การเพ่งดูโลก
การเพ่งดูโลก
การลดขนาดสินค้า
นิตยสารไทม์ รายงานว่า “ในยุคที่เต็มไปด้วยสินค้าขนาดใหญ่พิเศษและรถอเนกประสงค์ สินค้าบางอย่างกลับมีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ. ผู้ผลิตลดปริมาณสินค้าซึ่งติดอยู่ที่บรรจุภัณฑ์ลงอย่างเงียบ ๆ ตั้งแต่โยเกิร์ตและไอศกรีมไปจนถึงผงซักฟอกและผ้าอ้อม และบ่อยครั้งพวกเขาไม่ได้ลดราคาตามไปด้วย.” นี่ไม่ใช่กลยุทธ์ใหม่ แต่เนื่องจากเศรษฐกิจตกลงอย่างฮวบฮาบ รวมทั้งผู้บริโภคมีความรอบคอบและใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น เวลานี้ผู้ผลิตหลายรายจึงลดขนาดสินค้าลงอย่างมากเพื่อรักษาผลกำไรไว้. ผู้ซื้อสินค้าส่วนใหญ่ไม่ได้สังเกตน้ำหนักหรือปริมาณที่ลดลงเพียงไม่กี่กรัมหรือไม่กี่เมตร แต่ผลก็คือผู้บริโภคต้องจ่ายเงินมากขึ้นแต่กลับได้สินค้าปริมาณน้อยลง. เอดการ์ ดวอร์สกี ผู้สร้างเว็บไซต์สนับสนุนผู้บริโภคกล่าวว่า “ผู้บริโภคไม่ตระหนักเลยด้วยซ้ำว่าพวกเขาจำเป็นต้องตรวจดูน้ำหนักหรือปริมาณสุทธิทุกครั้งที่ซื้อของ. วิธีที่ดีที่สุดในการหลอกลวงผู้บริโภคคือ ผู้บริโภคไม่รู้ตัวว่าถูกหลอก.”
สบู่ช่วยชีวิตได้
ตามที่วัล เคอร์ติส ผู้บรรยายคนหนึ่งจากวิทยาลัยอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อนกล่าว เพียงแค่ล้างมือด้วยสบู่ก็สามารถช่วยชีวิตผู้คนได้นับล้านต่อปี เนื่องจากการล้างมือจะช่วยไม่ให้ผู้คนเป็นโรคท้องร่วง. เดอะ เดลี โยมิอูริ รายงานว่า ณ การประชุมเรื่องน้ำโลกครั้งที่สามซึ่งจัดขึ้นในเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เคอร์ติสอธิบายถึงเรื่องเชื้อโรคที่อยู่ในอุจจาระมนุษย์ว่าเป็น “ศัตรูอันดับหนึ่งของสาธารณชน.” หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นให้ข้อสังเกตว่า “ในบางชุมชน ถือเป็นเรื่องปกติที่ผู้หญิงจะทำความสะอาดให้ทารกหลังจากอุจจาระ ครั้นแล้วก็ไปเตรียมอาหารโดยไม่ได้ล้างมือของตน.” การล้างมือด้วยสบู่และน้ำสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสและแบคทีเรียที่ทำให้ถึงตายได้. และตามที่เคอร์ติสกล่าวไว้ สำหรับประเทศกำลังพัฒนา การลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคท้องร่วงโดยใช้สบู่ล้างมือ จะเสียค่าใช้จ่ายเพียงหนึ่งในสามของเงินที่ต้องใช้สำหรับการปรับปรุงคุณภาพน้ำ.
