ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เชื้อโรคจอมทรหด—กลับฟื้นขึ้นมาอย่างไร?

เชื้อโรคจอมทรหด—กลับฟื้นขึ้นมาอย่างไร?

เชื้อ​โรค​จอม​ทรหด—กลับ​ฟื้น​ขึ้น​มา​อย่าง​ไร?

ดู​เหมือน​ว่า​ไวรัส, แบคทีเรีย, โปรโตซัว, รา, และ​จุลชีพ​ชนิด​อื่น ๆ มี​มา​ตั้ง​แต่​เริ่ม​มี​ชีวิต​บน​แผ่นดิน​โลก. ความ​สามารถ​ใน​การ​ปรับ​ตัว​ได้​อย่าง​น่า​ทึ่ง​ของ​จุลชีพ​เหล่า​นี้ ซึ่ง​เป็น​สิ่ง​มี​ชีวิต​ที่​เรียบ​ง่าย​ที่​สุด ทำ​ให้​มัน​รอด​ชีวิต​อยู่​ได้​ใน​ที่​ซึ่ง​สิ่ง​มี​ชีวิต​ชนิด​อื่น​ไม่​สามารถ​อยู่​ได้. จุลชีพ​เหล่า​นี้​พบ​ได้​ทั้ง​ใน​ปล่อง​น้ำ​ร้อน​ก้น​ทะเล​และ​ใน​น่าน​น้ำ​ที่​เย็น​จัด​ของ​มหาสมุทร​อาร์กติก. ปัจจุบัน จุลชีพ​เหล่า​นี้​กำลัง​ต้านทาน​การ​โจมตี​ที่​รุนแรง​ที่​สุด​ต่อ​การ​ดำรง​อยู่​ของ​มัน นั่น​คือ​ยา​ต้าน​จุลชีพ.

เมื่อ​หนึ่ง​ร้อย​ปี​มา​แล้ว เป็น​ที่​รู้​กัน​ว่า​จุลชีพ​บาง​ชนิด​ทำ​ให้​เกิด​ความ​เจ็บ​ป่วย แต่​ไม่​มี​ใคร​ที่​อยู่​ใน​สมัย​นั้น​เคย​ได้​ยิน​เรื่อง​ยา​ต้าน​จุลชีพ. ดัง​นั้น ถ้า​คน​หนึ่ง​ป่วย​ด้วย​โรค​ติด​เชื้อ​ร้ายแรง แพทย์​หลาย​คน​ก็​แทบ​ไม่​มี​วิธี​รักษา​แต่​อย่าง​ใด นอก​จาก​ให้​กำลังใจ. ระบบ​ภูมิ​คุ้ม​กัน​ของ​ผู้​ป่วย​ต้อง​ต่อ​สู้​กับ​การ​ติด​เชื้อ​ด้วย​ตัว​เอง. ถ้า​ระบบ​ภูมิ​คุ้ม​กัน​ไม่​แข็งแรง​พอ ผล​ที่​ตาม​มา​ก็​มัก​เป็น​เรื่อง​น่า​เศร้า. แม้​แต่​แผล​ถลอก​เพียง​เล็ก​น้อย​ที่​ติด​เชื้อ​ก็​ยัง​ทำ​ให้​เสีย​ชีวิต​ได้​บ่อย ๆ.

ด้วย​เหตุ​นี้ การ​ค้น​พบ​ยา​ต้าน​จุลชีพ​ที่​ปลอด​ภัย​รุ่น​แรก ซึ่ง​ก็​คือ​ยา​ปฏิชีวนะ จึง​เป็น​การ​ปฏิวัติ​ทาง​การ​แพทย์. * การ​ใช้​ยา​ประเภท​ซัลฟา​ใน​ทาง​การ​แพทย์​ใน​ทศวรรษ 1930 และ​ยา​อื่น ๆ อย่าง​เช่น เพนิซิลลิน​และ​สเตรปโตมัยซิน​ใน​ทศวรรษ 1940 นำ​ไป​สู่​การ​ค้น​พบ​อีก​มาก​ใน​ทศวรรษ​ต่อ ๆ มา. พอ​ถึง​ทศวรรษ 1990 คลัง​แสง​ปฏิชีวนะ​ก็​มี​สาร​ประกอบ​ราว ๆ 150 ชนิด​ใน 15 ประเภท.

