ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

สำรวจอุโมงค์เก็บไวน์ในมอลโดวา

สำรวจอุโมงค์เก็บไวน์ในมอลโดวา

สำรวจ​อุโมงค์​เก็บ​ไวน์​ใน​มอลโดวา

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​มอลโดวา

อุโมงค์​คดเคี้ยว​ที่​มนุษย์​สร้าง​ขึ้น​ซึ่ง​มี​ความ​ยาว 120 กิโลเมตร​นี้​ฝัง​อยู่​ใต้​ดิน​ลึก​ประมาณ 80 เมตร​ใน​เขต​ครีโควา ชาน​เมือง​คีชีนอ เมือง​หลวง​ของ​มอลโดวา. ครั้ง​หนึ่ง​เคย​มี​การ​ทำ​เหมือง​หินปูน​ใน​อุโมงค์​อัน​มืด​มิด​แห่ง​นี้.

อย่าง​ไร​ก็​ดี ตลอด 50 ปี​ที่​ผ่าน​มา มี​การ​ใช้​อุโมงค์​ใต้​ดิน​ที่​มี​อุณหภูมิ​ต่ำ​เพื่อ​เป็น​สถาน​ที่​ที่​สมบูรณ์​แบบ​สำหรับ​เก็บ​ไวน์​ชั้น​เยี่ยม​บาง​ชนิด​ของ​ยุโรป. ถัง​และ​ขวด​จำนวน​มาก​มาย​ที่​เรียง​แถว​ซ้อน​กัน​อยู่​ใน​อุโมงค์​ของ​เหมือง​เก่า​มี​ระยะ​ทาง​กว่า 60 กิโลเมตร. เนื่อง​จาก​สามารถ​เก็บ​ไวน์​ได้​ถึง 350,000,000 ลิตร จึง​อาจ​กล่าว​ได้​ว่า​อุโมงค์​นี้​เป็น​ที่​เก็บ​ไวน์​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​ยุโรป​ตะวัน​ออก​เฉียง​ใต้.

สืบ​สาน​สิ่ง​ที่​ทำ​กัน​มา​ช้า​นาน

มอลโดวา​เป็น​ประเทศ​ที่​องุ่น​เจริญ​เติบโต​ได้​ดี. มอลโดวา​ตั้ง​อยู่​บน​เส้น​ขนาน​ละติจูด​เดียว​กับ​แคว้น​เบอร์กันดี​ของ​ฝรั่งเศส​ซึ่ง​มี​ชื่อเสียง​ใน​การ​ผลิต​ไวน์ และ​มี​ภูมิอากาศ​เหมาะ​สม​ซึ่ง​ทำ​ให้​ดิน​ที่​อุดม​สมบูรณ์​อยู่​แล้ว​อบอุ่น​พอ​ดี. การ​ผลิต​ไวน์​ใน​มอลโดวา​เริ่ม​มา​ตั้ง​แต่​ปี 300 ก่อน ส.ศ. เมื่อ​พ่อค้า​ชาว​กรีก​นำ​ต้น​องุ่น​เข้า​มา​ใน​ดินแดน​นี้​เป็น​ครั้ง​แรก. ตลอด​ศตวรรษ​ต่อ​มา การ​ผลิต​ไวน์​ที่​ทำ​กัน​มา​ช้า​นาน​ก็​ยัง​คง​ดำเนิน​ต่อ​ไป แม้​ว่า​ประเทศ​นี้​จะ​ถูก​ชาว​กอท, ชาว​ฮันส์, และ​เจ้า​ผู้​ครอง​นคร​ต่าง ๆ พิชิต​ก็​ตาม.

