ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การสื่อความในโลกรอบตัวเรา

การสื่อความในโลกรอบตัวเรา

การ​สื่อ​ความ​ใน​โลก​รอบ​ตัว​เรา

“ถ้า​ไม่​มี​การ​สื่อ​ความ แต่​ละ​ชีวิต​จะ​เป็น​เพียง​เกาะ​ที่​อยู่​โดด​เดี่ยว​จาก​เกาะ​อื่น ๆ ทั้ง​หมด.”—ภาษา​สัตว์ (ภาษา​อังกฤษ).

ใน​ผืน​ป่า, ทุ่ง​สะวันนา, หรือ​แม้​แต่​ใน​สวน​หลัง​บ้าน​คุณ สัตว์​จำนวน​ไม่​น้อย​อาจ​กำลัง​ง่วน​อยู่​กับ​การ​สื่อ​ความ​กัน. หนังสือ​ชื่อ​ภาษา​สัตว์ กล่าว​ว่า “สัตว์​ใช้​ประสาท​สัมผัส​ทุก​อย่าง เช่น แสดง​ท่า​ทาง​ด้วย​อวัยวะ​และ​ส่วน​ต่าง ๆ ของ​ร่าง​กาย; รับ​ส่ง​สัญญาณ​กลิ่น​ที่​อ่อน​ละมุน หรือ​ไม่​อ่อน​ละมุน​ใน​กรณี​ของ​ตัว​สกั๊งค์; ร้อง​เสียง​แหลม, เสียง​ดัง​สนั่น, และ​ร้อง​เพลง; รับ​และ​ส่ง​สัญญาณ​ไฟฟ้า; กะพริบ​แสง; เปลี่ยน​สี​ผิวหนัง; ‘เต้น​รำ;’ กระทั่ง​เคาะ​และ​กระทืบ​เท้า​ขณะ​ที่​เดิน​บน​พื้น​ดิน.” แต่​สัญญาณ​ทั้ง​หมด​นี้​หมาย​ถึง​อะไร?

นัก​วิทยาศาสตร์​ค้น​พบ​ความ​หมาย​ของ​สัญญาณ​ที่​สัตว์​ส่ง​ออก​ไป​โดย​การ​เฝ้า​สังเกต​อย่าง​ถี่ถ้วน. ตัว​อย่าง​เช่น พวก​เขา​สังเกต​ว่า เมื่อ​ไก่​แจ้​เห็น​สัตว์​ล่า​เหยื่อ​บน​พื้น​ดิน​เช่น​ตัว​วีเซิล ไก่​แจ้​จะ​ทำ​เสียง​แหลม​ดัง​กุ๊ก, กุ๊ก, กุ๊ก เพื่อ​เตือน​ไก่​ตัว​อื่น. แต่​ถ้า​มัน​เห็น​เหยี่ยว ไก่​แจ้​จะ​กรีด​เสียง​ร้อง​ครั้ง​เดียว​ยาว ๆ. การ​ร้อง​แต่​ละ​แบบ​ทำ​ให้​เกิด​ปฏิกิริยา​ตาม​แต่​อันตราย​ที่​มา​ใกล้ นี่​บ่ง​ชี้​ว่า​ไก่​สื่อ​ความ​อย่าง​มี​ความ​หมาย. มี​การ​สังเกต​ว่า นก​ชนิด​อื่น ๆ ก็​มี​การ​ส่ง​สัญญาณ​แบบ​ต่าง ๆ เช่น​กัน.

หนังสือ​เสียง​เพลง, เสียง​ขู่, และ​พิธี​การ (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “วิธี​หลัก​อย่าง​หนึ่ง​ที่​จะ​ศึกษา​เรื่อง​การ​สื่อ​ความ​ของ​สัตว์​คือ การ​บันทึก​สัญญาณ​ที่​น่า​สนใจ​แล้ว​เปิด​สัญญาณ​นั้น​และ​คอย​สังเกต​ว่า​มัน​มี​ปฏิกิริยา​ตอบ​สนอง​อย่าง​ที่​คาด​ไว้​หรือ​ไม่.” การ​ทดสอบ​กับ​ไก่​แจ้​ได้​ผล​อย่าง​เดียว​กับ​ที่​สังเกต​เห็น​ใน​ธรรมชาติ. วิธี​นี้​ใช้​ได้​ผล​แม้​แต่​กับ​แมงมุม. เพื่อ​จะ​ตัดสิน​ได้​ว่า​อะไร​ดึงดูด​แมงมุม​สุนัข​ป่า​ตัว​เมีย​ให้​สนใจ​แมงมุม​ตัว​ผู้​ที่​มา​เกี้ยวพาราสี ซึ่ง​พยายาม​ทำ​ให้​ตัว​เมีย​ประทับใจ​โดย​การ​โบก​ขา​คู่​หน้า​ที่​เต็ม​ไป​ด้วย​ขน​ให้​แมงมุม​ตัว​เมีย​ดู นัก​วิจัย​ทำ​การ​ทดลอง​โดย​บันทึก​ภาพ​แมงมุม​สุนัข​ป่า​ตัว​ผู้​ด้วย​กล้อง​วิดีโอ​แล้ว​ใช้​คอมพิวเตอร์​ลบ​ขน​ที่​ขา​ของ​มัน​ออก​หมด. เมื่อ​เขา​เปิด​วิดีโอ​ให้​แมงมุม​ตัว​เมีย​ดู มัน​ก็​เลิก​สนใจ​ทันที. นัก​วิจัย​เรียน​รู้​อะไร​จาก​เรื่อง​นี้? เห็น​ได้​ชัด​ว่า แมงมุม​สุนัข​ป่า​ตัว​เมีย​สนใจ​เฉพาะ​แมงมุม​ตัว​ผู้​ที่​โบก​ขา​ซึ่ง​เต็ม​ไป​ด้วย​ขน เท่า​นั้น!

