ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การเพ่งดูโลก

การเพ่งดูโลก

การ​เพ่ง​ดู​โลก

การ​ค้น​พบ​นก​ชนิด​ใหม่

หนังสือ​พิมพ์​ดิ อินดิเพนเดนต์ แห่ง​กรุง​ลอนดอน​กล่าว​ว่า “[นก] ชนิด​ใหม่​รวม​ทั้ง​หมด 28 ชนิด​ได้​รับ​การ​พรรณนา​ใน​วารสาร​วิทยาศาสตร์​ตั้ง​แต่​ปี 1998 และ​การ​วิจัย​ยัง​อาจ​ค้น​พบ​นก​ชนิด​ใหม่ ๆ เพิ่ม​ขึ้น​จาก​จำนวน​ทั้ง​หมด 9,700 ชนิด​ใน​โลก.” สตีฟ กันต์เลตต์ บรรณาธิการ​วารสาร​เบิร์ดดิง เวิลด์ กล่าว​ว่า “การ​ค้น​พบ​หลาย​ครั้ง​เป็น​ผล​จาก​การ​ที่​สถาน​ที่​ส่วน​ใหญ่​ใน​โลก​สามารถ​เข้า​ถึง​ได้​ง่าย​ขึ้น ซึ่ง​ทำ​ให้​นัก​ปักษิน​วิทยา​สามารถ​ไป​ยัง​สถาน​ที่​อัน​ห่าง​ไกล​ซึ่ง​ไม่​กี่​ทศวรรษ​ที่​แล้ว​เป็น​ไป​ไม่​ได้​ที่​จะ​เข้า​ถึง.” เขา​กล่าว​ว่า การ​ค้น​พบ​เหล่า​นี้ “ยัง​แสดง​ถึง​ความ​ชำนาญ​ที่​มี​มาก​ขึ้น​ใน​การ​ระบุ​ชนิด​นก​โดย​ฟัง​เสียง​ของ​มัน ซึ่ง​บ่อย​ครั้ง​เป็น​วิธี​เดียว​ที่​จะ​ระบุ​ตัว​มัน​ใน​ป่า​ดิบ​ชื้น​ที่​หนา​แน่น.” นัก​วิทยาศาสตร์​เชื่อ​ว่า​จะ​มี​การ​ค้น​พบ​นก​อีก​หลาย​ชนิด. อย่าง​ไร​ก็​ตาม หนังสือ​พิมพ์​ดิ อินดิเพนเดนต์ ชี้​แจง​ว่า การ​ทำลาย​ถิ่น​อาศัย​อาจ​ทำ​ให้​นก​ที่​เพิ่ง​ค้น​พบ​หลาย​ชนิด​ตก​อยู่​ใน​อันตราย “เนื่อง​จาก​มี​จำนวน​น้อย​และ​ถูก​จำกัด​ให้​อยู่​ใน​บริเวณ​แคบ ๆ.”

