ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การทดสอบความเชื่อ

การทดสอบความเชื่อ

การ​ทดสอบ​ความ​เชื่อ

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​บริเตนใหญ่

ริชมอนด์​เป็น​เมือง​ที่​งดงาม​ใน​เขต​นอร์ท​ยอร์กเชียร์ ประเทศ​อังกฤษ. ปราสาท​ริชมอนด์ ซึ่ง​ถูก​สร้าง​ขึ้น​ไม่​นาน​หลัง​จาก​พวก​นอร์แมน​พิชิต​ได้​ใน​ปี 1066 ทำ​ให้​ทัศนียภาพ​อีก​ฟาก​หนึ่ง​ของ​ลุ่ม​แม่น้ำ​สเวล​ไป​จน​ถึง​อุทยาน​แห่ง​ชาติ​ยอร์กเชียร์เดลส์​นั้น​สวย​งาม​สะดุด​ตา.

รายการ​สารคดี​ทาง​โทรทัศน์​ชื่อ​เดอะ ริชมอนด์ ซิกซ์ทีน ได้​เปิด​เผย​แง่​มุม​สำคัญ​เกี่ยว​กับ​ประวัติศาสตร์​ยุค​ปัจจุบัน​ของ​ปราสาท​หลัง​นี้ นั่น​ก็​คือ ชะตากรรม​ของ​ผู้​ปฏิเสธ​การ​เป็น​ทหาร​เนื่อง​ด้วย​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ 16 คน ซึ่ง​ถูก​คุม​ขัง​ที่​นั่น​ใน​ช่วง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​หนึ่ง. เกิด​อะไร​ขึ้น​กับ​พวก​เขา?

การ​เกณฑ์​ทหาร

หลัง​จาก​การ​ประกาศ​สงคราม​ของ​บริเตน​ใน​ปี 1914 ความ​รัก​ชาติ​ได้​กระตุ้น​ผู้​ชาย​ประมาณ 2.5 ล้าน​คน​ให้​เข้า​ร่วม​ใน​กองทัพ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เนื่อง​จาก​จำนวน​ทหาร​ที่​บาดเจ็บ​ล้ม​ตาย​ใน​กองทัพ​มี​เพิ่ม​ขึ้น​เรื่อย ๆ และ​เนื่อง​จาก​ตระหนัก​ถึง​ข้อ​เท็จ​จริง​ที่​ว่า สงคราม​ไม่​ได้​ยุติ​เร็ว​อย่าง​ที่​นัก​การ​เมือง​ได้​สัญญา​ไว้ อลัน ลอยด์ นัก​ประวัติศาสตร์​ด้าน​สงคราม​ให้​ความ​เห็น​ว่า “แทน​ที่​จะ​ขอร้อง​ผู้​ชาย​ให้​เข้า​ร่วม​ใน​กองทัพ กลับ​ใช้​การ​บังคับ​ขู่เข็ญ.” ดัง​นั้น ใน​เดือน​มีนาคม 1916 ชาย​โสด​จึง​ถูก​เกณฑ์​ให้​เป็น​ทหาร​ใน​กองทัพ​เป็น​ครั้ง​แรก​ใน​ประวัติศาสตร์​ของ​บริเตน.

มี​การ​ตั้ง​ศาล​ยุติธรรม​ขึ้น​สอง​พัน​แห่ง​เพื่อ​รับ​ฟัง​คำ​อุทธรณ์ แต่​คน​เหล่า​นั้น​ที่​ปฏิเสธ​การ​เป็น​ทหาร​โดย​ให้​เหตุ​ผล​ว่า​ขัด​ต่อ​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ มี​เพียง​ไม่​กี่​ราย​ที่​ได้​รับ​การ​ยก​เว้น​จาก​การ​เป็น​ทหาร​อย่าง​สิ้นเชิง. ส่วน​ใหญ่​แล้ว​ผู้​ที่​ปฏิเสธ​การ​เป็น​ทหาร​เนื่อง​ด้วย​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ถูก​สั่ง​ให้​ไป​ประจำ​อยู่​ใน​หน่วย​กองหนุน ซึ่ง​ตั้ง​ขึ้น​เพื่อ​ให้​การ​สนับสนุน​กองทัพ. คน​ที่​ไม่​ยอม​ร่วม​ใน​หน่วย​กองหนุน​ยัง​คง​ถือ​ว่า​เป็น​ทหาร​เกณฑ์​และ​ต้อง​ขึ้น​ศาล​ทหาร. พวก​เขา​ได้​รับ​การ​ปฏิบัติ​อย่าง​โหด​ร้าย​และ​ถูก​จำ​คุก บ่อย​ครั้ง​ต้อง​อยู่​ใน​สภาพ​ที่​ทุกข์​ทรมาน​แสน​สาหัส.

