ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การร่ายรำกับนกกระเรียน

การร่ายรำกับนกกระเรียน

การ​ร่าย​รำ​กับ​นก​กระเรียน

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​สเปน

ใน​เมือง​ปูซาน ประเทศ​เกาหลี​ใต้ คุณ​สามารถ​ไป​ชม​การ​เต้น​รำ​แบบ​พื้น​บ้าน​ที่​ไม่​เหมือน​ใคร. พวก​ผู้​ชาย​ที่​สวม​เสื้อ​คลุม​สี​ขาว​และ​ใส่​หมวก​ทรง​สูง​สี​ดำ​ทำ​ท่า​กระพือ​ปีก, ค้อม​ตัว​แล้ว​หมุน​ไป​รอบ ๆ อย่าง​รวด​เร็ว, และ​ถึง​กับ​ยืน​ขา​เดียว​ด้วย​ซ้ำ.

ท่า​เต้น​ที่​มี​ลีลา​เฉพาะ​ซึ่ง​ไม่​ได้​ซ้อม​ไว้​ก่อน​มี​คำ​อธิบาย​ง่าย ๆ. ผู้​ชาย​เหล่า​นี้​กำลัง​เลียน​แบบ​ท่า​ทาง​ของ​นก​กระเรียน​หัว​แดง​ซึ่ง​อพยพ​มา​อยู่​ที่​เกาหลี​ใต้​ใน​ช่วง​ฤดู​หนาว​เป็น​เวลา​หลาย​ศตวรรษ​แล้ว. การ​เต้น​รำ​ที่​แปลก​ไม่​เหมือน​ใคร​ของ​นก​กระเรียน​เหล่า​นี้​ทำ​ให้​ชาว​บ้าน​ประทับใจ​ถึง​ขนาด​ที่​พวก​เขา​คิด​ค้น​ท่า​เต้น​ของ​ตน​ขึ้น​โดย​อาศัย​ท่า​ทาง​ของ​นก​นี้.

จาก​ที่​นั่น​ประมาณ​หนึ่ง​พัน​ห้า​ร้อย​กิโลเมตร ใน​เกาะ​ฮอกไกโด ประเทศ​ญี่ปุ่น ผู้​รัก​ธรรมชาติ​พา​กัน​หลั่งไหล​ไป​ที่​อุทยาน​แห่ง​ชาติ​คุชิโระชิสึเง็น เพื่อ​มา​ดู​ของ​จริง. เนื่อง​จาก​มี​การ​จัด​โครงการ​ให้​อาหาร​ใน​ช่วง​ฤดู​หนาว​อัน​ทารุณ ปัจจุบัน​ฝูง​นก​กระเรียน​หัว​แดง​ของ​ญี่ปุ่น​จึง​มี​จำนวน​หลาย​ร้อย​ตัว. การ​ที่​ฝูง​นก​สี​ขาว​ปน​ดำ​ซึ่ง​งาม​สง่า​เต้น​รำ​อย่าง​มี​ชีวิต​ชีวา​ท่ามกลาง​หิมะ​นั้น​เป็น​ภาพ​ที่​งดงาม​มาก. นัก​เขียน​ของ​นิตยสาร​เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ชื่อ​เจนนิเฟอร์ แอคเคอร์แมน ใช้​คำ​ภาษา​ญี่ปุ่น​อะวาเระ เพื่อ​พรรณนา​ความ​ประทับใจ​ของ​เธอ. เธอ​บอก​ว่า คำ​นี้​พรรณนา​ถึง “ความ​รู้สึก​ที่​เกิด​เมื่อ​ความ​งาม​จับ​จิต​ของ​สิ่ง​ที่​ไม่​เที่ยง​ไม่​จี​รัง​มา​กระทบ​ใจ.”

