ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เขตอนุรักษ์ปารากัส—การเดินทางเพื่อการค้นพบ

เขตอนุรักษ์ปารากัส—การเดินทางเพื่อการค้นพบ

เขต​อนุรักษ์​ปารากัส—การ​เดิน​ทาง​เพื่อ​การ​ค้น​พบ

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​เปรู

เป็น​เวลา​หลาย​ปี​ที่​นัก​ท่อง​เที่ยว​จาก​ทั่ว​ทุก​มุม​โลก​ถูก​ดึงดูด​มา​ยัง​เปรู. เส้น​ทาง​การ​ท่อง​เที่ยว​มัก​จะ​รวม​ถึง​กรุง​ลิมา; กูซโก นคร​หลวง​ของ​ชาว​อินคา; ซาก​ปรัก​หัก​พัง​อัน​ยิ่ง​ใหญ่​แห่ง​มาชูปิกชู; เทือก​เขา​แอนดีส​อัน​สูง​ตระหง่าน; และ​แม้​แต่​การ​นั่ง​เรือ​ไป​ตาม​แม่น้ำ​แอมะซอน. ไม่​นาน​มา​นี้​มี​สถาน​ที่​ท่อง​เที่ยว​แห่ง​ใหม่​เพิ่ม​เข้า​มา นั่น​คือ​เขต​อนุรักษ์​ปารากัส. เขต​อนุรักษ์​แห่ง​นี้​อยู่​ห่าง​จาก​กรุง​ลิมา​ไป​ทาง​ใต้​ประมาณ 250 กิโลเมตร​โดย​มา​ตาม​ทาง​หลวง​แพน​อเมริกัน.

เขต​อนุรักษ์​ปารากัส​มี​พื้น​ที่​ประมาณ 2,000,000 ไร่​ตาม​ชายฝั่ง​และ​ใน​คาบสมุทร​ปารากัส. รัฐบาล​เปรู​ประกาศ​ตั้ง​เขต​อนุรักษ์​นี้​ขึ้น​ใน​ปี 1975 เพื่อ​อนุรักษ์​พันธุ์​สัตว์​ป่า​มาก​มาย​ซึ่ง​อาศัย​อยู่​ถาวร​ใน​พื้น​ที่​นั้น​หรือ​อพยพ​มา​ที่​นั่น​ทุก​ปี. เขต​อนุรักษ์​นี้​กระตุ้น​ให้​เกิด​ความ​ห่วงใย​ต่อ​สิ่ง​แวด​ล้อม และ​ยัง​ส่ง​เสริม​การ​ท่อง​เที่ยว​อีก​ด้วย. จน​ถึง​ปัจจุบัน มี​การ​ค้น​พบ​สถาน​ที่​ทาง​โบราณคดี​กว่า 100 แห่ง ซึ่ง​เป็น​หลักฐาน​ถึง​อารยธรรม​ปารากัส​ซึ่ง​มี​อยู่​หลาย​ร้อย​ปี​ใน​อดีต. เขต​อนุรักษ์​ทาง​ทะเล​ยัง​เป็น​ที่​อาศัย​ของ​สิงโต​ทะเล, นาก, โลมา, นก​กว่า​สอง​ร้อย​ชนิด, และ​เต่า​ทะเล​อีก​สี่​ชนิด.

