ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

รากฐานของผมสำหรับชีวิตที่มีจุดมุ่งหมาย

รากฐานของผมสำหรับชีวิตที่มีจุดมุ่งหมาย

รากฐาน​ของ​ผม​สำหรับ​ชีวิต​ที่​มี​จุด​มุ่ง​หมาย

เล่า​โดย​เออร์เนสต์ พันดาจัค

ผม​กำเนิด​ที่​ทุ่ง​กว้าง​ใน​รัฐ​ซัสแคตเชวัน ประเทศ​แคนาดา. ตอน​ที่​ผม​อายุ 23 ปี ผม​ไป​แอฟริกา และ​ใช้​ชีวิต​ที่​น่า​ประทับใจ​ใน​ฐานะ​มิชชันนารี​ที่​นั่น 35 ปี. ชีวิต​ผม​เป็น​เช่น​นี้​ได้​อย่าง​ไร? ไม่​ใช่​เรื่อง​ของ​ความ​บังเอิญ. ขอ​ให้​ผม​ชี้​แจง.

บ้าน​หลัง​แรก​ของ​ผม​ทำ​ด้วย​ไม้, ดิน​เหนียว​และ​หญ้า​แห้ง ซึ่ง​แทบ​ไม่​ได้​ป้องกัน​ครอบครัว​ของ​เรา​ให้​พ้น​จาก​ความ​หนาว​อัน​แสน​ทารุณ​แห่ง​ทุ่ง​กว้าง​นี้​ใน​ฤดู​หนาว. ใน​ปี 1928 ก่อน​ที่​พวก​เรา​ส่วน​ใหญ่​จะ​เกิด​ครบ​ทั้ง​เก้า​คน พ่อ​กับ​แม่​ได้​รับ​สรรพหนังสือ​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​จาก​ผู้​ชาย​ที่​แวะ​มา​ที่​บ้าน​ของ​เรา. ต่อ​จาก​นั้น ระหว่าง​ช่วง​ฤดู​หนาว​อัน​ยาว​นาน พ่อ​กับ​แม่​ก็​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​โดย​ใช้​หนังสือ​คู่มือ​เหล่า​นี้. พอ​ถึง​ฤดู​ใบ​ไม้​ผลิ​ปี​ถัด​มา ท่าน​ก็​เชื่อ​มั่น​ว่า​ได้​พบ​ความ​จริง. ท่าน​บอก​เล่า​ความ​จริง​นี้​แก่​ครอบครัว, เพื่อน​ฝูง, และ​เพื่อน​บ้าน โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​แก่​ลูก ๆ ของ​ท่าน.

ผม​เกิด​ปี 1931 และ​จาก​นั้น​ไม่​นาน น้อง ๆ ห้า​คน​ก็​เกิด​ตาม​กัน​มา. การ​อ่าน​และ​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​กิจวัตร​ประจำ​ครอบครัว​ที​เดียว. ผม​ชอบ​นึก​ถึง​ยาม​เช้า​เมื่อ​เรา​อยู่​กัน​พร้อม​หน้า. พ่อ​จะ​เริ่ม​พิจารณา​ข้อ​คัมภีร์​ประจำ​วัน​กับ​พวก​เรา แม้​แต่​เมื่อ​มี​แขก​มา​พัก​ที่​บ้าน. แม่​กับ​พ่อ​และ​พี่ ๆ ที่​โต​แล้ว​ผลัด​กัน​อ่าน​ออก​เสียง​จาก​หนังสือ​ที่​อาศัย​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​หลัก.

นอก​จาก​สอน​พวก​เรา​ให้​อ่าน​และ​เขียน​แล้ว พ่อ​ยัง​ได้​สอน​เรา​ให้​ค้นคว้า​โดย​ใช้​ดัชนี​คำ​ศัพท์​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล. ไม่​นาน​เรา​ก็​เรียน​รู้​วิธี​ใช้​คัมภีร์​ไบเบิล​เพื่อ​อธิบาย​ให้​คน​อื่น​เข้าใจ​ความ​เชื่อ​ของ​เรา. การ​พิจารณา​ที่​น่า​เพลิดเพลิน​นี้​ช่วย​ผม​ให้​หา​เหตุ​ผล​ใน​เรื่อง​ต่าง ๆ เกี่ยว​กับ​พระ​คัมภีร์. ต่อ​มา ผม​สามารถ​ใช้​คัมภีร์​ไบเบิล​หักล้าง​คำ​สอน​เท็จ​ทาง​ศาสนา. ผม​สามารถ​พิสูจน์​ว่า​จิตวิญญาณ​ตาย​ได้, ไม่​มี​ไฟ​นรก, และ​ที่​ว่า​พระเจ้า​กับ​พระ​เยซู​ไม่​เท่า​เทียม​กัน หรือ​เป็น​ส่วน​ของ​สิ่ง​ที่​เรียก​กัน​ว่า​ตรีเอกานุภาพ.—ท่าน​ผู้​ประกาศ 9:5, 10; ยะเอศเคล 18:4; โยฮัน 14:28.

