การเพ่งดูโลก
การเพ่งดูโลก
สัตว์ต่างถิ่นบุกเข้าสเปน
หนังสือพิมพ์เอล ปาอิส แห่งสเปนรายงานว่า “สัตว์ต่างถิ่นมากกว่าสี่สิบชนิดจากส่วนต่าง ๆ ของโลกได้บุกเข้ามาในสเปนโดยทางบก, ทางเรือ, และทางอากาศ สร้างความหายนะให้แก่ชีวิตของพืชและสัตว์ท้องถิ่น.” รายการของผู้บุกรุกเหล่านี้มีทั้งปลาดุกยักษ์จากเยอรมนี, สาหร่ายสีเขียวจากทะเลแคริบเบียน, นกแก้วมังค์จากอาร์เจนตินา, และตัวมิงค์จากอเมริกาเหนือ. สัตว์เหล่านี้หลายตัวถูกนำเข้ามาในสเปนเพื่อขายเป็นสัตว์เลี้ยงแบบแปลก ๆ หรือเพื่อจุดประสงค์อื่นทางการค้า. สัตว์บางตัวหนีออกมา ส่วนตัวอื่น ๆ ถูกเจ้าของนำมาปล่อยเมื่อรู้สึกว่าเป็นภาระหรือไม่ได้ประโยชน์อะไรอีก. นักชีววิทยาแดเนียล โซลกล่าวว่า “นอกจากสูญเสียที่อยู่อาศัยแล้ว ตอนนี้สิ่งมีชีวิตซึ่งเป็นผู้บุกรุกเหล่านี้ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้จำนวนสัตว์ในท้องถิ่นลดลงด้วย.”
เซรุ่มแก้พิษงูที่ได้จากไข่
หนังสือพิมพ์เดอะ ไทมส์ ออฟ อินเดีย กล่าวว่า “นักวิทยาศาสตร์อินเดียค้นพบว่าไข่ไก่สามารถใช้เป็นต้นกำเนิดของโมเลกุลต่าง ๆ ที่ใช้เป็นยารักษาการถูกงูกัด.” มีการฉีด “พิษงูในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายเข้าในกล้ามเนื้อ” ของไก่ที่มีอายุประมาณ 12 สัปดาห์ และหลังจากนั้นสองถึงสามสัปดาห์จะฉีดซ้ำอีก. หลังจาก 21 สัปดาห์ ไก่เหล่านี้จะเริ่มวางไข่ที่มีแอนติบอดีของเซรุ่มแก้พิษงู. นักวิจัยหวังว่าเซรุ่มที่ได้จากไข่อาจเข้ามาแทนที่เซรุ่มที่ได้จากม้า ซึ่งเดอะ ไทมส์กล่าวว่า “ม้าเหล่านี้ต้องทนกับการทดสอบที่เจ็บปวดเพื่อจะได้เซรุ่มแก้พิษงู.” นักวิทยาศาสตร์ในออสเตรเลียอ้างว่าประสบผลสำเร็จในด้านเทคโนโลยีใหม่ที่เกี่ยวกับการทดลองในสัตว์. หากเซรุ่มแก้พิษงูที่ได้จากไข่พิสูจน์ว่าใช้ได้ผลกับมนุษย์ นั่นจะก่อประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อประเทศอินเดียที่มีรายงานว่ามีผู้ถูกงูกัดประมาณ 300,000 รายในแต่ละปี. ในจำนวนเหล่านี้มีผู้เสียชีวิตถึง 10 เปอร์เซ็นต์.
