ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

“อย่าลืมร่ม!”

“อย่าลืมร่ม!”

“อย่า​ลืม​ร่ม!”

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​บริเตน

ใน​วัน​ปกติ​ที่​บริเตน หลาย​คน​จะ​ถือ​ร่ม​ติด​ตัว เพราะ​ไม่​มี​ทาง​แน่​ใจ​ได้​ว่า​ฝน​จะ​ตก​หรือ​ไม่. ตอน​ที่​จะ​ออก​จาก​บ้าน เรา​มัก​จะ​ร้อง​เตือน​กัน​ว่า “อย่า​ลืม​ร่ม​นะ!” แต่​แล้ว​ด้วย​ความ​ป้ำ​เป๋อ​เรา​ก็​อาจ​ลืม​ร่ม​นั้น​ไว้​บน​รถ​ประจำ​ทาง​หรือ​รถไฟ​หรือ​ใน​ร้าน​ค้า. เรา​มัก​จะ​ถือ​ว่า​ร่ม​เป็น​ของ​ใช้​ธรรมดา เพราะ​เรา​จะ​ซื้อ​คัน​ใหม่​เมื่อ​ไร​ก็​ได้. แต่​คน​สมัย​ก่อน​ไม่​ได้​ถือ​ว่า​ร่ม​เป็น​ของ​ธรรมดา​อย่าง​นี้.

ประวัติ​อัน​โดด​เด่น

ตาม​หลักฐาน​แล้ว ร่ม​สมัย​แรก ๆ ไม่​ได้​เอา​ไว้​กัน​ฝน. ร่ม​สมัย​นั้น​เป็น​เครื่อง​แสดง​ถึง​ยศ​และ​เกียรติศักดิ์ ซึ่ง​สงวน​ไว้​สำหรับ​บุคคล​สำคัญ ๆ. รูป​ปั้น​และ​ภาพ​วาด​ที่​มี​อายุ​นับ​พัน​ปี​ใน​อัสซีเรีย, อียิปต์, เปอร์เซีย, และ​อินเดีย​มี​ภาพ​บ่าว​ไพร่​ถือ​ร่ม​บัง​แดด​ให้​ผู้​ปกครอง​ประเทศ. ใน​อัสซีเรีย เฉพาะ​แต่​กษัตริย์​เท่า​นั้น​ที่​มี​ร่ม​ได้.

ตลอด​ประวัติศาสตร์ ร่ม​เป็น​สัญลักษณ์​ที่​แสดง​ถึง​อำนาจ​เสมอ​มา โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ใน​เอเชีย. ยิ่ง​ผู้​ปกครอง​มี​ร่ม​หรือ​ฉัตร​มาก ก็​ยิ่ง​แสดง​ว่า​เขา​มี​ยศ​ศักดิ์​สูง​มาก ดัง​ที่​เห็น​ได้​จาก​กษัตริย์​พม่า​องค์​หนึ่ง​ซึ่ง​ได้​รับ​ฉายา​ว่า​พระเจ้า​ยี่​สิบ​สี่​ฉัตร. บาง​ครั้ง​จำนวน​ชั้น​ก็​เป็น​สิ่ง​ที่​สำคัญ. ฉัตร​ของ​จักรพรรดิ​จีน​มี​สี่​ชั้น และ​พระ​มหา​กษัตริย์​แห่ง​ประเทศ​สยาม​ทรง​มี​ฉัตร​เจ็ด​ชั้น​หรือ​เก้า​ชั้น. แม้​แต่​ใน​ปัจจุบัน ร่ม​ก็​ยัง​คง​เป็น​สัญลักษณ์​ของ​อำนาจ​ใน​บาง​ประเทศ​แถบ​ตะวัน​ออก​และ​ใน​แอฟริกา.