นอก​จาก​นั้น พ่อ​และ​แม่​ยัง​ได้​สอน​พวก​เรา​ด้วย​การ​วาง​ตัว​อย่าง​และ​สนับสนุน​เรา​ให้​ยืนหยัด​มั่นคง​เพื่อ​สิ่ง​ที่​ถูก​ต้อง แม้​ว่า​การ​ทำ​เช่น​นั้น​จะ​ไม่​เป็น​ที่​นิยม​ชม​ชอบ​ของ​คน​ทั่ว​ไป. ตัว​อย่าง​เช่น พ่อ​แม่​ไม่​เคย​ใช้​ยาสูบ และ​ท่าน​เตือน​เรา​ถึง​ผล​กระทบ​ของ​ยาสูบ​ซึ่ง​ทำ​ให้​เป็น​มลทิน รวม​ทั้ง​เตือน​ว่า​เรา​จะ​เผชิญ​ความ​กดดัน​ให้​ใช้​ยาสูบ​เมื่อ​อยู่​ที่​โรง​เรียน. ผม​นึก​ถึง​คำ​พูด​ของ​พ่อ​ที่​ว่า “ถ้า​ลูก​ปฏิเสธ ลูก​อาจ​ถูก​เรียก​ว่า​เจ้า​คน​ขี้ขลาด. แต่​ถาม​คน​นั้น​สิ​ว่า ‘ใคร​คือ​คน​กล้า​หาญ? คน​ที่​ยอม​ให้​ยาสูบ​ควบคุม​ตัว​เขา หรือ​คน​ที่​ควบคุม​ยาสูบ?’”

การ​ทดสอบ​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ที่​ว่า ผม​จะ​ปฏิบัติ​ตาม​การ​ฝึก​อบรม​ซึ่ง​อาศัย​หลัก​คัมภีร์​ไบเบิล​ตาม​ที่​ได้​เรียน​รู้​ใน​วัย​เด็ก​หรือ​ไม่​นั้น​เกิด​ขึ้น​ตอน​ที่​ผม​อายุ 11 ขวบ. ตอน​นั้น​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2 เริ่ม​ขึ้น​แล้ว​และ​เด็ก​นัก​เรียน​ถูก​คาด​หมาย​ให้​กล่าว​คำ​ปฏิญาณ​แสดง​ความ​จงรักภักดี​ต่อ​ธง. จาก​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล ผม​เข้าใจ​ว่า​การ​ปฏิญาณ​ตน​แบบ​นั้น​หมาย​ถึง​การ​นมัสการ ดัง​นั้น ผม​จึง​ไม่​ยอม​เข้า​ส่วน​ร่วม. นี่​เป็น​เหตุ​ให้​ผม​ถูก​พัก​การ​เรียน​เป็น​เวลา​หก​เดือน.

ถึง​กระนั้น ใน​เวลา​ต่อ​มา​ผม​ก็​จบ​การ​ศึกษา และ​ใน​เดือน​มีนาคม 1947 ผม​แสดง​สัญลักษณ์​การ​อุทิศ​ตัว​แด่​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ด้วย​การ​รับ​บัพติสมา​ใน​น้ำ. หลัง​จาก​นั้น​หก​เดือน​ผม​เริ่ม​งาน​ไพโอเนียร์ ซึ่ง​ก็​คือ​ผู้​ประกาศ​ข่าว​ดี​ประเภท​เต็ม​เวลา. ที​แรก ผม​ทำ​งาน​ใน​รัฐ​ซัสแคตเชวัน​ซึ่ง​อยู่​ทาง​ใต้ โดย​ให้​คำ​พยาน​แก่​พวก​เกษตรกร​และ​คน​เลี้ยง​วัว​ใน​บริเวณ​พื้น​ที่​อัน​กว้าง​ใหญ่​ไพศาล​แห่ง​นี้. ใน​ช่วง​ฤดู​ร้อน ผม​เดิน​ทาง​ด้วย​การ​ขี่​ม้า และ​ใน​ฤดู​หนาว​ผม​ใช้​รถ​ม้า​ลาก​เลื่อน​ซึ่ง​เรา​เรียก​มัน​ว่า​คะบูส. ผม​มี​เตา​ถ่าน​สำหรับ​ทำ​ความ​ร้อน ฉะนั้น ผม​ต้อง​คอย​ระวัง​ที่​จะ​ไม่​ให้​เลื่อน​พลิก​คว่ำ.

ชาว​ชนบท​มี​อัธยาศัย​ไมตรี​และ​มี​น้ำใจ​รับรอง​แขก. เมื่อ​ผม​ไป​เยี่ยม​ใน​ช่วง​เย็น พวก​เขา​มัก​จะ​ชวน​ผม​ค้าง​คืน​ที่​บ้าน. ผม​ถือ​ว่า​เวลา​ที่​มี​การ​สนทนา​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​ราว​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​อย่าง​มี​ชีวิต​ชีวา​นั้น​เป็น​สิ่ง​ที่​มี​ค่า​ยิ่ง! ครอบครัว​ปีเตอร์​สัน​เป็น​ครอบครัว​หนึ่ง​ซึ่ง​ตอบรับ​หลัง​จาก​ที่​ได้​พูด​คุย​หา​เหตุ​ผล​กัน​ตลอด​คืน. เอิร์ล พร้อม​ด้วย​มารดา​ของ​เขา​เข้า​มา​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ที่​มี​ใจ​แรง​กล้า.

การ​รับใช้​ใน​รัฐ​ควิเบก

ปี 1949 ผม​ตอบรับ​การ​เชิญ​ให้​เป็น​ไพโอเนียร์​เพื่อ​ช่วย​งาน​ประกาศ​ใน​รัฐ​คิว​เบก. ไพโอเนียร์​ประมาณ 200 คน​จาก​ภาค​ตะวัน​ตก​ของ​แคนาดา​ได้​ตอบรับ. พวก​เขา​มา​ถึง​เมือง​มอนทรีออล​ใน​เดือน​กันยายน พร้อม​ที่​จะ​รับ​งาน​มอบหมาย​ทั่ว​รัฐ​ควิเบก. นั่น​เป็น​ยุค​ที่​ชาว​คาทอลิก​ชื่อ มอรีส ดูเปสซี ดำรง​ตำแหน่ง​นายก​รัฐมนตรี ซึ่ง​เขา​สาบาน​ไว้​ว่า​จะ​กำจัด​พยาน​ฯ ให้​หมด​ไป​จาก​รัฐ​นี้.

