ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เหตุใดจึงถือว่าการสมรสเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์?

เหตุใดจึงถือว่าการสมรสเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์?

ทัศนะ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล

เหตุ​ใด​จึง​ถือ​ว่า​การ​สมรส​เป็น​เรื่อง​ศักดิ์สิทธิ์?

ผู้​คน​ส่วน​ใหญ่​สมัย​นี้​คง​จะ​อ้าง​ว่า​พวก​เขา​เชื่อ​ใน​ความ​ศักดิ์สิทธิ์​ของ​การ​สมรส. แล้ว​ทำไม​คู่​สมรส​หลาย​ราย​จึง​ลงเอย​ด้วย​การ​หย่าร้าง? สำหรับ​บาง​คน การ​สมรส​เป็น​เพียง​คำ​มั่น​สัญญา​อัน​หวาน​ซึ้ง​และ​เป็น​ข้อ​ตก​ลง​ตาม​กฎหมาย. แต่​เขา​อาจ​ผิด​สัญญา​ก็​ได้. คน​ที่​มอง​การ​สมรส​ใน​แง่​นี้​จึง​รู้สึก​ว่า​ง่าย​มาก​ที่​จะ​ทำ​ให้​ชีวิต​สมรส​ของ​ตน​สิ้น​สุด​ลง​เมื่อ​สิ่ง​ต่าง ๆ ไม่​เป็น​ไป​ตาม​ความ​คาด​หมาย.

พระเจ้า​ทรง​มี​ทัศนะ​เช่น​ไร​ต่อ​การ​จัด​เตรียม​เรื่อง​การ​สมรส? เรา​พบ​คำ​ตอบ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​พระ​คำ​ของ​พระองค์​ที่​เฮ็บราย 13:4 ดัง​นี้: “จง​ให้​การ​สมรส​นั้น​เป็น​ที่​นับถือ​แก่​คน​ทั้ง​ปวง.” คำ​ภาษา​กรีก​ที่​ได้​รับ​การ​แปล​ว่า “เป็น​ที่​นับถือ” แสดง​นัย​ถึง​สิ่ง​ที่​มี​ค่า​และ​ได้​รับ​การ​ยกย่อง​อย่าง​สูง. เมื่อ​เรา​ถือ​ว่า​สิ่ง​ของ​บาง​อย่าง​มี​ค่า เรา​ย่อม​จะ​คอย​ระวัง​รักษา​ไว้​อย่าง​ดี​และ​ไม่​ปล่อย​ให้​สูญ​หาย​ไป แม้​โดย​บังเอิญ​ก็​ตาม. การ​จัด​เตรียม​เรื่อง​การ​สมรส​ก็​น่า​จะ​เป็น​เช่น​เดียว​กัน. คริสเตียน​ควร​ถือ​ว่า​การ​สมรส​เป็น​สิ่ง​มี​ค่า น่า​นับถือ ซึ่ง​เขา​จำเป็น​ต้อง​ปก​ป้อง​รักษา​ไว้.

ปรากฏ​ชัด​ว่า พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ทรง​ตั้ง​การ​สมรส​ให้​เป็น​การ​จัด​เตรียม​อัน​ศักดิ์สิทธิ์​ระหว่าง​สามี​กับ​ภรรยา. แต่​เรา​จะ​แสดง​อย่าง​ไร​ว่า​เรา​มี​ทัศนะ​เหมือน​พระองค์​ใน​เรื่อง​การ​สมรส?

