ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

พระนามของพระยะโฮวาในแปซิฟิก

พระนามของพระยะโฮวาในแปซิฟิก

พระ​นาม​ของ​พระ​ยะโฮวา​ใน​แปซิฟิก

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​ฟิจิ

ฝูง​ชน​ต่าง​ก็​ประหลาด​ใจ​อย่าง​ยิ่ง. ผู้​มา​ใหม่​ซึ่ง​เพิ่ง​มา​ถึง​เกาะ​แปซิฟิก​ต่าง​ก็​หลับ​ตา​ก่อน​จะ​กิน​อาหาร​ที่​นำ​มา​จัด​เลี้ยง. ชาว​เกาะ​ถาม​ว่า “พวก​คุณ​กำลัง​ทำ​อะไร?”

คำ​ตอบ​คือ “ขอบคุณ​พระเจ้า​สำหรับ​ของ​ประทาน​ของ​พระองค์.”

“พระเจ้า​ของ​คุณ​อยู่​ที่​ไหน?” ชาว​เกาะ​อยาก​รู้.

พวก​เขา​ได้​รับ​คำ​ตอบ​ว่า “อยู่​ใน​สวรรค์.”

“พระองค์​มี​นาม​ว่า​อะไร?”

“พระ​ยะโฮวา.”

ชาว​เกาะ​ถาม “พระเจ้า​ของ​คุณ​กิน​อาหาร​ไหม?”

ผู้​มา​ใหม่​ตอบ​ว่า “พระเจ้า​เป็น​องค์​วิญญาณ. พระองค์​ไม่​เหมือน​พวก​เรา; พระองค์​ทรง​พระ​ชนม์​อยู่​ตลอด​กาล. พระองค์​นั่น​เอง​ที่​ทรง​สร้าง​โลก, ท้องฟ้า, ทะเล, และ​สิ่ง​สารพัด. พระองค์​เป็น​ผู้​สร้าง​พวก​เรา.”

ชาว​เกาะ​รู้สึก​ประหลาด​ใจ​เนื่อง​ด้วย​ความ​จริง​ง่าย ๆ นี้​และ​ถาม​คน​แปลก​หน้า​ว่า​ทำไม​จึง​มา​ที่​เกาะ​ของ​พวก​เขา. คำ​ตอบ​ง่าย ๆ คือ “เรา​มา​เพื่อ​บอก​ให้​พวก​คุณ​รู้​จัก​พระ​ยะโฮวา พระเจ้า​องค์​เที่ยง​แท้ และ​พระ​เยซู พระ​บุตร​ของ​พระองค์​ซึ่ง​เป็น​ผู้​ช่วย​ให้​รอด​ของ​เรา.”—จาก​ความ​มืด​สู่​ความ​สว่าง​ใน​หมู่​เกาะ​โพลีนีเซีย (ภาษา​อังกฤษ).

คน​แปลก​หน้า​ทั้ง​สอง​นี้​คือ​ใคร? พยาน​ของ​พระ​ยะโฮวา​ใน​สมัย​ปัจจุบัน​ไหม? ไม่​ใช่. เขา​ทั้ง​สอง​เป็น​ผู้​สอน​และ​ผู้​เผยแพร่​ศาสนา​ชาว​ตาฮิตี​ซึ่ง​ไป​ถึง​เกาะ​มังกายา (ทาง​ตอน​ใต้​ของ​หมู่​เกาะ​คุก) ใน​วัน​ที่ 15 มิถุนายน 1824. ทำไม​พวก​เขา​ใช้​พระ​นาม​ยะโฮวา? นี่​เป็น​เหตุ​การณ์​ที่​เกิด​ขึ้น​เพียง​ครั้ง​เดียว​ไหม? คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​เหล่า​นี้​จะ​อธิบาย​ว่า​เหตุ​ใด​พระ​นาม​ของ​พระ​ยะโฮวา​จึง​ยัง​มี​ความ​สำคัญ​อย่าง​มาก​ใน​วัฒนธรรม​ของ​หมู่​เกาะ​แถบ​แปซิฟิก.

