ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ซ่อมบำรุงรถยนต์ของคุณอย่างปลอดภัย

ซ่อมบำรุงรถยนต์ของคุณอย่างปลอดภัย

ซ่อม​บำรุง​รถยนต์​ของ​คุณ​อย่าง​ปลอด​ภัย

เควิน​รู้​วิธี​เปลี่ยน​น้ำมัน​เครื่อง​รถยนต์​จาก​ประสบการณ์​ของ​เขา. เขา​รู้​วิธี​ถอด​จุก​เกลียว​ออก​จาก​อ่าง​น้ำมัน​เครื่อง, ปล่อย​น้ำมัน​เครื่อง​ออก​จาก​ห้อง​ข้อ​เหวี่ยง, ใส่​จุก​เกลียว​กลับ​เข้า​ที่, และ​ขัน​ให้​แน่น. แต่​ครั้ง​หนึ่ง​ขณะ​ที่​เควิน​ขัน​เกลียว​แน่น​มาก​จน​ประ​แจ​กระเด็น​หลุด​ออก​จาก​หัว​สลัก​เกลียว​นั้น. มือ​ของ​เควิน​ก็​ไป​กระแทก​ถูก​ชิ้น​ส่วน​โลหะ​ที่​แหลม​คม ทำ​ให้​เกิด​บาดแผล​เหวอะ​หวะ​บน​ฝ่า​มือ​ของ​เขา​จน​ต้อง​เย็บ​หลาย​เข็ม.

เช่น​เดียว​กับ​เควิน หลาย​คน​ดู​แล​รถยนต์​ของ​ตน​เป็น​ประจำ ซึ่ง​บาง​คน​ทำ​เพียง​เพื่อ​ลด​ค่า​ใช้​จ่าย. แต่​การ​เรียน​รู้​พื้น​ฐาน​ใน​การ​บำรุง​รักษา​และ​การ​ซ่อมแซม​อาจ​มี​ประโยชน์​อย่าง​อื่น​ด้วย. ผู้​หญิง​คน​หนึ่ง​ชื่อ​แคที​เล่า​ว่า “คราว​หนึ่ง​ระหว่าง​ขับ​รถ​ทาง​ไกล รถ​ของ​ดิฉัน​เกิด​ขัดข้อง. เนื่อง​จาก​ดิฉัน​เคย​หัด​ซ่อม​รถ​ของ​ตัว​เอง ดิฉัน​จึง​ซ่อม​และ​เดิน​ทาง​ต่อ​ไป​ได้.”

บาง​ที​คุณ​ก็​เช่น​กัน​คง​อยาก​จะ​ดู​แล​รักษา​และ​ซ่อม​รถ​ของ​คุณ​ได้​เอง. แต่​คุณ​จะ​ทำ​เช่น​นั้น​อย่าง​ปลอด​ภัย​ได้​อย่าง​ไร?

จง​คิด​ล่วง​หน้า!

ความ​ปลอด​ภัย​ควร​มา​เป็น​อันดับ​แรก. * ดัง​ที่​การ​บาดเจ็บ​ของ​เควิน​แสดง​ให้​เห็น เป็น​เรื่อง​ง่าย​ที่​คุณ​จะ​ได้​รับ​บาดเจ็บ​เมื่อ​ทำ​งาน​ใน​พื้น​ที่​แคบ ๆ หรือ​เมื่อ​ใช้​เครื่อง​มือ​ที่​ต้อง​ออก​แรง​มาก. คุณ​จะ​หลีก​เลี่ยง​การ​บาดเจ็บ​ได้​อย่าง​ไร? เมื่อ​ใช้​ประแจ​ขัน​สลัก​เกลียว จง​ดู​ให้​แน่​ใจ​ว่า ประ​แจ​จับ​หัว​สลัก​เกลียว​ถูก​ที่​ถูก​ตำแหน่ง​ของ​มัน. ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘ถ้า​ประ​แจ​จับ​หัว​สลัก​เกลียว​ไม่​อยู่ มือ​ของ​ฉัน​จะ​เหวี่ยง​ไป​โดน​อะไร?’ การ​สวม​ถุง​มือ​หรือ​ใช้​เศษ​ผ้า​พัน​มือ​ไว้​จะ​ช่วย​ป้องกัน​ได้​ระดับ​หนึ่ง. เพื่อ​ช่วย​ควบคุม​การ​ออก​แรง​ของ​คุณ ถ้า​เป็น​ได้​ให้​ดึง​เครื่อง​มือ​เข้า​หา​ตัว​แทน​ที่​จะ​ผลัก​ออก. เช่น​เดียว​กัน เมื่อ​จะ​คลาย​เกลียว​ที่​ติด​แน่น เป้าหมาย​ของ​คุณ​ควร​เป็น​การ​ไข​สลัก​เกลียว​เพียง​ครั้ง​ละ​หนึ่ง​ส่วน​สี่​รอบ. หลักการ​ใน​เรื่อง​การ​มอง​การณ์​ไกล​และ​การ​ควบคุม​นี้​นำ​มา​ใช้​ได้​เสมอ. อย่า​ให้​ความ​รีบ​เร่ง​เป็น​เหตุ​ให้​คุณ​ละเลย​หลักการ​เหล่า​นี้!