ตอน​นั้น​เป็น​ช่วง​เวลา​ที่​น่า​ตื่นเต้น​และ​มี​งาน​มาก​พร้อม​กับ​มี​ข้อ​ท้าทาย​ต่าง ๆ. ข้อ​ท้าทาย​เหล่า​นี้​รวม​ถึง​การ​เรียน​ภาษา​ฝรั่งเศส, การ​ถูก​จับ​กุม, ถูก​ฝูง​ชน​กลุ้ม​รุม​ทำ​ร้าย, และ​การ​ประชุม​คริสเตียน​ก็​ถูก​ขัด​ขวาง​โดย​ผู้​บุกรุก​ที่​บ้า​คลั่ง. อย่าง​ไร​ก็​ตาม พวก​ใจ​แคบ​เหล่า​นั้น​ไม่​ได้​ข่มขู่​ผม​หรือ​ทำ​ให้​ผม​รู้สึก​หวั่น​กลัว​ขณะ​ทำ​งาน​ประจำ​ชีพ​ของ​ผม​ฐานะ​ผู้​รับใช้​ของ​พระเจ้า. พ่อ​แม่​ได้​ปลูกฝัง​ผม​ให้​รัก​ใน​สิ่ง​ที่​ถูก​ต้อง และ​มี​ความ​เชื่อ​มั่น​ว่า​งาน​ประกาศ​ทั่ว​โลก​ที่​พระ​เยซู​ได้​ตรัส​ล่วง​หน้า​นั้น​จะ​สำเร็จ แม้​จะ​มี​การ​ขัด​ขวาง​ก็​ตาม.—มัดธาย 24:9, 14.

ช่วง​ที่​ผม​อยู่​ใน​ควิเบก ผม​ได้​พบ​กับ​เอมิลี ฮอว์ริช ไพโอเนียร์​ที่​ซื่อ​สัตย์​จาก​รัฐ​ซัสแคตเชวัน. ตั้ง​แต่​วัน​ที่​เรา​แต่งงาน​กัน​คือ วัน​ที่ 27 มกราคม 1951 เอมิลี​เป็น​เพื่อน​ร่วม​งาน​ที่​ภักดี​และ​เป็น​เพื่อน​เดิน​ทาง​ที่​ช่วย​หนุน​กำลังใจ​ผม​ตลอด​มา. เนื่อง​จาก​เรา​มี​เป้าหมาย​จะ​ร่วม​ใน​งาน​รับใช้​อย่าง​เต็ม​ที่​ยิ่ง​ขึ้น เรา​จึง​ส่ง​ใบ​สมัคร​และ​ได้​รับ​การ​เชิญ​เข้า​เป็น​นัก​เรียน​ใน​โรง​เรียน​ว็อชเทาเวอร์​ไบเบิล​แห่ง​กิเลียด ซึ่ง​มี​หลัก​สูตร​การ​เรียน​ประมาณ​หก​เดือน​เพื่อ​เตรียม​ผู้​รับใช้​สำหรับ​งาน​มิชชันนารี. เรา​จบ​หลัก​สูตร​โรง​เรียน​กิเลียด​รุ่น​ที่ 20 ใน​เดือน​กุมภาพันธ์ 1953.

ระหว่าง​ที่​เรา​คอย​เอกสาร​การ​ขอ​เข้า​แอฟริกา เรา​ได้​รับ​เชิญ​ให้​ไป​ช่วย​ประชาคม​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ที่​รัฐ​แอลเบอร์ตา​และ​ออนแทรีโอ ใน​แคนาดา. สมัย​นั้น เรา​เดิน​ทาง​จาก​ประชาคม​หนึ่ง​ไป​ยัง​ประชาคม​หนึ่ง​ด้วย​รถ​โดยสาร​ประจำ​ทาง. ดัง​นั้น เรา​เรียน​รู้​ที่​จะ​ใช้​ชีวิต​อย่าง​เรียบ​ง่าย​และ​เอา​ของ​ทุก​อย่าง​ใส่​ใน​กระเป๋า​เสื้อ​ผ้า​ใบ​เดียว. สอง​สาม​เดือน​ต่อ​มา เมื่อ​เอกสาร​การ​เดิน​ทาง​และ​การ​ขอ​เข้า​ประเทศ​ได้​รับ​อนุมัติ​แล้ว เรา​จึง​ออก​จาก​แคนาดา​และ​เดิน​ทาง​ไป​ยัง​โรดีเซีย​ใต้ ปัจจุบัน​เรียก​ว่า​ซิมบับเว.

ปรับ​ตัว​เข้า​กับ​ชีวิต​ใน​แอฟริกา

ภาย​ใน​ห้า​เดือน​หลัง​จาก​ไป​ถึง​ที่​นั่น เรา​ก็​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​เยี่ยม​ประชาคม​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ตาม​เมือง​ต่าง ๆ ใน​ซิมบับเว​รวม​ทั้ง​บอตสวานา และ​บาง​ส่วน​ที่​อยู่​ทาง​ตอน​ใต้​ของ​โรดีเซีย​เหนือ (ปัจจุบัน​คือ​แซมเบีย). ที่​โรง​เรียน​กิเลียด เรา​ได้​รับ​การ​สนับสนุน​ที่​จะ​ไม่​เปรียบ​เทียบ​เขต​งาน​ต่าง​แดน​กับ​ประเทศ​บ้าน​เกิด​ของ​เรา และ​ที่​จะ​จด​จำ​ไว้​ว่า ไม่​ว่า​เรา​จะ​ประสบ​สภาพการณ์​ใด​ก็​ตาม เรา​สามารถ​เรียน​รู้​บาง​สิ่ง​ได้​ด้วย​ประสบการณ์​ของ​ตัว​เอง. วาทะ​อัน​คมคาย​ดัง​กล่าว​ช่วย​ปรับ​ความ​คิด​ของ​เรา. จน​ทุก​วัน​นี้ ผม​กับ​เอมิลี​เห็น​พ้อง​กับ​คำ​คม​ที่​ว่า “จง​ใช้​ทุก​โอกาส​อย่าง​ดี​ที่​สุด เพราะ​โอกาส​เช่น​นั้น​อาจ​จะ​ไม่​มี​อีก.”