นก​กระเรียน​ซึ่ง​พบ​ได้​ใน​ทุก​ทวีป​ยก​เว้น​อเมริกา​ใต้​และ​แอนตาร์กติกา เป็น​นก​ที่​ผู้​คน​ชื่น​ชอบ​มา​นาน​แล้ว. ภาพ​วาด​ของ​นก​เหล่า​นี้​ปรากฏ​อยู่​ตาม​ถ้ำ​ใน​แอฟริกา, ออสเตรเลีย, และ​ยุโรป. นอก​จาก​นั้น ใน​แถบ​ตะวัน​ออก​ไกล ที่​ซึ่ง​นก​กระเรียน​เป็น​สัญลักษณ์​ของ​ความ​สุข​และ​ชีวิต​ที่​ยืน​ยาว เหล่า​ศิลปิน​ได้​สร้าง​สรรค์​ผล​งาน​มาก​มาย​เกี่ยว​กับ​นก​กระเรียน. อาจ​เป็น​เพราะ​นก​กระเรียน​อยู่​คู่​กัน​ตลอด​ชีวิต มัน​จึง​เป็น​สัญลักษณ์​ของ​ความ​สุข​ใน​ชีวิต​สมรส​และ​มัก​มี​รูป​นก​นี้​อยู่​บน​ชุด​กิโมโน​ของ​เจ้าสาว​ด้วย. ชาว​เกาหลี​จัด​ให้​นก​กระเรียน​หัว​แดง​เป็น​หนึ่ง​ใน “อนุสรณ์​ธรรมชาติ” เนื่อง​จาก​เป็น​นก​ที่​หา​ยาก​และ​มี​ความ​งาม. ชาว​ญี่ปุ่น​ลง​รูป​นก​กระเรียน​ร่าย​รำ​ไว้​บน​ธนบัตร 1,000 เยน. และ​ย้อน​ไป​ถึง 2,500 ปี​ที่​แล้ว ชาว​จีน​ได้​คิด​ค้น “ท่า​ร่าย​รำ​ของ​นก​กระเรียน​ขาว.” อาจ​เป็น​เพราะ​นก​กระเรียน​ชอบ​เต้น​รำ​อย่าง​ที่​ไม่​มี​ใคร​เหมือน​นี่​เอง​จึง​ทำ​ให้​มัน​เป็น​ที่​ชื่น​ชอบ​ของ​ผู้​คน.

การ​ร่าย​รำ​ของ​นก​กระเรียน

นก​กระเรียน​ทั้ง 15 ชนิด​ชอบ​เต้น​รำ และ​แม้​แต่​ลูก​นก​ที่​มี​อายุ​ไม่​ถึง​สอง​วัน​ก็​พยายาม​จะ​เต้น​รำ. หนังสือ​คู่มือ​นก​ของ​โลก (ภาษา​อังกฤษ) อธิบาย​ว่า “นก​อื่น​บาง​ชนิด​ก็​เต้น​รำ​เหมือน​กัน แต่​ไม่​มี​ชนิด​ใด​ที่​เต้น​รำ​บ่อย​หรือ . . . สวย​งาม​ใน​สายตา​มนุษย์​เท่า​กับ​นก​ชนิด​นี้.” ท่า​ร่าย​รำ​ของ​นก​กระเรียน​มี​หลาก​หลาย​มาก​และ​น่า​ชม​เสมอ เมื่อ​คำนึง​ถึง​ขนาด​อัน​ใหญ่​โต​ของ​มัน, ท่า​ทาง​อัน​งาม​สง่า, และ​การ​พุ่ง​ตัว​ขึ้น​กลาง​อากาศ​อย่าง​น่า​ทึ่ง​พร้อม​กับ​กาง​ปีก​ออก​เต็ม​ที่. หนังสือ​คู่มือ​นก​ของ​โลก เสริม​ว่า การ​เต้น​รำ​ของ​นก​กระเรียน​โดย​ทั่ว​ไป​รวม​ถึง “ท่า​ทาง​ที่​ต่อ​เนื่อง​ของ​การ​โค้ง​ตัว, การ​กระโดด, การ​วิ่ง​และ​การ​บิน​ระยะ​สั้น.” และ​เช่น​เดียว​กับ​มนุษย์ เมื่อ​นก​กระเรียน​ไม่​กี่​ตัว​เริ่ม​เต้น​รำ นก​ทั้ง​ฝูง​ก็​มัก​จะ​ร่วม​ด้วย. ผู้​สังเกตการณ์​ใน​แอฟริกา​เคย​เห็น​นก​กระเรียน​หัว​เทา​มาก​ถึง 60 คู่​เต้น​รำ​อย่าง​พร้อม​เพรียง​กัน.