การ​คาด​หวัง​ชัย​ชนะ​ถูก​ทำลาย

พอ​ถึง​ทศวรรษ 1950 และ 1960 บาง​คน​เริ่ม​ฉลอง​ชัย​ชนะ​ที่​มี​เหนือ​โรค​ติด​เชื้อ. แม้​แต่​นัก​จุลชีววิทยา​บาง​คน​ก็​เชื่อ​ว่า อีก​ไม่​นาน​โรค​เหล่า​นี้​จะ​กลาย​เป็น​เพียง​ฝัน​ร้าย​ใน​อดีต. ใน​ปี 1969 แพทย์​ใหญ่​แห่ง​กระทรวง​สาธารณสุข​สหรัฐ​แถลง​ต่อ​รัฐสภา​ว่า อีก​ไม่​นาน​มนุษยชาติ​อาจ​ทำ​ให้ “โรค​ติด​เชื้อ​ปิด​ฉาก​ลง.” ใน​ปี 1972 ผู้​ได้​รับ​รางวัล​โนเบล​ชื่อ แมกฟาร์เลน เบอร์เนต พร้อม​กับ เดวิด ไวท์ เขียน​ว่า “การ​พยากรณ์​ล่วง​หน้า​ที่​น่า​จะ​เป็น​ไป​ได้​มาก​ที่​สุด​เกี่ยว​กับ​อนาคต​ของ​โรค​ติด​เชื้อ​จะ​เป็น​สิ่ง​ที่​น่า​เบื่อ​มาก.” ที่​จริง บาง​คน​คิด​ว่า​โรค​เหล่า​นี้​อาจ​จะ​ถูก​ขจัด​จน​หมด​สิ้น.

ความ​เชื่อ​ที่​ว่า​เรา​เอา​ชนะ​โรค​ติด​เชื้อ​ได้​แล้ว​ทำ​ให้​เกิด​ความ​มั่น​ใจ​มาก​เกิน​ไป​อย่าง​แพร่​หลาย. พยาบาล​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​คุ้น​เคย​กับ​อันตราย​ร้ายแรง​ของ​เชื้อ​โรค​ก่อน​จะ​เริ่ม​มี​การ​นำ​ยา​ปฏิชีวนะ​มา​ใช้ ได้​กล่าว​ว่า พยาบาล​สาว ๆ บาง​คน​กลาย​เป็น​คน​ที่​ละเลย​เรื่อง​สุขอนามัย​ขั้น​พื้น​ฐาน. เมื่อ​เธอ​เตือน​พยาบาล​เหล่า​นั้น​ให้​ล้าง​มือ พวก​เธอ​จะ​ตอบ​ว่า “อย่า​ห่วง​ไป​เลย ตอน​นี้​เรา​มี​ยา​ปฏิชีวนะ​แล้ว.”

กระนั้น การ​มี​ความ​มั่น​ใจ​ใน​ยา​ปฏิชีวนะ​และ​การ​ใช้​ยา​เหล่า​นี้​มาก​เกิน​ไป​ทำ​ให้​เกิด​ความ​หายนะ. โรค​ติด​เชื้อ​ยัง​คง​มี​อยู่. ยิ่ง​กว่า​นั้น โรค​ติด​เชื้อ​เหล่า​นี้​ได้​หวน​กลับ​มา​อย่าง​น่า​ตกใจ​จน​กลาย​เป็น​สาเหตุ​ใหญ่​ที่​ทำ​ให้​ผู้​คน​ใน​โลก​เสีย​ชีวิต! นอก​จาก​นี้ ปัจจัย​อื่น ๆ ที่​ทำ​ให้​โรค​ติด​เชื้อ​แพร่​ระบาด​ยัง​รวม​ไป​ถึง​ความ​วุ่นวาย​ยาม​สงคราม, ภาวะ​ทุโภชนาการ​ที่​มี​อยู่​ดาษ​ดื่น​ใน​ประเทศ​กำลัง​พัฒนา, การ​ขาด​แคลน​น้ำ​สะอาด, ระบบ​สุขาภิบาล​ที่​ไม่​ดี, การ​เดิน​ทาง​ระหว่าง​ประเทศ​อย่าง​รวด​เร็ว, และ​การ​เปลี่ยน​แปลง​ของ​สภาพ​ภูมิอากาศ​ทั่ว​โลก.