ปลา​เสียง​ดัง

หนังสือ​พิมพ์​เดอะ เวสต์ ออสเตรเลียน รายงาน​ว่า นัก​วิจัย​แห่ง​สถาบัน​วิทยาศาสตร์​ทาง​ทะเล​ออสเตรเลีย (เอ​ไอ​เอ็ม​เอส) ได้​ค้น​พบ​ว่า​ปลา​หลาย​ชนิด “เช่น ปลา​สลิด​ทะเล, ปลา​โซลเจอร์, และ​ปลา​อม​ไข่ . . . สื่อสาร​กัน​โดย​ส่ง​เสียง​เป็น​ชุด ๆ เป็น​เสียง​อู๊ด ๆ, จี๊ด ๆ และ​เสียง​นกหวีด.” การ​ค้น​พบ​นี้​ช่วย​อธิบาย​ว่า​ทำไม​ลูก​ปลา​เล็ก ๆ ที่​ถูก​คลื่น​ซัด​หลุด​ไป​นอก​พืด​หิน​จึง​ว่าย​กลับ​บ้าน​ได้​ถูก. นัก​วิจัย​ของ​เอ​ไอ​เอ็ม​เอส​บันทึก​เสียง​จาก​พืด​หิน​และ​เปิด​เสียง​นั้น​ใน​ที่​ดัก​ปลา. ดร. มาร์ก มีแคน ซึ่ง​เป็น​นัก​วิทยาศาสตร์​ให้​สัมภาษณ์​ต่อ​หนังสือ​พิมพ์​ว่า “มี​ลูก​ปลา​มา​ติด​ใน​ที่​ดัก​ปลา​ซึ่ง​มี​การ​เปิด​เสียง​มาก​กว่า​ที่​ดัก​ซึ่ง​ไม่​มี​เสียง ซึ่ง​บ่ง​ชี้​ว่า​ปลา​ถูก​ดึงดูด​ด้วย​เสียง​บาง​อย่าง​โดย​เฉพาะ.” นัก​วิจัย​ได้​ค้น​พบ​ว่า​เสียง​จาก​ปลา​ที่​โต​เต็ม​วัย​บาง​ตัว​สามารถ​ตรวจ​จับ​ได้​ห่าง​ออก​ไป​ถึง 15 กิโลเมตร. มี​แคน​กล่าว​ว่า “ช่วง​ใกล้​ค่ำ​และ​ช่วง​รุ่ง​สาง เสียง​ประสาน​ของ​ปลา​จะ​ดัง​ถึง​ขีด​สุด ประหนึ่ง​เสียง​โห่​ร้อง​ของ​คน​หลาย​พัน​คน​ใน​สนาม​ฟุตบอล.” อย่าง​ไร​ก็​ตาม หู​มนุษย์​ไม่​ได้​ยิน “เสียง​ประสาน” นี้.

สูญ​เสีย​น้ำหนัก​หรือ​สูญ​เสีย​เงิน?

หนังสือ​พิมพ์​อินเตอร์​แนชันแนล เฮรัลด์ ทริบูน กล่าว​ว่า “ใน​ปี 2002 ประมาณ 231 ล้าน​คน​ใน​สหภาพ​ยุโรป​พยายาม​ควบคุม​อาหาร.” ตาม​รายงาน​โดย​เดตามอนิเตอร์ ซึ่ง​เป็น​กลุ่ม​เฝ้า​ติด​ตาม​พัฒนาการ​ใน​อุตสาหกรรม ผู้​คน​ที่​ควบคุม​อาหาร​ใน​ยุโรป​ใช้​เงิน 100,000 ล้าน​ดอลลาร์​ซื้อ​ผลิตภัณฑ์​ลด​ความ​อ้วน​เมื่อ​ปี​ที่​แล้ว ซึ่ง “เทียบเท่า​กับ​ผลิตภัณฑ์​มวล​รวม​ประชาชาติ​ของ​ประเทศ​โมร็อกโก.” อย่าง​ไร​ก็​ตาม หนังสือ​พิมพ์​นี้​กล่าว​ว่า “มี​ไม่​ถึง 4 ล้าน​คน​ที่​สามารถ​รักษา​น้ำหนัก​ตัว​ไว้​ได้​นาน​กว่า​หนึ่ง​ปี” และ “ใน​ยุโรป มี​ผู้​ที่​ควบคุม​อาหาร​ไม่​ถึง​หนึ่ง​ใน 50 ที่​สามารถ​ลด​น้ำหนัก​ได้​อย่าง​ถาวร.” เยอรมนี​อยู่​ใน​อันดับ​หนึ่ง​ของ​การ​ใช้​จ่าย​เงิน​ด้าน​นี้ โดย​ผู้​ควบคุม​อาหาร​จ่าย​เงิน​เกือบ 21,000 ล้าน​ดอลลาร์​เพื่อ​ซื้อ​ผลิตภัณฑ์​ลด​ความ​อ้วน ขณะ​ที่​ชาว​อังกฤษ​จ่าย​ไป​ราว ๆ 16,000 ล้าน​ดอลลาร์. ผู้​บริโภค​ใน​อิตาลี​และ​ฝรั่งเศส​จ่าย​เงิน​ราว ๆ 15,000 ล้าน​ดอลลาร์​และ 14,000 ล้าน​ดอลลาร์​ตาม​ลำดับ. ตาม​รายงาน​ของ​เด​ตา​มอนิเตอร์​ที่​ลง​ใน​หนังสือ​พิมพ์​ทริบูน “ต้อง​มี​การ​บอก​ผู้​ที่​ควบคุม​อาหาร​ให้​ทราบ​ว่า การ​ควบคุม​อาหาร​อย่าง​เดียว​ไม่​ได้​เป็น​ทาง​แก้​ระยะ​ยาว​สำหรับ​การ​ขจัด​น้ำหนัก​ส่วน​เกิน.”