นก​กระเรียน​เต้น​รำ​ทำไม? เพื่อ​ออก​กำลัง​กาย, ติด​ต่อ​สื่อสาร, เกี้ยวพาราสี, เตือน​ภัย, หรือ​เพียง​เพื่อ​แสดง​ว่า​อารมณ์​ดี? แรง​กระตุ้น​อาจ​เกิด​จาก​เหตุ​ผล​อย่าง​ใด​อย่าง​หนึ่ง​หรือ​ทั้ง​หมด​ที่​ได้​กล่าว​ไป. แน่นอน​ว่า นก​กระเรียน​ชอบ​เต้น​เป็น​คู่ และ​การ​เต้น​รำ​ก็​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​การ​เกี้ยวพาราสี. แต่​ทว่า นก​ที่​ยัง​ไม่​โต​เต็ม​ที่​ก็​เต้น​รำ​และ​บรรดา​ลูก​นก​ก็​มัก​เป็น​นัก​เต้น​รำ​ที่​กระตือรือร้น​มาก​ที่​สุด. คู่มือ​นก​ของ​โลก จึง​กล่าว​ลง​ท้าย​ว่า “ไม่​ว่า​จะ​เป็น​แรง​กระตุ้น​ใด​ก็​ตาม นับ​ว่า​น่า​เพลิดเพลิน​ที่​ได้​เฝ้า​ดู​มัน.”

การ​บิน​ของ​นก​กระเรียน

คุณ​มัก​ได้​ยิน​เสียง​ของ​นก​กระเรียน​นาน​ก่อน​จะ​เห็น​ตัว​มัน. เสียง​ร้อง​ที่​ก้อง​กังวาน​เหมือน​เสียง​แตร​แสดง​ว่า​มัน​กำลัง​มา แม้​ว่า​ตัว​มัน​อาจ​อยู่​ห่าง​ไป​หลาย​กิโลเมตร. เสียง​นี้​ดู​เหมือน​ช่วย​ให้​นก​บิน​ไป​ด้วย​กัน​เป็น​ฝูง​ระหว่าง​การ​บิน​อพยพ​อัน​ยาว​นาน. นก​กระเรียน​ส่วน​ใหญ่​อพยพ​จาก​แหล่ง​ผสม​พันธุ์​ทาง​เหนือ. ใน​ฤดู​ใบ​ไม้​ร่วง พวก​มัน​จะ​เดิน​ทาง​เป็น​ระยะ​ทาง​ไกล​จาก​แคนาดา, สแกนดิเนเวีย, หรือ​ไซบีเรีย​ไป​ยัง​ภูมิภาค​ที่​อบอุ่น​กว่า​ใน​จีน, อินเดีย, สหรัฐ (เทกซัส), หรือ​ใน​แถบ​เมดิเตอร์เรเนียน. การ​เดิน​ทาง​นี้​มี​อันตราย​และ​เหน็ด​เหนื่อย​มาก. เคย​มี​ผู้​พบ​เห็น​นก​กระเรียน​ยูเรเชีย​บิน​ใน​ระดับ​ความ​สูง​เกือบ 10,000 เมตร​ขณะ​ที่​มัน​ข้าม​เทือก​เขา​หิมาลัย​ไป​ยัง​อินเดีย. มัน​บิน​เป็น​รูป​ตัว V เหมือน​ที่​เห็น​ทั่ว​ไป​และ​ใช้​ประโยชน์​จาก​กระแส​ลม​ร้อน​ที่​ลอย​สูง​ขึ้น​เพื่อ​ช่วย​ให้​มัน​ร่อน​ไป​ได้​ไกล​ที่​สุด​เท่า​ที่​จะ​เป็น​ไป​ได้. แต่​เมื่อ​บิน​ข้าม​น้ำ มัน​ต้อง​อาศัย​กำลัง​ปีก​เพียง​อย่าง​เดียว. *

นัก​ปักษิน​วิทยา​ชาว​สเปน​ชื่อ​ฮวน คาร์ลอส อาลอนโซ ใช้​เวลา​เกือบ 20 ปี​เฝ้า​สังเกต​รูป​แบบ​การ​อพยพ​ของ​นก​กระเรียน​ยูเรเชีย 70,000 ตัว​ซึ่ง​มา​อยู่​ที่​สเปน​ใน​ฤดู​หนาว. เขา​อธิบาย​ว่า “เรา​สวม​ห่วง​ให้​นก​บาง​ตัว ส่วน​บาง​ตัว​ก็​ติด​เครื่อง​ส่ง​สัญญาณ​วิทยุ​เล็ก ๆ ไว้​เพื่อ​จะ​ติด​ตาม​การ​อพยพ​ของ​มัน​ได้. เป็น​เรื่อง​น่า​ตื่นเต้น​มาก​สำหรับ​ผม หาก​ขณะ​อยู่​ใน​แหล่ง​ที่​พัก​ช่วง​ฤดู​หนาว​ของ​มัน​ใน​สเปน แล้ว​ผม​ได้​พบ​นก​ตัว​ที่​ผม​เอง​ได้​สวม​ห่วง​ให้​ตอน​ที่​มัน​ยัง​เป็น​ลูก​นก​อยู่​ทาง​ภาค​เหนือ​ของ​เยอรมนี. เส้น​ทาง​การ​อพยพ​ของ​นก​กระเรียน​ถูก​ใช้​มา​นับ​ศตวรรษ​แล้ว. มี​ผู้​พบ​นก​กระเรียน​ตัว​หนึ่ง​ที่​ถูก​สวม​ห่วง​ใน​ฟินแลนด์​ไป​พัก​ช่วง​ฤดู​หนาว​อยู่​ทาง​ใต้​ไกล​ถึง​เอธิโอเปีย ส่วน​นก​บาง​ตัว​จาก​ไซบีเรีย​ไป​พัก​ช่วง​ฤดู​หนาว​อยู่​ใน​เม็กซิโก.”