เส้นทางแอลไพน์
ในปี 2002 มีการเปิดเส้นทางเวีย แอลพีนา ในยุโรป ซึ่งเป็นเส้นเดินเท้าที่ติดต่อกันเป็นระยะ ๆ. หนังสือพิมพ์ดิ อินดิเพนเดนต์ แห่งลอนดอนกล่าวว่า “เส้นทางแอลไพน์สำหรับนักเดินเท้ามีระยะทาง 5,000 กิโลเมตร เป็นทางเดินเก่าแก่ที่สวยงามที่สุดในยุโรป.” โดยเชื่อมกับประเทศต่าง ๆ แถบภูเขาแอลป์แปดประเทศ เส้นทางนี้มีจุดเริ่มต้นที่ระดับน้ำทะเลในเมืองตริเอสเตบนชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของอิตาลีและสิ้นสุดที่ระดับน้ำทะเลในเมืองมอนติคาโล ประเทศโมนาโก. เส้นทางนี้ค่อย ๆ ไต่ขึ้นเขาจนถึงระดับ 3,000 เมตร ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุด และจะวนรอบยอดที่สูงที่สุดของภูเขาแอลป์. องค์การท่องเที่ยวฝรั่งเศส ลา กรองด์ ทราเวสเซ เดแซลป์ ยืนยันว่า เส้นทางที่มีการเลือกอย่างดีนั้น “อยู่ใกล้กับสถานที่ที่น่าสนใจทางธรรมชาติและวัฒนธรรมซึ่งมีชื่อเสียงที่สุด.” เป็นที่คาดกันว่าจะมีนักเดินเท้าเพียงไม่กี่คนที่เดินได้ตลอดเส้นทาง. หนังสือพิมพ์ฉบับนี้กล่าวว่า แทนที่จะทำอย่างนั้น “คุณสามารถพาครอบครัวไป; คุณอาจเดินสักหนึ่งหรือสองกิโลเมตรแล้วก็กลับบ้าน. แต่เส้นทางเวีย แอลพีนา จะเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้คนที่ต้องการวันหยุด [วันพักร้อน] ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ, สงบเงียบ, หลีกหนีความวุ่นวายซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้าน.” นักเดินเท้าสามารถพักค้างคืนตามโรงแรม, ที่พัก, หรือบ้านพักบนภูเขา ที่ใดก็ได้ตลอดเส้นทางนี้ซึ่งมีถึง 300 แห่ง.
สัตว์ทะเลสูญพันธุ์
ตามที่นักชีววิทยาทางทะเล ดร. แรนสัน เมเยอร์ส แห่งมหาวิทยาลัยดัลฮูซีในแฮลิแฟกซ์ และดร. บอริส วอร์ม แห่งสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลในคีล ประเทศเยอรมนีได้กล่าวไว้ มหาสมุทรในโลกไม่ได้เป็นเขตแดนสีน้ำเงินที่รอการค้นพบซึ่งเป็นที่ที่มีปลาจำนวนมากมายมหาศาลอีกต่อไปแล้ว. พวกเขากล่าวว่า สัตว์ทะเลค่อย ๆ สูญพันธุ์ไปทีละชนิด ปรากฏการณ์นี้เกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านดาวเทียมและโซนาร์ที่เรือประมงในทะเลใช้หาปลา. หนังสือพิมพ์เดอะ โกลบ แอนด์ เมล์ แห่งโทรอนโตรายงานว่า “ตลอดช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ปลาขนาดใหญ่ในธรรมชาติทุกชนิดถูกจับเป็นประจำจนปลาแต่ละชนิดหมดไปแล้ว 90 เปอร์เซ็นต์.” ดร. เมเยอร์สเชื่อว่า การสูญเสียปลาเหล่านี้ไป อีกทั้งบางชนิดเป็นที่นิยมรับประทานกันมากที่สุด เช่น ปลาทูนา, ปลาคอด, ปลาฮาลิบูท, ปลามาร์ลิน, และปลากระโทงแทง จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศน์ทางทะเลทั่วโลก. ดร. วอร์มเสริมว่า “เรากำลังเข้าไปยุ่งกับระบบค้ำจุนชีวิตของดาวเคราะห์ดวงนี้และนั่นเป็นเรื่องที่ไม่ฉลาดอย่างยิ่ง.”
