ที่ทำงานหรือสนามรบ?
ที่ทำงานหรือสนามรบ?
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในเยอรมนี
“ตอนนั้นผมทนต่อไปไม่ไหวจริง ๆ. ผมอยู่กับบริษัทนั้นมานานกว่า 30 ปี. ผมได้เลื่อนตำแหน่งถึงระดับหัวหน้างาน. แล้วเจ้านายคนใหม่ก็เข้ามา. เขาเป็นคนหนุ่ม, ไฟแรง, แถมมีความคิดใหม่ ๆ มากมาย. เขาคิดว่าผมเป็นตัวขัดขวาง เขาจึงเริ่มแกล้งผมต่าง ๆ นานา. ผมทนกับคำสบประมาท, คำโกหก, และการลบหลู่อยู่หลายเดือน จนผมไม่มีพลังในจิตใจเหลืออยู่เลย. พอบริษัทยื่นข้อเสนอให้ผมเกษียณอายุ ผมจึงตกลงที่จะออกจากบริษัท.”—เพเทอร์. *
เพเทอร์ตกเป็นเหยื่อของการข่มเหงในที่ทำงาน. ถ้าจะใช้อีกคำหนึ่งซึ่งพูดกันแพร่หลายในยุโรป เขาถูก “รุมกลั่นแกล้ง.” ในเยอรมนีที่เพเทอร์อยู่ มีการประมาณว่าผู้คน 1.2 ล้านคนถูกรุมกลั่นแกล้งในที่ทำงาน. ที่เนเธอร์แลนด์ ผู้คนถึง 1 ใน 4 ถูกรังแกในลักษณะนี้ไม่ช่วงใดก็ช่วงหนึ่งของชีวิตการทำงาน. นอกจากนั้น รายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศกล่าวว่า การรุมกลั่นแกล้งเป็นปัญหาที่กำลังเพิ่มมากขึ้นในเดนมาร์ก, บริเตน, สวีเดน, สหรัฐ, ออสเตรเลีย, และออสเตรีย. แต่ถ้าจะพูดให้เจาะจง การรุมกลั่นแกล้งคืออะไร?
“สงครามประสาท”
วารสารข่าวของเยอรมนีชื่อโฟคุส กล่าวว่า การรุมกลั่นแกล้งคือ “การข่มเหงรังแกที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ, ซ้ำแล้วซ้ำอีก, และเป็นระบบ.” การรุมกลั่นแกล้งไม่ใช่แค่การหยอกเล่นในที่ทำงาน—ซึ่งอาจรวมถึงการพูดประชดประชัน, การวิพากษ์วิจารณ์, การหยอกล้อ, และการพูดเล่นให้คนอื่นอับอาย—การรุมกลั่นแกล้งเป็นแผนการข่มขู่ทางประสาท. จุดมุ่งหมายคือเพื่อทำให้ผู้ตกเป็นเหยื่อเป็นคนที่ไม่มีใครคบหาด้วย. *
ยุทธวิธีในการกลั่นแกล้งมีตั้งแต่การเป็นศัตรูกันแบบเด็ก ๆ จนถึงการทำร้ายเยี่ยงอาชญากร. ผู้ถูกกลั่นแกล้งจะถูกทำให้เสียชื่อเสียง, ถูกด่าว่า, เผชิญกับพฤติกรรมก้าวร้าว, และถูกปฏิบัติแบบเย็นชา. ผู้ตกเป็นเหยื่อบางคนถูกคนอื่นกลั่นแกล้งให้ทำงานหนักเกินไปหรือถูกใช้อยู่เป็นประจำให้ทำงานที่น่าเบื่อหน่ายที่สุดซึ่งคนอื่นไม่อยากทำ. เพื่อนร่วมงานอาจขัดขวางไม่ให้ผู้ตกเป็นเหยื่อทำงานอย่างบังเกิดผล โดยอาจจะไม่ยอมให้ข้อมูล
บางอย่าง. ในบางกรณี คนที่กลั่นแกล้งได้เจาะยางรถยนต์หรือลอบเข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ตกเป็นเหยื่อ.ผู้ตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งบางคนถูกรังควานโดยคนคนเดียว. แต่ส่วนใหญ่ เหยื่อจะถูกเพื่อนร่วมงานหลายคนรวมหัวกันกลั่นแกล้ง. ด้วยเหตุนี้ คำว่า “รุมกลั่นแกล้ง” จึงเหมาะ เนื่องจากคำนี้บ่งชี้ว่ามีคนกลุ่มหนึ่งพยายามกดดันบุคคลหนึ่งโดยตั้งใจรบกวนหรือรังแกเขา.
