะ​ให้​รางวัล​ตอบ​แทน​ผึ้ง​เป็น​น้ำ​หวาน​และ​เรณู​ที่​เป็น​อาหาร​ของ​ผึ้ง ซึ่ง​เรณู​แบบ​นี้​อุดม​ไป​ด้วย​โปรตีน, วิตามิน, แร่​ธาตุ, และ​ไขมัน. ใน​การ​ร่วม​แรง​ร่วม​ใจ​กัน​อย่าง​น่า​ทึ่ง​นี้ ผึ้ง​อาจ​ตอม​ดอกไม้​ถึง 100 ดอก​ใน​การ​บิน​รอบ​เดียว แต่​มัน​จะ​เก็บ​รวบ​รวม​เรณู​หรือ​น้ำ​หวาน ไม่​ก็​ทั้ง​สอง​อย่าง​จาก​พืช​ชนิด​เดียว​กัน​จน​เพียง​พอ​สำหรับ​มัน​หรือ​จน​กระทั่ง​หมด. พฤติกรรม​ตาม​สัญชาตญาณ​ที่​น่า​ทึ่ง​นี้​เป็น​หลัก​ประกัน​ว่า​จะ​มี​การ​ถ่าย​เรณู​อย่าง​มี​ประสิทธิภาพ.

ถูก​ดอกไม้​หลอก

แทน​ที่​จะ​ให้​น้ำ​หวาน พืช​บาง​ชนิด​กลับ​อาศัย​การ​หลอก​อย่าง​แนบ​เนียน​เพื่อ​ให้​แมลง​ถ่าย​เรณู​ให้. ตัว​อย่าง​เช่น กล้วยไม้​พันธุ์​แฮมเมอร์ (ค้อน) ซึ่ง​ขึ้น​ใน​รัฐ​เวสเทิร์น​ออสเตรเลีย. ดอก​กล้วยไม้​แฮมเมอร์​มี​กลีบ​ปาก​ดอก​ที่​คล้าย​กับ​ต่อ​ตัว​เมีย​อ้วน ๆ ไร้​ปีก​ชนิด​หนึ่ง​มาก แม้​แต่​ใน​สายตา​ของ​มนุษย์. ดอกไม้​นี้​ถึง​กับ​ปล่อย​สาร​เคมี​ที่​เลียน​แบบ​สาร​เฟโรโมน​เพศ หรือ​สาร​ที่​ต่อ​ตัว​เมีย​จริง ๆ ปล่อย​ออก​มา​เพื่อ​ดึงดูด​ตัว​ผู้! ตรง​ปลาย​ก้าน​ดอก​เหนือ​ต่อ​ตัว​ปลอม​นี้​พอ​ดี จะ​มี​ถุง​เหนียว ๆ ที่​เต็ม​ไป​ด้วย​เรณู.

ต่อ​ตัว​ผู้ ซึ่ง​ถูก​ล่อ​มา​ด้วย​กลิ่น​ของ​สาร​เฟโรโมน​เทียม​จะ​มา​เกาะ​บน​ต่อ​ตัว​ปลอม​และ​พยายาม​จะ​พา “หล่อน” บิน​ไป​ด้วย. แต่​เมื่อ​มัน​เริ่ม​บิน แรง​พุ่ง​ของ​มัน​ทำ​ให้​ตัว​มัน​กับ​สิ่ง​ที่​มัน​นึก​ว่า เป็น​เจ้าสาว​กระดก​ตีลังกา​เข้า​ไป​ใน​ถุง​เรณู​เหนียว ๆ นั้น. เมื่อ​รู้​ว่า​โดน​หลอก มัน​ก็​ปล่อย​ต่อ​ตัว​ปลอม​นั้น​ซึ่ง​จะ​กระดก​กลับ​เข้า​ที่​เดิม​เนื่อง​จาก​ติด​อยู่​กับ​บานพับ​อย่าง​เหมาะเจาะ แล้ว​มัน​ก็​จะ​ถูก​หลอก​ด้วย​ดอก​กล้วยไม้​แฮมเมอร์​อีก​ดอก​หนึ่ง. * แต่​คราว​นี้ มัน​จะ​ถ่าย​เรณู​ที่​ได้​มา​จาก​ดอก​ก่อน.