อุบัติเหตุ​มัก​เกิด​ขึ้น​เมื่อ​คน​เรา​พยายาม​จะ​ใช้​เครื่อง​มือ​ทำ​บาง​สิ่ง​อย่าง​ที่​ผิด​วัตถุ​ประสงค์. ตัว​อย่าง​เช่น ทอมมี​ปัญหา​ยุ่งยาก​กับ​การ​เปลี่ยน​หัว​เทียน​ใน​รถยนต์​ของ​เขา. เพราะ​เหตุ​ใด? เพราะ​บล็อก​ที่​ใช้​ไข​หัว​เทียน​สั้น​เกิน​ไป ทำ​ให้​บล็อก​นั้น​ลื่น​หลุด​ออก​มา. ใน​ที่​สุด ทอม​ก็​ต่อ​บล็อก​ให้​ยาว​ขึ้น​เพื่อ​จะ​ไข​ออก​ได้. จาก​นั้น เขา​สามารถ​เปลี่ยน​หัว​เทียน​ที่​ยัง​เหลือ​อีก​ห้า​อัน​โดย​ใช้​เวลา​เท่า​กับ​ที่​เขา​เปลี่ยน​หัว​เทียน​อัน​แรก และ​ทำ​ได้​ด้วย​ความ​ปลอด​ภัย. เรา​ได้​เรียน​รู้​อะไร? การ​มี​เครื่อง​มือ​ที่​เหมาะ​สม​นับ​ว่า​สำคัญ​อย่าง​ยิ่ง.

เศษ​ผง​ที่​เป็น​อันตราย​อาจ​ร่วง​เข้า​ตา​คุณ​ขณะ​ที่​คุณ​ทำ​งาน​อยู่​ใต้​ท้อง​รถ หรือ​แหงน​ดู​ใต้​แผง​หน้า​ปัด. จะ​ป้องกัน​ได้​อย่าง​ไร? ชอน​ซึ่ง​เป็น​ช่าง​มา​กว่า​สิบ​ปี​พูด​ว่า “สวม​อุปกรณ์​ป้องกัน​ตา อย่าง​เช่น แว่น​ครอบ​ตา.” เขา​เสริม​ว่า “ใน​อู่​รถ​ที่​ผม​ทำ​งาน​อยู่ การ​ใช้​อุปกรณ์​เพื่อ​ความ​ปลอด​ภัย​ถือ​เป็น​ข้อ​บังคับ.” นอก​จาก​นั้น คุณ​ควร​สวม​อุปกรณ์​ป้องกัน​ตา​เมื่อ​ทำ​งาน​ใกล้​ของ​เหลว​ที่​เป็น​อันตราย เช่น กรด​ใน​แบตเตอรี่.