สิ่งที่อาจจะน่าแปลกใจที่สุดคือ ข้อเท็จจริงที่ว่าในหลายกรณีเกิดการกลั่นแกล้งกันโดยที่เจ้านายยินยอม. งานวิจัยในยุโรปบางชิ้นแสดงว่า หัวหน้างานเป็นตัวตั้งตัวตีราว ๆ 50 เปอร์เซ็นต์ของกรณีที่มีการกลั่นแกล้งกัน และหลายครั้งหัวหน้างานเป็นผู้กลั่นแกล้งเพียงคนเดียว. ทั้งหมดนี้ ทำให้การทำงานอาชีพกลายเป็น “สงครามประสาทอันยืดเยื้อและสุดแสนจะทรมาน” ตามที่หนังสือพิมพ์รายวันของเยอรมนีที่ชื่อ ฟรังค์ฟูร์เทอร์ อาลล์เกไมเน ไซทุง เรียก.
ผลกระทบที่ไปไกลกว่าที่ทำงาน
บ่อยครั้ง ผลกระทบของการกลั่นแกล้งไปไกลกว่าที่ทำงานมากนัก. ผู้ตกเป็นเหยื่อหลายคนประสบปัญหาร้ายแรงทางสุขภาพอันเป็นผลจากการถูกรังแกอย่างโหดร้าย. ความซึมเศร้า, ความผิดปกติในการนอนหลับ, และอาการหวาดกลัวล้วนเป็นผลส่วนหนึ่งที่เกิดจากการถูกกลั่นแกล้ง. การถูกกลั่นแกล้งมีผลต่อเพเทอร์ซึ่งเรากล่าวถึงในตอนต้นอย่างไร? ความนับถือตัวเองที่เขาเคยมีอยู่ตกต่ำลงจนแทบจะหมดไป. ผู้หญิงคนหนึ่งชื่อมาร์กาเร็ต ซึ่งอยู่ในเยอรมนีเช่น
กัน ได้รับคำแนะนำจากหมอของเธอให้ไปรับการบำบัดที่คลินิกสุขภาพจิต. เพราะเหตุใด? เพราะการกลั่นแกล้งในที่ทำงาน. การรุมกลั่นแกล้งเช่นนี้ยังอาจก่อผลเสียต่อชีวิตสมรสและชีวิตครอบครัวของผู้ถูกแกล้งด้วย.ในเยอรมนี การกลั่นแกล้งในที่ทำงานกลายเป็นเรื่องที่แพร่หลายมากจนบริษัทประกันสุขภาพแห่งหนึ่งได้เปิดสายด่วนเพื่อช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อ. บริษัทนี้พบว่ากว่าครึ่งของคนที่โทรศัพท์เข้ามาไม่สามารถทำงานได้เป็นเวลาถึงหกสัปดาห์, ราว ๆ หนึ่งในสามทำงานไม่ได้ถึงสามเดือน, และกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ทำงานไม่ได้นานกว่าสามเดือน. วารสารทางการแพทย์ของเยอรมนีกะประมาณว่า “อาจมีถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของการฆ่าตัวตายทั้งหมดเกิดจากการถูกรุมกลั่นแกล้ง.”
เห็นได้ชัดว่า การกลั่นแกล้งอาจทำให้การทำงานกลายเป็นฝันร้าย. มีวิธีที่จะป้องกันได้ไหม? จะสร้างสันติสุขในที่ทำงานได้อย่างไร?
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 ชื่อในบทความชุดนี้เป็นนามสมมุติ.
^ วรรค 6 สถิติแสดงว่า ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งในที่ทำงานมากกว่าผู้ชาย แม้ว่านี่อาจเป็นเพราะผู้หญิงมักจะพูดถึงปัญหาและขอความช่วยเหลือมากกว่าผู้ชาย.
[คำโปรยหน้า 4]
การกลั่นแกล้งทำให้การทำงานกลายเป็นสงครามประสาท