มาลาเรียเกาะติดแอฟริกา
หนังสือพิมพ์เลอ ฟิกาโร ของฝรั่งเศส กล่าวว่า มาลาเรียคร่าชีวิต “เด็ก 3,000 คนในทวีปแอฟริกาทุกวัน.” ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าว ในแอฟริกามีผู้ติดเชื้อมาลาเรียแบบเฉียบพลันมากกว่า 300 ล้านคนทุกปี ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยหนึ่งล้านคน. ในช่วงปี 2000 บุรุนดีถูกโจมตีโดยมาลาเรียชนิดร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา. ในเวลาเพียงเจ็ดเดือน ครึ่งหนึ่งของประชากรคือประมาณ 3.5 ล้านคนติดเชื้อ. ปัญหาก็คือ ปรสิตที่ดื้อยาจะมีผลทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของควินินลดลง. โดยกลัวว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง หลายประเทศในแถบแอฟริกาจึงปฏิเสธที่จะใช้ยาต้านมาลาเรียตัวใหม่ที่ทำจาก Artemisia annua ซึ่งเป็นพืชชนิดหนึ่งของจีนแทนการใช้ควินิน. เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกคนหนึ่งกล่าวว่า ผลคือ “มาลาเรียยังคงเกาะติดแอฟริกาต่อไป.”
รักษาภาษาลาตินให้คงอยู่ต่อไป
แม้หลายคนคิดว่าลาตินเป็นภาษาที่ตายแล้ว แต่สำนักวาติกันกำลังพยายามที่จะรักษาภาษานี้ให้คงอยู่ต่อไปและปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้น. เพราะเหตุใด? เพราะถึงแม้ว่าภาษาอิตาลีเป็นภาษาที่ใช้ในวาติกัน แต่ภาษาลาตินเป็นภาษาราชการและยังคงใช้ในสาสน์ของสันตะปาปาและเอกสารอื่น ๆ. ย้อนไปในทศวรรษ 1970 การใช้ภาษาลาตินมีแนวโน้มลดลงอย่างมากหลังจากมีคำสั่งว่า ให้ทำพิธีมิสซาในภาษาท้องถิ่นได้. ต่อมา โปป พอล ที่ 6 ได้ก่อตั้งมูลนิธิภาษาลาตินขึ้นเพื่อรักษาภาษานี้ให้คงอยู่ต่อไป. การดำเนินการขั้นหนึ่งคือ การจัดพิมพ์พจนานุกรมภาษาลาติน-อิตาลีแยกเป็นสองเล่ม ซึ่งได้วางจำหน่ายหมดแล้ว. ตอนนี้มีการจัดพิมพ์ฉบับรวมเล่มจำหน่ายในราคา 115 ดอลลาร์ (4,600 บาท). พจนานุกรมเล่มนี้บรรจุคำภาษาลาตินที่ใช้กันในปัจจุบัน ราว 15,000 คำ เช่นคำว่า “เอสคาเรียวรัม ลาวาเทอร์” (เครื่องล้างจาน). หนังสือพิมพ์เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ กล่าวว่า “คาดกันว่าในช่วงสองสามปีข้างหน้า” จะมีพจนานุกรมเล่มใหม่. ส่วนใหญ่ คำที่เพิ่มเข้ามาจะเป็น “คำที่ใช้ในวงการคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ.”
ไม่เข้าใจคำอธิบาย
จดหมายข่าวทางวิทยาศาสตร์ wissenschaft.de รายงานเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยที่ทำในหลายประเทศว่า “คนไข้ลืมเรื่องที่หมอพูดกับพวกเขาขณะที่อยู่ในโรงพยาบาลเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ และเกือบครึ่งหนึ่งของเรื่องที่พวกเขาจำได้นั้นไม่ถูกต้อง.” ตามที่ รอย เคสเซลส์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอูทเรชท์ในเนเธอร์แลนด์กล่าว สาเหตุหลักของความหลงลืมคือ อายุมาก, ความคิดเห็นที่มีอยู่ก่อนแล้ว, ความเครียด, และคำอธิบายที่ไม่อาศัยเครื่องช่วยที่มองเห็นได้. ดังนั้น เพื่อช่วยผู้ป่วยให้จดจำข้อมูลสำคัญ จึงมีการแนะนำให้แพทย์พูดชัด ๆ, พูดข้อมูลที่สำคัญที่สุดก่อน, และใช้เครื่องมือที่ทำให้เห็นภาพ อย่างเช่น ฟิล์มเอกซเรย์.