เมื่อ​ทำ​งาน​อยู่​ใต้​ท้อง​รถ จง​ใช้​แม่​แรง​ที่​ออก​แบบ​อย่าง​ดี, เครื่อง​ยก​ที่​มี​ประสิทธิภาพ หรือ​หลุม​คอนกรีต​เสริม​เหล็ก​ที่​คน​ลง​ไป​ทำ​งาน​ใต้​ท้อง​รถ​ได้. อย่า​ลง​ไป​อยู่​ใต้​ท้อง​รถ​ซึ่ง​ยก​ด้วย​แม่​แรง​เพียง​อย่าง​เดียว. คู่มือ​รถ​บาง​คัน​ระบุ​ว่า​ควร​ตั้ง​แม่​แรง​ตรง​จุด​ไหน​เพื่อ​จะ​รับ​น้ำหนัก​รถ​ได้​อย่าง​มั่นคง. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ต้อง​ระวัง​ด้วย​ว่า แรง​กระชาก​กะทันหัน อย่าง​เช่น การ​ออก​แรง​เพื่อ​ให้​สลัก​เกลียว​ที่​ติด​แน่น​คลาย​ออก อาจ​ทำ​ให้​รถ​สะเทือน​และ​เคลื่อน​ออก​จาก​ตำแหน่ง​ที่​แม่​แรง​รอง​รับ​อยู่.

การ​ป้องกัน​เหตุ​การณ์​ที่​ไม่​คาด​คิด

บาง​ส่วน​ของ​รถยนต์​อาจ​ร้อน​และ​ลวก​คุณ​ได้​ถ้า​ไป​สัมผัส​ถูก​มัน. ตัว​อย่าง​เช่น น้ำ​ที่​อยู่​ภาย​ใน​หม้อ​น้ำ​ยัง​ร้อน​อยู่​ช่วง​หนึ่ง​หลัง​จาก​ดับ​เครื่อง​ยนต์​แล้ว. ดัง​นั้น อย่า​เพิ่ง​เปิด​ฝา​หม้อ​น้ำ​จน​กระทั่ง​มัน​เย็น​พอ​ที่​คุณ​จะ​จับ​ได้​ด้วย​มือ​เปล่า. รถยนต์​บาง​รุ่น พัด​ลม​หม้อ​น้ำ​หมุน​ด้วย​ระบบ​ไฟฟ้า​และ​จะ​หมุน​โดย​อัตโนมัติ แม้​แต่​หลัง​จาก​ดับ​เครื่อง​ยนต์​แล้ว. เพื่อ​หลีก​เลี่ยง​การ​บาดเจ็บ ให้​ปลด​สาย​ดิน​ออก​จาก​แบตเตอรี่​ก่อน​จะ​เริ่ม​ทำ​งาน.

เมื่อ​ซ่อม​บำรุง​รถ​ของ​คุณ จง​ถอด​แหวน​และ​เครื่อง​ประดับ​ต่าง ๆ โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง ขณะ​ที่​กำลัง​เดิน​เครื่อง​อยู่. นอก​จาก​จะ​ไป​เกี่ยว​ชิ้น​ส่วน​ต่าง ๆ ใน​เครื่อง​ยนต์ เครื่อง​ประดับ​ที่​เป็น​โลหะ​อาจ​ทำ​ให้​กระแส​ไฟฟ้า​ลัด​วงจร​และ​เกิด​ความ​ร้อน​จน​แดง​โร่! ชาย​แขน​เสื้อ​ที่​หลวม, เนกไท, ผ้า​พัน​คอ แม้​กระทั่ง​เส้น​ผม​ที่​ยาว​อาจ​จะ​ไป​พัน​ติด​กับ​ส่วน​ที่​เดิน​เครื่อง​อยู่.

แม้​แต่​เมื่อ​คุณ​คิด​ว่า​งาน​ของ​คุณ​เสร็จ​เรียบร้อย​แล้ว มี​กฎ​ข้อ​สุด​ท้าย​ที่​ต้อง​ปฏิบัติ​ตาม. เดิร์ก ที่​ปรึกษา​ฝ่าย​บริการ​สำหรับ​อู่​รถ​ที่​มี​งาน​มาก​กล่าว​ว่า “จง​ตรวจ​เช็ค​งาน​ของ​คุณ​ซ้ำ​อีก​ครั้ง​เสมอ.” เขา​พูด​ต่อ​ว่า “คราว​หนึ่ง ช่าง​ลืม​ทำ​เช่น​นั้น​หลัง​จาก​ตรวจ​ซ่อม​เบรก. เบรก​ไม่​ทำ​งาน แล้ว​รถ​พุ่ง​มา​ที่​โต๊ะ​ผม!”