การ​ต้านทาน​ของ​แบคทีเรีย

การ​ปรับ​ตัว​อย่าง​น่า​ทึ่ง​ของ​เชื้อ​โรค​ธรรมดา ๆ กลาย​เป็น​ปัญหา​ใหญ่​ซึ่ง​โดย​ทั่ว​ไป​แล้ว​ไม่​มี​ใคร​คาด​คิด​มา​ก่อน. กระนั้น เมื่อ​มอง​ย้อน​ไป การ​ที่​เชื้อ​โรค​จะ​สร้าง​ภูมิ​ต้านทาน​ยา​ได้​นั้น น่า​จะ เป็น​สิ่ง​ที่​คาด​ล่วง​หน้า​ได้. เพราะ​เหตุ​ใด? ตัว​อย่าง​เช่น ลอง​คิด​ถึง​เรื่อง​คล้าย ๆ กัน​ซึ่ง​เกิด​ขึ้น​เมื่อ​มี​การ​นำ​ยา​ฆ่า​แมลง​ดีดีที​เข้า​มา​ใช้​ใน​ช่วง​กลาง​ทศวรรษ 1940. * ใน​ตอน​นั้น เกษตรกร​โค​นม​ต่าง​ยินดี​ที่​แมลงวัน​แทบ​จะ​หมด​ไป​เมื่อ​พวก​เขา​พ่น​ดีดีที. แต่​มี​แมลงวัน​ไม่​กี่​ตัว​รอด​มา​ได้ และ​ลูก​หลาน​ของ​มัน​ก็​ได้​รับ​ภูมิ​ต้านทาน​ดีดีที​สืบ​ทอด​มา. ไม่​ช้า แมลงวัน​เหล่า​นี้​ซึ่ง​ดีดีที​ไม่​สามารถ​ทำ​อะไร​มัน​ได้​ต่าง​ก็​แพร่​พันธุ์​เป็น​จำนวน​มาก.

กระทั่ง​ก่อน​การ​นำ​ดีดีที​มา​ใช้ และ​ก่อน​จะ​มี​เพนิซิลลิน​ขาย​กัน​ใน​ปี 1944 แบคทีเรีย​ที่​เป็น​อันตราย​ก็​ส่อ​แวว​อยู่​แล้ว​ว่า​มัน​สามารถ​ป้องกัน​ตัว​เอง​ได้​อย่าง​น่า​ทึ่ง. ดร. อะเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง ผู้​ค้น​พบ​เพนิซิลลิน ได้​มา​รู้​เรื่อง​นี้. ใน​ห้อง​ทดลอง​ของ​เขา เขา​เฝ้า​ดู​อยู่​ขณะ​ที่​แบคทีเรีย​สแตฟีโลคอกคัส (Staphylococcus aureus) รุ่น​ลูก​รุ่น​หลาน​สร้าง​ผนัง​เซลล์​ซึ่ง​ต้านทาน​ยา​ที่​เขา​ค้น​พบ​ได้​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ.

เรื่อง​นี้​ทำ​ให้ ดร. เฟลมมิง เตือน​ไว้​เมื่อ​ประมาณ 60 ปี​ที่​แล้ว​ว่า แบคทีเรีย​ที่​เป็น​อันตราย​ใน​ร่าง​กาย​ของ​คน​ที่​ติด​เชื้อ​อาจ​พัฒนา​ภูมิ​ต้านทาน​ยา​เพนิซิลลิน​ได้. ดัง​นั้น ถ้า​ยา​เพนิซิลลิน​ขนาน​หนึ่ง​ฆ่า​แบคทีเรีย​ที่​เป็น​อันตราย​ได้​ไม่​มาก​พอ ลูก​หลาน​ของ​มัน​ที่​ดื้อ​ยา​ก็​จะ​แพร่​พันธุ์​มาก​ขึ้น. ผล​ก็​คือ โรค​นั้น​จะ​กลับ​มา​อีก​และ​เพนิซิลลิน​จะ​ไม่​สามารถ​รักษา​ได้.

