หนังสือห้ามหนังสือ
หนังสือห้ามหนังสือ
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในอิตาลี
ทำไมหลายคนมีอคติต่อคัมภีร์ไบเบิล? ในบางประเทศ คำตอบสำหรับคำถามนี้อาจเกี่ยวข้องกับประวัติของเครื่องมือที่มนุษย์คิดค้นขึ้นเพื่อควบคุม “การออกหาก” นั่นคือดัชนีหนังสือต้องห้าม. เรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
คริสตจักรคาทอลิกตอบรับสิ่งประดิษฐ์ด้านการพิมพ์ด้วยความกระตือรือร้น. โปปบางคนถึงกับยกย่องสิ่งประดิษฐ์ที่นักเทศน์นักบวชบางคนเรียกว่า “งานฝีมือจากพระเจ้า” นั้นอย่างสูงทีเดียว. แต่ไม่นาน คณะปกครองบาทหลวงก็รู้ว่าการพิมพ์นั้นถูกใช้เพื่อแพร่แนวคิดที่ขัดกับแนวคิดของคริสตจักรคาทอลิก. ดังนั้น ในตอนปลายศตวรรษที่ 15 จึงมีการตั้งข้อกำหนดต่าง ๆ ขึ้นในเขตปกครองของบิชอปหลายเขตในยุโรป. ใบอนุญาตให้จัดพิมพ์ (อนุมัติให้พิมพ์) ถูกนำมาใช้ และในปี 1515 การประชุมสังคายนาที่ลาเทอรันครั้งที่ห้าได้ให้ข้อชี้แนะสำหรับการควบคุมการพิมพ์. ผู้ฝ่าฝืนกฎที่ตั้งไว้อาจถูกตัดขาดจากศาสนา. แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการปฏิรูปศาสนาเริ่มขึ้น มาตรการนี้ก็ไม่ได้ป้องกันการจำหน่ายจ่ายแจกสิ่งพิมพ์และหนังสือที่คริสตจักรถือว่าเป็นอันตรายต่อความเชื่อและศีลธรรม. ดังนั้น เมื่อใกล้สิ้นศตวรรษที่ 16 สำนักวาติกันคาดหวัง “ว่าจะไม่มีการพิมพ์อีกเป็นเวลาหลายปี.”
เพื่อขัดขวาง “การรุกอย่างรวดเร็วและรุนแรงของหนังสือแพร่เชื้อ”—ชื่อที่สมาชิกคนหนึ่งของ
นิกายเยสุอิตซึ่งเป็นชาวอิตาลีตั้งให้ในปี 1951—คริสตจักรคาทอลิกต้องการรายชื่อหนังสือต้องห้ามซึ่งจะมีผลบังคับชาวคาทอลิกทุกคน. ในปี 1542 ศาลศาสนาของคริสตจักรโรมันคาทอลิกถูกตั้งขึ้น. การดำเนินการขั้นแรกของศาลนี้ต่อสาธารณชนดูเหมือนเป็นคำสั่งที่มีผลต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยการเขียนบทความในวงการศาสนา. เมื่อยาน ปีเอโตร การาฟา อดีตหัวหน้าศาลศาสนาได้เป็นโปปปอลที่ 4 ในปี 1555 เขาสั่งการให้รวบรวมรายชื่อหนังสือต้องห้ามทันที. ดัชนีหนังสือต้องห้ามเล่มแรกที่มีผลบังคับชาวคาทอลิกทุกคนจึงถูกพิมพ์ออกมาในปี 1559.หนังสือแบบไหนที่ถูกห้าม?
ดัชนีดังกล่าวถูกแบ่งเป็นสาม “หมวด.” หมวดที่หนึ่งเป็นรายชื่อผู้ประพันธ์ คือหนังสือทุกเล่มของผู้ประพันธ์คนนั้นถูกห้ามไม่ว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับอะไร. หมวดที่สองเป็นรายชื่อหนังสือเล่มที่ถูกห้ามของนักประพันธ์ เล่มอื่นที่ไม่อยู่ในรายชื่อไม่ถูกห้าม. และหมวดที่สามเป็นรายชื่อยาวเหยียดของหนังสือที่ถูกห้ามซึ่งไม่ปรากฏชื่อผู้ประพันธ์. ดัชนีนี้มีรายชื่อหนังสือที่ถูกตรวจสอบยับยั้ง 1,107 เล่ม ซึ่งตำหนิไม่เพียงผู้เขียนหนังสือศาสนา แต่ผู้เขียนหนังสือประเภทอื่น ๆ ด้วย. ในภาคผนวกของดัชนีมีรายชื่อคัมภีร์ไบเบิลฉบับที่ถูกห้าม โดยระบุว่าคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลเป็นภาษาของสามัญชนทุกฉบับถูกห้าม.