การ​จัด​การ​กับ​เหตุ​ฉุกเฉิน

วัน​หนึ่ง ทอม​สังเกต​ว่า​รถยนต์​ของ​เขา​เกิด​ความ​ร้อน​สูง. ท่อ​อ่อน​แตก​และ​น้ำ​ใน​หม้อ​น้ำ​รั่ว​ออก​หมด. เมื่อ​ใช้​เทป​พัน​ท่อ​ม้วน​หนึ่ง​ที่​เขา​เก็บ​ไว้​ใน​รถยนต์ ทอม​จึง​สามารถ​ซ่อม​แบบ​ชั่ว​คราว​ได้​โดย​เอา​เทป​พัน​ท่อ​อ่อน และ​เอา​สาร​กัน​การ​แข็งตัว​ผสม​น้ำ​แล้ว​เท​ลง​ใน​หม้อ​น้ำ. แล้ว​เขา​จึง​ขับ​รถ​ไป​ยัง​ร้าน​อะไหล่​รถยนต์​เพื่อ​ซื้อ​ท่อ​อ่อน​อัน​ใหม่. ประสบการณ์​ของ​ทอม​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​จำ​ต้อง​เตรียม​พร้อม​โดย​เก็บ​อุปกรณ์​ซ่อม​รถ​ไว้​ใน​รถ​ของ​คุณ.

ขณะ​ขับ​รถ ให้​คอย​สังเกต​เสียง​หรือ​กลิ่น​แปลก ๆ. อี​วอน​ได้​กลิ่น​แปลก ๆ จาก​เครื่อง​ยนต์. สามี​ของ​เธอ​เปิด​ฝา​กระโปรง​รถ​และ​เห็น​น้ำ​ที่​มี​สาร​กัน​การ​แข็งตัว​ผสม​อยู่​พุ่ง​ออก​มา​เป็น​สาย​จาก​รู​เล็ก ๆ ที่​อยู่​ด้าน​บน​ของ​ท่อ​อ่อน​หม้อ​น้ำ. เนื่อง​จาก​เห็น​ปัญหา​ก่อน​ที่​รถยนต์​จะ​ร้อน​เกิน​ไป อี​วอน​และ​สามี​จึง​สามารถ​ขับ​รถ​ไป​ยัง​อู่​ซ่อม​รถ​ได้.

คุณ​ควร​ทำ​อะไร​ถ้า​รถ​เสีย​บน​ทาง​หลวง? ก่อน​อื่น พยายาม​เข็น​รถ​ออก​ไป​ให้​พ้น​ทาง​ให้​มาก​ที่​สุด​เท่า​ที่​ทำ​ได้. ผู้​โดยสาร โดย​เฉพาะ​เด็ก ๆ ควร​นั่ง​อยู่​ใน​รถ​พร้อม​กับ​คาด​เข็มขัด​นิรภัย. ถ้า​คุณ​ต้อง​อยู่​นอก​รถ ให้​ยืน​ห่าง​การ​จราจร​ให้​มาก​ที่​สุด​เท่า​ที่​ทำ​ได้. เปิด​ไฟ​ฉุกเฉิน. เปิด​ฝา​กระโปรง​รถ​ขึ้น​เพื่อ​เป็น​สัญญาณ​บ่ง​ชี้​ว่า​รถ​คุณ​เสีย. ฉาย​ไฟ​หรือ​ทำ​สัญญาณ​เตือน​อื่น ๆ อย่าง​รอบ​คอบ.

ถ้า​แบตเตอรี่​เสีย คุณ​อาจ​เลือก​ที่​จะ​พ่วง​แบตเตอรี่​โดย​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​รถ​อีก​คัน​หนึ่ง. แต่​พึง​ระวัง​ว่า แบตเตอรี่​รถยนต์​ทำ​ให้​เกิด​แก๊ส​ที่​ติด​ไฟ​ง่าย. ประกาย​ไฟ​อาจ​ทำ​ให้​แก๊ส​ระเบิด​ได้ ซึ่ง​ทำ​ให้​กรด​ที่​มี​ฤทธิ์​กัด​กร่อน​กระเด็น​ใส่​คุณ. เพราะ​ฉะนั้น ถ้า​คุณ​หรือ​คน​ที่​กำลัง​ช่วย​คุณ​ไม่​แน่​ใจ​ว่า​จะ​พ่วง​แบตเตอรี่​อย่าง​ไร ให้​รอ​คน​อื่น​มา​ช่วย.