ความ​รัก​และ​ความ​นับถือ

ความ​นับถือ​ต่อ​การ​จัด​เตรียม​เรื่อง​การ​สมรส​เรียก​ร้อง​ให้​คู่​สมร​สนับ​ถือ​หรือ​ให้​เกียรติ​ซึ่ง​กัน​และ​กัน. (โรม 12:10) อัครสาวก​เปาโล​เขียน​ถึง​คริสเตียน​ใน​ศตวรรษ​แรก​ดัง​นี้: “ให้​พวก​ท่าน​ทุก​คน​ต่าง​ก็​รัก​ภรรยา​ของ​ตน​เหมือน​รัก​ตัว​เอง; ส่วน​ภรรยา​ก็​ควร​แสดง​ความ​นับถือ​อย่าง​สุด​ซึ้ง​ต่อ​สามี​ของ​ตน.”—เอเฟโซ 5:33, ล.ม.

จริง​อยู่ บาง​ครั้ง​คู่​สมรส​อาจ​ไม่​ได้​ปฏิบัติ​อย่าง​น่า​รัก​หรือ​อย่าง​น่า​นับถือ. กระนั้น คริสเตียน​ก็​ต้อง​แสดง​ความ​รัก​และ​ความ​นับถือ​ดัง​กล่าว. เปาโล​เขียน​ว่า “จง​ทน​ต่อ​กัน​อยู่​เรื่อย​ไป และ​อภัย​ให้​กัน​อย่าง​ใจ​กว้าง​ถ้า​ผู้​ใด​มี​สาเหตุ​จะ​บ่น​ว่า​คน​อื่น. พระ​ยะโฮวา​ทรง​ให้​อภัย​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ด้วย​พระทัย​กว้าง​เช่น​ไร ท่าน​จง​ทำ​เช่น​นั้น​ด้วย.”—โกโลซาย 3:13, ล.ม.

เวลา​และ​การ​เอา​ใจ​ใส่

คู่​สมรส​ที่​ถือ​ว่า​สาย​สัมพันธ์​ของ​ตน​เป็น​สิ่ง​ศักดิ์สิทธิ์​ย่อม​จะ​ใช้​เวลา​ตอบ​สนอง​ความ​ต้องการ​ทาง​ร่าง​กาย​และ​ทาง​อารมณ์​ของ​แต่​ละ​ฝ่าย. นี่​รวม​ถึง​เรื่อง​ความ​สัมพันธ์​ทาง​เพศ​ด้วย. คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ว่า “สามี​ควร​ให้​แก่​ภรรยา​ของ​ตน​ตาม​ที่​เธอ​ควร​ได้​รับ แต่​ภรรยา​ควร​กระทำ​เช่น​กัน​ต่อ​สามี​ของ​ตน​ด้วย.”—1 โกรินโธ 7:3, ล.ม.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม คู่​สมรส​บาง​คู่​รู้สึก​ว่า​จำเป็น​ต้อง​ให้​สามี​ไป​ทำ​งาน​ที่​อื่น​สัก​ระยะ​หนึ่ง​เพื่อ​จะ​มี​ราย​ได้​เพิ่ม. บาง​ครั้ง กลาย​เป็น​ว่า​ต้อง​แยก​กัน​อยู่​นาน​กว่า​ที่​คาด​ไว้. บ่อย​ครั้ง การ​แยก​กัน​อยู่​เช่น​นั้น​ก่อ​ความ​กดดัน​อย่าง​มาก​ต่อ​ชีวิต​สมรส บ้าง​ก็​นำ​ไป​สู่​การ​ผิด​ประเวณี​และ​การ​หย่าร้าง. (1 โกรินโธ 7:2, 5) ด้วย​เหตุ​ผล​ดัง​กล่าว คู่​สมรส​คริสเตียน​หลาย​คู่​จึง​ตัดสิน​ใจ​ยอม​สละ​ผล​ประโยชน์​ด้าน​วัตถุ​ดี​กว่า​จะ​ยอม​ให้​ชีวิต​สมรส​ที่​พวก​เขา​ถือ​ว่า​ศักดิ์สิทธิ์​ตก​อยู่​ใน​อันตราย.