ส่ง​สัญญาณ​ด้วย​กลิ่น

สัตว์​หลาย​ชนิด​ส่ง​สัญญาณ​ถึง​กัน​โดย​หลั่ง​สาร​เคมี​ที่​มี​กลิ่น​แรง เรียก​ว่า​เฟโรโมน ซึ่ง​ปกติ​จะ​ออก​มา​จาก​ต่อม​พิเศษ หรือ​ไม่​ก็​อยู่​ใน​ปัสสาวะ​หรือ​อุจจาระ​ของ​มัน. เช่น​เดียว​กับ​ที่​รั้ว​และ​ป้าย​ชื่อ​หรือ​หมาย​เลข​บ่ง​ชี้​ว่า​ที่​ดิน​ผืน​นั้น​เป็น​ของ​ใคร สาร​เฟโรโมน​ก็​บ่ง​ชี้​หรือ​เป็น​เครื่องหมาย​แสดง​อาณา​เขต​ของ​สัตว์​ตัว​นั้น ๆ รวม​ถึง​สุนัข​และ​แมว​ด้วย. แม้​ว่า​มอง​ไม่​เห็น แต่​การ​ทำ​เครื่องหมาย​แสดง​อาณา​เขต​แบบ​ที่​ได้​ผล​ที่​สุด​นี้​ก็​ทำ​ให้​สัตว์​ชนิด​เดียว​กัน​สามารถ​รักษา​ระยะ​ห่าง​จาก​กัน​ได้​อย่าง​เหมาะ​สม.

แต่​เฟโรโมน​ไม่​ได้​มี​ไว้​เพื่อ​ใช้​เป็น​เครื่องหมาย​แสดง​อาณา​เขต​เท่า​นั้น. สาร​นี้​เป็น​เหมือน​ป้าย​ประกาศ​ทาง​เคมี​ซึ่ง​สัตว์​ตัว​อื่น “อ่าน” ด้วย​ความ​สนใจ​ยิ่ง. หนังสือ​สัตว์​สื่อ​ความ​อย่าง​ไร (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า เครื่องหมาย​ที่​ทิ้ง​ไว้ “อาจ​มี​ข้อมูล​เพิ่ม​เติม​เกี่ยว​กับ​สัตว์​เจ้า​ถิ่น เช่น อายุ, เพศ, พละกำลัง​และ​ความ​สามารถ​อื่น ๆ, [รวม​ทั้ง] บอก​ด้วย​ว่า​เวลา​นี้​สัตว์​ตัว​นั้น​อยู่​ใน​ช่วง​ไหน​ของ​วงจร​แพร่​พันธุ์ . . . กลิ่น​ที่​สัตว์​นั้น​ทิ้ง​ไว้​เป็น​เสมือน​หนังสือ​เดิน​ทาง​ซึ่ง​ระบุ​ว่า​มัน​เป็น​สัตว์​อะไร.” เป็น​ที่​เข้าใจ​ว่า สัตว์​บาง​ตัว​ถือ​ว่า​การ​ทำ​เครื่องหมาย​แสดง​อาณา​เขต​เป็น​เรื่อง​สำคัญ​มาก ซึ่ง​เป็น​ข้อ​เท็จ​จริง​ที่​พนักงาน​สวน​สัตว์​รู้​ดี. หลัง​จาก​ล้าง​กรง​หรือ​บริเวณ​ที่​ขัง​สัตว์​แล้ว พนักงาน​สวน​สัตว์​สังเกต​ว่า​สัตว์​หลาย​ตัว​จะ​รีบ​ทำ​เครื่องหมาย​แสดง​อาณา​เขต​ของ​มัน​อีก​ทันที. ที่​จริง หนังสือ​ซึ่ง​อ้าง​ถึง​ข้าง​ต้น​กล่าว​ว่า “การ​ที่​ไม่​มี​กลิ่น​ของ​ตัว​เอง​ทำ​ให้​สัตว์​เครียด​มาก​และ​อาจ​กระตุ้น​ให้​เกิด​พฤติกรรม​ที่​ผิด​ปกติ​และ​อาจ​ถึง​กับ​เป็น​หมัน​ด้วย​ซ้ำ.”