หนังสือ​ความ​ขัด​แย้ง​ของ​ยา​ปฏิชีวนะ (ภาษา​อังกฤษ) ให้​ความ​เห็น​ว่า “การ​คาด​การณ์​ของ​เฟลมมิง​ปรากฏ​ว่า​เป็น​ความ​จริง​ใน​ทาง​ที่​ก่อ​ผล​ร้ายแรง​กว่า​ที่​เขา​คาด​ไว้​เสีย​อีก.” เป็น​เช่น​นั้น​ได้​อย่าง​ไร? นัก​ค้นคว้า​ได้​มา​รู้​ว่า แบคทีเรีย​บาง​สาย​พันธุ์​มี​ยีน​หรือ​แบบ​พิมพ์​เขียว​ขนาด​จิ๋ว​ใน​ดีเอ็นเอ​ของ​มัน ซึ่ง​ผลิต​เอนไซม์​ที่​ทำ​ให้​ยา​เพนิซิลลิน​หมด​ประสิทธิภาพ. ผล​ก็​คือ บ่อย​ครั้ง แม้​แต่​การ​ให้​ยา​เพนิซิลลิน​ขนาน​ใหญ่​ก็​มัก​จะ​ไร้​ผล. นี่​เป็น​เรื่อง​ที่​น่า​ตกตะลึง​เพียง​ไร!

ใน​ความ​พยายาม​ที่​จะ​เอา​ชนะ​โรค​ติด​เชื้อ ยา​ปฏิชีวนะ​ชนิด​ใหม่ ๆ จึง​ถูก​นำ​มา​ใช้​ใน​วงการ​แพทย์​เป็น​ประจำ​ตั้ง​แต่​ทศวรรษ 1940 ถึง 1970 รวม​ทั้ง​มี​การ​ใช้​ยา​ปฏิชีวนะ​บาง​ชนิด​ใน​ทศวรรษ 1980 และ 1990 ด้วย. ยา​เหล่า​นี้​สามารถ​ฆ่า​แบคทีเรีย​ที่​ต้านทาน​ยา​ซึ่ง​ใช้​ก่อน​หน้า​นั้น​ได้. แต่​ภาย​ใน​ไม่​กี่​ปี มี​แบคทีเรีย​สาย​พันธุ์​ใหม่​ปรากฏ​ขึ้น​ซึ่ง​สามารถ​ต้านทาน​ยา​เหล่า​นี้​ได้​เช่น​กัน.

มนุษย์​ได้​มา​เรียน​รู้​ว่า​การ​ต้านทาน​ของ​แบคทีเรีย​เป็น​สิ่ง​ที่​แสดง​ถึง​ความ​ชาญ​ฉลาด​อย่าง​น่า​ทึ่ง. แบคทีเรีย​สามารถ​เปลี่ยน​ผนัง​เซลล์​เพื่อ​ป้องกัน​ไม่​ให้​ยา​ปฏิชีวนะ​เข้า​ไป​หรือ​เปลี่ยน​องค์​ประกอบ​ทาง​เคมี​ใน​ตัว​มัน​จน​ยา​ปฏิชีวนะ​ไม่​สามารถ​ฆ่า​มัน​ได้. ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง แบคทีเรีย​อาจ​ขับ​ยา​ปฏิชีวนะ​ออก​ได้​รวด​เร็ว​พอ ๆ กับ​ที่​ยา​นั้น​ซึม​เข้า​ไป​ใน​ตัว​มัน หรือ​แบคทีเรีย​อาจ​เพียง​แต่​ทำ​ให้​ยา​ปฏิชีวนะ​หมด​ฤทธิ์​โดย​ทำ​ให้​ยา​นั้น​แตก​สลาย.

ขณะ​ที่​มี​การ​ใช้​ยา​ปฏิชีวนะ​เพิ่ม​ขึ้น แบคทีเรีย​สาย​พันธุ์​ที่​ดื้อ​ยา​ก็​เพิ่ม​ทวี​ขึ้น​และ​แพร่​กระจาย​ไป. การ​ใช้​ยา​ปฏิชีวนะ​เป็น​ความ​ล้มเหลว​อย่าง​สิ้นเชิง​ไหม? เปล่า อย่าง​น้อย​ก็​ไม่​ใช่​ใน​กรณี​ส่วน​ใหญ่. ถ้า​ยา​ปฏิชีวนะ​ชนิด​หนึ่ง​ใช้​ไม่​ได้​ผล​กับ​การ​ติด​เชื้อ​อย่าง​ใด​อย่าง​หนึ่ง​โดย​เฉพาะ ตาม​ปกติ​แล้ว​ยา​อีก​ชนิด​หนึ่ง​จะ​ใช้​ได้​ผล. จน​ถึง​บัด​นี้​อาการ​ดื้อ​ยา​เป็น​เพียง​สิ่ง​ที่​ก่อ​ความ​รำคาญ กระนั้น​ก็​ยัง​คง​จัด​การ​ได้.