เรา​เดิน​ทาง​จาก​ที่​หนึ่ง​ไป​ยัง​อีก​ที่​หนึ่ง​โดย​รถไฟ, รถ​ประจำ​ทาง, รถ​บรรทุก, หรือ​รถ​จักรยาน แล้ว​แต่​ว่า​จะ​มี​รถ​อะไร​ให้​เรา​ขึ้น. แม้​ว่า​เรื่อง​นี้​จะ​ทำ​ให้​เรา​ต้อง​ใช้​กำลัง​มาก แต่​ยัง​มี​สภาพการณ์​อื่น​ที่​ทดสอบ​ความ​มุ่ง​มั่น​ของ​เรา​ที่​จะ “ใช้​ทุก​โอกาส​อย่าง​ดี​ที่​สุด.” ใน​ช่วง​สอง​ปี​แรก เอมิลี​ไม่​สามารถ​เดิน​ทาง​ไป​กับ​ผม​ใน​เขต​ของ​ชน​เผ่า​ต่าง ๆ เนื่อง​จาก​ข้อ​จำกัด​ทาง​กฎหมาย. ด้วย​เหตุ​นี้ ผม​จำ​ต้อง​ละ​ภรรยา​ที่​เพิ่ง​แต่งงาน​ได้​เพียง​ไม่​กี่​ปี​ไว้​ใน​เมือง​ที่​อยู่​สุด​ทาง​รถไฟ ซึ่ง​บ่อย​ครั้ง​ไม่​มี​พยาน​พระ​ยะโฮวา​อยู่. ความ​เชื่อ, ความ​กล้า, และ​ความ​แน่วแน่​มั่นคง​ของ​เอมิลี​ไม่​เพียง​แต่​เพิ่ม​พูน​ความ​นิยม​ชม​ชอบ​และ​ความ​รัก​ที่​ผม​มี​ต่อ​เธอ แต่​ยัง​นำ​ผล​แห่ง​ราชอาณาจักร​มา​สู่​ชุมชน​เหล่า​นี้​ด้วย.

ทันที​หลัง​จาก​หา​ที่​พัก​ได้​จาก​คน​ใน​ท้องถิ่น​แล้ว เอมิลี​ก็​จะ​ออก​ไป​ให้​คำ​พยาน​ใน​ย่าน​นั้น​กระทั่ง​ผม​กลับ​จาก​เขต​ของ​ชาว​เผ่า. บาง​ครั้ง เธอ​ประกาศ​เพียง​ลำพัง​นาน​นับ​เดือน. เธอ​ได้​รับ​เรี่ยว​แรง​และ​การ​คุ้มครอง​ด้วย​การ​ไว้​วางใจ​ใน​พระ​หัตถ์​อัน​ทรง​ฤทธิ์​ของ​พระ​ยะโฮวา และ​งาน​รับใช้​ของ​เธอ​บังเกิด​ผล. ตัว​อย่าง​หนึ่ง ริตา ฮันค็อก ได้​รับ​เอา​ความ​จริง​และ​ต่อ​มา​สามี​ของ​เธอ​ก็​ตอบรับ​เช่น​กัน. เขา​ได้​มา​เป็น​พี่​น้อง​ที่​ซื่อ​สัตย์​และ​ทำ​หน้า​ที่​ฐานะ​คริสเตียน​ผู้​ปกครอง​ตราบ​สิ้น​ชีวิต. เวลา​นี้ หลาย​ประชาคม​กำลัง​เกิด​ผล​ใน​เมือง​เหล่า​นั้น​ที่​เอมิลี​ได้​หว่าน​เมล็ด​แห่ง​ความ​จริง​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล.

น้ำใจ​รับรอง​แขก​และ​ความ​เฉลียวฉลาด​ของ​ชาว​แอฟริกา

ระหว่าง​นั้น ใน​เขต​งาน​ที่​ชาว​เผ่า​ต่าง ๆ อาศัย​อยู่ การ​แสดง​ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​อย่าง​ลึกซึ้ง​ที่​พยาน​ฯ ชาว​แอฟริกา​มี​ต่อ​องค์การ​ของ​พระ​ยะโฮวา​และ​ตัว​แทน​เดิน​ทาง​เป็น​ประสบการณ์​ที่​ยัง​ความ​ซาบซึ้ง​ใจ​แก่​ผม​อย่าง​มาก. ผม​ได้​รับ​การ​ดู​แล​อย่าง​ดี​จาก​พวก​พี่​น้อง​คริสเตียน​ผู้​เปี่ยม​ความ​รัก. ทุก​วัน​จันทร์​ผม​จะ​เดิน​ทาง​จาก​สถาน​ที่​จัด​การ​ประชุม​ใหญ่​แห่ง​หนึ่ง​ไป​ยัง​อีก​แห่ง​หนึ่ง. ที่​พัก​ของ​ผม​เป็น​กระท่อม​มุง​ฟาง​ซึ่ง​เพิ่ง​สร้าง​ใหม่ สิ่ง​นี้​ทำ​ให้​ผม​นึก​ถึง​บ้าน​ของ​ครอบครัว​เรา​ใน​ซัสแคตเชวัน. ที่​นอน​ของ​ผม​เป็น​เสื่อ​สาน​ด้วย​หญ้า​หนา 1 ฟุต​ปู​กับ​พื้น​และ​มี​ผ้า​ปู​ทับ​เสื่อ​อีก​ชั้น​หนึ่ง.