จักรวรรดิ​ออตโตมาน​ครอบครอง​ดินแดน​นี้​ระหว่าง​ช่วง​ศตวรรษ​ที่ 16 ถึง 18 และ​ด้วย​เหตุ​ผล​ทาง​ศาสนา​จึง​ไม่​มี​การ​สนับสนุน​ให้​ผลิต​ไวน์. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ใน​ศตวรรษ​ที่ 19 จักรพรรดิ​แห่ง​รัสเซีย​อ้าง​ว่า​ดินแดน​นี้​เป็น​ของ​พวก​เขา​และ​ได้​ส่ง​เสริม​อุตสาหกรรม​การ​ทำ​ไวน์​อย่าง​จริงจัง. พวก​เขา​นำ​เข้า​องุ่น​หลาก​หลาย​พันธุ์​จาก​ฝรั่งเศส และ​ต้น​องุ่น​ก็​เจริญ​เติบโต​ได้​ดี. หลัง​จาก​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​สอง สหภาพ​โซเวียต​ซึ่ง​เป็น​ผู้​ปกครอง​ชุด​ใหม่​ของ​มอลโดวา ได้​ปรับ​ปรุง​อุตสาหกรรม​การ​ทำ​ไวน์​ให้​ทัน​สมัย​ขึ้น​อย่าง​เป็น​ระบบ. ที่​จริง ผู้​ปกครอง​ชุด​ใหม่​ได้​ทำ​ให้​มอลโดวา​กลาย​เป็น​ศูนย์กลาง​การ​ผลิต​ไวน์​และ​ผล​องุ่น​ของ​ทั้ง​สหภาพ​โซเวียต. โซเวียต​เป็น​พวก​แรก​ที่​ตระหนัก​ว่า​อุโมงค์​เหล่า​นี้​เป็น​สถาน​ที่​ที่​เหมาะ​ที่​สุด​สำหรับ​การ​เก็บ​ไวน์. ให้​เรา​ไป​ชม​ที่​เก็บ​ไวน์​ที่​ไม่​มี​ใด​เหมือน​นี้​และ​เรียน​รู้​เคล็ดลับ​บาง​อย่าง.

การ​ขับ​รถ​เข้า​ไป​ใน​เมือง​ใต้​ดิน

เมื่อ​ขับ​รถ​เข้า​ไป​ใน​โรง​ทำ​ไวน์ เรา​สังเกต​เห็น​หอ​ประตู​ทาง​เข้า ซึ่ง​เป็น​ส่วน​ของ​อาคาร​ที่​เจาะ​เข้า​ไป​ใน​หินปูน. อาคาร​นี้​คล้าย​กับ​บ้าน​แถบ​ภูเขา​ตาม​ชนบท​ของ​ฝรั่งเศส. แต่​ดู​ไม่​ออก​เลย​ว่า​อาคาร​นี้​จะ​มี​สิ่ง​ปลูก​สร้าง​ขนาด​ใหญ่​อยู่​ใต้​ดิน. หลัง​จาก​ผ่าน​ประตู​ใหญ่​ได้​ไม่​นาน เรา​ก็​พบ​อุโมงค์​ที่​มี​ทาง​เข้า​ใหญ่​มาก​และ​รู้สึก​ทึ่ง​กับ​ขนาด​ของ​มัน. รถ​บรรทุก​สอง​คัน​สามารถ​ขับ​สวน​ทาง​กัน​ได้​อย่าง​สบาย.

เรา​ขับ​รถ​ลง​ไป​ใน​อุโมงค์​ใต้​ดิน​อัน​คดเคี้ยว และ​หลัง​จาก​ขับ​ไป​เพียง​ไม่​กี่​นาที​เรา​ก็​พบ​มัคคุเทศก์​ของ​เรา. ทาง​โค้ง​หลาย​ช่วง​ใน​อุโมงค์​ที่​คดเคี้ยว​ทำ​ให้​เรา​ตระหนัก​ว่า เรา​อาจ​หลง​ทาง​ได้​ง่าย​ที​เดียว​ถ้า​ไม่​มี​เธอ​ไป​ด้วย.

คน​หนึ่ง​ใน​พวก​เรา​ถาม​ว่า “เขา​เอา​หินปูน​ที่​เคย​ขุด​กัน​ใน​เหมือง​นี้​ไป​ใช้​ทำ​อะไร?”

เธอ​ตอบ​ว่า “หินปูน​เหล่า​นั้น​ถูก​นำ​ไป​ใช้​ใน​โครงการ​ก่อ​สร้าง​ที่​เมือง​คีชีนอ​ค่ะ. หินปูน​เป็น​วัสดุ​ก่อ​สร้าง​ที่​ดี เนื่อง​จาก​มี​คุณสมบัติ​ใน​การ​เป็น​ฉนวน​อย่าง​ดี​และ​ช่วย​ลด​เสียง​ได้.”