นัก​โทษ​สิบ​หก​คน​ใน​ปราสาท​ริชมอนด์

ใน​หมู่​นัก​โทษ​สิบ​หก​คน มี​ห้า​คน​เป็น​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​นานา​ชาติ ซึ่ง​เป็น​ชื่อ​เรียก​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​สมัย​นั้น. เฮอร์เบิร์ต ซีเนียร์ ซึ่ง​เป็น​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ตั้ง​แต่​ปี 1905 ตอน​ที่​อายุ 15 ปี ได้​เขียน​หลัง​จาก​นั้น​ประมาณ 50 ปี​ต่อ​มา​ว่า “เรา​ถูก​ขัง​ใน​ห้อง​ขัง​ที่​เป็น​เหมือน​คุก​ใต้​ดิน. ห้อง​ขัง​เหล่า​นี้​คง​ไม่​ได้​ใช้​มา​หลาย​ปี เพราะ​บน​พื้น​มี​กอง​ขยะ​สูง​สอง​ถึง​สาม​นิ้ว.” ภาพ​และ​ข้อ​เขียน​ของ​พวก​นัก​โทษ​ที่​เขียน​ไว้​บน​ผนัง​สี​ขาว​ใน​ห้อง​ขัง​ซึ่ง​ใน​ปัจจุบัน​เลือน​ลาง​แล้ว​จน​บาง​ที่​ก็​อ่าน​ไม่​ออก​ได้​ถูก​เผยแพร่​สู่​สาธารณชน​เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้. ภาพ​และ​ข้อ​เขียน​นี้​ประกอบ​ด้วย​ชื่อ, ข้อ​ความ, และ​ภาพ​วาด​ของ​คน​ที่​เขา​รัก พร้อม​กับ​ถ้อย​แถลง​แห่ง​ความ​เชื่อ.

นัก​โทษ​คน​หนึ่ง​เขียน​อย่าง​ชัดเจน​ว่า “ข้าพเจ้า​ยอม​ตาย​เพราะ​ยึด​ถือ​หลักการ​ดี​กว่า​ตาย​เพราะ​ไม่​มี​หลักการ.” หลาย​ข้อ​ความ​มี​การ​อ้าง​ถึง​พระ​เยซู​คริสต์​และ​คำ​สอน​ต่าง ๆ ของ​พระองค์ และ​ยัง​มี​ภาพ​จำลอง​อัน​ประณีต​ของ​สัญลักษณ์​รูป​กางเขน​สอด​มงกุฎ ซึ่ง​สมาคม​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​นานา​ชาติ (ไอ​บี​เอส​เอ) เคย​ใช้​ใน​สมัย​นั้น. เฮอร์เบิร์ต ซีเนียร์ เล่า​ว่า เขา​วาด “แผนภูมิ​เกี่ยว​กับ​ยุค​ต่าง ๆ” บน​ผนัง​ห้อง​ขัง​จาก​คู่มือ​สำหรับ​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​ชื่อ​แผนการ​ของ​พระเจ้า​เกี่ยว​กับ​ยุค​ต่าง ๆ (ภาษา​อังกฤษ) แต่​ยัง​หา​ภาพ​นั้น​ไม่​พบ. ภาพ​วาด​นั้น​อาจ​เลือน​หาย​ไป​พร้อม​กับ​ข้อ​เขียน​อื่น ๆ บน​ผนัง​ใน​ห้อง​ขัง​ส่วน​ใหญ่​หรือ​ใน​ที่​อื่น. อีก​ข้อ​ความ​หนึ่ง​อ่าน​ว่า ‘คลาเรนซ์ ฮอลล์ เมือง​ลีดส์ ไอ.บี.เอส.เอ. วัน​ที่ 29 พฤษภาคม 1916. ถูก​ส่ง​ไป​ฝรั่งเศส.’

ไป​ฝรั่งเศส และ​กลับ​มา!