ร่ม​ใน​ทาง​ศาสนา

ประวัติ​ของ​ร่ม​ใน​สมัย​แรก ๆ มี​ความ​เกี่ยว​พัน​กับ​ศาสนา. ชาว​อียิปต์​โบราณ​เชื่อ​ว่า​เทพ​ธิดา​นัต​บัง​โลก​ทั้ง​หมด​ไว้​ด้วย​ร่าง​ของ​ตน เหมือน​กับ​ร่ม. ดัง​นั้น ผู้​คน​จึง​เดิน​อยู่​ใต้ “หลังคา” เคลื่อน​ที่​ของ​ตน​เพื่อ​รับ​การ​ปก​ป้อง​จาก​เทพ​ธิดา​องค์​นี้. ใน​อินเดีย​และ​จีน ผู้​คน​เชื่อ​ว่า​ร่ม​ที่​กาง​อยู่​เป็น​สัญลักษณ์​ถึง​ทรง​โค้ง​ของ​ท้องฟ้า. ชาว​พุทธ​ยุค​แรก ๆ ใช้​ฉัตร​เป็น​สัญลักษณ์​แทน​พระ​พุทธเจ้า และ​หลาย​ครั้ง​มี​ฉัตร​สวม​อยู่​บน​ยอด​เจดีย์. ร่ม​ก็​มี​ใช้​ใน​ศาสนา​ฮินดู​ด้วย.

พอ​ถึง​ช่วง​ปี 500 ก่อน ส.ศ. ร่ม​ก็​แพร่​ไป​ถึง​ประเทศ​กรีซ ซึ่ง​มี​การ​ถือ​ร่ม​บัง​อยู่​เหนือ​รูป​ปั้น​เทพเจ้า​และ​เทพ​ธิดา​ใน​งาน​เทศกาล​ทาง​ศาสนา. ผู้​หญิง​ชาว​เอเธนส์​มี​บ่าว​คอย​ถือ​ร่ม​บัง​แดด​ให้ แต่​มี​ผู้​ชาย​ไม่​กี่​คน​ที่​ใช้​ร่ม​แบบ​นี้. ต่อ​มา​ธรรมเนียม​การ​ถือ​ร่ม​ก็​แพร่​จาก​กรีซ​ไป​สู่​โรม.

คริสตจักร​โรมัน​คาทอลิก​ใช้​ร่ม​เป็น​เครื่อง​ประดับ​ใน​ราช​พิธี. โปป​เริ่ม​ปรากฏ​ตัว​พร้อม​กับ​ร่ม​ผ้า​ไหม​ที่​มี​แถบ​สี​แดง​และ​สี​เหลือง ส่วน​คาร์ดินัล​และ​บิชอป​ใช้​ร่ม​สี​ม่วง​หรือ​เขียว. จน​ถึง​สมัย​นี้ มหา​วิหาร​มี​บัลลังก์​สำหรับ​โปป​ซึ่ง​มี​โอมเบรลโลเน หรือ​ร่ม​ปัก​อยู่​เหนือ​บัลลังก์​นั้น​ตาม​สี​ที่​โปป​ใช้. คาร์ดินัล​ซึ่ง​ทำ​หน้า​ที่​ประมุข​ของ​คริสตจักร​ระหว่าง​มรณกรรม​ของ​โปป​องค์​หนึ่ง​จน​ถึง​การ​เลือก​ตั้ง​โปป​องค์​ใหม่​ก็​มี​โอมเบรลโลเน เป็น​สัญลักษณ์​เฉพาะ​ของ​ตน​ด้วย​ใน​ระหว่าง​ช่วง​นั้น.

จาก​ร่ม​กัน​แดด​มา​เป็น​ร่ม​กัน​ฝน

อาจ​เป็น​ชาว​จีน​หรือ​ไม่​ก็​อาจ​เป็น​พวก​ผู้​หญิง​ใน​สมัย​โรม​โบราณ​ที่​เริ่ม​เคลือบ​น้ำมัน​และ​ขี้ผึ้ง​ลง​บน​ร่ม​กระดาษ​ของ​ตน​เพื่อ​ให้​กัน​ฝน​ได้. อย่าง​ไร​ก็​ตาม แนว​คิด​เรื่อง​ร่ม​กัน​แดด​หรือ​กัน​ฝน​ได้​หาย​ไป​จาก​ยุโรป​จน​กระทั่ง​ศตวรรษ​ที่ 16 เมื่อ​ชาว​อิตาลี และ​ต่อ​มา​ชาว​ฝรั่งเศส ค้น​พบ​ประโยชน์​ใช้สอย​ของ​ร่ม​อีก​ครั้ง​หนึ่ง.