เมื่อ​เรา​ขับ​รถ​ลง​ไป​ใต้​ดิน​ลึก​ประมาณ 70 เมตร แสง​ใน​อุโมงค์​ก็​ลด​ลง​ทำ​ให้​มี​บรรยากาศ​สลัว ๆ ดู​น่า​กลัว. เรา​หยุด​ตรง​บริเวณ​ทาง​แยก​ที่​มี​ถนน​หลาย​สาย​แยก​กัน​ไป​คน​ละ​ทิศ​ทาง ซึ่ง​ทั้ง​สอง​ข้าง​ทาง​ของ​ถนน​แต่​ละ​สาย​มี​ถัง​ไวน์​ขนาด​ใหญ่​วาง​เรียง​อยู่​เป็น​แถว. เรา​สังเกต​เห็น​ว่า​ถนน​เหล่า​นี้​ถูก​ตั้ง​ชื่อ​ตาม​ชนิด​ของ​ไวน์. พีนอท์, เฟเทอัสคา, และ​คาเบอร์เนต​เป็น​เพียง​ไม่​กี่​ชื่อ​ที่​กระตุ้น​ความ​สนใจ​ของ​เรา.

มัคคุเทศก์​บอก​เรา​ว่า ส่วน​ใหญ่​แล้ว​ถัง​ไม้​โอ๊ก​จะ​ใช้​ใน​การ​ผลิต​ไวน์​ธรรมดา ใน​ขณะ​ที่​ถัง​โลหะ​ซึ่ง​มี​ขนาด​เล็ก​กว่า​ใช้​ใน​การ​เตรียม​ไวน์​ชนิด​มี​ฟอง. เรา​เห็น​คน​งาน​แค่​ไม่​กี่​คน เรา​จึง​ถาม​ถึง​จำนวน​คน​งาน. เธอ​ตอบ​ว่า “ที่​นี่​เรา​มี​คน​งาน​ประมาณ 300 คน. พวก​เขา​ต้อง​ใส่​เสื้อ​กัน​หนาว​ตลอด​ทั้ง​ปี​เพราะ​มี​อุณหภูมิ​ต่ำ. คน​งาน​ของ​เรา​เชื่อ​ว่า นอก​จาก​จะ​ดี​ต่อ​ไวน์​แล้ว อุณหภูมิ​แบบ​นี้​ยัง​ทำ​ให้​คน​เรา​หนุ่มแน่น​อยู่​เสมอ ดัง​นั้น พวก​เขา​จึง​ชอบ​ความ​หนาว.”

การ​ผลิต​ไวน์​ชนิด​มี​ฟอง​เป็น​จุด​เด่น​ของ​การ​เที่ยว​ชม​จุด​ถัด​มา. เรา​เห็น​ขวด​นับ​ร้อย​ถูก​วาง​เอียง​ลง​ทำ​มุม 30 องศา. มัคคุเทศก์​บอก​เรา​ว่า “เมื่อ​เอียง​ขวด​ลง​ระดับ​นี้ ตะกอน​จะ​ตก​มา​อยู่​รวม​กัน​ที่​จุก​ก๊อก. หลัง​จาก​นั้น จะ​มี​การ​ทำ​ให้​จุก​ก๊อก​แข็งตัว​อย่าง​รวด​เร็ว. ถึง​ตอน​นี้​เรา​สามารถ​ดึง​จุก​ก๊อก​ออก​ได้​อย่าง​ง่าย​ดาย​พร้อม​กับ​เอา​ตะกอน​ออก​มา​ด้วย และ​ใส่​จุก​ครั้ง​สุด​ท้าย.”