เฟโรโมน​ชนิด​ต่าง ๆ มี​บทบาท​สำคัญ​ใน​อาณาจักร​แมลง​ด้วย. ตัว​อย่าง​เช่น เฟโรโมน​เตือน​ภัย​จะ​กระตุ้น​ให้​บุก​และ​โจมตี. เฟโรโมน​รวม​ฝูง​ทำ​หน้า​ที่​เชิญ​ชวน​สัตว์​ตัว​อื่น​ให้​ไป​ยัง​แหล่ง​อาหาร​หรือ​สถาน​ที่​ทำ​รัง​ที่​เหมาะ​สม. เฟโรโมน​ชนิด​นี้​ยัง​รวม​ถึง​เฟโรโมน​เพศ ซึ่ง​สัตว์​บาง​ชนิด​จะ​รับ​รู้​ได้​ไว​มาก. ผีเสื้อ​ไหม​ตัว​ผู้​มี​หนวด​ที่​อ่อน​นุ่ม​สอง​เส้น​ที่​ดู​เหมือน​ใบ​เฟิร์น​เล็ก ๆ. หนวด​นี้​ไว​ถึง​ขนาด​ที่​สามารถ​ตรวจ​จับ​เฟโรโมน​เพศ​เมีย​ได้​แม้​จะ​มี​เพียง​โมเลกุล​เดียว​เท่า​นั้น! เฟโรโมน​ประมาณ 200 โมเลกุล​จะ​ทำ​ให้​ตัว​ผู้​เริ่ม​เสาะ​หา​ตัว​เมีย. กระนั้น การ​สื่อ​ความ​ด้วย​เคมี​ไม่​ได้​จำกัด​อยู่​แค่​อาณาจักร​สัตว์​เท่า​นั้น.

พืช “พูด​ได้”

คุณ​รู้​ไหม​ว่า​พืช​สื่อ​ความ​กับ​พืช​ด้วย​กัน​และ​แม้​แต่​กับ​สัตว์​บาง​ชนิด​ด้วย? วารสาร​ดิสคัฟเวอร์ รายงาน​ว่า นัก​วิจัย​ใน​ประเทศ​เนเธอร์แลนด์​สังเกต​ว่า เมื่อ​ต้น​ถั่ว​ลิมา​ถูก​ไร​แมงมุม​จู่​โจม มัน​จะ​ปล่อย​สาร​เคมี​ร้อง​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ ซึ่ง​เป็น​การ​ดึงดูด​ไร​ชนิด​อื่น ๆ ที่​กิน​ไร​แมงมุม​เป็น​อาหาร. ใน​ทำนอง​เดียว​กัน เมื่อ​ต้น​ข้าว​โพด, ต้น​ยาสูบ, และ​ต้น​ฝ้าย​ถูก​หนอน​ผีเสื้อ​โจมตี มัน​จะ​ปล่อย​สาร​เคมี​ไป​ใน​อากาศ​เพื่อ​ดึงดูด​ตัว​ต่อ​ซึ่ง​เป็น​ศัตรู​ที่​ร้ายกาจ​ของ​หนอน​ผีเสื้อ. นัก​วิจัย​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “พืช​ไม่​เพียง​แต่​บอก​ว่า ‘ฉัน​ถูก​ทำ​ร้าย’ แต่​พืช​ยัง​ระบุ​ตัว​ผู้​ที่​ทำ​ร้าย​มัน​ด้วย. นี่​เป็น​ระบบ​ที่​ซับซ้อน​และ​น่า​พิศวง​มาก.”

การ​สื่อ​ความ​ระหว่าง​พืช​กับ​พืช​ก็​น่า​ทึ่ง​พอ ๆ กัน. ตาม​ที่​กล่าว​ใน​วารสาร​ดิสคัฟเวอร์ นัก​วิจัย “สังเกต​เห็น​ต้น​วิลโลว์, พอปลาร์, ออลเดอร์, และ​เบิร์ช​ฟัง​ข่าวสาร​จาก​ต้น​ไม้​ชนิด​เดียว​กัน และ​ต้น​อ่อน​ข้าว​บาร์เลย์​ฟัง​เสียง​ของ​ต้น​อ่อน​ข้าว​บาร์เลย์​ต้น​อื่น ๆ. ใน​แต่​ละ​กรณี พืช​ที่​ได้​รับ​ความ​เสียหาย ไม่​ว่า​จะ​ถูก​หนอน​ผีเสื้อ​กิน, ติด​เชื้อ​รา​หรือ​เป็น​โรค​รา​น้ำ​ค้าง, [หรือ] มี​ไร​แมงมุม​มา​เกาะ​อยู่​เต็ม​ไป​หมด . . . จะ​ปล่อย​สาร​เคมี​ที่​ดู​เหมือน​ทำ​ให้​พืช​ที่​อยู่​ใกล้ ๆ ซึ่ง​ยัง​ไม่​ได้​รับ​ความ​เสียหาย​เริ่ม​สร้าง​ระบบ​ป้องกัน​ตัว​เอง​ขึ้น​ทันที.” แม้​แต่​พืช​ที่​ไม่​ได้​อยู่​ใน​วงศ์​เดียว​กัน​ก็​ตอบ​สนอง​ต่อ​สาร​เตือน​ภัย​นี้.

เมื่อ​ถูก​โจมตี​หรือ​ได้​รับ​สัญญาณ​เตือน​จาก​ต้น​อื่น พืช​จะ​มี​วิธี​ป้องกัน​ตัว​เอง. วิธี​เหล่า​นี้​รวม​ถึง​การ​ใช้​พิษ​ที่​ทำ​ให้​แมลง​ตาย​หรือ​ใช้​สาร​ประกอบ​ที่​ขัด​ขวาง​หรือ​ยับยั้ง​ความ​สามารถ​ใน​การ​ย่อย​อาหาร​ของ​ผู้​บุกรุก. การ​วิจัย​ใน​อนาคต​เกี่ยว​กับ​แง่​มุม​ที่​น่า​สนใจ​ยิ่ง​นี้​อาจ​นำ​ไป​สู่​การ​ค้น​พบ​ที่​น่า​ทึ่ง​มาก​ยิ่ง​ขึ้น ซึ่ง​บาง​อย่าง​อาจ​เป็น​ประโยชน์​ต่อ​เกษตรกรรม​ด้วย.