พอ​ถึง​ศตวรรษ​ที่ 18 พวก​ผู้​หญิง​ใน​บริเตน​ก็​เริ่ม​ถือ​ร่ม​ติด​ตัว แม้​ว่า​พวก​ผู้​ชาย​ยัง​ไม่​ยอม​ถือ​ร่ม​เพราะ​ถือ​ว่า​เป็น​ของ​ใช้​ของ​พวก​ผู้​หญิง. ยก​เว้น​เจ้าของ​ร้าน​กาแฟ ซึ่ง​เห็น​ข้อ​ได้​เปรียบ​ของ​การ​มี​ร่ม​ไว้​พร้อม​เพื่อ​กัน​ฝน​ให้​ลูก​ค้า​เมื่อ​เดิน​ออก​จาก​ร้าน​ไป​ขึ้น​รถ​ม้า. พวก​นัก​เทศน์​ก็​เห็น​ว่า​ร่ม​มี​ประโยชน์​มาก​เช่น​กัน​เมื่อ​พวก​เขา​ประกอบ​พิธี​ฝัง​ศพ​ใน​ลาน​โบสถ์​ตอน​ที่​ฝน​เท​ลง​มา​อย่าง​หนัก.

โยนาส ฮันเวย์ นัก​เดิน​ทาง​และ​นัก​สังคม​สงเคราะห์ ได้​เปลี่ยน​ประวัติศาสตร์​ของ​ร่ม​ใน​อังกฤษ. กล่าว​กัน​ว่า เขา​เป็น​ผู้​ชาย​คน​แรก​ที่​กล้า​ถือ​ร่ม​อย่าง​เปิด​เผย​ใน​กรุง​ลอนดอน. เนื่อง​จาก​ตอน​ที่​เขา​เดิน​ทาง​ไป​ต่าง​ประเทศ​เขา​เคย​เห็น​พวก​ผู้​ชาย​ใช้​ร่ม เขา​จึง​ตั้งใจ​แน่วแน่​ที่​จะ​สู้​กับ​การ​โห่​ร้อง​เยาะเย้ย​ของ​พวก​คน​ขับ​รถ​ม้า ซึ่ง​ตั้งใจ​ขับ​รถ​ผ่าน​เพื่อ​ให้​น้ำ​โคลน​ใน​ร่อง​น้ำ​ข้าง​ถนน​กระเด็น​ใส่​เขา. ฮันเวย์​ถือ​ร่ม​ไป​ไหน​มา​ไหน​เป็น​ประจำ​ตลอด​เวลา 30 ปี และ​พอ​ถึง​ตอน​ที่​เขา​เสีย​ชีวิต​ใน​ปี 1786 ทั้ง​ผู้​ชาย​และ​ผู้​หญิง​ต่าง​ก็​ถือ​ร่ม​กัน​อย่าง​สบาย​ใจ.

การ​ใช้​ร่ม​กัน​ฝน​ใน​สมัย​นั้น​เป็น​เรื่อง​ค่อนข้าง​ลำบาก. ร่ม​ยุค​นั้น​ทั้ง​หนัก​และ​ใหญ่​เทอะทะ. มัน​มี​ผ้า​ไหม​หรือ​ผ้า​ใบ​เคลือบ​น้ำมัน​ขึง​ด้วย​ซี่​ร่ม​และ​ด้าม​ที่​ทำ​จาก​หวาย​หรือ​กระดูก​ปลา​วาฬ​ซึ่ง​ทำ​ให้​ร่ม​กาง​ยาก​เมื่อ​เปียก​และ​มี​น้ำ​ซึม. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ร่ม​เป็น​ที่​นิยม​กัน​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ เพราะ​การ​ซื้อ​ร่ม​นั้น​ถูก​กว่า​การ​จ้าง​รถ​ม้า​ตอน​ฝน​ตก. ช่าง​ทำ​ร่ม​และ​ร้าน​ร่ม​ก็​เพิ่ม​จำนวน​ขึ้น และ​นัก​ประดิษฐ์​ก็​หัน​มา​สนใจ​ใน​การ​ปรับ​ปรุง​รูป​แบบ​ร่ม. ใน​ช่วง​กลาง​ศตวรรษ​ที่ 19 แซมมูเอล ฟอกซ์ ได้​จด​สิทธิ​บัตร​ร่ม​รุ่น​พารา​กอน ซึ่ง​มี​โครง​เหล็ก​ที่​เบา​แต่​แข็งแรง. และ​ใช้​ผ้า​ที่​เบา​กว่า เช่น ไหม, ฝ้าย, และ​ลินิน​เคลือบ​ขี้ผึ้ง แทน​ผ้า​แบบ​เดิม​ซึ่ง​หนัก​มาก. ร่ม​ยุค​ใหม่​ปรากฏ​ขึ้น​แล้ว.