ไม่​นาน​เรา​ก็​มา​ถึง​บริเวณ​ที่​ใช้​เก็บ​ไวน์​ชั้น​เยี่ยม. มัคคุเทศก์​ของ​เรา​แนะ​นำ​สถาน​ที่​นี้​โดย​กล่าว​ว่า “ไวน์​ชั้น​เยี่ยม​มาก​กว่า​หนึ่ง​ล้าน​ขวด​ถูก​เก็บ​ไว้​ที่​นี่. ประเทศ​ที่​ผลิต​ไวน์​แทบ​ทุก​ประเทศ​ใน​ยุโรป​ได้​นำ​ผลิตภัณฑ์​ที่​ดี​ที่​สุด​บาง​ส่วน​มา​เก็บ​ไว้​ใน​อุโมงค์​ใต้​ดิน​ของ​เรา. ไวน์​ที่​มี​อายุ​เก่า​แก่​ที่​สุด​คือ​ไวน์​ปี 1902 เป็น​ไวน์​จาก​เยรูซาเลม​ที่​ใช้​ใน​การ​ฉลอง​ปัศคา​ของ​พวก​ยิว. เมื่อ​หลาย​ปี​ก่อน มี​ผู้​ประมูล​เสนอ​ซื้อ​ไวน์​ขวด​นี้​ใน​ราคา 100,000 ดอลลาร์. แต่​ข้อ​เสนอ​นี้​ถูก​ปฏิเสธ. เห็น​ได้​ชัด​ว่า ไวน์​ขวด​นี้​ไม่​สามารถ​ตี​ราคา​ได้.”

เธอ​ยัง​บอก​พวก​เรา​อีก​ว่า ตาม​ปกติ​แล้ว​ไวน์​ใน​บริเวณ​นี้​จะ​ถูก​เก็บ​ไว้​ใน​ที่​ที่​มืด​สนิท เว้น​แต่​ใน​ช่วง​ไม่​กี่​นาที​ที่​มี​นัก​ท่อง​เที่ยว​มา​เยี่ยม​ชม. เมื่อ​พวก​เรา​อ่าน​คร่าว ๆ ที่​ฉลาก​ข้าง​ขวด​ซึ่ง​มี​ฝุ่น​จับ​เต็ม​ไป​หมด เรา​จึง​รู้​ว่า​ไวน์​ส่วน​ใหญ่​มี​อายุ​มาก​กว่า​พวก​เรา​เสีย​อีก!

การ​เยี่ยม​ชม​จบ​ลง​ที่​ห้อง​ชิม​ไวน์. ห้อง​ที่​กว้าง​ที่​สุด​เรียก​ว่า​ห้อง​เลี้ยง​รับรอง​ประธานาธิบดี. ลักษณะ​ของ​ห้อง​นี้​คือ มี​โต๊ะ​ไม้​โอ๊ก​ที่​ยาว​และ​แข็งแรง​พร้อม​ทั้ง​มี​เก้าอี้​ที่​เข้า​ชุด​กัน​ซึ่ง​สามารถ​นั่ง​ได้ 65 คน. ระหว่าง​ยุค​ของ​โซเวียต​มี​การ​ใช้​ห้อง​นี้​เป็น​ห้อง​เลี้ยง​รับรอง​ของ​รัฐบาล. ทุก​วัน​นี้ ห้อง​ที่​มี​แสง​สว่าง​พอ​เหมาะ​และ​มี​สี​สัน​สดใส​ห้อง​นี้​ยัง​คง​เป็น​ห้อง​ประชุม​ที่​รัฐบาล​ใช้​อยู่.

ซาลา คาซา มาเร (ห้อง​รับ​แขก) เป็น​ห้อง​ที่​นั่ง​ได้ 15 คน​และ​ได้​รับ​การ​ตกแต่ง​ตาม​ธรรมเนียม​ของ​ชาว​มอลโดวา ส่วน​ห้อง​งาน​เลี้ยง​ก้น​ทะเล​ซาร์มาติก​มี​โต๊ะ​กลม 10 ที่​นั่ง​เอา​ไว้​สำหรับ​ชิม​และ​รับประทาน​อาหาร. ลักษณะ​ที่​น่า​สนใจ​ที่​สุด​ของ​ห้อง​นี้​คือ​เพดาน. เดิม​ที​ห้อง​นี้​เป็น​ถ้ำ​ที่​มี​น้ำ​อยู่ จึง​มี​ซาก​สัตว์​จำพวก​กุ้ง​หอย​ปู​และ​สัตว์​ทะเล​เล็ก ๆ ที่​แข็ง​เป็น​หิน​ให้​เห็น​ได้​อย่าง​ชัดเจน. มัคคุเทศก์​เตือน​ให้​เรา​ระลึก​ว่า ที่​จริง​แล้ว มอลโดวา​ทั้ง​หมด​ใน​ปัจจุบัน​นี้​เคย​อยู่ “ก้น​ทะเล​ซาร์มาติก.”