ถ้า​ดู​ใน​แผนที่ คาบสมุทร​ปารากัส​ดู​เหมือน​เม็ด​กระดุม​เล็ก ๆ บน​ส่วน​ที่​ใหญ่​กว่า​มาก​ซึ่ง​ยื่น​ออก​จาก​ทวีป. เนื่อง​จาก​ที่​ตั้ง​ทาง​ภูมิศาสตร์​นี้​เอง พื้น​ที่​นี้​จึง​มี​ลม​สินค้า​พัด​ปะทะ​อย่าง​รุนแรง ซึ่ง​คน​ท้องถิ่น​เรียก​ว่า​ลม​ปารากัส. ลม​นี้​พัด​ขึ้น​เหนือ​และ​ดัน​กระแส​น้ำ​เย็น​เปรู หรือ​กระแส​น้ำ​ฮุมโบลดต์​ขึ้น​มา​ด้วย. น้ำ​ที่​เย็น​จัด, ชายฝั่ง​น้ำ​ตื้น, และ​น้ำ​ที่​ลอย​ขึ้น​สู่​ผิว​มหาสมุทร​ล้วน​เป็น​องค์​ประกอบ​ที่​ทำ​ให้​คาบสมุทร​แห่ง​นี้​เป็น​เขต​ชีวิต​สัตว์​ทาง​ทะเล​ที่​อุดม​สมบูรณ์​ที่​สุด​แห่ง​หนึ่ง​ใน​โลก. น้ำ​ใน​มหาสมุทร​แปซิฟิก​บริเวณ​นี้​เป็น​สี​เขียว​และ​มี​จุลชีพ​มาก​มาย รวม​ทั้ง​แพลงก์ตอน​พืช​และ​แพลงก์ตอน​สัตว์ และ​จุลชีพ​เหล่า​นี้​ก็​เป็น​อาหาร​ของ​ปลา​แอนโชวี​และ​ปลา​เล็ก​ปลา​น้อย​นับ​ล้าน ๆ ตัว​ซึ่ง​อาศัย​อยู่​ใน​น่าน​น้ำ​ที่​อุดม​สมบูรณ์​นี้. ปลา​จำนวน​มาก​มาย​นี้ โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ปลา​แอนโชวี ก็​เป็น​อาหาร​ของ​นก​ทะเล, นก​เพนกวิน, และ​สัตว์​เลี้ยง​ลูก​ด้วย​นม​ใน​ทะเล​หลาย​ชนิด​ซึ่ง​ได้​รับ​การ​คุ้มครอง​ใน​เขต​อนุรักษ์.

เยือน​หมู่​เกาะ​บาเยสตัส

การ​เดิน​ทาง​ของ​เรา​เริ่ม​ต้น​ที่​ท่า​เรือ​ใน​อ่าว​ปารากัส. เรือ​ประมง​ลำ​เล็ก​หลาย​ลำ​จอด​ทอด​สมอ​อยู่ ผู้​โดยสาร​พวก​เดียว​บน​เรือ​คือ​นก​กระทุง​พันธุ์​พื้นเมือง​ซึ่ง​กำลัง​แต่ง​ขน​ตัว​เอง​และ​เฝ้า​มอง​กิจกรรม​ของ​ผู้​คน​รอบ​ตัว​มัน. เรือ​เร็ว​ของ​เรา​มา​ถึง เรา​จึง​รีบ​ลง​เรือ​และ​ใส่​เสื้อ​ชูชีพ. เมื่อ​ออก​มา​จาก​ท่า​เรือ​ที่​จอแจ​แล้ว เรือ​ของ​เรา​ก็​เร่ง​ความ​เร็ว ทำ​ให้​เรา​รู้สึก​ตื่นเต้น​เมื่อ​ได้​ฝ่า​ข้าม​คลื่น​ลูก​เล็ก ๆ ใน​อ่าว.

จุด​หมาย​แรก​ของ​เรา​อยู่​ใกล้​กับ​ปลาย​คาบสมุทร. ที่​นั่น มัคคุเทศก์​ของ​เรา​พูด​ถึง​ลวด​ลาย​ขนาด​ใหญ่​ตรง​เนิน​เขา ซึ่ง​ผู้​คน​เรียก​กัน​ว่า​เชิง​ตะเกียง​กิ่ง แม้​คุณ​อาจ​คิด​ว่า​มัน​ดู​เหมือน​ต้น​ตะบอง​เพชร​ที่​แตก​เป็น​สาม​กิ่ง. บาง​คน​เชื่อ​ว่า​ลวด​ลาย​นี้​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ภาพ​ลาย​เส้น​นัซกา​ที่​มี​ชื่อเสียง. * ส่วน​บาง​คน​คาด​ว่า โจร​สลัด​อาจ​เป็น​ผู้​วาด​หรือ​อาจ​เป็น​สัญลักษณ์​แห่ง​ความ​สามัคคี​ซึ่ง​ทำ​ขึ้น​โดย​ทหาร​ที่​ติด​ตาม​ผู้​นำ​การ​ปฏิวัติ​ชื่อ​โฮเซ เด ซาน มาร์ติน ใน​ปี 1820. ไม่​ว่า​มี​ต้น​กำเนิด​อย่าง​ไร งาน​ศิลปะ​บน​ทะเล​ทราย​นี้​ก็​น่า​ประทับใจ​จริง ๆ.