การ​ประชุม​ใหญ่​ใน​เขต​ของ​ชาว​เผ่า​มัก​จัด​ขึ้น​กลาง​ป่า. พวก​ที่​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​จะ​ถาง​ไม้​พุ่ม​หรือ​พง​หญ้า​ออก​ให้​หมด เหลือ​แต่​ต้น​ไม้​ใบ​ดก​ไว้​บัง​แดด. หญ้า​ถูก​มัด​รวม​กัน​เป็น​ฟ่อน วาง​เรียง​เป็น​แถว​สำหรับ​เป็น​ที่​นั่ง. ใน​ขั้น​ตอน​สุด​ท้าย มี​การ​สร้าง​รั้ว​หญ้า​ล้อม​บริเวณ​ที่​โล่ง​เตียน. ใน​สภาพ​ที่​เป็น​ธรรมชาติ​เดิม ๆ เช่น​นี้ ผม​รู้สึก​ตื้นตัน​ใจ​เสมอ​กับ​เสียง​เพลง​อัน​ไพเราะ​ของ​พี่​น้อง​ชาย​หญิง​ชาว​แอฟริกา​ที่​ร้อง​เพลง​สรรเสริญ​พระ​ยะโฮวา​เป็น​เสียง​ที่​ติด​ตรึง​ใจ​จน​ไม่​อาจ​จะ​ลืม​ได้.

ประสบการณ์​ที่​น่า​จด​จำ

ใน​ช่วง​ที่​ผม​อยู่​ใน​งาน​รับใช้ ผม​ได้​พบ​กีเดียน เซนดา หัวหน้า​ผู้​ตรวจ​การ​โรง​เรียน​ผู้​เผยแพร่​ศาสนา​ซึ่ง​ดำเนิน​งาน​โดย​คริสตจักร​แองกลิกัน. กีเดียน​ได้​รับ​การ​ศึกษา​รวม​ทั้ง​การ​ฝึก​อบรม​ใน​มหาวิทยาลัย​โดย​อาศัย​ทุน​ของ​คริสตจักร. อย่าง​ไร​ก็​ดี เขา​ไม่​ได้​คำ​ตอบ​ที่​น่า​พอ​ใจ​เกี่ยว​กับ​คำ​ถาม​หลาย​ข้อ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. ดัง​นั้น เขา​ขอ​ให้​ผม​ไป​พบ​เขา​กับ​เพื่อน​ร่วม​งาน​อีก​หลาย​คน​เพื่อ​ตอบ​คำ​ถาม​เหล่า​นั้น. มี​ประมาณ 50 คน​เข้า​มา​นั่ง​ประชุม รวม​ทั้ง​ผู้​ตรวจ​การ​โรง​เรียน, ครู​ใหญ่​และ​คณะ. กีเดียน​ทำ​หน้า​ที่​เป็น​ประธาน​การ​ประชุม​ครั้ง​นั้น. การ​อภิปราย​ดำเนิน​อย่าง​มี​ระเบียบ เรา​พิจารณา​เป็น​เรื่อง ๆ ไป. แต่​ละ​เรื่อง​ผม​จะ​พูด 15 นาที​แล้ว​จึง​พิจารณา​คำ​ถาม. การ​ประชุม​ครั้ง​นั้น​กิน​เวลา​หลาย​ชั่วโมง.

ผล​จาก​การ​ประชุม​ที่​ไม่​ธรรมดา​นี้ คือ​กีเดียน, ครอบครัว​ของ​เขา, และ​เพื่อน​ร่วม​งาน​ของ​เขา​หลาย​คน ทั้ง​หมด​นี้​ได้​เข้า​มา​เป็น​ผู้​รับใช้​ที่​อุทิศ​ตัว​แด่​พระ​ยะโฮวา​และ​รับ​บัพติสมา. บิชอป​ใน​ท้องถิ่น​เลิก​ว่า​จ้าง​พวก​เขา​ใน​ระบบ​การ​ศึกษา​ของ​คริสตจักร​แองกลิกัน. อย่าง​ไร​ก็​ดี ทุก​คน​ไม่​วิตก​กังวล​และ​ยัง​ยืนหยัด​มั่นคง​ทำ​งาน​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ต่อ​ไป บาง​คน​ยึด​เอา​งาน​รับใช้​ประเภท​ไพโอเนียร์.