จำนวน​ทหาร​ที่​บาดเจ็บ​ล้ม​ตาย​ใน​ฝรั่งเศส​และ​เบลเยียม​มี​เพิ่ม​ขึ้น​ใน​อัตรา​ที่​น่า​ตกใจ. ฮอเรโช เฮอร์เบิร์ต คิตเชนเนอร์ รัฐมนตรี​กระทรวง​กลาโหม และ​นาย​พล​ดักลาส ไฮก์ แห่ง​บริเตน ต้องการ​อย่าง​ยิ่ง​ที่​จะ​มี​กอง​ทหาร​มาก​ขึ้น ทั้ง​นี้​รวม​ถึง​ชาย​ที่​สมรส​แล้ว​ซึ่ง​ก็​ถูก​เกณฑ์​ใน​เดือน​พฤษภาคม 1916 ด้วย​เช่น​กัน. เพื่อ​กดดัน​พวก​ผู้​ชาย​ให้​เข้า​ร่วม​ใน​การ​สู้​รบ เจ้าหน้าที่​ตัดสิน​ใจ​ลง​โทษ​ผู้​ที่​ปฏิเสธ​การ​เป็น​ทหาร​เนื่อง​ด้วย​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​เพื่อ​ไม่​ให้​เป็น​เยี่ยง​อย่าง​แก่​คน​อื่น ๆ. ดัง​นั้น โดย​ที่​มี​ปืน​จ่อ​อยู่ นัก​โทษ​สิบ​หก​คน​ใน​ปราสาท​ริชมอนด์​ถูก​คุม​ตัว​ไป​ขึ้น​รถไฟ​อย่าง​ผิด​กฎหมาย พวก​เขา​ถูก​ใส่​กุญแจ​มือ​และ​ถูก​พา​ไป​ฝรั่งเศส​อย่าง​ลับ ๆ โดย​ใช้​เส้น​ทาง​อ้อม. วารสาร​มรดก (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า ณ ชาย​หาด​บูโลญ “พวก​ผู้​ชาย​ถูก​มัด​ด้วย​ลวด​หนาม​ติด​กับ​เสา แทบ​จะ​เรียก​ได้​ว่า​พวก​เขา​ถูก​ตรึง​กางเขน” และ​ถูก​บังคับ​ให้​ดู​การ​ประหาร​ชีวิต​ทหาร​บริเตน​ที่​หนี​ทัพ​โดย​การ​ยิง​เป้า. มี​การ​บอก​พวก​เขา​ว่า หาก​พวก​เขา​ไม่​เชื่อ​ฟัง​คำ​สั่ง พวก​เขา​จะ​ต้อง​ประสบ​ชะตากรรม​อย่าง​เดียว​กัน​นี้.

กลาง​เดือน​มิถุนายน 1916 มี​การ​ให้​นัก​โทษ​เหล่า​นี้​เดิน​เรียง​แถว​มา​ต่อ​หน้า​ทหาร 3,000 นาย​เพื่อ​ฟัง​คำ​ตัดสิน​ประหาร​ชีวิต แต่​ใน​ตอน​นั้น​คิตเชนเนอร์​เสีย​ชีวิต​แล้ว และ​นายก​รัฐมนตรี​แห่ง​บริเตน​ได้​เข้า​แทรกแซง. เจ้าหน้าที่​ใน​ลอนดอน​ได้​รับ​ไปรษณียบัตร​ฉบับ​หนึ่ง​ซึ่ง​มี​ข้อ​ความ​ที่​ใส่​รหัส​ไว้ และ​ได้​มี​การ​ถอน​คำ​สั่ง​ทาง​ทหาร. มี​การ​สั่ง​ให้​นาย​พล​ไฮก์​เปลี่ยน​คำ​ตัดสิน​ประหาร​ชีวิต​ทั้ง​หมด​เป็น​การ​ทำ​งาน​เยี่ยง​ทาส​ใน​คุก​สิบ​ปี.

เมื่อ​กลับ​มา​ถึง​บริเตน นัก​โทษ​บาง​คน​จาก​จำนวน 16 คน​ถูก​พา​ไป​ที่​เหมือง​หิน​แกรนิต​ใน​สกอตแลนด์​เพื่อ “ทำ​งาน​สำคัญ​ของ​ชาติ” ภาย​ใต้​สภาพการณ์​ที่​น่า​ขยะแขยง ตาม​ที่​กล่าว​ไว้​ใน​รายงาน​อย่าง​เป็น​ทาง​การ​ฉบับ​หนึ่ง. คน​อื่น ๆ รวม​ทั้ง​เฮอร์เบิร์ต ซีเนียร์ ถูก​ส่ง​กลับ​มา​ที่​เรือน​จำ​พลเรือน ไม่​ใช่​เรือน​จำ​ทหาร.