เทคโนโลยี​สมัย​ใหม่​ฟ้อง​เรื่อง​เด็ก​หนี​เรียน

หนังสือ​พิมพ์​เอล ปาอิส แห่ง​สเปน​ฉบับ​ภาษา​อังกฤษ​กล่าว​ว่า “เทคโนโลยี​สมัย​ใหม่​ทำ​ให้​ครู​สามารถ​ส่ง​ข้อ​ความ​ทาง​โทรศัพท์​มือ​ถือ​ไป​ยัง​พ่อ​แม่​ของ​เด็ก​นัก​เรียน​ได้​ถ้า​เด็ก​หนี​เรียน.” ใน​โรง​เรียน 200 แห่ง​ที่​สเปน มี​การ​ติด​ตั้ง​ระบบ​คอมพิวเตอร์​พิเศษ ซึ่ง​ทำ​ให้​ครู​สามารถ​รายงาน​ผล​การ​สอบ, บันทึก​การ​ขาด​เรียน, และ​แจ้ง​ถึง​การ​ลง​โทษ​ที่​นัก​เรียน​ได้​รับ. ทุก​เช้า ครู​จะ​ขาน​ชื่อ​นัก​เรียน​โดย​ใช้​อุปกรณ์​ขนาด​เท่า​เครื่อง​คิด​เลข​พก​พา. จาก​นั้น ครู​ก็​จะ​เสียบ​สาย​ต่อ​เข้า​กับ​คอมพิวเตอร์​ส่วน​กลาง ซึ่ง​จะ​ประมวล​ผล​ข้อมูล. หนังสือ​พิมพ์​ฉบับ​นี้​กล่าว​ว่า “ใน​บาง​กรณี มี​การ​ส่ง​ข้อ​ความ​ไป​ยัง​โทรศัพท์​มือ​ถือ​ของ​พ่อ​แม่​โดย​อัตโนมัติ.” ผล​จาก​เทคโนโลยี​นี้​ทำ​ให้​สามารถ​บันทึก​การ​หนี​เรียน​ซึ่ง​เมื่อ​ก่อน​ไม่​มี​ใคร​รู้. ตาม​หนังสือ​พิมพ์​เอล ปาอิส ฉบับ​ภาษา​สเปน โรง​เรียน​อีก 400 แห่ง​สนใจ​จะ​ติด​ตั้ง​ระบบ​คอมพิวเตอร์​ดัง​กล่าว.

“วิกฤตการณ์​ช่วง​เศษ​หนึ่ง​ส่วน​สี่​ของ​ชีวิต”