‘รหัส​มอร์ส’ แบบ​แสง

นัก​นิเวศ​วิทยา​ชื่อ ซูซาน ทวีต เขียน​ใน​บทความ​เกี่ยว​กับ​หิ่งห้อย​ว่า “ตะเกียง​ลอย​ฟ้า​ขนาด​เล็ก​ของ​มัน​กะพริบ​แสง​แข่ง​กับ​ดวง​ดาว ทำ​ให้​ละแวก​บ้าน​แถบ​ชาน​เมือง​ธรรมดา ๆ ของ​ดิฉัน​เหมือน​ต้อง​มนต์​สะกด.” ทวีต​กล่าว​ว่า แมลง​เหล่า​นี้​ที่​อยู่​ใน​วงศ์​ของ​แมลง​ปีก​แข็ง​สื่อ​ความ​กัน​โดย​ใช้​แสง​ซึ่ง “มี​ตั้ง​แต่​การ​กะพริบ​เตือน​ง่าย ๆ จน​ถึง​การ​กะพริบ​แสง​โต้​ตอบ​กัน​อย่าง​ซับซ้อน​กับ​ตัว​ที่​อาจ​จะ​มา​เป็น​คู่​ของ​มัน.” แสง​ของ​มัน​มี​ตั้ง​แต่​สี​เขียว, สี​เหลือง, จน​ถึง​สี​ส้ม. เนื่อง​จาก​หิ่งห้อย​ตัว​เมีย​แทบ​จะ​ไม่​บิน​เลย ตัว​ที่​เรา​เห็น​กะพริบ​แสง​ส่วน​ใหญ่​จึง​เป็น​ตัว​ผู้.—ดู​กรอบ “แสง​เย็น​ของ​หิ่งห้อย.”

หิ่งห้อย​แต่​ละ​ชนิด​ใน​จำนวน 1,900 ชนิด​มี​การ​กะพริบ​แสง​ที่​ไม่​ซ้ำ​แบบ​กัน. มัน​อาจ​กะพริบ​สาม​ครั้ง​โดย​เว้น​ระยะ​ครั้ง​ละ​ราว ๆ หนึ่ง​วินาที หรือ​ส่อง​แสง​เป็น​ช่วง​และ​เว้น​ระยะ​สั้น​ยาว​ต่าง ๆ กัน​ไป. เมื่อ​หา​คู่ หิ่งห้อย​ตัว​ผู้​จะ​บิน​วน​ไป​วน​มา​และ​กะพริบ​แสง​เป็น​รหัส​ว่า​กำลัง​มอง​หา​ตัว​เมีย. วารสาร​ออดูบอน กล่าว​ว่า “ตัว​เมีย​ซึ่ง​เห็น​แสง​กะพริบ​เป็น​จังหวะ​จะ​กะพริบ​ตอบ​ว่า ‘ฉัน​อยู่​นี่’ ด้วย​การ​เว้น​ระยะ​ที่​เหมาะ​กับ​ชนิด​ของ​มัน.” ตัว​ผู้​ตอบรับ​คำ​เชื้อเชิญ​เงียบ ๆ ของ​ตัว​เมีย​และ​บิน​ไป​หา.

เจ้า​นก​ขน​ดก​ที่​เชี่ยวชาญ​เรื่อง​เพลง

เดวิด แอตเทนโบโรห์ กล่าว​ใน​หนังสือ​ของ​เขา​ชื่อ​ชีวิต​นก (ภาษา​อังกฤษ) ว่า “ใน​เรื่อง​ความ​ยาว​นาน, ความ​หลาก​หลาย​และ​ความ​ซับซ้อน ไม่​มี​เสียง​เพลง​ของ​สัตว์​ชนิด​ใด​จะ​เทียบ​ได้​กับ​เสียง​เพลง​ของ​นก.” เสียง​เพลง​ของ​นก​ไม่​ได้​ออก​มา​จาก​ลำคอ แต่​มา​จาก​อวัยวะ​ที่​เรียก​ว่า​กล่อง​เสียง ซึ่ง​อยู่​ลึก​เข้า​ไป​ใน​อก​ของ​นก​ใกล้​กับ​ส่วน​ที่​หลอด​ลม​จะ​แยก​ไป​ที่​ปอด​ทั้ง​สอง​ข้าง.