แม้ว่ามีการสั่งห้ามในท้องถิ่นมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่จีกลีโยลา ฟราญญีโต อาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่มหาวิทยาลัยปาร์มาอิตาลี บอกว่า “ด้วยข้อกำหนดเหล่านี้ซึ่งมีผลบังคับชาวคาทอลิกทุกคน คริสตจักรได้ให้มีคำประกาศห้ามอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในเรื่องการพิมพ์, การอ่าน, และการเป็นเจ้าของหนังสือพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ในภาษาของสามัญชน.” ดัชนีนี้ถูกต่อต้านอย่างหนักจากพวกผู้ขายหนังสือและนักประพันธ์พอ ๆ กับจากรัฐบาลซึ่งได้รับประโยชน์จากการพิมพ์. เนื่องจากเหตุนี้และเหตุผลอื่น ๆ จึงมีคำสั่งให้จัดทำดัชนีฉบับใหม่และจัดพิมพ์ขึ้นในปี 1564 ภายหลังการประชุมสังคายนาที่เมืองเทรนต์.
คณะกรรมการพิจารณาดัชนีถูกตั้งขึ้นเป็นพิเศษในปี 1571 เพื่อดูแลการปรับปรุงดัชนี. ในครั้งหนึ่ง ๆ จะมีคณะกรรมการสามคณะตัดสินว่าจะสั่งห้ามหนังสือเล่มไหน คือ คณะกรรมการสถาบันบริสุทธิ์, คณะกรรมการพิจารณาดัชนี, และหัวหน้าราชสำนักโปป. การมีหลายคนทำงานซ้ำซ้อนกันและความเห็นที่ไม่ลงรอยกันในเรื่องที่ว่า บิชอปหรือเจ้าหน้าที่ศาลศาสนาในท้องถิ่นกันแน่ที่ควรมีอำนาจมากกว่า เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การพิมพ์รายชื่อหนังสือต้องห้ามฉบับที่สามล่าช้า. ดัชนีที่คณะกรรมการพิจารณาดัชนีจัดทำขึ้นและประกาศใช้โดยเคลเมนต์ที่ 8 ในเดือนมีนาคม 1596 ถูกสถาบันบริสุทธิ์ขอให้ยับยั้งไว้ก่อนจนกว่าจะถึงเวลาที่ดัชนีจะมีอำนาจเด็ดขาดยิ่งขึ้นในการสั่งห้ามการอ่านคัมภีร์ไบเบิลทั้งหมดที่เป็นภาษาของสามัญชน.
ด้วยฉบับพิมพ์ครั้งที่สามนี้ ดัชนีหนังสือต้องห้ามจึงมีรูปแบบที่ค่อนข้างแน่นอน แม้ว่ามีการปรับให้ทันสมัยอยู่เรื่อย ๆ ตลอดหลายศตวรรษ. ชาวโปรเตสแตนต์หลายคนที่เห็นว่าหนังสือของตนก็ถูกห้ามด้วยได้บอกว่า ดัชนีฉบับที่สามนี้เป็น “คู่มือดีที่สุดที่ช่วยระบุว่าหนังสือเล่มไหนน่าอ่านที่สุด.” แต่ต้องไม่ลืมว่าในเวลานั้น แนวคิดของคริสตจักรโปรเตสแตนต์ในเรื่องการตรวจสอบยับยั้งหนังสือต่าง ๆ แทบจะเหมือนกับแนวคิดของคริสตจักรคาทอลิกเลยทีเดียว.
ตามที่นักประวัติศาสตร์ อันตอนโย โรโตนโด กล่าว ดัชนีนั้นส่งผลหายนะต่อวัฒนธรรม ทำให้วัฒนธรรมในประเทศอย่างอิตาลีถอยหลัง “เข้าสู่สภาพที่พัฒนาการชะงักงัน.” กวีโด ดัลล์โอลโย นักประวัติศาสตร์อีกคนหนึ่งกล่าวว่า ดัชนีนี้เป็น “ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดการถดถอยอย่างหนักในด้านพัฒนาการของวัฒนธรรมในอิตาลีเมื่อเทียบกับส่วนอื่น ๆ ของยุโรปเกือบทั้งหมด.” ที่น่าขันก็คือ หนังสือบางเล่มรอดอยู่เพราะถูกเก็บไว้ในที่พิเศษซึ่งเรียกกันว่าขุมนรก เป็นสถานที่ที่ถูกสร้างไว้ในหอสมุดหลายแห่งของคริสตจักรเพื่อเก็บหนังสือต้องห้ามและใส่กุญแจไว้.
อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นของสาธารณชนซึ่งมีบทบาทขึ้นมาในยุคแห่งความรู้แจ้งเห็นจริงได้มีส่วนช่วยทีละเล็กทีละน้อยในการกำจัด “เครื่องมือที่จำกัด
เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยการเขียนบทความมากที่สุดเท่าที่เคยใช้กันมา.” ในปี 1766 บรรณาธิการชาวอิตาลีคนหนึ่งเขียนว่า “การสั่งห้ามของคริสตจักรโรมันคาทอลิกไม่ได้กำหนดคุณค่าของหนังสือ. สาธารณชนต่างหากที่กำหนด.” ดัชนีนั้นหมดความสำคัญลงไปเรื่อย ๆ และในปี 1917 คณะกรรมการพิจารณาดัชนีซึ่งคอยดูแลดัชนีนั้นก็ถูกยุบไป. ตั้งแต่ปี 1966 ดัชนีนั้น “ไม่มีอำนาจตามบัญญัติของคริสตจักรอีกต่อไปในการตรวจสอบยับยั้ง.”คัมภีร์ไบเบิลในภาษาของสามัญชน
ประวัติของดัชนีเผยให้เห็นว่า ในบรรดา “หนังสือแพร่เชื้อ” มีเล่มหนึ่งโดยเฉพาะที่ทำให้พวกเจ้าหน้าที่ของคริสตจักรวิตกกังวล นั่นคือ คัมภีร์ไบเบิลในภาษาของสามัญชน. เคซุส มาร์ติเนท เด บูกันดา ผู้ชำนัญพิเศษ อธิบายว่า ในศตวรรษที่ 16 “คัมภีร์ไบเบิลครบชุดหรือภาคพันธสัญญาใหม่ประมาณ 210 ฉบับ” มีรายชื่ออยู่ในดัชนีนั้น. ในช่วงศตวรรษที่ 16 ชาวอิตาลีเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นนักอ่านคัมภีร์ไบเบิลที่กระตือรือร้น. แต่ดัชนีนั้น ซึ่งสั่งห้ามพระคัมภีร์ในภาษาของสามัญชนอย่างเด็ดขาด ได้ทำให้สายสัมพันธ์ของชาตินี้กับพระคำของพระเจ้าเปลี่ยนไปอย่างขนานใหญ่. ฟราญญีโตกล่าวว่า “การห้ามและกำจัดพระคัมภีร์บริสุทธิ์ในฐานะเป็นแหล่งคำสอนออกหากได้ทำให้ในจิตใจชาวอิตาลีเกิดความสับสนระหว่างพระคัมภีร์กับหนังสือของพวกออกหาก.” เขาบอกอีกว่า “ทางแห่งความรอดสำหรับชาวคาทอลิกในยุโรปภาคใต้มีมาโดยทางการสอนแบบปุจฉา-วิสัชนา” และ “คริสตจักรโรมันคาทอลิกอยากจะได้คนที่อ่อนหัดด้านศาสนามากกว่าผู้ที่ชำนาญด้านศาสนา.”
จนมาถึงปี 1757 โปปเบเนดิกต์ที่ 14 จึงได้อนุญาตให้มีการอ่าน ‘คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลที่เป็นภาษาของสามัญชนซึ่งผ่านการอนุมัติจากเจ้าหน้าที่ของโปป.’ ในที่สุด จึงได้มีการเตรียมการจัดทำฉบับแปลใหม่ในภาษาอิตาลีขึ้นมาซึ่งอาศัยฉบับลาตินวัลเกต. ที่จริง ชาวคาทอลิกในอิตาลียังต้องรอจนกระทั่งปี 1958 จึงได้รับคัมภีร์ไบเบิลครบชุดฉบับแรกซึ่งแปลโดยตรงจากภาษาเดิม.
ฟราญญีโตกล่าวว่า ปัจจุบันนี้ผู้คนที่ไม่ใช่ชาวคาทอลิกกำลังขยันขันแข็งในการ “จำหน่ายจ่ายแจกพระคัมภีร์ในทุกหนทุกแห่ง.” ไม่ต้องสงสัยว่า พยานพระยะโฮวาย่อมอยู่ในบรรดาผู้ที่ทำเช่นนั้นอย่างกระตือรือร้นที่สุด พวกเขาได้จำหน่ายจ่ายแจกพระคัมภีร์บริสุทธิ์ฉบับแปลโลกใหม่ ในภาษอิตาลีไปแล้วมากกว่าสี่ล้านเล่ม. ด้วยวิธีนี้ พวกเขาได้ช่วยทำให้ความรักต่อพระคำของพระเจ้าในหัวใจของผู้คนมากมายลุกโชนขึ้นมาใหม่. (บทเพลงสรรเสริญ 119:97) คุณน่าจะทำความคุ้นเคยมากขึ้นกับหนังสือสุดพิเศษนี้มิใช่หรือ?
[ภาพหน้า 20, 21]
หน้าต่าง ๆ ในดัชนีหนังสือต้องห้าม
[ที่มาของภาพ]
Su concessione del Ministero per i Beni e le Attività Culturali
[ภาพหน้า 22]
คัมภีร์ไบเบิลภาษาอิตาลีเล่มหนึ่งในศตวรรษที่ 16 ที่ถูกคริสตจักรสั่งห้าม
[ภาพหน้า 22]
“ฉบับแปลโลกใหม่” ทำให้ผู้คนมากมายเกิดความรักต่อพระคำของพระเจ้า