มี​การ​ใช้​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​อย่าง​กว้างขวาง

มิชชันนารี​หลาย​คน​ซึ่ง​เดิน​ทาง​จาก​อังกฤษ​และ​อเมริกา​มา​ยัง​หมู่​เกาะ​แถบ​แปซิฟิก​ใน​ศตวรรษ​ที่ 19 ใช้​พระ​นาม​ยะโฮวา​ใน​การ​พูด​คุย​ประจำ​วัน​และ​ใน​ข้อ​เขียน​ของ​พวก​เขา. ที่​จริง นัก​ประวัติศาสตร์​คน​หนึ่ง​ถึง​กับ​ยืน​ยัน​อย่าง​ผิด ๆ ว่า มิชชันนารี​รุ่น​แรก ๆ เหล่า​นั้น “เป็น​ผู้​ติด​ตาม​พระ​ยะโฮวา แทน​ที่​จะ​เป็น​สาวก​ของ​พระ​คริสต์.”

จดหมาย​ส่วน​ตัว​ของ​มิชชันนารี​เหล่า​นี้​มัก​เริ่ม​ต้น​ด้วย​วลี​อย่าง​เช่น “ขอ​ให้​ท่าน​ได้​รับ​ความ​รอด​โดย​พระ​ยะโฮวา​พระ​ผู้​เป็น​เจ้าของ​เรา​และ​พระ​เยซู​คริสต์​องค์​สันติ​ราช.” ฉะนั้น ไม่​น่า​แปลก​ใจ​ที่​อัลเบิร์ต เจ. ชุตซ์ นัก​ภาษา​ศาสตร์​ผู้​มี​ชื่อเสียง กล่าว​ว่า หนังสือ​แบบ​เรียน​เบื้อง​ต้น​ใน​ฟิจิ​ซึ่ง​ทำ​ขึ้น​ใน​ปี 1825 มี​คำ​ที่​ยืม​มา​จาก​ภาษา​อังกฤษ​อยู่​เพียง​คำ​เดียว. คำ​นั้น​คือ​พระ​นาม​ยะโฮวา.

การ​ใช้​พระ​นาม​ของ​พระ​ยะโฮวา​โดย​พวก​มิชชันนารี​รุ่น​แรก ๆ เหล่า​นี้​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​ชาว​เกาะ​แปซิฟิก​อย่าง​ลึกซึ้ง. ที่​จริง บาง​คน​ใน​หมู่​ผู้​ที่​ได้​รับ​การ​สอน​เหล่า​นี้​ถูก​ส่ง​ไป​เป็น​มิชชันนารี หรือ​ผู้​สอน เพื่อ​นำ​ข่าวสาร​ไป​ยัง​เกาะ​อื่น ๆ. เมื่อ​ออก​ความ​เห็น​เกี่ยว​กับ​มิชชันนารี​ชาว​ตาฮิตี​สอง​คน​ที่​มา​ถึง​เกาะ​มังกายา​ดัง​ที่​กล่าว​ข้าง​ต้น หนังสือ​เหล่า​ผู้​ทำ​สัญญา​ไมตรี—มิชชันนารี​ชาว​เกาะ​ใน​แปซิฟิก (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “สำหรับ​ผู้​สอน​ชาว​ตาฮิตี พระ​ยะโฮวา​เป็น​พระเจ้า​เที่ยง​แท้​องค์​เดียว. พระองค์​ทรง​สร้าง​โลก​ทั้ง​สิ้น​และ​มนุษย์​ก็​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ใน​สิ่ง​ทรง​สร้าง​ของ​พระเจ้า. . . . [พวก​เขา] ยืน​ยัน​ว่า พระ​ยะโฮวา​เป็น​พระเจ้า​เที่ยง​แท้​องค์​เดียว​และ​พระ​เยซู​คริสต์ พระ​บุตร​ของ​พระองค์​เป็น​ผู้​ช่วย​มนุษยชาติ​ให้​รอด.”

ขณะ​ที่​พวก​เขา​นำ​ข่าวสาร​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ไป​ยัง​เกาะ​ต่าง ๆ มิชชันนารี​รุ่น​แรก ๆ บาง​คน​ประสบ​ภยันตราย​อย่าง​ไม่​น่า​เชื่อ เนื่อง​จาก​บาง​ครั้ง​ชาว​เกาะ​เป็น​คน​ที่​ชอบ​ใช้​ความ​รุนแรง. เมื่อ​พรรณนา​ถึง​ความ​ยาก​ลำบาก​ที่​ต้อง​เผชิญ หนังสือ​การ​เผยแพร่, คริสตจักร, และ​นิกาย​ใน​โอเชียเนีย (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “บ่อย​ครั้ง ความ​เชื่อ​ที่​เข้มแข็ง​ใน​พระ​ยะโฮวา​ได้​เอา​ชนะ​ความ​กลัว​และ​ความ​สิ้น​หวัง.”