เพลง​ของ​นก​ส่วน​หนึ่ง​ตก​ทอด​มา​ทาง​พันธุกรรม​และ​อีก​ส่วน​หนึ่ง​เรียน​รู้​จาก​พ่อ​แม่. ดัง​นั้น นก​ถึง​กับ​ร้อง​เป็น​สำเนียง​ของ​ภูมิภาค​ต่าง ๆ ได้​ด้วย. หนังสือ​ชีวิต​นก กล่าว​ว่า “นก​เดิน​ดง​ดำ ซึ่ง​เป็น​ลูก​หลาน​ของ​นก​ที่​ถูก​นำ​ไป​ยัง​ออสเตรเลีย​ใน​ช่วง​ศตวรรษ​ที่​สิบ​เก้า​เพื่อ​ทำ​ให้​ผู้​ตั้ง​ถิ่น​ฐาน​ชาว​ยุโรป​รู้สึก​ชื่นชม​ยินดี​ที่​ได้​ฟัง​เสียง​จาก​บ้าน​เกิด มา​บัด​นี้​พวก​มัน​ร้อง​เป็น​สำเนียง​ออสเตรเลีย​ได้​อย่าง​ชัดเจน.” เสียง​เพลง​ของ​นก​พิณ​ตัว​ผู้ ซึ่ง​กล่าว​กัน​ว่า​ซับซ้อน​และ​ไพเราะ​ที่​สุด​ใน​บรรดา​เพลง​ทั้ง​หมด​ที่​นก​ต่าง ๆ ร้อง ก็​เรียน​มา​จาก​นก​ตัว​อื่น​เกือบ​ทั้ง​หมด. ที่​จริง นก​พิณ​เป็น​นัก​เลียน​เสียง​ที่​มี​พรสวรรค์​มาก​ถึง​ขนาด​ที่​มัน​สามารถ​เลียน​เสียง​อื่น​ได้​แทบ​ทุก​เสียง รวม​ทั้ง​เสียง​เครื่อง​ดนตรี, เสียง​สุนัข​เห่า, เสียง​สัญญาณ​กัน​ขโมย, เสียง​ขวาน​ฟัน​ต้น​ไม้, และ​แม้​กระทั่ง​เสียง​กล้อง​ถ่าย​รูป​ที่​มี​มอเตอร์! แน่นอน​ว่า การ​เลียน​เสียง​นี้​ส่วน​ใหญ่​แล้ว​ทำ​ไป​เพื่อ​สร้าง​ความ​ประทับใจ​แก่​นก​ที่​อาจ​จะ​มา​เป็น​คู่​ของ​มัน.

นก​หัว​ขวาน​ซึ่ง​มัก​ใช้​จะงอย​ปาก​ขุด​หา​อาหาร เป็น​นัก​เล่น​เครื่อง​ดนตรี​แบบ​เคาะ​แห่ง​โลก​เวหา มัน​จะ​ส่ง​สัญญาณ​ให้​นก​ตัว​อื่น​โดย​ใช้​จะงอย​ปาก​โขก​ท่อน​ซุง​หรือ​กิ่ง​ไม้​กลวง​ให้​เกิด​เสียง​กังวาน. แอตเทนโบโรห์​กล่าว​ว่า นก​บาง​ตัว​อาจ​ถึง​กับ “ใช้​ประโยชน์​จาก​เครื่อง​ดนตรี​ชนิด​ใหม่​ที่​น่า​ตื่นเต้น . . . นั่น​คือ​หลังคา​สังกะสี​หรือ​ปล่อง​ควัน​โลหะ.” นก​ยัง​สื่อ​ความ​กัน​ด้วย​การ​ดู ไม่​ว่า​จะ​มี​การ​ร้อง​เพลง​ประกอบ​หรือ​ไม่. ตัว​อย่าง​เช่น มัน​อาจ​ส่ง​สัญญาณ​ให้​กัน​โดย​อวด​ขน​ที่​มี​สี​สวย​งาม.

เมื่อ​ประกาศ​เขต​แดน​ของ​มัน​แล้ว นก​กระตั้ว​ปาล์ม​ออสเตรเลีย​ตัว​ผู้​จะ​ทำ​ทุก​วิธี​ไม่​ว่า​จะ​เป็น​การ​เคาะ, การ​ร้อง, การ​เต้น​เป็น​จังหวะ, และ​การ​อวด​ขน. มัน​จะ​หัก​กิ่ง​ไม้​ขนาด​เหมาะ ๆ, ใช้​เท้า​จับ​กิ่ง​ไม้​ไว้, แล้ว​เคาะ​กับ​ตอ​ไม้​ที่​ตาย​แล้ว. ขณะ​เดียว​กัน มัน​จะ​กาง​ปีก, แผ่​หงอน​ออก​เป็น​รูป​พัด, โยก​หัว​ไป​มา, และ​ร้อง​เสียง​สูง ซึ่ง​ทั้ง​หมด​นี้​เป็น​การ​แสดง​ที่​น่า​ชม​มาก​ที​เดียว!

สัตว์​ชนิด​อื่น ๆ ก็​รู้​จัก​เสียง​นก​บาง​ชนิด. ลอง​คิด​ถึง​นก​พราน​ผึ้ง นก​ขนาด​เล็ก​ลักษณะ​คล้าย​นก​เดิน​ดง​ซึ่ง​ส่วน​มาก​พบ​ใน​แอฟริกา. อย่าง​ที่​ชื่อ​มัน​บ่ง​บอก นก​พราน​ผึ้ง​และ​เสียง​ร้อง​ที่​โดด​เด่น​ของ​มัน​จะ​นำ​ตัว​รา​เทล ซึ่ง​เป็น​สัตว์​คล้าย​ตัว​แบดเจอร์​ใน​วงศ์​วีเซิล ไป​ยัง​ต้น​ไม้​ที่​มี​รัง​ผึ้ง​อยู่. เมื่อ​นก​พราน​ผึ้ง​อยู่​ใกล้​หรือ​เกาะ​อยู่​บน​ต้น​นั้น มัน​จะ​ส่ง​เสียง​ที่​ต่าง​ออก​ไป​ราว​กับ​จะ​บอก​ว่า “น้ำ​ผึ้ง​อยู่​ใกล้ ๆ!” แล้ว​เจ้า​ตัว​ราเทล​จะ​ตรง​ไป​ที่​ต้น​นั้น ใช้​กรง​เล็บ​ฉีก​เปลือก​ไม้​ออก​และ​สวาปาม​น้ำ​ผึ้ง​อย่าง​สบาย​ใจ.