ดัง​ที่​เรา​ได้​เห็น​แล้ว การ​ซ่อม​บำรุง​รถยนต์​เป็น​ความ​รับผิดชอบ​ที่​ต้อง​เอา​จริง​เอา​จัง. ไม่​ว่า​คุณ​จะ​ซ่อมแซม​รถยนต์​ของ​คุณ​เอง​เพื่อ​จัด​การ​กับ​เหตุ​ฉุกเฉิน​หรือ​เพียง​แต่​ทำ​ตาม​ระยะ​ซ่อม​บำรุง​ตาม​ปกติ พึง​ระลึก​เสมอ​ว่า การ​คำนึง​ถึง​ความ​ปลอด​ภัย​เป็น​สิ่ง​ที่​สำคัญ!

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 6 ถ้า​คุณ​ทำ​งาน​นี้​เป็น​ครั้ง​แรก พยายาม​หา​ซื้อ​หนังสือ​คู่มือ​ซ่อม​รถยนต์​หรือ​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​เพื่อน​ที่​มี​ประสบการณ์. ถ้า​รถ​ของ​คุณ​มี​ส่วน​ประกอบ​ที่​ควบคุม​ด้วย​ระบบ​คอมพิวเตอร์​หรือ​อุปกรณ์​ไฮเทค​อื่น ๆ คง​ดี​กว่า​ถ้า​คุณ​จะ​นำ​รถ​ไป​ให้​ช่าง​ที่​มี​อุปกรณ์​และ​ประสบการณ์​ทำ​การ​ซ่อมแซม.

[คำ​โปรย​หน้า 21]

อุบัติเหตุ​มัก​เกิด​ขึ้น​เมื่อ​คน​เรา​พยายาม​จะ​ใช้​เครื่อง​มือ​ทำ​บาง​สิ่ง​อย่าง​ที่​ผิด​วัตถุ​ประสงค์

[กรอบ/ภาพ​หน้า 19]

สิ่ง​ที่​ต้อง​เก็บ​ไว้​ใน​รถ​ของ​คุณ

ยาง​อะไหล่​และ​แม่​แรง

สาย​พ่วง​แบตเตอรี่

ไฟ​ฉุกเฉิน​หรือ​ตัว​สะท้อน​แสง

เครื่อง​มือ​และ​แว่น​ครอบ​ตา

ไฟ​ฉาย

ภาชนะ​สำรอง​สำหรับ​ใส่​ของ​เหลว (น้ำมัน, น้ำ, สาร​ป้องกัน​การ​แข็งตัว, น้ำมัน​เบรก)

เทป​พัน​ท่อ

ฟิวส์​สำรอง

เชือก​ลาก (หมายเหตุ: ใน​บาง​แห่ง รถ​กู้​ภัย​ต้อง​ได้​รับ​อนุญาต​ตาม​กฎหมาย​เพื่อ​จะ​ลาก​รถ​ได้)

เก็บ​เครื่อง​มือ​ไว้​ใน​กล่อง​และ​วาง​ให้​เรียบร้อย

คุณ​อาจ​อยาก​มี​เครื่อง​มือ​ซ่อมแซม​อื่น ๆ ติด​รถ​ไว้​อีก. อย่าง​ไร​ก็​ดี สโมสร​รถยนต์​บาง​แห่ง​ที่​บริการ​ซ่อม​ฉุกเฉิน​ตาม​ท้องถนน​ไม่​อยาก​ซ่อม​รถ​ที่​ตาย​อยู่​กลาง​ทาง​หาก​เจ้าของ​รถ​ได้​ลง​มือ​ซ่อม​เอง​ไป​แล้ว. ถ้า​คุณ​เป็น​สมาชิก​สโมสร​รถยนต์ ให้​ตรวจ​สอบ​ดู​ว่า​อะไร​บ้าง​ที่​เขา​อนุญาต​ให้​ซ่อม​ได้.