ตอบรับ​ภาพยนตร์​ที่​น่า​ทึ่ง

ปี 1954 พยาน​พระ​ยะโฮวา​ได้​นำ​ภาพยนตร์​เรื่อง​สมาคม​โลก​ใหม่​ใน​ภาค​ปฏิบัติ ออก​ฉาย. ปี​ต่อ​มา มี​การ​ยก​เลิก​ข้อ​จำกัด​ด้าน​กฎหมาย​ซึ่ง​เมื่อ​ก่อน​เคย​ห้าม​ภรรยา​ติด​ตาม​สามี​ไป​ยัง​เขต​ของ​ชาว​เผ่า. มา​ตอน​นี้​เอมิลี​สามารถ​เดิน​ทาง​เข้า​ไป​ใน​เขต​ชาว​เผ่า​กับ​ผม​ได้. สมัย​นั้น มี​การ​จัด​หา​รถยนต์, เครื่อง​ปั่น​ไฟ, และ​เครื่อง​ฉาย​เพื่อ​นำ​ภาพยนตร์​ไป​ฉาย​ทั่ว​ทุก​ชุมชน​ของ​ชาว​เผ่า​เหล่า​นั้น. หลาย​คน​ไม่​เคย​ดู​ภาพยนตร์​เลย ดัง​นั้น เมื่อ​เรา​นำ​ภาพยนตร์​ออก​ฉาย จึง​เป็น​สิ่ง​ที่​ผู้​คน​จำนวน​มาก​ให้​ความ​สนใจ. ภาพยนตร์​นั้น​แสดง​ให้​เห็น​ขั้น​ตอน​การ​ผลิต​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​สรรพหนังสือ​เกี่ยว​กับ​พระ​คัมภีร์​ที่​โรง​พิมพ์​ขนาด​ใหญ่​ของ​เรา​ใน​บรุกลิน นิวยอร์ก.

นอก​จาก​นั้น ฉาก​ใน​ภาพยนตร์​แสดง​ให้​เห็น​ภาพ​สังคม​พี่​น้อง​ทั่ว​โลก​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​อยู่​ร่วม​กัน​ใน​การ​นมัสการ ณ สนาม​กีฬา​แยงกี นคร​นิวยอร์ก ใน​ปี 1953. ชาว​แอฟริกา​เหล่า​นี้​ไม่​เคย​เห็น​การ​แสดง​ความ​เป็น​เอกภาพ​และ​ความ​รัก​ระหว่าง​เชื้อชาติ​อย่าง​นี้​มา​ก่อน. ภาพยนตร์​นี้​กระตุ้น​ชาว​ซิมบับเว​หลาย​ครอบครัว​ให้​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​คบหา​กับ​เหล่า​พยาน​ฯ. ครู​ใหญ่​ทั่ว​ประเทศ​ซึ่ง​ตระหนัก​ถึง​คุณค่า​ของ​การ​ศึกษา​ที่​ใช้​ภาพ​เป็น​เครื่อง​ช่วย​สำหรับ​นัก​เรียน​ใน​โรง​เรียน ได้​ส่ง​คำ​ขอ​เข้า​มา​มาก​มาย​เพื่อ​ให้​มี​การ​ฉาย​ภาพยนตร์​นี้​อีก.

คืน​หนึ่ง​ดึก​มาก​แล้ว พยาน​ฯ หลาย​คน​ปลุก​ผม​ให้​ตื่น​และ​ขอร้อง​ให้​ฉาย​ภาพยนตร์​เรื่อง​นี้. ผม​ประหลาด​ใจ​มาก​เมื่อ​เห็น​ชาว​บ้าน​เกือบ 500 คน​ที่​ได้​เดิน​ทาง​หลาย​ชั่วโมง​เพื่อ​มา​ชม​ภาพยนตร์. พวก​เขา​ได้​ยิน​ว่า​ผม​อยู่​ใน​เขต​นั้น​และ​เคย​ฉาย​ภาพยนตร์​ให้​คน​ชม. พอ​ฝูง​ชน​กลุ่ม​นั้น​แยก​ย้าย​กัน​กลับ​บ้าน ก็​มี​มา​อีก​กลุ่ม​หนึ่ง​ราว 300 คน. ดัง​นั้น ผม​จึง​ต้อง​ฉาย​อีก​รอบ​หนึ่ง. กว่า​พวก​ที่​ดู​รอบ​สุด​ท้าย​จะ​กลับ​ไป​ก็​เป็น​เวลา​ตี​สาม​แล้ว! ตลอด​ช่วง 17 ปี เฉพาะ​ที่​แซมเบีย​แห่ง​เดียว มี​ประชาชน​กว่า​หนึ่ง​ล้าน​คน​ได้​ดู​ภาพยนตร์​เรื่อง​นี้​ซึ่ง​ก่อ​ผล​กว้างขวาง!

เขต​มอบหมาย​แห่ง​ใหม่​ใน​แอฟริกา

หลัง​จาก​ทำ​งาน​เผยแพร่​ใน​ซิมบับเว​เป็น​เวลา​กว่า​ห้า​ปี​ครึ่ง เรา​ก็​ย้าย​ไป​ที่​แอฟริกา​ใต้. นี่​หมาย​ความ​ว่า​เรา​ต้อง​เรียน​ภาษา​อาฟริกานส์. ต่อ​มา เรา​เรียน​พูด​ภาษา​เซซุทู​และ​ภาษา​ซูลู​ด้วย. การ​ที่​เรา​สามารถ​สอน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ใน​ภาษา​อื่น ๆ นั้น​เป็น​การ​เพิ่ม​ประสิทธิภาพ​งาน​เผยแพร่​ของ​เรา และ​ทำ​ให้​เรา​รู้สึก​ว่า​ประสบ​ผล​สำเร็จ.

ต้น​ปี 1960 เรา​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​ทำ​งาน​เยี่ยม​หมวด​ทาง​ภาค​ใต้​ของ​แอฟริกา. ตลอด 27 ปี​นับ​จาก​นั้น เรา​เดิน​ทาง​ไป​จน​ทั่ว​ทั้ง​เลโซโท, นามิเบีย, แอฟริกา​ใต้, และ​สวาซิแลนด์ รวม​ถึง​หมู่​เกาะ​อัสเซนซัน​และ​เกาะ​เซนต์​เฮเลนา​ซึ่ง​อยู่​ทาง​ใต้​ของ​มหาสมุทร​แอตแลนติก. รวม​กัน​แล้ว เรา​เดิน​ทาง​เป็น​ระยะ​ทาง​ทั้ง​สิ้น​หลาย​หมื่น​หลาย​แสน​กิโลเมตร​ใน​การ​รับใช้​พี่​น้อง​คริสเตียน​ชาย​หญิง​ของ​เรา. การ​กระทำ​ด้วย​ความ​เชื่อ​และ​ความ​ภักดี​ของ​พวก​เขา​ภาย​ใต้​สภาพการณ์​ซึ่ง​ยุ่งยาก​ลำบาก​นั้น​ทำ​ให้​เรา​มี​กำลังใจ​ที่​จะ​ไม่​เลิก​รา.

เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง ผม​ได้​รู้​จัก​พยาน​ฯ บาง​คน​ใน​ประเทศ​สวาซิแลนด์​เป็น​ส่วน​ตัว ซึ่ง​ไม่​ยอม​อะลุ่มอล่วย​ความ​เชื่อ​ของ​ตน​คราว​ที่​กษัตริย์​โซ​บู​ซา​ที่ 2 สิ้น​พระ​ชนม์. เนื่อง​จาก​เหล่า​พยาน​ฯ ไม่​ยอม​ร่วม​พิธีกรรม​ซึ่ง​ไม่​เป็น​ตาม​หลัก​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​จัด​ขึ้น​ใน​งาน​ศพ​ของ​ผู้​สูง​ศักดิ์ พวก​เขา​จึง​ถูก​ไล่​ออก​จาก​งาน​และ​ถูก​ถอน​สิทธิ​การ​เป็น​พลเมือง​ของ​ประเทศ. แม้​พวก​เขา​ถูก​เพิกถอน​สิทธิ​และ​ประสบ​ความ​ลำบาก​นาน​หลาย​ปี แต่​พวก​เขา​ไม่​เคย​ละ​ทิ้ง​ความ​เชื่อ​ของ​ตน. การ​ได้​รู้​จัก​พี่​น้อง​คริสเตียน​ชาย​หญิง​ที่​ยอด​เยี่ยม​เหล่า​นี้ และ​ได้​พูด​คุย​กับ​พวก​เขา​เป็น​ส่วน​ตัว​นับ​ว่า​เป็น​สิทธิ​พิเศษ​อัน​ยิ่ง​ใหญ่ ซึ่ง​ผม​จะ​ขอบพระคุณ​พระ​ยะโฮวา​เสมอ.

แล้ว​ก็​มี​ฟิเลโมน มาฟาเรกา ไพโอเนียร์​ซึ่ง​มา​จาก​หมู่​บ้าน​มักฮอทลอง ประเทศ​เลโซโท หมู่​บ้าน​นี้​ตั้ง​อยู่​บน​เทือก​เขา​ซึ่ง​อยู่​สูง​เหนือ​ระดับ​น้ำ​ทะเล​กว่า 3,000 เมตร. เนื่อง​จาก​ไม่​มี​ยาน​พาหนะ​ใด ๆ ไป​ถึง​ที่​นั่น เขา​กับ​ภรรยา​ที่​รัก, และ​ลูก​สอง​คน, รวม​ทั้ง​ชาย​หญิง​อีก​สี่​คน​ที่​ตั้งใจ​จะ​รับ​บัพติสมา​จึง​พา​กัน​เดิน​เท้า​เป็น​ระยะ​ทาง​กว่า 100 กิโลเมตร​เพื่อ​ไป​ยัง​การ​ประชุม​ซึ่ง​จัด​ขึ้น​ใน​พื้น​ที่​ซึ่ง​อยู่​สูง​เหนือ​ระดับ​น้ำ​ทะเล 1,200 เมตร. เกือบ​ตลอด​เส้น​ทาง​นั้น พวก​เขา​ต้อง​ผ่าน​ภูมิ​ประเทศ​ที่​สูง​ชัน. เขา​ปีน​ป่าย​ขึ้น​ลง​ตาม​ซอก​เขา​ด้วย​ความ​ระมัดระวัง​และ​ข้าม​ห้วย​และ​ลำธาร​หลาย​สาย.

เมื่อ​พวก​เขา​เดิน​ทาง​กลับ​บ้าน​หลัง​จาก​การ​ประชุม​ใหญ่​สิ้น​สุด​ลง เขา​ขน​เอา​หนังสือ​ความ​จริง​ซึ่ง​นำ​ไป​สู่​ชีวิต​ถาวร หนึ่ง​ร้อย​เล่ม​ไป​ด้วย. พวก​เขา​ตั้งใจ​นำ​หนังสือ​เหล่า​นี้​กลับ​ไป​ฝาก​ผู้​คน​ใน​หมู่​บ้าน​มักฮอทลอง. แต่​ระหว่าง​ทาง​กลับ​บ้าน เขา​ได้​พบ​ผู้​ที่​สนใจ​สรรพหนังสือ​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล ดัง​นั้น หนังสือ​ที่​พวก​เขา​มี​ติด​ตัว​อยู่​จึง​หมด​ก่อน​จะ​ถึง​บ้าน​ด้วย​ซ้ำ. การ​ได้​เห็น​ด้วย​ตา​ตัว​เอง​ว่า​พี่​น้อง​คริสเตียน​ชาย​หญิง​อย่าง​ฟิเลโมน​กับ​ภรรยา​ของ​เขา​มี​ใจ​แรง​กล้า​และ​เสีย​สละ​มาก​เพียง​ใด​นั้น นับ​ว่า​เป็น​สิทธิ​พิเศษ​สำหรับ​ผม​กับ​เอมิลี ซึ่ง​เรา​ได้​ทะนุถนอม​ไว้​ตราบ​จน​ทุก​วัน​นี้.