แต่​ถ้า​มี​ต่อ​ตัว​เมีย​อยู่ ต่อ​ตัว​ผู้​จะ​เลือก​ตัว​จริง​ได้​โดย​ไม่​พลาด​ไป​เลือก​ตัว​ปลอม​แน่. ประจวบ​เหมาะ​กับ​ที่​ดอก​กล้วยไม้​จะ​บาน​ก่อน​ที่​ต่อ​ตัว​เมีย​จะ​ออก​มา​จาก​ดักแด้​ที่​อยู่​ใต้​ดิน​นาน​หลาย​สัปดาห์ ทำ​ให้​กล้วยไม้​ได้​เปรียบ​อยู่​ระยะ​หนึ่ง.

ทำไม​จึง​เป็น​ภูมิ​แพ้?

ทำไม​บาง​คน​จึง​แพ้​เรณู​หรือ​ละออง​เกสร​ดอกไม้? เมื่อ​ละออง​เกสร​ขนาด​จิ๋ว​เข้า​ไป​ใน​จมูก มัน​จะ​ถูก​เมือก​เหนียว ๆ ดัก​ไว้. จาก​นั้น​จะ​ลง​ไป​ใน​ลำคอ ซึ่ง​จะ​ถูก​กลืน​เข้า​ไป​หรือ​ไม่​ก็​ไอ​ออก​มา ซึ่ง​ปกติ​จะ​ไม่​มี​ผล​เสีย​ใด ๆ. แต่​บาง​ครั้ง ละออง​เกสร​จะ​กระตุ้น​ระบบ​ภูมิ​คุ้ม​กัน.

ปัญหา​นี้​เกี่ยว​ข้อง​กับ​โปรตีน​ใน​ละออง​เกสร. ด้วย​เหตุ​ผล​บาง​อย่าง ระบบ​ภูมิ​คุ้ม​กัน​ของ​ผู้​เป็น​โรค​ภูมิ​แพ้​ถือ​ว่า​โปรตีน​ของ​ละออง​เกสร​บาง​ชนิด​เป็น​อันตราย. ร่าง​กาย​จะ​แสดง​ปฏิกิริยา​ต่อ​เนื่อง ทำ​ให้​เซลล์​มาสต์​ซึ่ง​มี​อยู่​ใน​เนื้อ​เยื่อ​ของ​ร่าง​กาย​ปล่อย​สาร​ฮิสทามีน​ออก​มา​มาก​เกิน​ไป. สาร​ฮิสทามีน​ทำ​ให้​เส้น​เลือด​ขยาย​ตัว​และ​มี​ของ​เหลว​ซึม​ออก​มา​ได้​ง่าย​ขึ้น ทำ​ให้​มัน​ปล่อย​ของ​เหลว​ที่​เต็ม​ไป​ด้วย​เซลล์​ภูมิ​คุ้ม​กัน​ออก​มา. ตาม​ปกติ​แล้ว เซลล์​ภูมิ​คุ้ม​กัน​เหล่า​นี้​จะ​ไป​ที่​บาดแผล​หรือ​บริเวณ​ที่​ติด​เชื้อ​แล้ว​ช่วย​ขจัด​ผู้​บุกรุก​ที่​เป็น​อันตราย. ส่วน​ผู้​เป็น​โรค​ภูมิ​แพ้ ละออง​เกสร​ทำ​ให้​เกิด​สัญญาณ​ปลอม ซึ่ง​ยัง​ผล​ให้​มี​น้ำมูก​ไหล, ระคาย​เคือง​จมูก, เนื้อ​เยื่อ​บวม, และ​น้ำตา​ไหล.