พอ​เรา​พ้น​คาบสมุทร​ออก​มา​แล้ว เรือ​ของ​เรา​ก็​ต้อง​ฝ่า​คลื่น​ลม​ที่​แรง​ขึ้น. เรา​มอง​เห็น​หมู่​เกาะ​เปล่ง​ประกาย​สี​ขาว​เมื่อ​ต้อง​แสง​อาทิตย์​ยาม​เช้า. ทว่า​นั่น​ไม่​ใช่​หิน​กับ​ทราย แต่​เป็น​กัวโน หรือ​มูล​นก​ทะเล​ซึ่ง​ปก​คลุม​ทั่ว​หมู่​เกาะ.

เรา​มา​ถึง​หมู่​เกาะ​บาเยสตัส หรือ​หมู่​เกาะ​หน้า​ไม้ อัน​เป็น​ชื่อ​ที่​ชาว​สเปน​ตั้ง​ให้​เนื่อง​จาก​หมู่​เกาะ​นี้​มี​ซุ้ม​โค้ง​ธรรมชาติ​ที่​ดู​เหมือน​คัน​สำหรับ​ยิง. คน​ขับ​เรือ​ชะลอ​ความ​เร็ว. สิ่ง​แรก​ที่​เรา​คิด​คือ ‘ใคร​กำลัง​ดู​ใคร​กัน​แน่?’ เพราะ​ตาม​หน้าผา​และ​ยอด​เขา​บน​เกาะ​มี​นก​ทะเล​จำนวน​นับ​ไม่​ถ้วน ทั้ง​นก​กระทุง, นก​นาง​นวล​แกลบ, นก​นาง​นวล, นก​บู๊บบี้, นก​กาน้ำ​หลาย​หลาก​ชนิด, และ​แม้​แต่​นก​เพนกวิน​ฮุมโบลดต์. แม้​อาจ​ดู​แปลก​ที่​เห็น​นก​เพนกวิน​อยู่​ใน​เขต​ร้อน แต่​น้ำ​ที่​เย็น​จัด​และ​ฝูง​ปลา​มาก​มาย​ทำ​ให้​มัน​อยู่​ได้​สบาย. จาก​นั้น เรา​เฝ้า​ดู​สิงโต​ทะเล​นอน​อาบ​แดด​อยู่​เต็ม​โขด​หิน​จน​ไม่​มี​ช่อง​ว่าง. ส่วน​ใหญ่​แล้ว หมู่​เกาะ​นี้​เป็น​โขด​หิน​ที่​จม​ลง​ไป​ใน​ทะเล และ​เรา​รู้สึก​ประหลาด​ใจ​ที่​ได้​เห็น​ว่า​เพนกวิน​กับ​สิงโต​ทะเล​ซึ่ง​มี​ท่า​ทาง​อุ้ย​อ้าย​เมื่อ​อยู่​บน​บก​สามารถ​เดิน​หรือ​คลาน​ไป​ถึง​ที่​นอน​พัก​ของ​มัน​ได้​อย่าง​ไร.

มัคคุเทศก์​ทำ​ให้​เรา​ทึ่ง​กับ​ข้อ​เท็จ​จริง​และ​สถิติ​ต่าง ๆ. เธอ​อธิบาย​ว่า “สิงโต​ทะเล​ตัว​ผู้​อาจ​มี​น้ำหนัก​มาก​กว่า 300 กิโลกรัม และ​อาจ​ดู​แล​ฝูง​ตัว​เมีย​มาก​ถึง 20 ตัว.” ขณะ​ที่​ตัว​เมีย​มี​รูป​ร่าง​สวย​งาม แต่​ตัว​ผู้​ขนาด​ใหญ่​ดู​เหมือน​ถุง​ไขมัน​ที่​บวม​โต. เรา​ได้​มา​รู้​ว่า​ตัว​ผู้​เหล่า​นี้​เป็น​สัตว์​ที่​แข็งแรง​และ​น่า​กลัว​ซึ่ง​ต่อ​สู้​กัน​เพื่อ​ช่วง​ชิง​ความ​เป็น​ใหญ่​ใน​ฝูง​และ​ใน​ถิ่น. ผู้​แพ้​มัก​บาดเจ็บ​ถึง​ตาย และ​เป็น​อาหาร​สำหรับ​แร้ง​ตุรกี​ซึ่ง​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ใน​ห่วง​โซ่​อาหาร​ของ​พื้น​ที่​แถบ​ชายฝั่ง​นี้​ด้วย. สิงโต​ทะเล​ค่อนข้าง​เจริญ​อาหาร โดย​มัก​เขมือบ​ปลา​ถึง 10 กิโลกรัม​ใน​ช่วง​การ​ออก​หา​อาหาร​ตอน​กลางคืน​ครั้ง​หนึ่ง. แต่​สัตว์​พวก​นี้​ไม่​ดุ​ร้าย​กับ​เรา เพียง​แค่​อยาก​รู้​อยาก​เห็น​เท่า​นั้น.