สู้​เพื่อ​ความ​อยู่​รอด—ด้วย​ความ​ช่วยเหลือ​ของ​มนุษย์

ปัจจุบัน ใน​บรรดา​นก​กระเรียน 15 ชนิด​มี​อยู่ 9 ชนิด​ที่​เสี่ยง​ต่อ​การ​สูญ​พันธุ์. ชนิด​ที่​ใกล้​สูญ​พันธุ์​ที่​สุด​คือ​นก​กระเรียน​วูปปิง​แห่ง​อเมริกา​เหนือ ซึ่ง​เคย​ลด​จำนวน​ลง​เหลือ​เพียง 14 ตัว​ใน​ปี 1938. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เนื่อง​จาก​โครงการ​ผสม​พันธุ์​ใน​กรง​และ​การ​คุ้มครอง​ถิ่น​อาศัย​ที่​สำคัญ จำนวน​ของ​มัน​ก็​ค่อย ๆ เพิ่ม​ขึ้น​จน​มี​มาก​กว่า 300 ตัว. ปัจจุบัน นัก​ธรรมชาติ​วิทยา​เลี้ยง​ลูก​นก​ใน​กรง​เพื่อ​จะ​นำ​ไป​ปล่อย​ใน​เขต​ป่า​สงวน. ไม่​นาน​มา​นี้ มี​การ​ประสบ​ผล​สำเร็จ​ใน​การ​ใช้​เครื่องบิน​ที่​มี​น้ำหนัก​เบา​มาก​เพื่อ​สอน​ลูก​นก​กระเรียน​วูปปิง​บาง​ตัว​ให้​รู้​วิธี​อพยพ. นัก​วิทยาศาสตร์​ชาว​รัสเซีย​กำลัง​พยายาม​ทำ​แบบ​เดียว​กัน​เพื่อ​คุ้มครอง​นก​กระเรียน​ไซบีเรีย.

เรื่อง​ราว​ที่​น่า​ประทับใจ​ที่​สุด​เรื่อง​หนึ่ง​มา​จาก​ญี่ปุ่น. นก​กระเรียน​หัว​แดง​ฝูง​เล็ก ๆ ใน​เกาะ​ฮอกไกโด​ไม่​ได้​อพยพ เนื่อง​จาก​มัน​สามารถ​หา​อาหาร​กิน​ได้​ใน​ช่วง​ฤดู​หนาว​ตาม​ลำธาร​ใกล้​น้ำพุ​ร้อน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เมื่อ​ถึง​ฤดู​หนาว​อัน​ทารุณ​ใน​ปี 1952 แม้​แต่​ลำธาร​เหล่า​นั้น​ก็​เย็น​จน​เป็น​น้ำ​แข็ง และ​นก​ฝูง​เล็ก ๆ ประมาณ 30 ตัว​ก็​ดู​เหมือน​จะ​ต้อง​พบ​จุด​จบ​อย่าง​เลี่ยง​ไม่​ได้. แต่​เด็ก​นัก​เรียน​ใน​ท้องถิ่น​ได้​โปรย​เมล็ด​ข้าว​โพด​บน​ลำธาร​ที่​เป็น​น้ำ​แข็ง และ​นก​ฝูง​นั้น​ก็​รอด​มา​ได้. ตั้ง​แต่​นั้น​มา มี​การ​ให้​อาหาร​นก​กระเรียน​เป็น​ประจำ และ​นก​ฝูง​เล็ก ๆ ก็​เพิ่ม​จำนวน​ขึ้น​เป็น​เกือบ 900 ตัว หรือ​ประมาณ​หนึ่ง​ใน​สาม​ของ​ประชากร​นก​กระเรียน​หัว​แดง​ที่​มี​อยู่​ทั่ว​โลก.