ความสามารถในการบินของผีเสื้อ
หนังสือพิมพ์ดิ อินดิเพนเดนต์ แห่งกรุงลอนดอนกล่าวว่า “เป็นเวลาหลายปีที่นักวิทยาศาสตร์พยายามทำความเข้าใจว่าอะไรทำให้ผีเสื้อเป็นผู้เชี่ยวชาญในการเคลื่อนไหวอย่างคล่องแคล่วถึงแม้จะบินช้า—คือสามารถลอยตัวอยู่กับที่และบินถอยหลังหรือไปด้านข้างได้อย่างง่ายดาย. ขณะนี้นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดเชื่อว่าในที่สุดพวกเขาก็ค้นพบความลับของแมลงนี้แล้ว. พวกเขาสังเกตวิธีบินของผีเสื้อแอดมิรัลสีแดง โดยใช้อุโมงค์ลมที่ออกแบบพิเศษและใช้ควันเพื่อแสดงให้เห็นการไหลของลม. เมื่อผีเสื้อบินไปมาที่ดอกไม้ปลอมซึ่งอยู่ในอุโมงค์ลม จะมีการใช้กล้องดิจิตอลความเร็วสูงบันทึกภาพการไหลของลมรอบ ๆ ปีกผีเสื้อ. นักวิจัยค้นพบว่า “การกระพือปีกของผีเสื้อไม่ใช่เป็นแบบสะเปะสะปะหรือเคลื่อนไหวแบบไร้ทิศทาง แต่เป็นผลมาจากการใช้กลไกทางอากาศพลศาสตร์หลายอย่างเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวให้สมบูรณ์แบบ.” บรรดานักวิทยาศาสตร์หวังจะใช้ความรู้นี้เพื่อสร้างเครื่องบินที่ควบคุมได้ในระยะไกลที่มีปีกยาวเพียงไม่กี่นิ้ว. หลังจากติดตั้งอุปกรณ์ถ่ายภาพ เครื่องบินเหล่านี้จะสามารถบินเข้าไปในที่แคบ ๆ ฐานะเป็นผู้สังเกตการณ์ที่บินได้.
โรคนอนไม่หลับในอิตาลี
ระหว่างปี 2002 มีแพทย์กว่า 600 คนและคนไข้มากกว่า 11,000 คนเข้าร่วมโครงการศึกษาเรื่องโรคนอนไม่หลับซึ่งเป็นการศึกษาในขอบเขตที่กว้างที่สุดเท่าที่เคยทำในอิตาลี. หนังสือพิมพ์ลาสตัมปา กล่าวถึงผลของการศึกษาซึ่งแสดงให้เห็นว่า ชาวอิตาลีมากกว่า 12 ล้านคนทนทุกข์เนื่องจากโรคนอนไม่หลับ. มีคนที่ง่วงซึมตอนเช้า 65 เปอร์เซ็นต์, ง่วงซึมเวลาใดเวลาหนึ่งในช่วงกลางวัน 80 เปอร์เซ็นต์, และรู้สึกยากที่จะมีสมาธิในการทำงาน 46 เปอร์เซ็นต์. หนังสือพิมพ์นี้ยังกล่าวอีกว่า “22 เปอร์เซ็นต์ของอุบัติเหตุบนท้องถนนมาจากผู้ขับขี่ที่มีภาวะความเสี่ยงสูงซึ่งมีสาเหตุมาจากความง่วง.” การศึกษาในเรื่องนี้ยังแสดงให้เห็นด้วยว่า 67 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่มีปัญหานี้ไม่เคยเล่าให้หมอฟัง. มาริโอ จิโอวานนี เทอร์ซาโนผู้ประสานงานของโครงการศึกษานี้กล่าวว่า “มีผู้เป็นโรคนอนไม่หลับในระยะเริ่มต้นอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด.” กระนั้น การตรวจร่างกายอาจเผยให้เห็นถึงปัญหาทางกายที่เกี่ยวข้อง. เทอร์ซาโนยังกล่าวด้วยว่า สาเหตุอื่น ๆ ของโรคนอนไม่หลับยังรวมไปถึงความวิตกกังวล (24 เปอร์เซ็นต์), เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด (23 เปอร์เซ็นต์), และอาการซึมเศร้า (6 เปอร์เซ็นต์).