ขณะ​ที่​คน​ขับ​เรือ​ค่อย ๆ พา​เรา​เลาะ​เลี้ยว​ไป​รอบ​เกาะ​ทั้ง​สาม​และ​ลอด​ใต้​ซุ้ม​โค้ง​หิน เรา​รู้สึก​ว่า​มี​กลิ่น​กัวโน​แรง​มาก. มัคคุเทศก์​ของ​เรา​อธิบาย​ว่า “ใน​ซุ้ม​โค้ง​หิน​มี​ค้างคาว​ดูด​เลือด​ซึ่ง​ดูด​เลือด​ของ​สิงโต​ทะเล​ขณะ​ที่​พวก​มัน​นอน​หลับ.” เมื่อ​มอง​จาก​ระยะ​ไกล เรา​เห็น​สิ่ง​ที่​ดู​เหมือน​รอย​ด่าง​สี​ดำ​ขนาด​ใหญ่​บน​เกาะ​ที่​ใหญ่​ที่​สุด. นั่น​คือ​ฝูง​นก​กัวไน หรือ​นก​กาน้ำ ซึ่ง​เป็น​นก​ทะเล​ที่​ชอบ​อยู่​ใกล้ ๆ กัน. พวก​มัน​จะ​อยู่​รวม​กัน​เป็น​ฝูง​อย่าง​หนา​แน่น สิ่ง​ที่​มัน​จะ​ทำ​ก็​มี​แค่​พักผ่อน​และ​ผลิต​กัวโน. นก​บู๊บบี้​พุ่ง​ดิ่ง​ดำ​ลง​ไป​ใน​น้ำ ส่วน​นก​ชนิด​อื่น ๆ ก็​ร่อน​ถลา​ผ่าน​เรา​ไป​ใน​ระดับ​สายตา.

ใน​ที่​สุด เรา​ก็​มา​ถึง ‘ห้อง​คลอด’ ซึ่ง​เป็น​ชาย​หาด​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​หมู่​เกาะ​นี้. เรา​ตื่นเต้น​ที่​ได้​เห็น​สิงโต​ทะเล​หลาย​ตัว​กับ​ลูก​น้อย​สี​เข้ม​ดิ้น​ดุก​ดิก​ไป​รอบ ๆ ตัว​เมีย. ชาย​หาด​นี้​เต็ม​ไป​ด้วย​เสียง​ต่ำ ๆ, เสียง​จาก​ลำคอ, และ​เสียง​กรีด​แหลม. มี​คน​บอก​เรา​ว่า​ลูก​สิงโต​ทะเล​อาจ​กิน​นม​แม่​นาน​ถึง​หก​เดือน​และ​มัน​จะ​เรียน​ว่าย​น้ำ​บน​หลัง​ของ​แม่.

ขณะ​ที่​เรา​เดิน​ทาง​กลับ​สู่​ท่า​เรือ มัคคุเทศก์​บอก​เรา​ว่า “หก​สิบ​เปอร์เซ็นต์​ของ​ลูก​สิงโต​ทะเล​จะ​ตาย​ก่อน​มี​อายุ​ครบ​หนึ่ง​ปี. บาง​ตัว​ถูก​ทับ​ตาย​หรือ​ไม่​ก็​ถูก​ตัว​ผู้​กำจัด. ส่วน​บาง​ตัว​จม​น้ำ​ตาย. ปรากฏการณ์​เอลนินโญ​ก็​ทำ​ความ​เสียหาย​อย่าง​หนัก​ด้วย เพราะ​มัน​ทำ​ให้​ฝูง​ปลา​แอนโชวี​ล่อง​ไป​ทาง​ใต้​เพื่อ​หา​น้ำ​ที่​เย็น​กว่า. ลูก​สิงโต​ทะเล​ไม่​แข็งแรง​พอ​จะ​ว่าย​น้ำ​ตาม​ตัว​ที่​โต​แล้ว​ไป​ยัง​แหล่ง​หา​กิน​แห่ง​ใหม่​ได้.”