หนังสือ​พิมพ์​กีสเซเนอร์ อัลล์เกไมเน กล่าว​ว่า “วัย​ยี่​สิบ​เศษ ๆ ที่​มี​ชีวิต​ชีวา” ควร​จะ​เป็น “ช่วง​เวลา​ที่​ดี​ที่​สุด​ที่​จะ​มี​ชีวิต​ที่​มี​ความ​สุข​และ​ไม่​กังวล. วัย​เริ่ม​เจริญ​พันธุ์​ผ่าน​พ้น​ไป​แล้ว​และ​วิกฤตการณ์​วัย​กลาง​คน​ก็​ยัง​อีก​นาน​กว่า​จะ​มา​ถึง.” แต่​แทน​ที่​จะ​มี​ความ​สุข​และ​ไม่​กังวล คน​วัย​ยี่​สิบ​เศษ ๆ จำนวน​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ กำลัง​เผชิญ​กับ​สิ่ง​ที่​นัก​วิชาการ​เรียก​ว่า​วิกฤตการณ์​ช่วง​เศษ​หนึ่ง​ส่วน​สี่​ของ​ชีวิต. หนังสือ​พิมพ์​นี้​กล่าว​ว่า คำ​นี้ “หมาย​ถึง​วิกฤตการณ์​เรื่อง​เอกลักษณ์​ที่​หนุ่ม​สาว​ประสบ​เมื่อ​พวก​เขา​กำลัง​จะ​สำเร็จ​การ​ศึกษา​และ​ต้อง​ตัดสิน​ใจ​ว่า​จะ​ทำ​อะไร​กับ​ชีวิต​ที่​เหลือ​ของ​ตน.” คริสเตียเน พาพาสเทฟาโน นัก​จิตวิทยา​แห่ง​เมือง​มันน์ไฮม์ อธิบาย​ว่า พัฒนาการ​ของ​สังคม​เมื่อ​ไม่​กี่​ปี​มา​นี้​มี​ส่วน​ทำ​ให้​เกิด​ความ​กังวล​มาก​ขึ้น​เกี่ยว​กับ​อนาคต. นอก​จาก​นั้น เมื่อ​คำนึง​ถึง​ช่อง​ทาง​ใน​อาชีพ​การ​งาน​และ​ทาง​เลือก​ใน​การ​ใช้​ชีวิต​ใน​ปัจจุบัน​ซึ่ง​มี​มาก​มาย คน​หนุ่ม​สาว​บาง​คน​จึง​กลัว​ว่า​จะ​ตัดสิน​ใจ​ผิด​พลาด. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ดัง​ที่​ลง​ใน​หนังสือ​พิมพ์​ภาษา​เยอรมัน​นี้ พาพาสเทฟาโน​เชื่อ​ว่า​การ​ตัดสิน​ใจ​นี้​ใช่​ว่า​จะ​เปลี่ยน​แปลง​ไม่​ได้ และ​ไม่​ใช่​เรื่อง​ผิด​ที่​จะ “เดิน​ทาง​อ้อม​สัก​เล็ก​น้อย​ใน​หน​ทาง​แห่ง​ชีวิต.”

การ​แต่ง​ห้อง​ใหม่​อาจ​เป็น​อันตราย​ต่อ​สุขภาพ​ของ​ทารก

จดหมาย​ข่าว​เมดี-เนทซ์ แห่ง​เยอรมนี​กล่าว​ว่า “ถ้า​มี​ใคร​แต่ง​ห้อง​ระหว่าง​การ​ตั้ง​ครรภ์​หรือ​หลัง​ทารก​เกิด​ได้​ไม่​นาน ทารก​อาจ​มี​อาการ​ระคาย​เคือง​ใน​ระบบ​ทาง​เดิน​หายใจ​หรือ​ถึง​กับ​เป็น​โรค​เกี่ยว​กับ​ระบบ​ทาง​เดิน​หายใจ​ใน​ช่วง​ไม่​กี่​เดือน​แรก​ที่​เกิด​มา. ตอน​นี้​มี​การ​ค้น​พบ​ว่า​ระบบ​ภูมิ​คุ้ม​กัน​ของ​เด็ก​ก็​ได้​รับ​ผล​กระทบ​ด้วย แม้​แต่​ตอน​ที่​อยู่​ใน​ครรภ์ โดย​ทำ​ให้​เด็ก​มี​ความ​เสี่ยง​จะ​เป็น​โรค​ติด​เชื้อ​และ​โรค​ภูมิ​แพ้.” นัก​วิจัย​ใน​คลินิก​และ​สถาบัน​หลาย​แห่ง​ใน​เยอรมนี​พบ​ว่า​สาร​เคมี​ตัวการ​คือ​สาร​ที่​ระเหย​ออก​มา​จาก​กาว, พรม, สี​ที่​ทา​ใหม่ ๆ, และ​เครื่อง​เรือน​ใหม่. เมดี-เนทซ์ กล่าว​ว่า “สาร​เคมี​ที่​ระเหย​ง่าย​ทำ​ให้​เซลล์​ที่​สำคัญ​ใน​ระบบ​ภูมิ​คุ้ม​กัน​ของ​เรา​ซึ่ง​ป้องกัน​เรา​จาก​อาการ​ภูมิ​แพ้​อ่อนแอ​ลง.” รายงาน​คล้าย ๆ กัน​ใน​วารสาร​เกโอ แนะ​นำ​ให้​พ่อ​แม่​เลื่อน​การ​แต่ง​ห้อง​ออก​ไป “จน​กระทั่ง​เด็ก​มี​อายุ​สอง​ขวบ” ซึ่ง​เด็ก​วัย​นี้​จะ​มี​ภูมิ​คุ้ม​กัน​ที่​แข็งแรง​กว่า.