ตัว​อย่าง​ที่​น่า​ยกย่อง​เกี่ยว​กับ​การ​มี​ความ​เชื่อ​เช่น​นั้น​ใน​พระ​ยะโฮวา​ปรากฏ​ให้​เห็น​ใน​ปี 1823 เมื่อ​มี​การ​นำ​ข่าวสาร​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​เข้า​ไป​ยัง​เกาะ​ราโรตองกา ใน​หมู่​เกาะ​คุก. จอห์น วิลเลียมส์ นัก​เดิน​เรือ​ซึ่ง​เป็น​มิชชันนารี​ได้​มา​ถึง​ที่​นั่น​และ​ส่ง​คู่​สมรส​สอง​คู่​ขึ้น​ฝั่ง​เพื่อ​สอน​ชาว​ราโรตองกา. อย่าง​ไร​ก็​ตาม หลัง​จาก​เกิด​ความ​ขัด​แย้ง​กับ​กษัตริย์​ที่​เมา​สุรา​อย่าง​หนัก มิชชันนารี​เหล่า​นี้​ก็​ถูก​ทุบ​ตี​อย่าง​รุนแรง. ทรัพย์​สมบัติ​ทั้ง​หมด​ของ​พวก​เขา​ถูก​ยึด และ​พวก​เขา​หนี​รอด​มา​ได้​อย่าง​หวุดหวิด.

เมื่อ​กลับ​ไป​ถึง​เรือ มิชชันนารี​เหล่า​นั้น​พรรณนา​ว่า​ชาว​ราโรตองกา​เป็น​คน​ป่า​เถื่อน​ที่​สุด​เท่า​ที่​พวก​เขา​เคย​พบ. เนื่อง​จาก​กลัว​ว่า​สถานการณ์​จะ​เลว​ร้าย​ยิ่ง​ขึ้น วิลเลียมส์​จึง​ตัดสิน​ใจ​ไป​จาก​เกาะ​นั้น อย่าง​น้อย​ก็​ระยะ​หนึ่ง. ตอน​นั้น​เอง ครู​วัย​หนุ่ม​ที่​ชื่อ ปาเปอีฮา ได้​อาสา​ที่​จะ​ไป​เผยแพร่​บน​เกาะ​นั้น​เพียง​ลำพัง. เขา​กล่าว​ว่า “ไม่​ว่า​คน​ป่า​เถื่อน​นั้น​จะ​ไว้​ชีวิต​ผม​หรือ​ฆ่า​ผม ผม​ก็​จะ​ขึ้น​ฝั่ง​ไป​หา​พวก​เขา.”

ด้วย​ถ้อย​คำ​ที่​กล่าว​ถึง​บ่อย ๆ จาก​บันทึก​กิจกรรม​มิชชันนารี​ใน​สมัย​แรก ปาเปอีฮา​กล่าว​ว่า “โค เยโฮวา โตคู ตีอาคี! เต โรโต อาอู อี โตนา รีมา! (พระ​ยะโฮวา​ทรง​เป็น​ผู้​บำรุง​เลี้ยง​ข้าพเจ้า! ข้าพเจ้า​อยู่​ใน​พระ​หัตถ์​ของ​พระองค์!)” จาก​นั้น ด้วย​เสื้อ​ผ้า​ที่​สวม​ติด​ตัว​เพียง​ไม่​กี่​ชิ้น พร้อม​กับ​หนังสือ​ที่​มี​ข้อ​ความ​คัด​ลอก​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​ตาฮิตี เขา​กระโดด​ลง​น้ำ​และ​ว่าย​ขึ้น​ฝั่ง. เขา​ไม่​เพียง​แค่​รอด​ชีวิต. เมื่อ​ไป​ถึง​เกาะ​นั้น เขา​พบ​ว่า​หลาย​คน​ตอบรับ​สิ่ง​ที่​เขา​สอน​ด้วย.