บาง​ครั้ง เรา​เผชิญ​อันตราย​จาก​งู​พิษ อย่าง​เช่น​งู​เห่า รวม​ทั้ง​อันตราย​จาก​น้ำ​หลาก​และ​การ​เสี่ยง​อื่น ๆ. ประสบการณ์​เหล่า​นี้ แม้​ว่า​น่า​ตกใจ​ใน​บาง​ครั้ง แต่​ก็​กลาย​เป็น​เรื่อง​ไม่​สู้​จะ​สำคัญ​นัก​เมื่อ​เทียบ​กับ​พระ​พร​และ​ความ​ยินดี​ที่​เรา​ได้​รับ​จาก​งาน​ประจำ​ชีพ​ใน​การ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา. เรา​ได้​เรียน​รู้​ว่า พระองค์​ไม่​เคย​ทอดทิ้ง​เหล่า​ผู้​ภักดี​ของ​พระองค์.

เมื่อ​เอมิลี​มี​ปัญหา​สุขภาพ​ร้ายแรง พระ​ยะโฮวา​ทรง​ประทาน​สติ​ปัญญา​ให้​เรา​รู้​วิธี​จัด​การ​สภาพการณ์​นั้น​อย่าง​สมดุล. การ​ปรับ​เปลี่ยน​อาหาร​การ​กิน​ของ​เรา และ​การ​ปรับ​ปรุง​ด้าน​สุขอนามัย​ได้​ช่วย​ให้​เธอ​ฟื้น​ตัว​เร็ว​ขึ้น. เรา​แปลง​รถ​กระบะ​เป็น​รถ​บ้าน​เพื่อ​เอมิลี​จะ​สามารถ​จัด​ที่​พัก​ได้​ตาม​ความ​เหมาะ​สม​ระหว่าง​ที่​เรา​เดิน​ทาง และ​ใน​ที่​สุด สุขภาพ​ของ​เธอ​ก็​กลับ​ดี​ดัง​เดิม.

กลับ​แคนาดา

ปี 1988 หลัง​จาก​ทำ​งาน​มิชชันนารี​ต่าง​แดน 35 ปี​ใน​ทวีป​แอฟริกา​ที่​น่า​ตื่น​ตา​ตื่น​ใจ เรา​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​กลับ​ไป​ยัง​แคนาดา. พอ​มา​ใน​ปี 1991 ผม​เริ่ม​งาน​รับใช้​อีก​ครั้ง​หนึ่ง​ใน​ฐานะ​ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง. แปด​ปี​ต่อ​มา​ผม​ล้ม​ป่วย​ด้วย​โรค​เส้น​เลือด​สมอง. แม้​ว่า​นับ​แต่​นั้น​มา ผม​จะ​ทำ​กิจกรรม​ต่าง ๆ ได้​น้อย​มาก แต่​ผม​ก็​ยัง​คง​มี​ความ​สุข​จาก​การ​รับใช้​ฐานะ​ผู้​ปกครอง​ใน​ประชาคม​แห่ง​หนึ่ง​ที่​เมือง​ลอนดอน รัฐ​ออนแทรีโอ.

ทุก​วัน​นี้ ผม​รู้สึก​อิ่ม​ใจ​พอ​ใจ​เมื่อ​มอง​ย้อน​ไป​ถึง​สมัย​ที่​ผม​ขี่​ม้า​และ​เริ่ม​เป็น​ไพโอเนียร์​อยู่​ทาง​ใต้​ของ​รัฐ​ซัสแคตเชวัน​ราว ๆ 56 ปี​มา​แล้ว. ผม​รู้สึก​ขอบคุณ​จริง ๆ ที่​คุณ​พ่อ​อุตส่าห์​พากเพียร​สอน​พวก​เรา​ให้​คิด​แบบ​มนุษย์​ฝ่าย​วิญญาณ ไม่​กลัว​ที่​จะ​ยืน​มั่น​เพื่อ​ความ​จริง​และ​ความ​ชอบธรรม! ท่าน​ได้​สั่ง​สอน​ผม​ด้วย​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า ซึ่ง​ทำ​ให้​ชีวิต​ผม​มี​จุด​มุ่ง​หมาย. มรดก​นี้​เป็น​ประโยชน์​ตลอด​ชีวิต​ของ​ผม. ไม่​มี​วัน​ที่​ผม​จะ​เอา​ชีวิต​ของ​ผม​ใน​งาน​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ไป​แลก​กับ​สิ่ง​ใด ๆ ที่​โลก​เก่า​นี้​เสนอ​ให้.

[ภาพ​หน้า 19]

ครอบครัว​ของ​เรา ที่​มี​ลูก​เก้า​คน​เมื่อ​ปี 1949 แม่​กำลัง​อุ้ม​ลูก​คน​สุด​ท้อง. ผม​ยืน​ข้าง​หลัง​แม่

[ภาพ​หน้า 20]

ผม​สร้าง “คะบูส” คัน​นี้​สำหรับ​ใช้​ใน​งาน​เผยแพร่

[ภาพ​หน้า 20]

พวก​สตรี​ใน​รัฐ​ควิเบก​ที่​ถูก​จับ​เนื่อง​จาก​ทำ​งาน​เผยแพร่

[ภาพ​หน้า 22, 23]

ผม​มี​ส่วน​ใน​การ​สอน​ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง​เหล่า​นี้​ที่​ประเทศ​ซิมบับเว

[ภาพ​หน้า 23]

เรา​แปลง​รถ​คัน​นี้​เป็น​รถ​บ้าน​เพื่อ​ให้​เอมิลี​ได้​พักฟื้น

[ภาพ​หน้า 23]

ภาพ​ที่​ถ่าย​เมื่อ​เร็ว ๆ นี้​กับ​เอมิลี