เผชิญ​อนาคต​ที่​ไม่​แน่นอน

เช่น​เดียว​กับ​สัตว์​ชนิด​อื่น​หลาย​ชนิด นก​กระเรียน​ได้​รับ​ความ​เดือดร้อน​จาก​การ​ระบาย​น้ำ​ออก​จาก​ที่​ลุ่ม​ชื้น​แฉะ​และ​จาก​การ​สูญ​เสีย​พื้น​ที่​ที่​เป็น​ทุ่ง​หญ้า. เพื่อ​จะ​อยู่​รอด นก​กระเรียน​ต้อง​เรียน​รู้​ที่​จะ​อยู่​กับ​มนุษย์. ตาม​ปกติ​มัน​ชอบ​อยู่​ห่าง​จาก​มนุษย์​หลาย​กิโลเมตร​อัน​เป็น​ระยะ​ที่​ปลอด​ภัย แต่​ใน​ที่​ซึ่ง​มัน​ไม่​ถูก​รังแก มัน​อาจ​เริ่ม​คุ้น​เคย​กับ​การ​อยู่​ใกล้​มนุษย์. ใน​อินเดีย นก​กระเรียน​ซารัส นก​ที่​สูง​ที่​สุด​ใน​บรรดา​นก​ที่​บิน​ได้ ปรับ​ตัว​ที่​จะ​ผสม​พันธุ์​ใน​สระ​น้ำ​ตาม​หมู่​บ้าน. นก​กระเรียน​ชนิด​อื่น​ที่​ปรับ​ตัว​ได้​ดี​ก็​เรียน​รู้​ที่​จะ​เก็บ​อาหาร​จาก​ที่​ดิน​เพื่อ​การ​เกษตร​ขณะ​ที่​มัน​อพยพ​หรือ​เมื่อ​อยู่​ใน​ที่​พัก​ช่วง​ฤดู​หนาว.

หวัง​กัน​ว่า ความ​พยายาม​ร่วม​กัน​ของ​เหล่า​นัก​อนุรักษ์​ใน​หลาย​ประเทศ​จะ​เป็น​การ​รับประกัน​ความ​อยู่​รอด​ของ​นก​อัน​งาม​สง่า​เหล่า​นี้. ช่าง​เป็น​เรื่อง​น่า​เศร้า​สัก​เพียง​ไร​ถ้า​คน​รุ่น​ต่อ​ไป​จะ​ไม่​มี​โอกาส​ได้​ชื่นชม​กับ​การ​ร่าย​รำ​อัน​งดงาม​ของ​นก​กระเรียน​หรือ​ได้​ยิน​เสียง​โกญจนาท​ของ​มัน​ขณะ​ที่​พวก​มัน​บิน​ข้าม​ท้องฟ้า​ไป​ทาง​ใต้​ใน​ฤดู​ใบ​ไม้​ร่วง!

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 11 นก​กระเรียน​ยูเรเชีย​หลาย​พัน​ตัว​อพยพ​ผ่าน​อิสราเอล​ใน​ช่วง​ฤดู​ใบ​ไม้​ผลิ​และ​ฤดู​ใบ​ไม้​ร่วง และ​บาง​ตัว​ยัง​หยุด​พัก​ที่​นั่น​ตลอด​ช่วง​ฤดู​หนาว. ใน​ช่วง​บ่าย​แก่ ๆ แถบ​หุบเขา​จอร์แดน​ทาง​ตอน​เหนือ บาง​คน​อาจ​มี​โอกาส​ได้​เห็น​ฝูง​นก​กระเรียน​บิน​ผ่าน​โดย​มี​ภูเขา​เฮอร์โมน (เฮระโมน) ที่​ปก​คลุม​ด้วย​หิมะ​เป็น​ฉาก​หลัง. นี่​เป็น​ภาพ​แห่ง​ความ​งาม​ชั่ว​ขณะ​ที่​ไม่​อาจ​ลืม​ได้.

[ภาพ​หน้า 15]

นก​กระเรียน​หัว​แดง เอเชีย

[ภาพ​หน้า 16]

ราย​ละเอียด​จาก เครื่อง​ลาย​คราม​ของ​เกาหลี

[ภาพ​หน้า 16]

นก​กระเรียน​สี​ดำ​ปน​ขาว​พร้อม​ด้วย​ปอย​ขน​ที่​หู

[ภาพ​หน้า 16, 17]

นก​กระเรียน​ยุโรป​ธรรมดา​กำลัง​บิน

[ภาพ​หน้า 17]

นก​กระเรียน​หงอน