เมื่อ​เกิด​ปัญหา

เมื่อ​เกิด​ความ​ยุ่งยาก คริสเตียน​ผู้​ซึ่ง​ให้​ความ​นับถือ​ต่อ​ชีวิต​สมรส​จะ​ไม่​ด่วน​แยก​ทาง​กัน​หรือ​หย่าร้าง​กัน. (มาลาคี 2:16; 1 โกรินโธ 7:10, 11) พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “ถ้า​ผู้​ใด​จะ​หย่า​ภรรยา​เพราะ​เหตุ​อื่น​นอก​จาก​การ​เล่นชู้, ผู้​นั้น​ก็​ทำ​ให้​หญิง​นั้น​ผิด​ประเวณี และ​ถ้า​ผู้​ใด​จะ​รับ​หญิง​ซึ่ง​หย่า​แล้ว​นั้น​มา​เป็น​ภรรยา, ผู้​นั้น​ก็​ผิด​ประเวณี​ด้วย.” (มัดธาย 5:32) การ​เลือก​ที่​จะ​หย่าร้าง​หรือ​แยก​กัน​อยู่​โดย​ไม่​มี​เหตุ​ผล​ตาม​หลัก​พระ​คัมภีร์​เป็น​การ​ไม่​ให้​เกียรติ​การ​สมรส.

นอก​จาก​นี้ ทัศนะ​ที่​เรา​มี​ต่อ​การ​สมรส​ยัง​เห็น​ได้​จาก​คำ​แนะ​นำ​ที่​เรา​ให้​แก่​คน​เหล่า​นั้น​ที่​ประสบ​ปัญหา​ร้ายแรง​ใน​ชีวิต​สมรส. เรา​ด่วน​แนะ​ให้​เขา​แยก​กัน​อยู่​หรือ​หย่า​กัน​ไหม? จริง​อยู่ บาง​ครั้ง​อาจ​มี​เหตุ​ผล​ที่​ฟัง​ขึ้น​สำหรับ​การ​แยก​กัน​อยู่ อย่าง​เช่น เมื่อ​มี​การ​ทำ​ร้าย​ร่าง​กาย​อย่าง​รุนแรง​หรือ​เมื่อ​ตั้งใจ​ไม่​ส่ง​เสีย​เลี้ยง​ดู. * นอก​จาก​นั้น ดัง​ที่​กล่าว​ข้าง​ต้น คัมภีร์​ไบเบิล​อนุญาต​ให้​หย่า​ได้​เฉพาะ​เมื่อ​คู่​สมรส​ของ​ตน​เป็น​ฝ่าย​ทำ​ผิด​ประเวณี. กระนั้น คริสเตียน​ไม่​ควร​โน้ม​น้าว​การ​ตัดสิน​ใจ​ของ​ผู้​อื่น​ใน​สถานการณ์​ดัง​กล่าว. ว่า​กัน​ตาม​จริง​แล้ว ผู้​ที่​มี​ปัญหา​ใน​ชีวิต​สมร​สนั่น​แหละ​เป็น​ผู้​ที่​จะ​ต้อง​เผชิญ​กับ​ผล​จาก​การ​ตัดสิน​ใจ​นั้น หา​ใช่​ผู้​ให้​คำ​แนะ​นำ​ไม่.—ฆะลาเตีย 6:5, 7.

