โฉมหน้าที่เปลี่ยนไปของแฟชั่น
โฉมหน้าที่เปลี่ยนไปของแฟชั่น
ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ การตัดสินใจของเราในแต่ละวันเกี่ยวกับเสื้อผ้าที่เราสวมใส่นั้นได้รับอิทธิพลจากแฟชั่นอย่างน้อยในระดับหนึ่ง. แท้จริง อิทธิพลอันมีพลังของแฟชั่นส่งผลอย่างมากต่อแบบเสื้อผ้าที่วางขายอยู่.
แม้แต่เสื้อผ้าในสมัยนี้ที่เราถือว่าเป็นแบบธรรมดา ๆ ก็เคยเป็นแฟชั่นล่าสุดมาก่อน. ตัวอย่างเช่น เสื้อเชิ้ตกับเนกไทของผู้ชายเคยเป็นแฟชั่นที่ได้รับความนิยมสูงสุดเมื่อกว่าหนึ่งร้อยปีมาแล้ว. และเสื้อไหมพรมของผู้หญิงก็เริ่มเป็นแบบที่นิยมกันในช่วงทศวรรษ 1920.
ความต้องการพื้นฐานสองอย่างที่เป็นแรงกระตุ้นอุตสาหกรรมแฟชั่นก็คือ ความต้องการสิ่งแปลกใหม่และความต้องการที่จะทำตามคนอื่น. แทบทุกคนชอบใส่เสื้อผ้าแบบใหม่. นี่คือเหตุผลที่บางครั้งเราซื้อเสื้อผ้า ใช่ว่าชุดเก่าจะใช้ไม่ได้แล้ว แต่เพียงเพราะอยากเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง. นอกจากนั้น เราอยากแต่งตัวให้เหมาะกับกาลเทศะ เราจึงเลือกซื้อเสื้อผ้าที่ไม่ต่างจากคนรอบข้างมากนัก. ตลอดหลายศตวรรษ อุตสาหกรรมเสื้อผ้าได้สนองความต้องการที่จะได้สิ่งแปลกใหม่และความต้องการที่จะทำตามคนอื่น บางครั้งก็ใช้ประโยชน์จากความต้องการเหล่านี้ด้วยซ้ำ.
ประวัติโดยสังเขป
ในการออกแบบเสื้อผ้า นักออกแบบจะใช้องค์ประกอบพื้นฐานห้าประการนั่นคือ สี, รูปทรง, การทิ้งตัว, ลักษณะเนื้อผ้า, และลวดลายบนผ้า. ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักออกแบบและช่างตัดเย็บผ้ามีทางเลือกมากขึ้นในขอบเขตขององค์ประกอบทั้งห้านี้. ตัวอย่างเช่น ในสมัยอียิปต์โบราณ ถือกันว่าผ้าลินินเนื้อโปร่งบางซึ่งผลิตขึ้นในท้องถิ่นเป็นผ้าที่ดีที่สุด และยังเหมาะมากกับภูมิอากาศแบบอบอุ่น. แต่เนื่องจากไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะย้อมผ้าลินิน ผ้าชนิดนี้จึงมักมีอยู่สีเดียว คือสีขาวที่เกิดจากการฟอก. ถึงกระนั้น นักออกแบบเสื้อผ้าชาวอียิปต์ก็อัดจีบผ้าเพื่อให้เสื้อผ้ามีรูปทรงและการทิ้งตัวที่สวยงาม. โดยวิธีนี้ แฟชั่นแบบหนึ่งที่คงอยู่ได้นานที่สุดในโลกจึงเกิดขึ้น.
พอถึงศตวรรษที่หนึ่ง ส.ศ. ผู้คนสามารถซื้อหาผ้าและสีผ้าแบบใหม่ ๆ ได้. ชาวโรมันผู้ร่ำรวยนำเข้าผ้าไหมจากจีนหรืออินเดีย แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการขนส่งจะทำให้ผ้าไหมที่ทอแล้วมีราคาแพงพอ ๆ กับทองคำก็ตาม. ผ้าที่นิยมกันอีกชนิดหนึ่งคือผ้าขนสัตว์ย้อมสีจากเมืองไทร์ (ตุโร) ผ้านี้หากหนักหนึ่งกิโลกรัมอาจมีราคาสูงถึง 2,000 เดนาริอน หรือเท่ากับค่าจ้างหกปีของคนงานทั่วไป. สีย้อมและผ้าชนิดใหม่ ๆ ทำให้สตรีชาวโรมันที่ร่ำรวยสามารถสวมใส่เสื้อคลุมตัวยาวซึ่งทำด้วยผ้าฝ้ายสีน้ำเงินจากอินเดียหรืออาจเป็นผ้าไหมสีเหลืองจากจีน.
ถึงแม้มีเสื้อผ้าแบบใหม่ ๆ ออกมาเป็นระยะ ๆ แต่ในยุคก่อน ๆ เสื้อผ้าราคาแพงมักเป็นที่นิยมไปชั่วชีวิต. การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างช้า ๆ และมักจะอยู่ในวงสังคมชั้นสูงเท่านั้น. อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม แฟชั่นก็เริ่มมีอิทธิพลต่อสามัญชนมากขึ้น.
ในศตวรรษที่ 19 วงการอุตสาหกรรมเริ่มหันมาผลิตเสื้อผ้าสำหรับทั้งคนรวยและคนจน. โรงงานทอผ้าฝ้ายและผ้าขนสัตว์มีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และผ้าก็มีราคาถูกลง. จักรเย็บผ้าทำให้สามารถผลิตเสื้อผ้าได้ในราคาถูกกว่าแต่ก่อน และสีสังเคราะห์ใหม่ ๆ ก็มีสีสันออกมาให้เลือกมากขึ้น.