การ​ต้านทาน​ยา​นานา​ชนิด

ครั้น​แล้ว พวก​นัก​วิทยาศาสตร์​ก็​รู้สึก​ตกตะลึง​เมื่อ​ได้​มา​รู้​ว่า​แบคทีเรีย​สามารถ​แลก​เปลี่ยน​ยีน​กัน​ได้. ตอน​แรก คิด​กัน​ว่า​แบคทีเรีย​ชนิด​เดียว​กัน​เท่า​นั้น​ที่​แลก​เปลี่ยน​ยีน​กัน​ได้. แต่​ต่อ​มา มี​การ​ค้น​พบ​ยีน​ที่​ต้านทาน​ยา​ตัว​เดียว​กัน​นั้น​ใน​แบคทีเรีย​ต่าง​ชนิด​กัน​เลย. โดย​การ​แลก​เปลี่ยน​ยีน​เช่น​นี้ แบคทีเรีย​ชนิด​ต่าง ๆ จึง​สะสม​ภูมิ​ต้านทาน​ยา​หลาก​หลาย​ชนิด​ที่​ใช้​กัน​ใน​ปัจจุบัน.

ที่​แย่​ยิ่ง​กว่า​นั้น การ​ศึกษา​ใน​ทศวรรษ 1990 แสดง​ว่า แบคทีเรีย​บาง​ชนิด​อาจ​ต้านทาน​ยา​ได้​โดย​ไม่​ต้อง​อาศัย​แบคทีเรีย​ตัว​อื่น. แม้​มี​ยา​ปฏิชีวนะ​อยู่​เพียง​ชนิด​เดียว แบคทีเรีย​บาง​ชนิด​ก็​พัฒนา​ความ​สามารถ​ใน​การ​ต้านทาน​ยา​ปฏิชีวนะ​นานา​ชนิด​ได้ ทั้ง​จาก​ธรรมชาติ​และ​แบบ​สังเคราะห์.

อนาคต​อัน​มืดมน

แม้​ว่า​ยา​ปฏิชีวนะ​ส่วน​ใหญ่​ใน​ปัจจุบัน​ยัง​คง​ใช้​ได้​สำหรับ​ผู้​คน​โดย​มาก แต่​ยา​เหล่า​นี้​จะ​ใช้​ได้​ผล​เพียง​ไร​ใน​อนาคต? หนังสือ​ความ​ขัด​แย้ง​ของ​ยา​ปฏิชีวนะ กล่าว​ว่า “เรา​ไม่​อาจ​คาด​หมาย​ได้​อีก​ต่อ​ไป​ว่า​การ​ติด​เชื้อ​ใด ๆ จะ​รักษา​ให้​หาย​ได้​ด้วย​ยา​ปฏิชีวนะ​ชนิด​แรก​ที่​เรา​เลือก​ใช้.” หนังสือ​นี้​กล่าว​เพิ่ม​เติม​ว่า “ใน​บาง​ส่วน​ของ​โลก ยา​ปฏิชีวนะ​มี​เพียง​จำกัด​จน​ไม่​มี ยา​ชนิด​ที่​ใช้​ได้​ผล. . . . คนไข้​กำลัง​ทน​ทุกข์​และ​ตาย​เพราะ​โรค​ที่​บาง​คน​พยากรณ์​ไว้​เมื่อ 50 ปี​ที่​แล้ว​ว่า​จะ​ถูก​ขจัด​จน​หมด​สิ้น.”

แบคทีเรีย​ไม่​ใช่​เชื้อ​โรค​เพียง​อย่าง​เดียว​ที่​สามารถ​ต้านทาน​ยา​ซึ่ง​ใช้​ใน​การ​รักษา​ทาง​การ​แพทย์. นอก​จาก​นี้ ไวรัส​ต่าง ๆ รวม​ทั้ง​เชื้อ​รา​และ​ปรสิต​ขนาด​จิ๋ว​ชนิด​อื่น ๆ ยัง​แสดง​ความ​สามารถ​ใน​การ​ปรับ​ตัว​ได้​อย่าง​น่า​ทึ่ง​ออก​มา​ให้​เห็น ทำ​ให้​เป็น​ไป​ได้​ว่า​จะ​เกิด​สาย​พันธุ์​ต่าง ๆ ซึ่ง​ทำ​ให้​ความ​พยายาม​ทั้ง​หมด​ที่​ได้​ทุ่มเท​ไป​ใน​การ​ค้น​พบ​และ​ผลิต​ยา​เพื่อ​ต่อ​สู้​กับ​พวก​มัน​นั้น​ไร้​ผล​อย่าง​สิ้นเชิง.