แอนทีโลปไซกาใกล้สูญพันธุ์
วารสารนิว ไซเยนติสต์ กล่าวว่า “ในปี 1993 แอนทีโลปไซกามากกว่าหนึ่งล้านตัวท่องไปทั่วทุ่งหญ้าอันกว้างใหญ่ของรัสเซียและสาธารณรัฐคาซัคสถาน. ทุกวันนี้เหลือไม่ถึง 30,000 ตัว.” รายงานนั้นกล่าวว่า สัตว์ชนิดนี้ตกเป็นเหยื่อของ “การลักลอบล่าสัตว์ซึ่งแพร่ไปทั่ว. บรรดานักชีววิทยากล่าวว่า นี่คือการลดจำนวนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ซึ่งเกิดขึ้นกะทันหันและรวดเร็วที่สุดเท่าที่เคยเห็น.” เพราะเหตุใดจึงมีการลักลอบล่าสัตว์ชนิดนี้? ช่วงต้นทศวรรษ 1990 นักอนุรักษ์เป็นห่วงว่าแรดจะตกอยู่ในอันตราย จึงได้มีการส่งเสริมว่า เขาของไซกาสามารถใช้ทำยาจีนแผนโบราณแทนนอแรดได้. เนื่องจากไซกาสูญพันธุ์ไปจากจีนแล้ว ฝูงสัตว์ชนิดนี้ในแถบเอเชียกลางจึงตกเป็นเป้า. ในช่วงห้าปี (1993-1998) จำนวนของมันลดลงเกือบครึ่ง และในปี 2002 มีจำนวนลดลง 97 เปอร์เซ็นต์. ที่สาธารณรัฐคาซัคสถานตอนกลางพบว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว 99 เปอร์เซ็นต์โดยเหลือเพียง 4,000 ตัวเท่านั้น. นักสัตววิทยาอาบีเกล เอ็นทวิสเทิลแห่งสมาคมอนุรักษ์พรรณพืชและพรรณสัตว์นานาชาติกล่าวว่า “เราคิดว่าอาจมีเวลาเหลือเพียงแค่สองปีเท่านั้นที่จะพิทักษ์สัตว์ชนิดนี้ไว้.”
ความคิด, อารมณ์, และสุขภาพ
รายงานหนึ่งที่มีการลงในวารสารวพรอสต์ ของโปแลนด์ได้ให้ข้อสังเกตว่า สิ่งที่อยู่ในความคิดของเราอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายมากกว่าที่เคยเชื่อกัน. รายงานนี้กล่าวเสริมว่า “ความคิดและอารมณ์มีผลกระทบต่ออวัยวะสำคัญและระบบต่าง ๆ ทั้งหมดในร่างกายมนุษย์ทั้งระบบประสาท, ฮอร์โมน, การไหลเวียนของเลือด, และระบบสืบพันธุ์.” ด้วยเหตุนี้ ศาสตราจารย์มาเรก โควัลชิกแห่งสถาบันอนามัยและระบาดวิทยาของทหารในกรุงวอร์ซอกล่าวว่า “คนที่มีชีวิตแบบเคร่งเครียดจะเป็นหวัดและเป็นไข้หวัดใหญ่บ่อยกว่าคนอื่นสองเท่า.” เขากล่าวเสริมว่า ผู้หญิงที่เป็นโรคซึมเศร้ามีโอกาสเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่จะตั้งครรภ์. วพรอสต์ ยังรายงานด้วยว่า ขณะที่ความเครียดอาจไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง แต่ “จะเร่งให้มะเร็งที่อยู่ในภาวะสงบเกิดการเปลี่ยนแปลง.” ความโกรธก็เช่นเดียวกันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ เนื่องจากเชื่อว่า คนที่ก้าวร้าวและเกลียดชังคนอื่นจะมีอัตราการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่า ซึ่งทำให้หัวใจอ่อนแอมากขึ้นจนทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้.
การขายงาช้างอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ในช่วงเวลาสิบปีเท่านั้น ตั้งแต่ปี 1979 ถึง 1989 ประชากรช้างในแอฟริกาลดจำนวนลงมากกว่าครึ่ง. เหตุผลหนึ่งคือมีความต้องการสินค้าที่ทำจากงาช้างเพิ่มขึ้น. อีกเหตุผลคือมีการใช้ปืนอัตโนมัติในหมู่นักลักลอบล่าสัตว์อย่างแพร่หลาย. ด้วยเหตุนี้ ในปี 1989 ได้มีการจัดตั้งอนุสัญญาว่าด้วยการค้าพืชและสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ระหว่างประเทศ (ซีไอทีอีเอส) เพื่อให้มีการห้ามการค้างาช้างอย่างเด็ดขาด. อย่างไรก็ดี วารสารชีวิตสัตว์ป่าในแอฟริกา (ภาษาอังกฤษ) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ซีไอทีอีเอสยินยอมให้แอฟริกาใต้, บอตสวานา, และนามิเบียขายงาช้างจำนวน 60 ตันเพียงครั้งเดียว. งาช้างเหล่านี้ยึดมาจากผู้ลักลอบฆ่าสัตว์หรือได้มาจากสัตว์ที่ตายเองโดยธรรมชาติ. บทความนั้นกล่าวว่า มีสองประเทศที่ถูกปฏิเสธไม่ให้ขายงาช้างของตนเพราะ “ไม่มีการรับรองอย่างเพียงพอว่าพวกเขามีมาตรการป้องกันการขายงาช้างแบบผิดกฎหมาย.”