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและทางเทคโนโลยีมีบทบาทมากกว่านั้นในการผลิตเสื้อผ้าสำหรับสามัญชน. ในประเทศแถบยุโรปตะวันตกและอเมริกาเหนือ ผู้คนมีเงินจับจ่ายมากขึ้น. ในทศวรรษปี 1850 นิตยสารสำหรับผู้หญิงเริ่มผลิตออกมา และหลังจากนั้นไม่นาน ห้างสรรพสินค้าก็เริ่มขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปขนาดมาตรฐาน. นอกจากนั้น ในศตวรรษที่ 19 ชาลส์ เฟรเดอริก เวิร์ท เริ่มจัดงานแสดงแฟชั่นโดยใช้นางแบบจริง ๆ เพื่อกระตุ้นความสนใจของลูกค้า.
ในศตวรรษที่ 20 เส้นใยสังเคราะห์ชนิดใหม่ ๆ เช่น เรยอน, ไนลอน, และโพลีเอสเตอร์ ทำให้ผู้ผลิตเลือกใช้ผ้าได้หลากหลายมากขึ้น. การออกแบบลายผ้าด้วยคอมพิวเตอร์ทำให้ผลิตลวดลายใหม่ ๆ ได้ง่ายขึ้น และเนื่องจากเป็นยุคโลกาภิวัตน์ แฟชั่นแนวใหม่ ๆ อาจปรากฏขึ้นแทบจะพร้อม ๆ กันตามถนนในโตเกียว, นิวยอร์ก, ปารีส, และเซาเปาลู. ขณะเดียวกัน พวกนักออกแบบและผู้ผลิตก็ค้นพบวิธีใหม่ ๆ ในการโฆษณาสินค้าของตน.
ปัจจุบัน คนหนุ่มสาวกลายเป็นกลุ่มที่คลั่งไคล้แฟชั่นมากที่สุดแทนที่คนรวย. หนุ่มสาวนับล้านคนซื้อเสื้อผ้าใหม่ทุกเดือน และอุตสาหกรรมเสื้อผ้าก็ผลิตสินค้าออกมามีมูลค่าปีละหลายพันล้านดอลลาร์. * แต่มีอันตรายซ่อนอยู่ไหม?
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 12 ในรอบหนึ่งปีเมื่อไม่นานมานี้ มีการกะประมาณว่าเสื้อผ้าที่ผลิตออกมามีมูลค่า 335,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ.
[กรอบ/ภาพหน้า 4, 5]
ผู้นำแฟชั่น
เป็นเวลาหลายศตวรรษ บรรดากษัตริย์และชนชั้นสูงทั้งหลายเป็นผู้กำหนดมาตรฐานด้านการแต่งกาย. ในศตวรรษที่ 17 พระเจ้าหลุยส์ที่ 13 แห่งฝรั่งเศสตัดสินใจใส่ผมปลอมเพื่อปกปิดศีรษะล้านของพระองค์. จากนั้นไม่นาน เหล่าชนชั้นสูงของยุโรปก็พากันโกนศีรษะและใส่ผมปลอม ซึ่งเป็นแฟชั่นหนึ่งที่นิยมกันนานกว่าหนึ่งศตวรรษ.
ในศตวรรษที่ 19 นิตยสารสำหรับผู้หญิงได้เสนอแฟชั่นแนวต่าง ๆ และถึงกับแถมแบบตัดเสื้อที่ราคาไม่แพงมาด้วยเพื่อพวกผู้หญิงจะตัดเสื้อผ้าได้เอง. ในศตวรรษที่ 20 เมื่อภาพยนตร์และโทรทัศน์ได้รับความนิยม ดาราก็กลายเป็นขวัญใจของคนทั่วโลกและเป็นผู้นำด้านแฟชั่น. นักดนตรีชื่อดังก็เช่นกัน ชอบสวมใส่เสื้อผ้าแบบแปลก ๆ ซึ่งหนุ่มสาวหลายคนจะเลียนแบบทันที. ทุกวันนี้ก็แทบไม่ต่างกันเลย นักโฆษณาใช้การแสดงแฟชั่น, นิตยสารที่ใช้กระดาษมันเงา, ป้ายโฆษณา, ตู้กระจกหน้าร้านค้า, และการโฆษณาทางโทรทัศน์เพื่อกระตุ้นความต้องการเสื้อผ้าใหม่ ๆ อย่างบังเกิดผล.
[ภาพ]
พระเจ้าหลุยส์ที่ 13
[ที่มาของภาพ]
From the book The Historian’s History of the World
[ภาพหน้า 4]
ชุดผ้าลินินของชาวอียิปต์โบราณชุดนี้เป็นแฟชั่นแบบหนึ่งที่คงอยู่ได้นานที่สุดในโลก
[ที่มาของภาพ]
Photograph taken by courtesy of the British Museum
[ภาพหน้า 4]
ในโรมโบราณ พวกผู้หญิงจะสวมเสื้อคลุมยาว
[ที่มาของภาพ]
From the book Historia del Traje, 1917
[ภาพหน้า 4, 5]
ชุดกิโมโนมีมาตั้งแต่ราว ๆ ปี 650 ส.ศ.
[ที่มาของภาพ]
From the newspaper La Ilustración Artística, Volume X, 1891
[ภาพหน้า 5]
ในยุคก่อน ๆ เสื้อผ้าราคาแพงมักจะเป็นที่นิยมไปชั่วชีวิต
[ที่มาของภาพ]
EclectiCollections
[ภาพหน้า 5]
การปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้สามัญชนมีโอกาสติดตามแฟชั่นมากขึ้น
[ที่มาของภาพ]
EclectiCollections