นัก​วิจัย​เชื่อ​ว่า คน​เรา​สืบ​ทอด​แนว​โน้ม​ที่​จะ​เป็น​โรค​ภูมิ​แพ้​มา​จาก​พ่อ​แม่ แม้​ว่า​แนว​โน้ม​นี้​อาจ​ไม่​ได้​ทำ​ให้​แพ้​สาร​ชนิด​เดียว​กัน. มลพิษ​ยัง​อาจ​เป็น​ปัจจัย​ที่​ทำ​ให้​ไว​ต่อ​การ​แพ้​ได้​ด้วย. วารสาร​บี​เอ็ม​เจ กล่าว​ว่า “ใน​ญี่ปุ่น มี​การ​พบ​ว่า การ​ไว​ต่อ​ละออง​เกสร​เกี่ยว​ข้อง​โดย​ตรง​กับ​บริเวณ​ซึ่ง​มี​การ​ปล่อย​อนุภาค​จาก​การ​เผา​ไหม้​น้ำมัน​ดีเซล​เข้า​สู่​บรรยากาศ​ใน​ระดับ​สูง. การ​ศึกษา​โดย​ใช้​สัตว์​แสดง​ว่า​อนุภาค​เหล่า​นี้​ทำ​ให้​ความ​ไว​ต่อ​การ​แพ้​มี​เพิ่ม​ขึ้น.”

สำหรับ​คน​ที่​เป็น​โรค​ภูมิ​แพ้​หลาย​คน น่า​ดีใจ​ที่​ยา​แอนติฮิสทามีน สามารถ​บรรเทา​อาการ​ได้. * ดัง​ที่​ชื่อ​บ่ง​บอก ยา​นี้​ต้านทาน​การ​ทำ​งาน​ของ​สาร​ฮิสทามีน. ถึง​แม้​ละออง​เกสร​จะ​ทำ​ให้​ระคาย​เคือง แต่​คน​เรา​ก็​อด​ไม่​ได้​ที่​จะ​รู้สึก​ประทับใจ​อย่าง​ยิ่ง​กับ​หลักฐาน​อัน​แสดง​ถึง​สติ​ปัญญา​ทั้ง​ใน​เรื่อง​การ​ออก​แบบ​และ​การ​แพร่​กระจาย​อนุภาค​ของ​ชีวิต​ขนาด​จิ๋ว​เหล่า​นี้. ถ้า​ไม่​มี​ละออง​เกสร โลก​ก็​คง​จะ​เป็น​สถาน​ที่​ที่​ปราศจาก​ชีวิต​อย่าง​แท้​จริง.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 23 ดอก​กล้วยไม้​นี้​มี​ชื่อ​พันธุ์​ว่า​แฮมเมอร์ (ค้อน) เพราะ​ส่วน​ที่​ดู​คล้าย​กับ​ตัว​ต่อ (กลีบ​ปาก​ดอก) จะ​กระดก​ขึ้น​ลง​โดย​ยึด​อยู่​กับ​บานพับ ซึ่ง​ทำ​ให้​มัน​เหวี่ยง​ได้​เหมือน​ค้อน.

^ วรรค 29 ใน​อดีต ยา​แอน​ติ​ฮิสทามีน​มัก​จะ​ทำ​ให้​ง่วง​นอน​และ​ปาก​แห้ง. ยา​สูตร​ใหม่ ๆ มี​ผล​ข้าง​เคียง​น้อย​ลง.

[แผนภูมิ​หน้า 24, 25]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

เกสร​ตัว​เมีย

ออวุล

รังไข่

หลอด​ละออง​เรณู

ยอด​เกสร​ตัว​เมีย

ละออง​เรณู

เกสร​ตัว​ผู้

อับ​เรณู

กลีบ​ดอก

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

NED SEIDLER/NGS Image Collection

[ภาพ​หน้า 25]

ภาพ​ของ​เรณู​ชนิด​ต่าง ๆ จาก​กล้อง​จุลทรรศน์

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Pollen grains: © PSU Entomology/PHOTO RESEARCHERS, INC.

[ภาพ​หน้า 26]

ส่วน​ของ​ดอก​กล้วยไม้​แฮมเมอร์​ที่​ดู​คล้าย​กับ​ต่อ​ตัว​เมีย

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Hammer orchid images: © BERT & BABS WELLS/OSF

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 24]

Pollen grains: © PSU Entomology/PHOTO RESEARCHERS, INC.

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 26]

Pollen grains: © PSU Entomology/PHOTO RESEARCHERS, INC.