ต้น​โอ๊ก​ที่​ปลูก​ใน​ท้องถิ่น​เป็น​แหล่ง​ของ​ไม้​ที่​ใช้​ทำ​เครื่อง​เรือน​ใน​ห้อง​ทั้ง​หมด​เหล่า​นี้ รวม​ทั้ง​ใน​ห้อง​งาน​เลี้ยง​ที่​ชื่อ​ยูริ กาการิน. นัก​บิน​อวกาศ​ที่​มี​ชื่อเสียง​คน​นี้​ได้​มา​เยี่ยม​ชม​เมือง​ครีโควา​ใน​วัน​ที่ 8-9 ตุลาคม 1966. เขา​เขียน​จดหมาย​แสดง​ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​และ​กล่าว​ว่า ‘แม้​แต่​นัก​ชิม​ไวน์​ที่​เชี่ยวชาญ​ที่​สุด​ก็​ยัง​หา​เหล้า​องุ่น​ที่​เขา​พอ​ใจ​ได้’ ที่​นี่.

มัคคุเทศก์​ของ​เรา​ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า “เรา​มี​ผู้​มา​เยี่ยม​ชม​จาก​ประเทศ​ต่าง ๆ มาก​กว่า​ร้อย​ประเทศ​ใน​ช่วง 50 ปี​ตั้ง​แต่​มี​ที่​เก็บ​ไวน์​นี้. ใน​สมัย​ที่​โซเวียต​ปกครอง ไวน์​ชนิด​มี​ฟอง​ของ​เรา​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ใน​ชื่อ​แชมเปญ​โซเวียต. มี​ไม่​กี่​คน​ที่​รู้​ว่า​แชมเปญ​เหล่า​นี้​มา​จาก​มอลโดวา. ทุก​วัน​นี้​เรา​ขาย​ไวน์​ชนิด​มี​ฟอง​ภาย​ใต้​ชื่อ​ทาง​การ​ค้า​ว่า​ครีโควา และ​เรา​มี​ไวน์​แดง​และ​ไวน์​ขาว​หลาก​หลาย​ชนิด.” พวก​เรา​รู้สึก​หยั่ง​รู้​ค่า​ราย​ละเอียด​มาก​มาย​ที่​เธอ​ได้​บอก​เรา และ​ขอบคุณ​สำหรับ​การ​เยี่ยม​ชม​ที่​ดี​เช่น​นี้.

เมื่อ​ออก​จาก​อุโมงค์​ใต้​ดิน​อัน​คดเคี้ยว เรา​รู้สึก​เหมือน​ออก​มา​จาก​อีก​โลก​หนึ่ง. ข้าง​นอก​ร้อน​และ​แดด​แรง. บน​ท้องฟ้า​ไม่​มี​เมฆ​สัก​ก้อน. ขณะ​เดิน​ทาง​กลับ​ไป​ยัง​คีชีนอ เรา​ขับ​รถ​ผ่าน​ไร่​องุ่น​ที่​ได้​รับ​การ​ดู​แล​รักษา​อย่าง​ดี ปลูก​เรียง​เป็น​แถว​ยาว​เหมือน​ไม่​มี​ที่​สิ้น​สุด​ซึ่ง​มี​ผล​องุ่น​ที่​จวน​จะ​เก็บ​เกี่ยว​ได้​แล้ว.

[แผนที่​หน้า 25]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

ยูเครน

โรมาเนีย

มอลโดวา

คีชีนอ

[ภาพ​หน้า 24]

โรง​ทำ​ไวน์​ครีโควา พร้อม​ทั้ง​หอ​ประตู​ทาง​เข้า

[ภาพ​หน้า 24]

ป้าย​ชื่อ​ถนน​สาย​หนึ่ง​ใน​อุโมงค์​ใต้​ดิน​อัน​คดเคี้ยว​ที่​ยาว 120 กิโลเมตร

[ภาพ​หน้า 24]

อุโมงค์​ทาง​เข้า​สำหรับ​รถ​ซึ่ง​นำ​ไป​ถึง​ที่​เก็บ​ไวน์

[ภาพ​หน้า 24]

ไวน์​มาก​กว่า​หนึ่ง​ล้าน​ขวด​ถูก​เก็บ​ไว้​ที่​นี่