ชาว​ราโรตองกา​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​ภาย​หลัง​ได้​มา​เป็น​มิชชันนารี คือ​โมเร ตาอูงา. ใน​ปี 1842 เขา​กลาย​เป็น​มิชชันนารี​คน​แรก​ที่​ก่อ​ตั้ง​ศูนย์​สำหรับ​มิชชันนารี​ขึ้น​บน​เกาะ​นิวแคลิโดเนีย. ใน​สมุด​บันทึก​ประจำ​วัน เขา​ได้​เขียน​เกี่ยว​กับ​ชาย​ชาว​เกาะ​คน​หนึ่ง​ที่​เขา​สอน​แบบ​ตัว​ต่อ​ตัว​จน​อ่าน​ออก​เขียน​ได้​ดัง​นี้: “เขา​เรียน​รู้​สิ่ง​เหล่า​นี้​อย่าง​ช้า ๆ. ไม่​นาน​หลัง​จาก​นั้น​เขา​บอก​กับ​ผม​ว่า ‘ผม​อยาก​อธิษฐาน.’ แต่​ผม​แนะ​เขา​ว่า​อย่า​เพิ่ง​รีบ​ร้อน. ต่อ​มา​เขา​ก็​ขอ​อีก ‘คุณ​ให้​ผม​อธิษฐาน​ไม่​ได้​หรือ?’ แล้ว​เขา​ถาม​ถึง​สาเหตุ​ที่​ผม​ไม่​ยอม​ให้​เขา​อธิษฐาน ผม​จึง​บอก​ว่า ‘คุณ​ต้อง​ทิ้ง​รูป​เคารพ​ของ​คุณ​ก่อน แล้ว​คุณ​จึง​จะ​อธิษฐาน​ถึง​พระ​ยะโฮวา​ได้. พระองค์​เท่า​นั้น​ที่​ได้​ยิน​คุณ.’ เขา​จึง​เอา​ตะกร้า​ที่​ใส่​รูป​เคารพ​มา​ให้​ผม​แล้ว​บอก​ว่า ‘ช่วย​เผา​ให้​ผม​ด้วย. ต่อ​ไป​นี้​พระ​ยะโฮวา​คือ​พระเจ้า​ของ​ผม.’ ใน​ที่​สุด เขา​ก็​อธิษฐาน​ได้​ดี.”

ชาว​เกาะ​แปซิฟิก​ยอม​รับ​พระ​ยะโฮวา

เมื่อ​พวก​มิชชันนารี​ใช้​พระ​นาม​พระเจ้า​กัน​อย่าง​เสรี จึง​ไม่​น่า​แปลก​ใจ​ที่​คน​เหล่า​นั้น​ซึ่ง​รับ​ฟัง​การ​ประกาศ​ของ​พวก​เขา ได้​เริ่ม​ยอม​รับ​พระ​ยะโฮวา​ฐานะ​เป็น​พระเจ้า​ของ​ตน. หนังสือ​การ​ผจญ​ภัย​ของ​มิชชันนารี​ใน​แปซิฟิก​ใต้ (ภาษา​อังกฤษ) พรรณนา​ถึง​การ​ประชุม​ครั้ง​ใหญ่​ซึ่ง​จัด​ขึ้น​บน​เกาะ​หนึ่ง​ที่​อยู่​ทาง​เหนือ​ของ​มหาสมุทร​แปซิฟิก​หลัง​จาก​เรือ​ของ​มิชชันนารี​ที่​ชื่อ​มอร์นิง สตาร์ ได้​มา​ถึง. หนังสือ​นั้น​กล่าว​ว่า ชาว​เกาะ “ลง​มติ​ด้วย​การ​ยก​มือ พวก​เขา​ส่วน​ใหญ่​ยก​มือ​ขึ้น​ทั้ง​สอง​ข้าง​เป็น​เวลา​นาน​เพื่อ​ยืน​ยัน​ว่า พวก​เขา​จะ​เลิก​บูชา​รูป​เคารพ​และ​จะ​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา. ยิ่ง​กว่า​นั้น พวก​เขา​จะ​จัด​หา​สิ่ง​จำเป็น​ให้​แก่​พวก​ผู้​สอน. มี​การ​จัด​ที่​ดิน​แปลง​หนึ่ง​ไว้​ต่าง​หาก​และ​อุทิศ​แด่​พระ​ยะโฮวา​เพื่อ​สร้าง​โบสถ์​และ​บ้าน​พัก​สำหรับ​ผู้​สอน.”