สโมสร​กีฬา​กับ​สาร​เสพ​ติด

ข่าว​ออนไลน์​จาก​บริษัท​โทรทัศน์​ฟินแลนด์​รายงาน​ว่า “คน​หนุ่ม​สาว​ที่​อยู่​ใน​สโมสร​กีฬา​ใช้​แอลกอฮอล์​และ​เมา​บ่อย​กว่า​หนุ่ม​สาว​คน​อื่น.” หนังสือ​พิมพ์​ของ​กรุง​เฮลซิงกิ​ชื่อ​เฮลซินิน ซาโนมัต กล่าว​ว่า การ​ค้น​พบ​นี้​ซึ่ง​พิมพ์​เผยแพร่​โดย​ศูนย์​วิจัย​ส่ง​เสริม​สุขภาพ​แห่ง​มหาวิทยาลัย​เยวาสเควลา​พบ​ว่า “บ่อย​ครั้ง สุรา, เบียร์, และ​บุหรี่​ถูก​เชื่อม​โยง​กับ​กีฬา​โดย​ทาง​โฆษณา​และ​ผู้​สนับสนุน. คน​หนุ่ม​สาว​ทำ​ตาม​แบบ​อย่าง​ของ​นัก​กีฬา​รุ่น​พี่​ซึ่ง​พวก​เขา​ชื่น​ชอบ​และ​เลียน​แบบ​ตาม. หนุ่ม​สาว​รู้​เห็น​การ​ฉลอง​ชัย​ชนะ​ซึ่ง​มี​แชมเปญ​มาก​มาย​และ​มี​การ​สูบ​ซิการ์.” ยาสูบ​แบบ​ที่​ใช้​สูด​ดม​ก็​เป็น​ปัญหา​อีก​อย่าง​หนึ่ง. หนังสือ​พิมพ์​ฉบับ​นี้​กล่าว​ว่า “เด็ก​ผู้​ชาย​อายุ 15 ปี​ที่​ไม่​ได้​อยู่​ใน​สโมสร​กีฬา​มี​ไม่​ถึง 4 เปอร์เซ็นต์​ที่​สูด​ดม​ยา​ประเภท​นี้​ทุก​สัปดาห์ แต่​ใน​สโมสร​กีฬา เกือบ 10 เปอร์เซ็นต์​ทำ​เช่น​นั้น.”