เครื่อง​ประดับ​ตาม​แฟชั่น

ตอน​นี้​ร่ม​กลาย​เป็น​ของ​ใช้​ที่​หรูหรา​อีก​ชิ้น​หนึ่ง​ซึ่ง​เป็น​ที่​นิยม​กัน​มาก​สำหรับ​สุภาพสตรี​ที่​แต่ง​ตัว​โก้​เก๋​ใน​อังกฤษ. เมื่อ​แฟชั่น​เปลี่ยน​ไป ร่ม​แบบ​กระจุ๋มกระจิ๋ม​ของ​เธอ​ก็​ใหญ่​ขึ้น​และ​ใช้​ผ้า​ร่ม​ที่​มี​สี​สดใส​ทุก​ประเภท​ตั้ง​แต่​ไหม​จน​ถึง​ผ้า​ต่วน. ร่ม​ที่​สุภาพสตรี​ถือ​มัก​จะ​เข้า​ชุด​กับ​เสื้อ​ผ้า​และ​ประดับ​ด้วย​ลูก​ไม้, พู่, ริบบิ้น, โบ, และ​แม้​กระทั่ง​ขน​นก. ใน​ตอน​เริ่ม​ต้น​ศตวรรษ​ที่ 20 ไม่​มี​สุภาพสตรี​คน​ใด​ที่​ต้องการ​ปก​ป้อง​ผิว​หน้า​อัน​บอบบาง​ของ​ตน​จะ​ไม่​กาง​ร่ม.

ใน​ทศวรรษ 1920 ผิว​สี​แทน​กลับ​ได้​รับ​ความ​นิยม และ​แทบ​จะ​ไม่​เห็น​ร่ม​กัน​แดด​เลย. จาก​นั้น​ก็​มา​ถึง​ยุค​ของ​สุภาพ​บุรุษ​ชาว​กรุง​ซึ่ง​สวม​เครื่อง​แบบ​ที่​ไม่​เป็น​ทาง​การ​ประกอบ​ด้วย​หมวก​ยอด​กลม​และ​ร่ม​สี​ดำ​คัน​ใหญ่​ที่​หุบ​อยู่ ซึ่ง​ถูก​ใช้​เป็น​ไม้เท้า​ที่​โก้​เก๋​ไป​ใน​ตัว​ด้วย.

หลัง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​สอง เทคโนโลยี​ใหม่ ๆ ทำ​ให้​เกิด​แบบ​ร่ม​ที่​มี​การ​ปรับ​ปรุง​ให้​ดี​ขึ้น​ออก​มา​วาง​ขาย เช่น รุ่น​ที่​พับ​จน​เหลือ​ขนาด​เล็ก ๆ รวม​ทั้ง​ผ้า​ร่ม​ที่​เป็น​ไนลอน, โพลีเอสเตอร์, และ​พลาสติก​ซึ่ง​กัน​น้ำ​ได้. ร้าน​ทำ​ร่ม​ด้วย​มือ​ราคา​สูง​ก็​ยัง​มี​อยู่​บ้าง. แต่​ใน​ปัจจุบัน โรง​งาน​ต่าง ๆ ผลิต​ร่ม​จำนวน​มาก ๆ ใน​ราคา​ถูก​ซึ่ง​มี​ทุก​สี​ทุก​ขนาด ตั้ง​แต่​ร่ม​ขนาด​ใหญ่​สำหรับ​นัก​กอล์ฟ​และ​ร่ม​สำหรับ​โต๊ะ​อาหาร​กลางแจ้ง ไป​จน​ถึง​ร่ม​แบบ​ที่​พับ​ได้​จน​เหลือ​แค่​หก​นิ้ว​ซึ่ง​ใส่​ใน​กระเป๋า​ถือ​ได้​พอ​ดี.