เมื่อ​พรรณนา​ถึง​การ​เปลี่ยน​ศาสนา​ของ​มาลี​เอ​โต​อา ผู้​มี​ตำแหน่ง​สูง​คน​หนึ่ง​ใน​เกาะ​ซามัว หนังสือ​วีลีอามู—นัก​เดิน​เรือ-มิชชันนารี—เรื่อง​ราว​ของ​จอห์น วิลเลียมส์ (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “มาลี​เอ​โต​อา​กล่าว​ต่อ​ผู้​คน​ของ​เขา​อย่าง​ยืด​ยาว โดย​ปฏิญาณ​ตน​อย่าง​เปิด​เผย​ว่า​เขา​จะ​เป็น​ผู้​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา และ​สร้าง​โบสถ์​เพื่อ​การ​นมัสการ​พระองค์. เขา​สั่ง​คน​ซึ่ง​อยู่​ที่​บ้าน​ให้​เริ่ม​เรียน​รู้​เรื่อง​พระ​ยะโฮวา​และ​พระ​เยซู​คริสต์.”

กิจกรรม​ทั้ง​หมด​นี้​ส่ง​ผล​กระทบ​ยาว​นาน​ต่อ​ชีวิต​ของ​ผู้​คน​หลาย​ชุมชน​บน​เกาะ​แปซิฟิก. กระทั่ง​ทุก​วัน​นี้ ใน​ประเทศ​ต่าง ๆ อย่าง​เช่น ฟิจิ​และ​ซามัว ก็​ไม่​ใช่​เรื่อง​ผิด​ปกติ​ที่​จะ​ได้​ยิน​พระ​นาม​ของ​พระ​ยะโฮวา​ทาง​วิทยุ​หรือ​เห็น​ใน​หน้า​หนังสือ​พิมพ์​ท้องถิ่น.

แต่​ผล​กระทบ​ไม่​ได้​มี​แค่​นั้น. ใน​หนังสือ​ชื่อ​เกาะ​มหา​สมบัติ (ภาษา​อังกฤษ) ซึ่ง​พิมพ์​ครั้ง​แรก​ใน​ปี 1977 เพิร์ล ไบนเดอร์ อธิบาย​ถึง​ความ​สำคัญ​ของ​พระ​นาม​ยะโฮวา​ที่​มี​ต่อ​ชาว​บานาบา. เดิม​คน​เหล่า​นี้​อยู่​ใน​เกาะ​คิริบาส แต่​ต่อ​มา​ได้​อพยพ​ไป​ที่​เกาะ​รัม​บี​ใน​ฟิจิ. ไบน์เดอร์​เขียน​ว่า “มิชชันนารี​ที่​มา​ยัง​เกาะ​บานาบา​ได้​ให้​บาง​สิ่ง​ที่​มี​ค่า​มาก​กว่า​ที่​ชาว​บานาบา​ตระหนัก​ถึง. . . . ความ​เชื่อ​ใน​พระ​ยะโฮวา​เป็น​จุด​รวม​ใน​ชีวิต​พวก​เขา ยึด​เหนี่ยว​พวก​เขา​ให้​เป็น​เอกภาพ​อย่าง​ที่​ไม่​มี​สิ่ง​อื่น​ใด​จะ​ทำ​ได้ แม้​ว่า​จะ​เผชิญ​ความ​ยาก​ลำบาก​ที่​ทน​ทุกข์​ทรมาน​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ ถึง​เจ็ด​สิบ​ปี และ​จน​ถึง​ทุก​วัน​นี้​พวก​เขา​ก็​ยัง​คง​มี​สภาพ​ฝ่าย​วิญญาณ​ที่​ดี. ถ้า​ไม่​มี​พระ​ยะโฮวา​ของ​คน​ผิว​ขาว (ซึ่ง​คน​ผิว​ขาว​เอง​ละ​ทิ้ง​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ) ชาว​บานาบา​คง​จะ​ไม่​มี​ความ​หวัง​ใด ๆ.”

พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​ใน​ฉบับ​แปล​ต่าง ๆ ของ​คัมภีร์​ไบเบิล

เป้าหมาย​หลัก​อย่าง​หนึ่ง​ของ​เหล่า​มิชชันนารี​รุ่น​แรก ๆ คือ​การ​ผลิต​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​ภาษา​ที่​เข้าใจ​ได้​ซึ่ง​ใช้​กัน​ใน​หมู่​เกาะ​แปซิฟิก. เนื่อง​จาก​ความ​พยายาม​อย่าง​ขันแข็ง​ของ​พวก​เขา คัมภีร์​ไบเบิล​จึง​มี​ให้​หา​อ่าน​ได้​ใน​ภาษา​ต่าง ๆ มาก​มาย​ที่​มี​การ​ใช้​กัน​ทั่ว​ไป​ตาม​หมู่​เกาะ​แปซิฟิก. ดู​เหมือน​ว่า​เป็น​เรื่อง​ธรรมดา​ที่​ผู้​แปล​เหล่า​นี้​จะ​เขียน​ทับ​ศัพท์​พระ​นาม​ยะโฮวา​แบบ​เดียว​กับ​ที่​เขา​เขียน​ชื่อ​อื่น ๆ ทั้ง​หมด​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล.

สำหรับ​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​เอา​จริง​เอา​จัง​นับ​ว่า​เป็น​เรื่อง​น่า​สนใจ​ที่​ผู้​แปล​ใน​สมัย​แรก ๆ เหล่า​นี้​ได้​ใช้​พระ​นาม​ยะโฮวา​ไม่​เพียง​แต่​ใน​ฉบับ​แปล​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู แต่​ใน​ฉบับ​แปล​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​ด้วย ซึ่ง​เรียก​กัน​ว่า​คัมภีร์​ภาค​พันธสัญญา​ใหม่. การ​สำรวจ​ภาษา​ที่​ใช้​ใน​หมู่​เกาะ​แปซิฟิก​เจ็ด​ภาษา​เผย​ว่า มี​การ​ใช้​พระ​นาม​พระ​ยะโฮวา​ถึง 72 ข้อ​ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก. พระ​คัมภีร์​เหล่า​นี้​ไม่​ใช่​ฉบับ​แปล​ที่​ทำ​ขึ้น​ใน​ศตวรรษ​ที่ 19 เท่า​นั้น. ฉบับ​หนึ่ง​ที่​เป็น​เช่น​นี้​คือ​ฉบับ​แปล​ภาษา​โรตูมา​ซึ่ง​ออก​ใน​ปี 1999. คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​นี้​ใช้​พระ​นาม​ยะโฮวา​ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก 48 ข้อ.

ใน​ช่วง​ปลาย​ศตวรรษ​ที่ 19 วิลเลียม ไวแอตต์ กิลล์ มิชชันนารี​ที่​อยู่​ใน​แถบ​แปซิฟิก​มา​เป็น​เวลา​นาน ได้​เขียน​เกี่ยว​กับ​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​แปล​รุ่น​แรก​ฉบับ​หนึ่ง​ดัง​นี้: “หลัง​จาก​ใช้​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​ราโรตองกา​มา​เป็น​เวลา​สี่​สิบ​สอง​ปี ผม​คง​ได้​รับ​การ​อภัย​ที่​จะ​บอก​ว่า ผม​ถือ​ว่า​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​นี้​ถ่ายทอด​ข้อ​ความ​เดิม​ได้​อย่าง​น่า​ชื่นชม. . . . เหมือน​กับ​ฉบับ​แปล​อื่น ๆ ใน​แปซิฟิก​และ​นิวกินี พระ​นาม​ศักดิ์สิทธิ์ ‘ยะโฮวา’ ถูก​เขียน​ทับ​ศัพท์ โดย​ที่​ไม่​มี​การ​แปล​เลย ด้วย​เหตุ​นี้​จึง​ทำ​ให้​พระเจ้า​ผู้​ทรง​พระ​ชนม์​อยู่​ตลอด​กาล​กับ​วัตถุ​ที่​พวก​นอก​รีต​กราบ​ไหว้​กัน​แตกต่าง​กัน​อย่าง​ลิบลับ.”