คุย​กัน​ใต้​น้ำ

นับ​ตั้ง​แต่​มี​การ​คิด​ค้น​ไฮโดรโฟน ซึ่ง​เป็น​เครื่อง​ฟัง​เสียง​ใต้​น้ำ นัก​วิจัย​ต้อง​ประหลาด​ใจ​กับ​เสียง​ต่าง ๆ นานา​ใต้​มหาสมุทร. เสียง​เหล่า​นี้​มี​ตั้ง​แต่​เสียง​ฮัม​ต่ำ ๆ ไป​จน​ถึง​เสียง​เหมียว ๆ และ​กระทั่ง​เสียง​หวีด เสียง​เหล่า​นี้​มี​มาก​เสีย​จน​ผู้​ปฏิบัติการ​ใน​เรือ​ดำ​น้ำ​ใช้​ประโยชน์​จาก​มัน​เพื่อ​พราง​เสียง​ใน​การ​ขับ​เคลื่อน​เรือ​ของ​ตน. แต่​เสียง​ปลา​ก็​ใช่​ว่า​จะ​ไร้​รูป​แบบ. นัก​ชีววิทยา​ทาง​ทะเล โรเบิร์ต เบอร์เกสส์ กล่าว​ใน​หนังสือ​ของ​เขา​ชื่อ​ภาษา​ลับ​แห่ง​ท้อง​ทะเล (ภาษา​อังกฤษ) ว่า “ใน​ขณะ​ที่​ปลา​ชนิด​หนึ่ง​อาจ ‘ทำ​เสียง​ฟืดฟาด, เสียง​กะต๊าก, หรือ​เสียง​โฮ่ง’ แล้ว​ก็​ทำ​เสียง​แบบ​เดิม​ซ้ำ​อีก​อย่าง​ชัดเจน ส่วน​ปลา​อีก​ชนิด​หนึ่ง​อาจ ‘ทำ​เสียง​กริ๊ก ๆ กรอด ๆ’ แล้ว​ก็​ทำ ‘เสียง​ครืด​คราด’ เป็น​การ​แถม.”

เมื่อ​ไม่​มี​สาย​เสียง ปลา​ทำ​เสียง​ได้​อย่าง​ไร? เบอร์เกสส์​กล่าว​ว่า ปลา​บาง​ชนิด​ใช้​กล้ามเนื้อ​ที่ “ติด​กับ​ผนัง​ของ​ถุง​ลม​ซึ่ง​มี​ลักษณะ​คล้าย​ลูก​โป่ง​เพื่อ​ทำ​ให้​ผนัง​นั้น​สั่น​จน​กระทั่ง​ถุง​ลม​ของ​มัน” ดัง​เหมือน​เสียง​กลอง. ส่วน​ปลา​ชนิด​อื่น ๆ จะ​ขบ​ฟัน​หรือ​เปิด​ปิด​ฝา​เหงือก​ซึ่ง​ทำ​ให้​เกิด​เสียง​ดัง​ผลุ. เสียง​ทั้ง​หมด​นี้​เป็น​เพียง​แค่ “การ​คุย​กัน​เล่น ๆ” อย่าง​นั้น​ไหม? ดู​เหมือน​ไม่​ใช่. เบอร์เกสส์​กล่าว​ว่า เช่น​เดียว​กับ​สัตว์​บก ปลา​ทำ​เสียง​เพื่อ “ดึงดูด​เพศ​ตรง​ข้าม, เพื่อ​หา​ทิศ​ทาง, เพื่อ​ป้องกัน​ตัว​จาก​ศัตรู, รวม​ทั้ง​เพื่อ​สื่อ​ความ​ทั่ว ๆ ไป​และ​เพื่อ​ขู่.”

ปลา​ยัง​ฟัง​เสียง​ได้​ไว​ด้วย. ที่​จริง ปลา​หลาย​ชนิด​มี​หู​ชั้น​ใน​รวม​ทั้ง​มี​เซลล์​ที่​ไว​ต่อ​แรง​ดัน​ซึ่ง​อยู่​ตาม​ข้าง​ลำ​ตัว. เซลล์​เหล่า​นี้​สามารถ​ตรวจ​จับ​คลื่น​แรง​ดัน​ของ​เสียง​ขณะ​ที่​มัน​ว่าย​ใน​น้ำ.

ผู้​สื่อ​ความ​ที่​โดด​เด่น​ที่​สุด​ใน​โลก

โนอัม ชอมสกี ศาสตราจารย์​ด้าน​ภาษา​ศาสตร์​เขียน​ว่า “เมื่อ​เรา​ศึกษา​ภาษา​ของ​มนุษย์ เรา​ก็​กำลัง​เข้า​ใกล้​สิ่ง​ที่​บาง​คน​อาจ​เรียก​ว่า ‘ตัว​ตน​ที่​แท้​จริง​ของ​มนุษย์’ หรือ​คุณลักษณะ​พิเศษ​ของ​จิตใจ ซึ่ง​เท่า​ที่​เรา​ทราบ​ก็​มี​เฉพาะ​ใน​มนุษย์.” บาร์บารา ลุสท์ ศาสตราจารย์​ด้าน​ภาษา​ศาสตร์​และ​พัฒนาการ​ของ​มนุษย์ กล่าว​ว่า “เด็ก​ที่​มี​อายุ​เพียง 3 ขวบ​ก็​มี​ความ​รู้​ที่​น่า​ทึ่ง​อยู่​แล้ว​เกี่ยว​กับ​โครง​สร้าง​ของ​ภาษา​และ​ประโยค​ซึ่ง​ซับซ้อน​และ​แม่นยำ​มาก จน​ต้อง​ถือ​ว่า​เป็น​การ​ท้าทาย​ทฤษฎี​การ​เรียน​รู้​ใด ๆ เท่า​ที่​ทราบ​กัน​ซึ่ง​ชี้​แจง​ว่า​ความ​สามารถ​นี้​เกิด​ขึ้น​ได้​อย่าง​ไร.”