แม้​สมัย​หนึ่ง​ผู้​คน​เคย​ถือ​ว่า​ร่ม​เป็น​ของ​ฟุ่มเฟือย และ​เป็น​เครื่อง​แสดง​ฐานะ แต่​ปัจจุบัน​ร่ม​มี​ราคา​ถูก​ลง​มาก​และ​เป็น​สิ่ง​ของ​ที่​เรา​มัก​จะ​ทำ​หาย​ใน​อันดับ​ต้น ๆ. ร่ม​เป็น​ของ​ใช้​ที่​มี​ประโยชน์​มาก​สำหรับ​การ​ป้องกัน​แดด​และ​ฝน​ไม่​ว่า​อยู่​ที่​ไหน​ใน​โลก และ​การ​ใช้​ร่ม​กัน​แดด​อย่าง​ที่​เคย​ทำ​กัน​มา​นั้น​ก็​กำลัง​กลับ​มา​เป็น​ที่​นิยม​อีก​ครั้ง​ใน​บาง​ประเทศ เนื่อง​จาก​มี​คำ​เตือน​มาก​ขึ้น​เกี่ยว​กับ​อันตราย​ของ​การ​ตาก​แดด. ดัง​นั้น เมื่อ​คุณ​ออก​จาก​บ้าน​ใน​วัน​นี้ คุณ​เอง​ก็​อาจ​ได้​ยิน​คำ​เตือน​นี้​ที่​ว่า “อย่า​ลืม​ร่ม​นะ!”

[กรอบ​หน้า 20]

ซื้อ​และ​ดู​แล​ร่ม​อย่าง​ไร

คุณ​ต้อง​เลือก​ระหว่าง​ความ​สะดวก​กับ​ความ​แข็งแรง. ร่ม​แบบ​พับ​ได้​ราคา​ถูก​ซึ่ง​เก็บ​ไว้​ใน​กระเป๋า​ถือ​ได้​คง​จะ​มี​ซี่​ร่ม​น้อย​กว่า​แต่​ทน​ลม​แรง ๆ ไม่​ค่อย​ได้. ส่วน​ร่ม​คัน​ยาว​แบบ​ธรรมดา​อาจ​มี​ราคา​แพง​กว่า​แต่​มัก​จะ​ทน​ลม​ฟ้า​อากาศ​ได้​ดี​กว่า​และ​ใช้​งาน​ได้​นาน​กว่า. ที่​จริง ร่ม​ดี ๆ อาจ​ใช้​งาน​ได้​นาน​หลาย​ปี. ไม่​ว่า​คุณ​เลือก​แบบ​ไหน ต้อง​ระวัง​ไม่​ให้​รา​ขึ้น​และ​เป็น​สนิม โดย​กาง​ร่ม​ทิ้ง​ไว้​ให้​แห้ง​สนิท​ก่อน​จะ​พับ​เก็บ. การ​เก็บ​ร่ม​ไว้​ใน​ปลอก​ร่ม​จะ​ทำ​ให้​ร่ม​สะอาด​ไม่​มี​ฝุ่น​จับ.

[ภาพ​หน้า 19]

บ่าว​ไพร่​ถือ​ร่ม​บัง​แดด​ให้​กษัตริย์​อัสซีเรีย

ผู้​หญิง​ใน​กรีซ​โบราณ​ถือ​ร่ม

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Drawings: The Complete Encyclopedia of Illustration/J. G. Heck

[ภาพ​หน้า 20]

ร่ม​กัน​แดด ประมาณ​ปี 1900

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Culver Pictures