เหตุ​ผล​ที่​พวก​เขา​ใช้​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า

ทำไม​มิชชันนารี, ผู้​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล, และ​ผู้​สอน​เหล่า​นี้​ใช้​พระ​นาม​เฉพาะ​ของ​พระเจ้า ยะโฮวา มาก​มาย​ถึง​เพียง​นี้? เหตุ​ผล​ที่​สำคัญ​เป็น​พิเศษ​คือ เนื่อง​จาก​พวก​เขา​พบ​ว่า​จำเป็น​ที่​ต้อง​แยก​พระ​ยะโฮวา พระเจ้า​เที่ยง​แท้​องค์​เดียว ออก​จาก​พระ​เท็จ​มาก​มาย​ที่​ชาว​เกาะ​แปซิฟิก​นมัสการ​กัน. (โยฮัน 17:3; 1 โกรินโธ 8:5, 6) พระ​เท็จ​เหล่า​นี้​ต่าง​ก็​มี​ชื่อ​กัน และ​เป็น​เรื่อง​ธรรมดา​เหลือ​เกิน​ที่​ผู้​นมัสการ​เทพเจ้า​เหล่า​นี้​จะ​ถาม​ว่า “พระเจ้า​ของ​คุณ​คือ​ใคร? พระองค์​มี​นาม​ว่า​อะไร?” การ​ใช้​คำ​ใน​ภาษา​ท้องถิ่น​สำหรับ​คำ​ว่า “พระเจ้า” คง​จะ​ทำ​ให้​ผู้​ถาม​สับสน หรือ​อาจ​ทำ​ให้​พวก​เขา​คิด​ถึง​ผู้​ทรง​ฤทธานุภาพ​ทุก​ประการ​ว่า​พระองค์​เป็น​เพียง​พระ​อีก​องค์​หนึ่ง​ที่​เพิ่ม​เข้า​กับ​พระ​มาก​มาย​ของ​พวก​เขา. ดัง​นั้น ไม่​น่า​แปลก​ใจ​ที่​มิชชันนารี​รุ่น​แรก​เหล่า​นี้​ใช้​พระ​นาม​ของ​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​แพร่​หลาย.

นี่​หมาย​ความ​ไหม​ว่า ทุก​คน​ที่​ใช้​พระ​นาม​ยะโฮวา​เข้าใจ​จริง ๆ ว่า​พระองค์​คือ​ผู้​ใด? ไม่​ใช่. ไฮรัม บิงแฮม มิชชันนารี, ผู้​แปล, และ​บุตร​ชาย​ของ​มิชชันนารี​ชาว​ฮาวาย​ผู้​โด่งดัง​ซึ่ง​มี​ชื่อ​เหมือน​กัน ได้​ให้​คำ​พยาน​แก่​ชาว​เกาะ​อาไบอาง (ใน​หมู่​เกาะ​คิริบาส) โดย​ร้อง​ตะโกน​ว่า “มี​พระเจ้า​เพียง​องค์​เดียว​เท่า​นั้น นั่น​คือ​พระ​ยะโฮวา” ขณะ​ที่​พวก​เขา​ทำลาย​รูป​เคารพ​ของ​ตน. แต่​หนังสือ​การ​ผจญ​ภัย​ของ​มิชชันนารี​ใน​แปซิฟิก​ใต้ กล่าว​ถึง​เหตุ​การณ์​ครั้ง​นั้น​ดัง​นี้:

“กระนั้น บิงแฮม​รู้​ว่า​การ​ทำลาย​รูป​เคารพ​ไม่​ได้​หมาย​ความ​ว่า คน​เหล่า​นั้น​จะ​รับ​เอา​ศาสนา​คริสเตียน​จริง ๆ อย่าง​น้อย​ก็​ยัง​ไม่​ใช่​ตอน​นั้น. พวก​เขา​ยัง​เข้าใจ​ไม่​มาก​นัก​เกี่ยว​กับ​ความ​หมาย​อัน​แท้​จริง​ของ​กิตติคุณ แต่​ก็​เป็น​การ​เริ่ม​ต้น.” เห็น​ได้​ชัด​ว่า เพียง​แค่​รู้​จัก​พระ​นาม​ยะโฮวา​ยัง​ไม่​พอ. คริสเตียน​แท้​ต้อง​รู้​จัก​พระ​ยะโฮวา​ใน​ฐานะ​เป็น​บุคคล และ​ต้อง​เชื่อ​ฟัง​พระองค์​ใน​ทุก​แง่​ทุก​มุม.—โรม 10:13-17.