น่า​เศร้า ภัย​คุกคาม​ที่​ร้ายแรง​ที่​สุด​ต่อ​การ​อยู่​รอด​ของ​สัตว์​เหล่า​นี้​อาจ​เป็น​มนุษย์. สิงโต​ทะเล​จำนวน​มาก​ถูก​นัก​ล่า​ฆ่า​เพื่อ​เอา​ขน​ของ​มัน​และ​ชาว​ประมง​ก็​ถือ​ว่า​มัน​เป็น​ตัว​สร้าง​ความ​รำคาญ. มี​การ​จับ​เต่า​ทะเล​เพื่อ​เอา​เนื้อ​ซึ่ง​ถือ​เป็น​อาหาร​ชั้น​ยอด และ​เพื่อ​เอา​กระดอง​ของ​มัน​เป็น​ของ​สะสม. ประชากร​นก​ก็​ถูก​พวก​เก็บ​กัวโน​รบกวน. แหล่ง​อาหาร​ลด​น้อย​ลง​เนื่อง​จาก​การ​จับ​ปลา​มาก​เกิน​ไป. มี​คน​บอก​เรา​ว่า​ปัจจุบัน​มาตรการ​อนุรักษ์​สัตว์​ป่า​ได้​ออก​เป็น​กฎหมาย​แล้ว. บาง​ที​กฎหมาย​นี้​อาจ​ทำ​ให้​ผู้​คน​ตระหนัก​ใน​เรื่อง​การ​อนุรักษ์​มาก​ขึ้น.

เดิน​ทาง​สู่​อดีต​ของ​ปารากัส

เมื่อ​ขึ้น​ฝั่ง เรา​ก็​พร้อม​สำหรับ​ครึ่ง​หลัง​ของ​การ​ท่อง​เที่ยว ซึ่ง​พา​เรา​ไป​ยัง​พิพิธภัณฑสถาน​ฮู​ลิ​โอ ซี. เตโย บน​คาบสมุทร​นี้.

ใน​ปี 1925 นัก​โบราณคดี​ชาว​เปรู​ชื่อ ฮู​ลิ​โอ ซี. เตโย กับ​เพื่อน​ร่วม​งาน​คน​หนึ่ง​ได้​ทำ​การ​ค้น​พบ​ครั้ง​แรก​ใน​คาบสมุทร​นี้. พวก​เขา​ตั้ง​ชื่อ​บริเวณ​นี้​ว่า​หัว​ยาว​เนื่อง​จาก​มี​กะโหลก​มนุษย์​ที่​ยาว​เรียว​หลาย​กะโหลก​จม​ดิน​อยู่​ครึ่ง​หนึ่ง​ใน​พื้น​ที่​รก​ร้าง. สิ่ง​ที่​ค้น​พบ​นั้น​เป็น​ซาก​อารยธรรม​ของ​ปารากัส ซึ่ง​ผู้​เชี่ยวชาญ​กะ​ประมาณ​ว่า​มี​อยู่​ตั้ง​แต่ 1,000 ถึง 200 ปี​ก่อน ส.ศ. ชาว​ปารากัส​ไม่​มี​ภาษา​เขียน. ดัง​นั้น แม้​จะ​รู้​กัน​ว่า​คน​เหล่า​นี้​ทำ​กะโหลก​ให้​ยาว​เรียว​ได้​อย่าง​ไร—คือ​ใช้​เบาะ, ไม้เรียว, และ​เชือก—แต่​ไม่​มี​ใคร​รู้​ว่า​พวก​เขา​ทำ​อย่าง​นั้น​ทำไม. ใน​บริเวณ​เดียว​กัน​นี้ เตโย​ค้น​พบ​อีก​สิ่ง​หนึ่ง นั่น​คือ​อุโมงค์​ฝัง​ศพ​ใต้​ดิน​รูป​ร่าง​คล้าย​แก้ว​ที่​มี​ฐาน​จับ​คว่ำ​ลง. ร่าง​ที่​ห่อ​ด้วย​ผ้า ซึ่ง​ขด​อยู่​ใน​ท่า​ของ​เด็ก​ทารก​ใน​ครรภ์ ถูก​วาง​เรียง​กัน​พร้อม​ที่​จะ “เกิด​ใหม่” ใน​ชาติ​หน้า. ข้าว​โพด, ถั่ว​ลิสง, และ​มัน​เทศ รวม​ทั้ง​เครื่อง​ดนตรี​และ​สิ่ง​ที่​ใช้​ทำ​พิธี​ก็​พบ​อยู่​ใน​อุโมงค์​นั้น​ด้วย.