ถ้า​อย่าง​นั้น จะ​ทำ​อะไร​ได้​บ้าง? การ​ดื้อ​ยา​จะ​ถูก​ขจัด​ออก​ไป​หรือ​อย่าง​น้อย​ถูก​ควบคุม​ได้​ไหม? จะ​ใช้​ยา​ปฏิชีวนะ​และ​ยา​ต้าน​จุลชีพ​อื่น ๆ ให้​ได้​ผล​ต่อ​ไป​โดย​วิธี​ใด​ใน​โลก​ที่​ถูก​โจมตี​หนัก​ขึ้น​เรื่อย ๆ ด้วย​โรค​ติด​เชื้อ?

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 4 คำ “ยา​ปฏิชีวนะ” ดัง​ที่​ใช้​กัน​ทั่ว​ไป​หมาย​ถึง​ยา​ต้าน​เชื้อ​แบคทีเรีย. ส่วน “ยา​ต้าน​จุลชีพ” เป็น​คำ​ที่​กว้าง​กว่า​และ​ยัง​รวม​ไป​ถึง​ยา​ชนิด​ใด​ก็​ตาม​ที่​ต่อ​ต้าน​จุลชีพ​ที่​ก่อ​ให้​เกิด​โรค ไม่​ว่า​จะ​เป็น​แบคทีเรีย, ไวรัส, รา, หรือ​ปรสิต​ขนาด​เล็ก.

^ วรรค 10 ยา​ฆ่า​แมลง​เป็น​พิษ ทว่า ยา​ต่าง ๆ ก็​เช่น​กัน. ทั้ง​สอง​ต่าง​ก็​มี​ทั้ง​คุณ​และ​โทษ. ขณะ​ที่​ยา​ปฏิชีวนะ​อาจ​ฆ่า​เชื้อ​โรค​ที่​เป็น​อันตราย แต่​ยา​เหล่า​นี้​ก็​ฆ่า​แบคทีเรีย​ที่​มี​ประโยชน์​ด้วย.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 6]

ยา​ต้าน​จุลชีพ​คือ​อะไร?

ยา​ปฏิชีวนะ​ที่​แพทย์​ให้​คุณ​รับประทาน​ถูก​จัด​อยู่​ใน​ประเภท​ยา​ต้าน​จุลชีพ. ยา​ประเภท​นี้​จัด​อยู่​ใน​การ​รักษา​ที่​เรียก​ว่า “เคมี​บำบัด” ซึ่ง​หมาย​ถึง​การ​รักษา​โรค​ด้วย​สาร​เคมี. แม้​คำ “เคมี​บำบัด” มัก​ใช้​เกี่ยว​กับ​การ​รักษา​โรค​มะเร็ง ทว่า คำ​นี้​แต่​เดิม​เคย​ใช้​และ​ยัง​คง​ใช้​หมาย​ถึง​การ​รักษา​โรค​ติด​เชื้อ​อยู่. กรณี​เช่น​นี้​เรียก​กัน​ว่า เคมี​บำบัด​ต้าน​จุลชีพ.

เชื้อ​โรค หรือ​จุลชีพ เป็น​สิ่ง​มี​ชีวิต​ขนาด​จิ๋ว​ที่​จะ​มอง​เห็น​ได้​ด้วย​กล้อง​จุลทรรศน์​เท่า​นั้น. ยา​ต้าน​จุลชีพ​เป็น​สาร​เคมี​ที่​ออก​ฤทธิ์​ต่อ​สู้​เชื้อ​โรค​ที่​เป็น​สาเหตุ​ทำ​ให้​เจ็บ​ป่วย. น่า​เสียดาย ยา​ต้าน​จุลชีพ​ยัง​ทำลาย​จุลชีพ​ที่​มี​ประโยชน์​ด้วย.