อย่าง​ไร​ก็​ตาม คัมภีร์​ไบเบิล​มี​คำ​อธิบาย​ที่​สม​เหตุ​ผล​สำหรับ​ภาษา​ของ​มนุษย์​ซึ่ง​เป็น​สิ่ง​มหัศจรรย์. คัมภีร์​ไบเบิล​ให้​เกียรติ​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า ผู้​สร้าง​มนุษย์​ตาม “ฉายา” ของ​พระองค์ ว่า​เป็น​ผู้​สร้าง​สิ่ง​นี้. (เยเนซิศ 1:27) แต่​คุณลักษณะ​แบบ​พระเจ้า​สะท้อน​ออก​มา​ใน​ทักษะ​ด้าน​ภาษา​ของ​เรา​อย่าง​ไร?

ตัว​อย่าง​เช่น ลอง​คิด​ถึง​การ​ตั้ง​ชื่อ. แฟรงก์ แดนซ์ ศาสตราจารย์​ด้าน​การ​สื่อสาร​ทาง​คำ​พูด เขียน​ว่า มนุษย์ “เป็น​สิ่ง​มี​ชีวิต​ชนิด​เดียว​เท่า​นั้น​ที่​ตั้ง​ชื่อ​ได้.” การ​ตั้ง​ชื่อ​นี้​เป็น​คุณลักษณะ​ของ​พระเจ้า​ซึ่ง​เห็น​ได้​จาก​พระ​คัมภีร์. ใน​ตอน​เริ่ม​ต้น​ของ​บันทึก​เรื่อง​การ​ทรง​สร้าง คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​เรา​ว่า​พระเจ้า​ทรง​เรียก “ความ​สว่าง​นั้น​ว่า​วัน, และ​ทรง​เรียก​ความ​มืด​นั้น​ว่า​คืน.” (เยเนซิศ 1:5) ตาม​บันทึก​ใน​ยะซายา 40:26 ดู​เหมือน​ว่า​พระเจ้า​ทรง​ตั้ง​ชื่อ​ให้​ดาว​แต่​ละ​ดวง นั่น​ช่าง​น่า​ทึ่ง​จริง ๆ!

หลัง​จาก​พระเจ้า​สร้าง​อาดาม หนึ่ง​ใน​โครงการ​แรก ๆ ที่​พระองค์​สั่ง​ให้​อาดาม​ทำ​คือ​การ​ตั้ง​ชื่อ​สัตว์. งาน​นี้​คง​ต้อง​ท้าทาย​ความ​สามารถ​ใน​การ​สังเกต​และ​ความ​คิด​สร้าง​สรรค์​ของ​อาดาม​มาก​ที​เดียว! ต่อ​มา อาดาม​ตั้ง​ชื่อ​ภรรยา​ของ​ตน​ว่า​ฮาวา. ส่วน​นาง​ก็​เรียก​บุตร​ชาย​คน​แรก​ของ​ตน​ว่า​คายิน. (เยเนซิศ 2:19, 20; 3:20; 4:1) ตั้ง​แต่​นั้น​มา มนุษย์​ก็​ไม่​ลังเล​ที่​จะ​ตั้ง​ชื่อ​ให้​ทุก​สิ่ง และ​ทั้ง​หมด​นี้​ก็​เพื่อ​ประโยชน์​ใน​การ​สื่อ​ความ. ถูก​แล้ว ลอง​คิด​ดู​สิ​ว่า​การ​สื่อ​ความ​แบบ​มี​เชาวน์​ปัญญา​จะ​ยุ่งยาก​สัก​เพียง​ไร​ถ้า​ไม่​มี​ชื่อ.

นอก​จาก​มี​ความ​สามารถ​และ​ความ​ปรารถนา​ที่​จะ​ตั้ง​ชื่อ​แล้ว มนุษย์​ยัง​มี​ทักษะ​ใน​การ​สื่อ​ความ​อีก​หลาย​รูป​แบบ ซึ่ง​อาจ​ไม่​ใช่​เป็น​การ​ใช้​คำ​พูด​ก็​ได้. ที่​จริง สิ่ง​ที่​เรา​สามารถ​สื่อ​ความ​กัน​นั้น​มี​ไม่​จำกัด ตั้ง​แต่​แนว​คิด​ที่​ซับซ้อน​ไป​จน​ถึง​ความ​รู้สึก​ที่​อ่อน​ละมุน​ที่​สุด. กระนั้น มี​การ​สื่อ​ความ​รูป​แบบ​หนึ่ง​โดย​เฉพาะ​ที่​เหนือ​กว่า​การ​สื่อ​ความ​ทั้ง​หมด ดัง​ที่​เรา​จะ​พิจารณา​กัน​ต่อ​ไป.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 6]