มรดก​ตก​ทอด

เนื่อง​จาก​ผนัง​ห้อง​ขัง​มี​สภาพ​ทรุดโทรม นิทรรศการ​ที่​จัด​แสดง​อย่าง​ละเอียด ณ ปราสาท​ริชมอนด์ ซึ่ง​ปัจจุบัน​อยู่​ใน​ความ​ดู​แล​ของ​องค์การ​อนุรักษ์​มรดก​แห่ง​อังกฤษ จึง​มี​จอ​สัมผัส​ระบบ​สาม​มิติ​ไว้​ให้​ดู​ด้วย เพื่อ​ผู้​มา​เยี่ยม​ชม​จะ​สามารถ​พินิจ​ดู​ทั้ง​ห้อง​ขัง​และ​ภาพ​วาด​ตลอด​จน​ข้อ​เขียน​ที่​อยู่​ตาม​ผนัง​แบบ​ใกล้ ๆ ได้​โดย​ไม่​ทำ​ให้​ภาพ​และ​ข้อ​เขียน​เหล่า​นั้น​เสียหาย. มี​การ​อธิบาย​ให้​กลุ่ม​นัก​เรียน​เข้าใจ​ว่า เพราะ​เหตุ​ใด​ผู้​ที่​ปฏิเสธ​การ​เป็น​ทหาร​เนื่อง​ด้วย​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​จึง​พร้อม​ที่​จะ​ทน​รับ​การ​ลง​โทษ, การ​จำ​คุก, และ​อาจ​ถึง​กับ​ถูก​ประหาร​ชีวิต​เพื่อ​ความ​เชื่อ​ที่​พวก​เขา​ยึด​มั่น​ด้วย​ความ​จริง​ใจ.

นัก​โทษ​สิบ​หก​คน​ใน​ปราสาท​ริชมอนด์​บรรลุ​ผล​สำเร็จ​ใน​การ “ทำ​ให้​ประเด็น​เรื่อง​การ​ปฏิเสธ​การ​เป็น​ทหาร​เนื่อง​ด้วย​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​กลาย​เป็น​เรื่อง​ที่​สาธารณชน​ให้​ความ​สนใจ รวม​ทั้ง​เริ่ม​เป็น​ที่​ยอม​รับ​และ​ได้​รับ​ความ​นับถือ​เนื่อง​จาก​ประเด็น​ดัง​กล่าว.” เรื่อง​นี้​ทำ​ให้​พวก​เจ้าหน้าที่​เข้าใจ​มาก​ขึ้น​เมื่อ​ดำเนิน​การ​กับ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​ถูก​ขึ้น​ทะเบียน​เป็น​ผู้​ปฏิเสธ​การ​เป็น​ทหาร​เนื่อง​ด้วย​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ใน​ช่วง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​สอง.

ใน​ปี 2002 มี​การ​อุทิศ​สวน​ที่​สวย​งาม​แห่ง​หนึ่ง​ใน​ปราสาท​ริชมอนด์​ให้​เป็น​อนุสรณ์​แด่​นัก​โทษ​สิบ​หก​คน​เนื่อง​จาก​ความ​เชื่อ​มั่น​ทาง​ด้าน​ศีลธรรม​ของ​พวก​เขา.

[ภาพ​หน้า 12, 13]

จาก​ซ้าย​ไป​ขวา: หอ​บน​ปราสาท​ริชมอนด์​ที่​สร้าง​ใน​ศตวรรษ​ที่ 12 มี​ห้อง​ที่​ใช้​ขัง​นัก​โทษ

เฮอร์เบิร์ต ซีเนียร์ หนึ่ง​ใน​นัก​โทษ​สิบ​หก​คน​ใน​ปราสาท​ริชมอนด์

ห้อง​ขัง​ห้อง​หนึ่ง​ที่​นัก​โทษ​สิบ​หก​คน​ใน​ปราสาท​ริชมอนด์​เคย​ถูก​ขัง​ไว้

ขอบ​ฉาก​หลัง: ส่วน​ของ​ข้อ​ความ​ที่​เขียน​บน​ผนัง​ห้อง​ขัง​เป็น​เวลา​หลาย​ปี