ชั่ว​กะพริบ​ตา

หนังสือ​พิมพ์​เอล ปาอิส ของ​สเปน​กล่าว​ว่า “จำเป็น​ต้อง​มี​เซลล์​ประสาท​หลาย​พัน​เซลล์​ใน 30 กลุ่ม​เพื่อ​จะ​ขยับ​หนังตา​ของ​เรา.” กลุ่ม​เซลล์​ประสาท​เหล่า​นี้ ซึ่ง​เชื่อม​โยง “หนังตา​กับ​สมอง​ส่วน​ซีรีบรัล​คอร์เทกซ์” ได้​รับ​การ​อธิบาย​อย่าง​ละเอียด​มาก​ขึ้น​โดย​ทีม​นัก​วิจัย​ซึ่ง​นำ​โดย​นัก​ประสาท​วิทยา​ชาว​สเปน​หลาย​คน​ที่​ทำ​การ​วิจัย​ใน​สัตว์. ทำไม​หนังตา​ต้อง​มี​เซลล์​ประสาท​จำนวน​มาก​และ​ซับซ้อน​ขนาด​นั้น​คอย​ควบคุม? เพราะ​การ​ปิด​หนังตา​ไม่​ได้​ทำ​เหมือน​กัน​หรือ​ด้วย​เหตุ​ผล​เดียว​กัน​ทุก​ครั้ง. หน้า​ที่​ของ​หนังตา​รวม​ไป​ถึง​การ​กะพริบ​ตา​แบบ​อัตโนมัติ​ซึ่ง​เกิด​ขึ้น​ราว ๆ 15 ครั้ง​ต่อ​นาที​เพื่อ​ทำ​ให้​กระจก​ตา​ชื้น​อยู่​เสมอ รวม​ทั้ง​การ​กะพริบ​ตา​แบบ​สนอง​ฉับพลัน​เมื่อ​มี​บาง​สิ่ง​พุ่ง​เข้า​หา​ดวง​ตา​อย่าง​เร็ว และ​การ​กะพริบ​ตา​แบบ​ตั้งใจ. หนังตา​สามารถ​ปิด​ลง​ครึ่ง​เดียว​บาง​ที​อาจ​เป็น​การ​สนอง​ต่อ​อารมณ์​บาง​อย่าง หรือ​ปิด​สนิท​เป็น​ช่วง​เวลา​สั้น​ยาว​ต่าง​กัน.

คอมพิวเตอร์—ความ​เสียหาย​ต่อ​สิ่ง​แวด​ล้อม

วารสาร​นิว ไซเยนติสต์ กล่าว​ว่า “ภาพ​ลักษณ์​ที่​สะอาด​แวว​วาว​ของ​คอมพิวเตอร์​สมัย​ใหม่​เป็น​การ​ปก​ปิด​ความ​เสียหาย​ที่​แท้​จริง​ซึ่ง​คอมพิวเตอร์​ก่อ​ขึ้น​ต่อ​สิ่ง​แวด​ล้อม.” วารสาร​นี้​อธิบาย​ว่า เพียง​แค่​ผลิต​ชิป​หน่วย​ความ​จำ​พื้น​ฐาน​ตัว​หนึ่ง​และ​ใช้​งาน​สี่​ปี​ซึ่ง​เป็น​ระยะ​การ​ใช้​งาน​ตาม​ปกติ​ของ​คอมพิวเตอร์​โดย​ทั่ว​ไป “จะ​ทำ​ให้​สูญ​เสีย​เชื้อเพลิง​ฟอสซิล​ถึง 800 เท่า​ของ​น้ำหนัก​ชิป​นั้น.” นัก​วิเคราะห์​ใน​ญี่ปุ่น, ฝรั่งเศส, และ​สหรัฐ​กะ​ประมาณ​ว่า​เพื่อ​จะ​ผลิต​และ​ใช้​ชิป​หน่วย​ความ​จำ​ขนาด 32 เมกกะไบต์​ซึ่ง​หนัก​สอง​กรัม​ต้อง​ใช้​เชื้อเพลิง​ฟอสซิล​อย่าง​น้อย​ที่​สุด 1.6 กิโลกรัม, รวม​ทั้ง​น้ำ 32 กิโลกรัม​และ​สาร​เคมี​ที่​เป็น​พิษ 72 กรัม​เป็น​อย่าง​น้อย เช่น แอมโมเนีย​และ​กรด​ไฮโดรคลอริก. นัก​วิเคราะห์​ลง​ความ​เห็น​ว่า “ความ​เสียหาย​ที่​สาร​กึ่ง​ตัว​นำ​ทำ​ต่อ​สิ่ง​แวด​ล้อม​มี​มาก​กว่า​ขนาด​เล็ก ๆ ของ​มัน​อย่าง​เทียบ​ไม่​ได้.”