ภัยนี้ร้ายแรงเพียงใด?
ภัยนี้ร้ายแรงเพียงใด?
ในเดือนตุลาคมปี 1997 หนูน้อยฮอลลี มัลลิน ทารกวัยสามสัปดาห์ติดเชื้อในช่องหู. เมื่ออาการไม่ดีขึ้นหลังจากสองสามวันผ่านไป หมอจึงให้ยาปฏิชีวนะตัวใหม่แก่เธอ. อาการของเธอน่าจะรักษาได้ง่าย ๆ แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น. การติดเชื้อกลับมาอีกและเป็นอย่างนี้ทุกครั้งหลังจากให้ยาปฏิชีวนะแต่ละชุด.
ในขวบปีแรก ฮอลลีได้รับยาปฏิชีวนะชนิดต่าง ๆ กันถึง 17 ชุด. จากนั้น เมื่ออายุได้ 21 เดือน เธอก็ติดเชื้อครั้งร้ายแรงที่สุด. หลังจากการให้ยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือดซึ่งเป็นมาตรการสุดท้ายเป็นเวลาถึง 14 วัน ในที่สุดก็สามารถรักษาการติดเชื้อได้.
เหตุการณ์เช่นนี้กลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้นเรื่อย ๆ และไม่ได้เกิดขึ้นกับทารกและผู้สูงอายุเท่านั้น. ผู้คนทุกวัยกำลังเจ็บป่วยและถึงกับเสียชีวิตเนื่องจากโรคติดเชื้อซึ่งเมื่อก่อนยาปฏิชีวนะสามารถรักษาให้หายได้ง่าย ๆ. ที่จริง เชื้อโรคที่สามารถต้านทานยาปฏิชีวนะได้นั้นเคยเป็นปัญหาร้ายแรงสำหรับโรงพยาบาลบางแห่งตั้งแต่ทศวรรษ 1950. จากนั้นในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970 เชื้อโรคที่ดื้อยาก็แพร่ไปสู่ชุมชน.
ในที่สุด นักวิจัยทางการแพทย์ก็เริ่มระบุว่า การใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไปกับทั้งมนุษย์ และสัตว์เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้มีเชื้อโรคที่ดื้อยาเพิ่มขึ้น. ในปี 1978 หนึ่งในบุคลากรทางการแพทย์เหล่านี้กล่าวว่า การใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไปนั้นเป็นสิ่งที่ “ควบคุมไม่ได้จริง ๆ.” ด้วยเหตุนี้ พอถึงทศวรรษ 1990 พาดหัวข่าวทำนองนี้จึงปรากฏขึ้นทั่วโลก: “เชื้อโรคตัวฉกาจมาแล้ว,” “เชื้อโรคตัวฉกาจยึดครองโลก,” “ยาอันตราย—การใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไปเป็นการเพาะเชื้อโรคตัวฉกาจ.”
นี่เป็นการพาดหัวข่าวที่เกินจริงไหม? ไม่เลย ถ้าเราดูรายงานจากองค์กรทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือ. ในรายงานฉบับหนึ่งเกี่ยวกับโรคติดเชื้อในปี 2000 ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า “ณ ตอนเริ่มต้นของสหัสวรรษใหม่ มนุษยชาติต่างเผชิญกับวิกฤตการณ์อีกอย่างหนึ่ง. โรคที่ในอดีตรักษาได้ . . . มาบัดนี้กำลังต้านทานยาต้านจุลชีพมากขึ้นเรื่อย ๆ.”
วิกฤตการณ์นี้ร้ายแรงเพียงใด? องค์การอนามัยโลกรายงานว่า “แนวโน้มที่น่าเป็นห่วงนี้ [เกี่ยวกับเชื้อโรคที่ดื้อยา] กำลังทำให้โอกาสในการรักษาโรคติดเชื้อมีน้อยลง.” นักวิชาการหลายคนในปัจจุบันถึงกับพูดว่ามนุษย์กำลังจะย้อนกลับเข้าสู่ “ยุคก่อนยาปฏิชีวนะ” คือเหมือนกับสมัยที่ยังไม่มียาปฏิชีวนะเพื่อใช้รักษาโรคติดเชื้อ.
จุลชีพที่ดื้อยาสามารถยึดครองโลกและเอาชนะความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่พัฒนาไปมากได้อย่างไร? คนเราจะทำอะไรได้บ้างไหมเพื่อป้องกันตัวเองหรือผู้อื่น? และมีทางแก้อะไรในอนาคตเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคที่ดื้อยา? บทความถัดไปจะให้คำตอบ.