แสง​เย็น​ของ​หิ่งห้อย

หลอด​ไฟฟ้า​แบบ​มี​ไส้​สูญ​เสีย​พลังงาน​ไป​มาก​กว่า 90 เปอร์เซ็นต์​โดย​เปลี่ยน​เป็น​ความ​ร้อน. แสง​ของ​หิ่งห้อย​ซึ่ง​อาศัย​ปฏิกิริยา​ทาง​เคมี​ที่​ซับซ้อน มี​ประสิทธิภาพ 90 ถึง 98 เปอร์เซ็นต์ โดย​แทบ​ไม่​สูญ​เสีย​พลังงาน​ไป​กับ​ความ​ร้อน​เลย. ดัง​นั้น แสง​นี้​จึง​ถูก​เรียก​ได้​อย่าง​ถูก​ต้อง​ว่า​แสง​เย็น. ปฏิกิริยา​ทาง​เคมี​ที่​ก่อ​ให้​เกิด​แสง​นั้น​เกิด​ขึ้น​ใน​เซลล์​พิเศษ​ที่​เรียก​ว่า​โฟโตไซต์ (photocytes). ระบบ​ประสาท​จะ​เปิด​ปิด​เซลล์​โฟโตไซต์​นี้.

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

John M. Burnley/Bruce Coleman Inc.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 8, 9]

เคล็ดลับ​ที่​เป็น​ประโยชน์​ต่อ​การ​ปรับ​ปรุง​ทักษะ​ใน​การ​สื่อ​ความ

1. ตั้งใจ​ฟัง​เมื่อ​คน​อื่น​พูด และ​อย่า​ผูก​ขาด​การ​สนทนา​เสีย​ฝ่าย​เดียว. ผู้​คน​จะ​มอง​ข้าม​เรื่อง​การ​ออก​เสียง​ผิด​หรือ​พูด​ผิด​ไวยากรณ์ แต่​พวก​เขา​จะ​ไม่​ชอบ​คน​ที่​อยาก​พูด​แต่​ไม่​ยอม​ฟัง​คน​อื่น. คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า จง “ว่องไว​ใน​การ​ฟัง, ช้า​ใน​การ​พูด, ช้า​ใน​การ​โกรธ.”—ยาโกโบ 1:19.

2. คอย​สังเกต​ชีวิต​และ​สิ่ง​ของ​ต่าง ๆ รอบ​ตัว​คุณ. อ่าน​หนังสือ​หลาย ๆ ประเภท​แต่​ต้อง​ใช้​ดุลพินิจ​ใน​การ​เลือก. เมื่อ​พูด​ถึง​เรื่อง​ที่​คุณ​รู้ จง​ทำ​ให้​การ​สนทนา​ของ​คุณ​นุ่มนวล​ด้วย​ความ​เจียม​ตัว​และ​ความ​ถ่อม.—บทเพลง​สรรเสริญ 5:5; สุภาษิต 11:2.

3. จำ​คำ​ศัพท์​ให้​ได้​มาก​ขึ้น​แต่​ควร​เป็น​คำ​ที่​ใช้​ได้​จริง ไม่​ใช่​คำ​ที่​ฟัง​ดู​น่า​ประทับใจ​ซึ่ง​เป็น​การ​โอ้อวด. ประชาชน​พูด​ถึง​พระ​เยซู​ว่า “ไม่​เคย​มี​ผู้​ใด​พูด​เหมือน​คน​นั้น.” (โยฮัน 7:46) กระนั้น แม้​คน​ที่ “มี​ความ​รู้​น้อย และ​มิ​ได้​เล่า​เรียน​มาก” ก็​เข้าใจ​ถ้อย​คำ​ของ​พระ​เยซู​ได้​ไม่​ยาก.—กิจการ 4:13.

4. พูด​ให้​ชัด​ถ้อย​ชัด​คำ​และ​ออก​เสียง​อย่าง​ถูก​ต้อง. แต่​ต้อง​ระวัง​ที่​จะ​ไม่​เน้น​มาก​เกิน​ไป. เมื่อ​เรา​ออก​เสียง​ถูก​ต้อง​และ​ไม่​พูด​รวบ​คำ​หรือ​ออก​เสียง​ไม่​ครบ​พยางค์ เรา​ก็​ทำ​ให้​คำ​พูด​ของ​เรา​มี​เกียรติ​และ​เป็น​การ​คำนึง​ถึง​ผู้​ฟัง.—1 โกรินโธ 14:7-9.

5. ยอม​รับ​ว่า​ทักษะ​ใน​การ​สื่อ​ความ​ของ​คุณ​เป็น​ของ​ประทาน​จาก​พระเจ้า. สิ่ง​นี้​จะ​กระตุ้น​คุณ​ให้​ใช้​ทักษะ​นี้​ด้วย​ความ​นับถือ.—ยาโกโบ 1:17.

[ภาพ​หน้า 5]

ผีเสื้อ​ไหม​มี​หนวด​ที่​ไว​มาก

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Courtesy Phil Pellitteri

[ภาพ​หน้า 6, 7]

นก​หัว​ขวาน

[ภาพ​หน้า 7]

นก​การเวก

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

© Michael S. Yamashita/CORBIS

[ภาพ​หน้า 7]

นก​กระตั้ว​ปาล์ม

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Roland Seitre