แม้​แต่​โมเซ​ผู้​ซื่อ​สัตย์ บุรุษ​ซึ่ง​รู้​จัก​พระ​นาม​ยะโฮวา​และ​ใช้​พระ​นาม​นั้น ยัง​ต้อง​เรียน​รู้​มาก​ขึ้น. ท่าน​อธิษฐาน​ว่า “ถ้า​แม้​ข้าพเจ้า​ได้​รับ​ความ​เมตตา​ต่อ​พระ​เนตร​ของ​พระองค์​แล้ว, ขอ​พระองค์​ทรง​โปรด​สำแดง​พระ​มรรคา​ของ​พระองค์​ให้​ข้าพเจ้า​เห็น​ใน​กาล​บัด​นี้, เพื่อ​ข้าพเจ้า​จะ​ได้​รู้​จัก​พระองค์​แล้ว​จะ​ได้​รับ​ความ​เมตตา​ต่อ​พระ​เนตร​ของ​พระองค์​เสมอ​ไป.” (เอ็กโซโด 33:13) ถูก​แล้ว โมเซ​ต้องการ​จะ​รู้​ไม่​เพียง​แค่​พระ​นาม​ของ​พระ​ยะโฮวา​เท่า​นั้น. ท่าน​ต้องการ​รู้​จัก​คุณลักษณะ​ต่าง ๆ ของ​พระ​ยะโฮวา​และ​ต้องการ​รู้​วิธี​ที่​จะ​ทำ​ให้​พระองค์​พอ​พระทัย. เนื่อง​จาก​คำ​ทูล​ขอ​นี้ โมเซ​ได้​รับ​สิทธิ​พิเศษ​อัน​ยิ่ง​ใหญ่ นั่น​คือ​ท่าน​ได้​เห็น​การ​สำแดง​อัน​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ความ​หมาย​ของ​พระ​นาม​ยะโฮวา.—เอ็กโซโด 33:19; 34:5-7.

ปัจจุบัน​ก็​เช่น​เดียว​กัน พยาน​พระ​ยะโฮวา​หลาย​พัน​คน​ตลอด​ทั่ว​หมู่​เกาะ​แปซิฟิก​กำลัง​ใช้​คัมภีร์​ไบเบิล​ซึ่ง​ได้​รับ​การ​แปล​มา​แต่​ดั้งเดิม​โดย​มิชชันนารี​รุ่น​แรก ๆ เพื่อ​ช่วย​ผู้​สุจริต​ใจ​ให้​ได้​มา​เข้าใจ​ไม่​เพียง​ความ​หมาย​ของ​พระ​นาม​ยะโฮวา แต่​เข้าใจ​ว่า​พระองค์​ทรง​เรียก​ร้อง​อะไร​จาก​คน​ที่​นมัสการ​พระองค์ “ด้วย​วิญญาณ​และ​ความ​จริง.” (โยฮัน 4:23, 24, ล.ม.) ใช่​แล้ว มี​การ​ถวาย​เกียรติ​แด่​พระ​นาม​ยะโฮวา​ใน “หมู่​เกาะ” ทั้ง​หลาย. ด้วย​เหตุ​นี้ หลาย​พัน​คน​จึง​ฝาก​ความ​หวัง​ไว้​กับ​พระ​นาม​อัน​ยิ่ง​ใหญ่​ของ​พระองค์.—ยะซายา 24:15; 42:12; 51:5; สุภาษิต 18:10.

[ภาพ​หน้า 12]

ชาว​เกาะ​แปซิฟิก​ที่​เรียน​รู้​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​จาก​มิชชันนารี​รุ่น​แรก​ของ​คริสต์​ศาสนจักร​ได้​ประกาศ​พระ​นาม​นั้น​ให้​คน​อื่น​รู้​จัก

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Palm tree and photo at left: From the book Gems From the Coral Islands

[ภาพ​หน้า 13]

จอห์น วิลเลียมส์

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Culver Pictures

[ภาพ​หน้า 13]

ปาเปอีฮา

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Courtesy Institute of Pacific Studies, from Mission Life in the Islands of the Pacific, by Aaron Buzacott

[ภาพ​หน้า 15]

พยาน​พระ​ยะโฮวา​ทำ​ให้​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​เป็น​ที่​รู้​จัก​ทั่ว​โลก