ใน​ปี 1941 เซลแมน แว็กสแมน ผู้​ร่วม​ใน​การ​ค้น​พบ​สเตรปโตมัยซิน ใช้​คำ “ยา​ปฏิชีวนะ” เพื่อ​หมาย​ถึง​ยา​ต้าน​แบคทีเรีย​ซึ่ง​มา​จาก​จุลชีพ​บาง​ตัว. ยา​ปฏิชีวนะ​รวม​ทั้ง​ยา​ต้าน​จุลชีพ​อื่น ๆ ที่​ใช้​ใน​ทาง​การ​แพทย์​มี​ประโยชน์​เนื่อง​จาก​ยา​เหล่า​นี้​เป็น​พิษ​ต่อ​เชื้อ​โรค​แต่​ไม่​เป็น​พิษ​ร้ายแรง​ต่อ​คุณ.

กระนั้น จริง ๆ แล้ว​ยา​ปฏิชีวนะ​ทุก​อย่าง​มี​พิษ​ต่อ​เรา​ไม่​มาก​ก็​น้อย​เช่น​กัน. ความ​แตกต่าง​ระหว่าง​ผล​กระทบ​ที่​ยา​นั้น​มี​ต่อ​เชื้อ​โรค​กับ​อันตราย​ที่​มี​ต่อ​เรา​เรียก​ว่า​ดัชนี​รักษา​โรค. ค่า​ความ​แตกต่าง​ยิ่ง​มาก​เท่า​ไร ยา​ก็​ยิ่ง​ปลอด​ภัย​มาก​เท่า​นั้น; ค่า​นั้น​ยิ่ง​น้อย​เท่า​ไร ยา​ก็​ยิ่ง​ปลอด​ภัย​น้อย​เท่า​นั้น. ที่​จริง มี​การ​ค้น​พบ​สาร​ปฏิชีวนะ​หลาย​พัน​ตัว แต่​ส่วน​ใหญ่​ไม่​เป็น​ประโยชน์​ต่อ​การ​แพทย์​เพราะ​เป็น​พิษ​เกิน​ไป​ต่อ​ผู้​คน​หรือ​ต่อ​สัตว์.

ยา​ปฏิชีวนะ​จาก​ธรรมชาติ​ชนิด​แรก​ที่​ใช้​ภาย​ใน​ได้​คือ​เพนิซิลลิน ซึ่ง​ได้​มา​จาก​เชื้อ​รา​ชนิด​หนึ่ง​ที่​เรียก​ว่า เพนิซิลเลียม โนทาทัม (Penicillium notatum). มี​การ​ให้​ยา​เพนิซิลลิน​ทาง​เส้น​เลือด​เป็น​ครั้ง​แรก​ใน​ปี 1941. ไม่​นาน​หลัง​จาก​นั้น ใน​ปี 1943 มี​การ​สกัด​สเตรปโตมัยซิน​จาก​สเตรปโตมัยเซส กรีซิอัส (Streptomyces griseus) ซึ่ง​เป็น​แบคทีเรีย​ที่​อยู่​ใน​ดิน. ต่อ​มา ก็​มี​การ​พัฒนา​ยา​ปฏิชีวนะ​เพิ่ม​อีก​หลาย​ชนิด ทั้ง​ที่​ได้​จาก​สิ่ง​มี​ชีวิต​และ​จาก​การ​สังเคราะห์. กระนั้น แบคทีเรีย​ก็​ได้​พัฒนา​วิธี​ต่าง ๆ ที่​จะ​ต้านทาน​ยา​ปฏิชีวนะ และ​เรื่อง​นี้​จึง​กลาย​เป็น​ปัญหา​ทาง​การ​แพทย์​ระดับ​โลก.

[รูปภาพ]

กลุ่ม​เชื้อ​รา​เพนิซิลลิน​ซึ่ง​เห็น​อยู่​ที่​ก้น​จาน​ยับยั้ง​การ​เติบโต​ของ​แบคทีเรีย

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Christine L. Case/Skyline College

[กรอบ/ภาพ​หน้า 7]

จุล​ชีพ​ชนิด​ต่าง ๆ

ไวรัส​เป็น​จุล​ชีพ​ที่​เล็ก​ที่​สุด. ไวรัส​เป็น​สาเหตุ​ของ​ความ​เจ็บ​ป่วย​ธรรมดา ๆ อย่าง​เช่น หวัด, ไข้หวัด​ใหญ่, และ​คอ​อักเสบ. ไวรัส​ยัง​เป็น​สาเหตุ​ของ​โรค​ร้ายแรง​ด้วย อย่าง​เช่น โปลิโอ, อีโบลา, และ​เอดส์.