สอง​ปี​ต่อ​มา เตโย​กับ​เพื่อน​ร่วม​งาน​อีก​คน​หนึ่ง​ค้น​พบ​ที่​ฝัง​ศพ​ขนาด​ใหญ่ ซึ่ง​พวก​เขา​ตั้ง​ชื่อ​ว่า​ป่าช้า​ใหญ่​แห่ง​ปารากัส. ที่​ฝัง​ศพ​นี้​มี 429 ศพ​นอน​ขด​อยู่ บาง​ศพ​สูง​ถึง 1.6 เมตร. ซาก​มัมมี่​ที่​ขด​ตัว​เหล่า​นี้​ถูก​ใส่​ใน​ตะกร้า. ศพ​ถูก​ห่อ​ด้วย​ผ้า​สี​สดใส​ที่​ดู​หรูหรา​น่า​ทึ่ง​และ​มี​ลาย​ปัก​หลาก​สี โดย​มาก​เป็น​ลาย​เกี่ยว​กับ​เวทมนตร์​และ​ศาสนา.

ตัว​อย่าง​ของ​ผ้า​ห่อ​ศพ​เหล่า​นี้​พร้อม​กับ​สิ่ง​ของ​ที่​น่า​ทึ่ง​อื่น ๆ จาก​อารยธรรม​ปารากัส​จะ​หา​ชม​ได้​ที่​พิพิธภัณฑสถาน​ฮู​ลิ​โอ ซี. เตโย.

เรา​หวัง​ว่า​คำ​พรรณนา​การ​เดิน​ทาง​ของ​เรา​ใน​เขต​อนุรักษ์​ปารากัส​ได้​กระตุ้น​ให้​คุณ​อยาก​สำรวจ​ทรัพยากร​ของ​เปรู​มาก​ขึ้น.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 8 ภาพ​เหล่า​นี้​คือ​ภาพ​วาด​สัตว์​และ​ภาพ​รูป​ทรง​เรขาคณิต​บน​ที่​ราบ​นัซกา ประเทศ​เปรู ซึ่ง​ใหญ่​เกิน​กว่า​ที่​จะ​มอง​เห็น​ได้​จาก​ระดับ​พื้น​ดิน. ดู​บทความ “เส้น​นัซกา—ลาน​จอด​ยู​เอฟ​โอ​หรือ?” ใน​ตื่นเถิด! (ภาษา​อังกฤษ) ฉบับ 8 มกราคม 1982.

[ภาพ​หน้า 17]

นก​เพนกวิน​ฮุมโบลดต์

[ภาพ​หน้า 18]

นก​นาง​นวล​แกลบ

[ภาพ​หน้า 18]

เชิง​ตะเกียง​กิ่ง

[ภาพ​หน้า 18]

สิ่ง​ของ​จาก​อารยธรรม​ปารากัส​อัน​ได้​แก่ ผ้า​ห่อ​ศพ, มัมมี่, และ​กะโหลก​ที่​ยาว​เรียว​อัน​หนึ่ง

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 16]

Pelican: © Archivo de PromPerú; sea lions: © Michael Tweddle/PromPerú

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 17]

Coastline: © Carlos Sala/PromPerú; flamingos: © Heinz Plenge/PromPerú; penguin: © Arturo Bullard/PromPerú

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 18]

Top left sea and tern: © Archivo de PromPerú; artifacts: Museo Nacional de Arqueología, Antropología e Historia del Perú