ไม่​ถือ​เป็น​เรื่อง​เล่น ๆ

ใน​บาง​แห่ง ถือ​ว่า​เป็น​เรื่อง​ปกติ​ที่​ผู้​คน​จะ​อาศัย​การ​สมรส​เพื่อ​ได้​ถิ่น​ที่​อยู่​ตาม​กฎหมาย​ใน​อีก​ประเทศ​หนึ่ง. ปกติ​แล้ว คน​เหล่า​นั้น​ทำ​ข้อ​ตก​ลง​ว่า​จะ​จ่าย​เงิน​ให้​พลเมือง​ของ​ประเทศ​นั้น​เพื่อ​คน​นั้น​จะ​สมรส​กับ​ตน. ถึง​แม้​ได้​แต่งงาน​กัน แต่​คู่​สมรส​เหล่า​นี้​มัก​จะ​แยก​กัน​อยู่ บาง​ที​ถึง​กับ​ไม่​คง​ความ​สัมพันธ์​ฉัน​เพื่อน​อีก​ต่อ​ไป. ทันที​หลัง​จาก​ได้​ถิ่น​ที่​อยู่​ตาม​กฎหมาย เขา​ก็​หย่า​ขาด​กัน. คน​พวก​นี้​ถือ​ว่า​การ​สมรส​ของ​เขา​เป็น​เพียง​ข้อ​ตก​ลง​ทาง​ธุรกิจ​เท่า​นั้น.

คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​สนับสนุน​ทัศนะ​ที่​ไม่​จริงจัง​เช่น​นั้น. ไม่​ว่า​แรง​กระตุ้น​ของ​เขา​เป็น​อย่าง​ไร คน​ที่​สมรส​กัน​ก็​เข้า​สู่​การ​จัด​เตรียม​อัน​ศักดิ์สิทธิ์​ที่​พระเจ้า​ทรง​ถือ​ว่า​เป็น​พันธะ​ผูก​พัน​ตลอด​ชีวิต. ผู้​ที่​ร่วม​ใน​ข้อ​ตก​ลง​ดัง​กล่าว​ยัง​คง​ผูก​พัน​กัน​ฉัน​สามี​ภรรยา และ​พวก​เขา​ยัง​คง​อยู่​ภาย​ใต้​ข้อ​เรียก​ร้อง​ตาม​หลัก​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​เรื่อง​เหตุ​ผล​สำหรับ​การ​หย่าร้าง​รวม​ทั้ง​ความ​เป็น​ไป​ได้​ที่​จะ​สมรส​ใหม่.—มัดธาย 19:5, 6, 9.

ดัง​ที่​เป็น​จริง​กับ​การ​บากบั่น​พยายาม​ทำ​สิ่ง​อื่น​ที่​คุ้มค่า ชีวิต​สมรส​ที่​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ก็​ต้อง​อาศัย​ความ​เพียร​พยายาม​เช่น​กัน. คน​เหล่า​นั้น​ที่​ไม่​หยั่ง​รู้​ค่า​ความ​ศักดิ์สิทธิ์​ของ​การ​สมรส​มัก​จะ​ตัดสิน​ใจ​เลิก​กัน​ได้​ง่าย​กว่า. หรือ​พวก​เขา​อาจ​จำ​ใจ​อยู่​กิน​กัน​ไป​อย่าง​เสีย​ไม่​ได้. ใน​ทาง​กลับ​กัน บรรดา​ผู้​ที่​ยอม​รับ​ความ​ศักดิ์สิทธิ์​ของ​การ​สมรส​รู้​ว่า​พระเจ้า​ทรง​คาด​หมาย​ให้​พวก​เขา​อยู่​ด้วย​กัน. (เยเนซิศ 2:24) นอก​จาก​นั้น พวก​เขา​ยัง​ตระหนัก​ว่า โดย​การ​ทำ​ให้​ชีวิต​สมรส​กลม​กลืน​กัน พวก​เขา​ก็​ถวาย​เกียรติ​แด่​พระเจ้า​ฐานะ​ผู้​ทรง​วาง​แบบ​แผน​เกี่ยว​กับ​การ​จัด​เตรียม​เรื่อง​การ​สมรส. (1 โกรินโธ 10:31) การ​มี​แง่​คิด​เช่น​นี้​ทำ​ให้​พวก​เขา​เกิด​แรง​กระตุ้น​ที่​จะ​พากเพียร​พยายาม​ทำ​ให้​ชีวิต​สมรส​ของ​ตน​ประสบ​ผล​สำเร็จ.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 14 โปรด​ดู​หอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 พฤศจิกายน 1988 หน้า 19-20.