แบคทีเรีย​คือ​สิ่ง​มี​ชีวิต​เซลล์​เดียว​ที่​เรียบ​ง่าย​จน​ไม่​มี​นิวเคลียส​และ​ส่วน​ใหญ่​มี​โครโมโซม​เพียง​แท่ง​เดียว. แบคทีเรีย​อยู่​ใน​ร่าง​กาย​ของ​เรา​นับ​ล้าน​ล้าน​ตัว ส่วน​ใหญ่​อยู่​ใน​ระบบ​ย่อย​อาหาร. แบคทีเรีย​ช่วย​เรา​ย่อย​อาหาร​และ​เป็น​แหล่ง​สำคัญ​ของ​วิตามิน​เค ซึ่ง​จำเป็น​ต่อ​การ​แข็งตัว​ของ​เลือด.

จาก​แบคทีเรีย​ที่​รู้​จัก​กัน​ราว ๆ 4,600 ชนิด มี​เพียง 300 ชนิด​เท่า​นั้น​ที่​ถือ​กัน​ว่า​เป็น​จุล​ชีพ​ที่​ทำ​ให้​เกิด​โรค. กระนั้น แบคทีเรีย​ก็​เป็น​แหล่ง​ที่​มา​ของ​โรค​ต่าง ๆ ซึ่ง​มี​ราย​ชื่อ​ยาว​เหยียด​ทั้ง​ใน​พืช, สัตว์, และ​มนุษย์. ใน​มนุษย์ โรค​ต่าง ๆ ที่​เกิด​จาก​แบคทีเรีย​รวม​ไป​ถึง​วัณโรค, อหิวาตกโรค, คอ​ตีบ, แอนแทร็กซ์, ฟัน​ผุ, ปอด​บวม​บาง​ชนิด, และ​โรค​ติด​ต่อ​ทาง​เพศ​สัมพันธ์​หลาย​โรค.

โปรโตซัว เหมือน​กับ​แบคทีเรีย คือ​เป็น​สิ่ง​มี​ชีวิต​เซลล์​เดียว แต่​มัน​อาจ​มี​มาก​กว่า​หนึ่ง​นิวเคลียส. อะมีบา, ไตรพาโนโซม และ​ปรสิต​ที่​ก่อ​ให้​เกิด​โรค​มาลาเรีย​ก็​จัด​เป็น​โปรโตซัว​ด้วย. ประมาณ​หนึ่ง​ใน​สาม​ของ​โปรโตซัว​ที่​มี​ชีวิต​นั้น​เป็น​ปรสิต ซึ่ง​มี​ประมาณ 10,000 ชนิด แม้​ว่า​มี​ปรสิต​เพียง​ไม่​กี่​ชนิด​ที่​ทำ​ให้​มนุษย์​เป็น​โรค.

รา​ก็​อาจ​เป็น​สาเหตุ​ของ​การ​เจ็บ​ป่วย​ได้​เช่น​กัน. สิ่ง​มี​ชีวิต​เหล่า​นี้​มี​หนึ่ง​นิวเคลียส​และ​มี​เส้นใย​สาน​กัน​เป็น​แผ่น. การ​ติด​เชื้อ​ที่​พบ​มาก​ที่​สุด​คือ​ขี้​กลาก อย่าง​เช่น โรค​น้ำ​กัด​เท้า, และ​โรค​รา​แคนดิดา. การ​ติด​เชื้อ​รา​ที่​ร้ายแรง​มัก​เกิด​ขึ้น​เฉพาะ​กับ​คน​ที่​มี​ภูมิ​ต้านทาน​อ่อนแอ​เนื่อง​จาก​ทุโภชนาการ, เป็น​โรค​มะเร็ง, ใช้​ยา​เสพ​ติด, หรือ​ติด​เชื้อ​ไวรัส​ซึ่ง​กด​ระบบ​ภูมิ​คุ้ม​กัน.

[รูปภาพ]

ไวรัส​อีโบลา

แบคทีเรีย “สแตฟีโลคอกคัส เอาเรอัส”

เชื้อ​รา​ขี้​กลาก

โปรโตซัว “จิอาร์เดีย แลมเบลีย”

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

CDC/C. Goldsmith

CDC/Janice Carr

Courtesy Dr. Arturo Gonzáles Robles, CINVESTAV, I.P.N. México

© Bristol Biomedical Image Archive, University of Bristol

[ภาพ​หน้า 4]

อะเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง ผู้​ค้น​พบ​เพนิซิลลิน